เจ้าจอมกลีบ

ไม่ว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน หรือสามัญชนทั่วไป เรื่องเกี่ยวกับปัญหา “ครอบครัว” มักจะมีเรื่องยุ่งยากมากบ้างน้อยบ้างตามฐานะและบารมีของบุคคลนั้น ๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความหึงหวงชู้สาวด้วยแล้ว ถ้าเป็นข่าวฉาวโฉ่ก็จะดังไปไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งที่เกิดเหตุนั้นเป็นพระราชฐานด้วยแล้ว ก็จะมีเสียงเล่าลือกันไปนานทีเดียว

เรื่องจริงที่จะเล่าต่อไปนี้ เกิดขึ้นใน “วังหน้า” สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๔ อันพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั้น เป็นที่เลื่องชื่อลือชากันว่า พระองค์มีพระอุปนิสัยมากด้วยเรื่องเพศตรงข้าม ปรากฏตามพระราชประวัติ พระองค์ทรงมีเจ้าจอมหม่อมห้ามไม่ต่ำกว่า ๑๒๐ คน เวลาที่จะเสด็จไปประทับที่วังตำบลสีทา แขวงเมืองสระบุรี อันเป็นที่โปรดปรานมากนั้น จะมีเจ้าจอมรูปงามและทรงโปรดปรานโดยเสด็จไม่น้อยกว่า ๒๕ คน และความที่ทรงมีเจ้าจอมมาก ๆ นี้เอง พระองค์ก็มักมีพระอารมณ์ขันถึงสภาวการณ์ของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องเจ้าจอม ถึงกับพระราชนิพนธ์เพลงยาวและสักวาเป็นการแสดงความเปิดเผย เยี่ยงวิสัยชายชาตรีของพระองค์ มีความว่า

“อันตัวเรานี้ก็รองพระจอมเจ้า

เป็นปิ่นเกล้าในสยามภาษา

มียศศักดิ์ประจักษ์ทั่วทุกภารา

พระทรงธรรม์กรุณาชุบเลี้ยงเรา

ถึงใคร ๆ ที่จะตกมาเป็นห้าม

ไม่มีความขายหน้าดอกหนาเจ้า

เสียแต่ไม่ฉายเฉิดเพริศพริ้งเพรา

เพราะแก่เฒ่าหงุบหงับไม่ฉับไว

ถ้าจะว่าไปจริงทุกสิ่งสิ้น

ก็พอกินตามแก่แก้ขัดได้

ฤๅน้ำจิตคิดเห็นเป็นอย่างไร

จึงมิได้ปลงรักสักเวลา

การสิ่งไรที่ไม่ดีเรามิชอบ

อ้อนวอนปลอบจงจำอย่าทำหนา

ก็ไม่ฟังขืนขัดอัธยา

ยิ่งกว่าตอไม้ไม่ไหวติง

ที่ข้อใหญ่ชี้ให้เห็นเรื่องเล่นเพื่อน

ทำให้เฟือนราชกิจผิดทุกสิ่ง

ถ้าจะเปรียบเนื้อความไปตามจริง

เสมอหญิงเล่นชู้จากสามี

นี่หากวังมีกำแพงแข็งแรงรอบ

เป็นคันขอบดุจเขื่อนคีรีศรี

ถ้าหาไม่เจ้าจอมหม่อมเหล่านี้

จะไปเล่นจ้ำจี้กับชายเอยฯ”

ความเป็น “เจ้าชู้” อย่างฉกาจฉกรรจ์ของ “วังหน้า” พระปิ่นเกล้าฯ ดังกล่าวนี้ ถึงขนาดมีคราวหนึ่งมิสเตอร์น็อกซ์นายทหารอังกฤษผู้ซึ่งเข้ามาเป็นครูฝึกหัดทหารในวังหน้า ซึ่งภายหลังกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษแล้วเขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์ ตำหนิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “วังหลวง” ตรงข้ามกลับยกย่องพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ “วังหน้า” ต่าง ๆ โดยอคติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงน้อยพระทัยหรืออย่างไรไม่ทราบ ครั้งหนึ่งได้มีพระราชหัตถเลขาไปถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ และเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ราชทูตและอุปทูตที่ไปราชการเมืองอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ มีความทรงค่อน “วังหน้า” ไว้ด้วยในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้

...วังหน้าเป็นหนุ่มแข็งแรง ขี่ช้างน้ำมันขี่ม้าเทศสูงสามศอกเศษ ยิงปืนทุกวัน ชอบการทหารมาก มีวิทยาอาคมดี ฤๅษีมุนี แพทย์หมอ มีวิทยานับถือ เข้าอยู่ด้วยมาก ผู้หญิงก็รักมาก เลี้ยงลูกเมียดี เจ้ากลีบ (เจ้าจอมมารดากลีบ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นพระมเหสี เฮอมายิสตี (Her Majesty) ข้างใน ข่าวลือดังนี้ตลอดทั่วเมืองไทย เมืองลาว แลจีน ฝรั่ง อังกฤษทั้งปวงไม่ใช่ฤๅ ลือมาดังนี้ ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังอ่อนกว่าวังหน้าเดี๋ยวนี้อยู่ เหมือนเมื่อแรกเข้ามาอยู่ในวังนี้ ข้าพเจ้าอายุยังอ่อนกว่าวังหน้าในบัดนี้ถึง ๔ ปี มันก็ว่าแก่แล้ว ครั้งนี้วังหน้าท่านก็มีอายุแก่กว่าข้าพเจ้าเมื่อแรกเข้ามาถึง ๓ ปีเศษแล้ว มันก็ว่ายังหนุ่มอยู่ ท่านเสด็จไปหัวบ้านค้านเมืองที่ใด ก็ได้ลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองแลกรมการมาทุกที ไปสระบุรีได้ลูกสาวพระปลัดมา ไปนครราชสีมาก็ได้ลาวมากว่า ๙ คน ๑๐ คน ไปพนัสนิคมก็ได้ลูกสาวหลวงปลัดมา ไปราชบุรีเมื่อเดือนหกนี้ ก็ได้ลูกสาวใครไม่ทราบเลยเข้ามา แต่ข้าพเจ้าไปไหนมันก็ว่าชรา ไม่มีใครให้ลูกสาวเลย ต้องกลับมาแผลงรัง เพราะว่าคร่ำคร่าชราภาพ ผมไม่สู้ดก ถึงบางยังมีอยู่บ้าง ดำอยู่บ้าง แต่หาได้จับกระเหม่าไม่ แลไกลก็เห็นเป็นล้านโล้งโต้งไป ข้าพเจ้าซื้อแก๊บ (cap) เขาใส่ อุส่าห์ขี่ม้าเที่ยวเล่นจะให้มันว่าหนุ่ม มันก็ว่าแก่อยู่นั้นเอง ไม่มีใครยกลูกสาวให้...

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ใกล้สวรรคต ได้มีข่าวลือแพร่สะพัดทั้งวังหน้าวังหลวงว่า เจ้าจอมกลีบมเหสีอันมีตำแหน่งสำคัญ กล่าวคือเป็นนายเครื่องเสวยพระกระยาหารลอบทำเสน่ห์ยาแฝด เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงหลงใหลยิ่งกว่าเจ้าจอมอื่น ๆ

ความจริงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่สู้จะเป็นเดือดร้อนนักเรื่องข่าวลือที่มีผู้มากระซิบบอกพระองค์นี้ แต่เพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่าพระองค์รับฟังด้วยดี จึงโปรดให้พระยาพิไชยบุรินทรา พระยามณเฑียรบาลผู้เป็นตุลาการในพระราชวังบวร เป็นผู้พิจารณาชำระความเรื่องนี้ ซึ่งขณะเดียวกันตุลาการทราบพระทัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดีว่าไม่ทรงกริ้วเจ้าจอมกลีบเท่าใดนัก จึงชำระแต่เพียงพอเป็นพิธีจึงไม่ได้ความจริงแต่ประการใด แต่อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่อยากให้ใครครหานินทาว่าพระองค์ทรงหลงใหล ได้โปรดให้เจ้าจอมกลีบออกเสียจากตำแหน่งนายเครื่อง แล้วโปรดให้พระราชโยธาเข้ามาว่าการแทน ครั้งนั้นจึงมีแต่ผู้ทำครัวเป็นผู้ชายทั้งสิ้น

เรื่องฝีมือการทำครัวปรุงพระกระยาหารนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่าเจ้าจอมกลีบเก่งมาก และสามารถปรุงพระกระยาหารถูกพระทัย จึงมินานนัก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงพระประชวร เสวยพระกระยาหารไม่ได้ ก็ตรัสชักนำด้วยจะให้เจ้าจอมกลีบเข้ามาทำเครื่องใหม่ แต่ต้องมีข้อแม้หรือผู้รับรอง ครั้งนั้นพระยาพิไชยบุรินทรา หลวงเสนาพลสิทธิ์ หลวงเพ็ชรชลาลัย จมื่นศรีบุรีรักษ์ จ่าการประกอบกิจ ท้าวพิพัฒน์โภชา (แย้ม) ผู้ช่วยขำ ภรรยาพระพรหมธิบาล (เสม) จึงพากันเข้าชื่อทำเรื่องราวค้ำประกันเจ้าจอมกลีบว่า ถ้าเกิดมีเหตุว่า เจ้าจอมกลีบบังอาจทำเสน่ห์ยาแฝดอย่างแน่นอนแล้ว ก็ให้เอาโทษกับนายประกันถึงชีวิตทีเดียว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ได้รับคำมั่นสัญญาแข็งขันขนาดเอาหัวเป็นประกันดังนั้นจึงเห็นชอบ และโปรดให้เจ้าจอมกลีบเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีก

ต่อมาอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ได้ทรุดหนักลง จึงวันหนึ่งเจ้าจอมกลีบปรุงเครื่องก๋วยเตี๋ยวให้เจ้าพนักงานตั้งถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเสวยได้ ๒ ฉลองพระหัตถ์ก็เบือนพระพักตร์ด้วยทรงเห็น “ขน” อยู่ในชามพระเครื่องก๋วยเตี๋ยวนั้น มีความกริ้ว เจ้าจอมกลีบขึ้นมา และทรงนึกถึงเรื่องเก่า เลยทรงพระประชวรมีพระอาการต่าง ๆ ต้องเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวบ้านหัวเมืองเนือง ๆ

ครั้นถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๘ ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราชเสด็จขึ้นไปเยี่ยมพระประชวรถึงที่ประทับวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงกราบบังคมทูลว่า การที่พระองค์ทรงพระประชวรมากครั้งนี้ มีความสงสัยว่า เจ้าจอมกลีบจะทำเสน่ห์ยาแฝดเอา ขอรับพระราชทานข้าทูลละอองธุลีพระบาทในวังหลวงมาเป็นตุลาการชำระให้เห็นดำเห็นแดงกันต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับคำขอร้องจากพระราชอนุชา มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้พระยามณเฑียรบาล พระยาอนุชิตชาญชัย พระยาบริรักษ์ราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช พระพรหมธิบาล พระพรหมสุรินทร์ เป็นคณะตุลาการชำระคดีประหลาดนี้ และในที่สุดได้ความจริงว่า เจ้าจอมกลีบเป็นผู้บังอาจทำเสน่ห์ยาแฝดจริง โดยมีอ้ายช้าง อ้ายขนานแดง อ้ายโสม เป็นครูร่วมหัวกันในเรื่องนี้ด้วย จึงโปรดให้ลูกขุนปรึกษาโทษโดยเร็ว

คณะลูกขุนร่วมพิจารณาปรึกษาโทษ เห็นว่าเจ้าจอมกลีบมารดา มีพระองค์เจ้าถึง ๑๒ พระองค์ ไม่มีความคิดความกตัญญูรู้พระเดชพระคุณ บังอาจคิดทรยศ อนึ่ง อ้ายช้าง อ้ายโสม อ้ายขนานแดง ผู้เป็นครู น้อย แย้ม ขำ จ่าการประกอบกิจ ซึ่งเป็นญาติและรู้เห็น รวมด้วยกัน ๘ คน ให้ริบราชบาตรลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วให้ไปประหารชีวิตเสีย

ส่วนพระพิไชยบุรินทรา จมื่นศรีบริรักษ์ หลวงเสนาพลสิทธิ์ เป็นแต่ผู้นายประกันทำตามพระอัธยาศัยไม่รู้เห็นเป็นใจด้วย ให้ถอดเสียจากที่ ลงพระราชอาญาจำส่งไปคุก กับอ้ายจันชุบ อียา อีอ่วม อีป้อมก้อน อียิ้มแก้ว อีหนู มิได้เป็นบ่าวเป็นทาส มารับอาสาให้เจ้าจอมกลีบใช้ และรู้เห็นด้วย ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วส่งไปจำไว้ ณ คุก และคนที่เป็นแต่เพียงปลายเหตุก็ให้ส่งไปโรงสีบ้าง เป็นคนระบาทว์บ้าง

หลังจากพิพากษาโทษบุคคลเหล่านี้ไม่ช้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ทรงพระประชวรหนักลงถึงสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๐๘ นั้น ยังผลให้เหตุการณ์กลับกลายไปบ้าง โดยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแคลงพระราชหฤทัยว่าเรื่องเจ้าจอมกลีบทำเสน่ห์ยาแฝดจะไม่ใช่เรื่องจริง จึงมีพระราชหัตถเลขาผ่อนผันให้เนรเทศเจ้าจอมกลีบ ๑ แย้ม ๑ ขำ ๑ ไปอยู่เสียที่เมืองสุโขทัย อ้ายโสม อ้ายช้าง อ้ายขนานแดงหมอให้ส่งไปจำคุก จ่าการประกอบกิจ น้อยนั้น โปรดให้ยกโทษเสียปล่อยตัวไป พระยาพิไชยบุรินทรา หลวงเสนาพลสิทธิ์ จมื่นศรีบริรักษ์ ก็โปรดให้พ้นจากการจองจำ แต่มิได้ทรงตั้งขึ้นรับราชการอีก

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ