โทษการทักว่า “อ้วนผอม”

คติโบราณถือกันหนักหนาในเรื่องเอ่ยปากทักทายต่าง ๆ ยิ่งเป็นการทักทายผู้คน โดยเฉพาะท่านเจ้าขุนมูลนายผู้สูงศักดิ์ด้วยแล้วท่านก็ให้สังวรหนัก เพราะบางอย่างมีโทษตามกฎหมาย อย่างเรื่องราวต่อไปนี้

ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะทรงรำคาญพระกรรณต่อการทักทายของคนในรั้วในวังที่มียศ ทักทายกันว่าอ้วนไปผอมไป อะไรทำนองนั้น ขั้นแรกพระองค์ประกาศห้ามมิให้ใครผู้ใดกราบบังคมทูลทักพระองค์ว่าอ้วน ผอม ขาวดำ ประกาศฉบับนี้ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ มีความสำคัญว่า บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทพระสงฆ์องค์เจ้า และบรรดาหมอทั้งหลาย ห้ามมิให้ผู้ใดปราศรัยทักทาย ถึงพระกายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยคำว่า อ้วน ผอม ดำ ขาว สรรเสริญก็ดี ติเตียนก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง คำปราศรัยอย่างนี้ท่านว่าไม่ดี เป็นการล่วงเกินต่ำสูงนัก อย่าได้พูดอย่าได้ใช้เป็นอันขาด

ขั้นต่อไปก็ประกาศวางโทษเรื่องทักทายว่าอ้วนผอม โดยมีประกาศพระบรมราชโองการว่า การที่มีผู้ปราศรัยทักทายเจ้านายผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ด้วยการในพระกาย ทักว่าอ้วนว่าผอมนี้เป็นอัปมงคล ไม่ควรตามเหตุที่อ้างเป็นหลายประการ คือคำว่าอ้วน ว่าผอม เป็นคำหยาบ คำต่ำ คำเลวประการหนึ่ง คือเอาการที่ควรจะวิตกเป็นประมาณว่าดีว่าชั่วในสัตว์เดียรัจฉานมาพูดมาเจรจาในมนุษย์มีศักดิ์สูงไม่มีประโยชน์ประการหนึ่ง คือทำให้กำเริบมิ่งขวัญของกายผู้มีศิริ ด้วยการเจรจาข้ดแก่การที่โบราณห้ามมาประการหนึ่ง ซึ่งคำว่าอ้วนว่าผอม เป็นคำต่ำคำเลวหยาบนั้นฟังเอาเถิด ปากผู้ดี ๆ ที่มีอัธยาศัย เมื่อเขาจะต้องพูดว่าเจ้านายผอมไปแลอ้วนขึ้น เขาก็ย่อมว่าซูบพระองค์ แลทรงพระเจริญ หรือพ่วงพีดังนี้โดยมาก เขาไม่ว่าอ้วน ว่าผอมมิใช่หรือ

ประกาศฉบับนี้กล่าวความต่อไปอีกว่า อนึ่งเปรียบความให้เห็นตัวอย่างในถ้อยคำเหมือนเจ้าจอมมารดาศรี ในพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าบุบผา คือเจ้าจอมที่เป็นบุตรเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช แลเป็นน้องเจ้าพระยาอภัยภูธร แลพระยาอนุชิตชาญไชยขุนทอง แลเป็นอาเจ้าพระยายมราช พระยาเสนาภูเบศรบัดนี้ แลพระยาอนุชิตชาญไชยหนู แลอื่น ๆ นั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าจอมมารดาศรีเป็นเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรด ฯ ให้ว่าราชการฝ่ายในต่างโดยมาก ท่านทั้งหลายทั้งปวงตลอดลงไปจนไพร่เลวยำเยงเกรงกลัวนับถือมาก เมื่อจะเรียกออกชื่อเดิมว่าคุณศรี เจ้าคุณศรี ก็กระดากปาก จึงอาศัยเอาสัณฐานกายเจ้าจอมมารดานั้น ซึ่งแปลกกันกับสัณฐานกายคุณนุ่นพระบรมญาติ ที่เรียกว่าเจ้าคุณวังหลวง ผู้ว่าราชการในพระราชวังโดยมากเหมือนกันนั้นเป็นที่อ้าง แล้วจึงเรียกนามแปรไปว่า เจ้าคุณพี ชื่อนี้ก็ยังแจ้งอยู่แก่เหล่าหลานแลญาติสืบมา คิดดูเถิด ถ้าคำว่าอ้วนว่าผอมเป็นคำดีเขาจะยักว่าเจ้าคุณพีทำไม เขาจะมิเรียกว่าเจ้าคุณอ้วนหรือ อนึ่งเมื่อเรียกข้างเจ้าจอมมารดาศรีว่าเจ้าคุณพี่แล้ว คุณนุ่นพระบรมญาติผู้ว่าราชการตั้งเป็นคู่กัน ที่ควรจะเรียกว่าเจ้าคุณผอม เพราะคำว่าผอมเป็นคำต่ำ จึงเรียกว่าเจ้าคุณวังหลวง โดยเทียบกับคุณคุ้มผู้น้องท่านนั้น ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ว่าราชการในพระบวรราชวัง มีผู้เรียกว่าเจ้าคุณวังหน้า แลคุณกระต่ายน้องท่าน ซึ่งในเวลานั้นได้เป็นผู้ใหญ่ในข้าหลวงในเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี ซึ่งเสด็จอยู่ที่ปลัดซ้าย แลวิมานรัตยาซึ่งนับเนื่องในหมู่พระมหาปราสาทนั้นว่าเจ้าคุณปราสาท ที่ซึ่งข้อที่ว่าเอาการที่ควรจะวิตกเป็นประมาณ ว่าดีชั่วว่าในสัตว์เดียรัจฉาน มาพูดมาเจรจาว่าในมนุษย์มีศักดิ์สูงไม่มีประโยชน์นั้น คือว่าให้เห็นด้วยกันว่า การที่จะวิตกแล้วติว่าผอมเป็นชั่ว สรรเสริญว่าอ้วนเป็นดีเป็นประมาณของประโยชน์นั้นต้องการในสัตว์เดียรัจฉานสองจำพวก คือสัตว์ที่เป็นพาหนะจำพวกหนึ่ง สัตว์ที่จะต้องการเนื้อที่เรียกว่ามังสะเป็นอาหารจำพวกหนึ่ง เมื่อผู้ใดจะซื้อหาช้างม้าโคกระบืออูฐลา ซึ่งเป็นพาหนะจะใช้แรง ก็ย่อมสรรเสริญสัตว์ที่อ้วน ติสัตว์ที่ผอม สัตว์ที่อ้วนมีราคามาก สัตว์ที่ผอมมีราคาน้อย ถึงสัตว์ที่เป็นอาหาร คือสุกรแพะแกะแลสมันกวางทรายตลอดลงไปจนเป็ดไก่แลปลา บรรดาที่จะใช้เนื้อเป็นอาหาร ผู้ซื้อหาต้องการก็เลือกหาสัตว์ที่อ้วนเพราะมีเนื้อมาก สัตว์ที่อ้วนมีราคามาก เพราะสัตว์ที่ผอมเป็นสัตว์สงสัยว่าเป็นสัตว์มีโรคที่ความอ้วนความผอมนั้น เมื่อมาพิจารณาในมนุษย์ แม้นในคนที่จะใช้แรงเป็นทาส กรรมกร หรือทหารแลคนมวยปล้ำต่าง ๆ มัชฌิมบุรุษคือคนสัณฐานกลางนั้นเป็นดี คนอ้วนนักเมื่อเป็นทาสวิ่งตามนายไม่ไหว ใช้ปีนป่ายขึ้นร่างร้านหลังคาไม่ได้ มักหอบฮ่อเฮ่ออยู่ ถ้าเป็นมวยเป็นปล้ำถูกเตะถูกชก หกล้มลงลุกไม่ขึ้น ถ้าผอมนักใช้แบกใช้หามของใหญ่ของหนักไม่ใคร่ได้ โลเลนัก ถ้าเป็นมวยเป็นปล้ำแรงน้อยไปชกเขาไม่แตก เตะเขาไม่ล้ม แต่ผู้สรรเสริญคนอ้วนติคนผอมนั้น ดูเหมือนทีจะว่าคนอ้วนอายุยืน คนผอมอายุสั้น การนั้นก็ไม่จริงไม่เป็นประมาณ จีนชื่นที่เป็นพระยาพิศาลศุภผล ที่เป็นผู้อ้วนอย่างเอก อายุอ่อนกว่ามหาคงที่เป็นพระราชกระวี ซึ่งเป็นผู้ผอมอย่างเอกนั้น ถึง ๓๒ ปี ก็เหตุไรเล่าพระยาพิศาลศุภผลจึงตายไปก่อนพระราชกระวี ข้อซึ่งว่าทำให้กำเริบมิ่งขวัญของกายผู้มีสิริด้วยการเจรจาขัดแก่การที่โบราณห้ามมานั้น ให้สืบสังเกตเอาเถิด คนที่เลี้ยงเด็กต่อหน้าเด็กนั้น เขาไม่ว่าอ้วนว่าหนักว่าน่ารักน่าชม เพราะว่าดีมักกลับเป็นร้าย แต่ซึ่งว่าซูบว่าผอมไปนั้น บิดามารดาแลญาติพี่เลี้ยงเด็กมักวิตก เพราะเหตุที่ว่าเด็กไม่รู้จักรักษาตัว การที่รักษาตัวเด็กนั้นเป็นธุระของผู้ใหญ่ ที่จะได้หาหมอมาประกอบยา แลขู่เข็ญขืนใจให้เด็กกิน ก็ผู้ใหญ่ทั้งปวงนั้นชีวิตของเขา ๆ ก็รัก เมื่อจะสบายไม่สบายตัวเขารู้ก่อนผู้อื่น กายของเขา ๆ ก็เห็นอยู่เป็นนิตย์ด้วยส่องกระจกอยู่ทุกวัน ถึงที่ไหนจะไม่มีกระจกหาน้ำใส่ขันส่องดูหน้าดูรูปของตัวเป็นธรรมดา ไม่ต้องการที่ผู้อื่นจะปราศรัยล่วงเกินเข้ามา ถ้าทักหลอกว่าศีรษะล้านดีกว่า เพราะพูดเป็นการเล่น ไม่เอื้อมถึงชีวิตชีวัง การทักว่าอ้วนว่าผอมนั้น เมื่อพิเคราะห์ไปเป็นการเอื้อมถึงชีวิตชีวัง แลผู้พูดไว้ตัวสูงเป็นเหมือนตั้งบิดา มารดา สบประมาทเจ้าของกายผู้ที่ต้องทักนั้น ให้เป็นเหมือนดังเด็ก ๆ ไม่รู้จักรักษาตัว

ที่ท่านทั้งหลายทั้งปวงบัดนี้ ไม่ใคร่จะสังเกตการเรื่องนี้ ทักได้ทักเอา จนถึงในพระเจ้าแผ่นดินที่มีพระเดชานุภาพเป็นที่ล้นที่พ้น ก็ยังล่วงเกินกราบทูลทักทายเนือง ๆ ไม่ระวังว่าเป็นการต่ำสูงเกินเลย การทักทายอย่างนี้มักมีมาแต่พระสงฆ์ แลหมอ แลท่านผู้ใหญ่ ๆ ข้างในข้างหน้า เพราะฉะนั้น บัดนี้จึงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศห้ามอย่าให้ล่วงเกิน ทักทายอย่างที่ว่าแล้ว ทั้งพระสงฆ์แลคฤหัสถ์ ชาววัดชาววา ถ้าพระสงฆ์จะเข้ามาในพระราชฐานวันใดเวลาใด ให้สังฆการเชิญพระราชบัญญัตินี้มาว่ากล่าวเตือนสติให้ระวัง ด้วยพระสงฆ์มักฟั่น ๆ เฟือน ๆ ไหล ๆ เลือน ๆ ฝ่ายข้าราชการผู้ใหญ่ ๆ สูงอายุเล่า ก็ให้กรมวังคอยเตือนห้ามปราม อย่าให้กราบทูลทักทายเกินเลยได้ หมอถวายอยู่งานถวายพระโอสถ มักใกล้ที่จะกราบทูลอย่างนี้ เมื่อเวลาไรเรียกหมอ ให้ชาวที่คอยกำชับให้ระวัง อย่าให้กราบทูลทักทายได้ ถ้าผู้ใดมิฟัง ขืนกราบทูลทักทายดังนี้ จะให้ลงพระราชอาญาทวนด้วยหวาย ๕๐ ที่ สังฆการีและชาวที่แลกรมวังอยู่ในเวรที่เกิดเหตุขึ้นนั้น จะต้องให้รับพระราชอาญาด้วยคนละ ๓๐ ที ๒๐ ที ตามโทษานุโทษที่ได้ตักเตือนบ้าง แลไม่ได้ตักเตือนเลย ตามสถานที่ผู้กำกับนั้น คือถ้าในพระสงฆ์จะลงโทษแก่สังฆการี ถ้าในหมอจะลงโทษแก่ชาวที่ ถ้าในข้าราชการจะลงโทษแก่กรมวัง ถ้าท่านผู้ใดที่ไม่ควรจะรับพระราชอาญา คือพระสงฆ์ก็จะให้มีเบี้ยปรับถ่ายโทษตน ถึงในข้าราชการฝ่ายในเล่า เมื่อท้าวนางหรือท่านอื่น ๆ จะพาผู้ใดเข้าเฝ้า ก็ให้คอยตักเตือนห้ามปรามกำชับผู้นั้นก่อน ถ้าเกิดเหตุขึ้นเพราะผู้ที่เข้าเฝ้า จะลงโทษแก่ท่านผู้นำเฝ้านั้นด้วย ตามโทษานุโทษ

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ