ฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อใกล้จะสิ้นพระบารมีนั้น ทรงพระประชวรมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พอถึงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๒๓๖ พระอาการประชวรของพระองค์ก็ยิ่งทรุดหนักลง จนถึงแก่เสด็จออกว่าราชการแผ่นดินไม่ได้ทีเดียว ได้แต่บรรทมอยู่ในพระที่เท่านั้น

จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าให้พระเพทราชา ว่าราชการแทน ณ ตึกพระเจ้าเหา อันเป็นสถานที่อยู่ภายในพระราชวังเมืองลพบุรี แล้วโปรดให้มีท้องตราไปทุกเมือง ให้เจ้าเมืองกรมการจัดแจงตรวจตราหัวเมืองให้พรักพร้อม และให้จัดทัพไปขัดด่านทางที่สำคัญทุกตำบลเพื่อคอยระวังข้าศึกซึ่งอาจจะกำเริบล่วงล้ำเข้ามารุกรานพระราชอาณาเขต เมื่อทราบความว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยประชวรหนักใกล้จะสวรรคตอยู่แล้ว ครั้งนั้นการสะสมระดมพลและเครื่องศัสตราวุธจึงได้กระทำกันทั่วพระราชอาณาจักร

อาจจะมีผู้แปลกใจว่า เหตุใดสมเด็จพระนารายณ์จึงทรงเจาะจงตัวพระเพทราชาให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ไม่ทรงตั้งคนอื่น ๆ เช่น เจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นต้นให้ว่าราชการแทนพระองค์ เพราะฉะนั้นน่าจะลองสันนิษฐานควบไปเสียด้วย การที่จะเลือกพระอนุชาองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์โดยสิทธิ์ขาดนั้น เป็นอันพับไปไม่ต้องนำมาคิด เพราะสมเด็จพระนารายณ์ยังไม่หายเคืองแค้นเจ้าทั้งสองพระองค์นี้ที่คิดประทุษร้ายต่อพระองค์ ส่วนในจำพวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่นั้น ที่เห็นกันอยู่ว่าเป็นที่โปรดปรานไว้วางพระราชหฤทัยก็มีอยู่ ๒ คนที่ปรากฏชัดอยู่คือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์กับพระเพทราชา คนแรกมีเชื้อชาติเป็นฝรั่งต่างถิ่นต่างศาสนา ข้าราชการโดยมากอิจฉาและเกลียดชัง และมีพฤติการณ์เป็นที่น่าระแวงสงสัยของคนไทยทั่วไป แม้สมเด็จพระนารายณ์เอง ก็เคยได้รับคำบอกเล่าเพ็ดทูลของข้าราชการที่สนิทว่า เจ้าพระยาวิชเยนทร์สมุหนายกของพระองค์คบคิดกับรัฐบาลฝรั่งเศส ในการที่จะเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นอยู่เสมอ เพราะได้ทรงพิจารณาถึงทางได้และทางเสียเช่นนี้ตลอดแล้ว จึงมิให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าราชการแทนพระองค์ ด้วยทรงทราบดีว่าในเวลาที่พระองค์ทรงพระประชวรมีอาการเพียบหนักไปไหนมาไหนไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ข้าราชการทั้งปวงคงจะพากันขัดขืนดื้อดึงไม่ยอมอ่อนน้อมต่อคนที่ตนเกลียดชังและคิดปองร้าย เพราะเลือดความเป็นชาตินิยมมาช้านานเป็นแน่

ตกลงยังเหลือขุนนางตัวโปรดปรานอยู่แต่พระเพทราชาผู้เดียว ที่อยู่ในวงคัดเลือกหาตัวผู้สำเร็จราชการแผ่นดินครั้งนี้ พระเพทราชาได้เปรียบเจ้าพระยาวิชเยนทร์หลายอย่างหลายข้อนักในเรื่องโอกาสที่จะเข้าดำรงตำแหน่งที่สองรองจากพระเจ้าอยู่หัว ข้อต้นทีเดียว พระเพทราชาธิบดีศรีสมุหพระคชบาลเป็นคนไทยแท้ นับถือพระพุทธศาสนา ใคร ๆ ก็ต้องรักและเทิดทูน ข้อสองขุนนางอายุกลางคนผู้นี้ฉลาดล้ำ สามารถซ่อนหัวใจอันมักใหญ่ใฝ่สูงของตนไว้ได้อย่างมิดชิด แม้สมเด็จพระนารายณ์เองที่ว่าทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ยังไม่รู้เท่า ยังหลงเข้าใจว่าขุนนางตัวโปรดของพระองค์เป็นผู้คอยคิดจะหนีเข้าวัดอยู่เสมอ ไม่ทรงนึกเลยว่า ผู้มีดวงหน้าอันซื่อ ๆ อารมณ์เย็น ๆ เช่นนี้ จะกลายเป็นศัตรูแห่งราชสมบัติ ข้อสุดท้าย พระเพทราชามีทางสัมพันธ์เป็นญาติสนิทกับพระองค์หลายต่อคือ มารดาเป็นพระนม น้องสาวเป็นพระสนม และบางเสียงว่าธิดาสาวของพระเพทราชาก็เป็นสนมเอกของเจ้าชีวิตเสียอีกด้วย เมื่อพระเพทราชามีฐานะผูกพันเป็นพ่อตาพี่เมียและเป็นพี่น้องร่วมนมเดียวกันกับพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้ จึงไม่มีใครเหมาะสมที่จะได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเท่าพระเพทราชา

และเนื่องจากโชคชะตา และบุญเก่าหนุนส่งให้ถึงซึ่งจุดหมายปลายทางแห่งความหวังเช่นนี้ ปรากฏว่าสมัครพรรคพวกของพระเพทราชาได้ทวีขึ้นทุกวัน ๆ เป็นธรรมดาของคนมีอำนาจย่อมมีผู้คนเข้ามาสวามิภักดิ์ และยิ่งมีแผนการอยู่แล้วก็ย่อมจะพลิกแพลงยักย้ายเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะเป็นการสร้างอำนาจของตนได้โดยง่าย และจะกระทำการใด ๆ ไม่มีที่ติดขัด อย่างเช่นเมื่อจะกะเกณฑ์ทหารมาช่วยตัวเองทำการชิงราชสมบัติยังเมืองลพบุรีก็ดี หรือตระเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ก็ดี พระเพทราชาย่อมได้รับความสะดวกปราศจากความระแวงสงสัย เพราะทุกครั้งทุกคราว ได้อ้างในนามของพระเจ้าแผ่นดินอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังอ้างเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันอริราชศัตรูของราชสมบัติมิให้ใครบังอาจมาช่วงชิงไปจากสมเด็จพระอนุชา ผู้เป็นเจ้านายที่รักยิ่งของตน

การที่พระเพทราชาสามารถกระทำการใหญ่หลวงจนกระทั่งเป็นผลสำเร็จได้นั้น ก็โดยอุบายแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นพวกเจ้านายซึ่งกระทำให้ข้าราชการเข้าหาพระเพทราชาเป็นอันมาก จะมีน้อยคนนักที่ล่วงรู้เจตนาอันแท้จริงของพระเพทราชา และคนที่รู้ก็ล้วนแต่เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งสิ้น บรรดาคนสำคัญ ๆ ที่เป็นกำลังของพระเพทราชาในการรวบรวมสมัครพรรคพวกคราวนี้ ก็มีหลวงสรศักดิ์บุตรชายคนใหญ่ของพระเพทราชา ๑ นายจบคช ประสิทธิ์ศิลป์ ทรงบาศก์ซ้ายในกรมช้าง ๑ สมิงพะตะบะผู้เฒ่า ๑ พระราชรักษา ๑ พระพลเทพ ๑ และขุนนางมหาดเล็กอยู่งานอีก ๑ ส่วนพวกฝรั่งต่างชาติที่รู้เห็นเป็นใจด้วย ก็ได้แก่พวกพ่อค้าชาวฮอลันดาเป็นสำคัญกว่าเพื่อน ถัดมาก็คือ มองสิเออร์เวเรต์ ผู้จัดการห้างฝรั่งเศสในเมืองไทย หัวหน้าของพวกฮอลันดา ได้ลักลอบพบปะกับพระเพทราชาหลายครั้งหลายหน และได้เสี้ยมสอนพระเพทราชาให้เอายาพิษสังหารสมเด็จพระนารายณ์ ให้ลักพระราชลัญจกรเอามาใช้แอบอ้างพระบรมราชโองการ ให้รวบรวมกำลังไพร่พลไว้อย่างเงียบ ๆ ให้คิดอ่านล่อเอาพวกฝรั่งเศสออกไปให้พ้นจากเมืองธนบุรีและมะริด และเมื่อพวกทหารฝรั่งเศสออกพ้นไปจากเมืองทั้งสองนี้เมื่อใด ก็ให้เร่งจัดการสังหารเสียทั้งหมด เพราะพวกฝรั่งเศสเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของเมืองไทย

ส่วนมองสิเออร์เวเรต์ชาติฝรั่งเศสซึ่งตั้งตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ เพราะผลประโยชน์คงจะขัดกัน ก็คอยสืบสวนเรื่องราวในระหว่างนายพลเดฟาชกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ แล้วรายงานไปให้พระเพทราชาทราบ และเป็นผู้นำข่าวเท็จต่าง ๆ ทางเมืองลพบุรีไปเล่าลือให้พวกทหารฝรั่งเศส เกิดแตกร้าวฉานกับฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์

การที่บุคคลชั้นหัวหน้าของชาติทั้งสองไปสมคบกับผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของเมืองไทยนั้น ก็มิใช่อะไรไกลอื่นดอก เป็นด้วยต่างมุ่งประโยชน์ไปคนละทาง หัวหน้าชาวฮอลันดาทำการเพื่อชาติและกระเป๋าของตน เพื่อขับไล่คู่แข่งขันในการค้าขายให้พ้นไปจากน่านน้ำของเมืองไทย ส่วนหัวหน้าชาวฝรั่งเศสที่กระทำเช่นนั้นก็มิได้ประสงค์อะไรมาก ในขั้นต้นนอกจากมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าจะไล่เจ้าพระยาวิชเยนทร์ให้โค่นไปจากตำแหน่ง ด้วยความเกลียดชังเป็นการส่วนตัว เมื่อทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศมีความประสงค์เช่นนี้จนกลายเป็นมติของมหาชน พระเพทราชาจึงมีกำลังกล้าแข็ง และมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างไม่มีปัญหา

ขณะเดียวกันกับที่ดวงชะตาของพระเพทราชากำลังสูงเด่นเต็มขีดนั้น ดาวประจำตัวของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็เริ่มจะอับและอับแสงหรี่ลงทุกขณะ ยังรอวันเวลาที่จะดับวูบลงไปเท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตก็คือ นับตั้งแต่เจ้าชีวิตไม่ได้ออกว่าราชการแผ่นดิน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็กลับเป็นคนว่างงานโดยปริยาย ไม่มีราชการอย่างใดที่จะต้องเข้าเฝ้าทุกเช้าเย็นเหมือนแต่กาลก่อน ในพระราชวังชั้นใน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็ไม่ใคร่มีโอกาสเข้าไป นอกจากจะมีพระราชโองการให้มา จะเข้าไปได้ก็เพียงพระราชวังชั้นนอก ซึ่งเป็นที่พักของข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงที่เข้ามาประจำซองเพื่อฟังข้อราชการตามประเพณี บรรดาข้าราชการทั้งปวงที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์เคยก่อกรรมทำเข็ญ หรือทำลายผลประโยชน์เล่า เมื่อทราบข่าวว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์สิ้นอิทธิพลและบารมีของพระเจ้าแผ่นดินที่เคยให้ความคุ้มครองป้องกันตัวเสียแล้ว ต่างก็สิ้นความเกรงกลัวเสนาบดีฝรั่งตาน้ำข้าวผู้นี้โดยสิ้นเชิง ต่างแสดงปฏิกิริยาขึงขังปั้นปึ่งไม่พินอบพิเทาเหมือนแต่ก่อนผิดกันราวฟ้ากับดินทีเดียว เจ้าพระยาวิชเยนทร์จะสั่งการงานอันใดที่เคยสั่งมาก่อน พวกข้าราชการไทยก็หาปฏิบัติตามไม่ ด้วยได้รับคำเสี้ยมสอนยุยงจากหลวงสรศักดิ์และพระเพทราชาผู้เป็นศัตรูตัวสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเสียงเล่าลือแพร่สะพัดถึงหูเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่า ตนจะถูกพระเพทราชาจับกุมและประหารชีวิตในเวลาไม่ช้าก็เร็ว เพราะดังนี้เองเจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงมีความร้อนรนกลัวภัยอย่างยิ่ง คิดเห็นว่าถ้าตนไม่รีบหาทางป้องกันตนเองแล้ว ชีวิตของตนคงจะไม่พ้นจากเงื้อมมือของศัตรูคู่อาฆาตเป็นแน่แท้ และการที่จะหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระนารายณ์ต่อไปนั้นไม่มีทางจะเป็นผลเสียแล้ว เพราะเป็นการแน่เสียยิ่งกว่าแน่ว่าร่มโพธิ์ร่มไทรของตนคงจะต้องสวรรคตภายในเวลาอันไม่นาน เมื่อฉะนี้ก็ยังมีหนทางเหลืออยู่อีกเพียงทางเดียวคือตนจะต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นการจำเป็นจะต้องทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เด็ดขาดลงไป ถ้าปรารถนาจะผลักดันมหาภัยหรือพญามัจจุราชให้ออกไปห่างจากตัว

ประมาณวันที่ ๘ หรือ ๙ เดือนเมษายน ขณะนั้นไม่เฉพาะอากาศจะร้อนจัดเท่านั้น การเมืองภายในก็ร้อนฉี่เตรียมเวลาที่จะปะทุขึ้นมา เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงให้คนสนิทลงมาเชิญนายพลเดฟาช ผู้รักษาเมืองธนบุรี ให้รีบขึ้นไปยังเมืองลพบุรี ผู้บังคับการทหารฝรั่งเศสผู้นี้ก็ได้รีบรุดขึ้นไปยังเมืองลพบุรีตามคำสั่ง เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงเล่าเหตุการณ์ทั้งปวงให้นายพลผู้คุมกำลังสำคัญฟังโดยตลอด และชี้แจงให้ทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินว่าราชการเองมิได้แล้ว พวกขุนนางข้าราชการและพระสงฆ์องค์เจ้าก็รวมหัวเป็นพวกเดียวกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่รีบลงมือปราบปรามการขบถอันจะเกิดขึ้นในคราวนี้แล้ว น่ากลัวว่าพวกฝรั่งเศสในเมืองไทยคงจะต้องสูญพันธุ์สิ้น นายพลเดฟาชได้ทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว ก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีของตน จึงมีความเต็มใจ ขันอาสาทำการตามคำแนะนำเสี้ยมสอนของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ทุกอย่าง และรับรองว่าจะไม่ยอมให้ผู้ใดซึ่งไม่ใช่ตัวของตัวเองได้รับเกียรตินิยมนำหน้าพวกกองทหารเดนตายเข้าปราบปรามข้างพระเพทราชา ส่วนนายพันตรีเดอโปซัง ซึ่งร่วมประชุมลับอยู่ด้วย ก็ขันอาสาว่าจะไปจับพระเพทราชาในทันทีและจะฆ่าหัวหน้าซึ่งฝ่ายเจ้าพระยาวิชเยนทร์เรียกว่าขบถด้วยน้ำมือของตนเอง แต่เสนาบดีชาติกรีกไม่มีนิสัยเอะอะตึงตัง จึงได้เล้าโลมนายทหารฝรั่งเศสทั้งสองให้ไตร่ตรองทางได้ทางเสียอย่างรอบคอบเสียก่อน ในที่สุดแนะนำให้นายพลเดฟาชรีบกลับมายังเมืองธนบุรีเสียก่อน แล้วให้คุมกองทหารขึ้นไปยังเมืองลพบุรีโดยด่วน เพื่อจะได้ทำการจับกุมฝ่ายตรงข้ามเสียแต่ต้นมือ

เมื่อวันที่ ๑๓ เดือนเมษายน นายพลเดฟาชได้กลับลงมาถึงเมืองธนบุรี แล้วจึงรวบรวมคนฉกรรจ์ ๆ ๗๕ คน และเลือกเฉพาะแต่ทหารที่กล้าตายที่สุด รุ่งเช้าจึงคุมทหารทั้งหมดออกเดินทางไปยังเมืองลพบุรี ครั้นไปได้เพียงครึ่งทาง คือไปถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันพฤหัสบดี ๑๕ เมษายน นายพลเดฟาชจึงแวะไปหามองสิเออร์เวเรต์ที่ห้างฝรั่งเศส ก็ได้รับคำบอกเล่าอันน่าตกใจจากมองสิเออร์เวเรต์ว่าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตเสียแล้ว เจ้าพระยาวิชเยนทร์หรือฟอลคอนก็หมดอำนาจ ส่วนพระเพทราชาได้เป็นใหญ่ และที่เมืองลพบุรีกำลังมีการจลาจลวุ่นวายไปทั้งเมือง นายห้างฝรั่งเศสจึงให้คำแนะนำแก่สหายร่วมชาติของตนว่า ควรจะงดเว้นความคิดที่จะขึ้นไปยังเมืองลพบุรีเสีย แต่เมื่อนายพลเดฟาชยังมีความลังเลใจอยู่ มองสิเออร์เวเรต์จึงอุตส่าห์พาผู้บัญชาการทหารข้ามฟากไปหาพวกมิชชันนารีที่โรงเรียนสามเณร ครั้นข้ามฟากไปแล้วก็ได้ข่าวจากสังฆราชเดอโรซาลี และสังฆราชเดอเมเตลโลโปลิส เป็นใจความตรงกับที่ทราบมาจากนายห้างฝรั่งเศสทุกประการ และได้รับคำแนะนำให้กลับไปรักษาป้อมเมืองธนบุรีเช่นเดียวกันอีก ทั้งมองสิเออร์เวเรต์กับสังฆราชฝรั่งเศสผู้เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าขืนนำทัพขึ้นไปยังเมืองลพบุรีแล้ว ก็น่ากลัวจะพาทหารไปตายเสียหมด ทั้งจะเป็นการทำให้กำลังทหารที่รักษาป้อมเมืองธนบุรีอ่อนแอลงไปมาก จนถึงแก่เมืองธนบุรีหลุดลอยไปจากมือของฝรั่งเศสก็เป็นได้ ที่พูดเช่นนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเวลานั้น สมเด็จพระนารายณ์คงจะเสด็จสวรรคตสมจริงตามข่าวเล่าลือในหมู่ราษฎรเสียแล้วเป็นแน่ เพราะถ้าไม่เป็นความจริงไฉนเลยประชาชนคนไทยจะกล้าโจษจันกันอย่างเปิดเผย เพราะการโจษจันเช่นนี้ย่อมมีโทษอย่างมหันต์ทีเดียว ก็เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตเสียแล้ว จะมีประโยชน์อันใดที่จะชวนกันขึ้นไปเมืองลพบุรี เห็นมีก็แต่ผลร้ายเป็นการเสียหายแก่พวกฝรั่งเศสทั้งสิ้น พวกคนไทยได้เล่าลือกันมานานแล้วว่า พวกฝรั่งเศสนั้นจะมาช่วงชิงเอาบ้านเมืองของไทย ถ้าพวกทหารฝรั่งเศสขืนยกขึ้นไปยังเมืองลพบุรีในเวลาที่สมเด็จพระนารายณ์สวรรคตลงใหม่ ๆ เช่นนี้ พวกคนไทยที่มีความระแวงแคลงใจอยู่แล้วจะยิ่งเห็นจริงว่าทหารฝรั่งเศสประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติเป็นการแน่นอนเหลือเกินว่าพวกไทยจะต้องเห็นฝรั่งเศสเป็นศัตรู ถ้าแม้นว่านายพลเดฟาชขืนจะคุมทหารขึ้นไปยังเมืองลพบุรี และเป็นการแน่นอนอีกอย่างหนึ่ง ที่คนไทยจะต้องคิดร้ายต่อทหารฝรั่งเศสด้วยกลอุบายต่าง ๆ อาจจะลอบฆ่าขณะที่ทหารฝรั่งเศสกำลังนั่งเรือไปกลางทางก็ได้ หรือจะใช้วิธีวางเพลิงเผาที่พักของนายพลเดฟาชในขณะหลับสนิท เช่นที่เคยทำแก่ชาวอังกฤษที่เมืองมะริด เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ก็ได้ กำลังทหารฝรั่งเศสเพียงเล็กน้อยเท่านี้คงไม่คณนามือทหารไทยซึ่งเข้าใจหลอกล่อเป็นแน่ สรุปความได้ว่า ถ้านายพลฝรั่งเศสผู้นี้ยังมีความปรารถนาจะได้ดูโลกของเมืองไทยต่อไป และเสียดายทหารฝรั่งเศสจะเลี้ยงมฤตยูก็ควรกลับไปรักษาเมืองธนบุรีตามเดิม

ฝ่ายนายพลเดฟาชได้รับคำชี้แจงจากสังฆราช ก็มีความตกใจเป็นอันมาก เลยไม่กล้าขึ้นไปเมืองลพบุรี ตามที่ได้สัญญาไว้เป็นมั่นเหมาะกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ เป็นแต่ให้คนสนิทชื่อร้อยโทเลอรัวขึ้นไปสืบข่าวหาข้อเท็จจริงยังเมืองลพบุรีตามคำแนะนำของสังฆราช แต่ในขณะที่นายพลเดฟาชยังพักพลอยู่ในพระนครศรีอยุธยานั้น ได้เห็นผู้คนแตกตื่นชุลมุนวุ่นวายกันอย่างผิดสังเกต ที่ปิดบ้านร้านช่องไม่กล้าออกมาเดินตามท้องถนนหลวงเหมือนแต่ก่อนก็มาก ทั้งมีทหารขึ้นประจำรักษาหน้าที่ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยาประดุจเตรียมรบกับข้าศึก สืบถามดูก็ได้ความว่า ประชาชนชาวเมืองพากันคิดว่าทหารฝรั่งเศสจะยกมาตีกรุงศรีอยุธยา เพื่อปล้นทรัพย์สินเงินทองในท้องพระคลัง แล้วจึงจะเลยไปตีเมืองลพบุรีที่ประทับพระเจ้าแผ่นดินต่อไป

เมื่อได้ทราบข่าวเล่าลือเช่นนี้ นายพลเดฟาชจึงขอให้ข้าราชการที่ถือหนังสือของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ลงมาเชิญตนขึ้นไปยังเมืองลพบุรีไปเรียนปฏิบัติต่อเสนาบดีผู้รักษาพระนครให้ทราบว่า การที่ตนคุมทหารขึ้นมาทั้งนี้ ก็โดยมีพระราชโองการให้หาขึ้นไป หาได้มาโดยพลการตนเองเพื่อจะตีปล้นพระราชวัง หรือจะทำร้ายราษฎรไม่ และว่าตนมีความเสียใจอย่างยิ่งที่พอมาถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้ทราบข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตเสียแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ดี ทหารฝรั่งเศสเตรียมพร้อมที่จะยอมรับใช้ในกิจการต่าง ๆ ที่ ไม่ขัดต่อความประสงค์ของรัฐบาลไทยอยู่เสมอ ถ้าไทยเห็นว่าพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์เป็นผู้ที่ควรจะเสวยราชสมบัติสืบสนองพระบรมเชษฐา นายพลเดฟาชก็จะได้ไปอาสาราชการต่อเจ้านายพระองค์นั้นทันที

แต่การประกาศตัวเช่นนี้ก็ยังหาทำให้ราษฎรชาวไทยหายระแวงเคลือบแคลงพวกทหารฝรั่งเศสไม่ นายพลเดฟาชจึงพาคนของตัวเองลงเรือมาพักยัง ณ ที่ด่านภาษี ใต้กรุงศรีอยุธยาลงมาราวสองร้อยกว่าเส้นเพื่อแสดงตนให้คนทั้งหลายเห็นว่า พวกทหารฝรั่งเศสไม่ได้มีเจตนาทุจริตต่อบ้านเมืองของชาวไทยแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ต่อมาอีกสองสามวัน นายร้อยโทเลอรัวก็กลับลงมาจากเมืองลพบุรี และได้นำหนังสือตอบของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ลงมาให้นายพลเดฟาช ในหนังสือนั้นมีข้อความว่า

“สมเด็จพระนารายณ์ยังหาได้สวรรคตไม่ และให้นายพลเดฟาชรีบคุมทหารขึ้นไป จะได้ทรงอาศัยกำลังทหารของฝรั่งเศส”

แต่ถึงดังนั้น นายพลเดฟาชก็หาเชื่อถ้อยคำของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไม่ เพราะข่าวลือที่ว่าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตนั้นเป็นข่าวที่พูดกันเสียงเดียวหมดไม่ว่าที่ไหน เมื่อไร หรือใครเป็นผู้พูดเป็นการเปิดเผย อีกประการหนึ่งนายร้อยโทเลอรัวก็ได้รายงานว่า ตามทางที่ตนควบม้าผ่านไปนั้น ล้วนแต่เต็มไปด้วยคนถืออาวุธทุกตรอกทุกถนน และเมื่อไปถึงจวนเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นเวลาสองยามพอดี แม้จะเป็นเวลาดึกสงัด แต่บรรยากาศก็เต็มไปด้วยอันตรายและสิ่งที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง พอเจ้าพระยาวิชเยนทร์อ่านหนังสือของนายพลเดฟาชโดยตลอดแล้ว ก็ลงมือเขียนจดหมายในทันที หาได้เข้าไปในพระราชวังเพื่อกราบบังคมทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบไม่ กระทำให้เป็นที่คลางแคลงยิ่งนัก ว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์คงเรียกทหารฝรั่งเศสขึ้นไปเมืองลพบุรี โดยสมเด็จพระนารายณ์ไม่ทรงรู้เห็นแต่อย่างใด เข้าใจว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์คงจะเรียกทหารฝรั่งเศสขึ้นไป เพื่อให้คุ้มครองอันตรายแก่ตัวเองนั้นแหละมากกว่า เมื่อนายพลเดฟาชได้รับคำบอกเล่าเช่นนี้จากม้าเร็วของตน ก็มีอาการอึกอัก ไม่รู้จะปฏิบัติการอย่างไรจึงจะถูกต้องกับกาลเทศะ ในที่สุดจึงไปถามความเห็นต่อสังฆราชเดอเมเตลโลโปลิส และสังฆราชเดอโรซาลีอีกครั้งหนึ่ง ก็คงได้รับการยืนยันเหมือนเก่า ผู้บังคับการทหารฝรั่งเศสจึงตกลงใจไปรักษาป้อมเมืองธนบุรี และได้ส่งนายร้อยเอกดะซิเออร์ ให้ถือหนังสืออีกฉบับหนึ่งไปยื่นแก่เจ้าพระยาวิชเยนทร์สหายรักของตน จดหมายนั้นมีข้อความชี้แจงแสดงเหตุผลที่ตนไม่กล้าขึ้น ไปเมืองลพบุรีอย่างละเอียดลออ

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ทราบก็รู้สึกเสียใจเป็นอันมาก จึงได้มีจดหมายถึงสหายของตนอีกฉบับหนึ่ง มีข้อความตัดพ้อต่อว่านายพลเดฟาชที่ไม่ได้ปฏิบัติต่อคำมั่นสัญญาอันได้รับรองไว้อย่างแข็งแรง และขอร้องอีกครั้งหนึ่งให้นายพลเดฟาชพาทหารขึ้นไปช่วยให้จงได้ ผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสจึงได้มีจดหมายตอบขึ้นไปว่าตนมีอาการไม่สบาย และจะถอนทหารให้กำลังเมืองธนบุรีน้อยลงไปไม่ได้ แต่ถ้าจะอย่างไรแล้ว นายพลเดฟาชมีความยินดีให้ที่พักอาศัยแก่เจ้าพระยาวิชเยนทร์ ตลอดจนลูกเมียทุกขณะ และรับรองจะช่วยป้องกันมิให้ข้าศึกศัตรูทำร้ายได้

ไม่มีใครจะบอกได้ว่า เจ้าพระยาวิชเยนทร์มีความเสียใจมากมายสักแค่ไหน ในการที่นายพลเดฟาชไม่คุมกองทหารขึ้นมาช่วยเหมือนดังความคาดหมายของตน และกองทหารฝรั่งเศสก็เป็นนาทีทองสุดท้าย คือเป็นที่พึ่งแห่งเดียวที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์จะหันหน้าไปพึ่งได้เมื่อถึงคราวคับขันจนแต้ม และน่าอนาถใจเป็นที่สุดเมื่อนึกถึงว่า ตนเองได้ลงทุนลงแรงเหนื่อยยากอย่างแสนสาหัส กว่าจะใช้อุบายล่อเอาทหารฝรั่งเศสนี้มาจากยุโรปได้ และเมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วตนก็ยังต้องสละเงินทองความคิดอีกมากมายก่ายกองเพื่อดึงเอาทหารเหล่านี้ไว้เป็นพรรคพวกเดียวกัน แต่ลงท้ายทุนและแรงที่สูญเสียไปก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนแม้แต่นิดเดียว สหาย ตนนึกว่าจะช่วยดับทุกข์ได้ในยามยากวิบาก ได้กลายกลับเป็นเพื่อนชนิดที่ดีแต่กินไปเสียแล้ว พอมีเหตุวิบัติขัดสนปัญญา ตนก็ต้องถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างเดียวดายและตามยถากรรม ท่ามกลางของศัตรูคู่อาฆาตมากมาย ความหวังอันแน่วแน่ที่จะจับกุมพระเพทราชา หรือเพื่อรักษาตัวให้รอดปลอดภัยก็เป็นอันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เหตุที่น่าเสียใจเช่นนี้กระทำให้เสนาบดีชาติกรีกถึงแก่บ่นรำพันต่อหน้าคนสนิทของตัวเองว่า

"ฉันคิดผิดเสียแล้ว ที่มัวไปไว้ใจทางวางใจคนอยู่ ที่พึ่งของฉันไม่มีใครอีกแล้ว นอกจากพระผู้เป็นเจ้า ก็มีแต่พระองค์เท่านั้นที่พอจะปกป้องคุ้มครองตัวฉันได้” และบ่นกับพวกฝรั่งเศสว่า “พวกนี้ช่างไม่นึกเสียบ้างเลย ถ้าเราตาย พวกตนก็จะพลอยพินาศฉิบหายตามตัวเราไปด้วย”

ความจริงเวลานั้น เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็หมดหนทางต่อสู้แล้วยังคงมีแต่ทางหนีเท่านั้น แต่เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็หาได้หนีมาอาศัยอยู่กับนายพลเดฟาช ณ ป้อมเมืองธนบุรีตามคำแนะนำของสหายไม่ บางทีจะเป็นด้วยตัวเข้าใจเสียว่า เหตุการณ์และเวลายังไม่ถึงขั้นจะต้องหนีเพราะสมเด็จพระนารายณ์ยังไม่เสด็จสวรรคต หรือว่าสภาวการณ์ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงหนักหนา จึงถึงแก่จะแก้ไขเยียวยาไม่ได้ หรือก็บางทีนึกทะนงตนว่าคนไทยคงไม่กล้าฆ่าตัว เพราะมีความเกรงกลัวต่ออำนาจของประเทศฝรั่งเศส เหล่านี้ก็อาจจะเป็นไปได้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มีหนังสือบางเล่มกล่าวว่า การที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์ผู้นี้มีความทระนงองอาจ บอกปัดข้อเสนอของนายพลเดฟาชเสียทีเดียว ในข้อที่ให้ไปอาศัยซุกหัวหลบภัย ณ ป้อมเมืองธนบุรีนั้น ก็เพราะเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไม่ต้องการให้ชื่อเสียงอันกระเดื่องของตนมัวหมอง ว่าตนมอบเมืองธนบุรีให้แก่ทหารฝรั่งเศสโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ดังที่คนทั้งเมืองครหานินทามาแล้วนั่นเอง

นับว่าเป็นคราวเคราะห์ดีอย่างหนึ่งของฝ่ายพระเพทราชา ในการที่พวกทหารฝรั่งเศสไม่ขึ้นไปยังเมืองลพบุรี พระเพทราชาผู้สำเร็จราชการรู้สึกเบาใจไปชั้นหนึ่ง ในบรรดาที่พระเพทราชาเห็นว่าเป็นก้างขวางคอตนนั้น ความจริงแล้วพระเพทราชาไม่สู้นึกคร้ามเกรงผู้ใดเท่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ และพวกทหารฝรั่งเศส และรู้สึกสำนึกตัวดีว่า ถ้าแม้นว่าคนพวกนี้พร้อมใจกันเหไปเข้ากับพระปีย์ หรือเจ้าฟ้าอภัยทศฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว กาลข้างหน้าของตนกว่าจะสำเร็จก็คงเปลืองแรงลำบาก หรือคว้าน้ำเหลวเสียเลยก็เป็นได้ พระเพทราชาจึงได้พยายามดำเนินนโยบายการเมืองทุกประการ ที่จะกีดกันทหารฝรั่งเศสมิให้เข้ามาติดต่อกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ กับศัตรูคู่แข่งขันชิงราชสมบัติได้ ด้วยการใช้อุบายยุยงให้พระปีย์ กับเจ้าอภัยทศหลงใหลเชื่อว่าพวกฝรั่งเศสเป็นศัตรูอันร้ายกาจแก่แผ่นดินอย่างหนึ่ง และด้วยการแพร่ข่าวเท็จว่า สมเด็จพระนารายณ์สวรรคตเสียแล้ว เพื่อหลอกทหารฝรั่งเศสให้ตกใจอีกประการหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จอย่างงดงามตามความคาดหมาย การที่พวกนายพลเดฟาชจะขึ้นมารวมหัวกับพระปีย์ หรือว่าจะมาช่วยเจ้าพระยาวิชเยนทร์ทำศึกกับตนนั้น เป็นอันหมดกังวลใจแล้ว ยังน่าวิตกอยู่ก็แต่ข้อที่ว่า พวกทหารฝรั่งเศสจะไปช่วยทำการข้างพระอนุชาพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ถึงตนจะแต่งกลลวงอย่างสนิทสนม จนพระอนุชาทั้งสองหลงเชื่อว่าตนเป็นผู้สุจริต คิดเอาการราชสมบัติถวาย แต่จะวางใจได้หรือว่าพระอนุชาจะหลับหูหลับตาหลงเชื่อตนอยู่เรื่อยไปไม่มีเวลาสร่าง ถ้าแม้นเจ้าทั้งสองพระองค์นั้นรู้เท่าทันความคิด และอุบายของตนขึ้นเวลาใด อาจจะทรงใช้กำลังทหารฝรั่งเศสเป็นเครื่องมือก่อความยุ่งยากให้บังเกิดขึ้นแก่ตนก็ได้ วิธีที่จะแก้ไขมิให้ความวิตกข้อนี้กลายเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจริง ๆ ได้ ก็ไม่เห็นมีทางใด นอกจากพรากพระอนุชาให้ออกห่างจากพวกฝรั่งเศสเสีย ไม่ให้มีโอกาสที่จะติดต่อถึงกันได้อีกต่อไปทีเดียว พระเพทราชาคิดเห็นเช่นนั้นแล้ว ก็ส่งข้าราชการหลายคนให้ลงไปเชิญเสด็จพระอนุชาทั้งสองพระองค์ จากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมายังเมืองลพบุรี ตามถ้อยคำที่กราบทูล และตามจดหมายของพระเพทราชานั้นมีว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก ใคร่จะมอบเวนราชสมบัติให้แก่พระอนุชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเสียก่อนหน้าเสด็จสวรรคต เพราะเหตุนี้จึงควรเสด็จขึ้นไปยังเมืองลพบุรีโดยด่วนที่สุด เพื่อจะได้ให้ข้าราชการขุนนางทั้งหลายทั้งปวงถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นการตัดโอกาสมิให้พระปีย์มีทางชิงราชสมบัติต่อไปทีเดียว และว่าสมเด็จพระอนุชาไม่ควรหวาดเกรงใครอันใด เพราะพระเพทราชาได้จัดการต่าง ๆ ไว้เป็นการเรียบร้อยแล้ว”

ทั้งเจ้าฟ้าอภัยทศและพระเชษฐา ต่างลังเลพระทัยไม่ค่อยกล้าเสด็จขึ้นไปยังเมืองลพบุรีตามคำอัญเชิญของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ที่เป็นเช่นนี้ ใช่ว่าจะระแวงสงสัยในความสวามิภักดิ์ของพระเพทราชาก็หามิได้ ที่แท้จริงนั้นเพราะทรงเห็นว่า พระองค์ประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยาดีแล้ว คือมีอิสระ มีอำนาจอย่างเต็มที่ไม่ต้องหวาดเกรงใคร ส่วนการที่จะเสด็จไปยังเมืองลพบุรีนั้น เป็นการไม่รู้แน่ว่าจะร้ายดีประการใด เพราะต้องไปอยู่ใกล้ ๆ กับพระปีย์ และเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ซึ่งเข้าพระทัยว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจที่คอยจะทำร้ายพระองค์ เพราะความปริวิตกเช่นนี้ จึงมีพระประสงค์จะเสด็จเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวังอย่างเปิดเผยมากกว่าที่จะขึ้นไปเมืองลพบุรี ตั้งพระทัยว่า เมื่อเข้าวังหลวงได้แล้ว ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยทศก็จะได้ตั้งตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แล้วค่อยหาตัวข้าราชการทั้งปวงมาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อภายหลัง

แต่เมื่อถูกพระเพทราชาเร่งเร้าด้วยจดหมายและด้วยให้ขุนนางผู้ใหญ่ลงมาเชิญเสด็จหลายครั้งหลายหน เจ้าฟ้าอภัยทศก็เสียอ้อนวอนมิได้ จึงตกลงจะขึ้นไปยังเมืองลพบุรี พระเพทราชาทราบข่าวก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงจัดข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยลงมารับเสด็จ ณ พระนครศรีอยุธยา เป็นอันมาก ครั้นเตรียมการพร้อมแล้ว สมเด็จพระอนุชาเจ้าฟ้าอภัยทศก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งขึ้นไปยังเมืองลพบุรี แวดล้อมด้วยเรือท้าวพระยาเสนาบดีใหญ่น้อยอย่างสมพระเกียรติ เมื่อเสด็จถึงที่หมาย พระเพทราชาก็ออกหน้าพาข้าราชการทั้งปวงมากราบบังคม ประดุจว่ามีความเคารพนบนอบอย่างที่สุด พระเพทราชาได้กระทำการทุกสิ่งทุกอย่างเป็นที่ว่ามีความจงรักภักดีต่อเจ้านายอย่างที่สุดจนเจ้าฟ้าอภัยทศตายพระทัย มอบหมายให้พระเพทราชาตระเตรียมการงานตามแต่จะเห็นสมควรทุกประการ เพราะดังนี้เอง จึงมีผู้คนมาสมทบเข้าด้วยพระเพทราชามากขึ้นทุก ๆ วัน แม้สมัครพรรคพวกของพระปีย์ก็มาอาสาราชการทั้งนี้เป็นจำนวนมาก ด้วยเห็นว่าหัวหน้าของตนมีกำลังน้อย ไหนจะสู้รบตบมือกับพระเพทราชาไหว เข้าทำนองชนะไหนเข้าด้วยช่วยกระพือนั่นเอง

ฝ่ายพระปีย์ เมื่อเห็นพระเพทราชาทำการเอาใจไปเผื่อแผ่แก่เจ้าฟ้าอภัยทศคู่แข่งขันของตนเช่นนี้ ก็รู้สึกตนว่าเสียทีพระเพทราชาเสียแล้ว และนึกรู้ได้ทันทีว่า พระเพทราชาคงจะคิดกำจัดตนเสียก่อนแล้วจึงจะกำจัดเจ้าฟ้าอภัยทศในภายหลัง เพื่อจะได้ขึ้นนั่งบัลลังก์ทองเสียเอง เพื่อจะป้องกันอันตรายที่จะพึงมีมาถึงตนอย่างหนึ่ง และเพื่อจะแก้แค้นตอบแทนความไม่ซื่อสัตย์ของพระเพทราชาอีกอย่างหนึ่ง

พระปีย์จึงกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงทราบเหตุการณ์ที่พระเพทราชาคิดจะช่วงชิงราชสมบัติ และได้อ้างเอาเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าเป็นผู้รู้เห็นคดีเรื่องนี้เป็นอย่างดีอีกผู้หนึ่ง ถ้าไม่ทรงเชื่อถ้อยคำของตน จะเรียกตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์เข้ามาสอบถามปากคำก็ยังได้

เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงถูกตามตัวให้เข้าไปเฝ้า ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทันที สมเด็จพระนารายณ์ทรงบริภาษตรัสพ้อต่อว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์อย่างมากมาย ว่าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ดี แต่เหตุใดจึงไม่บอกเล่าให้พระองค์ทราบ เสียแรงที่ทรงไว้วางใจตั้งให้เป็นอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ เพื่อจะให้แทนหูแทนตาของพระองค์ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็กราบทูลพระกรุณาว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกำลังทรงพระประชวร ไม่เป็นการบังควรที่จะนำเนื้อความคอขาดบาดตายขึ้นกราบทูลถวาย เพราะจะทำให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเกิดความโทมนัสเสียพระทัยจนพระโรคกำเริบได้ ด้วยความที่ข้าพระพุทธเจ้ามีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท หวังว่าให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทผู้เป็นที่ปกเกล้าปกกระหม่อมของข้าพระพุทธเจ้า หายประชวรเสียเร็ว ๆ จึงสู้ยอมผิด ปิดความไม่นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา”

พร้อมกันนั้นก็เล่าถึงการที่ตนพยายามจะระงับเหตุร้ายมิให้บังเกิดด้วยลำพังสติปัญญาของตน แต่ปราศจากผลสำเร็จ เพราะเหตุที่นายพลเดฟาช ไม่ยอมพาทหารฝรั่งเศสขึ้นมายังเมืองลพบุรีตามคำสั่ง

สมเด็จพระนารายณ์ทรงฟังคำกราบทูลของเจ้าพระยาวิชเยนทร์โดยตลอดแล้วก็ทรงกริ้วโกรธพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์พ่อลูกทั้งสองเป็นที่สุด ทรงแช่งด่าคนทั้งสองอย่างสาดเสียเทเสียเป็นครู่ใหญ่ จนเจ้าพระยาวิชเยนทร์ทูลเตือนพระสติขึ้นว่า เวลานั้นหาใช่เวลาที่จะบ่นว่าคนผิดไม่ แต่เป็นเวลาที่จะต้องลงมือกระทำการ แล้วถวายคำแนะนำต่อไปว่า ข้าราชการยังกำลังแตกเป็นสองก๊กสองฝ่าย เพราะฉะนั้นยังมีความหวังจะปราบกบฏได้ง่าย หนทางดีที่สุดก็คือ จะต้องจับกุมพระเพทราชาหัวหน้าก่อนใคร ๆ ทั้งหมด เมื่อพระเพทราชาถูกจับแล้ว การกบฏก็จะราบคาบไปเอง ส่วนวิธีการที่จะจับกุมหัวหน้ากบฏ ก็ไม่มีวิธีใดเหมาะเท่าให้เจ้าพนักงานคอยจับกุมพระเพทราชา เวลาเข้ามาเฝ้าในห้องพระบรรทม เพราะขณะนั้นพระเพทราชาพลัดเข้ามาตัวคนเดียว จะต่อสู้ป้องกันตัวย่อมไม่ถนัด เป็นโอกาสให้เจ้าพนักงานจับกุมได้โดยง่าย แต่การที่จะกระทำเช่นนี้ให้สำเร็จ ข้อสำคัญที่สุดก็คืออยู่ที่รักษาความลับอย่างมิดชิด และสมเด็จพระนารายณ์จะต้องทำเป็นไม่รู้เท่าทันความคิดของพระเพทราชาจึงจะได้ผล

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ได้ฟังคำกราบทูลของที่ปรึกษาเช่นนี้ก็ดีพระทัย ดำรัสว่า พระองค์จะทรงกระทำตามคำแนะนำของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ทุก ๆ อย่าง และทรงสัญญาว่า จะไม่แพร่งพรายความลับให้รู้ไปถึงหูของพวกกบฏเป็นอันขาด แต่ครั้นพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์ขึ้นไปเฝ้าเพื่อกราบทูลถามพระอาการประชวร แถลงข้อราชการทั้งปวงในเวลากลางคืนวันหนึ่ง ความพิโรธของพระองค์ก็พลุ่งพล่านขึ้นมาจนเหลือระงับ สัญชาตญาณอันชาญฉลาดของพระองค์เมื่อวัยหนุ่มปลาสนาการไปสิ้น

ทรงจับพระแสงดาบ ซึ่งวางอยู่ข้างพระที่แล้วเสด็จลุกขึ้นยืนได้ด้วยอาศัยความพิโรธพาไป มีพระราชโองการตรัสว่าคนทั้งสองเป็นกบฏแล้ว ขยับพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปประหารชีวิตพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ แต่หมดความสามารถจะเสด็จไปให้ถึงตัวคนทั้งสองได้ ด้วยทรงประชวรหนักทุพพลภาพอยู่แล้ว ทั้งพระวรกายก็สั่นเทาจะเสด็จดำรงพระองค์มิได้ก็ล้มลงในที่นั้น และพระแสงดาบที่ทรงนั้นก็หลุดจากพระหัตถ์ สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระพิโรธ และโทมนัสน้อยพระทัยเป็นกำลัง ทรงพร่ำแช่งด่าคนทั้งสองเป็นอันมาก แล้วมีราชดำรัสด้วยความแค้นว่า

“เทพเจ้าผู้บำรุงรักษาพระบวรพุทธศาสนาจงไว้ชีวิตข้าพเจ้าอีกสักเจ็ดวัน จะขอดูหน้าอ้ายกบฏสองคนพ่อลูกนี้ให้จงได้”

การแช่งด่าของสมเด็จพระนารายณ์เช่นนี้หามีประโยชน์แต่อย่างใดไม่ นอกจากจะเป็นการเร่งวันเร่งคืนให้หัวหน้ากบฏลงมือปล้นพระราชวังเร็วขึ้นเท่านั้น พระเพทราชาเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงล่วงรู้ความลับของตนแล้ว ขึ้นทำรีรอชักช้าอยู่ตนอาจถูกจับกุม และไม่มีโอกาสจะเข้าหน้าสนิทกันได้ต่อไปอีกแล้ว จึงรีบนัดหมายผู้คนของตนซุ่มซ่อนอยู่ตามวัดตามบ้านต่าง ๆ ให้เตรียมตัวกระทำการให้เป็นการพรักพร้อม แล้วลอบพาทหารที่วางใจได้เข้ามาในพระราชวังได้เป็นอันมาก จัดการยักย้ายถ่ายเทเจ้าพนักงานที่รักษาช่องทางสำคัญ ๆ รอบพระราชวังให้ไปทำหน้าที่อื่น ๆ และบรรจุคนของตน เข้าไปแทนที่ เมื่อได้ตระเตรียมการอย่างพรักพร้อมแล้ว ถึงวันอังคารที่ ๑๘ เดือนพฤษภาคมเวลากลางคืน พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ก็คุมพลเข้ายึดพระราชวัง และการกระทำครั้งนี้ได้ผลสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งเนื้อความที่ไม่เอิกเกริกอื้ออึงไปด้วย เมื่อคิดดูว่าข้าราชการทั้งปวงเวลานั้นเป็นสมัครพรรคพวกเข้ากับพระเพทราชามากมาก่อน ก็ไม่น่ารู้สึกประหลาดใจแต่อย่างใด ที่พวกกบฏสามารถทำการได้รวดเร็วราวกับปาฏิหาริย์

เมื่อพระเพทราชา มีอำนาจสิทธิ์ขาดในพระราชฐานแล้ว ก็ปรึกษากับเจ้าฟ้าอภัยทศและเสนาบดีถึงเรื่องที่จะจับกุมพระปีย์ และเจ้าพระยาวิชเยนทร์ศัตรูราชสมบัติมาประหารชีวิตต่อไป ครั้นได้รับความเห็นพ้องต้องกันจากคนทั้งปวงแล้ว พระเพทราชาจึงมอบหน้าที่ให้หลวงสรศักดิ์เป็นผู้จัดการกับพระปีย์ และเจ้าพระยาวิชเยนทร์แต่ในวันรุ่งขึ้น

ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เวลาที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรอยู่นั้น บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงต่างไปมั่วสุมอยู่กับพระเพทราชา ไม่มีใครนำพาในฝ่าละอองธุลีพระบาทแม้แต่คนเดียว เว้นแต่พระปีย์พระราชบุตรบุญธรรมเท่านั้น และพระปีย์กอปรด้วยสวามิภักดิ์ นอนอยู่ปลายพระบาท คอยปฏิบัติพยุงพระองค์ลุกนั่งอยู่ทุกเวลา และว่ากันว่า พระปีย์รู้ตัวดีว่า พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์จะทำร้าย จึงคิดป้องกันตัวโดยไม่ออกจากห้องพระประชวรเลย ด้วยมั่นใจว่าคงไม่มีใครอุกอาจเข้าไปกระชากลากตัวถึงในพระราชฐานอันเป็นที่ควรเคารพเป็นแน่ พระปีย์อยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดินทั้งกลางวันกลางคืน มิได้ออกห่างจากพระองค์เลย แต่ครั้นรุ่งเช้าวันที่ ๑๙ พฤษภาคม อันเป็นคราวที่เคราะห์กรรมจะตามมาถึงตัวก็ปรากฏว่า...

พระปีย์ลุกออกมาบ้วนปากล้างหน้า ณ ประตูกำแพงแก้ว หรือออกมาด้วยถูกพระเพทราชาใช้อุบายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ทราบชัด พวกของพระเพทราชาชื่อขุนพิพิธรักษา ชาวที่ก็ผลักขุนนางตัวโปรดผู้นี้ตกลงไปจากประตูกำแพงแก้ว และพระปีย์ร้องขึ้นได้คำเดียวว่า

“ทูลกระหม่อมแก้ว ช่วยด้วย !!”

พอขาดคำ คนทั้งหลายก็จับกุมเอาตัวพระปีย์ไปประหารชีวิต ในขณะนั้น สมเด็จพระนารายณ์ได้สดับเสียงพระราชบุตรบุญธรรมร้องทูลขึ้นมาดังนั้น ก็ตกพระทัยอาลัยในพระปีย์เป็นที่ยิ่ง ถึงแก่มีพระราชดำรัสขอร้องมิให้ทำอันตรายแก่คนรักใคร่ที่สุดของพระองค์ แต่ในเวลานั้นพระวาจาของพระองค์คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงไปมาก ข้าราชการพากันเชื่อฟังคำสั่งของพระเพทราชาซึ่งกำลังมีวาสนารุ่งโรจน์มากกว่าที่จะเกรงกลัวพระเจ้าแผ่นดินผู้มีชะตาถึงฆาตเสียแล้ว

ด้วยประการฉะนี้ สิ่งที่กีดขวางของพระเพทราชาจึงลดจำนวนไปหนึ่งคนละ ขณะที่พระปีย์ถึงแก่ความตายอย่างน่าอเนจอนาถนั้น มีอายุได้ยี่สิบสองปีพอดี ว่าถึงรูปร่าง พระราชพงศาวดารของไทยกล่าวความเป็นที่ว่า ขี้ริ้วอัปลักษณ์เต็มทน คือมีรูปพรรณสัณฐานต่ำเตี้ยจนสมเด็จพระนารายณ์รับสั่งเรียกว่า “อ้ายเตี้ย” ติดพระโอษฐ์ ส่วนจดหมายเหตุของฝรั่งต่างก็ชมเชยพระปีย์ว่าเป็นผู้มีรูปร่างลักษณะดีหน้าตาคมสัน ยังมีอุปนิสัยใจคอกว้างขวาง พวกฝรั่งเช่นเดอฟอแบงซึ่งได้เป็นที่พระศักดิ์สงคราม แล้วต่อมาลาออกจากราชการ (ปลายปี พ.ศ. ๒๒๒๙) เนื่องจากเกิดความขัดอกขัดใจกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ก็ได้กล่าวคำสรรเสริญสดุดีไว้มากพอใช้ว่าเป็นคนโอบอ้อมอารี มีบุคลิกลักษณะน่าคบหาสมาคม จดหมายเหตุบางฉบับยืนยันว่า พระปีย์เป็นคนเข้ารีตถือศาสนาคริสต์ แต่เมื่อได้คำนึงว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่โปรดคนที่เข้ารีต ก็บังเกิดความไม่น่าเชื่อคำกล่าวเช่นนี้ขึ้นมาทันทีทันใด แต่เมื่อหวนคิดดูอีกทีว่า พระปีย์อาจประจบเอาใจพวกบาทหลวงโดยหวังจะพึ่งกำลังทหารฝรั่งเศสในเวลาช่วงชิงราชบัลลังก์ การที่กล่าวว่าขุนนางหนุ่มผู้นี้โอนศาสนาพุทธไปสู่คริสต์ศาสนานั้น ดูท่าทางจะมีความจริงอยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้สันนิษฐานกันแล้วก็ต้องว่า พระปีย์คงจะยอมเข้ารีตแต่กิริยาอาการภายนอก หาได้นับถือศาสนาฝรั่งอย่างจริงจังอันใดไม่ แลการที่พระปีย์เข้ารีตเพื่อหากำลังนี้ ก็คงจะต้องมีการปกปิดเป็นความลับอย่างที่สุด จะทราบกันก็แต่ในวงพวกบาทหลวงและพวกฝรั่งตาน้ำข้าวเท่านั้น เพราะความประพฤติเช่นนี้ถ้ารู้ถึงพระกรรณสมเด็จพระนารายณ์ พระปีย์จะต้องถูกไล่ออกจากพระราชวังอย่างไม่เป็นปัญหา ส่วนปัญหาอีกข้อหนึ่งซึ่งกล่าวทิ้งไว้ให้ผู้อ่านมีความฉงนฉงายมาแต่ต้น คือ เรื่องพระปีย์เป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ใช่หรือไม่นั้น จะตอบให้เด็ดขาดลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ข้างจะยากอยู่สักหน่อย จดหมายเหตุฝรั่งเองกล่าวไปตามเสียงลือเล่าอ้างกันในหมู่ข้าราชการทั่ว ๆ ไปว่า สมเด็จพระนารายณ์เป็นพระราชบิดา และว่าข้าราชการมียศเป็นขุนนางผู้หนึ่งรับอ้างว่าเป็นพ่อ ส่วนพงศาวดารของไทยกล่าวว่า พระปีย์เป็นบุตรข้าราชการมียศเป็นขุนนางผู้หนึ่งเหมือนกัน ชื่อขุนไกรสิทธิศักดิ์ แต่ยืนยันว่าเป็นพ่อตัวลูกตัวกันอย่างแท้จริง หาใช่เป็นพ่อเลี้ยงลูกเลี้ยงกันไม่ เรื่องชาติประวัติของพระปีย์ตอนนี้ค่อนข้างจะสันนิษฐานยากอยู่ เพราะจดหมายเหตุของฝรั่งก็ไม่ได้ให้การรับรองเป็นการแน่นอนยืนยันว่าพระปีย์เป็นโอรสลับ ๆ ของสมเด็จพระนารายณ์ ส่วนทางพงศาวดารของไทยก็ค่อนข้างมืดมัว ด้วยจับได้ว่ากล่าวไม่ตรงความจริงหลายแห่งต่อหลายแห่ง เช่นกล่าวว่าสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีโอรสก็เหมาเอาไปว่าเจ้าฟ้าอภัยทศเป็นโอรส และเสียงเล่าลือที่เป็นจริงว่าพระปีย์เป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ ทางพงศาวดารก็จับเอาหลวงสรศักดิ์ขึ้นมาเป็นราชโอรสแทนพระปีย์เสียเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การที่ขุนนางชั้นกลาง ๆ อย่างพระปีย์คิดจะทำการชิงราชสมบัติ ประกอบกับการที่พระเพทราชารีบฆ่าพระปีย์เสียแต่แรกลงมือปล้นพระราชวัง ย่อมเป็นเข็มทิศบ่งไปในทางที่ว่า ขุนนางผู้นี้เป็นคนสำคัญและเด่นคนหนึ่งในขณะนั้น ซึ่งพระเพทราชาออกจะมีความครั่นคร้ามขามเกรงอยู่ไม่น้อย จึงจำเป็นต้องเร่งกำจัดเสียแต่ต้น ๆ มีข้อที่ควรรู้อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องชื่อเต็มของพระปีย์ จดหมายเหตุของฝรั่งบางฉบับกล่าวว่า ข้าราชการผู้มีนามว่า พระปียทัศน์ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นความจริงดังกล่าวนี้ ก็อาจจะเป็นได้

เมื่อได้กำจัดศัตรูสำเร็จไปคนหนึ่งแล้ว พระเพทราชาผู้มีความเป็นมนุษย์ปุถุชนโลภหลงต่อสิ่งเย้ายวน ก็เริ่มดำเนินกลอุบายทำร้ายเจ้าพระยาวิชเยนทร์ต่อไปเป็นอันดับที่สอง ตามจดหมายเหตุกล่าวว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ขณะนั้นคงจะป่วยไปด้วยโรคการเมือง มิใคร่เข้าไปประชุมปรึกษาราชการในพระราชวัง พระเพทราชาจึงใช้วิธีการเรียกเสือให้เข้ามาถึงจั่น โดยแอบอ้างพระราชโองการให้หา การเป็นเช่นนี้ถ้าตนเองเป็นผู้มีหนังสือถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์คงจะคลางแคลงไม่ยอมมาเป็นแน่ ด้วยตนกับเสนาบดีชาติกรีกไม่ถูกกันอยู่แล้ว จำเป็นต้องวานผู้อื่นให้มีหนังสือไปเรียกตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์เข้ามาในวัง ก็ในบรรดาขุนนางหรือขุนศึกทั้งปวงนั้น พระเพทราชาเห็นแต่เจ้าพระยาสุรสงครามผู้เดียวที่จะกระทำกิจการของตนให้เป็นผลสำเร็จตามแผนการได้ เจ้าพระยาสุรสงครามผู้นี้ มีความดีต่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์มาแต่กาลก่อน เคยช่วยเหลือเจือจานสนับสนุนจนเจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ดิบได้ดี จึงเป็นที่เคารพบูชารักใคร่ของเสนาบดีฝรั่งมากกว่าใคร ๆ ทั้งหมด เรื่องนี้นับว่าพระเพทราชามีความคิดความอ่านเหนือเมฆคนหนึ่ง พระเพทราชาจึงเกลี้ยกล่อมเจ้าพระยาสุรสงครามด้วยแบบใส่ความเป็นชาตินิยมและความเห็นแก่ราชบัลลังก์ลงไปกับผู้เฒ่านี้ พร้อมกับโปรยยาหอมลงไปว่า ถ้าช่วยให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์เข้ามาในพระราชวัง สัญญาว่าถ้าตนสำเร็จราชการแล้วจะชุบเลี้ยงอย่างถึงขนาด ซึ่งก็เป็นธรรมดาสามัญของขุนนางเก่ากรำศึกเสือเหนือใต้มาก่อนเพื่อรักษาแผ่นดินไทยทุกกระเบียดนิ้ว จะต้องคบคนไทยชาติไทยมากกว่าฝรั่งมังค่า และตัวเองก็แก่แล้ว การประจบคนมีอำนาจวาสนาไม่เสียหายอะไร ดีเสียอีกจะได้ยศถาบรรดาศักดิ์และได้เป็นที่พึ่งของบุตรหลานอีกโสดหนึ่งด้วย

ด้วยเหตุผลของมนุษย์ธรรมดา ๆ ผู้หนึ่ง จึงยอมทำการให้พระเพทราชาโดยดี เพราะว่าถ้าไม่ทำโดยดี ก็อาจตายโดยดีก็เป็นได้ เพราะเป็นยุคแห่งความฉุกเฉินจึงให้ทนายออกไปหาเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่บ้านพักแจ้งว่า สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะพบตัวเป็นการด่วน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ทราบข้อความดังนั้น จึงถามว่าใครเป็นผู้รับสั่ง ทนายก็บอกว่า เจ้าพระยาสุรสงครามเป็นผู้รับสั่ง แต่ฝรั่งชาติกรีกมีความฉลาดสังหรณ์ใจเป็นครั้งสุดท้าย จึงบ่นกับทนายและตัวของตัวเองว่า

เจ้าพระยาสุรสงครามไม่ควรจะคิดทรยศต่อตนเลย เข้าทำนองเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า เมื่อได้เคยมีบุญคุณต่อตนเป็นอเนกประการมาแต่หนหลัง แล้วก็มาทำลายเสียอย่างยับเยิน พร้อมกับออกปากว่า ถ้าตนเข้าไปในพระราชวัง คงจะได้รับภยันตรายเป็นแม่นมั่น ข้างทนายก็เตือนว่า พระราชโองการให้หาเป็นการด่วน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ไม่มีทางออกอันใดอีกแล้ว จึงมิอาจขัดพระราชโองการปลอมนี้ได้ ก็เข้าไปร่ำลาลูกเมียสั่งเสียกิจการ ประดุจเป็นหมอดูรู้ล่วงหน้าว่าจะไปตายอย่างแน่แท้ ครั้นแล้วก็ตัดสินใจอย่างคนปลงตก ชวนนายทหารฝรั่งเศสร่วมใจและร่วมตาย มี เชอวาเลียคาฟาซ ลูกชายผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศส นายพันตรีเดอโปชัง มองสิเออร์เดอเทรตวิล รวม ๓ คน ไปเป็นเพื่อนดูใจ เสร็จแล้วก็ขึ้นเสลี่ยงตามธรรมเนียมขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มุ่งตรงมายังพระราชวัง พรั่งพร้อมด้วยทหารประจำตัว ซึ่งล้วนแต่เป็นฝรั่งอังกฤษ โปรตุเกสประมาณยี่สิบคน

ขณะเดียวกัน ทางพระราชวังก็คงหาฤกษ์หายามไว้สำหรับพิชิตเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไว้อย่างเรียบร้อยไม่บกพร่องแล้ว นั่นคือการตระเตรียมกำลังไว้ทำการจับกุมเจ้าพระยาชาติฝรั่งอย่างแข็งขัน โดยหลวงสรศักดิ์เองกำลังเป็นผู้กะเกณฑ์ทแกล้วทหารกล้าตายและเลือดเย็นให้ประจำรักษาหน้าที่ทุกป้อมทุกประตูรอบพระราชวัง และให้เปิดประตูพระราชวังป้องกันมิให้คนเข้าออก ให้ตรวจตราระวังระไวอย่างกวดขันทุกตำบลทุกถนนหนทางแล้ว จัดทแกล้วทหารให้ไปคอยเจ้าพระยาวิชเยนทร์อยู่ทางประตูที่เข้ามา ถ้าเข้ามาถึงเมื่อใดก็ให้กุมตัวเสนาบดีฝรั่งชาติกรีกนี้ให้ได้ ถ้าแม้นพรรคพวกและทนายของเจ้าพระยาวิชเยนทร์จะขัดขืนต่อสู้ ก็ให้ฆ่าฟันได้ทันทีไม่ต้องรอคำสั่งจากใคร ส่วนตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั้นห้ามขาด มิให้ทำร้ายถึงตาย เพราะมีความปรารถนาตัวไว้ทรมานแก้แค้นให้สาสม ครั้นหลวงสรศักดิ์ตระเตรียมการไว้พรักพร้อมแล้ว ก็ไปแจ้งเรื่องแก่พระเพทราชาให้ทราบ แล้วทั้งสองพ่อลูกก็คอยท่าศัตรูที่ริมประตูพระราชวัง อันเป็นต้นทางที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์จะย่างกรายเข้ามาสู่กับดัก

ฝ่ายเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั้น คงนึกสังหรณ์ในใจอยู่แล้วตามวิสัยของมนุษย์ผู้มีความฉลาดเฉลียว ว่าตนคงจะถูกพระเพทราชาฆ่าตนอย่างแม่นมั่น จึงได้นั่งหน้าเศร้าหมองมาตลอดทาง ความจริงนั้นถ้าเจ้าพระยาวิชเยนทร์จะคิดหลบหนีก็คงหนีไปได้โดยสะดวก เพราะพรรคพวกยังมีอยู่มากพอสมควร และทางพระเพทราชาก็ยังมิได้ออกคำสั่งให้ทำการจับกุม แต่เสนาบดีชาติ รีกก็ไม่พยายามจะหนี คงจะเป็นเพราะกลัวเสียชื่อว่าเป็นกบฏ หรือเป็นเพราะหมดอาลัยตายอยากในชีวิตเสียแล้ว

ภาพของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ขณะกำลังนั่งมาบนเสลี่ยง มุ่งตรงมายังประตูพระราชวังแต่ไกลนั้น ย่อมกระทำความยินดีให้บังเกิดแก่พระเพทราชาและพรรคพวก ที่คอยขยับอาวุธอยู่สองข้างประตูเป็นอันมาก และทหารทุกคนที่เป็นพนักงานในการนี้ต่างได้ย้อมหัวใจด้วยเมรัยมาแล้วอย่างที่ พอจะทำอะไรได้โดยปราศจากเหตุผล พอเจ้าพระยาวิชเยนทร์ผ่านเข้ามาภายในประตูพระราชวัง พระเพทราชาก็นำหน้าพาพวกตำรวจเข้าไปจับกุมตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์ทันที โดยอ้างรับสั่งว่ามีพระราชโองการให้จับ เนื่องจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ทำการทรยศคิดกบฏร่วมกับพระปีย์ในการที่จะช่วงชิงราชสมบัติไปจากสมเด็จพระอนุชาประการหนึ่ง กับเป็นผู้ฉ้อโกงพระราชทรัพย์สรรพสินค้าในท้องพระคลังอีกประการหนึ่ง

ขณะที่พระเพทราชา หัวหน้าคณะปฏิวัติ กำลังใช้วาจาและแสดงท่าทางเยาะเย้ยถากถางเจ้าพระยาวิชเยนทร์อยู่เช่นนี้ รอบ ๆ ตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็มีคนถือดาบคอยที่อยู่เป็นจำนวนมาก หน้าตากระเหี้ยนกระหือต่างเตรียมพร้อมที่จะจ้วงฟันคอเจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ทันที หากได้รับคำสั่งจากเจ้านายของตน ฝ่ายทหารที่เป็นพวกป้องกันตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ซึ่งเป็นชนชาติอังกฤษสิบหกคนและชาติโปรตุเกสสองคน พอแลเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ต่างก็หนาวสะท้านตกใจกลัวเป็นล้นพ้น พากันวิ่งหนีเอาตัวรอดไป ยังคงเหลือแต่นายทหารฝรั่งเศสเพียงสามคนเท่านั้น คนทั้งสามคนนี้ ประดุจทหารเสือที่ประสงค์จะสู้ป้องกันตัวอย่างสุดกำลัง แต่เจ้าพระยาวิชเยนทร์เห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใด จึงร้องห้ามเสีย พร้อมกับสำแดงความกล้าหาญ โดยขอร้องให้สามทหารฝรั่งเศสยืนดาบส่งให้แก่ทหารของพระเพทราชา นายทหารฝรั่งเศสดังกล่าวนับว่าเป็นผู้มีวินัยดีมากจึงต่างก็ยอมให้จับโดยดุษณีภาพด้วยประการฉะนี้ หัวหน้าคณะปฏิวัติก็สามารถกำจัดศัตรูลงได้อีกคนหนึ่ง โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด

ควรจะชมเชยในความรอบคอบของพระเพทราชามาก ที่ได้ให้หลวงกัลยาณราชไมตรี ผู้เคยเป็นอุปทูตในประเทศฝรั่งเศสพาเซอวาเลีย เดฟาช นายพันตรีเดอโบซัง และมองสิเออร์เดอเฟรตวิล ไปคุมขังยังพระตำหนักที่นั่งเย็นริมทะเลชุบศร และให้แต่งอุบายลวงว่าที่พาไปอยู่เช่นนั้นก็เพื่อจะป้องกันอันตรายมิให้บังเกิดแก่พวกฝรั่งเศส เพราะมีข่าวหนาหูว่าราษฎรชาวไทยกำลังมีความโกรธแค้นเกลียดชังพวกฝรั่งเศสอย่างมากมายเกรงว่าถ้าไม่จัดการป้องกันล่วงหน้าไว้ก่อน ก็เท่ากับปล่อยให้ประชาชนทำร้ายชาวฝรั่งเศส ทางพระราชไมตรีระหว่างสองประเทศจะมัวหมองไป การที่พระเพทราชาดำเนินการปฏิบัติเช่นว่านี้ก็ด้วยยังไม่มีความประสงค์จะให้ทหารฝรั่งเศสทราบว่าตนมีความมุ่งร้ายหมายขวัญถึงเป็นถึงตาย เมื่อจัดการให้คนพานายทหารฝรั่งเศสทั้งสามพร้อมทั้งนายทหารคนอื่น ๆ ที่เป็นครูที่ฝึกหัดและประจำการอยู่ในพระราชวังเมืองลพบุรี ออกเดินทางไปยังพระที่นั่งทะเลชุบศรแล้ว พระเพทราชาก็ออกคำสั่งให้ตำรวจพาตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์ตระเวนบนกำแพงพระราชวังจนรอบ เพื่อให้คนทั้งหลายได้แลเห็นทั่ว ๆ กัน เมื่อเสร็จจากการตระเวนเสร็จจากการประจานต่อหน้าฝูงชนดังนี้แล้ว จึงได้ให้นำตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไปขังไว้ยังคุกใหญ่ภายในพระราชวัง ลงเครื่องจองจำขื่อคาครบห้าประการดุจนักโทษประหารชีวิต ขณะเมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ดวงชะตาอับถึงแก่ถูกจำคุกนั้นเป็นวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ อายุได้สี่สิบเอ็ดปีพอดิบพอดี ซึ่งทางฝรั่งถือว่า “ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น” เท่านั้น

เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไว้อย่างกวดขัน ทั้งกลางคืนและกลางวัน คอยระแวดระวังทุกโมงยาม มิให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์มีโอกาสเขียนหนังสือถึงใคร และไม่ยอมให้ลูกเมียญาติมิตรเข้าไปเยี่ยมเยียนเป็นอันขาด

ตามจดหมายเหตุของฝรั่งกล่าวว่า เจ้าพระยาวิชเยนทร์ต้องถูกเฆี่ยน ถูกตบ ถูกด่าว่า ถูกแกล้ง ถูกทรมาทรกรรมไม่เว้นแต่ละวัน ส่วนวิธีการทรมานก็ได้เลือกสรรเอาแต่อย่างร้ายกาจออกมาใช้กระทำแก่เสนาบดีชาติกรีกผู้นี้อย่างสิ้นเชิง เริ่มต้นแต่ให้อดข้าว อดน้ำจนถึงตอกเล็บ บีบขมับ และเหล็กแดงนาบเนื้อเป็นที่สุด กระทำดังนี้เรื่อยมาจนเจ้าพระยาวิชเยนทร์ทนความเจ็บปวดไม่ไหวต้องจำใจให้การว่า ตนสมรู้ร่วมคิดกับพระปีย์ในการที่จะเอาราชสมบัติ ยอมรับว่าได้ยักยอกเงินทองในท้องพระคลังหลวงไปจริง เป็นจำนวนหลายหมื่นหลายแสน และว่าตนได้ชักจูงทหารฝรั่งเศสเข้ามาเพื่อเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น อำนาจของเครื่องทรมานเคยทำให้คนสุจริตต้องให้การรับว่าเป็นคนร้ายมาแล้วอย่างนับครั้งไม่ถ้วน นับจำนวนไม่ถูก และครั้งนี้ก็คงมีผลเช่นเดียวกันอีก เมื่อได้ทรมานศัตรูสำคัญอย่างสาสมแล้วเป็นเวลา ๑๗ วัน พระเพทราชาจึงให้ตุลาการอ่านคำพิพากษาต่อหน้าจำเลยคนสำคัญ วางโทษตามบทพระอัยการถึงประหารชีวิต เพราะความผิดของเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นอย่างอุกฤษฏ์โทษร้ายแรงมหันต์ยิ่ง ครั้นแล้วก็ให้เพชฌฆาตนำตัวไปประหารชีวิตเสีย ณ ที่ป่าช้าวัดวัดหนึ่งนอกกำแพงเมืองลพบุรี ในวันที่ ๔ ของเดือนมิถุนายน

ก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้หันไปขอยืดเวลาต่อหลวงสรศักดิ์ บุตรพระเพทราชา ครั้นแล้วก็ลงนั่งคุกเข่าพนมมือนิ่ง ภาวนาระลึกคุณพระคุณเจ้าเป็นครู่ใหญ่พร้อมกับสำรวมจิตใจ ต่อจากนี้ก็ลุกขึ้นยืนประกาศตัวต่อหน้ามหาชนว่าตนมิได้ทำผิดคิดร้ายอย่างใดเลย ตั้งแต่เข้ารับราชการมา ก็ตั้งหน้าทำงานโดยสุจริต หวังแต่จะให้ชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ของประเทศสยามประสบแต่ความวัฒนาถาวรยิ่ง ๆ ขึ้นไปเท่านั้น ในที่สุดหันไปพูดฝากฝังบุตรภรรยาแก่หลวงสรศักดิ์ด้วยถ้อยคำน่าเวทนาว่า

“ผมจะต้องตายอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว ขอคุณหลวงได้โปรดระลึกให้จงดีว่า แม้ผมจะมีความผิดจริงดังข้อกล่าวหา แต่บุตรภรรยาของผมที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่เบื้องหลัง จะมีความผิดแม้แต่น้อยก็หาไม่ เพราะฉะนั้นขอคุณหลวงได้โปรดเมตตาแก่สัตว์ผู้ยากเถิด ผมไม่ขออะไรมาก นอกจากขอทานชีวิตลูกเมียผมเท่านั้น”

ครั้นกล่าวปัจฉิมวาจาดังว่านี้จบลงแล้ว เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็หยุดนิ่ง ไม่ไหวติงสะทกสะท้านแม้แต่น้อย ทันใดนั้นเพชฌฆาตซึ่งได้รับอาณัติสัญญาณจากหลวงสรศักดิ์ หรือสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือผู้โหดร้ายในกาลต่อมา ก็รำดาบอันขาวปลาบเข้าไปจนได้ระยะ

ขณะนั้นสายตาทุกคู่ของคนดูต่างก็จ้องจับอยู่แต่ที่บุคคลสองคนเท่านั้น

คือตัวผู้ประหารและผู้จะถูกประหาร ถึงแม้ว่าผู้รำดาบจะนึกว่าท่วงทีของตนมีสง่างามเพียงใด แต่หัวใจของผู้ดูทั้งปวงก็รู้สึกในทางตรงข้ามคือมีความวาบหวิวสยิวสยอง

ในชั่วพริบตาเท่านั้น ศีรษะของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็หลุดออกจากบ่า เลือดพุ่งทะลักขึ้นจากลำคอประดุจสายน้ำพุ ร่างที่ตั้งตรงอยู่เพียงครู่หนึ่ง แล้วก็ล้มฮวบไปกองอยู่กับแม่ธรณี เป็นการอวสานแห่งชีวิตได้มาสู่ตัวบุคคล สำคัญอันมีประวัติเป็นที่น่าพิศวงอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของไทยแล้ว

การสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ดี การสิ้นพระชนม์ของพระปีย์ ตลอดจนความตายของเจ้าพระยาวิชเยนทร์อัครมหาเสนาบดีก็ดี ได้ยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ และกระแสชีวิตของชาติไทยในระหว่างความดำรงอยู่ของชาติ กับการที่เมืองไทยอาจจะตกเป็นเหยื่อของฝรั่งด้วยอำนาจบารมีของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ แต่โชคชะตาและพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง ยังคงรักษาความศักดิ์สิทธิ์ ได้ดลบันดาลให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางซึ่งชาติไทยจะมีชีวิตชีวาคงความเป็นไทยตลอดไป

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ