- คำนำผู้เขียน
- ๑. เจ้าจอมปราง
- ๒. คนทำเงินแดงปลอม
- ๓. ตั้วเฮียอั้งยี่
- ๔. ฝรั่งอยู่เมืองไทย
- ๕. ทาส
- ๖. กฎมณเฑียรบาล
- ๗. ไทยไว้ผมเปีย
- ๘. ภิกษุสามเณรอนาจาร
- ๙. แจกเงิน
- ๑๐. มหาดาผู้วิเศษ
- ๑๑. เสรีภาพสาวชาววัง
- ๑๒. พานทองคำรองพระชุด
- ๑๓. เทวดารักษาในหลวง
- ๑๔. ศาลพลเรือน
- ๑๕. เถรจั่นวัดทองเพลง
- ๑๖. พระอัยการลักษณะผัวเมีย
- ๑๗. รางวัลนำจับพระ
- ๑๘. อ้ายยักษ์ อียักษ์
- ๑๙. สังฆราชเลอบอง
- ๒๐. ศพค้างคืน
- ๒๑. นักโทษถวายฎีกา
- ๒๒. ศัพท์แสง
- ๒๓. ฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์
- ๒๔. ยอดนักการเมืองบูรพาทิศ
- ๒๕. เจ้าจอมกลีบ
- ๒๖. คดีเรือสงครามครรชิต
- ๒๗. เจ้าจอมเฒ่าแก่ นางบำเรอ
- ๒๘. กำนันหญิง
- ๒๙. โทษการทักว่า “อ้วนผอม”
- ๓๐. หม่อมฉิม หม่อมอุบล
- ๓๑. เจ้าพระยาสุรสีห์
- ๓๒. มรดกและสินสมรส
- ๓๓. คดีพระนางเรือล่ม
- ๓๔. ดาวหาง
- ๓๕. เจ้าจอมภู่
- ๓๖. กฎหมายชาวเรือ
- ๓๗. จับหญิงถวายในหลวง
- ๓๘. เหตุเกิดที่พระพุทธบาท
- ๓๙. ตัดศีรษะบูชาพระ
- ๔๐. หญิงหม้าย ชายบวชนาน
- ๔๑. สมาคม “ตั้วเฮีย”
- ๔๒. บ่อนพนันใน “วังหน้า”
- ๔๓. พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง)
- ๔๔. เสรีภาพหนังสือพิมพ์
- ๔๕. “พันปากพล่อย”
- ๔๖. พระยาละแวก
- ๔๗. คนกองนอก
- ๔๘. พระสงฆ์หลายแบบ
- ๔๙. ออกแขก
- ๕๐. เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร)
- ๕๑. แซงเรือพระที่นั่ง
- ๕๒. ท้าวศรีสุดาจันทร์
- ๕๓. เจ้านักเลง
- ๕๔. ขุนนางขโมยเสื่อ
- ๕๕. แม่กองพระเมรุ
- ๕๖. ผัวขายเมีย
- ๕๗. พันท้ายนรสิงห์
- ๕๘. คดีอัฐปลอม
- ๕๙. ประหารพระเจ้ากรุงธนฯ
- ๖๐. ธรรมเนียมหมอบเฝ้าฯ
- ๖๑. หม่อมลำดวน
- ๖๒. ประกาศแช่งน้ำ
- ๖๓. เสพสุราวันสงกรานต์
- ๖๔. ขึ้นขาหยั่งประจาน
- ๖๕. สองกรมหมื่นนักเลงสุรา
- ๖๖. นายสังข์มหาดเล็ก
- ๖๗. ระบอบเลือกตั้งเสรี
- ๖๘. พุทธทำนายเมืองเขมร
- ๖๙. สักหน้าผากจีนเสง
- ๗๐. เรื่องของ “สมี”
- ๗๑. เจ้าจอมทับทิม
- ๗๒. คดีพระยอดเมืองขวาง
- ๗๓. ความหัวเมือง
- ๗๔. นายกล่อมฝรั่ง
- ๗๕. ภาษีพลู
คดีพระยอดเมืองขวาง
คดีพระยอดเมืองขวาง (ขำ) หรือ “ศาลรับสั่งพิเศษ ร.ศ. ๑๑๒” เป็นคดีครึกโครมทางทหารและการเมือง และเป็นคดีที่สร้างความขมขื่นให้แก่ประชาชนชาวไทยทั่วหน้า เพราะอธรรมกำลังอยู่เหนือธรรมะชั่วระยะหนึ่ง
พระยอดเมืองขวางปฏิสนธิเมื่อปีชวด ร.ศ. ๗๑ และถึงแก่กรรมเมื่อเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๑๙ ภายหลังที่ต้องรับโทษมหันต์ แต่เดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๑๓ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พระยอดฯ เป็นผู้ที่นำทหารไทยรบกับทหารฝรั่งเศสที่บ้านแก่งเจ๊ก แขวงเมืองคำม่วน เมื่อวันที่ ๓ หรือวันที่ ๕ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ ทหารไทยผู้รักอิสรเสรียิงทหารฝรั่งเศสตายหมด ได้เกิดเป็นคดีใหญ่โตระหว่างชาติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาลพิเศษขึ้นชำระความพระยอดฯ โดยทนายแผ่นดินเป็นอัยการแผ่นดินแทน ฝรั่งเศสเป็นโจทก์ พระยอดฯ เป็นจำเลย “ศาลรับสั่งพิเศษ” ยกฟ้องโจทก์ แต่ฝรั่งเศสมหาอำนาจผู้กำลังเมามันไม่ยอม และด้วยอำนาจบาตรใหญ่นี้เอง ไทยจึงต้องยอมตั้งศาลผสมขึ้นใหม่อีก ตุลาการฝรั่งเศส ๓ คน พิจารณาให้จำคุกพระยอด ๒๐ ปี
พระยอดเป็นบุคคลตัวอย่างของไทยที่สู้ฝ่าอันตราย เพื่อรักษาศักดิ์ศรีและประโยชน์ของชาติไทย แม้ในขั้นสุดท้ายท่านจะต้องได้รับเคราะห์กรรมอย่างร้ายแรงก็ตาม นับเป็นตัวอย่างอันดีงามที่ปฏิบัติได้ยากยิ่ง ต่อไปนี้ จะขอกล่าวความละเอียดเรื่องการตั้ง “ศาลรับสั่งพิเศษ”
เมื่อฝรั่งเศสเชือดเฉือนดินแดนไทยด้วยเพทุบายและอำนาจไปแล้ว ก็ได้ให้ไทยตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาฟ้องพระยอดเมืองขวาง ตามอนุสัญญา เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ กล่าวหาเป็นทางอาญาว่าพระยอดเมืองขวางทำร้ายฆ่าทหารฝรั่งเศส ณ บ้านแก่งเจ๊ก แขวงเมืองคำม่วน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำพระทัยมีพระบรมราชโองการให้ตั้งศาลรับสั่งพิเศษสำหรับคดีนี้ โปรดเกล้าฯ ให้บุคคลต่อไปนี้เป็นตุลาการ และอัยการทนายแผ่นดินโจทก์ เรียกว่า “ศาลรับสั่งพิเศษ” ดังมีรายนามดังต่อไปนี้
ตุลาการ
๑. อธิบดีผู้พิพากษา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร
๒. ผู้พิพากษารอง พระยาสีหราชเดโชชัย
๓. ผู้พิพากษารอง พระยาอภัยรณฤทธิ์
๔. ผู้พิพากษารอง พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์
๕. ผู้พิพากษารอง พระยาธรรมสารนิตติ์
๖. ผู้พิพากษารอง พระยาธรรมสารเนตติ์
๗. ผู้พิพากษารอง พระยาฤทธิรงค์รณเฉท
อัยการ
๑. ทนายแผ่นดินที่ ๑ หลวงสุนทรโกษา
๒. ทนายแผ่นดินที่ ๒ นายหัสบำเรอ
นอกจากนี้ ยังมียกกระบัตรศาล ล่าม พนักงาน เสมียนศาลต่าง ๆ ตามแต่อธิบดีศาลจะเห็นสมควร
กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ทรงตั้งให้หลวงรัตนาญัปติ อธิบดีกรมอัยการ เนติบัณฑิตอังกฤษ เป็นยกกระบัตรศาล ด็อกเตอร์แฟรงฟูเตอร์ ๑ มิสเตอร์มอแรนต์ ๑ มิสเตอร์สะไวสะตรับ ๑ เป็นล่ามศาล และมีเสมียนศาลจดชวเลข ๒ คน คือนายช่วงกับนายตาบ
ส่วนพระยอดเมืองขวางจำเลยนั้น ได้ว่าจ้างเนติบัณฑิตอังกฤษ ๒ คน เนติบัณฑิตสยาม ๒ คน ให้ว่าความแทน เนติบัณฑิตอังกฤษคือมิสเตอร์เป๊ต กับมิสเตอร์เตลิกี ส่วนเนติบัณฑิตไทย คือนายมี ว่าที่ราชมนตรี กับนายเกต
ความเรื่องนี้ถึงขนาดรัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งข้าราชการฝรั่งเศสมากำกับอัยการทนายแผ่นดิน ๒ คน คือมองสิเออร์ดูโด อธิบดีผู้พิพากษาฝรั่งเศสในศาลอุทธรณ์ที่ไซ่ง่อน กับมองสิเออร์ฮาอูอิน ผู้ช่วยราชทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ ดังมีรายงานการพิจารณาโดยละเอียดดังต่อไปนี้
รายงาน
การพิจารณาคดี (ครั้งที่ ๑)
ระหว่าง
ทนายแผ่นดิน โจทก์
พระยอดเมืองขวาง จำเลย
หาว่าทำร้ายฝรั่งเศสที่แก่งเจ๊ก (แขวงเมืองคำม่วน)
เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒
ณ ห้องศาลอุทธรณ์ สนามสถิตย์ยุติธรรม
เริ่มแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๒
เสร็จเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๒
เวลาเช้า ๔ โมงครึ่ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร อธิบดีผู้พิพากษา กับพระยาสีหราชเดโชชัย พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ พระยาธรรมสารนิตติ์ พระยาธรรมสารเนตติ์ และพระยาฤทธิรงค์รณเฉท ผู้พิพากษารองรวม ๗ คน ออกนั่ง ณ บัลลังก์ในห้องศาลอุทธรณ์พร้อมกัน ในวันนี้มีพวกราชทูตและกงสุลต่างประเทศ ข้าราชการและผู้ดีกับราษฎรเป็นจำนวนมากพากันมานั่งดูการพิจารณาอย่างเนืองแน่น ครั้นศาลประชุมพร้อมกันแล้ว มิสเตอร์เป๊ตทนายจำเลย จึงมีคำขอให้ศาลเลื่อนพิจารณาไปอีก ๑๐ วัน ด้วยพวกทนายกับจำเลยไม่มีเวลาพอจะเตรียมตัวแก้คดีของจำเลย
อธิบดีผู้พิพากษาทรงดำริแล้วรับสั่งว่า ทนายจำเลยไม่ยกเหตุผลให้เพียงพอขึ้นอ้าง ในการขอหยุดการพิจารณานี้ จึงให้ยกคำขอนั้นเสีย
มิสเตอร์เป๊ตถามศาลว่า ศาลจะหยุดพิจารณาในวันอาทิตย์หรือไม่ ด้วยวันพรุ่งนี้เป็นวันอาทิตย์แล้ว ควรให้พวกทนายและจำเลยได้หยุดพักเสียวันหนึ่ง
ฝ่ายฝรั่งเศสไม่ขัดข้อง อธิบดีผู้พิพากษาจึงรับสั่งว่า “ควรให้หยุดพิจารณาทุกวันอาทิตย์เสมอไป”
หลวงรัตนาญัปติ ยกกระบัตรศาลจึงเอาตัวพระยอดเมืองขวางเข้ามาในศาล มีนักการกับโปลิศ ๒ คนคุมตัวจำเลยเข้ามายืนอยู่กลางศาล หน้าบัลลังก์ของผู้พิพากษา
ครั้นเรียบร้อยแล้ว ผู้พิพากษามีรับสั่งว่า เพื่อให้ถูกต้องตามคลองธรรม ถ้าทนายแผ่นดิน หรือฝ่ายทนายจำเลยจะคัดค้านมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดอยู่ในศาลนี้โดยเหตุอันสมควรแล้ว ศาลจะสั่งให้ออกไปอยู่นอกศาล
นายมีทนายจำเลยร้องว่า ฝ่ายจำเลยไม่ยอมให้บุนจันล่ามเขมรซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์อยู่ในศาลนี้ ผู้พิพากษาอนุมัติให้เอาล่ามเขมรออกไปก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งให้เข้ามาเมื่อใดจึงจะเข้ามาได้
ยกกระบัตรศาลได้อ่านคำฟ้องของทนายแผ่นดินให้พระยอดเมืองขวางฟัง มีใจความว่า
วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒
ข้าพเจ้าหลวงสุนทรโกษากับนายหัสบำเรอ ผู้กระทำตามอำนาจอันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้แก่ข้าพเจ้าตามพระราชบัญญัติ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ ให้เป็นทนายแผ่นดินสำหรับพิจารณา (ฟ้อง) คนในบังคับสยามผู้ต้องหาว่า กระทำความร้ายผิดกฎหมายแก่คนในบังคับฝรั่งเศส ที่บ้านแก่งเจ๊ก แขวงเมืองคำม่วน เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ นั้น และเพื่อจะกระทำการให้สำเร็จตลอดความในข้อ ๗ แห่งพระราชบัญญัติ อันกล่าวมาแล้วนั้นด้วย
ขอกระทำคำแจ้งความด้วยหนังสือนี้ยื่นต่อศาลซึ่งได้ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติอันได้กล่าวมาแล้วมีนามว่า ศาลรับสั่งพิเศษสำหรับชำระความที่เกิดขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ กับที่บ้านแก่งเจ๊กนั้นว่า ความร้ายผิดกฎหมายซึ่งกล่าวต่อไปนี้ และที่หาว่าคนในบังคับสยามผู้ชื่อว่า พระยอดเมืองชวาง ข้าหลวง ณ เมืองคำม่วนก่อนนั้น ได้กระทำร้ายที่แก่งเจ๊ก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ คือ
ข้อ ๑ ได้จงใจและตั้งใจที่จะฆ่าไว้ก่อนแล้ว ได้ฆ่าเองหรือสั่งให้คนอื่นฆ่านายทหารฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ชื่อมองสิเออร์กรอสกุรังตายแล้ว
ข้อ ๒ ได้จงใจที่จะฆ่าไว้ก่อนแล้ว ได้ฆ่าเองหรือสั่งให้คนอื่นฆ่า พลทหารญวนที่กำหนดรู้แน่ไม่ได้ประมาณอยู่ในระหว่าง ๑๖ กับ ๒๔ คน ซึ่งเป็นทหารแต่ส่วนหนึ่ง ในกองที่มองสิเออร์กรอสกุรังได้บังคับ
ข้อ ๓ ได้จงใจทำเอง หรือสั่งให้คนอื่นกระทำอันตรายมีบาดเจ็บสาหัสแก่บุนจันล่ามเขมร กับโงเย็นวันถัน ทหารญวนนั้น
ข้อ ๔ ได้ปล้นหรือสั่งให้คนอื่นเอาเครื่องศาสตราวุธและกระสุนดินดำ กับทั้งสิ่งของเครื่องใช้สำหรับตัวซองมองสิเออร์กรอสกุรัง และของล่ามเขมรบุนจันกับเงิน ๘๒ เหรียญ ซึ่งอยู่ในหีบของล่ามนี้ด้วย
ข้อ ๕ ได้จงใจแกล้งทิ้งไฟ หรือสั่งให้เอาไฟเผาโรงเรียนซึ่งมองสิเออร์กรอสกุรัง และพลทหารซองเขาอยู่นั้นให้ไหม้เสีย
อันความร้ายผิดกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ก็เป็นการทวีโทษขึ้นด้วย เหตุการณ์ที่ความร้ายทั้งหลายเหล่านี้มีชนิด และน้ำหนัก เช่น จะก่อให้เป็นเหตุเกิดสงครามในระหว่างกรุงสยามและกรุงฝรั่งเศส
ความร้ายทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วนี้ ย่อมมีโทษได้ตามความในพระราชกำหนดกฎหมาย โดยบทกฎหมายที่กล่าวต่อไปนี้คือ สำหรับกับความ ข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓ นั้น เป็นความร้ายกระทำต่อตัวคน มาตรา ๑๐ ลักษณะโทษ ๘ สถานที่ ๑ ในอาญาหลวงมีความว่าดังนี้ ห้ามมิให้ฟันแทงกันตาย และมิให้ทำกันในแผ่นดินท่าน ผิว์และผู้ใดทนงศักดิ์สำหาว ทำล่วงเกินพระราชบัญญัติ ผู้นั้นต้องในระวางบังอาจ ท่านให้ลงโทษ ๘ สถาน สถานหนึ่งคือให้ฆ่าผู้ร้ายนั้นเสีย สถานหนึ่งคือให้ตัดตีน ตัดมือแล้วประจาน สถานหนึ่งให้ทวนด้วยลวดหนาม ไม้หวาย ๕๐ ที สถานหนึ่งให้จำไว้ แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง สถานหนึ่งคือให้ไหมจัตุรคูณ แล้วเอาตัวลงเป็นไพร่ สถานหนึ่งให้ไหมตรีคูณ สถานหนึ่งให้ไหมทวีคูณ สถานหนึ่งให้ไหมลาหนึ่ง และโทษ ๘ สถานนี้ ควรด้วยราชทัณฑ์สถานใดก็ให้เอาแต่สถานหนึ่งนั้น
สำหรับต้นข้อ ๔ ว่าด้วยปล้นนั้น มาตรา ๑๐๘ บัญญัติไว้ว่า ทั้งนี้ โจรปล้นสดมภ์ ย่องเบา ตีฉก ชิงฉก ฉกล้วง ล้วงลอบลัก ช้างม้า ข้าคน วัวควาย เรือเกวียนทรัพย์ สิ่งใด ๆ ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง และสักสิ่งของอันลักไว้ที่หน้าอก ให้ไหม โดยบทพระอัยการ
สำหรับข้อ ๕ ว่าด้วยทิ้งไฟนั้น มีพระราชบัญญัติในรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๕) ลงวันที่ ๔ เดือน ๒ แรม ๘ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก ประกาศไว้ว่า ความผิดทิ้งไฟนั้นให้ลงโทษถึงตายได้
เพราะฉะนี้ข้าพเจ้าขอให้ศาลรับสั่งพิเศษ ซึ่งตั้งไว้ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ได้พิจารณาชำระพระยอดเมืองขวาง ในความข้อที่กล่าวหามาข้างต้นทั้ง ๕ ข้อ และเมื่อได้พิสูจน์เห็นจริงว่ามีความผิดในข้อใด ขอให้ศาลตัดสินลงโทษตามโทษานุโทษ ซึ่งจึงจะสมกับพระราชกำหนดกฎหมาย และพอเพียงกับน้ำหนักของโทษที่ผิดนั้นด้วย
ครั้นอ่านคำฟ้องจบลงแล้ว หลวงรัตนาญัปติ ยกกระบัตรศาลจึงถามพระยอดเมืองขวางจำเลยว่า พระยอดเมืองขวางจะให้การรับสารภาพเป็นสัตย์ตามข้อหาในคำฟ้องทั้ง ๕ ข้อ หรือจะให้การปฏิเสธไม่รับ
พระยอดเมืองขวางให้การว่าข้าพเจ้าขอให้การปฏิเสธไม่รับทั้ง ๕ ข้อ
ผู้พิพากษาจึงรับสั่งถามพระยอดเมืองขวางจำเลยว่า จะให้การแก้คดีต่อไปเอง หรือจะให้ทนายแก้แทน
พระยอดเมืองขวางทูลตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอให้ทนาย ๔ คน คือ มิสเตอร์เป๊ต มิสเตอร์เตลิกี เนติบัณฑิตอังกฤษ นายมีเนติบัณฑิต ว่าที่ราชมนตรี และนายเกตเนติบัณฑิต แก้คดีแทนข้าพระพุทธเจ้าต่อไป จนถึงแพ้และชนะ
ผู้พิพากษาทรงรับสั่งว่า ศาลอนุญาตให้ทนายทั้ง ๔ คนนี้แก้คดีแทนพระยอดเมืองขวาง จำเลยได้
แล้วรับสั่งให้พระยอดเมืองขวาง ไปนั่งอยู่ที่ริมโต๊ะทนายของตัวได้ แต่ต้องให้พระยอดเมืองขวางจำเลย ขังไว้ในศาลก่อนเพราะยังไม่มีประกัน
ครั้นแล้ว มิสเตอร์เป๊ต ทนายจำเลยจึงกล่าวว่า พระยอดเมืองขวาง จำเลยไม่ได้กระทำร้ายผิดกฎหมายแก่คนในบังคับฝรั่งเศสที่แก่งเจ๊ก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ ดังเช่นกล่าวหาในคำฟ้องนั้น การซึ่งพระยอดเมืองขวางได้กระทำแล้วนั้น พระยอดเมืองขวาง จำเลย ได้กระทำตามทางราชการโดยถูกต้องตามกฎหมาย ดังมีแจ้งอยู่ในหนังสือ ที่ ๗๑/๑๑๒ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ (หลวงวิชิตสารศาสตร์ ถึงพระยอดเมืองขวาง) และลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พระยอดเมืองขวาง ถึงนายร้อยโทนายอ่ำ) เหตุฉะนั้นพระยอดเมืองขวาง จำเลย ขออ้างหนังสือ ๒ ฉบับนี้ ซึ่งอยู่ในกระทรวงมหาดไทย มาเป็นพยาน
หลวงสุนทรโกษา ทนายแผ่นดิน พูดหารือด้วยมองสิเออร์ดูโด ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฝรั่งเศสแล้ว จึงคัดค้านคำของทนายจำเลย ไม่ยอมให้เรียกเอาหนังสือ ๒ ฉบับนี้มาเป็นพยาน
ผู้พิพากษาทรงดำริแล้วรับสั่งว่า ซึ่งจำเลยมีคำดังนี้ ก็ควรที่ศาลจะยอมเรียกเอาหนังสือ ๒ ฉบับนี้มา แต่ข้อที่ศาลนี้จะยอมรับว่าหนังสือ ๒ ฉบับนี้ ควรจะฟังเป็นตัวพยานได้หรือมิได้นั้น ศาลจะวินิจฉัยต่อภายหลัง เมื่อศาลได้ตรวจดูหนังสือเหล่านี้ตลอดแล้ว แต่ซึ่งทนายแผ่นดินคัดค้านไม่ยอมให้เรียกหนังสือเหล่านี้มานั้น หาชอบด้วยทางยุติธรรมไม่ ด้วยเหตุว่าคดีเรื่องนี้จะต้องชำระเอาความจริงถ่ายเดียว ซึ่งเกี่ยวข้องด้วยชีวิตรของพระยอดเมืองขวางจำเลย ๆ จะเป็นจะตายก็สุดแล้วแต่การพิจารณาโดยเที่ยงตรงแลยุติธรรม พิจารณาเอาความจริงโดยยุติธรรม เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ควรให้พระยอดเมืองขวาง จำเลย มีโอกาสสืบพยานได้ทุกประการ
แล้วมีรับสั่งให้หลวงรัตนาญัปติ ยกกระบัตรศาล มีหมายไปยังกระทรวงมหาดไทยเรียกเอาหนังสือ ๒ ฉบับนี้มาตามข้อความในข้อ ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลรับสั่งพิเศษนี้มาจงได้ แล้วทรงรับสั่งถามว่า ฝ่ายจำเลยเตรียมพยานของตัวไว้พร้อมแล้ว หรือจะนำเอาพยานมาหาศาลเองได้หรือไม่
มิสเตอร์เป๊ต ทนายจำเลยทูลตอบว่า พวกพยานของจำเลยมาอยู่พร้อมแล้ว แต่ว่าตามธรรมเนียมแล้ว ควรให้ศาลออกหมายเกาะพยานเหล่านี้ไว้เสีย มิฉะนั้นจะรับผิดเองไม่ได้ ถ้าพยานไม่มาศาลเมื่อภายหลัง จึงมีรับสั่งให้หลวงรัตนาญัปติยกกระบัตรศาล ออกหมายเกาะพยานฝ่ายจำเลยให้มาให้การโดยอ้างพระราชบัญญัติ
ฝ่ายทนายแผ่นดินทั้ง ๒ คน ยังไม่อ่านรายชื่อพยาน แต่นายหัสบำเรอ ทนายแผ่นดิน ลุกขึ้นอ่านรายงานของมองสิเออร์เดอร์ลาเนชอง ผู้สำเร็จราชการเมืองญวน ตังเกี๋ย และเขมร ซึ่งเรียงตามคำโทรเลข ได้รับมาจากแก่งเจ๊ก ว่าด้วยเรื่องรบกันในที่นั้น
มิสเตอร์เป๊ต ทนายจำเลยท้วงว่า ไม่ควรอ่านรายงานนี้ ซึ่งศาลยังไม่ได้ยอมรับเอาเป็นตัวพยานฝ่ายโจทก์ อีกประการหนึ่งฝ่ายจำเลยต้องคัดค้านไม่ยอมให้เอารายงานนี้มาใช้เป็นตัวพยานในศาลนี้
ผู้พิพากษารับสั่งว่า ควรให้ทนายแผ่นดินอ่านไปให้ตลอด แต่ข้อที่ศาลจะยอมรับเอารายงานนี้มาเป็นตัวพยานได้หรือไม่ได้ตามกฎหมายนั้น ศาลจะได้วินิจฉัยต่อภายหลัง
นายหัสบำเรอ ทนายแผ่นดิน ก็อ่านต่อไปจนเที่ยงวันกับ ๒๐ นาที (ศาลหยุดรับประทานอาหารกลางวัน ไปจนถึงบ่าย ๑ โมง ศาลจึงได้ประชุมต่อไป)
ครั้นเวลาบ่าย ๑ โมง ศาลประชุมพร้อมกันแล้ว
มิสเตอร์เป๊ต ทนายจำเลยร้องว่า ผู้มีชื่อเอาหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคดีเรื่องนี้ ซึ่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ เที่ยวแจกแก่บรรดาคนมาฟังการพิจารณาในศาลนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า เอาไปพิมพ์กันอย่างไร แต่ข้าพเจ้ารู้แน่ว่าศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้เอาไปพิมพ์เลย เพราะเหตุฉะนี้ คนทั้งหลายไม่เข้าใจจะพากันหลงเชื่อข้อความในหนังสือเหล่านั้น เป็นเหตุให้คดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเสียไป ถ้าศาลได้พิจารณาแล้วว่า หนังสือเหล่านี้ควรรับไว้ จึงควรแจกจ่ายได้ต่อภายหลัง
ผู้พิพากษาจึงมีรับสั่งให้ผู้มีชื่อเก็บหนังสือเหล่านั้นคืนเสีย เมื่อได้นำเอาหนังสือเหล่านี้มายื่นต่อศาลให้ศาลตรวจรับรองก่อน แล้วภายหลังจึงควรจะแจกจ่ายเปิดเผยได้
แล้วนายหัสบำเรอ ทนายแผ่นดิน จึงอ่านคำให้การของพยานผู้มีชื่อซึ่งได้รู้เห็นในคติเรื่องนี้ต่อไปประมาณครู่หนึ่ง ผู้พิพากษามีรับสั่งถามว่า พยานผู้นี้อยู่ในกรุงเทพฯ หรือ นายหัสบำเรอทูลตอบว่า พยานผู้นี้ชื่อโงเย็นวันถันยังอยู่ในเมืองไซ่ง่อน จึงรับสั่งถามว่า ถ้าพยานผู้นี้หายป่วยแล้ว ฝ่ายโจทก์ก็คงจะนำเอาตัวมาสืบในศาลนี้ไม่ใช่หรือ นายหัสบำเรอทูลตอบว่า โงเย็นวันถันแขนหัก เจ็บมาก เห็นจะเอาตัวมาไม่ได้ แต่โงเย็นวันถันได้ให้การไว้ต่อหน้าเจ้าพนักงานฝรั่งเศสในเมืองไซ่ง่อนแล้ว และก็อ่านคำให้การของพยานชาวญวนผู้นี้ต่อไป
มิสเตอร์เป๊ต ทนายจำเลย ติงขึ้นว่า ควรทนายแผ่นดินจะอ่านให้ดัง ๆ ขึ้นอีกหน่อย ฝ่ายจำเลยจะได้ยินได้ถนัด ถ้าอ่านเบาดังนี้ ก็ไม่ใคร่ได้ยิน
นายหัสบำเรอ ทนายแผ่นดิน ก็อ่านดังขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง จบแล้วจึงอ่านคำให้การบุนจัน ล่ามเขมร ซึ่งให้การไว้ต่อหน้าราชทูตฝรั่งเศส ยังไม่ทันจบก็หยุดเสีย เพราะตอนท้ายไม่เกี่ยวกับความเรื่องนี้ แล้วจึงอ่านคำให้การของบุนจันล่ามเขมร ซึ่งให้การไว้ต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ที่เมืองหนองคายต่อไป
มิสเตอร์เป๊ต ทนายจำเลย ร้องคัดค้านว่า ทนายแผ่นดินควรอ่านฉบับก่อนให้หมดเสียก่อน แล้วจึงอ่านฉบับหลังต่อไป นายหัสบำเรอ ทนายแผ่นดินตอบว่า นี่เป็นคำให้การบุนจันล่ามเขมรคนเดียวกัน
มิสเตอร์เป๊ตจึงว่า ซึ่งจะอ่านคำพยานฉบับก่อนยังไม่ทันจบ แล้วมาตั้งต้นอ่านฉบับใหม่อีกฉบับหนึ่งนั้น ดูไม่ควร ชัยปัญหาที่ว่าคำให้การเหล่านี้ จะควรใช้เป็นตัวพยานฝ่ายโจทก์ได้หรือไม่นั้น ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะได้วินิจฉัยให้เตืดขาด ว่าตรงกับประเด็นข้อหาหรือไม่ ก่อนเวลาที่จะอ่านคำให้การในชั้นหลัง
ผู้พิพากษารับสั่งว่า เมื่อฝ่ายโจทก์เห็นว่าคำให้การเหล่านี้มีประโยชน์ได้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ให้อ่านไป ถ้าทนายแผ่นดินอ่านครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่จบแล้วก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายจำเลย ส่วนข้อความที่ไม่อ่านนั้น ก็ต้องพึงเข้าใจว่า ฝ่ายโจทก์ไม่อ้างอิงเป็นพยานต่อไป
มิสเตอร์เป๊ตทูลว่า ข้อความที่ไม่อ่านนั้นบางทีจะเป็นข้อความที่ยันกันกับพยานอื่น ๆ ได้บ้าง และไม่ตรงกับประเด็นข้อหาของโจทก์โดยแท้
ผู้พิพากษารับสั่งว่า ข้อความที่ไม่อ่านนั้น ฝ่ายจำเลยจะเอามาใช้ยืนยันเอาพยานคนใดก็ได้ ศาลไม่ห้าม
แล้วนายหัสบำเรอ ทนายแผ่นดินก็อ่านต่อไป พอจบลงก็กล่าวชี้แจงคำให้การของพยานเหล่านี้ต่อไปอีก
มิสเตอร์เป๊ต ทนายจำเลยว่า ตามพระราชบัญญัติตั้งศาลพิเศษนี้ ทนายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจที่จะกล่าวชี้แจงได้ในเวลาสืบพยาน
นายหัสบำเรอ ทนายแผ่นดิน ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้พูดชี้แจงอย่างหนึ่งอย่างใด นี่เป็นคำอธิบายต่างหาก
ผู้พิพากษาจึงรับสั่งว่า ถ้าทนายจำเลยคัดค้านไม่ยอมให้ทนายแผ่นดินอธิบายแล้ว ข้าพเจ้าต้องขอให้เข้าใจกันว่า ถ้าทนายแผ่นดินพูดอธิบายในเวลานี้แล้ว ภายหลังข้าพเจ้าก็จะต้องอนุญาตให้ทนายจำเลยพูดอธิบายได้บ้างเหมือนกัน
มิสเตอร์เป๊ตจึงทูลว่า ซึ่งทรงวินิจฉัยดังนี้ก็ถูกต้องกับความประสงค์ของข้าพเจ้าแล้ว
ผู้พิพากษาจึงรับสั่งถามทนายแผ่นดินว่า มีพยานอื่นอีกหรือไม่นอกจากบุนจันล่ามเขมร แลโงเย็นวันถัน
นายหัสบำเรอทูลตอบว่า ยังมีอีก ๒ คน แต่เป็นพยานบอกเล่าทั้ง ๒ คน
ผู้พิพากษาจึงรับสั่งถามอีกว่า มีพยานอีกหรือไม่นอกจากคนเหล่านี้ ถ้ามีหมายเอาตัวมาเสีย
ทนายแผ่นดินทูลว่า ไม่มีอีกแล้ว
ผู้พิพากษาว่า ท่านรู้แน่หรือว่าไม่มีพยานอีก
ทันใดนั้น ทนายแผ่นดินกับผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฝรั่งเศสปรึกษากันอยู่นาน แล้วทนายแผ่นดินทูลตอบว่า ฝ่ายโจทก์ไม่มีพยานอื่นมาอีกเป็นแน่
มิสเตอร์เป๊ต ทนายจำเลยจึงทูลถามว่า ฝ่ายจำเลยอยากจะใคร่ทราบว่า ศาลจะยอมรับเอาหนังสือต่าง ๆ ซึ่งทนายแผ่นดินได้อ่านนั้นเป็นพยานหรือไม่ ข้าพเจ้าจะต้องขอคัดค้านไว้ เนื่องด้วยเหตุหลายประการ ศาลจะให้ข้าพเจ้ากล่าวคำคัดค้านเดี๋ยวนี้ หรือจะให้ข้าพเจ้ากล่าวภายหลัง
ผู้พิพากษา : ท่านจะกล่าวคัดค้านเดี๋ยวนี้หรือ
มิสเตอร์เป๊ต : ข้าพเจ้าขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทนายแผ่นดิน ส่งสำเนาหนังสือเหล่านี้มาให้ข้าพเจ้าอ่านก่อน เมื่อข้าพเจ้าได้ตรวจดูตลอดแล้ว จึงจะกล่าวคำคัดค้านได้
ผู้พิพากษาจึงรับสั่งให้ทนายแผ่นดินส่งสำเนาเหล่านี้ให้มิสเตอร์เป๊ตจงได้ แล้วศาลจะรอฟังคำคัดค้านในวันจันทร์หน้า
มิสเตอร์เป๊ต : ข้าพเจ้าอยากจะขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใด เอาหนังสือเหล่านี้ลงพิมพ์แพร่ข่าวให้ประชาชนทั้งหลายทั่วโลกให้รู้เสียก่อน เพราะยังไม่ได้รับหนังสือเหล่านี้ไว้เป็นคำพยาน แล้วข้าพเจ้าขอให้ศาลนี้แจ้งความต่อราชทูต และกงสุลต่างประเทศ ขอให้ห้ามคนในบังคับ ซึ่งเป็นพวกหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เสียว่าอย่าเพื่อให้เอาหนังสือเหล่านี้ลงพิมพ์ก่อนว่าศาลจะตกลงเอาเป็นคำพยานได้หรือไม่ตามกฎหมาย ถ้าศาลไม่ยอมแจ้งความไปยังราชทูตและกงสุลทั้งปวง ตามที่ข้าพเจ้าขอนี้แล้ว ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าให้จดหมายบันทึกลงในหนังสือเหล่านี้ว่า ศาลยังไม่ได้รับไว้เป็นพยาน
ผู้พิพากษา : ศาลนี้ไม่อาจห้ามคนทั้งหลายว่า ไม่ให้พูดถึงความเรื่องนี้ได้ ด้วยการชำระเรื่องนี้ย่อมเป็นการเปิดเผย เมื่อคนทั้งหลายผู้มาฟังกลับไปบ้านแล้ว ก็คงจะพูดเล่ากันบ้างเป็นธรรมดา
มิสเตอร์เป๊ต : ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า หนังสือเหล่านี้ศาลยังไม่ได้รับไว้เป็นตัวพยานก่อนเวลาศาลวินิจฉัย และถ้าหนังสือพิมพ์ใด ๆ เอาหนังสือเหล่านี้ไปลงพิมพ์โฆษณา ศาลจะไม่ยอมให้พวกจดหมายเหตุของหนังสือพิมพ์เหล่านั้นมาฟังการพิจารณาในศาลนี้ต่อไป
ผู้พิพากษา : ศาลนี้ไม่ยอมมีคำสั่งดังนั้น เห็นว่าถ้าหนังสือพิมพ์ฉบับใดเอาหนังสือเหล่านี้ไปโฆษณา ทำให้ฝ่ายจำเลยเสียประโยชน์ในความเรื่องนี้ประการใดแล้ว ก็ควรที่ฝ่ายจำเลยจะฟ้องร้องเอาโทษแก่หนังสือพิมพ์เหล่านั้นตามกฎหมาย
คำให้การของบุนจัน
พยานโจทก์
ทนายจำเลยจึงอ่านรายชื่อพยานโจทก์อีกคนหนึ่ง คือบุนจันล่ามเขมร และพยานฝ่ายจำเลย ๘ คน
แล้วทนายแผ่นดินเรียกบุนจันล่ามเขมร มาให้การเป็นพยานโจทก์ บุนจันล่ามเขมรจึงกล่าวว่า ตัวเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา หลวงรัตนาญัปติ ยกกระบัตรศาล ให้บุนจันสาบานตัวต่อหน้าพระรัตนตรัย เสร็จแล้วมองสิเออร์ฮาดูอินผู้ช่วยราชทูตฝรั่งเศส จึงบอกแก่ล่ามเขมรว่า จงให้การตอบคำถามของศาลนี้ทุกข้อ ตามคำที่ให้การมาแต่ก่อน ๆ นั้น แล้วหลวงสุนทรโกษา ทนายแผ่นดินจึงว่าให้เล่าเรื่องไปให้ตลอด บุนจันล่ามเขมรพยานให้การเล่าวน ๆ เวียน ๆ ไม่ได้ความประการใด ผู้พิพากษาจึงรับสั่งว่าดูลำบากมากในการถามพยานดังนี้ ให้ยกกระบัตรศาลถามพยานคนนี้แทนศาล ยกกระบัตรศาลจึงถามพยานทีละข้อทุกข้อไป บุนจันให้การตอบดังนี้
บุนจัน : ข้าพเจ้าชื่อบุนจัน สาบานตัวแล้วให้การว่า เดิมมองสิเออร์ลุส ในประเทศญวนจะเข้ามาในเมืองคำม่วน ข้าพเจ้าเป็นเสมียนของมองสิเออร์เมเชอยู่ที่ค่ายขนองม้า เมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังจะมาส่ง พระยอดเมืองขวางไม่มีล่าม จึงบังคับให้ข้าพเจ้าเป็นล่ามมาด้วย เดิมเป็นเดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ มองสิเออร์ลุสบังคับให้ข้าพเจ้าเป็นล่ามของมองสิเออร์กรอสกุรัง ข้าพเจ้าจำวันที่เท่าใดในเดือนมิถุนายนไม่ได้ ที่เป็นวันออกจากเมืองคำม่วน พวกที่ยกออกจากเมืองคำม่วนนั้นคือมองสิเออร์กรอสกุรัง ๑ กับทหารญวน ๒๐ คน กับตัวข้าพเจ้ากับบ๋อยญวนประมาณ ๖ คน พวกพระยอดเมืองขวางประมาณ ๖๐ คน จะมีปืนหรือไม่นั้นข้าพเจ้าไม่เห็น มาทางบกมีช้างและม้า การเดินทางนั้น พวกพระยอดเมืองขวางไปก่อนบ้าง พวกมองสิเออร์กรอสกุรังไปก่อนบ้าง ไม่ได้คุมกันมา บางทีเดินห่างกันทาง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี
เมื่อออกจากเมืองคำม่วนนั้น พวกพระยอดเมืองขวางออกเดินก่อน ออกจากเมืองคำม่วนได้ ๔ วัน ๕ คืนถึงแก่งเจ๊ก แต่วันถึงแก่งเจ๊กนั้น พวกมองสิเออร์กรอสกุรังถึงก่อน พวกพระยอดเมืองขวางถึงทีหลัง พบทำเนียบของพระยอดเมืองขวาง ก็ยกให้พวกพระยอดเมืองขวางอยู่ แต่พวกมองสิเออร์กรอสกุรังเข้าไปอาศัยบ้านเรือนของราษฎรลาวอยู่ พวกมองสิเออร์กรอสกุรังถึงเวลาเช้า ๔ โมง พวกพระยอดเมืองขวางถึงเวลาบ่าย ๔ โมง ครั้นพวกพระยอดเมืองขวางมาถึงแล้ว พระยอดเมืองขวางก็ไม่อยู่ที่ทำเนียบ แต่ไปอาศัยอยู่ที่บ้านร้างใต้แก่งเจ๊กที่พระยอดเมืองขวางพักอยู่ ห่างจากระยะบ้านที่มองสิเออร์กรอสกุรังอยู่ เดินทางประมาณ ๑๕ นาที วันรุ่งขึ้นนั้นพระยอดเมืองขวางกับมองสิเออร์กรอสกุรังไม่ได้ไปมาหากัน เพราะมองสิเออร์กรอสกุรังป่วยอยู่ คือจับไข้ แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังใช้ให้ข้าพเจ้าไปบอกพระยอดเมืองขวางว่ารอคอยอยู่ก่อน เพราะยังหาเรือไม่ได้ และตัวมองสิเออร์กรอสกุรังก็กำลังเจ็บอยู่ด้วย พระยอดเมืองขวางจำเลยหาตอบว่าอย่างไรไม่ แล้วข้าพเจ้าก็กลับมาหามองสิเออร์กรอสกุรัง
ครั้นพักอยู่ได้ ๒ วันกับ ๒ คืนแล้ว พวกชาวบ้านมาบอกกับข้าพเจ้าให้บอกมองสิเออร์กรอสกุรังว่า พระยอดเมืองขวางจะไปตั้งค่ายอยู่ที่เวียงกระแสน พระยอดเมืองขวางคิดหนี จึงได้ไปเที่ยวยืมมืดและขวานของพวกลาวชาวบ้านไปตัดไม้ทำค่าย ชาวบ้านไม่ให้ แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังกับทหารญวน ๑๐ คน กับตัวข้าพเจ้าลงเรือไปหาพระยอดเมืองขวาง พบกันแล้วพระยอดเมืองขวางถามว่าธุระอะไร มองสิเออร์กรอสกุรังพูดว่า เมื่ออยู่ที่เมืองคำม่วนนั้น หลวงอนุรักษ์ได้พูดแก่ราษฎรว่า พวกพระยอดเมืองขวางจะกลับไปไม่ช้ากี่วันแล้วจะมาเอาเมืองคำม่วนอีก ทำให้ราษฎรตกใจกลัวครั้งหนึ่งแล้ว เหตุนี้จึงมาขอคุมตัวหลวงอนุรักษ์ไปไว้ แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังจึงถามว่า หลวงอนุรักษ์อยู่ที่ไหน ทันใดนั้นพระยอดเมืองขวางจึงเรียกหลวงอนุรักษ์มานั่งอยู่ด้วย
ผู้พิพากษา : เมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังคิดดังนี้นั้น ได้บอกแก่พยานเมื่อใด
พยาน : ได้บอกก่อนเวลาไปหาพระยอดเมืองขวาง
(ศาลหยุดพิจารณา นัดประชุมวันจันทร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์)
วันจันทร์ ๒๖ กุมภาพันธ์ เวลา ๔ โมงเช้า ศาลเริ่มดำเนินการต่อไป
บุนจัน : หลวงอนุรักษ์มานั่งอยู่ แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังบังคับให้ทหารญวนคุมเอาตัวหลวงอนุรักษ์ไปลงเรือ หลวงอนุรักษ์ไม่ยอมไป ได้ตบตีทหารญวน แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังว่า หลวงอนุรักษ์ตีตบทหารญวนแล้วให้ทหารญวนจับข้อมือหลวงอนุรักษ์ลงเรือ พระยอดเมืองขวางถามว่า มาจับตัวหลวงอนุรักษ์ไปทำไม แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังตอบว่า เมื่อวานนี้พวกราษฎรพูดกันว่าพระยอดเมืองขวางจะยกหนีไปตั้งค่ายที่เวียงกระแสน แล้วพวกราษฎรบอกว่าพระยอดเมืองขวางใช้ให้คนไปเที่ยวยืมมืดและขวานตามราษฎรจะเอาไปตัดไม้กระทำค่าย เพราะดังนี้ จึงเอาตัวหลวงอนุรักษ์ไปคุมไว้ กลัวว่าพระยอดเมืองขวางจะหนี แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังบอกกับพระยอดเมืองขวางว่า ตัวหลวงอนุรักษ์นั้นจะไม่เอาไปใส่คุกหรือทำโทษ เป็นแต่เอาตัวไปคุมไว้ ถ้าบ่าวไพร่ของหลวงอนุรักษ์จะเอาอาหารไปให้กันก็ได้ ถ้าได้เรือมาพร้อมกันแล้วก็จะพาพระยอดเมืองขวางกับพรรคพวกไปส่งที่เมืองอุเทน อนึ่งเวลาที่ญวนจับตัวหลวงอนุรักษ์นั้น หลวงอนุรักษ์ด่าว่าอ้ายฝรั่งเศสปล้นเมืองคำม่วนแล้ว ยังจะมาปล้นที่นี่อีก แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังก็ลาพระยอดเมืองขวาง พาตัวหลวงอนุรักษ์ลงเรือมา เมื่อเวลาที่จะมานั้น มองสิเออร์กรอสกุรังได้สั่งพระยอดเมืองขวางซ้ำอีกว่า ถ้ามีบ่าวไพร่ของหลวงอนุรักษ์จะไปหากันก็ให้ตามไป ครั้นมาถึงบ้านแก่งเจ๊กมองสิเออร์กรอสกุรังก็สั่งให้ข้าพเจ้าจัดห้องให้หลวงอนุรักษ์อยู่ในเรือนเดียวกับมองสิเออร์กรอสกุรัง มองสิเออร์กรอสกุรังอยู่ห้องหนึ่ง ข้าพเจ้าอยู่ห้องหนึ่ง หลวงอนุรักษ์อยู่ห้องหนึ่ง ในวันที่กลับมาจากพระยอดเมืองขวางนั้นจะเป็นวันที่เท่าใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ ในเดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ มองสิเออร์กรอสกุรังป่วยมาก ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งเวลาประมาณบ่าย ๓ โมง พระยอดเมืองขวางใช้ให้ผู้มีชื่อคนหนึ่งไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ต่อมองสิเออร์กรอสกุรังว่า ขอให้คืนตัวหลวงอนุรักษ์ไปยังพระยอดเมืองขวาง มองสิเออร์กรอสกุรังบอกว่าเวลานี้เห็นจะไม่พอกัน ทั้งพรรคพวกพระยอดเมืองขวางก็มาก พวกมองสิเออร์กรอสกุรังก็หลายคนด้วยกัน แล้วคนใช้พระยอดเมืองขวางว่า ถ้าปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์ไปก็เป็นการดี ถ้าไม่ปล่อยไปก็เห็นจะเสียทางพระราชไมตรี มองสิเออร์กรอสกุรังว่าที่เอาตัวหลวงอนุรักษ์มาไว้นั้น หาได้ทำโทษอย่างใดไม่ บ่าวไพร่จะมาหากันก็ได้ เอาตัวไว้คอยท่าเรือนั้นกว่าจะพร้อมกัน ให้กลับไปเรียนแก่พระยอดเมืองขวางเถิด แล้วคนใช้ของพระยอดเมืองขวางก็กลับไป ในเวลาคืนนั้นราษฎรชาวบ้านมาบอกมองสิเออร์กรอสกุรังว่า พระยอดเมืองขวางหนีไปตั้งค่ายอยู่ที่เวียงกระแสน แล้วราษฎรชาวบ้านบอกว่าทหารพระยอดเมืองขวางขอไปที่เมืองท่าอุเทนนั้น ถ้ามาถึงพร้อมกันแล้ว ถ้าพวกฝรั่งเศสไปแล้วก็ได้รบกัน ถ้าไม่ลงไปพระยอดเมืองขวางจะขึ้นมารบ ครั้นอยู่มาอีก ๒ วัน พระยอดเมืองขวางก็ยกมาที่บ้านแก่งเจ๊ก เวลาเช้า ๓ โมง พระยอดเมืองขวางอยู่ที่ทำเนียบของพระยอดเมืองขวาง ข้าพเจ้าเห็นมีทหารสัก ๒๐๐ คน เมื่อเวลาข้าพเจ้าเห็นทหารนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นพระยอดเมืองขวาง มองสิเออร์กรอสกุรังใช้ให้ข้าพเจ้าไปดูว่า ยกกองทัพดังนี้ด้วยเหตุอันใด แล้วข้าพเจ้าได้ไปถามนายทหาร มีนายทหารอยู่ ๒ คน เป็นนายตรวจแต่งตัวเต็มยศใส่หมวกยอด แล้วข้าพเจ้าถามว่า ยกทัพมาจะไปข้างไหน นายทหารบอกแก่ข้าพเจ้าว่า ในกรมที่หนองคายใช้ให้มาขอตัวหลวงอนุรักษ์ผู้ช่วย
ศาล : เวลานั้นพยานได้พบได้เห็นตัวพระยอดเมืองขวาง ในหมู่กองทหารนั้นหรือเปล่า
พยาน : ข้าพเจ้าไม่พบไม่เห็นตัวพระยอดเมืองขวางอยู่ในกองทหารนั้น นายทหารบอกแก่ข้าพเจ้าว่า ไม่ให้ข้าพเจ้าเข้าไปในทำเนียบนั้น ถ้าขืนเข้าไปจะสั่งให้ทหารยิง แล้วข้าพเจ้าบอกว่า ตัวข้าพเจ้านี้ไม่ได้มาต่อรบด้วย มองสิเออร์กรอสกุรังใช้ให้มาถามดูเรื่องเท่านั้น แล้วข้าพเจ้าบอกว่าจะมาขอตัวหลวงอนุรักษ์ แล้วก็ให้เข้าไปโดยดีอย่าให้ยกเป็นกระบวนเข้าไป นายทหารผู้นั้นว่า เราจะเข้ามาขอโดยดีดอก แต่นายเรายังมาไม่ถึง แล้วข้าพเจ้าถามว่า นายของท่านชื่ออะไร นายทหารผู้นั้นบอกว่าชื่อพระยอดเมืองขวาง
ศาล : พยานจำนายทหารผู้นั้นได้หรือไม่ ถ้าพบตัวอีกที่นี้จำได้หรือไม่
พยาน : ข้าพเจ้าจำนายทหารผู้นั้นไม่ได้ด้วยพูดอยู่ห่างกัน ถึงจะพบเข้าอีกก็จำไม่ได้ แล้วข้าพเจ้าก็กลับมาบอกมองสิเออร์กรอสกุรัง ตามเรื่องที่นายทหารนั้นบอกแก่ข้าพเจ้า มองสิเออร์กรอสกุรังจึงว่า ถ้าเขาเข้ามาขอหลวงอนุรักษ์โดยดี แล้วก็ให้เขาเข้ามาไม่ต้องเตรียมทหาร ในวันเดียวกันนั้นเวลาประมาณเที่ยงแล้ว พวกทหารที่ยกเข้าไปล้อมเรือนที่มองสิเออร์กรอสกุรังพักอยู่ประมาณ ๒๐๐ คน ถือปืนสะไตเนอร์ครบมือ ตัวพระยอดเมืองขวางอยู่ที่ท่าน้ำ มองสิเออร์กรอสกุรังก็ลุกมาถามข้าพเจ้าว่า เขายกมาเป็นทัพดังนี้ด้วยเรื่องอะไร พวกทหารก็ร้องว่ายิง ๆ แต่ยังไม่ได้ยิง ครั้นได้ยินดังนั้นแล้ว ข้าพเจ้ากลับไปอยู่ในห้องด้วยมองสิเออร์กรอสกุรังอยู่เป็นเพื่อนกัน เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปถึงนั้นข้าพเจ้าเห็นมองสิเออร์กรอสกุรังนอนอยู่ในที่นอน เวลานั้นพวกทหารญวนนอนเรียงรายกันอยู่ ไม่ได้แต่งตัว เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปในห้องนอนมองสิเออร์กรอสกุรังนั้น ข้าพเจ้าได้ยินเสียงปืนยิงกัน ทันใดนั้นลูกปืนมาถูกที่หลังข้าพเจ้า ทะลุไปทางบ่าซ้ายลูกหนึ่ง ข้าพเจ้าก็บอกมองสิเออร์กรอสกุรังว่า ข้าพเจ้าถูกลูกปืนลูกหนึ่งแล้ว มองสิเออร์กรอสกุรังก็บอกข้าพเจ้าว่า ตัวเขาก็ถูกลูกปืนลูกหนึ่งที่ขาขวา เวลานั้นข้าพเจ้าแลมาดูเห็นหลวงอนุรักษ์ผู้ช่วยโดดเรือนหนีไป แล้วไปยืนอยู่กับพระยอดเมืองขวาง
ศาล : เวลานั้นพระยอดเมืองขวางยืนอยู่ห่างเรือนใกล้ไกลก มากน้อย
พยาน : พระยอดเมืองขวางอยู่ห่างเรือนประมาณ ๓ วา แต่พวกทหารที่ยิ่งนั้นอยู่ห่างเรือนประมาณ ๒ วา
ศาล : พระยอดเมืองขวางแต่งตัวเป็นทหารหรืออย่างไร
พยาน : พระยอดเมืองขวางใส่เสื้อเจ็กกางเกงเจ๊กดำเสื้อขาว แต่เวลานั้นข้าพเจ้าไม่เห็นพระยอดเมืองขวางถืออาวุธสิ่งใด แต่หลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยนั้นถือดาบ แล้วข้าพเจ้ากลับเข้าไปในห้องที่หลวงอนุรักษ์อยู่ ทันใดนั้นข้าพเจ้าถูกลูกปืนลูกหนึ่งที่ขาซ้าย แล้วข้าพเจ้าแลดูเข้าไปในห้องนอนแลเห็นมองสิเออร์กรอสกุรังถูกปืนที่ขมับลูกหนึ่ง ตายอยู่ในที่นอน แล้วข้าพเจ้าแลไปที่หน้าบันได ข้าพเจ้าแลเห็นขุนวังวิ่งมาร้องด่าว่า “เย็ดแม่ฝรั่งจะตัดหัวมึง” ขุนวังนั้นถือดาบ พอขึ้นบันไดได้ขั้นหนึ่งที่ถูกลูกปืนตายที่บันไดนั้น แต่จะเป็นพวกทหารไทยหรือพวกทหารญวนยิงนั้นหาทันสังเกตไม่ ด้วยกำลังชุลมุนกันอยู่ เมื่อเวลาข้าพเจ้าถูกลูกปืนสองลูก แล้วข้าพเจ้านั่งนิ่ง ภายหลังลูกปืนมาเฉียดเนื้อไปลูกหนึ่ง ถูกที่มือขวาลูกหนึ่ง และข้อมือขวาลูกหนึ่งไม่ทะลุ แล้วพวกทหารไทยก็ขึ้นไปบนเรือน ยกเอาหีบไปรวมกันประมาณ ๖๐ ใบ กับเอาหมวกและเสื้อไปใส่กัน แต่ในพวกทหารไทยนั้นจำได้ว่ามีพวกพระยอดเมืองขวางอยู่ด้วยคนหนึ่ง ชื่อ (จำนง)
ทนายจำเลย : ขอให้เรียกพวกพระยอดเมืองขวางมาให้พยานดู (ศาลอนุญาตให้เรียกมา)
พยาน : (ชี้ตัวขุนณรงค์) ขุนณรงค์ไม่ได้ขึ้นไปบนเรือน ข้าพเจ้าเห็นขุนณรงค์กับคนอื่นเอามีดและขวานฟันหีบเอาของ แล้วข้าพเจ้าเห็นคนข้างล่างเอาไฟจุดเรือน คนที่เอาไฟจุดเรือนนั้น จะเป็นพวกพระยอดเมืองขวาง หรือพวกทหารนั้นข้าพเจ้าไม่รู้ รู้แต่ว่าเป็นพวกที่ไปล้อมยิง เมื่อไฟไหม้ร้อนขึ้นมา ข้าพเจ้าก็ลงมา หลวงอนุรักษ์จับมือซ้ายข้าพเจ้าไว้ พระยอดเมืองขวางจับมือขวาของข้าพเจ้าแล้วถามข้าพเจ้าว่าถูกปืนกี่ลูก และบอกข้าพเจ้าให้ลงเรือ แล้วให้ทหารคุมตัวข้าพเจ้าลงเรือ เมื่อมาถึงเรือนั้น ข้าพเจ้าให้ขุนจำนงถือขวดยาของข้าพเจ้าไว้สองขวด ขวดหนึ่งชื่อยูดาฟอร์ม ขวดหนึ่งชื่อคาบอลิกเอซิด แล้วถามข้าพเจ้าว่า น้ำอบหรืออะไร ข้าพเจ้าบอกว่าไม่ใช่น้ำอบดอก เป็นยาเบื่อสำหรับใส่แผล ขอคืนให้ข้าพเจ้าเถอะ แล้วขุนจำนงคืนยาสองขวดให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินคนในเรือด่ากันว่า อ้ายเย็ดแม่ ด่วนไปจุดเรือนเสียก่อน เก็บข้าวของยังไม่ทันหมด
ศาล : คนที่ด่านั้นเป็นไพร่พลหรือเป็นนาย
พยาน : ไม่ใช่นาย เป็นพวกไพร่พลพวกพระยอดเมืองขวาง แล้วคนในเรือก็ล้วงเอาของในกระเป๋าเสื้อและอะไร ๆ ของข้าพเจ้าหมด คือซองบุหรี่ ฯลฯ แล้วก็เอาตัวข้าพเจ้ามาที่ค่ายเวียงกระแสน เมื่อข้าพเจ้ามาถึงนั้นข้าพเจ้าเห็นค่าย คนเขาว่าค่ายของพระยอดเมืองขวางมีสองค่าย ค่ายหนึ่งอยู่ข้างซ้าย ค่ายหนึ่งอยู่ข้างชวา อยู่ตีนผา เวลาค่ำนั้นพระยอดเมืองขวางไปพักอยู่ที่พักข้างบนบก ให้คนคุมตัวข้าพเจ้าอยู่ในเรือ
ศาล : เมื่อกลับมานั้น พระยอดเมืองขวางมาพร้อมด้วยหรือมาทีหลัง
พยาน : มาในเรือตามกันมาคนละลำ เมื่อเวลามาถึงเวียงกระแสนนั้น ข้าพเจ้าเห็นพวกพระยอดเมืองขวางขนปืนปลายหอก ๘ กระบอกทั้งลูกพร้อมของฝรั่งเศสไป
ศาล : เมื่อเวลาชุลมุนรบกันนั้น พยานได้สังเกตหรือไม่ว่า พวกไทยตายและบาดเจ็บที่คน พวกฝรั่งเศสตายและบาดเจ็บกี่คน
พยาน : ได้เห็นแต่ขุนวังถูกปืนตายที่บันไดคนหนึ่ง เพราะมันด่าแม่ฝรั่งเศส พวกทหารญวนตายหลายคนไม่ทันสังเกต
ศาล : เวลาทหารไทยจับพยานมานั้น จับแต่ตัวพยานคนเดียวหรือใครอีกบ้าง
พยาน : จับมาแต่ตัวพยานคนเดียว
ศาล : เมื่อพยานต้องจับมาจนถึงเวียงกระแสนนั้น ได้เห็นทหารเจ็บป่วยถูกอาวุธบ้างหรือไม่
พยาน : ไม่เห็นสักคนเดียว ครั้นเวลารุ่งเช้าพระยอดเมืองขวางบังคับให้ทหารคุมตัวข้าพเจ้าลงมาส่งยังท่าอุเทน มาคืนหนึ่งกับสองวัน ก็ถึงเมืองท่าอุเทน แล้วทหารที่เอาตัวข้าพเจ้าให้แก่ข้าหลวงเมืองท่าอุเทน แล้วข้าหลวงเมืองท่าอุเทนให้เอาตัวข้าพเจ้าไปไว้ในโรงม้า แล้วบอกว่าพระยอดเมืองขวางปลูกไว้ให้ข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในโรงม้า ข้าพเจ้าได้ยินเขาพูดกันว่า พระยอดเมืองขวางส่งทหารญวนมาอีกคนหนึ่ง ถูกปืนเจ็บมากตายเสียแล้ว ข้าพเจ้าอยู่ที่ท่าอุเทนได้สองคืนแล้ว ข้าหลวงเมืองอุเทนจัดเรือมาส่งข้าพเจ้าที่เมืองหนองคาย เมื่อมาในเรือนั้นเขาเอาโซ่ล่ามบั้นเอวข้าพเจ้ามาเหมือนลิง ข้าพเจ้าขอให้ใส่ขาข้าพเจ้าเขาก็ไม่ยอม เขาว่ากลัวข้าพเจ้าจะหนี มาประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันก็ถึงเมืองหนองคาย พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ให้เอาตัวข้าพเจ้าไปคุมไว้ที่บ้านพระบริบาล มีทหาร ๕ คนคุมตัวข้าพเจ้าอยู่ทุกคืนทุกวัน ครั้นอยู่ได้สามวัน ข้าพเจ้าเห็นส่งทหารญวนมาอีกคนหนึ่ง ถูกปืนที่แขนขวาหัก และถูกที่หน้าผากแผลหนึ่ง อยู่ได้ประมาณเดือนหนึ่ง ในกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ใช้ให้หม่อมดำรงคนหนึ่ง คุณจ่าคนหนึ่ง คุณสารศาสตร์คนหนึ่ง มาถามปากคำข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ให้การเหมือนดังให้การนี้ เขาบอกว่าให้ให้การตรง ๆ จะปล่อยตัวไป ถ้าพูดไม่ตรงจะยิงเสีย แล้วข้าพเจ้าก็ให้การตามสัตย์จริง อยู่มาภายหลังข้าพเจ้าได้ยินราษฎรพูดกันว่า ในกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมใช้ให้คนไปไล่ต้อนคนข้างฝั่งซ้ายลำน้ำโขงให้มาบนฝั่งขวา ใครไม่มาจะเอาตัวเป็นโทษ ฝรั่งมาเอาแผ่นดินเพราะมีคน เดี๋ยวนี้ไม่มีคนแล้วให้กินดินเถอะ
ศาล : ตั้งแต่พระยอดเมืองขวางส่งพยานมาจากเวียงกระแสน จนพยานมาถึงหนองคายแล้วนั้น พยานได้พบพระยอดเมืองขวางและพวกพระยอดเมืองขวางอีกหรือไม่
พยาน : ไม่พบพระยอดเมืองขวาง และพรรคพวกพระยอดเมืองขวางเลย
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเวลายิงปืนนั้นพยานได้เห็นพระยอดเมืองขวางยุให้ทหารยิงหรือ
พยาน : ได้เห็นพระยอดเมืองขวางยืนอยู่ข้างหลังทหาร พยานไม่ได้ยินพระยอดเมืองขวางยุให้ทหารยิง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านให้การที่มองสิเออร์ปาวีนั้น ท่านได้ว่ามองสิเออร์กรอสกุรังเจ็บมาก ท่านได้มีหนังสือถึงที่มองสิเออร์ลุสไม่ใช่หรือ
พยาน : มี
ทนายแผ่นดิน : เมื่อให้การที่มองสิเออร์ปาวีนั้น ท่านได้ว่าท่านเห็นทหารไทยยิงก่อนไม่ใช่หรือ
พยาน : ได้ยินเสียงปืนหน้าบ้าน มีทหารไทยเท่านั้นเอง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านให้การที่มองสิเออร์ปาวีนั้นท่านว่าท่านมีเงินอยู่ในหีบ ๘๒ เหรียญหรือ
พยาน : มีอยู่ ๘๒ เหรียญเท่านั้น และสิ่งของต่าง ๆ มีราคาหลายร้อยเหรียญ
ศาล : ประมาณกี่ร้อยเหรียญ
พยาน : ประมาณ ๒๕๐ เหรียญ
ทนายแผ่นดิน : ของเหล่านี้เขาคืนให้ท่านหรือ
พยาน : ไม่มีเลย เมื่อส่งข้าพเจ้าไป มีปืนแฝดกระบอกหนึ่งของข้าพเจ้าไฟไหม้ กับส่งไปให้กรมหมื่นประจักษ์
ทนายแผ่นดิน : ท่านได้เห็นคนไทยเอาไปบ้างหรือ
พยาน : เห็น ได้เห็นทีเดียว
ทนายแผ่นดิน : งั้นจงเล่าเรื่องตั้งแต่มาจากหนองคายจนมาถึงกรุงเทพฯ
ทนายจำเลย : ไม่เกี่ยวข้องกับคดีที่พิจารณาอยู่
ศาล : การถามความเหล่านั้น ไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าไม่ได้เกี่ยวกับพระยอดฯ จำเลย
ทนายแผ่นดิน : ตั้งแต่คำม่วนมาท่าอุเทนกี่วัน
พยาน : เวลาขึ้น ๕ วัน เวลาลง ๔ วัน เพราะมีทางบกบ้าง ทางเรือบ้าง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อพบมองสิเออร์ลุสแล้ว พระยอดเมืองขวางอยู่ที่คำม่วน จะมีหนังสือมาขอทหารที่ท่าอุเทนนั้น จะมีเวลาพอจะมีหนังสือมาหรือที่จะพบกันที่แก่งเจ๊ก
พยาน : พอ ทั้งขากลับด้วย
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเวลาพระยอดเมืองขวางอยู่ข้างหลังทหารนั้น พระยอดเมืองขวางได้ห้ามทหารว่าอย่าให้ยิงหรือเปล่า
พยาน : ไม่ได้ห้ามเลย
ทนายจำเลย : เมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังเอาตัวท่านมาใช้เป็นล่ามนั้น ท่านอยู่แห่งใด
พยาน : ข้าพเจ้าอยู่ค่ายขนองม้า มองสิเออร์ลุสบังคับให้ข้าพเจ้ามาเป็นล่าม
ทนายจำเลย : ค่ายขนองม้ากับนาเปที่เดียวกันหรือ
พยาน : ที่เดียวกันเรียกว่าค่ายขนองม้าก็ได้ นาเปก็ได้
ทนายจำเลย : ที่ที่ท่านอยู่กับคำม่วนนั้น ทางไกลเท่าใด
พยาน : ทางเดิน ๒ ชั่วโมง
ทนายจำเลย : มองสิเออร์ลุสเอาตัวท่านมาอย่างไร
พยาน : ใช้ให้คนไปเรียกมา
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังไปเองไม่ใช่หรือ
พยาน : ฝรั่งและญวนไป และมองสิเออร์กรอสกุรังก็ไปด้วย
ทนายจำเลย : ท่านจำได้หรือไม่ว่า มองสิเออร์กรอสกุรังไปเอาตัวท่านมานั้น
พยาน : จำได้
ทนายจำเลย : ท่านจดใบจับหนังสือสำหรับห้างที่มาจากค่ายขนองม้าหรือไม่
พยาน : ไม่ได้จดหนังสือสำหรับห้าง แต่มาเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒
ทนายจำเลย : ได้พักอยู่ที่คำม่วนวันก่อนไปส่งพระยอดเมืองขวางกี่วัน
พยาน : คืนเดียว
ทนายจำเลย : เมื่อมองสิเออร์ลุสสั่งการแก่มองสิเออร์กรอสกุรัง ท่านอยู่หรือเปล่า
พยาน : อยู่แต่ไม่ได้ยิน
ทนายจำเลย : อยู่ในห้องเดียวกันหรือ
พยาน : อยู่ในเรือนเดียวกัน แต่คนละห้อง
ทนายจำเลย : มองสิเออร์ลุสได้บอกท่านว่า หน้าที่ของท่านอย่างไร
พยาน : ได้บอกว่าให้ไปส่งพระยอดเมืองขวางที่ท่าอุเทนด้วยมองสิเออร์กรอสกุรังไม่มีล่าม
ทันใดนั้น ทนายแผ่นดินร้องคัดค้านไม่ยอมให้หลวงรัตนาญัปติ ยกกระบัตรศาลเป็นล่ามแปลคำถามของทนายจำเลย และคำตอบของพยาน เพราะล่ามพนักงานศาลมีแล้ว
หลวงรัตนาญัปติ หยุดไม่แปลต่อไป
ศาลจึงให้มิสเตอร์สไวสตรัมล่ามศาลแปล
ทนายจำเลย : รู้แน่หรือว่าให้ส่งที่ท่าอุเทน หรือแก่งเจ๊ก
พยาน : รู้ว่าให้ส่งที่ท่าอุเทน
ทนายจำเลย : เมื่อส่งที่ท่าอุเทนแล้วจะกลับ หรือมีหน้าที่ที่จะไปที่อื่นต่อไป
พยาน : หน้าที่นั้นต้องไปกับมองสิเออร์กรอสกุรังทุกแห่งไป
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรัง มีหน้าที่จะไปไหนอีกหรือเมื่อส่งพระยอดฯ แล้วจะกลับ
พยาน : ไม่รู้ว่าจะมีหน้าที่ไปไหนอีก
จังหวะนี้ อธิบดีผู้พิพากษารับสั่งว่า ล่ามศาลแปลความไม่ใคร่ชัดเจนดี ด้วยเป็นคนยุโรป ฟังพยานซึ่งเป็นเขมรพูดภาษาไทยกับภาษาลาวปนกันไม่ใคร่ถนัดเหมือนคนไทยฟัง ก็ซึ่งทนายแผ่นดินคัดค้าน ไม่ยอมให้หลวงรัตนาญัปติแปลนั้นมีเหตุอันใดอันหนึ่งจะยกขึ้นอ้างได้หรือไม่ ถ้าไม่มีเหตุสิ่งใตแล้ว ก็ไม่เห็นควรจะคัดค้าน เมื่อหลวงรัตนาญัปติแปลต่อไป ก็จะได้เป็นประโยชน์ทั่วกันในบรรดาผู้ซึ่งมาฟังในศาลนี้ จะได้เข้าใจชัดเจนดี
ทนายแผ่นดินทูลตอบว่า ไม่มีสาเหตุสิ่งใดจะอ้างในการคัดค้านถ้าจะให้หลวงรัตนาญัปติแปลต่อไปก็ได้ จึงโปรดให้ยกกระบัตรศาลแปลต่อไป
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรัง มีหน้าที่จะตรวจมาทางฝั่งแม่น้ำโขงด้วยหรือ
พยาน : ไม่มี มีธุระที่จะไปส่งพระยอดฯ เท่านั้น
ทนายจำเลย : เมื่อมาถึงเมืองคำม่วนนั้น ท่านได้เห็นพระยอด อยู่ที่ไหน
พยาน : ข้าพเจ้าเห็นเมื่อออกจากเมืองคำม่วนทีเดียว
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นพระยอดฯ ที่เรือนพัก หรือเมื่อเวลาเดินทาง
พยาน : ข้าพเจ้าเห็นพระยอดฯ เมื่อเวลาออกเดินทาง
ทนายจำเลย : พระยอดฯ ออกเดินทางเวลาอะไร
พยาน : เวลาเช้า ๔ โมงบ้าง เวลาบ่าย ๔ โมงบ้าง
ทนายจำเลยทูลถามศาลว่า จะหยุดวันพระหรือไม่ ผู้พิพากษารับสั่งว่า เห็นว่าชาวยุโรปนับถือศาสนาคริสเตียน ย่อมถือวันอาทิตย์แข็งแรง ต้องหยุดการทั้งปวง เหตุฉะนี้ศาลจึงได้ตกลงหยุดชำระวัน อาทิตย์ แต่วันพระของชาวพุทธศาสนิกชน ไม่สู้สำคัญนัก ด้วยผู้ใดอยากจะทำบุญให้ทานประการใด จะทำในวันอื่นหรือวันพระที่เหมือนกัน เมื่อศาลได้หยุดวันอาทิตย์แล้วก็จะไม่หยุดวันพระ
(ศาลหยุดพิจารณา)
(นัดประชุมวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๒ ต่อไป)
วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๒ เวลาเช้า ๕ โมง ศาลประชุมชำระต่อไป
ทนายแผ่นดิน : วันนี้บุนจันล่ามเขมร ซึ่งเป็นพยานฝ่ายทนายแผ่นดินป่วยไม่สบายมาก แต่ยังอุตส่าห์มาศาลได้ เหตุฉะนี้ถ้าทนายจำเลยจะซักถามพยานคนนี้ต่อไปแล้ว ก็ขอให้ถามแต่ชั่วโมงหนึ่งแล้วให้พยานไปพักเสียพอค่อยยังชั่ว ภายหลังจึงค่อยซักถามต่อไป และในระหว่างพยานคนนี้ไปหยุดพักนั้น ควรฝ่ายจำเลยจะเรียกพยานของจำเลย มาถามไปพลางก่อน อย่าให้ป่วยการเวลาของศาล
ผู้พิพากษา : ซึ่งจะงดเสียยังไม่ให้ทนายจำเลยซักถามพยานคนนี้ต่อไปแล้ว ให้เรียกพยานของจำเลยมาให้การก่อนนั้นไม่ได้ ด้วยฝ่ายทนายแผ่นดินที่มีพยานคนนี้อยู่แต่คนเดียวเท่านั้น ข้อหาในฟ้องทุกข้อ ก็ต้องอาศัยคำพยานนี้ คำพยานอื่นของทนายแผ่นดินก็เป็นแต่หนังสือต่าง ๆ ซึ่งเป็นแต่คำบอกเล่ากันต่อ ๆ มา เหตุนี้ควรให้พยานคนนี้ ให้การตอบคำซักถามต่อไปดีกว่า เมื่อไม่สบายมากจนถึงให้การไม่ได้แล้ว ควรหยุดเสีย ซึ่งจะทายล่วงหน้าไปก่อนว่า พยานจะให้การนานเท่านั้นเท่านี้นั้น ไม่ได้
ทนายจำเลย : ฝ่ายข้างจำเลยที่เห็นว่า พยานคนนี้ดูหน้าไม่สบายมาก เห็นจะเจ็บจริง ถ้าศาลจะหยุดพักเสียก่อนกว่าพยานจะค่อยทุเลาขึ้นแล้ว ฝ่ายจำเลยก็ไม่ขัดข้อง ภายหลังคนทั้งหลายจะไม่ติเตียนทนายจำเลยได้ว่าแกล้งกดขี่ซักถามพยานเห็นว่าพยานเจ็บไม่สบาย
ทนายแผ่นดิน : สุดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรแก่เหตุการณ์
ผู้พิพากษา : เห็นควรจะต้องมีความเมตตาแก่มนุษย์บ้าง พยานผู้นี้ก็ป่วยมากไม่สบายจริงไม่ควรจะข่มขืนให้การต่อไป ควรรอพักเสียก่อน กว่าจะค่อยคลายสบายขึ้น
แล้วรับสั่งแก่มองสิเออร์ฮาดูอินว่า ถ้าพยานหายป่วยเมื่อใดขอให้แจ้งความแก่หลวงรัตนาญัปติ ยกกระบัตรศาล จะได้กำหนดวันประชุมศาลพิจารณาต่อไป ถ้าพยานป่วยมากหลายวันไปแล้ว ศาลจะได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ในการจะแต่งเจ้าพนักงานไปถามพยานที่ที่พักของพยาน ให้ได้ความตลอด
วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ บุนจันป่วยวันหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นจึงประชุมกันต่อไป
ทนายแผ่นดิน : หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ลงพิมพ์รายงานผิด ขอให้ห้ามไม่ให้ผู้จดหมายเหตุของหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ มานั่งจดในศาล
ศาล : ควรให้ทนายแผ่นดิน ขอให้หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์แก้ไขเสีย คราวนี้เป็นครั้งแรกให้งดโทษเสียก่อน ถ้าภายหลังทำอีกจึงคอยห้ามปราม
บุนจันพยานฝ่ายทนายแผ่นดินให้การต่อไป
ทนายจำเลย : ท่านได้พูดอะไรกับพระยอดฯ ที่บ้านนาหลักหิน
พยาน : ข้าพเจ้าไม่ได้พูดอะไรกับพระยอดฯ ข้าพเจ้าใช้คนไปบอกพระยอดฯ ว่าให้มาอยู่ที่ทำเนียบ
ทนายจำเลย : ท่านรู้ครั้งแรกว่าพระยอดฯ ไม่ไปอยู่ที่ทำเนียบเมื่อไร
พยาน : รู้เวลาค่ำวันแรกไปถึงแก่งเจ๊ก
ทนายจำเลย : ท่านได้บอกแก่มองสิเออร์กรอสกุรังทันทีหรือ
พยาน : ข้าพเจ้าได้บอก
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังว่าอย่างไร
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังว่าให้พระยอดฯ อยู่ที่ทำเนียบแล้วทำไมไม่อยู่ เพราะคนก็มีมากด้วยกัน พระยอดฯ จะคิดอย่างไรพรุ่งนี้ให้ไปถามดู
ทนายจำเลย : เมื่อจับหลวงอนุรักษ์ไว้แล้ว พระยอดฯ ใช้ให้ผู้ใดมาขอตัวหลวงอนุรักษ์ ท่านรู้จักหรือไม่
พยาน : ข้าพเจ้าไม่รู้จัก แต่จำหน้าได้ คนนั้นเป็นเสมียนหรือลูกหลานของพระยอดฯ
ทนายจำเลย : คนซึ่งมาขอตัวหลวงอนุรักษ์ เป็นคนซึ่งมาด่าที่หน้าเรือนมองสิเออร์กรอสกุรัง วันรบกันไม่ใช่หรือ
พยาน : ไม่ใช่ คนนั้นเป็นคนหนุ่ม
ทนายจำเลย : เมื่อคนซึ่งไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ว่า ถ้าไม่ปล่อยหลวงอนุรักษ์แล้ว ก็ขาดทางพระราชไมตรีกันนั้น มองสิเออร์กรอสกุรังตอบว่ากระไร
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังตอบว่า ไม่ได้เอาตัวหลวงอนุรักษ์มาจำตรวน หรือทำโทษอย่างไร เอามาคอยไว้ท่าเรือเท่านั้น
ทนายจำเลย : เรือนที่มองสิเออร์กรอสกุรังอยู่นั้น ห่างแม่น้ำกี่วา
พยาน : ประมาณ ๖ - ๗ วา
ทนายจำเลย : แม่น้ำอยู่หน้าเรือนหรือหลังเรือน
พยาน : อยู่ข้างหน้าเรือน
ทนายจำเลย : ข้างหน้าเรือนตรงแม่น้ำนั้น มีเฉลียงหรือ
พยาน : มีเฉลียง
ทนายจำเลย : มีฉางข้าวอยู่ริมเรือนมิใช่หรือ
พยาน : มี
ทนายจำเลย : บันไดอยู่ตรงฉางข้าวหรือ
พยาน : บันไดอยู่ไม่ตรง
ทนายจำเลย : พื้นเรือนอยู่สูงจากดินเท่าใด
พยาน : สูงประมาณ ๓ หลา ช้างเดินลอดได้
ทนายจำเลย : มีประตูที่จะเข้าเรือนกี่ประตู
พยาน : มีสองประตู แต่ที่ระเบียงนั้นไม่มีฝา
ทนายจำเลย : ประตูทั้งสองนั้นเข้าไปได้ที่ห้อง
พยาน : ประตูทั้งสองนั้นเข้าไปได้ทุกห้องหมด
ทนายจำเลย : ข้างหลังเรือนมีกี่ห้อง
พยาน : มี ๔ ห้องด้วยกัน
ทนายจำเลย : ให้ชี้ห้องที่เรือนที่ในแผนที่เรือนที่มองสิเออร์กรอสกุรังอยู่
พยาน : แผนที่นี้ถูกแล้ว แต่ผิดอยู่แห่งหนึ่ง ที่ไม่มีฝาอีกห้องหนึ่ง
ทนายจำเลย : เจ้าของเรือนอยู่กี่ห้อง
พยาน : เจ้าของเรือนไม่ได้อยู่ เอาแต่ของของเขาเก็บไว้สองห้องเท่านั้น
ทนายจำเลย : มีหน้าต่างที่หน้าต่าง
พยาน : มีสองหน้าต่าง ทำเหมือนประตู
ทนายจำเลย : สามห้องนั้นมีประตูหรือ
พยาน : มีประตูห้องละประตู
ทนายจำเลย : หน้าต่างสองหน้าต่างนั้น ทำเหมือนประตูหรือ
พยาน : ทำเหมือนประตู
ทนายจำเลย : หน้าต่างทั้งสองมีบานปิดหรือไม่
พยาน : ไม่มีบานปิด เปิดอยู่เสมอ
ทนายจำเลย : พยานอยู่แห่งใดที่ในเรือน
พยาน : ข้าพเจ้าอยู่หน้าห้องมองสิเออร์กรอสกุรังเสมอ
ทนายจำเลย : เมื่อวันรบกันนั้น พวกพระยอดฯ มาถึงแล้วท่านอยู่ที่ไหน เมื่อรู้เหตุคราวแรก
พยาน : ข้าพเจ้าอยู่ที่พื้นดินริมเรือนที่มองสิเออร์กรอสกุรังอยู่
ทนายจำเลย : ขณะนั้นท่านอยู่ที่ไหน
พยาน : ข้าพเจ้าอยู่ที่พื้นดิน มุมเรือนถัดบันไดไปหน่อยหนึ่ง
ทนายจำเลย : ท่านรู้ได้ว่า พระยอดฯ มาก่อนเวลา ท่านได้เห็นพระยอดฯ หรือ
พยาน : ข้าพเจ้าได้ยินทหารพูดว่า พระยอดฯ มา
ทนายจำเลย : รู้ว่าพระยอดฯ มาถึงเวลาไรในวันนั้น
พยาน : เวลาเช้า ๒ โมงหรือ ๓ โมง
ทนายจำเลย : ท่านได้บอกแก่มองสิเออร์กรอสกุรังหรือไม่
พยาน : ข้าพเจ้าได้บอก
ทนายจำเลย : ได้บอกอย่างไร
พยาน : ข้าพเจ้าบอกว่าเขายกทัพมาขอหลวงอนุรักษ์
ทนายจำเลย : ได้บอกหรือว่ามีทหารมาด้วย
พยาน : ข้าพเจ้าบอกว่ามีทหารมาด้วย ๒๐๐ คน
ทนายจำเลย : ตั้งแต่ได้บอกแก่มองสิเออร์กรอสกุรังนั้น ท่านได้เห็นพระยอดฯ นานสักเท่าใด
พยาน : ประมาณ ๒ ชั่วโมง
ทนายจำเลย : ในระหว่าง ๒ ชั่วโมงนี้ มองสิเออร์กรอสกุรังได้จัดแจงตระเตรียมตัวและทหารหรือไม่
พยาน : ไม่ได้ตระเตรียม ด้วยรู้ว่าเขายกมาขอตัวหลวงอนุรักษ์โดยดี
ทนายจำเลย : ในระหว่าง ๒ ชั่วโมงนั้น ทหารญวนอยู่ที่ไหน
พยาน : พวกทหารญวนอยู่ที่หลังเรือน
ทนายจำเลย : มีทหารญวนคุมตัวหลวงอนุรักษ์หรือไม่
พยาน : ไม่มี
ทนายจำเลย : หัองที่หลวงอนุรักษ์อยู่นั้น ใส่กุญแจหรือไม่
พยาน : ไม่มีประตู
ทนายจำเลย : ไม่มีทหารคุมบ้างหรือ
พยาน : ไม่มี เว้นแต่วันแรกนั้น มีทหารคุมอยู่สองสามชั่วโมงเท่านั้น
ทนายจำเลย : เมื่อได้เห็นพระยอดฯ นั้น ได้บอกมองสิเออร์กรอสกุรังทันทีหรือ
พยาน : ไม่ได้บอก แต่ข้าพเจ้าเห็นพระยอดฯ
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุงได้เห็นพระยอดฯ หรือ
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังได้เห็นพระยอดฯ ด้วย
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังอยู่ที่ไหน เมื่อเห็นพระยอดฯ
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังได้ลุกมายืนอยู่ที่บันไดจึงเห็นพระยอดๆ
ทนายจำเลย : เมื่อพวกพระยอดเข้ามานั้น ห่างกับท่านเท่าใด
พยาน : มีสองพวก ๆ หนึ่งอยู่ข้างหน้า พวกหนึ่งอยู่หลัง
ทนายจำเลย : พวกข้างหน้านั้นห่างเท่าไร
พยาน : สองวาเศษ
ทนายจำเลย : เมื่อแรกเห็นพวกข้างหน้านั้นห่างเท่าไร
พยาน : ห่างประมาณ ๑๐ วา
ทนายจำเลย : เมื่อแรกเห็นนั้น พวกไทยมาทางไหน
พยาน : มาริมฉางข้าวตรงหน้าบันได
ทนายจำเลย : พวกข้างหลังมาทางเดียวกันหรือทางไหน
พยาน : มาทางเดียวกัน
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังออกมาเมื่อไร
พยาน : เมื่อพวกไทยเข้ามาถึง มองสิเออร์กรอสกุรังออกมายืนที่บันได
ทนายจำเลย : พวกเหล่านี้มายืนที่ไหน
พยาน : พวกแรกยืนอยู่หน้าเรือนบ้าง ข้างหลังเรือนบ้าง พวกหลังยืนอยู่ข้างริมฉางข้าว แต่พระยอดฯ นั้นมาอยู่ตรงมุมเรือนริมบันได
ทนายจำเลย : เวลานั้นทหารญวนอยู่ที่ไหน
พยาน : ทหารญวนป่วยอยู่บ้าง นั่งอยู่บ้าง นอนอยู่บ้าง แต่มองสิเออร์กรอสกุรังไม่ได้สั่งให้เตรียมตัว
ทนายจำเลย : เวลานั้นมองสิเออร์กรอสกุรังแต่งตัวอย่างไร
พยาน : นุ่งกางเกงเจ๊ก ตัวไม่ได้ใส่เสื้อ ตัวเปล่า
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังยืนอยู่นานเท่าไร ก่อนเวลาเกิดเหตุ
พยาน : พอพวกไทยมาถึง มองสิเออร์กรอสกุรังก็ออกมายืนหน้าบันไดทีเดียว
ทนายจำเลย : เมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังออกมาที่บันไดนั้น ท่านอยู่ที่ไหน
พยาน : ข้าพเจ้าขึ้นมาอยู่บนเรือนกับมองสิเออร์กรอสกุรังแล้ว
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังหรือท่านพูดก่อน
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังพูดก่อน
ทนายจำเลย : ท่านจำได้หรือไม่ว่า มองสิเออร์กรอสกุรังพูดอะไร
พยาน : จำได้ มองสิเออร์กรอสกุรั่งถามว่า มาด้วยเหตุใด
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรัง ถามใคร
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรัง ให้ข้าพเจ้าถามขุนวัง
ทนายจำเลย : เมื่อถามนั้นขุนวังขึ้นบันไดแล้วหรือยัง
พยาน : ยัง
ทนายจำเลย : เมื่อขณะนั้นขุนวังมาถึงบันไดแล้วหรือยัง
พยาน : ยังไม่เห็นตัวขุนวัง
ทนายจำเลย : เมื่อขุนวังยังมาไม่ถึงแล้วท่านจะถามอย่างไรได้
พยาน : ข้าพเจ้าไม่ได้ถามขุนวัง มองสิเออร์กรอสกุรังให้ข้าพเจ้าถามเขาเหล่านั้นมาด้วยเหตุอะไรกัน
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังให้ท่านถามดังนั้น ท่านได้ถามหรือ
พยาน : ได้ถาม
ทนายจำเลย : ถามผู้ใด
พยาน : ถามทั้งหมด ไม่ว่าผู้ใด
ทนายจำเลย : เมื่อถามดังนั้นแล้ว ผู้ใดออกมาตอบหรือไม่
พยาน : ไม่มี
ทนายจำเลย : ท่านเข้าใจว่า ไม่มีใครตอบหรือ
พยาน : ไม่มี มีแต่เสียงว่ายิง ๆ
ทนายจำเลย : มีผู้ใดขอตัวหลวงอนุรักษ์หรือไม่
พยาน : ไม่มี
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรัง ได้พูดว่าจะยอมปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์หรือไม่
พยาน : ไม่ได้พูด เพราะว่าไม่มีผู้ใดขอตัว
ทนายจำเลย : เมื่อท่านถามว่าพวกพระยอดฯ มาด้วยเหตุอะไรนั้น หลวงอนุรักษ์ออกมาแล้วหรือยัง ได้เห็นหลวงอนุรักษ์ออกมาจากห้องลงเรือนไปเมื่อใด
พยาน : เมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังกับข้าพเจ้าเข้ามาในห้องแล้ว จึงเห็นหลวงอนุรักษ์ออกมาจากห้องลงบันไดไป
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังกับท่านหรือผู้ใด จับหลวงอนุรักษ์ไว้หรือ
พยาน : ไม่ได้จับ เมื่อหลวงอนุรักษ์ลงไปก็เกิดยิงกันขึ้น
ทนายจำเลย : เมื่อเวลาหลวงอนุรักษ์ไปนั้น ท่านกับมองสิเออร์กรอสกุรังอยู่ที่ไหน
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังอยู่ในห้องนอน ข้าพเจ้าอยู่ในห้องยาวหลังประตู
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังกับท่านเข้าไปทำไม
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังเจ็บจึงเข้าไป ข้าพเจ้าเป็นคนใช้ก็ตามเข้าไปด้วย
ทนายจำเลย : มีทหารญวนเท่าใด อยู่บนเรือนเท่าใด เมื่อหลวงอนุรักษ์กระโดดไป
พยาน : ไม่มีเลย
ทนายจำเลย : เมื่อหลวงอนุรักษ์กระโดดไปนั้น พวกทหารญวนอยู่ไหน
พยาน : ข้าพเจ้าไม่เห็น เพราะตัวข้าพเจ้าอยู่ในที่ ๆ ฝาเรือนบังเสีย
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังกับท่าน เข้าไปในห้อง แล้วปิดประตูหรือเปล่า
พยาน : ไม่ได้ปิด ไม่มีบานประตูปิด เปิดอยู่
ทนายจำเลย : ท่านเห็นหลวงอนุรักษ์กระโดดนั้น ท่านเห็นทางไหน
พยาน : ข้าพเจ้าเห็นที่ประตูไม่มีบานเปิดอยู่
ทนายจำเลย : เมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังและท่านเข้าไปในห้องแล้ว ได้สั่งให้ทหารเตรียมการหรือเปล่า
พยาน : ไม่ได้สั่ง ข้าพเจ้าได้ยินเสียงปืน
ทนายจำเลย : ได้มีคำสั่งให้ทหารญวนเตรียมตัวเมื่อไร
พยาน : ไม่มีคำสั่งเลย
ทนายจำเลย : ท่านให้การต่อหน้ามองสิเออร์ปาวีไว้หรือ
พยาน : ได้ให้การไว้
ทนายจำเลย : ในคำให้การต่อหน้ามองสิเออร์ปาวีนั้น ได้ให้การว่าท่านได้สั่งให้ทหารญวนเตรียมไว้ไม่ใช่หรือ
พยาน : ข้าพเจ้าได้สั่งให้ทหารญวนเตรียมอาวุธ
ทนายจำเลย : เมื่อท่านสั่งให้ทหารญวนเตรียมอาวุธนั้นท่านอยู่ที่ไหน
พยาน : ข้าพเจ้าอยู่ในห้อง
ทนายจำเลย : อยู่ที่ไหน
พยาน : ข้าพเจ้าอยู่ที่เก่าหลังประตู
ทนายจำเลย : เมื่อสั่งให้ทหารญวนเตรียมอาวุธนั้น พูดออกไปข้างไหน
พยาน : ข้าพเจ้าพูดออกไปทางหลังเรือน ให้เสียงได้ยิน
พยานจำเลย : เมื่อได้มีคำสั่งแล้ว มีทหารญวนขึ้นมาบนเรือนบ้างหรือเปล่า
พยาน : ไม่มี
ทนายจำเลย : ทหารญวนได้เข้าแถวหรือไม่
พยาน : เวลานั้นข้าพเจ้าไม่เห็น
ทนายจำเลย : คำสั่งให้ทหารญวนเตรียมตัวนั้น เป็นคำสั่งของมองสิเออร์กรอสกุงหรือของท่าน
พยาน : เป็นคำสั่งของข้าพเจ้าเอง
ทนายจำเลย : เมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังเข้าไปในห้องแล้ว เขาทำอะไรอยู่
พยาน : เข้าไปนอน
ทนายจำเลย : ได้เห็นมองสิเออร์กรอสกุรัง ถือปืนเล็ก หรือปืนใหญ่บ้างหรือไม่
พยาน : เมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังถูกปืนแล้ว ข้าพเจ้าได้เห็นเขาถือปืน ๖ นัดอยู่
ทนายจำเลย : ได้เห็นมองสิเออร์กรอสกุรังหยิบปืนมาจากไหน
พยาน : ข้าพเจ้าได้เห็นหยิบมาจากที่นอน
ทนายแผ่นดิน : มองสิเออร์กรอสกุรังหยิบขึ้นมาแล้ว เห็นเขาไปไหนบ้าง
พยาน : เห็นเขานั่งอยู่นั่นเอง
ทนายจำเลย : ภายหลังมองสิเออร์กรอสกุรังได้ออกไปจากห้องบ้างหรือเปล่า
พยาน : ไม่ได้ออกไป
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังได้ลุกมายิงปืนที่หน้าต่างหรือไม่
พยาน : เปล่า เขาลุกขึ้นนั่งบนที่นอน
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรังได้ยิงบ้างหรือไม่
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังได้ยิงหรือไม่ได้ยิง ข้าพเจ้าไม่ทราบ
ทนายจำเลย : ท่านยิงด้วยปืนอะไร
พยาน : ข้าพเจ้ายิงด้วยปืนยิงนกสัก ๕ นัด ๖ นัด
ทนายจำเลย : ท่านยิงตรงไหน
พยาน : ข้าพเจ้ายิงทะลุมุมฝาริมบันไดออกไป
ทนายจำเลย : ฝาเรือนทำด้วยอะไร
พยาน : ทำด้วยใบลาน
ทนายจำเลย : แลออกมาที่ฝานั้น เห็นข้างนอกได้หรือ
พยาน : เห็นได้
ทนายจำเลย : เวลานั้นท่านหยิบปืนมาจากไหน
พยาน : ปืนอยู่ที่ข้าพเจ้านั่นเอง
ทนายจำเลย : เมื่อท่านยิงนั้นเล็งไปทางไหน
พยาน : เล็งตรงไปทางหน้าต่าง
ทนายจำเลย : เห็นใครถูกท่านยิงบ้างไหม
พยาน : ไม่เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อท่านยิงนั้น ท่านเห็นทหารญวนอยู่ที่ไหน
พยาน : ไม่มี
ทนายจำเลย : ภายหลังเห็นทหารญวนบ้างหรือไม่
พยาน : ได้เห็นทหารญวนตายเมื่อข้าพเจ้าลงไปแล้ว
ทนายจำเลย : ตลอดเวลารบกันนั้น ท่านได้เป็นทหารญวนบ้างหรือไม่
พยาน : ไม่เห็น เมื่อรบกันแล้วจึงเห็นตาย
ทนายจำเลย : เห็นทหารญวนตายที่ไหน
พยาน : เป็นคนหนึ่งตายอยู่หลังเรือน คนหนึ่งตายอยู่ริมเรือนด้านหนึ่ง
ทนายจำเลย : เมื่อแรกท่านถูกปืนนั้น ท่านอยู่ที่ไหน
พยาน : ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่ห้องยาวที่เก่า
ทนายจำเลย : เวลานั้นท่านถือปืนอยู่หรือ
พยาน : เมื่อข้าพเจ้าถูกยิงแล้วจึงได้หยิบปืน
ทนายจำเลย : ท่านได้ยิงกี่ครั้ง เมื่อท่านถูกลูกปืนที่สองแล้ว
พยาน : ยิงได้ ๔ นัด ๕ นัด ข้าพเจ้าวิ่งมาวิ่งไปตลอดห้องยาว
ทนายจำเลย : เมื่อวิ่งไปนั้น ท่านได้เข้าไปในห้องหลวงอนุรักษ์หรือเปล่า
พยาน : ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่หน้าห้องหลวงอนุรักษ์
ทนายจำเลย : ท่านได้อยู่ที่นั้นตลอดเวลาหรือ
พยาน : ข้าพเจ้ากลับมาดูที่หน้าห้องมองสิเออร์กรอสกุรังอีก เห็นมองสิเออร์กรอสกุรังถูกยิงที่ขมับตาย
ทนายจำเลย : ท่านอยู่ที่นั่นตลอดเวลาหรือ
พยาน : ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นจนไฟไหม้มาครึ่งห้องแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ออกมา
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นคนใดขึ้นไปบนเรียนยิงมองสิเออร์กรอสกุรังบ้างหรือเปล่า
พยาน : ข้าพเจ้าไม่เห็น
ถึงตอนนี้ทนายแผ่นดินว่า ไม่มีข้อหาในฟ้องว่า มีผู้ขึ้นไปยังมองสิเออร์กรอสกุรัง เหตุฉะนี้ศาลไม่ควรยอมให้ถาม
ศาล : ก็ไม่กระไรนัก พยานก็ตอบว่าไม่เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อท่านให้การในเวลาทนายแผ่นดินถามนั้น ท่านว่าพระยอดฯ กับหลวงอนุรักษ์จับมือท่านไป ท่านอยู่ที่ไหน
พยาน : ข้าพเจ้าลงเรือนแล้ว พระยอดฯ กับหลวงอนุรักษ์จึงมาจับข้าพเจ้า หลวงอนุรักษ์ถือดาบด้วย แต่หลวงอนุรักษ์มาจับมือข้าพเจ้าก่อน เดินไป ๖ วา ๗ วา จึงเห็นพระยอดฯ เข้ามาจับ
ทนายจำเลย : มีสิ่งของของพวกท่านอยู่ในห้องหลวงอนุรักษ์หรือเปล่า
พยาน : ไม่มี
ทนายจำเลย : ท่านเห็นมองสิเออร์กรอสกุรังหรือใครมีแผนที่ไทยบ้าง
พยาน : มีแต่แผนที่เขตแดนญวน
ทนายจำเลย : แผนที่นี้อยู่ที่ไหน
พยาน : เคยเอาไว้ที่ห้องนอนมองสิเออร์กรอสกุรัง บนหัวนอน
ทนายจำเลย : ท่านได้ทำอะไรกับแผนที่นั้นหรือเปล่า
พยาน : ข้าพเจ้าได้ฉีกเสีย
ทนายจำเลย : ท่านได้แผนที่มาอย่างไร ด้วยไม่ได้เข้าไปในห้องมองสิเออร์กรอสกุรัง
พยาน : ข้าพเจ้าฉีกเสีย เมื่อข้าพเจ้าอยู่หน้าห้องมองสิเออร์กรอสกุรัง
ทนายจำเลย : เมื่อฉีกแผนที่นั้น มองสิเออร์กรอสกุรังตายแล้วหรือยัง
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังถูกปืน ๑ ลูกแล้ว แต่ยังไม่ตาย
ทนายจำเลย : ทำไมจึงฉีกแผนที่เสีย
พยาน : ข้าพเจ้าไม่อยากเก็บเอาไว้
ทนายจำเลย : เมื่อคนจุดไฟเรือนนั้น ท่านอยู่ไหน
พยาน : ข้าพเจ้าอยู่ในห้องยาวก่อนไปข้างหลังห้องหลวงอนุรักษ์
ทนายจำเลย : เมื่อท่านเห็นนั้น ก่อนเข้าไปในห้องแล้วหรือ
พยาน : ก่อนเข้าไป
ทนายจำเลย : จุดข้างไหนก่อน
พยาน : จุดข้างหน้า จุดข้างริมเรือนด้านล่างเข้าก่อน แล้วจุดข้างหน้าเรือน
ทนายจำเลย : เมื่อเห็นคนขนของไปนั้น ท่านอยู่ข้างไหน
พยาน : ข้าพเจ้าอยู่ริมประตูห้องยาว หน้าห้องหลวงอนุรักษ์
ทนายจำเลยไม่ติดใจถามต่อไป (หมดเวลาศาลหยุด)
วันที่ ๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒ เวลา ๕ โมงเช้า ศาลประชุม ชำระต่อไป
ทนายแผ่นดินถามบุนจันล่ามเขมรพยานโจทก์ดังนี้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อวันที่มองสิเออร์กรอสกุรังไปจับหลวงอนุรักษ์นั้น พระยอดฯ ถามว่า ไปจับทำไม มองสิเออร์กรอสกุรังได้อธิบายให้ฟังหรือไม่
พยาน : มองสิเออร์กรอสกุรังได้อธิบายว่า เมื่อคืนนี้ราษฎรพูดว่า พระยอดฯ จะหนีไปตั้งค่ายอยู่ที่เวียงกระแสน ได้ใช้ให้คนไปเที่ยวยืมมีดขวานของราษฎรจะไปตัดไม้ทำค่าย
ทนายแผ่นดิน : เมื่อวันรบกันนั้นมองสิเออร์กรอสกุรังใช้ให้ท่านไปที่ทำเนียบซึ่งพวกทหารไทยประชุมกันอยู่สัก ๒๐๐ คน ท่านได้ถามเขาว่ามาทำไม เขาบอกว่าจะมาขอตัวหลวงอนุรักษ์ แต่ยังคอยนายของเขาอยู่ คือพระยอดฯ ก็ในวันนั้น มีผู้ใดมาขอตัวหลวงอนุรักษ์ต่อมองสิเออร์กรอสกุรังหรือไม่
พยาน : ไม่มีผู้ใดมาขอ
ทนายแผ่นดิน : ในวันรบกันนั้นไม่มีผู้ใดมาขอตัวหลวงอนุรักษ์เลยหรือ
พยาน : ไม่มี
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเวลาขุนวังถือดาบวิ่งเข้ามาที่บันไดเรือนร้องด่าฝรั่งนั้น ท่านถูกยิงกี่แห่งแล้ว
พยาน : ข้าพเจ้าถูกยิงแห่งหนึ่งแล้ว คือถูกที่หลังทะลุออกบ่าซ้าย
ทนายแผ่นดิน : ขณะนั้นได้ยิงกันนานแล้วมิใช่หรือ
พยาน : เกิดยิงกันสักสี่ห้านัดแล้ว
ทนายแผ่นดิน : ก่อนเวลาได้เห็นขุนวังมาที่บันได ท่านได้เคยเห็นเขาอยู่บ้างไหม
พยาน : ข้าพเจ้าได้เคยเห็นขุนวังมาแต่ก่อนเวลานั้นบ้างแล้ว
ทนายแผ่นดิน : ในวันนั้นท่านได้เห็นขุนวังเมื่อเวลาวิ่งเข้ามาที่บันไดเป็นครั้งแรกหรือได้เห็นก่อนเวลานั้น
พยาน : ในวันนั้นข้าพเจ้าได้เห็นขุนวังที่บันได เป็นครั้งแรก
ทนายแผ่นดินแจ้งต่อศาลว่า ไม่มีข้อถามต่อไป
ศาล : ไม่มีพยานอื่นอีก และไม่ชี้แจงเรื่องพยานอีกหรือ
ทนายแผ่นดิน : มีหนังสือของพระยอดฯ ที่มอบเมืองคำม่วนให้มองสิเออร์ลุสนั้นจะยื่นเป็นคำพยาน
ทันใดนั้น นายมี เนติบัณฑิต ทนายจำเลยร้องขอถามพยานข้อหนึ่ง ศาลให้ถาม
ทนายจำเลยถามว่า เมื่อขณะพยานเห็นขุนวังนั้น พยานอยู่ที่ไหน ให้พยานชี้ให้เห็นในแผนที่ พยานตอบว่าข้าพเจ้ายืนอยู่ในห้องยาว มองดูมาทางช่องประตูริมบันได (พยานได้ชี้ที่ยืนในแผนที่)
แล้วทนายแผ่นดิน จึงอ่านคำโทรเลข ซึ่งราชทูตสยามในกรุงปารีสบอกมายังกรมท่า ว่าด้วยข้อความในหนังสือของพระยอดเมืองขวาง ที่ทำให้ไว้แก่มองสิเออร์ลุสเมื่อมาจากเมืองคำม่วนต่อไปดังนี้
โทรเลขที่ ๒๐๙๖๓ มาแต่กรุงปารีส วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๒ เวลา ๗ ทุ่ม ๕๕ นาที มี ๒๐๒ คำ ถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ กรุงเทพฯ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เวลา ๔ ทุ่ม ๕๐ นาที
ข้าพเจ้าพระยอดเมืองขวาง ปลัดข้าหลวงซึ่งรักษาราชการเมืองคำเกิดคำม่วนทำคำมอบอายัดเขตแดนแผ่นดิน และผลประโยชน์ในเมืองคำม่วนไว้กับกงถือฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าขึ้นมารักษาเมืองคำเกิดคำม่วน ซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตกรุงสยาม ติดต่อกับเขตแดนเมืองญวนที่น้ำแข็งด้านตาป้อ ข้าพเจ้าได้รักษาราชการและท้าวเพี้ยไพร่ภาษาต่าง ๆ ให้อยู่เย็นเป็นสุขเรียบร้อยโดยยุติธรรมช้านานหลายปี ครั้นถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ ท่านกับนายทหารฝรั่งเศสอีก ๔ คน คุมทหารประมาณ ๒๐๐ เศษมาปล้นค่ายข้าพเจ้า และเอาทหารมาล้อมจับผลักไสแทงด้วยอาวุธขับไล่คุมตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากับหลวงขุนหมื่นทหารออกจากค่าย
ท่านไม่ยอมให้ข้าพเจ้าอยู่รักษาการผลประโยชน์ตามคำสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเจ้าของข้าพเจ้าต่อไป กงถือฝรั่งเศสหาให้อยู่ไม่ ฉุดลากข้าพเจ้ากับหลวงขุนหมื่นทหาร
ข้าพเจ้าขอมอบอายัดเขตแดนท้าวเพี้ยไพร่และผลประโยชน์ของฝ่ายกรุงสยามไว้กับกงถือฝรั่งเศส กว่าจะมีคำสั่งมาประการใด จึงจะจัดการต่อไป และให้กงถือฝรั่งเศสเอาหนังสือใบนี้ไปแสดงกับคอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสและสยาม ให้ชำระตัดสินคืนให้กับฝ่ายกรุงสยามตามธรรมเนียมแผนที่เขตแดนแผ่นดิน ซึ่งเป็นของกรุงสยามตามเยี่ยงอย่างธรรมเนียมไทย ฝ่ายกรุงสยามถือว่าเป็นของฝ่ายกรุงสยาม ได้รักษามาแต่เติม
(เซ็น) พระยอดเมืองขวาง
ครั้นอ่านจบลงแล้ว ทนายแผ่นดินยื่นคำโทรเลขนี้ต่อศาลให้เป็นคำพยาน
ทนายจำเลย : คำโทรเลขนี้มาจากราชทูตสยามในกรุงปารีสแน่หรือ
ศาล : ทนายแผ่นดินบอกว่าได้รับจากราชทูตไทยในกรุงปารีส ศาลก็เข้าใจดังนั้น และทางฝ่ายจำเลยมีหนังสือจะยื่นเป็นคำพยานบ้างหรือไม่
ทนายจำเลย : ไม่มีหนังสือสิ่งใดจะยื่นเป็นคำพยานในเวลานี้
วันที่ ๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒ เวลา ๔ โมงเช้า ศาลประชุมชำระต่อไป
ทนายจำเลย : พวกทนายจำเลยได้ปรึกษากันตกลงแล้วในการที่จะอ้างเอาพระยอดเมืองขวาง จำเลย เป็นพยานของตัวเอง
ผู้พิพากษา : ก่อนเวลาเรียกพระยอดเมืองขวางมาให้การนั้น ทนายจำเลยจะพูดคัดค้านหนังสือต่าง ๆ ซึ่งทนายแผ่นดินอ้างตัวเป็นพยานประการใด ก็ให้พูดคัดค้านเสียก่อน
ทนายจำเลย : นายมี ซึ่งเป็นผู้ว่าความให้จำเลยด้วยข้าพเจ้านั้น จะเป็นผู้คัดค้าน
ทันใดนั้นนายมีจึงลุกขึ้นยืนอ่านคำคัดค้านต่อไปดังนี้ว่า บรรดาหนังสือต่าง ๆ ซึ่งข้าพเจ้าคัดค้านว่า ไม่ควรที่ศาลจะรับเอาไว้เป็นคำพยานได้ตามกฎหมายนั้นคือ หนังสือ ๓ ประการ
๑. รายงานของมองสิเออร์เดอลาเนชอง ผู้สำเร็จราชการเมืองญวน ตังเกี่ย และเขมร ส่งไปยังปลัดทูลฉลองฝรั่งเศสว่าการหัวเมืองโคโลนี ลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒
๒. คำให้การของโงเย็นวันถัน ทหารญวน ซึ่งให้การต่อหน้ามองสิเออร์ดูโด อธิบดีผู้พิพากษาฝรั่งเศสศาลอุทธรณ์เมืองไซ่ง่อน ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๒
๓. คำให้การ ๓ ฉบับของบุนจันล่ามเขมร ฉบับหนึ่งให้การต่อหลวงวิชิตสารศาสตร์ ฉบับหนึ่งให้การต่อหน้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม อีกฉบับหนึ่งให้การต่อหน้ามองสิเออร์ปาวี ราชทูตฝรั่งเศส
พวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นทนายจำเลย แยกคำคัดค้านออกเป็น ๓ ประการดังนี้ ก็เพราะเหตุว่า บรรดาหนังสือเหล่านี้ ไม่ควรที่ศาลจะรับไว้เป็นคำพยานตามกฎหมายนั้น เกิดขึ้นจากมูลเหตุต่าง ๆ กัน ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้
ในส่วนรายงานของมองสิเออร์เดอลาเนชอง ซึ่งกล่าวไว้ในประการที่ ๑ นั้น พวกข้าพเจ้าขอคัดค้านว่า
๑. หนังสือรายงานฉบับนี้มิได้มีคนใดคนหนึ่งสาบานตัวตามกฎหมายว่าข้อความซึ่งมีในรายงานนั้นเป็นข้อความอันจริง
๒. มองสิเออร์เดอลาเนซอง เป็นผู้แต่งเรียบเรียงรายงานฉบับนี้ ก็มิได้รู้ได้เห็นด้วยตาเองว่า ข้อความซึ่งกล่าวไว้ในรายงานได้เกิดขึ้นมีขึ้นจริง
๓. หนังสือรายงานฉบับนี้ ก็เป็นแต่ข้อความซึ่งได้ลอกเอามาจากหนังสือรายงานฉบับอื่น จำเพาะแต่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มิได้คัดเอามาทั้งหมด
๔. หนังสือรายงานฉบับนี้ ได้คัดเอามาจากหนังสือรายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งอ้างว่ามองสิเออร์ลุสได้เป็นผู้เรียบเรียงเขียนไว้ และมิได้คัดมาหมดทั้งรายงาน
๕. หนังสือรายงานของมองสิเออร์ลุสฉบับนี้ ซึ่งฝ่ายโจทก์คัดเอามาอ้างนั้นก็ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดได้สาบานตัวตามกฎหมายว่า ข้อความตามหนังสือรายงานนั้นเป็นข้อความอันจริง
๖. หนังสือรายงานนี้ ซึ่งได้คัดมาจากรายงานของมองสิเออร์ลูซี ที่เป็นแต่ถ้อยคำกล่าวพูดอันมิได้สาบานของพวกราษฎร ซึ่งมิได้ปรากฏชื่อ เป็นต้นว่าผู้มีบรรดาศักดิ์ในหมู่บ้านแห่งนั้น
อนึ่งข้อความซึ่งกล่าวพูดมานี้ ก็เป็นคำกล่าวโทษพระยอดฯ จำเลย นายเรี่ยวแรง ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องแก่คดีเรื่องนี้ อันศาลได้พิจารณาอยู่
๗. หนังสือรายงานฉบับนี้ ได้กล่าวข้อใจความโดยย่อในจดหมาย ซึ่งพระยอดเมืองขวางจำเลย ได้เขียนไปถึงมองสิเออร์ลุส อีกประการหนึ่งเล่า ฝ่ายโจทก์ก็มิได้นำเอาต้นจดหมายฉบับนี้ ของพระยอดเมืองขวางจำเลยมายื่นต่อศาลหรือจะได้คัดสำเนามายื่นก็หามิได้ มาตรแม้นจำต้นจดหมายฉบับนี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกเจ้าพนักงานฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ขอให้ฟ้องกล่าวโทษพระยอดเมืองขวางนี้ก็ดี
ในที่สุดนี้ เมื่อจะพูดตัดความลงให้สิ้นแล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายขอกล่าวว่า หนังสือรายงานนี้ไม่ควรรับไว้เป็นพยานได้ ตามพระราชกำหนดกฎหมายไทย และกฎหมายของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพราะเหตุว่า หนังสือรายงานฉบับนี้เป็นหนังสือซึ่งคัดมาจากรายงานฉบับอื่น ซึ่งมิได้มีผู้ใดสาบานไว้ ว่าเป็นความจริง และต้นรายงานฉบับเดิมก็มิได้นำมายื่นต่อศาล
อีกประการหนึ่งเล่า ต้นฉบับรายงานนั้น คนซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงเขียนไว้ก็มิได้รู้ด้วยตัวเองว่า ข้อความนั้นเป็นความจริง เป็นแต่อาศัยความในรายงานของผู้อื่นซึ่งมิได้มีผู้ใดสาบานว่าเป็นความจริงเหมือนกัน ทั้งต้นฉบับรายงานนั้นก็มิได้นำเอามายื่นต่อศาลด้วย อีกประการหนึ่ง รายงานฉบับหลังนี้ ก็มีแต่ถ้อยคำของคนอื่น ๆ ผู้มิได้ปรากฏชื่อพูดกล่าวเท่านั้น
ก็แลถ้อยคำเช่นนี้ มิได้เกี่ยวข้องแก่คดีซึ่งศาลนี้ได้พิจารณาอยู่ กลับเป็นถ้อยคำกล่าวโทษความประพฤติตัวของพระยอดเมืองขวางจำเลยไป และหนังสือรายงานฉบับนี้ ก็ตัดใจความย่อในจดหมายของผู้มีชื่อคนหนึ่ง แต่ต้นจดหมายฉบับนั้น ก็มิได้นำยื่นต่อศาลด้วย ใช่แต่เท่านั้น คนผู้ซึ่งได้เรียบเรียงเขียนหนังสือฉบับนี้ก็ดี หรือคนทั้งหลายผู้ซึ่งควรรับผิดชอบในข้อความอันกล่าวไว้ในหนังสือรายงานนั้นก็ดี ฝ่ายโจทก์ก็ไม่นำเอาคนเหล่านี้มาให้เป็นพยานต่อหน้าศาลนี้ เพื่อฝ่ายจำเลยจะได้ซักถามเอาความเท็จแลจริง เพราะจำเลยมีอำนาจชอบธรรมจะซักถามพยานได้ตามความข้อ ๑๐ และข้อ ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติตั้งศาลรับสั่งพิเศษนี้
ที่ ๒ เหตุซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอคัดค้านคำให้การของทหารญวน นั้นคือว่า
๑. ตามความในข้อพระราชบัญญัติตั้งศาลรับสั่งพิเศษนี้ พวกข้าพเจ้าทั้งหลายมีอำนาจอันชอบธรรม ที่จะซักถามพยานโจทก์ได้ทุกคน ความในข้อ ๑๐ กล่าวว่า จำเลยจะซักถามพยานคนใดคนหนึ่ง ผู้ซึ่งให้การยืนยันเอาจำเลยได้ทุกคน
๒. เหตุซึ่งฝ่ายโจทก์กล่าวว่า จะเรียกเอาพยานนี้มาไม่ได้นั้น มีอย่างเดียวคือ พยานคนนี้เจ็บอยู่ แลพวกข้าพเจ้าขอตอบว่า
ก. ไม่มีคำพยานชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งศาลนี้ควรเชื่อได้ว่าทหารญวนผู้นี้เจ็บจริง ถ้าแลทหารญวนผู้นี้เจ็บจริงแล้ว ฝ่ายโจทก์ก็ควรจะนำเอาคำพยานคนใดคนหนึ่งซึ่งได้สาบานแล้ว ว่าทหารญวนผู้นี้เจ็บจริง หรือควรนำเอาหนังสือสำคัญของหมอรักษาโรคบอกอาการป่วยไข้มายื่นต่อศาล
ข. ถ้าฝ่ายโจทก์มีพยานยืนยันได้ว่า ทหารญวนคนนี้ป่วยจริงแล้ว ก็ควรที่จะมาร้องขอต่อศาลนี้ ให้มีคำสั่งไปสืบทหารญวนผู้นี้ที่เมืองไซ่ง่อนเสียก่อนเวลาตั้งต้นชำระ เมื่อศาลมีคำสั่งให้ไปสืบแล้ว ฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยก็คงจะได้มีทนายต่างตัวถาม และซักถามทหารญวนผู้นี้ได้ตามความในข้อ ๑๐ ซึ่งได้อ้างมาแล้วนั้น
อีกประการหนึ่ง ฝ่ายโจทก์ก็มิได้กล่าวว่าทหารผู้นี้อาการเจ็บมาก ถึงกับจะให้การไม่ได้ เป็นแต่กล่าวว่า มีอาการเจ็บมาก ที่จะเอาตัวเข้ามากรุงเทพฯ ไม่ได้เท่านั้น
อนึ่ง ข้าพเจ้าทราบว่า กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ก็จะจ่ายเงินค่าโสหุ้ยให้ในการสืบสวนทวนพยานเหล่านี้ เพื่อจะเอาความจริงในคดี เรื่องนี้ออกให้ปรากฏแก่ประชุมชนในโลกนี้อย่างเดียวเท่านั้น
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอคัดค้านคำให้การของทหารญวนผู้นี้ มิให้ศาลรับเอาไว้เป็นคำพยานของโจทก์ ด้วยเหตุว่าพวกข้าพเจ้าซึ่งเป็นทนายจำเลย ไม่ได้มีโอกาสซักถามทหารญวนคนนี้ได้ตามพระราชบัญญัติตั้งศาลรับสั่งพิเศษนี้ และฝ่ายโจทก์ก็มิได้ชี้แจงเหตุผลอันพอว่า ทำไมจึงไม่ควรให้ฝ่ายจำเลยซักถามทหารญวนคนนี้ในศาลรับสั่งพิเศษนี้ หรือในเมืองไซ่ง่อนในสมัยที่ศาลจะมีคำสั่งให้ไปสืบที่เมืองไซ่ง่อน
ที่ ๓ อนึ่งคำให้การของบุนจันล่ามเขมรนั้น พวกข้าพเจ้าขอกล่าวต่อศาลว่า คำคัดค้านของข้าพเจ้าที่ไม่ยอมรับเอาคำเหล่านี้ไว้เป็นคำพยานนั้น ก็เป็นแต่ข้อทุ่มเถียงด้วยปัญหาในกฎหมายเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีตัวบุนจันล่ามเขมรก็มาอยู่ในศาลนี้แล้ว และศาลนี้ก็มีอำนาจซักถามตัวบุนจันให้ ทั้งพวกข้าพเจ้าก็มีโอกาสที่จะซักถามบุนจันได้เหมือนกัน เหตุฉะนี้พวกข้าพเจ้าขอถอนคำคัดค้านต่อคำให้การของบุนจันล่ามเขมรนี้เสีย
ครั้นอ่านจบแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ อธิบดีผู้พิพากษา ทรงรับสั่งว่าหนังสือรายงานของมองสิเออร์เดอลาเนซอง ผู้สำเร็จราชการเมืองตั้งเกี่ย ญวนและเขมร ศาลจะควรรับไว้เป็นพยานหรือไม่ควรนั้น ศาลจะตัดสินต่อภายหลัง แต่คำให้การของโงเย็นวันถันทหารญวนซึ่งได้ให้การไว้ต่อหน้าผู้พิพากษาฝรั่งเศสในเมืองไซ่ง่อนนั้น ควรรับเอาไว้ แต่ศาลจะฟังเอาเป็นจริงทุกข้อหรือไม่นั้น ศาลจะได้วินิจฉัยให้เด็ดขาดต่อภายหลังเหมือนกัน
คำให้การ พระยอดเมืองขวาง จำเลย
อ้างตัวเองเป็นพยานที่ ๑
ทนายจำเลยอ้างพระยอดเมืองขวางจำเลย เป็นพยานสาบานตัวเองแล้วเบิกความว่า
ทนายจำเลย : ท่านไปเป็นข้าหลวงเมืองคำเกิดคำม่วน ช้านานเท่าใดแล้ว
พระยอดฯ : ตั้งแต่ปีจอ ๘ ปีมาแล้ว
ทนายจำเลย : เมื่อแรกพวกฝรั่งเศสมาถึงเมืองคำม่วน ประมาณมากน้อยกี่คน
พระยอดฯ : รวมทั้งฝรั่งเศสและญวนคนใช้ด้วยกันประมาณ ๖๐ เศษ
ทนายจำเลย : ทหารฝรั่งเศสกี่คน
พระยอดฯ : สี่คน
ทนายจำเลย : รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง มีทหารฝรั่งเศสขึ้นมาอีกหรือ
พระยอดฯ : รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง เวลาเย็นมีทหารเข้ามาอีก
ทนายจำเลย : ทหารฝรั่งเศสที่ยกเติมมานั้น กี่คนด้วยกัน
พระยอดฯ : รวมทั้งพวกเก่าและพวกใหม่ประมาณ ๒๐๐ เศษ
ทนายจำเลย : ในวันนั้น ท่านอยู่ในค่ายหรือ
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าอยู่ในค่าย
ทนายจำเลย : พวกฝรั่งเศสได้กดขี่ให้ท่านออกมาจากค่ายโดยกำลังอาวุธหรือท่านออกมาเอง
พระยอดฯ : พวกฝรั่งเศสข่มขืนให้ข้าพเจ้าออกมาโดยกำลังอาวุธ ข้าพเจ้าสู้ไม่ได้จึงต้องออกมา แต่ในใจของข้าพเจ้านั้นไม่ยอมออกมา
ทนายจำเลย : ฝรั่งเศสใช้กำลังอาวุธอย่างไรที่ให้ท่านออกมา
พระยอดฯ : ฝรั่งเศสให้ทหารเข้ามาฉุดลากข้าพเจ้าและผลักไส แล้วเอาหอกปลายปืนแทงหลังข้าพเจ้าออกมา
ทนายจำเลย : ก่อนเวลาที่ท่านจะออกจากเมืองคำม่วนนั้น ท่านได้เขียนหนังสือถึงมองสิเออร์ลุสหรือ
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าได้เขียนถึงมองสิเออร์ลุส ข้าพเจ้าเขียนเมื่อเวลาออกจากค่ายแล้ว แต่ก่อนออกจากเมืองคำม่วน
ทนายจำเลย : ทนายแผ่นดินว่าท่านเขียนหนังสือถึงมองสิเออร์ลุสนั้น ทนายแผ่นดินว่าโทรเลขฉบับนี้ (ส่งให้ดู) ว่าเป็นสำเนาหนังสือของท่านถูกหรือไม่
พระยอดฯ : ความเหมือนอย่างนี้ แต่ยังมีขาดอยู่บ้าง
ทนายจำเลย : ท่านมีสำเนาร่างฉบับนี้อยู่หรือ
พระยอดฯ : มีอยู่
ทนายจำเลย : ขอให้ท่านเอาต้นร่างมาเทียบกับโทรเลขนี้ดูว่าจะผิดกันอย่างไร
พระยอดฯ : ผิดกันหลายข้อ ข้อความที่ขาดอยู่นั้นได้ขีดเส้นแดงไว้ใต้บรรทัด (ยื่นต้นร่างหมายเลขที่ “พ”)
ทนายจำเลย : ข้อความในต้นร่างว่า แย่งชิงเงินทองของหลวงสำหรับจ่ายราชการ และทรัพย์สิ่งของ ๆ ข้าพเจ้า ขุนหมุนไพร่นี้ ท่านได้ใส่ไปในหนังสือถึงมองสิเออร์ลุสด้วยหรือ ตามที่ท่านจำได้
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าได้ใส่หมด (ความที่ลงเส้นดินสอดำไว้นั้น หาได้ใส่ลงในหนังสือด้วยไม่ เป็นข้อความที่ตัดเสีย)
ทนายจำเลย : เมื่อเวลาท่านจะมาจากเมืองคำม่วนนั้น ท่านเชื่อและถือว่า เมืองคำเกิดคำม่วน ยังเป็นพระราชอาณาเขตสยามอยู่หรือ หรือเป็นของรัฐบาลฝรั่งเศส
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าเชื่อและถือว่า เมืองทั้งสองนี้เป็นอาณาเขตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทนายจำเลย : เมื่อท่านจะออกจากเมืองคำม่วนนั้น ท่านได้ขอร้องให้มองสิเออร์ลุส ให้ทหารรักษาท่านกลางทางหรือ
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าไม่ได้ขอ
ทนายจำเลย : ฝรั่งเศสได้เก็บเอาเครื่องอาวุธของท่านหมดหรือ เมื่อเวลาจะออกจากเมืองคำม่วน
พระยอดฯ : พวกฝรั่งเศสเก็บริบเอาหมด
ทนายจำเลย : เมื่อท่านอยู่ที่บ้านนาหลักหินนั้น บุนจนล่ามเขมรมาหาท่านหรือ
พระยอดฯ : ได้มาหา
ทนายจำเลย : เมื่อท่านกล่าวว่า พวกฝรั่งเศสเก็บอาวุธไปหมดนั้น ท่านเข้าใจว่าทั้งมีดพร้าด้วยหรือ
พระยอดฯ : ฝรั่งเศสเก็บริบเอาเครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ ทั้งสิ่งของอื่น ๆ ซึ่งเป็นของหลวงและของข้าพเจ้าหมดทุกสิ่ง
ทนายจำเลย : เมื่อบุนจันลามเขมรมาหาท่านที่บ้านนาหลักหินนั้น เขาพูดว่าอย่างไรกับท่าน
พระยอดฯ : บุนจันบอกว่า มองสิเออร์กรอสกุรังให้มาบอกว่า มองสิเออร์กรอสกุรังจะล่วงหน้าไปก่อน
ศาล : ซึ่งทนายจำเลยถามดังนี้ เนื้อความไม่ติดต่อกันไป ควรให้ยกกระบัตรศาลถามให้ได้ความจนตลอดเรื่องเสร็จแล้ว ภายหลังทนายจำเลยจะถามด้วยข้อความข้อหนึ่งข้อใดก็ได้ ข้างทนายแผ่นดินจะซักถามต่อไปก็ได้เหมือนกัน สุดแต่จะเห็นสมควร
พระยอดฯ : (ให้การต่อไป) เมื่อข้าพเจ้าออกจากค่ายไปแล้ว ฝรั่งเศสบังคับให้ข้าพเจ้าอยู่ในฉางข้าวห้ามไม่ให้ไปไหน มีทหารเดินยามคอยตรวจตราดูอยู่ แต่เมื่อข้าพเจ้าจะใช้ให้ผู้คนไปตักน้ำนั้น ฝรั่งเศสไม่ห้ามปราม เมื่อข้าพเจ้าให้คนถือหนังสือมายังนายร้อยโทนั้นมาได้ พวกฝรั่งเศสจะรู้หรือไม่รู้นั้นหาทราบไม่ ฝรั่งเศสได้ให้คนมาถามว่า จะไปเมืองท่าอุเทนเมื่อใด ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ยอมไปด้วยจะผิดคำสั่ง เมื่อจะปล่อยอยู่ที่ใดก็จะอยู่ที่นั้น ครั้นรุ่งขึ้นวันหนึ่งสองวันกัปตันนายทหารฝรั่งเศสกับล่ามมาบอกกับข้าพเจ้าว่า ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ จะให้นายทหารกับพลทหารคุมข้าพเจ้ามาที่เมืองท่าอุเทนให้ได้ ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งว่าไม่ให้ฝรั่งเศสยกทหารเข้าไปในอาณาเขตสยาม ถ้ายกเข้าไปก็จะผิดด้วยคำสั่ง พวกฝรั่งเศสตอบว่า เขตแดนของฝรั่งเศสแผ่ถึงริมแม่น้ำโขง เขาจะไปตั้งค่ายที่ปากน้ำหินปูน ที่จะห้ามไม่ให้เข้าไปนั้นไม่ได้ เขาจะเข้าไปให้จงได้ ข้าพเจ้าบอกว่าจะขอพักอยู่ที่ฉางข้าวกว่าจะได้รับคำสั่งก่อนจะได้หรือไม่ เขาตอบว่าไม่ได้ ครั้นถึงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ พวกฝรั่งเศสมาบังคับว่า ให้ข้าพเจ้าเตรียมตัวในเวลาเช้านี้จะคุมตัวไปส่งให้ได้ พวกที่มาบังคับนั้นคือ ฝรั่งเศสสองนายกับทหาร ๔ - ๕ คน
ศาล : ท่านได้ขอเครื่องศาสตราวุธและสิ่งของคืนหรือไม่
พระยอดฯ : ความข้อนี้เดิมข้าพเจ้าได้ให้หลวงอนุรักษ์ไปขอคืน แล้วเขาไม่ให้ เขาว่าถ้าส่งถึงท่าอุเทนแล้วจึงจะคืนให้ ครั้นวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ เวลาเช้า ๒ โมง ฝรั่งเศสคุมพวกข้าพเจ้ารวมกันหมดทั้งขุนหมื่นไพร่ชายหญิง ๕๐ คน ออกจากเมืองคำม่วนมา ตัวข้าพเจ้ากับพรรคพวกอีกประมาณ ๑๐ คน ออกมาก่อน เดินทางประมาณชั่วโมงเศษถึงเชิงเขาน้ำเทิมฝั่งคำม่วน ข้าพเจ้าดักอยู่มีพวกข้าพเจ้าตามอีกประมาณสิบสามสิบสี่คน มีทหารฝรั่งเศสถืออาวุธครบมือกำกับมาด้วยประมาณสี่คนห้าคนดังนี้ เป็นพวก ๆ ประมาณสี่พวกห้าพวก นายทหารฝรั่งเศสจัดการดังนี้ตลอดทางมา ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง นายทหารฝรั่งเศสหนึ่งกับทหารญวนประมาณเก้าคนสิบคน ออกเดินหน้าพวกข้าพเจ้า แล้วให้พวกข้าพเจ้าเดินตามมาเป็นตอน ๆ มีทหารกำกับมาด้วยทุกพวกตั้งแต่ก่อนเดินทางมาได้ประมาณ ๒ คืน ๓ คืน ถึงบ้านนาหลักหิน มองสิเออร์กรอสกุรังใช้ให้บุนจันล่ามเขมรมาบอกข้าพเจ้าว่า มองสิเออร์กรอสกุรังจะไปก่อนให้พวกข้าพเจ้าตามไปทีหลัง ข้าพเจ้าถามว่าจะไปพักที่ไหน บุนจันล่ามเขมรบอกว่า มองสิเออร์กรอสกุรังกับพรรคพวกจะพักที่ทำเนียบที่บ้านแก่งเจ๊ก แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังก็พาทหารไปหมด ละพวกข้าพเจ้าแต่ลำพัง ประมาณอีกชั่วโมงข้าพเจ้ากับพรรคพวกก็เดินตามไปในวันเดียวกันนั้น บ่ายประมาณ ๓ โมงเศษ ข้าพเจ้ากับพรรคพวกถึงแก่งเจ๊ก
ศาล : บ้านแก่งเจ๊กอยู่ในแขวงคำม่วนหรือ
พระยอดฯ : บ้านแก่งเจ๊กขึ้นอยู่กับเมืองท่าอุเทน แต่เขตเมืองคำม่วนนั้นอยู่ภายนอกบ้านนาหลักหิน
ศาล : นับตั้งแต่ปลายแดนเมืองคำม่วนมาจนถึงบ้านแก่งเจ๊กนั้น ระยะทางเท่าใด
พระยอดฯ : ยาวประมาณ ๙ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง ครั้นถึงบ้านแก่งเจ๊ก ยังไม่พบมองสิเออร์กรอสกุรัง แต่ตามที่บุนจันบอกไว้นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า มองสิเออร์กรอสกุรังคงจะไปพักอยู่ที่ทำเนียบใหม่ ข้าพเจ้ากับพรรคพวกไม่มีที่พักจึงไปพำนักอยู่ที่ทำเนียบเก่า ซึ่งเป็นที่ร้างแล้ว มีแต่พื้นดินห่างจากทำเนียบใหม่ประมาณทาง ๓ เส้น
ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง บุนจันล่ามมาหาข้าพเจ้า ถามว่าทำไมข้าพเจ้าไม่พักที่ทำเนียบ ข้าพเจ้าตอบว่าเดิมบอกข้าพเจ้าว่ามองสิเออร์กรอสกุรังจะพักที่ทำเนียบใหม่ ข้าพเจ้าจึงได้มาพักที่ทำเนียบเก่า ครั้นจะไปพักที่เรือนของราษฎร ก็เกรงว่าพวกราษฎรจะเดือดร้อน แล้วบุนจันก็กลับไป ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง มองสิเออร์กรอสกุรังคุมทหารประมาณ ๙ คน ๑๐ คนกับบุนจันล่ามเขมรมาหาข้าพเจ้า แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังให้บุนจันล่ามเขมรถามข้าพเจ้าว่า หลวงอนุรักษ์อยู่ที่ไหน ข้าพเจ้าถามว่ามีกิจธุระอย่างไร มองสิเออร์กรอสกุรังว่า ประเดี๋ยวค่อยพูด แต่หลวงอนุรักษ์อยู่ที่ไหนให้บอกก่อน แล้วข้าพเจ้าบอกว่าหลวงอนุรักษ์นั่งอยู่ที่นั่น ทันใดนั้นข้าพเจ้าได้ยินมองสิเออร์กรอสกุรังส่งภาษากับบุนจันล่าม ๆ ส่งภาษากับทหารญวน ๆ จึงเข้ามาจะจับหลวงอนุรักษ์ เมื่อเวลาจับนั้น พวกทหารเอาเท้าเตะที่ท้องขาหลวงอนุรักษ์ล้มลงเอาเท้าเหยียบไว้ ทหารบางคนเอาเท้าเหยียบขาและต้นคอหลวงอนุรักษ์ไว้ ทันใดนั้นข้าพเจ้าลุกขึ้นถามว่า เหตุใดจึงทำการดังนั้น หลวงอนุรักษ์มีความผิดอย่างไร บุนจันล่ามเขมรพูดกับมองสิเออร์กรอสกุรังแล้วตอบว่า หลวงอนุรักษ์มีความผิดเดี๋ยวจะบอกให้ ขณะนั้นมองสิเออร์กรอสกุรังจับมือข้าพเจ้าให้นั่งลงแล้วบอกว่า เมื่ออยู่เมืองคำม่วนนั้นหลวงอนุรักษ์ได้พูดว่า ถ้าไปจากเมืองคำม่วนแล้ว อีกเดือนหนึ่งสองเดือนได้ทหารแล้วจะยกกลับมาอีก หลวงอนุรักษ์พูดดังนี้ทำให้ราษฎรตกใจ แล้วพวกทหารญวนมัดมือหลวงอนุรักษ์ทั้งสองมือ เอาตัวลงเรือมา หลวงอนุรักษ์ไม่ใคร่จะเดินไป ทหารญวนเอามือค้ำคอไป มองสิเออร์กรอสกุรังกับทหารและล่ามก็กลับไปที่พักของเขา
ในวันเดียวกันนั้นเวลาบ่าย ข้าพเจ้าใช้ให้ขุนวังตามไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ต่อมองสิเออร์กรอสกุรัง แล้วขุนวังก็กลับมาบอกข้าพเจ้าว่า มองสิเออร์กรอสกุรังไม่มีอำนาจจะให้ตัวหลวงอนุรักษ์มา ครั้นเวลาค่ำมีท้าวเพี้ยมาแจ้งความกับข้าพเจ้าว่า มองสิเออร์กรอสกุรังบอกว่า อย่ากลัวไทยเลย เขาได้จับตัวหลวงอนุรักษ์มาขังไว้แล้วด้วยหลวงอนุรักษ์ต้องโทษ แล้วมองสิเออร์กรอสกุรังได้ชี้ตัวหลวงอนุรักษ์ให้ท้าวเพี้ยดูด้วย ท้าวเพี้ยคนนี้ชื่อพระอุเทนกับท้าวเพี้ยมีชื่ออีกหลายนาย แล้วท้าวเพี้ยเหล่านี้บอกต่อไปว่า มองสิเออร์กรอสกุรังจะจับตัวข้าพเจ้ากับพรรคพวกเหมือนกัน ถ้าข้าพเจ้ากับพรรคพวกขึ้นไปเอาตัวหลวงอนุรักษ์เมื่อใด มองสิเออร์กรอสกุรังจะยิงข้าพเจ้ากับตัวหลวงอนุรักษ์ ครั้นในเวลาค่ำ วันนั้น ข้าพเจ้าคิดกลัวว่าพวกฝรั่งเศสจะพากันมาจับกุมข้าพเจ้า ทำให้เสียพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้ากับพรรคพวกจึงยกลงไปพักอยู่ที่เวียงกระแสน เวียงกระแสนอยู่ห่างจากที่พักเก่าของข้าพเจ้าทางน้ำขาล่องประมาณ ๔ - ๕ ชั่วโมง ถ้าทางบกช้ากว่า เมื่อข้าพเจ้าล่องมานั้น พบพวกท้าวเพี้ยไพร่เมืองท่าอุเทนประมาณ ๕๐ คน คุมเสบียงสวนทางขึ้นไป ข้าพเจ้าจึงให้พวกท้าวเพี้ยกับไพร่ลงไปกับข้าพเจ้าที่เวียงกระแสน ครั้นมาถึงที่ที่เวียงกระแสนแล้ว รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง นายทุ้ย นายแปลก แจ้งความแก่ข้าพเจ้าว่า หลวงวิชิตสารศาสตร์ได้รับใบบอกของข้าพเจ้าที่นายร้อยโทอ่ำ ข้าหลวงเมืองท่าอุเทนส่งขึ้นไปว่าด้วยเรื่องเมืองคำม่วนเสียแก่ฝรั่งเศสแล้ว ฝรั่งเศสคุมตัวข้าพเจ้าไว้ หลวงวิชิตสารศาสตร์จึงให้นายทุ้ย นายแปลกรีบขึ้นมาขอตัวข้าพเจ้า กับขุนหมุนไพร่ที่ฝรั่งเศสจับ แล้วให้บอกฝรั่งเศสให้ถอยทหารออกไปนอกพระราชอาณาเขตให้จงได้ ถ้าเห็นว่าข้าพเจ้าออกจากที่คุมฝรั่งเศสได้แล้ว ก็ให้นายทุ้ย นายแปลก คิดจัดการกับข้าพเจ้า ให้ฝรั่งเศสออกไปเสียจากพระราชอาณาเขตจงได้ แล้วข้าพเจ้าบอกแก่นายทุ้ย นายแปลกว่า เดี๋ยวนี้หลวงอนุรักษ์ยังอยู่ในที่คุมของฝรั่งเศส แล้วข้าพเจ้ากับนายทุ้ยนายแปลกจึงได้หารือกันว่า จะไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ที่ฝรั่งเศส ในวันเดียวนั้นข้าพเจ้ากับนายทุ้ยนายแปลกกับทหาร ๕๐ คน ขึ้นไปทางบกบ้างทางเรือบ้าง เพื่อจะขอตัวหลวงอนุรักษ์กับฝรั่งเศส ครั้นรุ่งขึ้นวันหนึ่งเวลาเช้า ๕ โมงถึงบ้านแก่งเจ๊ก ก็ไปพักที่ทำเนียบร้าง ซึ่งเป็นที่พักเดิมของข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้ากับนายทุ้ยนายแปลกก็คุมคนไปพักที่ทำเนียบใหม่ ข้าพเจ้าได้หารือกับนายทุ้ยนายแปลก ตกลงกันให้ขุนวังเป็นผู้เข้าไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ต่อพวกฝรั่งเศส กับเครื่องสาตราวุธคืนมาด้วย ขุนวังก็เดินล่วงหน้าเข้าไปยังเรือนที่พักของพวกฝรั่งเศสก่อน ข้าพเจ้ากับนายทุ้ยนายแปลกตามไปทีหลัง ข้าพเจ้าได้เห็นขุนวังยืนอยู่ที่บันไดเรือนที่พักฝรั่งเศสชั้นล่าง และบุนจันล่ามเขมรก็ยืนอยู่ที่นั่นด้วย แล้วข้าพเจ้าเห็นตัวมองสิเออร์กรอสกุรังกับหลวงอนุรักษ์ยืนเคียงกันอยู่ที่หัวบันไดขั้นบน แล้วเห็นพวกทหารญวนยื่นเข้าแถวอยู่ที่ริมบันไดพื้นดิน ถัดบุนจันล่ามเขมรไปที่บนเรือนนั้น ก็มีทหารญวนเดินไขว่กันอยู่หลายคน แล้วข้าพเจ้าได้ยินเสียงขุนวังพูดขอตัวหลวงอนุรักษ์ และบุนจันล่ามเขมรส่งภาษากับมองสิเออร์กรอสกุรัง แล้วบอกว่ามองสิเออร์กรอสกุรังไม่มีอำนาจที่จะให้ตัวหลวงอนุรักษ์ไป แต่ขุนวังพูดขอตัวหลวงอนุรักษ์อยู่หลายคำ มองสิเออร์กรอสกุรังตอบว่าไม่ให้ แล้วข้าพเจ้าได้ยินขุนวังพูดตามคำสั่งของข้าพเจ้าว่า ขอเครื่องสาตราวุธและทรัพย์สิ่งของคืน แล้วขอให้ฝรั่งเศสถอยออกไปให้พ้นอาณาเขตสยาม แล้วบุนจันล่ามเขมรตอบว่าฝรั่งเศสไม่ถอยไป เครื่องสาตราวุธกับสิ่งของนั้นไม่ได้อยู่ที่มองสิเออร์กรอสกุรัง ๆ คืนให้ไม่ได้ ครั้นข้าพเจ้าเห็นมองสิเออร์กรอสกุรังไม่คืนเครื่องศาสตราวุธและสิ่งของและไม่ยอมถอยไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้เรียกตัวหลวงอนุรักษ์ให้มาหาข้าพเจ้า ในทันใดนั้นบุนจันล่ามเขมรส่งภาษากับมองสิเออร์กรอสกุรัง ๆ หันเข้าข้างในเรือนส่งภาษากันข้างในอีก แล้วทหารญวนวิ่งสวนขึ้นบันไดไปคนหนึ่ง วิ่งเข้าไปในห้องคนหนึ่ง ทันใดนั้นมองสิเออร์กรอสกุรังจับข้อมือหลวงอนุรักษ์ไว้ แล้วจูงเข้าไปจนถึงประตูห้อง แล้วบุนจันล่ามเขมรก็วิ่งขึ้นบันไดเรือนถึงประตูห้อง แล้วหลวงอนุรักษ์สะบัดมือหลุดแล้ววิ่งมาหาข้าพเจ้า ทันทีนั้นข้าพเจ้าเหลียวไปดู เห็นมองสิเออร์กรอสกุรังกับบุนจันล่ามเขมรเข้าห้องไป แล้วมีเสียงปืนยิงลั่นมาจากประตูเรือน แล้วลูกปืนนั้นถูกทหารชาวโคราชคนหนึ่ง กองนายทุ้ยนายแปลกถูกที่สะดือตายทันที ทหารคนนี้ยืนห่างตัวข้าพเจ้าประมาณ ๕ ศอก ๖ ศอกข้างหน้าข้าพเจ้า แล้วเสียงยิงปืนลั่นออกมาอีกสามนัด ถูกทหารล้มลงอีกสองคน ข้าพเจ้ากับนายทุ้ยนายแปลกร้องห้ามไป เห็นไม่หยุดแล้วข้าพเจ้ากับนายทุ้ยนายแปลก จึงสั่งให้ทหารยิงตอบไปบ้าง แล้วต่างคนต่างยิงกัน ในเวลายิงโต้ตอบกันอยู่นั้น ข้าพเจ้าเห็น ไฟติดอยู่ที่หลังคาเรือนมองสิเออร์กรอสกุรังพักอาศัยอยู่ ครั้นไฟไหม้ได้ครึ่งห้องแล้ว เห็นบุนจันล่ามเขมรวิ่งออกมา ร้องบอกแก่หลวงอนุรักษ์ว่าขอให้ช่วยชีวิตไว้ด้วย ข้าพเจ้าก็ห้ามทหารไม่ให้ทำอันตรายแก่บุนจันล่ามเขมร แล้วสั่งให้หลวงอนุรักษ์ไปจูงมือบุนจันล่ามเขมรมาแล้วก็จูงมาลงเรือ ขุนวังกับพวกทหารรวม ๖ คนถูกปืนพวกฝรั่งเศสยิงตาย และที่เจ็บป่วยประมาณ ๔ - ๕ คน เมื่อข้าพเจ้าลงเรือมานั้นไฟยังไหม้เรือนอยู่ ยังไม่โทรมลง พอหยุดยิงกันทั้งสองฝ่าย ข้าพเจ้าค้นได้ศพขุนวังแล้วก็พากันมาลงเรือที่เวียงกระแสนเลยทีเดียว
ศาล : ท่านได้ค้นตรวจตราดูว่าฝ่ายฝรั่งเศสป่วยตายกี่คนหรือไม่
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าได้ตรวจดูแต่พวกไทย แล้วก็พากันกลับ
ศาล : พยานกับพวกได้เก็บเอาเครื่องศาสตราวุธกับสิ่งของต่าง ๆ ของฝรั่งเศสมาด้วยหรือ
พระยอดฯ : พวกทหารญวนตายอยู่กับที่ที่ยืนอยู่ พวกทหารไทยก็เก็บเอาปืนมา ๔ - ๕ กระบอก
ศาล : นอกจากนี้ท่านไม่ได้เอาอะไรมาอีก และไม่ได้ขึ้นไปค้นสิ่งของบนเรือนหรือ
พระยอดฯ : นอกจากนี้ไม่ได้เอาอะไรมาอีก และพวกไทยไม่ได้ขึ้นไปค้นของบนเรือนเลยด้วยไฟกำลังไหม้อยู่ ครั้นมาถึงเวียงกระแสนแล้ว รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งข้าพเจ้าได้แต่งให้ท้าวเพี้ยคุมตัวบุนจันล่ามเขมร มาส่งหลวงวิชิตสารศาสตร์ที่เมืองท่าอุเทน แต่ข้าพเจ้ากับพวกยังอยู่ที่เวียงกระแสนต่อไป ภายหลังหลวงอนุรักษ์แจ้งความแก่ข้าพเจ้าว่า เมื่อต้องขังที่เรือนมองสิเออร์กรอสกุรังนั้น ได้ทราบว่ามองสิเออร์กรอสกุรังมีหนังสือไปขอกำลังทหารที่เมืองคำม่วน และที่ค่ายขนองม้ามาช่วย เหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงให้นายงิ้น นายครั่ง นายทหารคุมทหาร ๗ - ๘ คน ขึ้นไปฟังราชการที่บ้านแก่งเจ๊ก และให้ตรวจตราดูเครื่องศาสตราวุธและผู้คนเจ็บป่วยหลงเหลือในที่รบ และให้ทำการฝังศพนายทหารไทย และญวน และนายทหารฝรั่งเศส ที่ต้องอาวุธตายในที่รบเสียทั้งสองฝ่าย แล้วนายงิ้นนายครั่งส่งทหารญวนต้องอาวุธเจ็บป่วยผู้ซึ่งหนีไปทางเมืองคำม่วนให้ข้าพเจ้าคนหนึ่ง แล้วข้าพเจ้าก็ล่องลงไปหาหลวงวิชิตสารศาสตร์ที่บ้านช่องลม ทาง ๓ ชั่วโมง แล้วให้คุมตัวทหารญวนคนนั้นตามมาทีหลัง แล้วข้าพเจ้าก็มอบตัวทหารญวนผู้นี้ให้หลวงวิชิตสารศาสตร์ ๆ ก็แต่งคนคุมตัวมาส่งที่เมืองท่าอุเทน ครั้นแจ้งข้อราชการแก่หลวงวิชิตสารศาสตร์เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็กลับขึ้นมาพบนายงิ้น นายครั่ง คุมทหารญวนต้องอาวุธบาดเจ็บอีกคนหนึ่งกับปืน ๕ - ๖ กระบอกส่งตามลงไป แจ้งความว่า นายงิ้น นายครั่ง ได้เที่ยวค้นหาศพและจัดการฝังศพตามคำสั่งเดิม จึงได้ไปพบทหารญวนต้องอาวุธป่วยอยู่ที่บ้านแก่งเจ๊กคนหนึ่ง กับเก็บได้ปืน ๕ กระบอก ๖ กระบอกมา ตามมาส่งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้ามีหนังสือนำให้นายงิ้นนายครั่งคุมทหารญวนกับปืนลงไปส่งหลวงวิชิตสารศาสตร์ แล้วข้าพเจ้าก็กลับขึ้นไปรักษาราชการอยู่ที่เวียงกระแสน ได้ ๗ วัน ๘ วัน หลวงวิชิตสารศาสตร์สั่งให้ข้าพเจ้าขึ้นไปตั้งค่ายอยู่ที่แก่งเจ๊ก ข้าพเจ้าตั้งอยู่ที่แก่งเจ๊กประมาณเดือนเศษแล้วกลับมาอยู่ที่เมืองท่าอุเทนประมาณ ๒๐ วัน แล้วมาอยู่หนองคายได้เดือนเศษ จึงมีท้องตราให้หาตัวข้าพเจ้ากลับมากรุงเทพฯ
ศาล : ตั้งแต่วิวาทรบกันที่บ้านแก่งเจ๊กนั้น ท่านได้รับหนังสือคำสั่งอะไรจากหลวงวิชิตสารศาสตร์อีกบ้างหรือไม่
พระยอดฯ : ซ้าพเจ้าได้รับอีกหลายฉบับ
ศาล : หนังสือเหล่านี้ได้มีอยู่กับตัวพยานในเวลานี้หรือ
พระยอดฯ : มีอยู่ห้องพักบ้าง
วันที่ ๕ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒ ศาลประชุมพิจารณาต่อไป
ทนายจำเลย : เมื่อท่านเป็นข้าหลวงอยู่เมืองคำเกิดคำม่วนนั้น หลวงวิชิตสารศาสตร์มีอำนาจบังคับบัญชาท่านได้หรือ
พระยอดฯ : หลวงวิชิตสารศาสตร์มีอำนาจบังคับบัญชาข้าพเจ้าได้ ด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงที่ ๑ หม่อมเจ้าวัฒนาเป็นข้าหลวงที่ ๒ หลวงวิชิตสารศาสตร์เป็นข้าหลวงที่ ๓ ในหัวเมืองลาวพวนทั่วไป
ทนายจำเลย : เมื่อรบกันที่แก่งเจ๊กนั้น เวลาที่ท่านได้แรกเห็นเรือนพักของฝรั่งเศสนั้น ท่านได้เห็นทหารญวนยืนเข้าแถวแล้วหรือ
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าได้เห็นยืนเข้าแถวพร้อมแล้ว
ทนายจำเลย : ทหารญวนถือปืนด้วยหรือ
พระยอดฯ : ถือปืนครบมือกัน
ทนายจำเลย : เมื่อวันก่อนนั้นท่านว่า ทหารญวนเดินอยู่บนเรือนสับสนกันอยู่นั้น ท่านรู้แน่หรือว่าเป็นทหารญวน
พระยอดฯ : เห็นมิใคร่ถนัด จะเป็นกุ๊กหรือบ๋อยหรือทหารญวนนั้น ข้าพเจ้ารู้แน่ไม่ได้
ทนายจำเลย : เมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังยืนอยู่หัวบันไดนั้น แต่งตัวอย่างไร
พระยอดฯ : เขาใส่เสื้อขาว กางเกงขาว
ทนายจำเลย : ในระหว่างเวลารบกันนั้น ท่านได้เห็นมองสิเออร์กรอสกุรังยิงปืนหรือไม่
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าได้เห็นเขายิงมาทางหน้าต่าง
ทนายจำเลย : มองสิเออร์กรอสกุรัง กับบุนจันล่ามเขมรยิงพร้อมกันหรือ
พระยอดฯ : บุนจันล่ามเขมรก็ยิงมาทางหน้าต่างเหมือนกัน ผลัดกันยิง บางทีก็ยิงพร้อมกัน
ทนายจำเลย : เมื่อรบกันแล้ว ท่านได้เห็นหีบของมองสิเออร์กรอสกุรังบ้างหรือไม่
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าไม่เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อวันก่อนนั้น ท่านให้การว่า ได้มีคำสั่งให้ฝังศพมองสิเออร์กรอสกุรังไว้ต่างหากหรืออย่างสมควรไม่ใช่หรือ
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าได้มีคำสั่งให้ฝังไว้ต่างหาก มีฉลากชื่อและหลังคาร่มด้วย
ทนายจำเลย : ท่านได้บอกให้พรรคพวกของท่านเอาไฟจุดเผาเรือนนั้นหรือเปล่า
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าไม่ได้สั่ง
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นพรรคพวกของท่าน ได้เอาไฟจุดเผาเรือนหรือไม่
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าไม่ได้เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อได้จับบุนจันล่ามเขมรแล้ว ท่านได้เห็นพรรคพวกของท่านได้ทำการข่มเหงบุนจันล่ามหรือไม่
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าไม่ได้เห็น
(ขณะนี้ทนายจำเลย ได้เอารูปตัวอย่างเรือนมาตั้งต่อหน้าศาล)
ทนายจำเลย : เข้าใจหรือไม่ว่าตัวอย่างเรือนนี้ ถูกต้องหรือไม่
พระยอดฯ : ถูกต้อง
ทนายจำเลย : ให้ท่านเอาตุ๊กตาทหาร ตั้งลงที่รูปตัวอย่างเรือน
พระยอดฯ ได้เอาตุ๊กตาทหารตั้งลงบอกชื่อคน แล้วได้จดไว้ในแผนที่
ศาล : ขณะรบกันนั้น ท่านแต่งตัวอย่างไร
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าแต่งตัวใส่เสื้อกางเกงสักหลาดสีดำเป็นเสื้อกวางตุ้ง กางเกงขาใหญ่ ทหารญวนแต่งตัวเหมือนกัน ใส่หมวกใบลานยอดแหลม ใส่เสื้อกางเกงสีผ้าป่าน แต่ทหารกองนายทุ้ยนายแปลก แต่งตัวอย่างทหาร พวกข้าพเจ้านั้นไม่ได้แต่งตัวอย่างทหาร เพราะฝรั่งริบเอาเสื้อกางเกงทหารเสียที่เมืองคำม่วนหมดแล้ว
ศาล : มีพวกของพยานมาบ้างหรือเปล่า
พระยอดฯ : มีประมาณสัก ๑๘ - ๑๙ คน
ศาล : เวลานั้นพยานถืออาวุธอะไร
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าถือหอก แต่พวกข้าพเจ้าถือปืนอยู่ ๒ คน นอกนั้นไม่ได้ถือปืน
ศาล : เมื่อวันก่อนนั้น ท่านให้การว่า ตัวท่านกับนายทุ้ยนายแปลก ได้สั่งให้ยิง คือใครได้สั่งก่อน
พระยอดฯ : เวลานั้นทหารญวนยิงมา ห้ามไปก็ไม่หยุด ข้าพเจ้าหารือกับนายทุ้ย นายแปลก แล้วข้าพเจ้าได้ร้องสั่งให้ยิงพร้อมกับนายทุ้ยนายแปลกทันที
ศาล : ในเวลานั้นใครเป็นผู้บังคับทหาร
พระยอดฯ : หลวงวิชิตสารศาสตร์ได้ให้นายทุ้ย นายแปลกขึ้นไป ข้าพเจ้าสมทบด้วย
ศาล : ตัวท่านได้บังคับหรือนายทุ้ยนายแปลกบังคับ
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพวกข้าพเจ้า ๆ ก็บังคับ พวกนายทุ้ยนายแปลก นายทุ้ยนายแปลกก็บังคับ
ศาล : เมื่อพยานกับนายทุ้ยนายแปลก ได้สั่งให้ยิงไปพร้อมกันนั้น พวกพยานหรือทหารกองนายทุ้ยนายแปลกได้ยิงก่อน
พระยอดฯ : ทหารได้ยิงก่อน
ศาล : พวกของพยานได้ยิงหรือไม่
พระยอดฯ : ได้ยิง (ศาลถามเพียงนี้)
ทนายแผ่นดิน : ท่านจำได้ไหมว่า ฝรั่งเศสริบเอาอาวุธของท่านที่เมืองคำม่วนวันที่เท่าใด
พระยอดฯ : จำได้ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม
ทนายแผ่นดิน : เมื่อมาริบกันนั้น มองสิเออร์ลุสมาด้วยหรือ
พระยอดฯ : มา
ทนายแผ่นดิน : เมื่อมองสิเออร์ลุสได้มาริบนั้น มองสิเออร์ลุสได้บอกว่าให้พยานเอาสิ่งของไปเสียต่อหน้ามองสิเออร์ลุส ภายหลังจะได้ไม่ว่ามองสิเออร์ลุสได้เอาข้าวของไว้
พระยอดฯ : เมื่อริบเอาของไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าออกจากค่ายไปแล้ว มองสิเออร์ลุสจึงบอก เมื่อบอกนั้นของหมดไปเสียแล้ว
ทนายแผ่นดิน : ของหมดแล้ว ใครเอา
พระยอดฯ : พวกมองสิเออร์ลุสได้เอาไป คือพวกทหารและพวกนายทหาร ๓ - ๔ คน
ทนายแผ่นดิน : เมื่อออกจากเมืองคำม่วนนั้นไม่มีของติดตัวบ้างหรือ
พระยอดฯ : มีแต่ของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ของที่มีผลประโยชน์เขาก็เก็บเอาไปหมด
ทนายแผ่นดิน : เมื่อพวกฝรั่งเศสมาถึงเมืองคำม่วน พวกหัวหน้าราษฎรได้ฟ้องกล่าวโทษ ท่านรู้หรือไม่
พระยอดฯ : ไม่รู้ ไม่เห็นมีใครกล่าวโทษข้าพเจ้า
ทนายแผ่นดิน : วันที่ ๒๓ มองสิเออร์ลุสมาหาท่าน เขาได้บอกท่านว่าจะให้ทหารส่งมา เพื่อไม่ให้ราษฎรข่มเหง เขาได้บอกหรือไม่
พระยอดฯ : ไม่ได้บอก บอกแต่ว่าจะไปเมื่อไร ข้าพเจ้าบอกว่า ไม่มีคำสั่งของไทยก็ยังไม่ไป
ทนายแผ่นดิน : ก่อนออกจากเมืองคำม่วนนั้น มองสิเออร์ลุสได้อธิบายให้ท่านทราบหรือไม่ว่า เขาจะให้ทหารมาส่งเพราะเหตุใด
พระยอดฯ : ไม่ได้อธิบายว่ากระไร
ทนายแผ่นดิน : เมื่ออยู่เมืองคำม่วนนั้น ท่านได้มีหนังสือถึงนายร้อยโทอ่ำนั้น ท่านจำวันในหนังสือได้หรือไม่
พระยอดฯ : จำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : ในหนังสือนั้นท่านว่ากระไร
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าได้ชี้แจงข้อราชการที่ฝรั่งเศสขับและริบสิ่งของ
ทนายแผ่นดิน : ไม่ได้จำต่อไปหรือ
พระยอดฯ : ความนั้นจำไม่ได้ กาลนานมาแล้ว
ทนายแผ่นดิน : หนังสือถึงมองสิเออร์ลุสเขียนก่อน หรือหนังสือนายร้อยโทอ่ำเขียนก่อน
พระยอดฯ : ความข้อนี้จำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อวันรบกันที่แก่งเจ๊กนั้น ท่านเอาคน ๔๐ คน ไปทำไม เพราะจะเอาตัวหลวงอนุรักษ์เท่านั้นหรือ
พระยอดฯ : เป็นธรรมดาในกลางดงกลางป่า ตัวนายไปด้วยกันหลายคน ก็ต้องเอาคนไปด้วยเพื่อป้องกันตัวตามทาง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อฝรั่งจับตัวหลวงอนุรักษ์ไปแล้ว เวลาบ่าย ท่านให้การว่า ท่านได้ใช้ขุนวังไปขอตัวหลวงอนุรักษ์นั้น ขุนวังไปคนเดียวหรือคนอื่นไปด้วย
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าใช้ขุนวังไปคนเดียว แต่ใครจะไปกับขุนวังนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ
ทนายแผ่นดิน : ท่านได้สั่งขุนวังว่าให้เอาใครไปบ้างหรือเปล่า
พระยอดฯ : ไม่ได้สั่ง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อวันรบกันนั้น ท่านว่าไฟไหม้คือตรงไหน ให้ชี้ที่รูปเรือนตัวอย่าง (พยานชี้ที่หลังเรือน)
ทนายแผ่นดิน : ท่านยืนตรงไหน (พยานชี้ที่ ๆ เก่า ๆ ตามที่ให้การไว้แล้ว)
ทนายแผ่นดิน : เวลาไฟไหม้นั้น พวกฝรั่งเศสหยุดยิงแล้วหรือยัง
พระยอดฯ : ไม่ได้หยุด กำลังยิงกันอยู่
ทนายแผ่นดิน : ทหารฝรั่งเศสอยู่ไหน
พระยอดฯ : ยืนอยู่ข้างหลังเรือนรอบ
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านยืนอยู่นั้น ถ้าคนไทยจะขึ้นไปบนเรือน ท่านจะเห็นหรือไม่เห็น
พระยอดฯ : คงเห็นด้วยไม่สู้ไกลกันนัก แต่ไม่มีคนขึ้นไป
ทนายแผ่นดิน : ในคำให้การของท่าน ๆ ว่าไม่ได้ยืนอยู่จนไฟไหม้หมดไม่ใช่หรือ
พระยอดฯ : เปล่า
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านกลับมาแล้ว ถ้าคนใดขึ้นไปเอาของบนเรือนได้หรือไม่ได้
พระยอดฯ : เห็นจะไม่ได้ ร้อนเหลือทน
ทนายแผ่นดิน : เมื่อบุนจันล่ามเขมรลงมา ท่านเห็นบุนจันล่ามเขมรถูกปืนที่ไหนบ้าง
พระยอดฯ : ไม่ทราบเห็นแต่เลือดติดผ้านุ่งเสื้อผ้า
ทนายแผ่นดิน : เมื่อบุนจันล่ามเขมรให้การนั้น เขาว่าขุนวังถือดาบมาที่บันได ท่านได้ยินหรือเปล่า
พระยอดฯ : บุนจันล่ามเขมรว่ากระไรก็แจ้งอยู่ในคำให้การนั้น ถึงเขาจะให้การก็ดี ข้าพเจ้าก็ไม่ได้จำไว้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านว่ามองสิเออร์กรอสกุรังกับบุนจันล่ามเขมรยิงมานั้น เขายิงทางไหน
พระยอดฯ : ยิงออกมาทางหน้าต่าง
ทนายแผ่นดิน : ท่านยืนอยู่ที่ไหน
พระยอดฯ : ยืนอยู่ที่เก่า
ทนายแผ่นดิน : ไม่ได้เลื่อนที่หรือ
พระยอดฯ : การเลื่อนที่นั้น ก็ก้าวหนึ่งสองก้าวโดยธรรมดา
ทนายแผ่นดิน : มองสิเออร์กรอสกุรังกับบุนจันยิงด้วยอะไร เห็นหรือไม่
พระยอดฯ : ปืน ๖ นัด
ทนายแผ่นดิน : ทั้งสองคนหรือ
พระยอดฯ : แต่มองสิเออร์กรอสกุรังนั้นไม่ทันสังเกต บุนจันนั้นยิงด้วยปืน ๖ นัด
ทนายแผ่นดิน : ถ้าแม้เขาทั้งสองคนยิงพร้อมกัน ทำไมท่านไม่เห็นว่ามองสิเออร์กรอสกุรังยิงด้วยปืนอะไร
พระยอดฯ : เวลายิงกันนั้นข้าพเจ้าไม่ได้พินิจพิเคราะห์ดู
ทนายแผ่นดิน : ท่านรู้ไหมว่าพวกลาวไม่มีใครชอบท่านเลย
พระยอดฯ : ไม่รู้
ทนายแผ่นดิน : ไม่มีใครบอกท่านหรือ
พระยอดฯ : ไม่มี
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเวลาลงเรือกลับไปนั้น ท่านรู้หรือไม่ว่าคนไทยคนญวนตายกี่คน พวกทหารบอกบ้างหรือไม่
พระยอดฯ : รู้แต่ว่าคนไทยตาย ๖ คน พวกญวนไม่รู้ด้วยไม่ได้ตรวจตรา
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเวลาออกเรือกลับนั้นหลวงอนุรักษ์ไปด้วยหรือเปล่า
พระยอดฯ : ไปด้วย
ทนายแผ่นดิน : รุ่งอีกกี่วันท่านจึงรู้ว่าทหารญวนตายกี่คน
พระยอดฯ : กี่วันจำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : ใครมาบอกว่าทหารญวนตายกี่คน
พระยอดฯ : คนที่ให้ไปสืบไปฟังนั้น
ทนายแผ่นดิน : เขาบอกว่าตายกี่คน
พระยอดฯ : ประมาณ ๑๑ - ๑๒ คน
ทนายแผ่นดิน : เวลารบกันแล้ว ท่านได้บอกไปอย่างไรกับหลวงวิชิตสารศาสตร์จึงรู้
พระยอดฯ : นายทุ้ยนายแปลกล่องลงไป
ทนายแผ่นดิน : เมื่อพบนายแปลกที่เวียงกระแสนนั้น ท่านได้รับหนังสือของหลวงวิชิตสารศาสตร์บ้างหรือไม่
พระยอดฯ : ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้าก็ได้รับหนังสือแจ้งราชการต่าง ๆ จากหลวงวิชิตสารศาสตร์เนือง ๆ มา
ทนายแผ่นดิน : ในหนังสือราชการเหล่านี้ ได้สั่งให้ท่านทำอะไรบ้าง
พระยอดฯ : บังคับให้ข้าพเจ้าตั้งค่ายไม่ให้ฝรั่งเศสล่วงเลยเข้ามา
ทนายจำเลย : (ท้วง) ไม่ควรที่ทนายแผ่นดินจะถามถึงหนังสือให้จำเลยให้การ
อธิบดีศาล : ซึ่งทนายแผ่นดินจะถามถึงข้อความในหนังสือราชการทั่วไปทุกฉบับนั้นไม่ได้ นอกจากหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิวาทนี้ พยานไม่จำเป็นให้การตอบเลยนอกจากหนังสือที่เกี่ยวในเรื่องวิวาทนี้
ทนายแผ่นดิน : ในหนังสือของหลวงวิชิตสารศาสตร์มีมานั้น ท่านเข้าใจว่ากระไรในหนังสือนั้น
พระยอดฯ : สั่งมาว่าไม่ให้ถอย
ทนายแผ่นดิน : ไม่ได้บอกให้ท่านต่อสู้ฝรั่งเศสหรือ
พระยอดฯ : นายทุ้ยนายแปลกบอกว่าให้ป้องกันฝรั่งเศสไว้ไม่ให้ล่วงเลยเข้ามา ให้ปรึกษาหารือกันกับข้าพเจ้า เพราะหลวงวิชิตสารศาสตร์ยังไม่รู้ว่าพวกข้าพเจ้ามาได้แล้ว
ทนายแผ่นดิน : เมื่อถามว่าในหนังสือหลวงวิชิตสารศาสตร์ไม่สั่งให้ไปต่อสู้กับฝรั่งเศสหรือไม่นั้น พยานรับว่าเปล่า
ศาล : สั่งคำนี้ไม่ได้ยิน พยานปฏิเสธดังนั้น เป็นแต่พระยอดฯ พูดชี้แจงวนเวียนตามข้อความที่ได้จดไว้แล้วนั้น ถ้าทนายแผ่นดินสงสัย ก็ให้ถามใหม่ในความข้อนี้
ทนายแผ่นดิน : ในหนังสือฉบับนั้น ได้สั่งให้ท่านต่อสู้ฝรั่งเศสหรือเปล่า
พระยอดฯ : หนังสือฉบับไหนข้าพเจ้าไม่ทราบ เป็นแต่นายทุ้ย นายแปลกแจ้งความว่า ถ้าข้าพเจ้าออกจากที่คุมขังได้แล้ว ให้ช่วยกันคิดอ่านทำให้ฝรั่งเศสถอยออกไปให้พ้นพระราชอาณาเขตจงได้
ทนายแผ่นดิน : นายทุ้ยนายแปลก เวลาบอกกับท่านจะให้ไล่พวกฝรั่งเศสออกไปให้พ้นพระราชอาณาเขตสยาม แล้วบอกท่านอะไรบ้างหรือเปล่า ถ้าฝรั่งเศสไม่ออกไป
พระยอดฯ : นายทุ้ยแปลกแจ้งความว่า ถ้าข้าพเจ้าออกจากที่คุมขังของฝรั่งได้แล้ว หลวงวิชิตสารศาสตร์ก็ให้ช่วยกันคิดอ่านให้ฝรั่งเศส ออกไปให้พ้นพระราชอาณาเขตให้จงได้
ทนายแผ่นดิน : ถ้าเขาไม่ไป ท่านจะทำอะไรกับเขาบ้าง
พระยอดฯ : ความข้อนี้แล้วแต่ปัญญาข้าพเจ้าจะรับใช้ราชการ
ทนายแผ่นดิน : เวลาเกิดรบกันแล้ว ท่านได้ทำหนังสือรีปอร์ต ยื่นให้ใครบ้างหรือเปล่า
พระยอดฯ : เวลาข้าพเจ้ามาถึงเวียงกระแสนแล้ว ข้าพเจ้าได้ล่องลงมาหาหลวงวิชิตสารศาสตร์ ได้แจ้งข้อราชการแก่หลวงวิชิตสารศาสตร์
ทนายแผ่นดิน : เป็นอันเข้าใจว่า ท่านไม่ได้ทำรายงานหรือรีปอร์ตให้ใครบ้างหรือเปล่า
พระยอดฯ : ความข้อนี้ เมื่อข้าพเจ้าแจ้งความแก่หลวงวิชิตสารศาสตร์แล้ว ต่อมานั้นมีราชการขึ้น ข้าพเจ้าได้มีหนังสือแจ้งข้อราชการต่าง ๆ ส่งมาอีกทีหลัง
ทนายแผ่นดิน : ในข้อรายงานที่รบกัน ท่านไม่ได้ทำส่งเลยทีเดียวหรือ
พระยอดฯ : รบกันแล้ว ข้าพเจ้าก็แจ้งความกับหลวงวิชิตสารศาสตร์ ๆ ก็บอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ทนายแผ่นดิน : ได้บอกหลวงวิชิตสารศาสตร์หรือเปล่าคนไทยตายกี่คน เจ็บกี่คน คนญวนตายกี่คน เจ็บกี่คน
พระยอดฯ : เมื่อเวลาแจ้งความหลวงวิชิตสารศาสตร์นั้น คนที่ข้าพเจ้าให้ไปสืบ และฝังศพยังไม่มาถึง ข้าพเจ้าแจ้งความแต่คนไทยที่ตาย
ทนายแผ่นดิน : หนังสือของท่านที่มีไปจากเมืองคำม่วน ถึงนายร้อยโทที่เมืองท่าอุเทน ท่านบอกหรือเปล่าว่า ฝรั่งเศสริบเอาข้าวของหมดแล้ว
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าได้มีชี้แจงไปว่า ฝรั่งเศสขับไล่เสียและริบเอาสิ่งของ
ทนายแผ่นดิน : ท่านรู้หรือไม่ว่า เมื่อเวลามาถึงแก่งเจ๊กแล้วของที่ฝรั่งเศสริบเอามา มองสิเออร์กรอสกุรังไม่ได้เอามา
พระยอดฯ : ความข้อนี้ จะเอามาหรือไม่เอามา ข้าพเจ้าไม่ทราบ
ทนายแผ่นดิน : มาตามหนทาง สิ่งของ ๆ ท่าน ๆ ไม่เห็นเลยหรือ
พระยอดฯ : เมื่อข้าพเจ้าเดินมานั้น พวกข้าพเจ้าเดิน แต่พวกมองสิเออร์กรอสกุรังขึ้นช้าง ข้าวของบนช้างนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ
ทนายแผ่นดิน : เวลาขุนวังไปขอให้คืนเครื่องอาวุธ และสั่งให้ฝรั่งเศสถอยออกไปนั้นเป็นคำของท่านหรือ
พระยอดฯ : เป็นคำของหลวงวิชิตสารศาสตร์ สั่งนายทุ้ยนายแปลกบอกข้าพเจ้า ๆ สั่งขุนวังไปอีกที
ศาล : (ถามทนายจำเลย) นอกจากหนังสือที่อ้างเอามาจากกระทรวงมหาดไทย กับต้นหนังสือถึงมองสิเออร์ลุสนั้น ฝ่ายจำเลยจะอ้างหนังสืออะไรอีกหรือไม่
ทนายจำเลย : ขอผัดตริตรองจนเวลาพรุ่งนี้ก่อน
คำให้การ
หลวงอนุรักษ์
พยานจำเลยคนที่ ๒
หลวงอนุรักษ์พยานจำเลย (สาบานตัวแล้วให้การ) ข้าพเจ้าเป็นที่หลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยเมืองนครสวรรค์ ข้าพเจ้าขึ้นไปรับราชการกับพระยอดเมืองขวาง พร้อมกันกับพระยอดเมืองขวาง ข้าพเจ้าเป็นผู้ช่วยราชการอยู่ในพระยอดเมืองขวาง ที่เมืองคำเกิดคำม่วน เดิมฝรั่งเศส ๔ คน กับทหารญวนประมาณ ๕๐ เศษ ยกเข้ามาในเมืองคำม่วนไปพักอยู่ที่เรือนเจ้าราชวงศ์เมืองคำม่วน แล้วรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งมาบอกกับพระยอดฯ ว่าเมืองคำเกิด คำม่วนนี้ เป็นเขตแดนของฝรั่งเศสแล้ว ให้พระยอดฯ พาทหารถอยกลับไปเสีย พระยอดฯ ไม่ยอมถอยกลับด้วยยังไม่ได้รับคำสั่ง ถ้ากลับไปก็กลัวความผิด พวกฝรั่งเศสว่า ถ้าไม่ถอยกลับจะจับพระยอดฯ ส่งไปเมืองญวน พระยอดฯ ว่าสุดแต่จะทำ แล้วฝรั่งเศสก็กลับไปจากค่าย รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พวกฝรั่งเศสยกธงฝรั่งเศสขึ้น ยิงปืน ๓ นัด ให้ทหารเข้าล้อมค่าย แล้วก็เข้าเก็บริบเอาเครื่องศาสตราวุธที่เรือนหน้าค่ายหมด พวกผู้หญิงผู้ชายเข้าค่ายไม่ทันฝรั่งเศสก็จับมัดไปไว้ที่พักฝรั่งเศส
ศาล : พวกไทยได้ตระเตรียมต่อสู้หรือ
หลวงอนุรักษ์ : ไม่ได้ตระเตรียมต่อสู้
ศาล : ทำไมไม่เตรียมต่อสู้
หลวงอนุรักษ์ : ยังไม่ได้รับคำสั่ง (แล้วให้การต่อไปว่า) ภายหลังพวกฝรั่งเศสที่ค่ายขนองม้ายกเพิ่มเติมเข้ามาอีก
ศาล : ยกเข้ามาอีกเท่าไร
หลวงอนุรักษ์ : ประมาณทั้งเก่าใหม่สัก ๒๐๐ - ๓๐๐ คน ในเวลาอยู่ในที่ล้อมนั้น เสบียงอาหารนอกค่าย พวกไทยจะออกมาเอาก็ไม่ให้ หรือจะไปหาน้ำกิน พวกฝรั่งเศสก็ไม่ออกไป เวลานั้นเผอิญเป็นเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกแผ่ไปจึงให้ฝนตกลงมาจึงได้รองน้ำฝนกิน และพากันรอดชีวิตมาจนเดี๋ยวนี้ แล้วพวกทหารฝรั่งเศสก็เข้าไปในค่าย ช่วยกันฉุดลากพระยอดเมืองขวางออกมา เอาหอกปลายปืนแทงหลังพระยอดฯ ออกมาด้วย แต่คนอื่นทั้งหญิงทั้งชายนั้น ฝรั่งเศสก็ให้ทหารล้อมไล่ออกมา แล้วเก็บริบเอาทรัพย์สิ่งของและเครื่องศาสตราวุธไปหมด แล้วฝรั่งเศสเอาพระยอดฯ กับพรรคพวกด้วยกันมาไว้ที่ฉางข้าว เมื่อเวลาอยู่ที่ฉางข้าวนั้น ฝรั่งเศสให้ทหารญวนคอยระวังรักษาอยู่เสมอ ไม่ให้ไปซื้อของกิน
อยู่มาประมาณสองวัน พระยอดฯ ทำหนังสือมอบอายัดฉบับหนึ่ง ให้ข้าพเจ้ากับพระพิทักษ์กรมการเมืองท่าอุเทน นำไปให้มองสิเออร์ลุส ๆ ให้ล่ามอ่านแปลให้ฟังแล้วก็นิ่งอยู่ รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งฝรั่งเศสให้พวกทหารคุมพระยอดฯ กับพวกข้าพเจ้าเป็นตอน ๆ ออกเดินจากเมืองคำม่วน ครั้นมาถึงน้ำเทิม พวกฝรั่งเศสไปก่อน แล้วให้พวกทหารเดินคุมพวกพระยอดฯ เป็นตอน ๆ กันไป เดินมาได้ ๓ - ๔ วันก็มาถึงบ้านนาหลักหิน ทหารญวนยังคอยคุมพวกพระยอดฯ อยู่ แต่ในเวลาคืนวันนั้นพวกฝรั่งเศสเข้าไปนอนในบ้านราษฎร ให้พวกพระยอดฯ ยืนอยู่ข้างนาริมบ้าน ครั้นเวลารุ่งเช้าฝรั่งเศสกับบุนจันล่ามเขมรมาบอกพระยอดฯ ว่า เขาจะยกไปก่อน ให้พระยอดฯ ตามไปทีหลัง พระยอดฯ ถามว่าจะไปพักที่ไหน บุนจันบอกว่า จะไปพักที่ทำเนียบ แล้วพวกฝรั่งเศสก็ออกเดิน ทหารไปหมดไม่มีทหารอยู่คอยคุมพวกพระยอดฯ อีกต่อไป แล้วพระยอดฯ ก็พาพรรคพวกมาพักทำเนียบเก่าที่บ้านแก่งเล็ก รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ไปอาบน้ำ พบบุนจันจะมาหาพระยอดฯ ครั้นข้าพเจ้าอาบน้ำมาแล้ว พระยอดฯ บอกว่า บุนจันมาหาแล้วว่าเหตุใดจึงมาพักที่นี่ พระยอดฯ จึงตอบว่า ท่านพักอยู่ที่ทำเนียบแล้ว ข้าพเจ้าก็มาพักอยู่ที่นี่ บุนจันพูดในวันนั้นแล้วก็ไป
ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง เวลาเช้า ฝรั่งผู้ที่ตามมาเมื่อภายหลังคนหนึ่ง กับทหารญวนประมาณ ๙ คน ๑๐ คน กับบุนจันมาหาพระยอดฯ ถือปืนมาพร้อมกัน พระยอดฯ ถามว่ามาธุระอะไร บุนจันบอกว่าประเดี๋ยวจึงรู้ แล้วบุนจันถามว่า ตัวข้าพเจ้าอยู่ไหน พระยอดฯ บอกว่าข้าพเจ้านั่งอยู่นั้น แล้วบุนจันว่าตัวข้าพเจ้าเป็นคนไม่ดี แล้วฝรั่งเศสคนนั้นกับบุนจัน ส่งภาษากับทหารญวน ๆ ก็วิ่งกรูกันจับตัวข้าพเจ้า ขณะนั้นข้าพเจ้านั่งอยู่ ครั้นข้าพเจ้าลุกขึ้น พวกทหารญวนก็เตะข้าพเจ้าล้มลง เอาเท้าเหยียบตัวข้าพเจ้าไว้บ้าง แล้วเอาเชือกมัดมือข้าพเจ้าไป ขณะนั้นข้าพเจ้าเห็นฝรั่งยึดมือข้าพเจ้าไว้ไม่ทราบว่าเรื่องอะไรกัน เมื่อข้าพเจ้าเดินลงเรือนั้น ข้าพเจ้าเดินไม่ใคร์ไหว เพราะเท้าเปื่อยอยู่ด้วยเดินทางมาพวกทหารญวนก็ผลักไสให้ข้าพเจ้าเดินไปเร็ว ๆ แล้วเอาตัวข้าพเจ้ามาไว้ที่พักของพวกฝรั่งเศส ในเวลานั้นฝรั่งเศสเอาข้าพเจ้าขังไว้ในห้อง มีทหารอยู่ ๔ คนคุมอยู่ เวลาข้าพเจ้านอน ทหารก็เข้ายืนคร่อมข้าพเจ้าอยู่คนหนึ่งเสมอ ในเวลานั้นข้าพเจ้าได้ยินเสียงขุนวังไปพูดขอตัวข้าพเจ้าจะพูดว่ากระไรไม่ใคร่ได้ยิน ข้าพเจ้าได้ยินแต่ว่า ไม่ส่งตัวข้าพเจ้าให้ไป เวลานั้นท้าวเพี้ยมาหาฝรั่ง ๆ ว่าถ้ามีผู้ใดมาแย่งตัวข้าพเจ้าแล้ว ฝรั่งจะยิงพระยอดฯ กับข้าพเจ้าเสียให้ตาย แล้วฝรั่งชี้มือมาที่ข้าพเจ้าให้ท้าวเพี้ยดู แล้วว่าอย่ากลัวไทยเลย จับมาไว้คนหนึ่งนั้น และแล้วว่าข้าพเจ้าเป็นคนผิดมาก อยู่ในเรือนเหมือนคุก เวลานั้นข้าพเจ้าเห็นฝรั่งเศสมีหนังสือไปที่ค่ายขนองม้า ข้าพเจ้าได้ยินล่ามบุนจันล่ามเขมรสั่งคนลาวว่า ให้ไปเอาเงินค่าจ้างที่เมืองคำม่วน แล้วได้บอกให้รีบยกทหารมาแก่งเจ๊กอีกเร็ว ๆ เมื่อเวลาต้องขังอยู่นั้น ถ้าข้าพเจ้าจะไปถ่ายอุจจาระ หรืออาบน้ำก็ต้องมีทหารคุมข้าพเจ้า ๔ คน ถือปืนบรรจุเดินล้อมหน้าล้อมหลังไปเสมอทุกครั้ง อยู่มาอีก ๓ หรือ ๔ วันไม่ทราบแน่ แต่เป็นวันที่วิวาทกันนั้น ท้าวเพี้ยมากระซิบบอกข้าพเจ้าว่า ฝรั่งเศสคุมทหารมานอนที่ลากมอง กำหนดจะมาถึงบ้านแก่งเจ๊กในเวลาวันนี้แล้ว ข้าพเจ้าเห็นฝรั่งเศสเขียนหนังสือให้ลาวชาวบ้านถือไป แล้วสั่งว่า ถ้าพบทหารฝรั่งเศสที่ไหนจงให้หนังสือที่ฉันให้เร่งมา เร่งมาไว ๆ ครั้นเวลาประมาณโมงหนึ่งหรือสองโมง จำไม่แน่ พวกพระยอดฯ ก็มาถึง ข้าพเจ้าได้ยินเสียงเกรียวกราวนั้น พวกทหารญวนก็ส่งภาษาเรียกกันมายืนเข้าแถวอยู่หน้าบันไดเรือน ขณะนั้นข้าพเจ้าก็วิ่งออกมาจากห้อง มายืนอยู่ที่หัวบันไดเรือน ฝรั่งเศสก็มายืนอยู่ด้วย ทันใดนั้นข้าพเจ้าเห็นบุนจันล่ามเขมร ยืนอยู่ที่ตีนบันไดที่พื้นดิน ขุนวังก็เข้ามาพูดกับบุนจันล่ามเขมร ขุนวังบอกบุนจันล่ามเขมรให้บอกฝรั่งว่า ให้ส่งตัวข้าพเจ้าคืนไป ฝรั่งเศสตอบว่าไม่มีอำนาจจะส่งตัวข้าพเจ้าได้ ขุนวังก็อ้อนวอนอยู่หลายครั้ง ฝรั่งเศสก็ไม่ยอม แล้วขุนวังก็ขอเครื่องศาสตราวุธคืน กับให้ฝรั่งเศสออกไปนอกอาณาเขต
ฝรั่งเศสไม่ยอมส่งเครื่องศาสตราวุธคืนให้ และไม่ยอมไปจากพระราชอาณาเขต ทันใดนั้นพระยอดเมืองขวาง จึงเรียกตัวข้าพเจ้าให้ลงไปหา บุนจันล่ามเขมรก็หันไปพูดกับฝรั่งเศส ๆ ก็คว้ามือข้าพเจ้าไว้ แล้วฝรั่งเศสจึงเรียกนายทหารญวนคนหนึ่งชื่อองกายใส่เสื้อมีบั้งทองที่แขนขึ้นไปบนเรือนแล้ว ฝรั่งเศสก็ส่งภาษากับองกาย แล้วชี้มือมาที่ข้าพเจ้า ขณะนั้นบุนจันล่ามเขมรก็ขึ้นมาอยู่ด้วย แล้วองกายก็วิ่งไปปลดปืนที่แขวนไว้ที่มุมเรือน ครั้นปลดปืนได้แล้ว ก็วิ่งเข้าไปในห้อง ทันใดนั้นฝรั่งก็จูงมือข้าพเจ้าเข้าไปในห้อง แต่บุนจันล่ามเขมรสวนทางเข้าไปในห้องแล้ว พอฝรั่งเศสเข้าลับประตู ข้าพเจ้าก็สะบัดมือหลุด กระโดดเรือนหนีมา เมื่อเวลากระโดดลงมานั้น ข้าพเจ้ามองดูในห้อง เห็นองกายกำลังยัดปืนอยู่ ข้าพเจ้าจึงสะบัดมือจากฝรั่งเศสกระโดดลงเรือนมา ขณะข้าพเจ้ากระโดดลงมานั้น เสียงปืนยิงออกมาจากในเรือนตามมาทันที ลูกปืนถูกชาวโคราชซึ่งยืนอยู่ตายคนหนึ่ง แล้วข้าพเจ้าได้ยินเสียงปืนซ้ำตามมาข้างหลังข้าพเจ้า ๒ ที ๓ ทีจำไม่ได้ ขณะนั้นกำลังชุลมุนกัน ข้าพเจ้าได้ยินเสียงพระยอดเมืองขวางหรือนายทุ้ย นายแปลก ร้องห้ามไปว่าหยุดยิงก่อน ค่อยพูดจากัน คนก็กำลังปั่นป่วนต่างคนต่างก็ยิงโต้ตอบกัน ข้าพเจ้าฟังไม่ถนัด รีบวิ่งมาหาพระยอดเมืองขวาง ภายหลังเมื่อรบกันแล้ว ข้าพเจ้ารู้ว่าขุนวังตายคนหนึ่ง ทหารตาย ๕ คน เจ็บป่วยหลายคน เมื่อรบกันนั้นข้าพเจ้าเห็นไฟลุกขึ้นที่หลังเรือน ครั้นไฟไหม้มากขึ้น บุนจันล่ามเขมรก็ลงมาจากเรือนร้องให้ข้าพเจ้าช่วยชีวิตไว้ด้วยเถิด ข้าพเจ้าก็พาบุนจันล่ามเขมรมาหาพระยอดเมืองขวาง แล้วข้าพเจ้ากับพระยอดเมืองขวาง และพรรคพวกก็ลงเรือมาลำเดียวกัน แต่ตัวบุนจันล่ามเขมรนั้น พระยอดเมืองขวางมอบให้ท้าวเพี้ยคนหนึ่ง คุมลงเรือมาลำหนึ่ง
ศาล : เมื่อเวลารบกันนั้นท่านเห็นพวกไทยขึ้นไปเอาสิ่งของบ้างหรือไม่
หลวงอนุรักษ์ : ข้าพเจ้าไม่เห็น เมื่อเวลาบุนจันล่ามเขมรลงมานั้นไฟไหม้ลุกลามขึ้นมากแล้ว
ศาล : เมื่อหยุดรบกันแล้ว พวกไทยได้ตรวจตราดูว่า ฝรั่งเศสและทหารญวนเจ็บป่วยตายกี่คน หรือไม่ได้ตรวจ
หลวงอนุรักษ์ : ในเวลาวันนั้น เมื่อหยุดรบกันแล้ว ไม่ได้ไปตรวจตราดู
ศาล : ขณะเมื่อลงจากเรือจะกลับนั้น ไฟยังไหม้เรือนอยู่หรือ
หลวงอนุรักษ์ : ยังไหม้อยู่
วันที่ ๖ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒ เวลาเช้า ๔ โมง หลวงอนุรักษ์ พยานจำเลยให้การต่อไปดังนี้
ทนายจำเลย : เมื่อพระยอดฯ เป็นข้าหลวงอยู่เมืองคำเกิดคำม่วนนั้น ท่านรู้หรือไม่ว่าราษฎรเกลียดชังพระยอดฯ
หลวงอนุรักษ์ : พวกราษฎรไม่ได้เกลียดชังพระยอดฯ เลย เมื่อพระยอดฯ ออกจากเมืองคำม่วนนั้น พวกท้าวเพี้ยและราษฎรพากันร้องไห้รักแทบทุกตัวคน
ทนายจำเลย : เมื่อพระยอดฯ มาอยู่ในที่ขังที่ฉางนั้น พระยอดฯ ได้สัญญาจะไม่หนี และไม่สู้รบฝรั่งเศสหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ไม่ได้สัญญาอย่างใดเลย
ทนายจำเลย : พระยอดฯ หรือตัวท่านได้ขอให้ฝรั่งเศสให้ทหารมาส่งช่วยป้องกันตามทางจนถึงแก่งเจ๊ก
หลวงอนุรักษ์ : ไม่ได้ขอทหารฝรั่งเศสมาช่วยป้องกัน
ทนายจำเลย : เมื่อวานนี้ท่านให้การว่า ไม่ได้เตรียมการสู้รบฝรั่งเศส ท่านตอบว่ายังไม่ได้รับคำสั่ง ท่านเข้าใจอย่างไร
หลวงอนุรักษ์ : ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ข้าพเจ้าไม่ได้รับคำสั่งของพระยอดฯ ให้เตรียมการต่อสู้ แต่พระยอดฯ ได้รับคำสั่งไว้ว่า ไม่ให้ฝรั่งล่วงเลยเข้ามาได้ แต่เวลานั้นกำลังของพระยอดฯ จะสู้ฝรั่งเศสยังไม่ได้ จึงได้ปรึกษาหารือกับข้าพเจ้าว่า ครั้นจะต่อสู้กับฝรั่งเศสเล่าก็คงสู้ไม่ได้ ยอมให้ฝรั่งเศสทำไปก่อน
ทนายจำเลย : เมื่อท่านต้องขังอยู่ที่เรือนพักของมองสิเออร์กรอสกุรังนั้น ท่านเห็นมองสิเออร์กรอสกุรังเจ็บมากหรือ
หลวงอนุรักษ์ : มองสิเออร์กรอสกุรังเจ็บมากหรือน้อยอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่เห็นมองสิเออร์กรอสกุรังเดินเข้าออกไปมาได้ และสั่งการงานแก่ทหารให้คอยระวังดูแล
ทนายแผ่นดิน : ท่านกับพระยอดฯ รับราชการอยู่ด้วยกันที่เมืองนครสวรรค์ก่อนหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ข้าพเจ้ากับพระยอดฯ ได้รับราชการด้วยกันที่เมืองนครสวรรค์มาแต่เดิม
ทนายแผ่นดิน : เมื่อขึ้นไปอยู่เมืองคำม่วนนั้น พระยอดฯ จะทำการสิ่งใดก็ปรึกษาหารือท่านหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ปรึกษา
ทนายแผ่นดิน : ใครเป็นผู้ถือหนังสือบอกของพระยอดฯ มายังข้าหลวงเมืองท่าอุเทน
หลวงอนุรักษ์ : ความข้อนี้ช้านานมาแล้วจำไม่ได้ บางทีก็ให้ท้าวเพี้ยถือมาบ้าง ทหารมาบ้าง บางทีก็ให้คนสำหรับเดินหนังสือมาบ้าง
ทนายแผ่นดิน : หนังสือบอกที่สุด ที่พระยอดฯ เขียนเมื่อต้องขังอยู่ที่ฉางข้าวนั้น ใครถือมา
หลวงอนุรักษ์ : ข้าพเจ้าไม่ทราบ จำไม่ได้ เพราะท้าวเพี้ยเมืองอุเทนก็อยู่ที่นั่นด้วย
ทนายแผ่นดิน : จำวันได้หรือไม่
หลวงอนุรักษ์ : ไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : ท่านว่าฝรั่งเศสห้ามไม่ให้พวกพระยอดฯ ไปเที่ยวซื้ออาหารของกิน แล้วทำไมคนจึงถือหนังสือไปได้เล่า
หลวงอนุรักษ์ : ไม่ทราบ คนเดินหนังสือจะไปกลางคืนหรืออย่างไร ฝรั่งเศสจะรู้หรือไม่นั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ
ทนายแผ่นดิน : ท่านได้เอาหนังสือของพระยอดฯ มอบอายัดเมืองไปให้แก่ฝรั่งเศสมิใช่หรือ
หลวงอนุรักษ์ : ข้าพเจ้าถือไปให้ฝรั่งเศส
ทนายแผ่นดิน : ท่านรู้ความในหนังสือตลอดหรือ
หลวงอนุรักษ์ : นานมาแล้วจำไม่ได้ แต่เข้าใจว่า พระยอดฯ ไม่ได้ยกเมืองคำเกิดคำม่วนให้แก่ฝรั่งเศส และในท้ายหนังสือนั้น มีว่าถ้าข้าราชการไทยได้มีคำสั่งขึ้นไปเมื่อไร พระยอดฯ ก็จะจัดการต่อไป
ทนายแผ่นดิน : ตามความในหนังสือนั้น ต้องเข้าใจว่าพระยอดฯ จะไม่ทำร้ายแก่ฝรั่งเศสไม่ใช่หรือ
หลวงอนุรักษ์ : ไม่ทราบ เมื่อได้รับคำสั่งมาแล้ว ก็จะจัดการต่อไป
ทนายแผ่นดิน : ท่านให้การว่า พระยอดฯ ได้หารือกับท่านว่าสู้ฝรั่งเศสไม่ได้ ต้องยกให้ ท่านว่าดังนั้น ไม่ใช่หรือ
หลวงอนุรักษ์ : ข้าพเจ้าไม่ได้ว่าดังนั้น เป็นแต่มอบเมืองให้แต่ไม่ได้มอบให้สูญ
ทนายแผ่นดิน : เมื่อพระยอดฯ จะออกจากเมืองคำม่วนนั้น มีราษฎรมาส่งบ้างหรือเปล่า
หลวงอนุรักษ์ : ก็มีมาบ้าง ราษฎรแทบทุกคน ที่ร้องไห้ก็มีเมื่อเดินหลีกมาหน้าบ้าน
ทนายแผ่นดิน : เมื่อกี้ ท่านให้การว่า เมื่อจะออกจากเมืองคำม่วนนั้น ราษฎรร้องไห้ทุกคนนั้น ท่านเข้าใจอย่างไร
หลวงอนุรักษ์ : ร้องไห้รักพระยอดฯ
ทนายแผ่นดิน : ทุกคนหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ข้าพเจ้าไม่ได้ว่าทุกคน ข้าพเจ้าว่าแทบทุกตัวตน
ทนายแผ่นดิน : ในหนังสือมอบอายัดเมืองนั้นมีว่า กว่าจะมีคำสั่งมาประการใดแล้ว ว่าจะจัดการต่อไป ท่านเข้าใจว่า เมื่อพระยอดฯ ได้รับคำสั่งมาแล้ว ก็จะทำตามคำสั่ง
หลวงอนุรักษ์ : เช่นนั้น
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านมาอยู่ที่เรือนมองสิเออร์กรอสกุรังนั้น ท่านว่ามีทหารสี่คนคุมท่านอยู่เสมอหรือ
หลวงอนุรักษ์ : เสมอ
ทนายแผ่นดิน : ท่านอยู่ที่เรือนมองสิเออร์กรอสกุรังมากี่วัน
หลวงอนุรักษ์ : จะเป็นสามหรือสี่วันก็จำไม่ได้แน่ กาลนานมาแล้ว
ทนายแผ่นดิน : มีที่ขังหรือ
หลวงอนุรักษ์ : มี
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านอยู่ในระหว่างขังสามสี่วันนั้น ท่านว่าท่านจะไปไหนก็มีคนคุมเสมอไม่ใช่หรือ
หลวงอนุรักษ์ : มีคนคุมเสมอ
ทนายแผ่นดิน : ตลอดทีเดียวหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ตลอดทีเดียว ถือปืนคุมเสมอมิได้ห่าง
ทนายแผ่นดิน : ชั้นแต่ท่านจะนอน ก็มีทหารยืนคร่อมท่านอยู่หรือ
หลวงอนุรักษ์ : มี
ทนายแผ่นดิน : ถือปืนหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ถือปืน
ทนายแผ่นดิน : บนเรือนมีทหารกี่คน นอกจากคนที่คุมท่าน
หลวงอนุรักษ์ : จะกำหนดแน่ไม่ได้ บางทีมานอนอยู่ก็มี มานั่งอยู่ก็มีหลายคน ข้าพเจ้านับไม่หมด
ทนายแผ่นดิน : ที่ ๆ ท่านอยู่ในเรือนนั้นเป็นอย่างไร เป็นห้องหรือเป็นอย่างไร
หลวงอนุรักษ์ : อยู่หน้าประตู อยู่ในประตูบ้างเสมอ ๆ บางทีก็ออกมาอยู่นอกประตู
ทนายแผ่นดิน : ในวันที่ท่านถูกจับมาแล้ว เวลาบ่ายพระยอดฯ ให้คนไปขอท่านหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ไป
ทนายแผ่นดิน : ท่านว่าท่านได้ยินเสียงเขาไปขอหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ข้าพเจ้าได้ยิน แต่ความว่ากระไรนั้นไม่ได้ยินถนัด แล้วได้ยินว่าไม่ให้
ทนายแผ่นดิน : เสียงคนที่ไปขอนั้น คนเดียวหรือหลายคน
หลวงอนุรักษ์ : ข้าพเจ้าได้ยินเสียงขุนวัง
ทนายแผ่นดิน : คนเดียวหรือ
หลวงอนุรักษ์ : คนเดียวหรือหลายคนนั้นข้าพเจ้าไม่เห็น
ทนายแผ่นดิน : รุ่งขึ้นอีกกี่วัน พระยอดฯ จึงได้ไป
หลวงอนุรักษ์ : จะเป็นกี่วันข้าพเจ้าไม่ทราบ สามวันหรือสี่วันก็จำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อพระยอดฯ ไปถึงบ้านมองสิเออร์กรอสกุรังนั้น เวลากี่โมง
หลวงอนุรักษ์ : จะเป็นบ่ายโมงหรือบ่ายโมงเศษก็จำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อไปถึงนั้น เสียงเกรียวกราวขึ้นหรือ
หลวงอนุรักษ์ : เสียงคนพูดกัน แล้วข้าพเจ้าได้ยินเขาเรียกทหารญวนกัน
ทนายแผ่นดิน : แล้วทหารญวนทั้งหลายทำกันอย่างไร
หลวงอนุรักษ์ : เขาก็วิ่งมาเข้าแถวกัน ทหารที่เฝ้าข้าพเจ้าก็วิ่งออกมา ข้าพเจ้าก็วิ่งตามออกมาด้วย มองสิเออร์กรอสกุรังก็ออกมา
ทนายแผ่นดิน : มองสิเออร์กรอสกุรังแต่งกายอย่างไร
หลวงอนุรักษ์ : เขาแต่งกายใส่เสื้อกางเกง
ทนายแผ่นดิน : เขานอนอยู่ไม่ใช่หรือ
หลวงอนุรักษ์ : เขาจะนอนหรือนั่งข้าพเจ้าไม่รู้ เห็นเขาออกมายืนอยู่ข้างนอก
ทนายแผ่นดิน : ทหารญวนซึ่งอยู่บนเรือนนั้นไปไหนหมด
หลวงอนุรักษ์ : เขาไปเข้าแถวข้างล่าง
ทนายแผ่นดิน : ขณะนั้นบุนจันล่ามอยู่ที่ไหน
หลวงอนุรักษ์ : อยู่ที่แผ่นดินเชิงบันได
ทนายแผ่นดิน : ทหารพระยอดฯ อยู่ห่างจากเรือนกี่วา
หลวงอนุรักษ์ : กี่วาก็จำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : ที่ทหารยืนกับที่ท่านยืนนั้น จำหน้ากันได้ไหม
หลวงอนุรักษ์ : แลเห็นกันใกล้ ๆ พูดกันได้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อพระยอดฯ กับท่านกลับไปค่ายนั้น เวลากี่โมง
หลวงอนุรักษ์ : เวลาเย็นจะเป็นกี่โมงข้าพเจ้าก็จำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : พระอาทิตย์ยังอยู่สูง ยังไม่ตกไม่ใช่หรือ
หลวงอนุรักษ์ : ยังไม่ตกดิน
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเวลาท่านกระโดดลงจากเรือนนั้น ท่านได้ยิน เสียงปืนมาข้างหลังหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ได้ยินมาจากบนเรือนข้างหลังข้าพเจ้า
ทนายแผ่นดิน : ขณะเมื่อท่านกระโดดลงไปนั้น บุนจันล่ามเขมรอยู่ที่ไหน
หลวงอนุรักษ์ : ขณะนั้นบุนจันล่ามเดินสวนเข้าห้องไปแล้ว
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านลงมาถึงดินแล้ว ใครต่อใครยิงกัน เล่าต่อไป
ทนายจำเลย : (คัดค้านขึ้น) ไม่ควรให้พยานเล่าเรื่อง ด้วยให้การไว้แล้ว เมื่อทนายแผ่นดินจะถามข้อใดก็ให้ถามไป (ศาลเห็นชอบด้วยกับคำคัดค้านนั้น)
ทนายแผ่นดิน : ข้างไหนยิงต่อไป เมื่อหนแรกยิงปืนมาแล้ว
หลวงอนุรักษ์ : พวกฝรั่งเศสที่บนเรือน หรือที่ดินก็ไม่ทราบได้ ยิงมาข้างหลังข้าพเจ้าอีกหลายที ข้าพเจ้ากำลังไปหาพระยอดฯ
ทนายแผ่นดิน : ทหารที่เข้าแถวอยู่หน้าบันไดนั้น ประมาณสักกี่มากน้อย
หลวงอนุรักษ์ : ประมาณ ๑๔ หรือ ๑๕ คนก็ไม่ทราบ ด้วยไม่ได้นับ มีอยู่ข้างหลังแถวด้วย
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านวิ่งไปถึงพระยอดฯ แล้ว เสียงปืนหนาขึ้นหรือ
หลวงอนุรักษ์ : หนาขึ้น
ทนายแผ่นดิน : ภายหลังทหารญวนไปไหนหมด
หลวงอนุรักษ์ : ไม่ทราบ จะตายอยู่ที่นั่นหรือไปไหนหมดก็ไม่ทราบ
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเวลานั้นไฟติดหรือยัง
หลวงอนุรักษ์ : เมื่อเวลากำลังยิงกันนั้น ไฟกำลังติดทีเดียว
ทนายแผ่นดิน : ติดข้างไหน
หลวงอนุรักษ์ : ติดข้างหลังเรือน
ทนายแผ่นดิน : ที่ทหารญวนยืนนั้นหรือ
หลวงอนุรักษ์ : ข้างหลังไปอีก
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเวลาไฟติดนั้น ทหารญวนอยู่ที่ไหน
หลวงอนุรักษ์ : เมื่อเวลาไฟติดนั้นทหารญวนกำลังรบ กำลังยิงกันอยู่
ทนายแผ่นดิน : เมื่อไฟไหม้ติดได้ครึ่งหลังแล้ว ทหารญวนอยู่ที่ไหน
หลวงอนุรักษ์ : ทหารญวนจะอยู่ที่ไหนอีกก็ไม่ทราบ ตายบ้าง เมื่อไฟไหม้เข้ามาได้ครึ่งค่อนหลังนั้น เกือบจะเลิกรบกันอยู่แล้ว
ทนายแผ่นดิน : ก่อนหน้าเวลานั้นนิดหนึ่ง ทหารไทยอยู่ที่ไหนบ้าง
หลวงอนุรักษ์ : เมื่อก่อนกำลังยิงกันอยู่ เขาจะอยู่ที่ไหนก็ไม่ได้ดู
ทนายแผ่นดิน : เวลานั้นท่านยืนอยู่กับพระยอดฯ ไม่ใช่หรือ
หลวงอนุรักษ์ : ยืนอยู่กับพระยอดฯ บ้าง ห่างกันบ้างเอานิยายไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : ท่านว่าเมื่อไฟไหม้ได้ครึ่งค่อนหลังนั้น ท่านเห็นทหารญวนอยู่บ้างนั้นประมาณสักกี่คน
หลวงอนุรักษ์ : สัก ๔ - ๕ คน
(พักพิจารณาเวลาเที่ยงวัน)
คำให้การ
นายร้อยตรีทุ้ย
พยานจำเลยคนที่
เวลาบ่าย ๑ โมง ศาลประชุมพิจารณาต่อไป
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าชื่อทุ้ยเป็นนายร้อยตรี ในกรมทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าได้ออกไปรับราชการในหัวเมืองลาวพวน กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ปี ร.ศ. ๑๑๒ ในเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ ข้าพเจ้าไปรักษาราชการที่เมืองท่าอุเทน ด้วยหลวงวิชิตสารศาสตร์ อยู่มาในเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ หลวงวิชิตสารศาสตร์ได้รับหนังสือบอกของพระยอดฯ ว่า ฝรั่งเศสได้เมืองคำม่วน แล้วจับตัวพระยอดฯ กับพรรคพวกไว้ จึงบังคับให้ข้าพเจ้ากับว่าที่นายร้อยตรีแปลกคุมทหาร ๕๐ คนเศษขึ้นไปขอตัวพระยอดฯ กับพรรคพวกจากฝรั่งเศส แล้วให้ขับไล่ฝรั่งเศสออกไปเสียให้พ้นจากพระราชอาณาเขตไทย ข้าพเจ้ากับว่าที่นายร้อยตรีแปลกคุมทหารออกจากเมืองท่าอุเทนไปทางเรือได้ ๒ คืน ถึงเวียงกระแสนพบพระยอดฯ กับพรรคพวกพักอยู่ที่ค่ายเวียงกระแสน ข้าพเจ้ากับว่าที่นายร้อยตรีแปลก ก็ไปหาพระยอดฯ ๆ แจ้งความว่าฝรั่งเศสคุมเอาพระยอดฯ กับพรรคพวกมาจากเมืองคำม่วนถึงบ้านแก่งเจ๊กอีก แล้วข้าพเจ้าแจ้งความแก่พระยอดฯ ว่าหลวงวิชิตสารศาสตร์มีคำสั่งมาว่า ให้ขอตัวพระยอดฯ และพรรคพวกพระยอดฯ จากฝรั่งเศส แล้วให้ขับไล่ฝรั่งเศสไปเสียให้พ้นจากพระราชอาณาเขตไทย บัดนี้ฝรั่งเศสจับเอาตัวหลวงอนุรักษ์ไว้ก็ต้องไปขอตัวคืนมาแล้วจะได้ขับไล่ฝรั่งเศสกลับไปเสีย ครั้นปรึกษาตกลงกันแล้ว ข้าพเจ้ากับว่าที่นายร้อยตรีแปลกกับพระยอดฯ ก็คุมทหารไปที่แก่งเจ๊ก ครั้นมาถึงทำเนียบเก่าที่บ้านแก่งเจ๊กแล้ว ข้าพเจ้ากับว่าที่นายร้อยตรีแปลกจึงถามพระยอดฯ ว่า จะให้ผู้ใดเข้าไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ต่อฝรั่งเศส พระยอดฯ ตอบว่า เห็นขุนวังก็เคยเข้าไปขอครั้งหนึ่งแล้ว ควรให้ขุนวังเข้าไปขอ ครั้นพูดกันตกลงแล้ว จึงให้ขุนวังเดินออกไปหน้า ข้าพเจ้ากับว่าที่นายร้อยตรีแปลกและพระยอดฯ กับทหารพากันเดินไปทีหลัง ครั้นมาใกล้ที่เรือนฝรั่งเศสพักอยู่แล้ว ขุนวังจึงเข้าไปพูดกับฝรั่ง แต่ข้าพเจ้าไม่ทันได้ยิน ข้าพเจ้าเห็นล่ามยืนอยู่ที่เชิงบันไดพื้นดิน พูดอยู่กับขุนวัง ฝรั่งเศสกับหลวงอนุรักษ์ยืนอยู่นอกชานหัวบันได แล้วขุนวังร้องบอกพระยอดฯ มาว่า เขาไม่ให้ตัวหลวงอนุรักษ์และไม่ถอยไปให้พ้นพระราชอาณาเขต เวลานั้นทหารญวนยืนอยู่หน้าบันได แถวหนึ่งประมาณ ๖ - ๗ คน อยู่บนเรือนบ้างสักกี่คนจำไม่ได้ แล้วพระยอดฯ จึงเรียกหลวงอนุรักษ์มาหาพระยอดฯ หลวงอนุรักษ์จะมา แต่ฝรั่งเศสจับมือหลวงอนุรักษ์ไว้จูงจะเอาเข้าห้อง ทันใดนั้นหลวงอนุรักษ์สะบัดมือหลุด ก็กระโดดออกจากเรือนมาหาพระยอดฯ ขณะนั้นปืนที่ยิงออกมาจากในเรือนตามหลวงอนุรักษ์มา แต่ลูกปืนหาถูกหลวงอนุรักษ์ไม่ มาถูกทหารชาวโคราชคนหนึ่งซึ่งอยู่ในกองข้าพเจ้าตาย แล้วมีปืนยิงออกมาจากเรือน ๒ นัด ถูกทหารชาวโคราชล้มลง ๒ คน ขณะนั้นพระ ยอดฯ กับข้าพเจ้าและนายแปลกได้ร้องห้ามไปว่าไม่ให้ยิงและหยุดพูดจากันก่อน พวกฝรั่งเศสก็ไม่ฟังกลับยิงมาอีกทั้งบนเรือนและข้างล่าง ถูกทหารไทยตายอีกสองสามคน ทันใดนั้นข้าพเจ้าว่ากับพระยอดฯ ว่าจะทำอย่างไร เขายิงมาถูกทหารไทยตายหลายคนแล้ว เห็นจะต้องยิงเสียบ้าง พระยอดฯ ก็ตกลงยอม ข้าพเจ้ากับว่าที่ร้อยตรีแปลกก็สั่งให้ทหารยิงตอบไป แล้วทหารไทยกับทหารญวนต่างก็ยิงโต้ตอบกัน ในเวลายิงอยู่นั้นมีไฟเกิดขึ้นข้างหลังเรือน แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเกิดขึ้นอย่างไร ครั้นไฟไหม้เรือนประมาณครึ่งหลังแล้วล่ามก็ลงมาจากเรือน ล่ามคนนี้ชื่อบุนจัน เพราะข้าพเจ้าได้ยินหลวงอนุรักษ์เรียกชื่อว่าบุนจัน ๆ จึงร้องเรียกให้หลวงอนุรักษ์ช่วย แล้วหลวงอนุรักษ์จูงมือบุนจันมายืนอยู่กับพระยอดฯ เมื่อบุนจันมาจากเรือนนั้นหยุดยิงกันแล้ว แต่ไฟยังกำลังไหม้เรือนมากขึ้น แล้วพระยอดฯ ให้คนไปเที่ยวหาขุนวังที่บันไดได้ศพขุนวังมา
ศาล : เมื่อเวลาคนไปหาศพขุนวังนั้น มีพวกไทยขึ้นไปบนเรือนบ้างหรือเปล่า
นายร้อยตรีทุ้ย : ไม่มีพวกไทยขึ้นไป เพราะไฟร้อนเหลือทนไฟกำลังไหม้แรงอยู่ ครั้นได้ศพขุนวังมาแล้วก็ได้ปืนกันชีพปลายดาบของทหารญวนที่นอนตายอยู่ที่พื้นดินนั้น ๔ กระบอก ๕ กระบอก แล้วพระยอดฯ ว่าที่นายร้อยตรีแปลก หลวงอนุรักษ์กับข้าพเจ้าก็พาทหารกับบุนจันล่ามกลับมาลงเรือมาค่ายเวียงกระแสน
ศาล : มาหมดด้วยกันทุกคน หรือยังมีพวกไทยเหลืออยู่ที่นั่น
นายร้อยตรีทุ้ย : กลับมาหมาด้วยกันทุกคน ไม่มีผู้ใดเหลืออยู่ที่นั่น
ศาล : ท่านรู้หรือไม่ว่า ทหารญวนที่จับได้นั้น จับกันมาอย่างไร
นายร้อยตรีทุ้ย : รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งจึงจับได้ ข้าพเจ้าได้ทราบว่า พระยอดฯ ให้คนคุมขึ้นไปดูว่าไทยและญวนจะตายข้างละกี่คน แล้วท้าวเพี้ยที่บ้านแก่งเจ๊กจับทหารญวนนี้มา แต่พวกทหารของข้าพเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย
ศาล : เมื่อรบกันแล้วท่านทราบหรือไม่ว่า ฝ่ายเราและฝ่ายฝรั่งเศสเจ็บและป่วยข้างละกี่คน
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้างฝรั่งเศสข้าพเจ้าไม่ทราบ รู้แต่ว่าข้างฝ่ายไทยตาย ๔ - ๕ คน
ทนายจำเลย : (ถามต่อ) เมื่อท่านมาจากเมืองท่าอุเทนนั้น หลวงวิชิตสารศาสตร์สั่งราชการต่อท่านด้วยปากเปล่า หรือเขียนเป็นหนังสือ
นายร้อยตรีทุ้ย : สั่งด้วยปากเปล่า
ทนายจำเลย : ครั้นมาภายหลังท่านได้ทราบคำสั่งอีกหรือ
นายร้อยตรีทุ้ย : เมื่อข้าพเจ้าออกจากเมืองท่าอุเทนแล้ว ข้าพเจ้าได้รับอีก
ทนายจำเลย : ท่านได้รับคำสั่งไว้อย่างไร
นายร้อยตรีทุ้ย : ท้าวเพี้ยที่เมืองอุเทน ลงเรือถือคำสั่งมาให้ข้าพเจ้า
ทนายจำเลย : คำสั่งที่ท้าวเพี้ยตามมาให้นั้น เป็นคำที่เขียนหรืออย่างไร
นายร้อยตรีทุ้ย : เขียนมาในหนังสือ
ทนายจำเลย : ท่านจะเอาหนังสือคำสั่งออกมาให้ศาลดูได้ไหม
นายร้อยตรีทุ้ย : ได้
พยานส่งหนังสือให้ศาล ศาลให้อ่านดูมีข้อความว่า “ให้นายร้อยตรีทุ้ยรีบไปให้ทันโดยเร็ว ถ้าพบที่ไหนให้ขับทหารญวนกลับไป ถ้าไม่กลับให้รบทีเดียว แล้วรีบไปตั้งมั่นที่แก่งเจ๊ก เอาพระยอดฯ ไว้ให้ได้ด้วย” (ศาลเรียกเอาหนังสือไว้หมายเลขที่ “พ”)
ทนายจำเลย : ท่านเข้าใจว่านี่เป็นคำสั่งของผู้ใด
นายร้อยตรีทุ้ย : คนผู้ถือหนังสือนี้ขึ้นไปบอกข้าพเจ้าว่า นี่เป็นคำสั่งของหลวงวิชิตสารศาสตร์ ข้าพเจ้าก็ได้เชื่อว่าเป็นคำสั่งของหลวงวิชิตสารศาสตร์
ทนายจำเลย : เมื่อแรกท่านไปใกล้เรือนนั้น ท่านว่าฝรั่งยืนอยู่ที่ระเบียงเรือน แน่หรือว่าเป็นฝรั่ง
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าเป็นชาวกรุงเทพฯ ก็เห็นว่าเขาเป็นฝรั่งจริง
ทนายจำเลย : เมื่อพวกฝรั่งเศสยิงปืนมาหลายนัดแล้ว ท่านกับว่าที่นายร้อยตรีแปลกได้สั่งให้ทหารยิงนั้น ท่านได้ยินพระยอดฯ สั่งด้วยหรือไม่
นายร้อยตรีทุ้ย : เมื่อข้าพเจ้ากับว่าที่นายร้อยตรีแปลกสั่งให้ทหารยิงนั้น ทหารก็ยิงทีเดียว เสียงปืนดังชุลมุนกันอยู่ พระยอดฯ จะได้สั่งหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าไม่ทันได้ยิน
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นฝรั่งยิงปืนบ้างหรือเปล่า
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าเห็นฝรั่งกับล่ามยิงออกมาทางหน้าต่าง
ทนายจำเลย : ล่ามผู้ยิงนั้น คือล่ามเขมรใช่หรือไม่
นายร้อยตรีทุ้ย : คือล่ามเขมรที่อยู่ด้วยฝรั่ง
ทนายจำเลย : เมื่อรบกันแล้ว ท่านได้เห็นพระยอดฯ กับพรรคพวกเก็บเอาสิ่งของอื่น ๆ นอกจากเครื่องศาสตราวุธบ้างหรือไม่
นายร้อยตรีทุ้ย : ไม่เห็นใครเก็บเอามาเลย
ทนายจำเลย : ถ้าหากพวกฝรั่งเศสและญวนคืนตัวหลวงอนุรักษ์ให้โดยดี ท่านกับว่าที่นายร้อยตรีแปลกจะทำอะไรกับพวกฝรั่งเศสอีกหรือไม่
นายร้อยตรีทุ้ย : ถ้าฝรั่งเศสปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์โดยดีแล้ว ข้าพเจ้ากับว่าที่นายร้อยตรีแปลก ก็ไม่มุ่งหมายจะทำอันตรายแก่พวกฝรั่งเศสเลย เป็นแต่จะขับไล่ให้ออกไปเสียจากพระราชอาณาเขตเท่านั้น
ทนายจำเลย : เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว ทำไมท่านจึงได้ยิงฝรั่งเศสในวันนั้นเล่า
นายร้อยตรีทุ้ย : จะให้ข้าพเจ้าทำอะไร พวกฝรั่งเศสยิงเอาทหารก่อน ตายไปหลายคนแล้ว พวกข้าพเจ้าก็ต้องยิงเสียบ้างเท่านั้น
ทนายจำเลย : หลวงวิชิตสารศาสตร์ได้สั่งมาว่ากระไร ถ้าว่าพระยอดฯ มาพ้นฝรั่งเศสแล้ว
นายร้อยตรีทุ้ย : หลวงวิชิตสารศาสตร์สั่งว่า ถ้าพระยอดฯ มาได้แล้ว ก็ให้ข้าพเจ้ากับว่าที่นายร้อยตรีแปลกคิดปรึกษาหารือกับพระยอดฯ ในการขับไล่ฝรั่งเศสให้ออกไปนอกพระราชอาณาเขต
(ทนายจำเลยไม่ติดใจถามต่อไป)
ทนายแผ่นดิน : ก่อนท่านออกจากเมืองท่าอุเทนนั้น หลวงวิชิตสารศาสตร์สั่งอะไรท่านบ้าง
นายร้อยตรีทุ้ย : สั่งข้าพเจ้าเหมือนที่ข้าพเจ้าให้การแล้ว คือให้ขอตัวพระยอดฯ กับพรรคพวก แล้วให้ขับไล่พวกฝรั่งเศสไปนอกพระราชอาณาเขต
ทนายแผ่นดิน : เวลานั้นไม่ได้บอกให้รบกับฝรั่งเศสเลยหรือ
นายร้อยตรีทุ้ย : เวลานั้นยังไม่ได้บอกให้รบ แต่สั่งให้ขอคนให้ได้ แล้วให้ถอยไปพ้นพระราชอาณาเขตให้ได้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านออกจากเมืองท่าอุเทนนั้น ท่านรู้ไหมว่าหนังสือของพระยอดฯ ถึงเมืองท่าอุเทนแล้ว
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าไม่ทราบ
ทนายแผ่นดิน : เมื่อกี้ท่านให้การว่า ท่านได้รับคำสั่งอีกเมื่อมาจากท่าอุเทน แล้วท่านรู้หรือว่าท่านได้รับคำสั่งจากใคร
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากหลวงวิชิตสารศาสตร์ ด้วยคนนำเอาคำสั่งไปให้ข้าพเจ้า
ทนายแผ่นดิน : หนังสือนั้นได้เซ็นหรือเปล่า
นายร้อยตรีทุ้ย : ไม่ได้เซ็น
ทนายแผ่นดิน : ถ้าไม่ได้เซ็นแล้ว ทำไมท่านจึงรู้ว่ามาจากหลวงวิชิตสารศาสตร์
นายร้อยตรีทุ้ย : เพราะคนถือหนังสือแจ้งความกับข้าพเจ้าว่า หลวงวิชิตสารศาสตร์ให้นำเอาคำสั่งนี้มาให้ข้าพเจ้า
ทนายแผ่นดิน : มีธรรมเนียมอยู่บ้างหรือว่า คำสั่งที่ไม่ได้เซ็นชื่อนี้ ท่านจะเชื่อฟัง
นายร้อยตรีทุ้ย : คนนำหนังสือแจ้งความว่าเป็นการเร็ว
ทนายแผ่นดิน : ในกฎหมายทหารมีไว้ไม่ใช่หรือว่า คำสั่งไม่มีลายเซ็นชื่อแล้วไม่ให้เชื่อคนถือหนังสือนั้น
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าไม่ทราบกฎหมายทหาร ด้วยข้าพเจ้าเป็นแต่ว่าที่นายร้อยตรี
ทนายแผ่นดิน : เวลาท่านพบกับพระยอดฯ ที่เวียงกระแสนแล้ว ท่านได้เอาหนังสือของหลวงวิชิตสารศาสตร์ให้พระยอดฯ หรือเปล่า
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าไม่ได้เอาให้ดู เป็นแต่พูดให้ฟัง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อพบพระยอดฯ แล้ว ท่านเข้าใจว่าท่านอยู่ภายใต้บังคับพระยอดฯ หรือพระยอดฯ อยู่ใต้บังคับบัญชาท่าน
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้ากับพระยอดฯ อยู่เสมอกัน
ทนายแผ่นดิน : ถ้าแม้นว่า เขาจะสั่งให้ท่านทำอะไร ท่านจะทำหรือไม่
นายร้อยตรีทุ้ย : ควรทำก็ทำ ไม่ควรทำก็ไม่ทำ
ทนายแผ่นดิน : ท่านได้สั่งให้ทหารยิงนั้น ท่านได้ปรึกษากับพระยอดฯ หรือเปล่า
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าได้ปรึกษา
ทนายแผ่นดิน : การที่สั่งให้ยิงนั้น พระยอดฯ เห็นด้วยหรือ
นายร้อยตรีทุ้ย : ตกลงกันแล้ว
ทนายแผ่นดิน : เวลาเขายิงมา ๓ นัดแล้ว ทหารเราได้ตาย พระยอดฯ ได้ห้ามให้ฝรั่งหยุดยิง เขาก็ไม่หยุด ยิงถูกพวกเราตายอีก ๒ คน ๓ คน เวลาท่านได้สั่งให้ทหารยิงหรือก่อนนั้น
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าไม่เข้าใจคำถาม
ทนายแผ่นดิน : พวกฝ่ายเราตายแล้วกี่คน ท่านจึงได้สั่งให้ทหารยิง
นายร้อยตรีทุ้ย : ตาย ๓ หรือ ๔ คนแล้ว ข้าพเจ้าไม่ทันสังเกต
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านไปถึงเวียงกระแสน ทำไมท่านไม่พักอยู่ ๒ - ๓ วันก่อน ท่านไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ทำไม
นายร้อยตรีทุ้ย : เป็นการด่วนการเร็ว
ทนายแผ่นดิน : ท่านได้เอาทหารซึ่งอยู่ใต้บังคับท่านไปหมดหรือเปล่า
นายร้อยตรีทุ้ย : ทหารที่ป่วยอยู่ก็ไม่ได้เอาไป ทหารที่ไม่ป่วยเอาไปหมด
ทนายแผ่นดิน : ก่อนเวลาท่านไปนั้นท่านได้เรียกทหารนับดูกี่คนหรือเปล่า
นายร้อยตรีทุ้ย : ไม่ได้เรียกเข้าแถว เพราะเมื่อข้าพเจ้ารับคำสั่งจากหลวงวิชิตสารศาสตร์นั้นก็รู้อยู่แล้วว่ามีทหารเท่าไร ป่วยเสียกี่คน ไม่ป่วยกี่คนก็รู้อยู่
ทนายแผ่นดิน : ที่ท่านรู้จำได้ว่ากี่คนไม่ป่วย
นายร้อยตรีทุ้ย : ที่ไม่ป่วย ๔๗ คน
ทนายแผ่นดิน : เมื่อไปขอตัวหลวงอนุรักษ์นั้น พระยอดฯ ได้เอาทหารของเขาไปบ้างหรือเปล่า
นายร้อยตรีทุ้ย : เอาไปแต่ไม่ใช่ทหาร ด้วยไม่มีเสื้อกางเกงหรือปืน มีแต่มีดเหน็บ
ทนายแผ่นดิน : พระยอดฯ เอาคนของเขาไปกี่คน
นายร้อยตรีทุ้ย : ประมาณ ๑๔ - ๑๕ คน
ทนายแผ่นดิน : เวลาท่านเห็นไฟไหม้นั้น ท่านเห็นช้างล่างก่อน หรือข้างบนก่อน
นายร้อยตรีทุ้ย : ไม่ใช่ข้างล่าง เห็นข้างหลังเรือน
ทนายแผ่นดิน : อ้ายที่ไฟไหม้นั้น ถ้าแม้นใครจะเอาไฟจุดข้างล่างจะจุดถึงหรือไม่
นายร้อยตรีทุ้ย : ไม่ถึง
ทนายแผ่นดิน : เวลานั้นท่านยืนอยู่ที่ไหน
นายร้อยตรีทุ้ย : ยืนอยู่หน้าบันไดในหมู่ใกล้เคียงกับพระยอดฯ (ชี้ลงในแผนที่)
ทนายแผ่นดิน : ท่านอยู่ทางหน้าเรือน เหตุใดท่านจึงจะแลเห็นได้ว่าไฟติดขึ้นที่หลังเรือนสูง คนจุดไม่ถึง
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าคะเนว่าจุดไม่ถึง เพราะหลังคาสูง
ทนายแผ่นดิน : ตั้งแต่หลวงอนุรักษ์กระโดดลงเรือนมาแล้ว ประมาณสักกี่นาที จึงหยุดยิงกัน
นายร้อยตรีทุ้ย : ประมาณราว ๑๕ หรือ ๒๐ นาที
ทนายแผ่นดิน : ตั้งแต่หลวงอนุรักษ์กระโดดเรือนมาแล้วอยู่สักกี่นาที ท่านจึงเห็นไฟไหม้
นายร้อยตรีทุ้ย : อีกสัก ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาที ไม่ได้สังเกตไว้
ทนายแผ่นดิน : ท่านอธิบายให้ศาลฟังได้หรือไม่ว่า ทำไมทหารฝรั่งเศสตายมาก ทหารไทยจึงตายน้อย
นายร้อยตรีทุ้ย : ทหารฝรั่งเศสน้อย ก็ตายมาก
ทนายแผ่นดิน : เวลาเลิกยิงกันแล้ว ท่านได้ยินพระยอดฯ สั่งให้เก็บอาวุธของพวกญวนหรือ
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าได้ยิน
ทนายแผ่นดิน : สั่งให้เก็บอาวุธสิ่งเดียว หรือให้เก็บของอื่นด้วย
นายร้อยตรีทุ้ย : ข้าพเจ้าได้ยินพระยอดฯ ส่งให้เก็บแต่อาวุธเท่านั้น ไม่ได้ยินสั่งให้เก็บของอื่นด้วย
ทนายแผ่นดิน : เวลาท่านพบกับพระยอดฯ ที่เวียงกระแสนนั้น พระยอดฯ บอกกับท่านหรือเปล่าว่า พระยอดฯ ได้ทำหนังสือมอบอายัดเมืองคำม่วนให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว
นายร้อยตรีทุ้ย : ไม่ได้บอกข้าพเจ้าแล้ว
(หมดเวลาราชการ ศาลหยุดพิจารณา)
วันที่ ๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒
ทนายจำเลยยื่นต้นหนังสือของหลวงวิชิตฯ ถึงพระยอดฯ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ ศาลสั่งให้อ่าน หมายเลขที่ (พ)
ทนายแผ่นดินขออ้างหนังสือของพระยอดฯ ถึงนายร้อยโทนายอ่ำ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒
ศาลสั่งให้อ่านหมายเลขที่ (พ) หมดแล้ว ว่าที่นายร้อยตรีแปลกให้การต่อไป
คำให้การ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก
พยานจำเลยคนที่ ๔
ทนายจำเลย : ชื่อของท่านและตำแหน่งอย่างไร
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ข้าพเจ้าชื่อแปลก ว่าที่นายร้อยตรี
ทนายจำเลย : เมื่อนายทุ้ยไปจากท่าเมืองอุเทนท่านไปด้วยหรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ไปด้วย
ทนายจำเลย : คำสั่งของหลวงวิชิตฯ ให้แก่นายร้อยตรีทุ้ยนั้น อย่างเดียวกันกับท่านได้งั้นหรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : เหมือนกัน
ทนายจำเลย : คำสั่งนั้นว่ากระไร
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : คำสั่งว่าฝรั่งเศสได้เมืองคำม่วนแล้วจับพระยอดฯ ไว้แล้วให้ขอตัวพระยอดฯ มา แล้วให้ไล่ฝรั่งเศสไปให้พ้นพระราชอาณาเขตไทย
ทนายจำเลย : เมื่อท่านไปถึงเรือนที่พักฝรั่งเศสที่บ้านแก่งเจ๊กเห็นฝรั่งอยู่ที่ไหน
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : อยู่บนเรือนที่หัวบันได
ทนายจำเลย : ใครยืนอยู่ด้วย
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ฝรั่งยืนอยู่ที่หัวบันได ริมฝาเรือน หลวงอนุรักษ์ยืนอยู่ที่หัวบันไดเรือน
ทนายจำเลย : ใครยืนอยู่ที่แผ่นดินริมบันได
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ล่ามยืนอยู่บนพื้นดิน ริมบันได ตรงกับหลังฝรั่ง ขุนวังยืนที่พื้นดินริมบันไดตรงกับหลวงอนุรักษ์
ทนายจำเลย : ท่านเห็นฝรั่งจับมือหลวงอนุรักษ์ แล้วหลวงอนุรักษ์สะบัดมือหลุดหนีมาหรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ข้าพเจ้าเห็น
ทนายจำเลย : เมื่อก่อนหลวงอนุรักษ์กระโดดเรือนมานั้นมีเสียงปืนยิงตามมาหรือยัง
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ก่อนหลวงอนุรักษ์กระโดดมานั้น ยังไม่มีเสียงปืนยิงออกมา เมื่อกระโดดมาแล้วจึงมีเสียงปืนยิงตามออกมา
ทนายจำเลย : เสียงปืนยิงมาจากไหน
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ยิงมาจากในเรือน
ทนายจำเลย : ปืนนัดนั้นถูกคนตายบ้างหรือเปล่า
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ถูกทหารชาวโคราชตายคนหนึ่ง
ทนายจำเลย : พวกทหารไทยได้ลงมือยิงปืนทันทีหรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ไม่ได้ยิง
ทนายจำเลย : ใครห้ามไม่ให้ยิง
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ข้าพเจ้ากับนายร้อยตรีทุ้ยกับพระยอดฯ ได้ร้องห้ามว่า อย่าเพิ่งยิงให้หยุดพูดกันก่อน พวกฝรั่งเศสหาฟังไม่ ยิงกลับมาอีก ๒ - ๓ นัด
ทนายจำเลย : ปืน ๒ - ๓ นัดยิงมาจากไหน
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ยิงมาจากบนเรือนบ้าง จากข้างล่างบ้าง
ทนายจำเลย : ทหารไทยถูกปืน ๒ - ๓ นัดนั้น ตายบ้างหรือเปล่า
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ตาย ๒ - ๓ คน
ทนายจำเลย : แล้วท่านได้ปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรหรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ข้าพเจ้าได้ปรึกษาหารือพร้อมกันว่า ฝรั่งเศสยิงมาไม่หยุด ก็ตกลงกันให้ยิงตอบบ้าง แล้วก็สั่งให้ทหารยิงตอบไป
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นผู้ใดเอาไฟไปติดเรือนบ้างหรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ข้าพเจ้าไม่เห็น
ทนายจำเลย : ไฟเกิดขึ้นทางไหนก่อน
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ไหม้ข้างหลังเรือน
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นทหารไทยไปข้างหลังเรือนเอาไฟจุดหรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ข้าพเจ้าไม่เห็น
ทนายจำเลย : พวกไทยได้เก็บเอาสิ่งของอื่น ๆ บ้างหรือนอกจากปืนและเครื่องอาวุธ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : พระยอดฯ สั่งให้เก็บแต่ปืนกับเครื่องอาวุธ นอกนั้นไม่ได้สั่ง
ทนายจำเลย : เมื่อกลับจากแก่งเจ๊กมาเวียงกระแสนนั้น ท่านได้เห็นสิ่งของอื่น ๆ ของฝรั่งเศสในเรือบ้างหรือไม่นอกจากปืน
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ไม่เห็น
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นพวกไทยทำอันตรายข่มเหงล่ามเขมรบ้างหรือไม่
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ไม่เห็น
(ทนายจำเลยไม่ติดใจถามต่อไป)
ทนายแผ่นดิน : ท่านเอาทหารไปจากเวียงกระแสนกี่คนด้วยกัน
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ทหารที่เอาไปประมาณ ๔๖ - ๔๗ คนด้วยกัน
ทนายแผ่นดิน : ท่านเอาทหารไปทำไม
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : เอาไปสำหรับตัว
ทนายแผ่นดิน : ท่านมุ่งหมายจะไปขอตัวหลวงอนุรักษ์หรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ใช่
ทนายแผ่นดิน : เมื่อหลวงอนุรักษ์กระโดดมา ฝรั่งเศสยังไม่ได้ยิง ท่านได้ตัวหลวงอนุรักษ์แล้ว ทำไมไม่กลับ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : เมื่อหลวงอนุรักษ์กระโดดมาแล้วฝรั่งเศสก็ยิงมาถูกทหารตายหนึ่งคน ห้ามก็ไม่หยุด กลับยิงมาอีก ข้าพเจ้าจะกลับอย่างไรได้ ข้าพเจ้าก็ต้องยิงเสียบ้าง
ทนายแผ่นดิน : ถ้าแม้นท่านถอยเสียเวลานั้น ท่านจะเสียเปรียบอะไรบ้าง
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : เสียเปรียบ ทหารของข้าพเจ้าตายลงไปแล้ว
ทนายแผ่นดิน : ท่านว่าไม่เห็นคนไทยไปจุดไฟ ถ้าหากว่าคนไทยไปท่านเห็นได้หรือไม่
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ได้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อขากลับจากแก่งเจ๊กมาเวียงกระแสนนั้นมีเรือกี่ลำ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ประมาณ ๒๐ ลำทั้งเล็กใหญ่
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านให้การว่า ไม่เห็นสิ่งของ ๆ ฝรั่งเศสในเรือนั้น ท่านเข้าใจว่าท่านไม่เห็นแน่ในเรือที่ท่านมาไม่ใช่หรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ทั่วไปทั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นคนไทยถือสิ่งของอะไรของฝรั่งเศส
ทนายแผ่นดิน : ท่านไปตรวจทุกลำเรือหรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ไม่ได้ตรวจ แต่มาติด ๆ กันก็ไม่เห็น
ทนายแผ่นดิน : แม้นว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะซ่อนมา ท่านจะเห็นได้หรือไม่
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : เวลาไฟไหม้นั้นก็ไม่เห็นใครขึ้นไป เมื่อจะซ่อนมานั้น ไม่เห็นก็ได้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านออกเรือนั้น ไฟไหม้เรือนหมดหรือยัง
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ยัง
ทนายแผ่นดิน : ถ้าท่านลงเรือมาแล้ว ผู้ใดจะไปเก็บของได้หรือไม่
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : เมื่อกลับมานั้น ข้าพเจ้าไล่ต้อนทหารลงเรือมาก่อน ข้าพเจ้ามาทีหลัง
ทนายแผ่นดิน : ตั้งแต่เวลาไปถึงแก่งเจ๊กจนเวลาหยุดยิงกลับมานั้น ท่านเห็นคนไทยขึ้นไปบนเรือนบ้างหรือไม่
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ในเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่จนกลับมานั้นข้าพเจ้าไม่เห็น
ทนายแผ่นดิน : ถ้าแม้นใครขึ้นไปแล้ว จำเป็นท่านต้องเห็นหรือ
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ต้องเห็น
ศาล : ทหารไทยตายและป่วยกี่คน
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ตาย ๖ คน บาดเจ็บ ๔ - ๕ คน
ศาล : คนที่เจ็บและตายนั้น เป็นทหารทั้งนั้นหรือพวกพระยอดฯ บ้าง
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : พวกทหารทั้งนั้น
ศาล : ได้สังเกตว่าพวกทหารญวนตายสักกี่คน
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : ในทันใดนั้นไม่ได้ตรวจ
ศาล : พระยอดฯ ให้คนไปตรวจเมื่อใด
ว่าที่นายร้อยตรีแปลก : วันอื่น
คำให้การ
นายลา
พยานจำเลยคนที่ ๕
เวลา ๑๓.๐๐ น. ศาลประชุมพิจารณาต่อไป ตอนนี้นายลา ซึ่งเป็นที่ขุนณรงค์ใต้สาบานตัวแล้วก็ให้การ
ทนายจำเลย : ได้รับราชการมากับพระยอดฯ กี่ปีแล้ว
นายลา : ตั้งแต่ปีจอ
ทนายจำเลย : ได้ยินบ้างหรือไม่ว่า ราษฎรที่เมืองคำเกิดคำม่วนเกลียดพระยอดฯ
นายลา : ไม่เกลียด
ทนายจำเลย : เมื่อฝรั่งมาถึงเมืองคำม่วนนั้น ท่านอยู่ด้วยพระยอดฯ หรือ
นายลา : ใช่
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นฝรั่งขับพระยอดฯ ออกจากค่ายหรือ
นายลา : ได้เห็น
ทนายจำเลย : ฝรั่งเศสขับไล่พระยอดฯ ออกจากค่ายอย่างไร
นายลา : พวกฝรั่งเศสจับมือพระยอดฯ ลุกออกมาแล้วเอาหอกปลายปืนแทงหลังรุนออกมา
ทนายจำเลย : ฝรั่งเศสได้ริบเอาเครื่องศาสตราวุธของพระยอดฯ หมดหรือ
นายลา : ริบเอาหมด
ทนายจำเลย : ขุนวังได้อยู่กับพระยอดฯ ที่เมืองคำม่วนด้วยหรือ
นายลา : ไม่ได้อยู่
ทนายจำเลย : ขุนวังสมทบกับพระยอดฯ ที่ไหน
นายลา : ที่บ้านนาหลักหิน
ทนายจำเลย : เมื่อพักอยู่ที่บ้านนาหลักหินนั้น ล่ามเขมรมาหาหรือ
นายลา : มา
ทนายจำเลย : ล่ามเขมรได้พูดอะไรกับพระยอดฯ บ้างหรือหาไม่
นายลา : เขาพูด
ทนายจำเลย : เขาพูดว่าอย่างไรบ้าง
นายลา : เขาจะไปก่อน ให้พระยอดฯ ไปทีหลัง
ทนายจำเลย : เขาบอกหรือไม่ว่า ฝรั่งเศสจะพักที่ไหน เมื่อถึงแก่งเจ๊ก
นายลา : เขาบอก
ทนายจำเลย : เขาบอกว่าจะพักที่ไหน
นายลา : ที่ทำเนียบ
ทนายจำเลย : เมื่อถึงแก่งเจ๊กนั้น พวกพระยอดฯ พักที่ไหน
นายลา : ที่ทำเนียบเก่า ไม่มีเรือนและที่กำบัง
ทนายจำเลย : เมื่อฝรั่งเศสมาจับหลวงอนุรักษ์นั้น ท่านอยู่ด้วยหรือ
นายลา : อยู่
ทนายจำเลย : เขาจับตัวหลวงอนุรักษ์อย่างไร
นายลา : เขาเตะหลวงอนุรักษ์ล้มลง เหยียบสีข้างไว้ เอามือกดคอไว้แล้วทหารญวนเอาผ้าพันแข้งมัดมือหลวงอนุรักษ์
ทนายจำเลย : เมื่อรบกันที่แก่งเจ๊กท่านอยู่ด้วยหรือ
นายลา : อยู่
ทนายจำเลย : เมื่อแรกมาถึงเรือนฝรั่งเศสนั้น ท่านยืนอยู่ที่ไหน
นายลา : ยืนอยู่ที่หน้าประตู บนหัวบันได
ทนายจำเลย : ท่านเห็นหลวงอนุรักษ์ด้วยหรือ
นายลา : เห็น
ทนายจำเลย : หลวงอนุรักษ์ยืนที่ไหน
นายลา : ยืนเคียงอยู่กับฝรั่ง
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นฝรั่งจับหลวงอนุรักษ์ ๆ หนีมาได้นั้น ท่านเห็นหรือ
นายลา : เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อหลวงอนุรักษ์กระโดดลงมานั้น มีอะไรต่อไป
นายลา : ขณะนั้นมีเสียงปืนยิงออกมาจากในเรือน
ทนายจำเลย : ปืนนัดนั้นถูกใครตายหรือ
นายลา : ถูกทหารโคราชตายคนหนึ่ง
ทนายจำเลย : ภายหลังมีปืนยิงออกมาอีกหรือ
นายลา : ข้าพเจ้าได้ยินยิงออกมาอีก ๒ - ๓ นัด
ทนายจำเลย : ยิงมาจากไหน
นายลา : ยิงมาจากบนเรือนบ้าง ใต้เรือนบ้าง
ทนายจำเลย : ยิง ๒ - ๓ นัต ไม่ได้ยิงมาจากพวกไทยหรือ
นายลา : เปล่า
ทนายจำเลย : ท่านเห็นใครเอาไฟจุดเรือนนั้น
นายลา : ข้าพเจ้าไม่เห็น
ทนายจำเลย : ท่านรู้หรือไม่ว่าทำไมไฟจึงไหม้ขึ้น
นายลา : เกิดขึ้นทางนอก คือข้างหลังเรือน
ทนายจำเลย : ไฟเกิดขึ้นอย่างไร
นายลา : ข้าพเจ้าไม่ทราบ
ทนายจำเลย : ท่านได้เอาสิ่งของ ๆ ฝรั่งเศสบ้าง หรือได้เห็นใครขึ้นไปบนเรือนบ้าง
นายลา : ข้าพเจ้าไม่ได้เอา และไม่เห็นพวกไทยขึ้นไปบนเรือน
ทนายจำเลย : เมื่อกลับมาจากแก่งเจ๊กมาเวียงกระแสนนั้น ท่านเห็นสิ่งของ ๆ ฝรั่งเศสบ้างหรือไม่ นอกจากเครื่องอาวุธ
นายลา : ข้าพเจ้าไม่เห็น
ทนายจำเลย : ในระหว่างเวลารบกันอยู่นั้น ท่านเห็นฝรั่งยิงปืนหรือ ๆ ยิงมาจากไหน
นายลา : ได้เห็นฝรั่งยิงปืนมาจากบนเรือน
ทนายจำเลย : ขากลับมาเวียงกระแสนนั้น ท่านเห็นใครทำการข่มเหงทุบตีล่ามเขมรบ้างหรือเปล่า
นายลา : ไม่เห็น
ทนายแผ่นดิน : เวลาถึงบ้านนาหลักหินนั้น ล่ามเขมรได้บอกหรือเปล่าว่า เมื่อถึงบ้านแก่งเจ๊ก ให้พักอยู่ที่ไหน
นายลา : ไม่ได้บอก
ทนายแผ่นดิน : เวลาล่ามพูดกับพระยอดฯ นั้น ท่านอยู่ใกล้หรือ
นายลา : ไม่ใกล้นัก พอได้ยิน
ทนายแผ่นดิน : ล่ามบอกว่าจะไปอยู่ที่ทำเนียบนั้น เขาบอกว่าทำเนียบเก่าหรือใหม่
นายลา : บอกว่าที่ทำเนียบใหม่
ทนายแผ่นดิน : ท่านว่าขุนวังพบพระยอดฯ ที่บ้านนาหลักหินนั้น ขุนวังมาจากไหน
นายลา : ขุนวังมาจากท่าอุเทน
ทนายแผ่นดิน : มีใครจับขุนวังหรือเปล่า
นายลา : ข้าพเจ้าไม่ทราบ
ทนายแผ่นดิน : เมื่อออกจากบ้านนาหลักหินแล้ว ท่านรู้หรือไม่ว่า พวกขุนวังมากคน
นายลา : ไม่รู้
ทนายแผ่นดิน : ขุนวังเอาเครื่องอาวุธมาหรือเปล่า
นายลา : ข้าพเจ้าไม่เห็น เขาจะเอามาหรือไม่นั้นก็ไม่เห็น
ทนายแผ่นดิน : ฝรั่งเศสยิงมากี่นัดแล้ว พวกไทยจึงยิงตอบไป
นายลา : ยิงมา ๓ นัด
ทนายแผ่นดิน : มีใครตายบ้าง
นายลา : มีทหารโคราชตายคนหนึ่ง แต่ใครจะตายอีกนั้น ข้าพเจ้าไม่ทันสังเกต ด้วยระวังตัวดูปืนอยู่
ทนายแผ่นดิน : เวลานั้นทหารญวนอยู่ที่ไหน
นายลา : ทหารญวนเข้าแถวอยู่ข้างเรือนหน้าบันได
ทนายแผ่นดิน : ประมาณกี่คน
นายลา : ที่เข้าแถวประมาณเก้าคนสิบคน แต่อยู่ใต้ถุนบ้าง
ทนายแผ่นดิน : บนเรือนนั่นเป็นทหารหมดหรือ
นายลา : ทหารก็มีคนใช้ก็มี แต่เป็นทหารหมดหรืออย่างไรนั้นไม่ทราบ เห็นมีปืนด้วยกันทุกคน
ทนายแผ่นดิน : เมื่อท่านเห็นฝรั่งยิงมานั้น ไทยยิงไปแล้วหรือยัง
นายลา : ฝรั่งยิงมา ไทยก็ยิงไป
ทนายแผ่นดิน : เมื่อรบกันแล้วกลับไปเวียงกระแสนนั้น ยังมีคนไทยเหลืออยู่ที่แก่งเจ๊กบ้างหรือไม่
นายลา : ไม่เหลือ ในวันนั้นไม่ได้ค้าง
ทนายแผ่นดิน : ก่อนเมื่อเวลากลับนั้น ท่านเห็นทหารญวนตายกี่คน
นายลา : ทหารญวนจะตายกี่คนนั้นไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าเห็นตายอยู่ที่หน้าบันไดสักสามสี่คน
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเวลาเอาบุนจันลงเรือไปนั้น ท่านเห็นใครแย่งเอาของ ๆ บุนจันล่ามเขมรบ้างหรือไม่
นายลา : ไม่เห็น
(ทนายแผ่นดินไม่ซักต่อไป และนายลาหรือขุนณรงค์พยานจำเลย ต้องลงแกงได เพราะเขียนหนังสือไม่ได้)
คำให้การ
นายแย้ม
พยานจำเลยคนที่ ๖
นายแย้ม เป็นที่หมื่นวิเศษ พยานจำเลย สาบานตัวแล้วเริ่มให้การ
ทนายจำเลย : ท่านอยู่ทำราชการกับพระยอดฯ กี่ปีแล้ว
นายแย้ม : ๗ ปี นับแต่ไปคำม่วนได้ ๘ ปีมาแล้ว
ทนายจำเลย : พวกท้าวเพี้ยและราษฎรในเมืองคำเกิดคำม่วนได้บอกแก่ท่านว่าเขาเกลียดชังพระยอดฯ บ้างหรือไม่
นายแย้ม : ข้าพเจ้าไม่ได้ยิน
ทนายจำเลย : เมื่อฝรั่งเศสไล่พระยอดฯ ออกจากค่ายนั้น ท่านเห็นพวกฝรั่งเศสเก็บริบเครื่องอาวุธของพระยอดฯ บ้างหรือ
นายแย้ม : ข้าพเจ้าเห็นรวบรวมเครื่องอาวุธเอาไปไว้ในค่าย
ทนายจำเลย : เมื่ออยู่แก่งเจ๊กนั้น ท่านเห็นฝรั่งมาจับตัวหลวงอนุรักษ์หรือ
นายแย้ม : เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อเวลาหลวงอนุรักษ์ถูกจับนั้น เห็นหลวงอนุรักษ์เจ็บบ้างหรือไม่
นายแย้ม : ข้าพเจ้าเห็นทหารญวนจับหลวงอนุรักษ์ฉุดลงเหยียบไว้ แล้วทหารญวนเอาผ้าพันหน้าแข้ง มัดมือหลวงอนุรักษ์ เอาตัวไปที่พักของเขา
ทนายจำเลย : ท่านจำได้หรือเมื่อนายทุ้ย นายแปลกมาพบพระยอดฯ ที่เวียงกระแสน
นายแย้ม : จำได้
ทนายจำเลย : นายทุ้ยกับนายแปลกมีทหารมาด้วยหรือ
นายแย้ม : เมื่อพบกันทีแรกนั้น มีมา ๒ - ๓ คน
ทนายจำเลย : นอกจาก ๒ - ๓ คนนี้ นายทุ้ยกับนายแปลกคุมทหารมาอีกหรือ
นายแย้ม : ข้าพเจ้าเห็นแต่ ๒ - ๓ คนนี้ เขาจะคุมมาอีกนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ
ทนายจำเลย : ภายหลังไม่เห็นทหารมาอีกบ้างหรือ
นายแย้ม : เห็นมา แต่ไม่ได้มากับนายทุ้ย
ทนายจำเลย : รวมทหารที่นายแปลกกับนายทุ้ยคุมนั้น กี่คนด้วยกัน
นายแย้ม : รวม ๑๙ - ๒๐ คน
ทนายจำเลย : เมื่อรบกันที่แก่งเจ๊กนั้นท่านอยู่ที่นั่นด้วยหรือ
นายแย้ม : อยู่
ทนายจำเลย : ท่านเห็นคนไทยตายที่แก่งเจ๊งบ้างหรือไม่
นายแย้ม : ข้าพเจ้าเห็น
ทนายจำเลย : ท่านเห็นหลวงอนุรักษ์กระโดดลงจากเรือนมาหาพระยอดฯ บ้างหรือไม่
นายแย้ม : เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อหลวงอนุรักษ์กระโดดลงมานั้น มีเสียงปืนยิงมาหรือ
นายแย้ม : ข้าพเจ้าเห็นหลวงอนุรักษ์กระโดดลงมาแล้วมีเสียงปืนยิงออกมาจากเรือน
ทนายจำเลย : ยิงมานั้นถูกใครบ้าง
นายแย้ม : ถูกทหารชาวโคราชตายคนหนึ่ง
ทนายจำเลย : ได้ยินเสียงปืนอีกหรือ
นายแย้ม : ได้ยินเสียงปืนดังตูม ๆ ตามมา แต่ไม่รู้ว่าข้างไหนยิงกัน
ทนายจำเลย : ท่านเห็นใครเอาไฟจุดเรือนบ้างหรือ
นายแย้ม : ไม่เห็น
ทนายจำเลย : ท่านขึ้นไปบนเรือนหรือ
นายแย้ม : เปล่า
ทนายจำเลย : เห็นคนอื่นขึ้นไปบ้างหรือ
นายแย้ม : ไม่เห็น
ทนายจำเลย : ท่านได้เอาสิ่งของมาจากเรือนบ้างหรือ
นายแย้ม : ข้าพเจ้าไม่ได้เอามา
ทนายแผ่นดิน : เมื่อพระยอดฯ ไปที่แก่งเจ๊กนั้น ประมาณสักกี่คน
นายแย้ม : ประมาณสัก ๔๐ หรือ ๕๐ คน
ทนายแผ่นดิน : พวกพระยอดฯ กี่คน
นายแย้ม : ข้าพเจ้าจำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : พวกนายทุ้ยนายแปลกกี่คน
นายแย้ม : จำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : มีทหารไปบ้างหรือเปล่า
นายแย้ม : มี
ทนายแผ่นดิน : ทหารทั้งนั้นหรือ
นายแย้ม : ทหารบ้าง คนลาวบ้าง
ทนายแผ่นดิน : ถือปืนทุกคนหรือ
นายแย้ม : ไม่ได้ถือทุกคน
ทนายแผ่นดิน : พวกพระยอดฯ ที่ไปนั้นถือปืนทุกคนหรือ
นายแย้ม : ไม่มีทุกคน
ทนายแผ่นดิน : พวกพระยอดฯ ถือปืนกี่คน
นายแย้ม : สองคน
ทนายแผ่นดิน : พวกนอกนั้นถืออะไร
นายแย้ม : เห็นมือเปล่าบ้างถือดาบบ้าง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อแรกถึงนั้น เห็นใครไปบนเรือนบ้างหรือเปล่า
นายแย้ม : ไม่เห็น
ทนายแผ่นดิน : ไม่เห็นขุนวังขึ้นบนเรือนหรือ
นายแย้ม : ไม่เห็น
ทนายแผ่นดิน : ตั้งแต่ไปจนกลับ ได้เห็นขุนณรงค์ฯ ขึ้นบนเรือนบ้างหรือเปล่า
นายแย้ม : ไม่เห็น
ทนายแผ่นดิน : เวลานั้นขุนณรงค์ฯ ไปด้วยหรือเปล่า
นายแย้ม : ไปแต่อยู่ข้างล่าง
ทนายแผ่นดิน : ยืนอยู่ด้วยท่านหรือ
นายแย้ม : ยืนอยู่ห่างกันสัก ๒ วา
ทนายแผ่นดิน : ถ้าหากขุนณรงค์ฯ จะขึ้นไปแล้ว อาจเห็นได้หรือ
นายแย้ม : ไม่เห็นขึ้นไป ยืนอยู่ด้วยกัน
ทนายแผ่นดิน : เห็นไฟไหม้ข้างไหน
นายแย้ม : เห็นลุกขึ้นกลางเรือน
ทนายแผ่นดิน : กลางเรือนด้านไหน
นายแย้ม : ด้านทางหัวนอน (ศาลให้ชี้ที่ยืนอยู่และที่ไฟไหม้ขึ้น)
ทนายแผ่นดิน : มีคนไทยมาอยู่หลังเรือนบ้างหรือเปล่า
นายแย้ม : ไม่มี
ทนายแผ่นดิน : พวกทหารญวนยืนอยู่ไหน
นายแย้ม : ยืนอยู่ริมเรือนถัดบันไดมา
ทนายแผ่นดิน : หลวงอนุรักษ์ยืนอยู่ที่ไหน
นายแย้ม : ยืนอยู่ที่ระเบียงริมหัวบันได
ทนายแผ่นดิน : ใครยืนอยู่หน้าบันไดที่พื้นดิน
นายแย้ม : ล่ามกับขุนวังยืนเรียงกันอยู่
ทนายแผ่นดิน : เมื่อหลวงอนุรักษ์กระโดดลงจากเรือนมานั้น ท่านว่าเสียงปืนยิงออกมาจากเรือน ท่านเห็นใครยิง
นายแย้ม : ความจริงข้าพเจ้าไม่ได้เห็นด้วยตา ได้ยินแต่เสียง ปืนลั่นออกมาถูกทหารโคราชซึ่งยืนอยู่ริมกอไผ่ถัดยุงข้าวไปตายคนหนึ่ง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเสียงปืนนัดแรกยิงออกมานั้น ฝ่ายไทยมีใครสั่งยิงบ้างหรือไม่
นายแย้ม : ในทันใดนั้นยังไม่มีใครสั่ง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อยิงปืนนัดหนึ่งออกมาจากเรือนแล้ว มีใครร้องห้ามหรือไม่
นายแย้ม : เมื่อยิงมาได้ ๒ - ๓ นัดนั้น ข้าพเจ้าได้ยินพระยอดฯ ร้องว่า หยุดพูดกันก่อน
ทนายแผ่นดิน : แล้วพระยอดฯ ว่าอย่างไรต่อไป
นายแย้ม : ข้าพเจ้าไม่ได้ยินท่านว่าอย่างใด
ทนายแผ่นดิน : ไม่มีใครสั่งให้ยิงโต้ตอบหรือ
นายแย้ม : ไม่เห็นใครสั่ง
ทนายแผ่นดิน : แล้วใครสั่งต่อไปเล่า
นายแย้ม : ได้ยินตึง ๆ ตัง ๆ ด้วยกันทั้งสองข้างไม่รู้ว่าใครยิง
ทนายแผ่นดิน : พวกไทยตายกี่คน
นายแย้ม : ไทยตาย ๖ คน
ทนายแผ่นดิน : พวกญวนเล่า
นายแย้ม : พวกญวนจำไม่ได้ เห็นล้มอยู่หน้าเรือนจำไม่ได้กี่คน
ทนายแผ่นดิน : ไม่มีใครเข้าไปใกล้เรือนเลยหรือ
นายแย้ม : ไม่เห็นมีใครเข้าไป
ทนายแผ่นดิน : เมื่อขากลับลงเรือมากับใคร
นายแย้ม : ลงเรือมากับพระยอดฯ
ทนายแผ่นดิน : เห็นใครขนเอาหีบหรือสิ่งของมาจากเรือนบ้างหรือเปล่า
นายแย้ม : ไม่เห็น
ทนายแผ่นดิน : เห็นใครขนปืน ลูกปืนมาบ้างหรือเปล่า
นายแย้ม : มาตามทางเห็นทหารเขาได้มาคนละกระบอกสองกระบอก ก็เอามาส่งให้กับท่าน
ทนายแผ่นดิน : เขาบอกหรือเปล่าว่า ใครเป็นคนได้มา
นายแย้ม : เปล่า
ทนายแผ่นดิน : ได้มากี่กระบอกรู้ไหม
นายแย้ม : ไม่รู้จำไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : ประมาณดูกี่กระบอก
นายแย้ม : ในวันนั้นได้มา ๔ - ๕ กระบอกเท่านั้น
ทนายแผ่นดิน : ภายหลังได้มาอีกกระบอก
นายแย้ม : ภายหลังได้มาอย่างไรไม่ทราบ
ทนายแผ่นดิน : เมื่อออกจากเวียงกระแสน ท่านรู้หรือไม่ว่าจะไปทำไมกัน
นายแย้ม : ข้าพเจ้าได้รู้แต่ว่าจะไปขอหลวงอนุรักษ์
ทนายแผ่นดิน : ถ้าเขาไม่ให้จะทำอย่างไรกัน
นายแย้ม : ความข้อนี้อย่างไรก็ไม่ทราบ
ศาล : เมื่อรบกันพยานยืนอยู่ที่ไหน
นายแย้ม : ข้าพเจ้ายืนอยู่ริมต้นไม้ระหว่างยุ้งข้าว และกอไผ่
คำให้การ
นายชื่น
พยานจำเลยที่ ๗
นายชื่น เป็นที่หมื่นจำนงฯ พยานจำเลย สาบานแล้วให้การ
ทนายจำเลย : เมื่อรบกันที่แก่งเจ๊กนั้น ตัวท่านอยู่ที่นั่นหรือ
นายชื่น : อยู่ที่นั่น
ทนายจำเลย : ได้เห็นทหารไทยตายบ้างหรือ
นายชื่น : ได้เห็น
ทนายจำเลย : ได้เห็นหลวงอนุรักษ์กระโดดมาจากเรือนหรือ
นายชื่น : ได้เห็น
ทนายจำเลย : ได้เห็นฝรั่งเศสอยู่บนเรือนหรือ
นายชื่น : ได้เห็น
ทนายจำเลย : ได้เห็นไฟไหม้เรือนหรือ
นายชื่น : ได้เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อไฟไหม้เรือนขึ้นแล้วท่านได้เห็นล่ามเขมรลงมาจากเรือนหรือ
นายชื่น : ได้เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อล่ามเขมรออกจากเรือนนั้น ไฟร้อนมากแล้วหรือ
นายชื่น : ร้อนมากแล้ว
ทนายจำเลย : ท่านได้เห็นขุนวังเข้าไปพูดกับใครบ้าง
นายชื่น : ขุนวังเข้าไปขอหลวงอนุรักษ์
ทนายจำเลย : ท่านได้ยินคำตอบว่าอย่างไร
นายชื่น : ฝรั่งเศสจะว่าอย่างไรไม่ทราบ แต่ขุนวังบอกมาว่าเขาไม่ให้
ทนายจำเลย : แล้วใครร้องเรียกหลวงอนุรักษ์บ้าง
นายชื่น : ใครจะเรียกหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ได้ยินเสียงกลุ้มกันอยู่ แต่ข้าพเจ้าเห็นหลวงอนุรักษ์กระโดดเรือนมา
ทนายจำเลย : เมื่อหลวงอนุรักษ์กระโดดลงมานั้น ได้ยินเสียงปืนดังมาจากเรือนหรือ
นายชื่น : ได้ยินเสียงปืนมาจากบนเรือน
ทนายจำเลย : ปืนนั้นถูกใครตายหรือ
นายชื่น : ถูกทหารโคราชตายคนหนึ่ง
ทนายจำเลย : ทีหลังนั้นได้มีปืนยิงมาจากบนเรือนอีกหรือ
นายชื่น : ทีหลังฝรั่งยิงออกมาอีก ๒ - ๓ นัด
ทนายจำเลย : ปืน ๒ - ๓ นัดที่ยิงมานั้น ถูกทหารไทยล้มอีกหรือ
นายชื่น : ความข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ได้สังเกต
ทนายจำเลย : ทหารไทยยิงเมื่อไร ก่อนฝรั่งเศสยิงหรือทีหลัง
นายชื่น : ทีหลัง
ทนายจำเลย : นายร้อยตรีทุ้ยกับว่าที่นายร้อยตรีแปลก คุมทหารมาเท่าไร
นายชื่น : ๓๐ หรือ ๔๐ คน ข้าพเจ้าไม่ได้รู้แน่
ทนายจำเลย : ท่านได้ขึ้นไปบนเรือนที่แก่งเจ๊กนั้นหรือไม่
นายชื่น : ไม่ได้ขึ้นไป
ทนายแผ่นดิน : ฝรั่งเศสได้ยิงกี่นัดแล้ว ไทยจึงได้ยิงไป
นายชื่น : ๔ - ๕ หนแล้ว ไทยจึงยิงไป
ทนายแผ่นดิน : พวกบนเรือนหรือข้างล่างยิงไป
นายชื่น : พวกบนเรือนยิงก่อน
ทนายแผ่นดิน : ก่อนพวกไทยยิงไปนั้น พวกข้างล่างไม่ได้ยิงไปบ้างหรือ
นายชื่น : พวกข้างบนเรือนยิงมา ๔ - ๕ ทีแล้ว พวกข้างล่างจึงได้ยิง
ทนายแผ่นดิน : ก่อนนั้นพวกไทยไม่ได้ยิงเลยหรือ
นายชื่น : ไม่ได้ยิง
ทนายแผ่นดิน : ท่านถืออาวุธอะไรบ้างเวลานั้น
นายชื่น : ข้าพเจ้ามีปืนกระบอกหนึ่ง
ทนายแผ่นดิน : เวลาท่านเห็นไฟไหม้นั้น หยุดยิงกันหรือยัง
นายชื่น : กำลังยิงกัน
ทนายแผ่นดิน : บุนจันล่ามเขมรลงมาก่อน หรือหยุดยิงกันก่อน
นายชื่น : หยุดยิงกันแล้ว บุนจันจึงลงมา
ทนายแผ่นดิน : เวลานั้นท่านอยู่ที่ไหน
นายชื่น : อยู่ที่หน้ายุ้งข้าว
ทนายแผ่นดิน : ท่านได้ขึ้นไปบนเรือนหรือเปล่า
นายชื่น : ไม่ได้ขึ้นไป
ทนายแผ่นดิน : ให้ใครขึ้นไปหรือเปล่า
นายชื่น : เปล่า ไม่เห็นมีใครขึ้นไป
ทนายแผ่นดิน : ถ้าแม้นว่าใครจะขึ้นไป จะขึ้นไปได้หรือไม่
นายชื่น : เห็นจะไม่ได้ ไฟร้อนเต็มทีแล้ว
ทนายแผ่นดิน : ในระหว่างหยุดยิงกัน และก่อนบุนจันลงมาใครจะขึ้นไปได้หรือไม่
นายชื่น : เห็นจะไม่ได้
ทนายแผ่นดิน : ทำไมไม่ได้
นายชื่น : ไฟร้อนแล้ว
ทนายแผ่นดิน : วันนั้นท่านพบกับบุนจันหรือเปล่า
นายชื่น : ข้าพเจ้าพบที่เวียงกระแสน
ทนายแผ่นดิน : ท่านไม่ได้พบที่แก่งเจ๊กหรือ
นายชื่น : ไม่ได้พบ
ทนายแผ่นดิน : ท่านได้เอาขวด ๒ ขวดให้บุนจันดูหรือเปล่า
นายชื่น : เปล่า
ทนายแผ่นดิน : เวลาที่ท่านพบบุนจันที่เวียงกระแสน ท่านได้พูดกับเขาหรือ
นายชื่น : บุนจันขอน้ำร้อนข้าพเจ้า
ทนายแผ่นดิน : ได้ให้น้ำร้อนบุนจันหรือ
นายชื่น : ได้ให้
ทนายแผ่นดิน : เอาน้ำร้อนที่ไหนมาให้
นายชื่น : ข้าพเจ้าต้มมาให้
ทนายแผ่นดิน : น้ำร้อนหรือใส่ชาหรืออะไรให้
นายชื่น : น้ำร้อนเปล่าใส่ถ้วยไปให้
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเอาน้ำร้อนไปให้นั้น บุนจันอยู่ที่เรือหรืออยู่บนบก
นายชื่น : อยู่ที่เรือ
ทนายแผ่นดิน : ท่านต้มที่ไหน
นายชื่น : ไปต้มบนฝั่ง
ทนายแผ่นดิน : ถ้วยใส่น้ำชานั้นเป็นถ้วยชาหรือถ้วยอาหาร
นายชื่น : ใส่ถ้วยสำหรับใส่กับข้าวของข้าพเจ้ากิน
ทนายแผ่นดิน : ที่แก่งเจ๊กเมื่อบุนจันลงเรือนมานั้น พวกไทยได้ไปช่วยประคองมาหรือเขาลงมาเอง
นายชื่น : เขาลงมาเอง
ทนายแผ่นดิน : เมื่อเขาลงมาจากเรือนนั้น เขาถืออะไรติดตัวลงมาบ้างหรือไม่
นายชื่น : ไม่เห็นมีอะไรมา
ทนายแผ่นดิน : เมื่อมาตามทางได้มีใครให้ยาหรือเห็นใครให้ยาใส่แผลบ้างหรือเปล่า
นายชื่น : ข้าพเจ้าไม่ได้ยิน และไม่เห็น
ทนายจำเลย : เมื่อให้การว่าไม่พบบุนจันที่แก่งเจ๊กนั้น ท่านเข้าใจว่าไม่ได้เห็นหรือ
นายชื่น : ข้าพเจ้าเห็นเมื่อบุนจันลงเรือมา ครั้นเมื่อเขาลงไปเรือแล้วก็ไม่รู้ว่าไปลำไหน
ทนายแผ่นดินและทนายจำเลยแจ้งต่อศาลว่า ทั้งสองฝ่ายไม่มีพยานอีกต่อไป ศาลนัดประชุมวันที่ ๙ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒ เวลา ๔ โมงเช้า
เมื่อศาลนัดประชุมในวันต่อมานั้น ทนายทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างก็ยื่นคำแถลงการณ์ด้วยกัน คำแถลงการณ์ของฝ่ายจำเลยยืดยาวมากกว่าฝ่ายโจทก์ เสียเวลาอ่านไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง
ในที่สุดศาลนัดประชุมอ่านคำพิพากษา วันที่ ๑๗ มีนาคม ศกเดียวกัน
คำพิพากษา
ศาลรับสั่งพิเศษ (ครั้งที่ ๑)
วันที่ ๑๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒
เวลา ๑๓.๐๐ น. ศาลรับสั่งพิเศษนั่งประชุม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร อธิบดีผู้พิพากษาในศาลรับสั่งพิเศษนี้ จึงทรงอ่านคำพิพากษาตัดสินดังต่อไปนี้ :-
เมื่อก่อนที่เราจะได้แสดงความเชื่อลงเนื้อเห็น ซึ่งจะเป็นคำพิพากษาตัดสินของเราทั้งหลายในความเรื่องนี้ต่อไป เราขอเอาโอกาสอันนี้แสดงความขอบใจอันเต็มใจของเราที่ได้รับความเกื้อหนุนของท่านผู้กระทำการ ทั้งฝ่ายหาและฝ่ายแก้ทั้งสองฝ่าย ที่ได้นำทำการพิจารณาหาข้อความที่ควรรู้ โดยหมดจดเรียบร้อยจนสิ้นกระแสความที่จะหามาแสดงให้ปรากฏได้ และเราได้รู้สึกในการเบาแรงเบาใจที่ได้อาศัยแต่หลวงรัตนาญัปติผู้เป็นยกกระบัตรศาล ได้ช่วยให้เราจัดและทำการที่ยากหนักต่าง ๆ โดยความรู้สึกและความสามารถมั่นคงตรงจริง เป็นที่ไว้วางใจของเราได้ เราทั้งปวงมีความยินดีมาก ที่ได้มีโอกาสและสามารถทำการมาแล้วโดยความซื่อตรง และเป็นการปรากฏเปิดเผยต่อหน้าผู้มียศมีปัญญาความรู้ ที่อุตส่าห์มาดูฟังพร้อมกันเป็นอันมาก ทั้งคนในประเทศนี้และประเทศอื่นแทบทุกประเทศ ที่มีไมตรี มีผู้แทนริปับลิกฝรั่งเศสเป็นต้น จนถึงกาลบัดนี้
การที่ได้รู้สึกใจดังนี้ ทำให้เป็นที่เบาแรงเบาใจในการที่เราจะได้ทำการใหญ่สำคัญอันสามารถจะมีผลในภายหน้า ที่เราไม่สามารถที่จะประมาณได้นี้ ให้สำเร็จไปโดยง่าย และโดยความซื่อสัตย์เที่ยงตรง ซึ่งเป็นหลักและหนทางอันเดียวที่เราจะอาศัยเป็นเครื่องป้องกันและนำมาให้พ้นความผิดพลาดขาดเสียทั้งปวงได้ และเรามีความหวังใจว่า ท่านทั้งหลายที่ได้รู้เห็นในการที่ได้ทำมาด้วยกันทุก ๆ วัน มีท่านผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส และผู้หาผู้แก้เป็นต้นไปทั้งปวง คงจะมีความปรานีให้ความยุติธรรมแก่เรา โดยที่นึกรู้และยอมรับว่าเราทั้งหลายได้พยายามทำการมาโดยปรารถนาจะอาศัยแต่ความเที่ยงตรงสัตย์ซื่อเป็นหลักฐานตลอดการที่ได้เป็นมาแล้วนั้น และยังหวังใจวางใจอีกว่า แม้ในการที่เราจะได้ทำต่อไปในบัดนี้ก็คงจะได้รับความพิจารณาของท่านทั้งหลาย ในอันเป็นกลาง ในทางปรานีจนตลอดข้อความที่เป็นความเห็นของเรา ที่จะได้กล่าวในเวลาบัดนี้ด้วย
เราทั้งหลายผู้มีนามข้างท้ายคำพิพากษานี้ ได้รับพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทใส่เกล้าฯ โดยพระราชกำหนดพิเศษ อันมีนามปรากฏว่า ศาลรับสั่งพิเศษสำหรับชำระคนในบังคับสยาม ต้องหาว่ากระทำความร้ายผิดกฎหมาย ที่ทุ่งเชียงคำและที่แก่งเจ๊กเมืองคำม่วน ซึ่งได้ออกประกาศลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๒ นั้น เฉพาะเมื่อได้รับคำฟ้องและคำพยานของทนายแผ่นดินซึ่งได้ยื่นฟ้องระบุชื่อ พระยอดเมืองขวาง ซึ่งเป็นผู้ต้องคำหาว่า ได้กระทำความร้ายผิดตามข้อหา เป็นเนื้อความ ๕ ข้อ และเกาะตัวจำเลยมาพิจารณาไต่สวนเอาความจริงโดยซื่อสัตย์แล้ว และตัดสินข้อความจริงที่ได้พิจารณาได้โดยความยุติธรรมและกฎหมาย ตามทางที่มีพระราชบัญญัติที่จัดกำหนดไว้นั้น บัดนี้เราทั้งปวงก็ได้กระทำการพิจารณามาตามพระราชกำหนด เป็นต้นแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๒ มาจนถึงวันที่ ๑๖ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒ เป็นเสร็จสิ้นสำนวนในกระบวนพิจารณาแล้ว และบัดนี้เราทั้งปวงจะได้แสดงความเห็นที่ได้พร้อมใจกัน ลงเนื้อเห็นเป็นคำตัดสินสืบต่อไป
แต่เมื่อก่อนที่จะแสดงเนื้อเห็นในชั้นความผิดชอบของผู้ต้องคำหานั้น เราทั้งปวงต้องบังคับตัดสินคำคัดค้านคำพยานหนังสือฉบับหนึ่ง ซึ่งฝ่ายผู้หาว่าเป็นผู้ร่างไปบอกทางโทรเลขของท่านผู้สำเร็จราชการเมืองอินโดไชนา ในบังคับฝรั่งเศสที่ว่าได้มีไปถึงเสนาบดีฝรั่งเศสว่าการหัวเมืองโคโลนี และได้คัดมาส่งให้แก่ศาลเพื่อให้ใช้เป็นคำพยานในการพิจารณา ความผิดชอบของพระยอดเมืองขวางจำเลยในศาลนี้ในเวลากำลังพิจารณาอยู่นั้น ทนายฝ่ายจำเลยร้องขอคัดค้านว่า หนังสือฉบับนี้มิได้เป็นถ้อยคำของผู้ที่ได้สาบานให้การยืนยันว่า ผู้กล่าวได้รู้เห็นว่าเป็นความสัตย์จริงแท้ เป็นแต่ข้อความที่บอกกันต่อ ๆ กันมา หาควรจะรับเอาเป็นคำพยานในศาลนี้ไม่ และคำคัดค้านข้อนี้ ฝ่ายผู้ยื่นหนังสือฉบับนี้ก็มิได้มีคำปฏิเสธต่อสู้และคัดค้านปฏิเสธอย่างใด และข้อความที่ปรากฏในหนังสือก็ไม่ผิดคำที่คัดค้านสงสัย คงต้องฟังว่าข้อความตามในหนังสือนี้ ไม่เป็นคำที่ควรฟังเอาเป็นพยานสำคัญตามกฎหมาย แต่เฉพาะข้อความในหนังสือนั้นแต่ลำพังอย่างเดียวได้ แต่หนังสือฉบับนี้ผู้นำมายื่นอ้างว่า เป็นถ้อยคำผู้มีบรรดาศักดิ์ฝ่ายฝรั่งเศสได้ใช้ในทางราชการสำคัญและคำที่กล่าวยืนยันดังนี้ ฝ่ายจำเลยก็มิได้ปฏิเสธอย่างใด เพราะฉะนั้นจะตัดออกทิ้งเสีย ว่าไม่เป็นถ้อยคำอันควรจะเป็นความจริงได้ทีเดียวก็ไม่ควร จึงเห็นว่า แม้ข้อความในหนังสือนี้จะไม่เป็นพยานแต่ลำพังตัวตามกฎหมายก็ดี ก็ยังเป็นที่อาศัยแห่งความเป็นจริงได้ ในข้อความที่มีพยานอื่นอันได้ใช้ประกอบหรือเจือความกันแก้ไข และแปลข้อความที่สงสัยอัดอั้นได้อยู่ เพราะดังนั้น ศาลนี้ควรยังต้องรับหนังสือฉบับนี้ไว้เลือกใช้ในที่อันควรใช้ ควรฟังตามราคาแห่งข้อความอันจะมีปรากฏ ประกอบกับคำพยานอื่นอันควรฟังนั้นสืบต่อไป ให้ข้อคำที่คัดค้านด้วยหนังสือนี้ต้องเป็นยุติตามคำตัดสินนี้
ซึ่งพิจารณาได้ความว่า เดิมพระยอดเมืองขวาง จำเลยผู้นี้ได้ถือรับอำนาจเป็นข้าหลวงรักษาราชการในเมืองคำเกิดคำม่วน ซึ่งเป็นหัวเมืองด่านปลายพระราชอาณาเขตช้านานได้ ๘ ปีมาแล้ว ครั้นถึงวันที่ ๒๓ เดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ มีนายทหารฝรั่งเศสชื่อมองสิเออร์ลุส เป็นหัวหน้าคุมทหารญวนมีปืนเข้ามาล้อมตีค่ายบ้านที่จำเลยตั้งอยู่ จับตัวจำเลยและขุนหมื่นไพร่พลที่อยู่ในบังคับ แลเก็บริบเอาทรัพย์สมบัติเครื่องศาสตราวุธเสียสิ้น แต่ในเวลานั้นจำเลยหาได้ทำการต่อสู้ไม่ เพราะยังคิดว่ากรุงฝรั่งเศสกับกรุงสยามยังเป็นทางพระราชไมตรีกันอยู่จริง (ตามคำจำเลย) เป็นแต่เขียนหนังสือแสดงการที่ฝรั่งเศสมาทำการหักหาญต่าง ๆ และขอมีคำอายัดทรัพย์สิ่งของและราชการบ้านเมืองไว้แก่มองสิเออร์ลุสผู้ที่จำเลยเชื่อว่าถืออำนาจกรุงฝรั่งเศสมาทำการนั้น กว่าจำเลยจะได้รับคำสั่งของข้าหลวงใหญ่ให้ทำอย่างไรต่อไป หรือกว่าที่กรุงเทพฯ และกรุงฝรั่งเศสจะได้ว่ากล่าวกันต่อไป (ตามคู่ร่างหนังสือจำเลยถึงมองสิเออร์ลุส) แล้วมองสิเออร์ลุสจึงบังคับขับไล่ให้จำเลยพาพวกผู้อยู่ในบังคับไปเสียให้สิ้น ฝ่ายจำเลยถือว่าเขตแขวงเหล่านั้นเป็นของกรุงสยาม และจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่รักษาอยู่ก็ไม่ยอมไป มองสิเออร์ลุสจึงสั่งให้มองสิเออร์กรอสกุรัง กับทหารญวน ๒๐ คน คุมตัวจำเลยไปส่งให้ถึงเมืองท่าอุเทน อ้างว่าจำเลยเป็นที่เกลียดชิงของราษฎร เกรงจะได้ความลำบาก จึงให้ทหารไปส่งให้พ้น ในเวลานั้นมองสิเออร์ลุสได้บังคับจำเลยและพวกให้ส่งทรัพย์สมบัติของตัวจงสิ้นต่อหน้ามองสิเออร์ลุส เพื่อจะได้นำไปส่งพร้อมกับสิ่งของที่ได้เก็บริบไว้ เมื่อพวกจำเลยไปถึงที่ ๆ ไปส่ง อ้างว่าเพราะจะป้องกันมิให้มีคำกล่าวภายหลังว่า พวกทหารที่คุมไปให้แย่งเอาเสียกลางทาง (ตามคำมองสิเออร์เดอลาลาเนชอง) ครั้น ณ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ มองสิเออร์กรอสกุรังกับพวกทหาร ได้คุมตัวพวกจำเลยออกจากเมืองคำม่วน เดินทางมาได้ ๒ คืน ๓ คืน ถึงตำบลบ้านนาหลักหิน ซึ่งเป็นด่านปลายแดนเมืองท่าอุเทน ต่อกับปลายเขตสิ้นแขวงเมืองคำม่วน มองสิเออร์กรอสกุรังก็จะให้จำเลยมาตามลำพัง มองสิเออร์กรอสกุรังก็พาพวกทหารเดินล่วงหน้าไปก่อนเลยไปพักอยู่ที่บ้านแก่งเจ๊ก พวกจำเลยก็พากันไปพักอยู่ที่ทำเนียบเก่า มีผู้มาแจ้งความกับมองสิเออร์กรอสกุรังว่า จำเลยจะคิดต่อรบ ได้ให้คนไปเที่ยวหาเครื่องมือจะมาทำค่าย อยู่มาได้ ๒ วัน มองสิเออร์กรอสกุรัง จึงพาล่ามกับทหาร ๑๐ คน ไปถึงที่จำเลยอยู่ จะจับเอาตัวหลวงอนุรักษ์ผู้ช่วยราชการของจำเลยต่อหน้าจำเลยนั้น อ้างว่าหลวงอนุรักษ์ได้เคยกล่าวคำขู่ราษฎร แต่เมื่ออยู่เมืองคำม่วน ว่าไทยจะกลับไปต่อรบอีก แต่หลวงอนุรักษ์ไม่ยอมมาโดยดี มองสิเออร์กรอสกุรังและทหารต้องปล้ำปลุกฉุดลากเอา ตัวผู้ต้องจับไปขังไว้ในห้องเรือนที่พวกมองสิเออร์กรอสกุรังตั้งอยู่ในเวลานั้น จำเลยก็หาได้ว่ากล่าวประการใดไม่ ครั้นเวลาบ่ายต่อมาจำเลยได้ให้คนใช้ไปขอตัวหลวงอนุรักษ์กลับคืนมา และคนใช้นั้นได้แจ้งแก่มองสิเออร์กรอสกุรังว่า จำเลยสั่งมาว่าถ้าไม่ยอมให้ก็จะต้องขาดทางพระราชไมตรีกัน มองสิเออร์กรอสกุรังก็หาได้ยอมปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์ให้ไม่ ได้กล่าวตอบแต่ว่า หลวงอนุรักษ์อยู่นี้ก็สบายดีแล้ว (ตามคำพยานบุนจันล่าม) ในค่ำวันนั้นมีผู้มาบอกกับจำเลยว่า มองสิเออร์กรอสกุรังคิดจะมาจับจำเลย และพวกจำเลยอีก จำเลยเห็นว่า การที่มองสิเออร์กรอสกุรังทำแก่หลวงอนุรักษ์นั้นเป็นการหักหาญหรือเกินนัก เห็นว่าจะอยู่ในที่นั้นไปก็จะต้องเป็นเหมือนกัน จึงให้พาพวกพ้องลงเรือถอยล่องน้ำมาพักอยู่ที่เวียงกระแสน ทางห่างกับที่เดิมประมาณ ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมงในคืนวันนั้น แลเมื่อมาตามทางได้พบพวกเมืองท่าอุเทนประมาณ ๕๐ คนคุมเสบียงไปส่ง จำเลยก็เรียกเอาพวกนั้นถอยกลับไปด้วย ครั้นมาถึงเวียงกระแสนพบนายทุ้ย นายแปลก นายทหารคุมทหารไทยประมาณ ๕๐ คนขึ้นไปถึง นายทหารทั้งสองแจ้งข้อราชการว่าหลวงวิชิตสารศาสตร์ ผู้บังคับราชการเมืองท่าอุเทนได้ทราบว่า พวกฝรั่งเศสคุมทหารเข้ามาชิงเอาเมืองคำม่วนและจับเอาตัวจำเลยและพวกไว้จึงให้นายทุ้ยนายแปลก คุมทหาร ๕๐ คนรับขึ้นมาช่วยแก้ไขเอาพวกจำเลย ให้พ้นอำนาจพวกฝรั่งเศสและให้ขับไล่พวกทหารฝรั่งเศสออกไปเสียให้พ้นราชอาณาเขต และสั่งความมาอีกว่า ถ้าจำเลยและพวกพ้นอำนาจฝรั่งเศสมาได้แล้ว ก็ให้ช่วยกันคิดอ่านขับไล่พวกฝรั่งเศสออกไปให้พ้นพระราชอาณาเขตจงได้ จำเลยจึงได้แจ้งข้อราชการที่เป็นมาแก่นายทหารทั้งสอง และแลเห็นพร้อมกันว่า หลวงอนุรักษ์ผู้ช่วยยังต้องกักขังอยู่ในอำนาจฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง ควรจะต้องไปคิดอ่านว่ากล่าวเอาตัวคืนมาให้ได้ก่อน จึงค่อยคิดการต่อไป จำเลยกับพวกจำเลยแต่มิได้แต่งตัวเป็นทหารประมาณ ๑๘ - ๑๙ คน ถือปืนเป็นอาวุธ ๒ คนก็พานายทุ้ย นายแปลกกับทหารที่คุมมากลับไปถึงที่หลวงอนุรักษ์ต้องกักขังอยู่ จำเลยกับนายทหารจึงแต่งให้ขุนวังซึ่งเป็นพวกข้าหลวงเมืองท่าอุเทนนายหนึ่ง เป็นผู้เข้าไปว่ากล่าว เพื่อจะขอตัวหลวงอนุรักษ์กับพวกมองสิเออร์กรอสกุรัง แต่จำเลยและนายทหารและทหารหยุดพักฟังการอยู่ห่างเรือนที่หลวงอนุรักษ์ต้องกักขังอยู่นั้น ประมาณ ๗ วา (ตามจำเลยและพยานจำเลย) และเนื้อความแต่นี้ต่อไป คำพยานฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยแตกต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้าง เพราะฉะนั้นจำต้องกล่าวตามความทั้งสองข้างและเลือกฟังเอาแต่ที่น่าเชื่อและควรฟังได้ แต่เดิมบุนจันให้การต่อมองสิเออร์ปาวีว่า เมื่อเวลาพวกทหารยกไปถึงนั้น มองสิเออร์กรอสกุรังป่วยเป็นไข้ไม่ได้สติ และลุกขึ้นจากที่นอนมิได้ พยานเป็นผู้ออกมาไต่ถามพวกทหารไทยและเอาความกลับเข้าไปแจ้งแก่มองสิเออร์กรอสกุรังที่ในห้องนอน จนถึงเวลามองสิเออร์กรอสกุรังต้องปืนตาย แต่เมื่อบุนจันพยานผู้นี้มาให้การต่อหน้าเอาในศาลนี้ ก็กลับให้การต้องคำกันกับจำเลยและพวกจำเลยว่า เมื่อเวลาพวกทหารไทยเข้าไปใกล้เรือนนั้น มองสิเออร์กรอสกุรังได้ออกมายืนที่หน้าเรือน ทั้งข้างนอกตรงบันไดเรือนข้างบน ตัวพยานลงมายืนแปลคำพูดกับขุนวังผู้ไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ ที่พื้นดินตรงหน้าบันไดเรือนข้างล่าง พยานได้แปลถ้อยคำที่ขุนวังพูด และมองสิเออร์กรอสกุรังตอบ ไม่ยอมปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์ แล้วขุนวังขอทรัพย์สิ่งของ ๆ พวกจำเลยที่พวกฝรั่งเศสริบเอาไป และบอกให้มองสิเออร์กรอสกุรังถอยกลับไป มองสิเออร์กรอสกุรังตอบว่า สิ่งของไม่ได้อยู่กับตัว และไม่ยอมที่จะถอยกลับไป ทันใดนั้นจำเลยจึงร้องเรียกหลวงอนุรักษ์ให้ออกมาหา (คำพยานโจทก์จำเลยต้องกัน) แต่ที่ตรงนี้คำบุนจันพยานโจทก์ต่างกับคำจำเลยไปอีกว่า ทันใดนั้นมองสิเออร์กรอสกุรุงกลับเข้าไปเสียในห้อง พยานก็เดินตามเข้าไปด้วย แล้วพยานก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นข้างหน้าเรือน พยานนึกเอาว่าเป็นพวกไทยยิงเพราะข้างหน้าเรือนนั้น มีแต่พวกไทยเท่านั้น ไม่มีพวกทหารญวนเพราะยังเรี่ยรายกันอยู่รอบเรือน และหาได้ตระเตรียมการที่จะต่อสู้ไม่ ฝ่ายโงเย็นวันถัน ทหารญวนพยานโจทก์ให้การว่า เวลาเมื่อทหารไทยมาถึง พยานยืนรักษายามอยู่หน้าบันไดเรือน และว่าพอพวกไทยมาถึงก็ยิงปืนทีเดียว พวกพยานก็ยิงต่อสู้บ้าง แต่ในคำพยานนี้หาได้มีข้อความถึงที่ได้พูดจาว่ากล่าวกันก่อนประการใดไม่ และมีข้อความต่อไปอีก แต่ว่าพยานสังเกตได้ว่า พยานเห็นพวกไทย ๖ คน ขึ้นไปบนบันไดเรือน ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นภายในเรือน แต่ฝ่ายคำให้การจำเลย และพยานจำเลย นายทหารไทยให้การต้องคำกันมั่นคงตลอดเวลาชักสอบไปมาโดยไม่พลาดเจือคำกันว่า เมื่อเวลาที่จำเลยเรียกให้หลวงอนุรักษ์มาหานั้น ล่ามที่ร้องเป็นภาษาไทยที่พยานไม่เข้าใจ ทันใดนั้นมองสิเออร์กรอสกุรังก็จับเอาข้อมือหลวงอนุรักษ์ไว้ แล้วตัวก็ก้าวเข้าไปในเรือน ล่ามและนายทหารญวนผู้หนึ่งก็วิ่งขึ้นบันได เข้าไปในเรือนล่ามและนายทหารญวนผู้หนึ่งก็วิ่งขึ้นบันไดเข้าไปในเรือนด้วย ทันใดนั้น หลวงอนุรักษ์ก็สะบัดมือหลุดจากมือมองสิเออร์กรอสกุรัง โดดหนีลงจากเรือน จะวิ่งมาหาจำเลย พอมีปืนยิงมาแต่ในเรือนต้องทหารไทยผู้หนึ่งซึ่งอยู่ข้างหน้าจำเลยตาย และเสียงปืนในเรือนก็ยิงซ้ำออกมาอีกสองสามนัด ต้องทหารไทยล้มลงอีก นายทุ้ย นายแปลก นายทหารทั้งสองจึงร้องหารือจำเลยว่า ทหารเราต้องปืนตายลงหลายคนแล้วจะต้องยิงต่อสู้บ้างแล้ว นายทหารทั้งสองและจำเลยก็พร้อมกันร้องสั่งให้ยิงต่อสู้ ทหารญวนที่ยืนเข้าแถวพร้อมกันอยู่ที่หน้าเรือนและข้างหลังเรือนก็ยิงโต้ตอบต่อสู้กันอยู่ ในเวลาที่ยิงกันอยู่นั้น พยานเห็นไฟติดขึ้นข้างหลังเรือนลุกแรงขึ้น เมื่อไฟไหม้ได้ประมาณกึ่งหลัง พยานเห็นบุนจันล่ามวิ่งลงเรือนมา และร้องเรียกหลวงอนุรักษ์ขอให้ช่วยชีวิตด้วย จำเลยและหลวงอนุรักษ์ที่ไปรับพยุงตัวมาในเวลานั้น ปืนที่ยิงโต้ตอบกันก็หยุดลง พยานได้ยินจำเลยร้องสั่งให้คนเที่ยวค้นหาศพขุนวังผู้ที่เป็นทูตเข้าไปพูดการ และต้องอาวุธตายในที่นั้น และใช้เก็บศาสตราวุธคนที่ตายทั้งปวงด้วย พยานเห็นพวกทหารเก็บได้อาวุธของพวกทหารญวนที่ตายในเวลานั้น มีปืนมา ๕ กระบอก และพยานตรวจดูพวกทหารฝ่ายไทยที่ต้องปืนตาย ๕ คน เป็น ๖ คน ทั้งขุนวังผู้เป็นทูตด้วยกัน ที่ต้องอาวุธเจ็บป่วยอีก ๕ คน จำเลยและพยานก็พากันมาลงเรือกลับมาที่พักเวียงกระแสน ในเวลานั้นทั้งบุนจันด้วย แต่บุนจันว่าเวลาที่ยิงกันอยู่นั้น ตัวบุนจันถูกลูกปืนที่หลังออกมาที่ไหล่ลูกหนึ่ง พยานได้เห็นมองสิเออร์ กรอสกุรังนั่งประจุปืน ๖ นัดของเขาอยู่ พยานก็ได้เอาปืนยิงนกของเขามายิงได้ห้าทีหกที และภายหลังพยานได้ถูกลูกปืนอีกหลายลูก และได้เห็นมองสิเออร์กรอสกุรังถูกปืนที่ศีรษะแล้วก็ล้มลงตาย ในเวลานั้น พยานเห็นพวกไทยหลายคนขึ้นไปบนเรือน พยานรู้จักตัวว่าชื่อขุนจำนงค์ฯ ถือขวานฟันหีบของพยานเก็บเอาเงิน ๘๒ เหรียญที่อยู่ในหีบนั้น เก็บทรัพย์สิ่งของอื่น ๆ อีกรวมราคา ๒๕๐ เหรียญของพยาน และเอาหีบของมองสิเออร์กรอสกุรังไปด้วย ภายหลังพยานได้เห็นคนไทยเอาไฟจุดเรือนไหม้ขึ้นมาเกือบครึ่งหลัง พยานทนความร้อนมิได้ จึงได้หนีลงจากเรือน พวกทหารเห็นยกปืนจะยิง แต่ตัวนายได้ห้ามไว้ว่า จะจับเอาไปเป็น ๆ แล้วหลวงอนุรักษ์มือหนึ่งถือดาบ มือหนึ่งมาจับแขนซ้ายพยาน ตัวจำเลยมาจับเอาแขนขวาพยานไว้ แต่หามีความปรากฏว่าได้ถืออันใดไม่ แต่คำโงเย็นวันถันทหารญวนพยานอีกคนหนึ่งให้การว่า เมื่อพยานต้องกระสุนปืนล้มลงแล้ว พยานคลานไปแอบอยู่ริมกอไผ่ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ในที่นั้น หาได้มีผู้ใดเห็นและทำอันใดแก่พยานไม่ ต่อไปอีก ๔ วัน จึงมีผู้พบและจับตัวมาส่งต่อข้าหลวงต่อภายหลัง แต่คำให้การและคำพยานจำเลยเบิกความตรงกันว่าพยานได้เห็นเพลิงติดขึ้นแต่กำลังยังยิงโต้ตอบกันอยู่ ต่อเพลิงไหม้มากเกือบครึ่งหลังแล้ว จึงได้เห็นบุนจันลงเรือนมาร้องขอชีวิตและหยุดการต่อสู้ เมื่อเวลาที่หยุดยิงลงนั้นไฟที่ไหม้เรือนเสียมากแล้ว หาได้มีผู้ใดขึ้นไปเก็บเอาทรัพย์สิ่งใดบนเรือนไม่ และในเวลานั้นเพลิงก็กำลังจัดนัก แม้ใครจะขึ้นไปก็เห็นจะขึ้นมิได้ด้วยความร้อนจัดนัก และพอบุนจันลงมาหาและหยุดยิงกันลง จำเลยและพยานรีบกลับมาลงเรือโดยเร็ว แต่เมื่อกำลังไฟยังไหม้แรงอยู่ จึงหาได้ทันรู้ว่า ฝ่ายทหารญวนจะป่วยตายมากน้อยเท่าใดไม่ ต่อกลับมาถึงค่ายเวียงกระแสนแล้ว จำเลยจึงได้แต่งคนให้กลับไปจัดการฝังศพของมองสิเออร์กรอสกุรังและตรวจเก็บศพผู้ตายทั้งสองฝ่ายทำการฝังเสีย ต่อผู้ไปตรวจนั้นกลับมาแจ้งความจึงได้ทราบว่า ทหารฝ่ายญวนตาย ๑๑ คน ๑๒ คน และนำทหารญวนที่ป่วยมาด้วยคนหนึ่งกับปืนของทหารญวนที่ตายอีก ๕ กระบอก และภายหลังพวกชาวบ้านจึงนำทหารญวนป่วยที่หนีเดินไปได้ทางไกลนั้นมาส่งอีกคนหนึ่ง จำเลยก็ได้บอกส่งอาวุธทั้งปวงที่เก็บได้มาจากคนป่วยเจ็บทั้ง ๓ ไปยังข้าหลวงใหญ่ แต่ตามเวลาที่ได้มานั้นรวมใจความที่เป็นสำคัญตามที่เห็นว่าเกี่ยวกับพระยอดเมืองขวาง จำเลย ผู้ต้องคำหาตามที่พิจารณาได้ในความเรื่องนี้ ดังได้กล่าวมาเท่านี้ จึงได้พร้อมใจกันเห็นว่า ข้อความที่จะต้องตัดสินนั้นควรจะปันเป็นข้อ ปัญหา ๔ ข้อดังนี้
(๑) มองสิเออร์กรอสกุรัง กับพวกญวนที่มาด้วย และจำเลยกับพวกทหารที่ได้ทำการวิวาทรบพุ่งแก่กันกับผู้ใดฝ่ายใด ได้ต้องอันตรายจริงเพียงใด และทรัพย์สิ่งของ ๆ มองสิเออร์กรอสกุรัง และพลทหารต้องเสียหายอย่างใดบ้าง
(๒) พระยอดเมืองขวาง ได้ฆ่าเองหรือสั่งให้ผู้อื่นฆ่ามองสิเออร์กรอสกุรังและพวกญวนเหล่านั้นให้ตาย
(๓) และทำเองหรือสั่งให้ผู้อื่นทำ ให้บุนจันล่ามและทหารญวนให้ต้องบาดเจ็บสาหัสด้วยความรู้และคิดทำร้ายจำเลยให้เก็บริบเอาทรัพย์สมบัติของมองสิเออร์กรอสกุรัง กับบุนจันล่ามและทหารญวนเอง หรือให้ผู้อื่นทำ หรือหามิได้ ด้วยความปรารถนาชั่วของตัวเองกันเป็นโทษผิดตามพระราชกำหนดกฎหมาย จริงทั้งหมดหรือแต่ข้อหนึ่งข้อใดหรือหามิได้
(๔) ถ้าและมีความผิดจริงทั้งหมด หรือช้อหนึ่งข้อใด หรือหาความผิดมิได้ ควรศาลจะปรึกษาวางบทและบังคับจำเลยฉันใดจึงจะชอบด้วยความยุติธรรมและกฎหมาย และถูกต้องตามพระราชบัญญัติพิเศษนี้
เราทั้งปวงได้พิจารณาตรวจค้นในคำหาและคำให้การ และหนังสือต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายส่งมาเป็นพยาน และได้ซักไซ้สอบถามพยานที่ได้มาให้การต่อหน้าเราเอง และได้พยายามจดจำถ้อยคำที่ท่านผู้หาผู้แก้ได้ว่ากล่าวตักเตือนแนะนำทั้งหมดมา โดยความเพียรอันละเอียด ตลอดจนสิ้นกระแสความแล้ว เราทั้งหลายได้เชื่อว่า ความจริงในปัญหาข้อต้นที่ว่าทั้งสองฝ่ายต้องอันตรายจริงนั้นเป็นดังนี้
ในปัญหาส่วนต้น คือมองสิเออร์กรอสกุรัง และพวกทหารได้ต้องอันตรายเพียงใดนั้น มีในคำหาว่า มองสิเออร์กรอสกุรังกับพลทหารญวน แต่ ๑๑ ถึง ๒๕ ต้องปืนตาย บุนจันล่ามเขมร ๑ โงเย็นวันถันทหารญวน ๑ ต้องอาวุธปืนบาดเจ็บสาหัส รวมผู้ที่ว่าต้องอาวุธตามคำหา เป็น ๒๗ คนด้วยกัน แต่ตามคำให้การจำเลยและคำพยานทั้งสองฝ่าย ประกอบเจือความกันควรเชื่อว่าเป็นความจริงได้นั้น คงได้ความว่า มองสิเออร์กรอสกุรัง ๑ กับพวกทหารญวนแดน ๑๒ คน ได้ต้องอาวุธตายกับบุนจันล่ามกับญวน ๒ คนต้องอาวุธป่วยถึงสาหัสที่ตำบลบ้านแก่งเจ๊ก ในเวลาที่ได้วิวาทยิงปืนต่อสู้กันกับทหารไทย ในวันที่ ๓ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ นั้น และฝ่ายข้างทหารไทย ขุนวังผู้เป็นทูตไปพูดการชั้นต้นคนหนึ่ง กับพลทหารต้องอาวุธตายในเวลาที่วิวาทนั้นรวมกัน ๖ คน พลทหารไทยต้องอาวุธป่วยเจ็บ ๔ คนดังนี้ แต่ในคำหาพวกทหารญวนต้องถูกตายในที่วิวาทแต่ ๑๖ ถึง ๒๔ คน ความข้อนี้ คำหาว่าพวกทหารญวนตายมากกว่าที่พิจารณาได้ถึง ๑๒ คน แต่ก็เป็นคำที่ผู้หาแต่สงสัยไม่ยืนยันได้ว่าต้องตายเป็นแน่เสียแล้ว (ก็ ๘ คน) และในคำของมองสิเออร์ลุส ผู้ที่ได้ส่งทหารเข้ามาในที่วิวาทก็ว่าได้ใช้มาแต่ ๒๐ คน ต่ำกว่าคำหาที่สงสัยถึง ๘ คน ๆ ทั้ง ๔ คนนี้ ควรฟังเป็นแน่ได้ว่าไม่มีตัวมาจริง และในคำพยานโจทก์ทั้ง ๒ ปาก ก็เบิกความว่าทหารญวนผู้ที่คิดเห็นว่าน้อยตัวกว่าฝ่ายไทยแล้วไม่อยู่ต่อสู้ หนีตัวไปเสียก็มี และไม่มีคำพยานใดปฏิเสธว่าไม่มีใครหนีมาได้ และคนญวนที่เป็นแต่ต้องอาวุธป่วย ไม่ได้ตายในที่วิวาทก็ ๒ คน คิดดูคนที่พยานโจทก์ทั้งสองอันอยู่ต่างที่กัน ในเวลาวิวาทได้รู้เห็นว่าหลบหนีรอดพ้นไปได้ทั้งสองคนนั้น คงจะไม่น้อยกว่า ๒ คนไปได้ คงเป็นด้วยฟังได้ว่า พลทหารญวนที่ต้องตายในที่วิวาทนั้นไม่เกิน ๒ คนไปได้ มีแต่จะน้อยกว่านั้นได้อีก เพราะบางทีทหารญวนเหล่านั้นจะหนีไปไม่มีใครเห็นอีกก็ได้ ด้วยได้ความปรากฏชัดว่า เมื่อเลิกวิวาทแล้วฝ่ายไทยมิได้คิดติดตามจับกุมอันใดเลย แต่คนที่ต้องอาวุธเจ็บป่วยแล้วยังหนีไปไม่ได้เป็นหลายเวลาต่อไป สิ้นกำลังลงแล้วจึงได้ตัวมา แต่เมื่อภายหลังไม่มีผู้ใดฝ่ายไทยได้จับมาได้เมื่อมีกำลังอยู่เลยดังนี้ เพราะฉะนั้น คำที่จำเลยให้การยืนยันว่าได้แต่งคนไปตรวจศพ และทำการฝังศพผู้ที่ต้องตายทั้งสองฝ่ายซึ่งได้หาพบได้ศพญวนที่ต้องอาวุธตายแต่แดน ๑๒ คน ก็พอสมควรจะเชื่อว่าเป็นความจริงอยู่
ส่วนในปัญหาตอนปลายที่ว่า ทรัพย์สิ่งของ ๆ มองสิเออร์กรอสกุรัง และพลทหารต้องอันตรายจริงเพียงใดนั้น เราได้ตรวจดูในคำหาว่า จำเลยได้ปล้นเองหรือสั่งให้ผู้อื่นปล้นเก็บเอาเครื่องศาสตราวุธกระสุนดินดำ และทรัพย์สิ่งอื่นของมองสิเออร์กรอสกุรัง และบุนจันล่ามไป และได้เผาหรือได้สั่งให้ผู้อื่นเผาเรือนซึ่งมองสิเออร์กรอสกุรัง และพวกทหารพักอยู่และสิ่งของอันอยู่ในนั้นให้ไฟไหม้เสียสิ้นนั้น ความทั้งสองข้อนี้ คงพิจารณาได้ความที่ไม่มีคำคัดค้านปฏิเสธต่อสู้แต่เพียงว่า จำเลยได้สั่งให้ทหารเก็บเอาปืนของพวกญวนที่ต้องอาวุธตาย ๑๐ กระบอกและเกิดไฟติดขึ้นที่เรือนซึ่งมองสิเออร์กรอสกุรังอาศัยอยู่ เมื่อกำลังวิวาทจนหมดสิ้น แต่ยังมีคำต่อเถียงกันอยู่ในข้อที่ผู้ใด “จุดไฟ” ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับปัญหาข้อนี้ ในที่จะต้องวินิจฉัยแต่คำทั้งสองฝ่าย ฝ่ายใดต้องอันตรายและเสียหายเพราะการวิวาทสู้รบกันทั้งนี้เป็นแน่จริงเท่าไร คงได้ความที่คงฟังเป็นจริงไม่ว่าพวกทหารไทยได้เก็บเอาอาวุธปืนที่ทหารญวนผู้ตายถือมาได้ ๒ ครั้ง เป็นปืน ๓๐ กระบอก กับทรัพย์สิ่งของมองสิเออร์กรอสกุรัง และล่ามที่มีมามากน้อยเท่าใด ไม่ปรากฏแน่ได้ และบางทีจะมีทรัพย์สิ่งของ ๆ จำเลย และพวกจำเลยซึ่งพวกฝรั่งเศสได้เก็บจับเอาไว้นั้นติดมาด้วย เพราะในคำมองสิเออร์ลุสได้กล่าวยืนยันเป็นคำชัดว่าจะได้คืนสิ่งของ ๆ จำเลย และพวกจำเลยได้เก็บเอาไว้ให้เมื่อเวลาไปถึงที่ ๆ จะไปส่งนั้น และถ้าคำมองสิเออร์ลุสพูดนั้นเป็นความจริง ทรัพย์สิ่งของทั้งปวงที่สุดที่เป็นของตัวจำเลยเองแท้ ๆ ก็คงจะมีในหมู่ของที่มองสิเออร์กรอสกุรังนำมาด้วย แต่ไม่ปรากฏมากและน้อยได้ต้องอันตรายเสียที่ไฟไหม้นั้น หรือบางทีจะมีผู้ได้ไปในเวลาที่วิวาท หรือเมื่อภายหลังบ้างก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นคำตอบปัญหาข้อนี้ต้องตอบว่า มองสิเออร์กรอสกุรังกับพลทหารญวน ๑๑ คน ๑๒ คน ขุนวังคนเมืองท่าอุเทนซึ่งเป็นทูต ๑ คน ทหารไทย ๕ คน ได้ต้องอาวุธปืนตายในที่วิวาทนั้น รวมกันทั้งสองข้างเป็น ๑๘ คนด้วยกัน กับบุนจันล่าม ๑ ทหารญวน ๒ ทหารไทย ๔ ต้องกระสุนปืนเจ็บป่วยในเวลาวิวาทรวมทั้ง ๒ ข้างเป็น ๗ คน กับทหารไทยได้เก็บเอาปืนของทหารญวนที่ตายส่งไปยังข้าหลวงใหญ่ฝ่ายไทย ๑๐ กระบอก กับบุนจันล่ามได้ทำลายแผนที่ของมองสิเออร์กรอสกุรังแผ่นหนึ่ง และทรัพย์สิ่งของมองสิเออร์กรอสกุรังกับบุนจันล่ามและพลทหาร หรือบางทีทรัพย์สิ่งของจำเลย ที่มองสิเออร์ลุสจะส่งคืนให้จำเลยไม่ทราบกำหนดมากและน้อยได้ ต้องอันตรายด้วยมีคนลักเอาไปหรือต้องไฟไหม้อันตรธานสูญเสียไปสิ้น ได้ความดังนี้
แต่ในปัญหาข้อที่ ๒ ว่าพระยอดเมืองขวางจำเลย ได้ทำความร้ายตามคำหาทั้ง ๕ ช้อนั้นโดยความรู้และจงใจด้วยความประมาทชั่วอันเป็นโทษผิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายจริงทั้งหมด หรือแต่ข้อหนึ่งข้อใด หรือหามิได้นั้น เราได้พิจารณาตรวจตราในคำหา คำให้การและคำพยาน ฝ่ายโจทก์จำเลยและคำตักเตือน ตลอดจนทั่วทุกอย่างแล้วก็หาได้พบปะข้อหนึ่งคำใด ซึ่งจะเป็นคำยืนยันว่าจำเลยได้ทำการร้ายทั้ง ๕ ช้อนั้น แต่อย่างใดแห่งใดไม่ แม้แต่ในคำที่กล่าวหาที่ต้องยกเอามาเป็นกระทู้ปัญหานี้เอง ก็ไม่กล้ากล่าวคำยืนยันมั่นคงได้ เป็นแต่กล่าวหาแล้วก็กลับลงท้าย เป็นคำสงสัยเสียว่า หรือสั่งให้ผู้อื่นกระทำดังนี้ทั่วทั้ง ๕ ข้อ และในคำทนายโจทก์ที่เจรจาเสร็จการพิจารณานี้ ก็ไม่มีคำสงสัยอันใดเลยในความครั้งนี้ และในความเห็นของศาลนี้เอง ก็เห็นพร้อมกันว่าไม่มี ข้อเหตุอันใดที่ได้รู้ได้ยินมาแล้วในการพิจารณาความนี้จะแนะนำแม้แต่ให้สงสัยในความชั้นนี้ เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายต้องกล่าวโดยคำอันชัดเจนว่า จำเลยมิได้ทำการร้ายทั้ง ๕ ข้อนี้ด้วยตนเลยเป็นแน่แท้ แต่ชั้นนี้ ในคำหาว่าหรือใช้ให้ผู้อื่นทำนั้นเล่า เมื่อมีคำหรือมานำหน้าเข้าก็พาเอาคำนั้นอ่อนไป ไม่เป็นคำยืนยันอันมั่งคงได้ ตรวจดูคำพยานต่าง ๆ ทั้งหมดด้วยกัน ก็ได้พบคำที่แต่แรกบางทีจะเป็นคำที่พาให้เกิดคำหาเหล่านี้บ้าง คือคำพยานบุนจันพยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งได้คัดส่งมาว่าเป็นคำที่พยานให้การต่อมองสิเออร์ปาวีราชทูตฝรั่งเศส เมื่อพยานกำลังเล่าถึงการวิวาทต่อสู้กันอยู่นั้น พยานให้การต่อไปว่าพยานเห็นพระยอดเมืองขวางอยู่ข้างหลังหมู่ทหารและพยานได้ยินเขายุทหารของเขาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น บางทีผู้ต้องหาจะถือสิทธิ์ว่าคำที่ยุนั้นก็เหมือนกันกับคำสั่ง แต่อันที่จริง คำทั้งสองมีความหมายต่างกันทั้งผลและความรับผิดชอบของการนั้นก็ไม่เหมือนกัน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวยืดยาวในข้อความข้อนี้อีก ด้วยบุนจันพยานคนนี้ เมื่อมาสาบานให้การในศาลนี้ ก็ละหลีกความนี้เสีย หาเบิกความถึงไม่ ทนายฝ่ายโจทก์จึงกล่าวหักหลังถามพยานถึงคำ ๆ นี้ พยานให้การต่อมองสิเออร์ปาวี พยานก็ตอบตัดเสียว่า พยานหาได้ยินจำเลยกล่าวยุอย่างใดไม่ และได้อธิบายต่ออีกว่า พยานอยู่ไกลไม่สามารถจะได้ยินถ้อยคำที่จำเลยกล่าวอย่างใดในเวลานั้น ในความสงสัยข้อนี้ก็เป็นอันยุติกันเท่านั้น และคำพยานฝ่ายโจทก์อื่น ๆ ก็มิได้มีอีกอย่างใดในข้อความเช่นนี้ เว้นแต่จะเกิดมาแต่ทางพิเคราะห์เป็นหลายชั้นออกไปดังว่า จำเลยเป็นหัวหน้ามีบรรดาศักดิ์สูงในคนหมู่นั้น เมื่อคนหมู่นั้นทำการอันใดก็จำต้องเข้าใจว่า เพราะทำตามคำสั่งจำเลยนั้น แต่ความคาดคะเนดังนี้ บางทีจะเป็นความสำคัญควรฟังได้ แต่ในที่นี้มีคำพยานมาชี้แจงเหตุผลให้ความสำคัญในความคาดหมายอย่างนี้หาน้ำหนักมิได้ โดยเหตุต่าง ๆ มาประกอบกัน ดังจะได้ชี้แจงต่อไปในข้างหน้าเมื่อถึงเวลาจะกล่าวถึงข้อความเหล่านี้ จะต้องสอบสวนพิจารณาด้วยคำพยานที่เป็นคำยืนยันตรง ๆ ให้สิ้นกระแสความเสียก่อน แต่คำพยานโจทก์ทั้งปวงก็หามีคำใดที่จะเป็นคำยืนยันว่า ได้รู้เห็นหรือได้ยินจำเลยว่าได้สั่งได้ใช้ผู้ใดให้กระทำการตามข้อหาทั้ง ๕ อย่างนี้แต่อย่างใดไม่ แต่มาปรากฏมีขึ้นในคำพยานนายทุ้ย นายทหารพยานจำเลยอีกแห่งหนึ่งว่า พยานได้ยินจำเลยสั่งให้ทหารเก็บเอาปืนของพวกทหารญวนที่ต้องอาวุธตายอยู่ในที่รบไปด้วยอีกแห่งหนึ่ง ในคำให้การของจำเลยให้การรับว่า เมื่อทหารไทยต้องปืนที่ยิงมาแต่ในเรือนที่มองสิเออร์กรอสกุรังอยู่ล้มลงอีก ๒ คน จำเลยกับนายทุ้ยนายแปลกก็สั่งให้ทหารยิงโต้ตอบต่อสู้บ้าง แต่ในความข้อนี้ในคำพยานนายทุ้ยนายแปลก นายทหารเบิกความแตกต่างไปว่า เมื่อพยานเห็นทหารต้องปืนล้มลง พยานจึงพูดปรึกษากับพระยอดฯ ว่า เมื่อฝรั่งเศสยิงเอาทหารตายลงไปเป็นหลายคนฉะนี้ ก็จำเป็นจะต้องสั่งให้ทหารยิงต่อสู้บ้าง จำเลยก็เห็นชอบด้วย นายทหารทั้งสองจึงได้สั่งให้ทหารยิงต่อสู้ แต่พยานหาได้ยินจำเลยสั่งด้วยไม่ คำพยานนายทหารทั้งสองนี้น่าจะเป็นความจริงมาก ด้วยเป็นการสมกับเหตุผลที่ควรจะเป็นจริง เพราะตัวจำเลยเวลานั้นเป็นแต่ที่ปรึกษาเท่านั้น มิได้เป็นผู้บังคับทหาร และมิได้มีอำนาจหรือหน้าที่ ๆ จะทำการตั้งที่มารับนั้น และการที่จำเลยให้การรับดังนี้ก็เห็นได้อยู่ว่า เพราะโดยจะอวดดีว่ามิได้ปล่อยให้นายทุ้ยนายแปลกรับผิดชอบผู้เดียวในการที่ไปอยู่ด้วยกันเท่านั้น แต่ถึงจะจริงอย่างไรก็ดี เมื่อจำเลยให้การรับต่อศาลดังนี้ ศาลก็จำต้องฟังเอาว่าเป็นคำรับตามที่จำเลยให้การไว้นั้น แต่ก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาตามผลแห่งการที่มีแต่คำสั่ง ซึ่งจำเลยรับนั้นว่าจะมีผลได้ประการใด และการที่สั่งนั้นจำเป็นต้องรับผิดชอบเพียงไร ฟังเอาตามคำให้การและพยานที่มีหลักว่าเป็นความจริงนั้น ในเวลานั้นตัวจำเลย แม้เป็นข้าราชการมีบรรดาศักดิ์สูงกว่านายทหารทั้งสองก็จริง แต่ที่มีอำนาจและหน้าที่แต่ที่ในเขตแขวงเมืองคำเกิดคำม่วนเท่านั้น ถ้าจำเลยจะได้ทำการดังนั้นในเมื่อมองสิเออร์ลุสแรกมา ก็จะได้รับผิดและชอบเต็มตามที่ได้ทำนั้น แต่เมื่อพยานเกลือกจะยอมตัวให้พวกทหารญวนขับไล่และคุมมาส่งจนสิ้นแขวงและหน้าที่ของตัวแล้ว แม้ว่าจะรอดพ้นอำนาจมองสิเออร์กรอสกุรังไปได้และไปอยู่ที่ใด ก็เป็นแต่ผู้อาศัยกำลัง และอำนาจผู้อื่น มีนายทุ้ย นายแปลกเป็นต้นเท่านั้น และว่าคำสั่งของหลวงวิชิตสารศาสตร์ ผู้ถืออำนาจบังคับการทั้งฝ่ายทหารพลเรือน ในแขวงเมืองท่าอุเทน ซึ่งเป็นที่วิวาทรบสู้กันอยู่นั้น และทั้งแขวงเมืองคำม่วนที่จำเลยรักษาอยู่แต่ก่อนด้วยกัน ก็มีความชัดว่า ให้นายทหารทั้งสองเป็นผู้ถืออำนาจที่จะทำการตามคำสั่งนั้น ตลอดจนความเข้าใจว่าเวลานั้นจำเลยจะยังเป็นเชลยอยู่ และท้ายคำสั่งที่ขยายความออกไปว่า ถ้าจำเลยออกจากอำนาจฝรั่งเศสได้แล้ว ก็ให้ปรึกษาหารือกันคิดอ่านขับไล่ฝรั่งเศสให้ออกไปให้พ้นพระราชอาณาเขตได้ตามคำสั่งนี้ ก็ให้จำเลยเป็นแต่เพียงที่ปรึกษาเท่านั้น เพราะเหตุที่จำเลยได้รู้จักผู้คนแล้ว เหตุผลและการงานในแถบนั้นมากกว่านายทหารทั้งสองจะรู้ได้ และโดยความที่เป็นจริงในการที่ไปทำการทั้งนั้น จำเลยก็เป็นแต่เพียงผู้นำทางและที่ปรึกษาไปเท่านั้น เขตกำลังทหารที่ไปก็เป็นคนในบังคับฝ่ายทหารทั้งนั้น พวกจำเลยมีไปเพียง ๑๘ คน ๑๙ คน และมีอาวุธปืนไปแต่สองกระบอก พอเป็นเพื่อนตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้นแม้ว่าจำเลยจะได้มีคำสั่งจริง ดังคำให้การก็ดี ในเวลานั้นจะมีผู้ที่จะทำตามบังคับได้ก็แต่สองคน และก็ไม่ได้ความว่าคนทั้งสองนั้นหรือผู้ใดได้ทำตามคำสั่งของจำเลย คนที่ทำการก็มีแต่พวกทหารที่ทำตามคำสั่งของนายทหารเท่านั้น และในที่สุดแม้ว่าจำเลยจะต้องร่วมการรับผิดชอบกับนายทหารทั้งสองในการที่ยิงต่อสู้นั้น ก็เป็นแต่เพียงทำการตามบังคับของข้าหลวงใหญ่เพื่อจะรักษาราชการ และรักษาอาณาเขตของบ้านเมืองตน ตามหน้าที่พนักงานของตัวที่ต้องทำเช่นนั้น จำเลยและนายทหารทั้งสองก็ได้ทำการโดยโอบอ้อมอดทน ได้ตั้งให้ขุนวังไปขอเจรจาว่ากล่าวชี้แจงร้องขอแต่โดยดี เพราะมิได้มีความปรารถนาจะให้เกิดการวิวาทจนถึงต้องสู้รบแก่กัน ถ้าหากมองสิเออร์กรอสกุรังพูดจาผ่อนผัน แม้แต่จะให้หลวงอนุรักษ์ได้กลับไปแต่โดยดี การที่ต้องเกิดฆ่าฟันกันในวันนี้ แม้ที่สุด ก็ยังไม่ทันมีได้ในทันใดนั้น แต่เป็นกรรมของคนเหล่านั้น เผอิญให้คาดคิดผิดไปว่า พระยอดเมืองขวางคงจะเป็นผู้ใหญ่ถืออำนาจใต้บังคับคนนอกนั้น จึงสำคัญเอาตามเคยว่า คงจะไม่กล้าต่อสู้เหมือนดังเช่นที่เคยเห็น จำเลยเคยยอมให้ข่มขี่มาแต่ก่อน เมื่อครั้งเมืองคำม่วนเป็นต้น เมื่อจับ หลวงอนุรักษ์เป็นที่สุด และมีความเชื่อมั่นเสียว่าถึงอย่างไร ไทยคงจักไม่กล้าสู้ดังเช่นเคยนึกเคยเชื่อมาแต่ก่อน ตามคำพยานญวนและบุนจันให้การไว้นั้น แม้เมื่อได้ยินจำเลยเรียกหลวงอนุรักษ์ให้ไปหา ก็ยังคิดเห็นไปโดยนิสัยทำใจกล้าว่า ถึงพวกไทยจะทำการหักหาญอย่างไร ถ้าชิงยิงเสียให้ตายสักคนหนึ่งสองคน คนอื่น ๆ ก็คงจะพากันแตกตื่นตกใจกลัวหนีไปหมด อนึ่งเคยเชื่ออยู่ว่า ถ้ายิ่งได้ตัวหลวงอนุรักษ์ไว้ในมือเท่าใด พวกไทยก็คงจะยังไม่กล้าทำหักหาญ เพราะต้องเห็นแก่กัน ครั้นเห็นหลวงอนุรักษ์สะบัดมือหลุดไปได้ก็ตกใจว่าไทยสิ้นที่กีด คงจะกำเริบต่อสู้ในทันใดนั้น จึงได้รีบยิงปืนมาปรารถนาจะให้จำเลยและคนเหล่านั้นตกใจกลัวตายบ้าง จะได้หนีไป แต่ความคิดดังนี้ผิดไปด้วยผู้บังคับการในเวลานั้น หาใช่จำเลยไม่ เมื่อนายทหารทั้งสองเห็นทหารตายลงหลายคนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของทหารที่จำจะต้องต่อสู้ อนึ่งก็รู้อยู่ว่าปืนเป็นทางยาว และเห็นฝีมือมองสิเออร์กรอสกุรังประจักษ์อยู่กับตา ถ้าจะนิ่งอยู่หรือจะหนีก็คงจะต้องตายลงอีกมากกว่า จึงได้สั่งให้ทหารต่อสู้ ทหารไทยมากตัวกว่า ผลแห่งการที่สู้รบกัน ก็จำเป็นดังเช่นได้เป็นไปแล้วโดยธรรมดา โดยไม่ใช่ความผิดของฝ่ายจำเลย หรือพวกจำเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงได้เห็นพร้อมกันว่า การที่จำเลยและนายทหารทั้งสอง จำต้องทำนั้น โดยการจำเป็นที่ทหารและข้าราชการทั้งปวงต้องทำไป และในการเรื่องนี้ แม้จำเลยได้ออกปากสั่งการพร้อมกับนายทหารทั้งสองจริงก็ดี คำของจำเลยนั้นก็มิได้เป็นผลอันใดให้ยิ่งและหย่อนไปกว่าการที่จะต้องเป็น เพราะฉะนั้น จำเลยมิควรจะได้รับความผิดหรือชอบในการนั้น
แต่ในการชี้แจงที่ทนายแผ่นดินได้กล่าวอธิบายเมื่อภายหลังนั้น เป็นคำยืนยันว่า ตั้งแต่ต้นมาจำเลยได้ยินยอมยกมอบเมืองคำม่วนให้แก่ฝรั่งเศส ด้วยหนังสือที่จำเลย ที่มีถึงมองสิเออร์ลุส ก็เหมือนเป็นการเข้าใจว่า จะไม่มีการวิวาทสู้รบอันใด และเมื่อเดินทางมาพวกจำเลยกับพวกทหารที่คุมรักษามาส่งก็ได้มาด้วยกันโดยทางไมตรี ครั้นจำเลยมาได้กำลังขึ้นกลับคิดทำอันตรายแก่มองสิเออร์กรอสกุรังดังนี้ เป็นการล่อลวงมาทำร้าย แต่ฝ่ายทนายจำเลยเกี่ยงว่า จำเลยมิได้ยินยอมอย่างไรแต่ต้นมา หนังสือที่จำเลยมีถึงมองสิเออร์ลุส เป็นแต่การกล่าวโทษพวกทหารฝรั่งเศสทั้งนั้น และคำที่ว่ายอมมอบเมืองให้นั้น ความประสงค์หาตรงกันไม่ จำเลยได้มอบอายัดแต่ทรัพย์สมบัติ และการรับผิดชอบในการรักษาบ้านเมือง ในเวลาที่ตัวจำเลยต้องข่มขืนด้วยกำลัง มิให้มีโอกาสจะรักษาราชการตามหน้าที่ของตัวได้เท่านั้น
ฝ่ายเราผู้พิจารณาเห็นความว่า ความในหนังสือที่จำเลยมีถึงมองสิเออร์ลุสนั้น เป็นคำอายัดซึ่งตรงกันกับธรรมเนียมอย่างสยาม เมื่อผู้ใดต้องความข่มขี่ยื้อแย่งทรัพย์สิ่งใด ซึ่งผู้ต้องความข่มขี่เห็นว่าเป็นการไม่ชอบธรรม และผิดกฎหมาย จะคิดว่ากล่าวร้องฟ้องเอาคืน แต่เกรงผู้ใดจะไปทำอันตราย ให้ทรัพย์เหล่านั้นสูญหายหรือกลับกลาย ด้วยเข้าใจว่าผู้ต้องแย่งยื้อได้ยอมให้ จึงทำการอายัดทรัพย์สิ่งเหล่านั้นไว้แก่ผู้ที่สามารถจะคุ้มครองรักษา หรือทำอันตรายแก่ของเหล่านั้นได้ เพื่อจะบอกกล่าวให้เป็นการมั่นคง ว่าตัวมิได้ยินยอมตามการที่ได้ทำนั้น หากจะว่ากล่าวต่อไปขออย่าเพื่อให้ผู้ได้ถือทรัพย์นั้นเป็นสิทธิ์ หรือกระทำให้วิปริตผิดพ้นไปเสียก่อน เวลาอันจะว่ากล่าวได้นั้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมอันได้ใช้และเข้าใจกันอย่างเช่นว่ามานี้ ทั่วทั้งแผ่นดินสยามรู้และเข้าใจกันอยู่ด้วยกันเป็นอันมาก และในการเรื่องนี้เห็นว่า พระยอดเมืองขวางรู้สึกตัวอยู่ว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ ได้รักษาและป้องกันเมืองปลายพระราชอาณาเขตที่ติดต่อกับเขตแดนต่างประเทศ ครั้นเมื่อมีผู้มาแย่งชิงขับไล่ ตนเห็นว่าไม่มีกำลังพอหรือไม่มีความกล้าสามารถจะรักษาหน้าที่แห่งตน ด้วยการต่อสู้ด้วยกำลังและฝีมือได้ จึงคิดเห็นความฉลาดที่จะทำคำอายัดทรัพย์ สมบัติ และราชการที่ตนไม่สามารถจะรักษาไว้ได้ด้วยกำลังนั้นต่อไป ในทางความและกฎหมายแก่ผู้ที่ตนถือว่า มายื้อแย่งโดยการที่ผิดนั้น เพื่อจะได้ว่ากล่าวเอากลับคืนโดยทางราชการต่อไปเท่านั้น
เพราะฉะนั้นถ้าทนายฝ่ายโจทก์จะถือว่าเวลานั้นจำเลยมิได้คิดจะทำการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธแล้ว จึงได้ทำหนังสือมอบหมายนั้นก็ควรอยู่ แต่ซึ่งจะถือว่าเป็นการยินยอมยกให้เหมือนหนังสือสัญญาแล้วและอำนาจอันควรจะว่ากล่าวโดยทางไมตรี หรือรบสู้ต่อตีเอาที่เหล่านั้นคืนของแผ่นดิน จะพลอยเป็นหมดขาดไปด้วยนั้น ก็เป็นการที่เข้าใจผิดโดยแท้ หาทางแก้มิได้ ความที่จริงควรจะเข้าใจว่า หนังสือนั้นจำเลยได้มีเพื่อประสงค์จะแสดงการไม่ยินยอม และคิดจะว่ากล่าวเอาคืน เมื่อมีโอกาสจะทำได้จึงจะชอบ แม้หากว่าจะเป็นสัญญายินยอมจริง พระยอดเมืองขวางก็ไม่มีอำนาจอันใดจะไปทำยอมแทนแผ่นดินได้ เพราะฉะนั้นการที่จะอ้างเอาหนังสือฉบับนั้นว่าเป็นประกันการต่อสู้ ซึ่งจะมีต่อไป หรือว่าเป็นการยกอำนาจที่กรุงเทพฯ ยังเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในที่นั้นไปให้แก่ฝรั่งเศสโดยอำนาจอันเลวไม่ได้เลย หนังสือฉบับนั้นคงฟังเป็นใช้ได้เพียงเสมอคำอายัดตามกฎหมายเช่นเคยใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งแผ่นดินสยาม ดังได้แสดงมาแล้วเท่านั้น
เพราะฉะนั้นซึ่งจะกล่าวว่า จำเลยมิได้คิดพยายามจะล่อลวงทหารฝรั่งเศสทหารญวนเข้ามาเพื่อจะทำอันตรายอันใดนั้น หาหลักและพยานมิได้ มีแต่พยานที่จะประกอบให้เห็นปรากฏว่าจำเลยมิได้คิด และมิได้ปรารถนาจะวิวาทหรือแม้แต่จะต้องเกี่ยวข้องอันใด และการที่ต้องกลับไปในที่วิวาท ก็เพราะความจำใจที่จะต้องไปตามคำสั่งเท่านั้น การใดที่ทำตามใจจำเลยแล้ว ก็มีแต่จะคิดออกห่างให้พ้นจากพวกฝรั่งเศส และญวนไปโดยเร็วและไกลเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายเชื่อว่า การทั้ง หลายที่ได้เป็นไปโดยความจำเป็น และผิดพลาดจากความคิดและความมุ่งหมายของจำเลยทั้งสิ้น
ข้อ ๓. ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยได้สั่งให้ปล้นและริบเอาเงินตราและทรัพย์สมบัติของมองสิเออร์กรอสกุรัง หรือบุนจัน หรือพวกญวนที่มาด้วยผู้ใดนั้น หรือจำเลยได้มีคำสั่งให้เอาไฟเผาเรือนก็ดี ในข้อความทั้งสองข้อนี้เราได้ตรวจตราโดยตลอดแล้ว ก็มิได้เห็นว่า คำพยานอันมีเกี่ยวข้องกับจำเลยแต่ข้อหนึ่งคำใด แม้เหตุที่จะควรสงสัยว่าจำเลยน่าจะได้มีคำสั่งดังนั้นด้วยเหตุใดก็หามิได้ จะทำการลอบลักเอาทรัพย์สิ่งของอันใดหรือเอาไฟจุดเรือนขึ้นจริง แต่จำเลยมิได้รู้เห็นด้วย ก็เอาเป็นความผิดแก่จำเลยหรือว่าจำเลยได้ทำเอง หรือให้ผู้ทำก็มิได้ และโดยความสัตย์จริงที่พิจารณาได้ที่คำยืนยัน ก็แต่บุนจันพยานว่า พยานได้เห็นคนไทยจุดไฟขึ้น แต่พยานก็ว่าจำหน้าจำตัวมิได้ พยานทนความร้อนมิได้จึงได้กระโดดลงมา แต่พยานฝ่ายจำเลยปฏิเสธว่าไม่เห็นใครขึ้นบนเรือนเลย เห็นแต่ไฟติดขึ้นข้างหลังเรือน แต่ไม่แจ้งว่าผู้จุด และความจริงข้อนี้ศาลก็ไม่มีที่อาศัยอันใดนอกจากคำบุนจันผู้เจ้าของทรัพย์ปากเดียว ซึ่งมีคำพยานจำเลยทั้งเจ็ดคำคัดค้านเสียไม่ตรงกัน คงฟังเป็นจริงได้แต่ที่คำพยานมิได้แตกต่างกันว่า ได้เกิดไฟลุกขึ้นจริงในเวลาเมื่อกำลังยิ่งโต้ตอบกันอยู่ และเมื่อหยุดยิงกันไฟลุกลามแรงกล้าเสียแล้ว ผู้ใดจะขึ้นไปเก็บหาอันใดมิได้ จึงพิเคราะห์เห็นว่าคำที่บุนจันว่าเห็นคนขึ้นไปเก็บของแต่ก่อนไฟไหม้ ถ้าดังนั้นก็เป็นเวลายิงกันอยู่ ดูทีว่าไม่มีใครจะกล้าขึ้น อนึ่ง ถ้าพวกข้างชนะขึ้นเรือนได้แล้วจะจุดไฟขึ้นด้วยประสงค์อันใด เพราะที่เหตุที่ควรจะจุดไฟก็แต่เพียงจะทำให้คนที่แอบบังอยู่นั้นไม่อยู่สู้ได้ ดังเช่นบุนจันต้องโดดลงมานั้น แต่ความที่แตกต่างเหล่านี้จะจริงข้างใคร ทรัพย์สิ่งของที่อยู่บนเรือนนั้นก็ต้องอันตราย เพราะไฟไหม้เสียก็มาก และสิ่งของที่อยู่บนเรือนนั้น ก็น่าจะเป็นทรัพย์สิ่งของ ๆ พวกจำเลยเองเป็นอันมากกว่าสิ่งของ ๆ มองสิเออร์กรอสกุรัง และบุนจันเสียอีก เพราะบุนจันเองได้ให้การข้างต้นว่า เมื่อก่อนตัวจะมาได้มอบฝากสิ่งของ ๆ ตนไว้แก่ทหารฝรั่งเศส ซึ่งรับรักษาค่ายไว้ที่ค่ายขนองม้าเมื่อก่อนจะมานั้น และมีคำมองสิเออร์ลุสได้กล่าวความชัดว่า ได้เก็บเอาทรัพย์สิ่งของ ๆ หลวงและของจำเลยพวกจำเลยทิ้งไว้ทั้งสิ้น เพื่อจะส่งให้แก่จำเลย เมื่อไปถึงที่ซึ่งจะให้ไปส่ง โดยประสงค์จะมิให้มีคำกล่าวว่าทหารญวนได้แย่งชิงในกลางทางเมื่อภายหลัง ถ้าและมองสิเออร์ลุสได้พูดโดยคำจริง ก็คงจะได้มอบสิ่งของ ๆ จำเลย และของทั้งหมดให้ไปแก่มองสิเออร์กรอสกุรัง เพื่อจะได้มอบคืนให้แก่จำเลย เมื่อได้ไปถึงที่ ๆ ได้พอใจเขานั้น ถ้าเป็นดังนั้น สิ่งของที่ไฟไหม้เสียนั้นคงเป็นสิ่งของทั้งสองฝ่าย และมีของจำเลยแลพวกจำเลยเองด้วยโดยมาก ซึ่งคนเหล่านั้นไม่น่าจะจุดไฟเผาเสีย เมื่อเวลาเห็นแล้วว่าจะได้ความชนะเป็นแน่นั้น แต่ถ้าบางทีไฟจะได้ไหม้เรือนและสิ่งของโดยเหตุอย่างเดียวกัน เช่นที่บุนจันคิดทำลายแผนที่ ที่เขาให้การเองว่าได้ฉีกทำลายเสียเอง เมื่อเห็นว่าของเหล่านั้น จะได้ตกมาถึงมือพวกไทย หรือจะเป็นโดยเหตุพลั้งพลาดอย่างไรอื่นก็เป็นได้ ด้วยไม่มีคำใดที่จะถือเอาเป็นแน่ในข้อความเหล่านี้ นอกจากความคาดคะเนโดยทางพิเคราะห์เท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นที่เห็นชัดได้ว่า ถ้อยคำบุนจันที่ให้การยืนยันว่าพวกจำเลยได้ปล้นริบเอาทรัพย์สิ่งของและจุดไฟเผาเรือนขึ้น มิได้มีเหตุผลอันที่อันใดที่จำเลยจะต้องรู้เห็นเป็นใจให้ทำหรือมีคำสั่งให้ผู้ใดทำการทั้งสองอย่างนี้ นอกจากการที่ส่งให้เก็บอาวุธของพวกทหารญวนที่ตายในที่รบ โดยเหตุที่เป็นการจำเป็นที่จะต้องนำไปส่งยังผู้ที่เป็นใหญ่ เพื่อเป็นพยานแก่การที่พวกเหล่านั้นได้ทำบังอาจควบคุมกันถือเครื่องศาสตราวุธเข้ามาแย่งอาณาเขตแขวงบ้านเมือง และบุกรุกเข้าทำการอันร้ายกาจถึงภายในพระราชอาณาเขตชั้นใน และเพื่อเป็นการแสดงการที่พวกทหารได้ทำการต่อตีมีชัยนั้น และการที่จำเลยได้ส่งสิ่งของเหล่านี้เข้าไปยังข้าหลวงผู้ใหญ่ตามประเพณีในราชการ และมิได้ถือเอาทรัพย์สิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน หรือให้พวกพ้องผู้ใดจะกล่าวว่าการนั้นเป็นการตีปล้นหรือแย่งชิงผู้ใดนั้นมิได้ เพราะเหตุทั้งปวงที่กล่าวมาแล้ว แต่ต้นจนบัดนั้นตลอดทุกข้อมานั้น ได้ชักนำให้ผู้พิจารณาทั้งหลายเชื่อโดยใจสุจริตว่า จำเลยมิได้มีความผิดแต่อย่างหนึ่งอย่างใดตามคำหา ๕ ข้อ แม้แต่ส่วนหนึ่งขึ้นไป และเราจำต้องกล่าวบัดนี้ว่า พระยอดเมืองขวาง จำเลยผู้นี้หาได้มีความผิด ดังคำที่ทนายแผ่นดินกล่าวหาแต่อย่างใดไม่
เพราะฉะนั้นข้อ ๔ ในปัญหาข้อสุดท้ายซึ่งถามว่า ถ้าจำเลยมีความผิดจริงทั้งหมดหรือแต่ข้อใด หรือหาความผิดมิได้ ควรศาลจะปรึกษาวางบทและบังคับแก่จำเลยฉันใดจึงจะชอบด้วยยุติธรรมและกฎหมาย และถูกต้องตามพระราชบัญญัติศาลรับสั่งพิเศษนี้ ดังนี้นั้น เราทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า เมื่อเราทั้งหลายได้พิจารณามาแล้วโดยละเอียดก็ได้แลเห็นว่า จำเลยไม่มีความผิดข้อหนึ่งข้อใด เมื่อเป็นฉะนั้นควรที่จำเลยจะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาบารมี อันได้โปรดเกล้าฯ ตราไว้ในพระราช บัญญัติศาลพิเศษนี้ในข้อ ๒๔ ซึ่งมีความว่าคำตัดสินนั้นให้เรียงลงไว้ และให้ลงชื่ออธิบดีผู้พิพากษาฯ รอง ๖ นาย กับยกกระบัตรศาลด้วย จะต้องมีคำวินิจฉัยวิสัชนาปัญหาทั้งหลายที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ต้องหาทั้งปวงนั้นตามความอย่างนี้
๑. ผู้ต้องหาว่า มีผิดที่กระทำความร้ายผิดกฎหมายซึ่งกล่าวหาข้อเดียวก็ดี หลายข้อก็ดีนั้น หรือไม่มีความผิด
๒. ถ้าว่ามีคำร้อง ยกเหตุควรทวีโทษต่อผู้ต้องหา หรือว่ามีคำยกเหตุอันควรลดหย่อนโทษ แก่ผู้ต้องหาก็ดี ผู้ต้องหานั้นจะได้กระทำความผิดร้ายผิดกฎหมายในเหตุการณ์อย่างเช่นว่านั้นหรือไม่
๓. ถ้าว่ามีคำให้การแทนผู้ต้องหาว่ามีข้อกฎหมายยอมยกเว้นโทษ ให้เป็นการแก้ตัวได้แล้วประการหนึ่ง ความจริงที่กล่าวอ้างเป็นการแก้ตัว นั้นเป็นอันได้พิสูจน์เห็นจริงแล้วหรือไม่ อีกประการหนึ่งถ้าได้พิสูจน์เห็นจริงแล้ว ความจริงอันนั้นเป็นอันกฎหมายยกเว้นโทษให้เป็นการแก้ตัวได้หรือไม่
ถ้าตามคำวินิจฉัยวิสัชนาที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ปรากฏว่าผู้ต้องหาไม่มีผิดในความร้ายผิดกฎหมายแล้ว เมื่อคำตัดสินนั้นในที่สุดจะได้แสดงว่า ผู้ต้องหาพ้นผิดและให้การปล่อยตัวไป
เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่พนักงานของเราทั้งหลาย ที่จะต้องทำการตามพระราชบัญญัติโปรดเกล้าฯ ตามหน้าที่พนักงานของเรา ในที่สุดคำพิพากษานี้ พระยอดเมืองขวางจำเลยมิได้กระทำความผิดอันใดตามข้อหาที่ทนายแผ่นดินได้กล่าวหาทั้ง ๕ ข้อ ๑๐ กระทง อันมีปรากฏในคำฟ้องตั้งเว้นแต่ว่าได้เตรียมไว้ และจงใจฆ่ามองสิเออร์กรอสกุรังตายด้วยตนเอง ไปตลอดทั่วทุกกระทง จนถึงข้อที่ว่าหรือให้ใช้ผู้อื่นเอาไฟเผาเรือนโรง ซึ่งมองสิเออร์กรอสกุรังและพวกของเขาอยู่ให้ไหม้เสียเป็นอันที่สุดนั้น
เพราะฉะนั้นให้หลวงรัตนาญัปติผู้เป็นยกกระบัตรศาลแสดงการที่จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากอำนาจศาลรับสั่งพิเศษนี้ แต่วันเวลาที่เราได้กล่าวคำตัดสินนี้เป็นเสร็จลง และให้หลวงรัตนาญัปติยกกระบัตรศาลทำการทุกอย่าง เพื่อจะให้กระทำทั้งปวงเป็นสำเร็จตามคำพิพากษาตัดสินนี้
พิพากษาเสร็จ ณ สนามสถิตย์ยุติธรรม แต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒
(ลงพระนาม) กรมหลวงพิชิตปรีชากร | อธิบดีผู้พิพากษา |
(ลงนาม) พระยาสีหราชเดโชชัย | ผู้พิพากษารอง |
(ลงนาม) พระยาอภัยรณฤทธิ์ | ผู้พิพากษารอง |
(ลงนาม) พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ | ผู้พิพากษารอง |
(ลงนาม) พระยาธรรมสารนิตติ์ | ผู้พิพากษารอง |
(ลงนาม) พระยาธรรมสารเนตติ์ | ผู้พิพากษารอง |
(ลงนาม) พระยาฤทธิรงค์รณเฉท | ผู้พิพากษารอง |
(ลงนาม) หลวงรัตนาญัปติ | ยกกระบัตรศาล |
รายงาน
การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง (ครั้งที่ ๒)
ความนำ
การที่ศาลรับสั่งพิเศษตัดสินว่า พระยอดเมืองขวางมิได้กระทำความผิดต่อกฎหมายในการสู้รบกับมองสิเออร์กรอสกุรัง นายทหารฝรั่งเศส ที่บ้านแก่งเจ๊กตั้งคำฟ้องของทนายแผ่นดิน และให้ปล่อยพระยอดเมืองขวางเสียนั้น ปรากฏว่ารัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งถือว่าเป็นชาติมหาอำนาจไม่ยอมรับตามคำตัดสินนี้ จึงขอตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อจะชำระพระยอดเมืองขวางอีกครั้งหนึ่ง ตามหนังสืออนุสัญญา ซึ่งกรุงสยามได้ทำไว้กับกรุงฝรั่งเศส
ศาลครั้งที่สองนี้ตั้งขึ้นเรียกว่า “ศาลผสม” (มิกซ์คอต) มีผู้พิพากษา ๕ นาย คือผู้พิพากษาฝรั่งเศส ๓ นาย ฝ่ายไทย ๒ นาย
ผู้พิพากษาฝรั่งเศส คือมองสิเออร์มองคอต ซึ่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์เมืองฮานอย มองสิเออร์กัมมันต์ ผู้พิพากษารองในศาลอุทธรณ์เมืองไซ่ง่อน และมองสิเออร์ฟูเนล อธิบดีกรมอัยการฝรั่งเศสในเมืองมิโก
ผู้พิพากษาไทย ๒ นายคือ พระยามหาอำมาตย์ กับพระเกษมศุขการี
รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งให้มองสิเออร์เดอเวลส์ อธิบดีกรมอัยการฝรั่งเศสในเมืองไซ่ง่อนเป็นทนายของรัฐบาลฟ้องกล่าวโทษพระยอดเมืองขวางต่อศาลผสม ศาลผสมจึงกำหนดชำระพระยอดฯ ในวันที่ ๔ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๓ มองสิเออร์ดูวาล เนติบัณฑิตฝรั่งเศสซึ่งเคยว่าความอยู่ในเมืองไซ่ง่อนรับเป็นทนายให้พระยอดฯ พร้อมกันนี้กระทรวงการต่างประเทศกับผู้ว่าการแทนราชทูตฝรั่งเศส ได้ปรึกษาตกลงกันตั้งข้อบังคับสำหรับการพิจารณาดังต่อไปนี้
ข้อบังคับสำหรับกระบวนการพิจารณา
ที่จะได้ใช้ในศาลไทยกับฝรั่งเศสผสม
อันเป็นศาลที่จะชำระคดีพระยอดเมืองขวาง
๑. คำฟ้องหาซึ่งเจ้าพนักงาน ผู้เป็นทนายแผ่นดินแต่งขึ้นนั้น จะต้องแจ้งความให้ผู้ต้องหาทราบอย่างน้อยที่สุดก็ต้อง ๓ วันก่อนเวลาที่จะเปิดศาลชำระความนั้น
๒. ศาลนั้นจะต้องนั่งพิจารณาคดีตามวันและเวลา ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาจะได้กำหนดไว้ให้ชำระกันในห้องอันหนึ่งที่สถานทูตฝรั่งเศส
๓. ผู้พิพากษาก็ดี พยานก็ดี บรรดาผู้ที่พูดภาษาไม่เหมือนกันนั้น อธิบดีผู้พิพากษาศาลจะได้ให้มีล่ามใช้ ล่ามนั้นอธิบดีศาลจะให้สาบานว่า จะแปลความซึ่งกล่าวกันในระหว่างผู้ซึ่งพูดต่างภาษานั้นโดยสัตย์โดยจริงตามที่ได้กล่าวกัน
๔. ผู้ต้องหานั้นจะได้มายังศาลโดยไม่ต้องมีเครื่องพันธนาการอันใด ให้แต่มีผู้คุมซึ่งกำกับสำหรับไม่ให้หนีหายเท่านั้น พร้อมกับทนายของผู้ต้องหามาด้วยกัน แล้วอธิบดีศาลจะได้ถามอายุชื่อตำแหน่งซึ่งประกอบ กิจการงาน กับตำบลที่เกิดของผู้ต้องหานั้นแล้ว ก็จะได้บอกให้ผู้ต้องหาเอาใจใส่คอยฟังความซึ่งจะได้ยินต่อไปแล้ว ในขณะนั้นอธิบดีศาลจะได้มีคำสั่งให้ยกกระบัตรศาลอ่านคำฟ้อง ซึ่งยกกระบัตรศาลจะต้องอ่านด้วยเสียงอันดังด้วยแล้ว
๕. พนักงานซึ่งเป็นทนายแผ่นดิน จะได้กล่าวคำอธิบายในเรื่องที่ฟ้องหานั้นแล้ว ภายหลังจะได้ยื่นรายชื่อพยาน ซึ่งควรจะให้มาเบิกความที่ทนายแผ่นดินขอให้สืบหรือตามที่ผู้ต้องหาขอให้สืบนั้น รายชื่อพยานนี้ ยกกระบัตรศาลจะได้อ่านขึ้นโดยเสียงอันดังด้วยแล้ว
๖. อธิบดีศาลจะได้สั่งพยานออกไปอยู่ในห้องหนึ่ง ซึ่งจัดไว้สำหรับพยานพัก ห้ามไม่ให้พยานไปจากห้องนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าไปเบิกความในศาล
๗. ผู้ต้องหานั้น จะต้องถามเอาคำให้การไว้แล้ว จะต้องถามผู้ซึ่งสาบานว่าจะเบิกความตามที่รู้เห็นแต่โดยสัตย์โดยจริง ไม่มีสิ่งอื่นนอกจากความสัตย์แล้ว ยกกระบัตรศาลจะต้องจดถ้อยคำลงไว้กับชื่อพยาน คือชื่อตัวตำแหน่งซึ่งประกอบกิจการงาน อายุ และตำบลที่อยู่ของพยานนั้น
๘. เมื่อได้ถามพยานเบิกความแล้วเป็นคำ ๆ ไปนั้น อธิบดีศาลจะได้ถามผู้ต้องหาว่าจะมีประสงค์ที่จะมีคำคัดค้านท้วงติงคำพยานอันพึงได้ให้การเป็นผิดต่อผู้ต้องหานั้นประการใดบ้าง แต่ห้ามไม่ให้ขัดขวางพยานผู้ซึ่งเบิกความอยู่นั้น ผู้ต้องหาหรือทนายของผู้ต้องหานั้นจะซักถามพยานก็ได้ แต่โดยร้องขอให้อธิบดีศาลถามเมื่อพยานให้การแล้ว และจะว่ากล่าวคำคัดค้านตัวพยานมากเท่าจะกล่าวทักท้วงคำของพยานนั้น ก็ได้เหมือนกันตามแต่ที่จะกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา อธิบดีชักถามพยานหรือผู้ต้องหาได้สำหรับที่จะให้ได้ความซึ่งอธิบดีศาลเห็นว่าจำเป็นจะให้ความจริงปรากฏชัดเจนนั้นด้วย ผู้พิพากษาทั้งหลายก็ดี พนักงานผู้เป็นทนายแผ่นดินก็ดี มีอำนาจที่จะกล่าวถามได้ ตามที่อธิบดีศาลจะยอมอนุญาตให้กล่าวถาม
๙. ในระหว่างเวลาชำระความอยู่นั้น อธิบดีศาลจะฟังคำพยานทั้งหลายและพิจารณาคำหาทั้งปวง ซึ่งปรากฏแก่อธิบดีศาลว่า เป็นการจำเป็นจะต้องไต่สวนให้ความจริงปรากฏชัด
๑๐. เมื่อถามพยานเบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะได้ให้กล่าวว่าแก้ความกันต่อไป พนักงานผู้เป็นทนายแผ่นดินจะได้เป็นผู้ว่าความก่อน และจะได้ชี้แจงเหตุทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่อุดหนุนคำฟ้องหานั้นแล้ว ผู้ต้องหาจะได้ตอบแก้ความนั้นแล้ว จะยอมให้พนักงานผู้เป็นทนายแผ่นดินกล่าวโต้แย้งอีกได้ แต่ผู้ต้องหาหรือทนายของผู้ต้องหากล่าวสู้ความแก้ความเป็นคำหลังนี้สุดแล้ว อธิบดีศาลจะได้ประกาศหยุดนั่งศาล
๑๑. อธิบดีศาลจะเป็นผู้กะข้อกระทงแถลงตามความที่ชำระได้นั้น สำหรับปรับสัตย์ตัดสิน มีใจความในข้อกระทงแถลงอย่างนี้ว่า ผู้ต้องหามีความผิดโดยกระทำการอย่างนั้น ๆ พร้อมด้วยเหตุการณ์ทั้งหลายดังมีในคำฟ้องหานั้นหรือไม่มีผิดเป็นต้นแล้ว จะได้กะช้อกระทงแถลงที่ว่าด้วยเหตุการณ์อันควรลดหย่อนโทษให้เบาลงนั้นหรือไม่มีด้วย
๑๒. เมื่ออธิบดีศาลได้อ่านข้อกระทงแถลงขึ้นแล้ว ผู้ต้องหาก็ดี ทนายของผู้ต้องหาก็ดี และพนักงานผู้เป็นทนายแผ่นดินก็ดี จะมีคำได้ตามความเห็นของตนที่เห็นสมควรว่าจะต้องมีในการที่ยกข้อกระทงแถลงไว้อย่างนั้น ถ้าพนักงานผู้เป็นทนายแผ่นดินหรือฝ่ายผู้ต้องหาขัดข้องร้องไม่ให้ยกข้อกระทงแถลงอย่างที่กะไว้นั้นแล้ว ศาลจะได้วินิจฉัยตัดสินคำขัดข้องนั้นตามความที่กล่าวผิดและชอบแล้ว
๑๓. อธิบดีศาลมีคำสั่งให้พาตัวผู้ต้องหาไปจากที่ว่าความแล้ว ศาลจะได้เลิกแต่ที่นั้นเข้าไปประชุมในห้องที่ปรึกษากัน เพื่อว่าจะได้ปรึกษาปรับสัตย์ตัดสินในข้อกระทงแถลงและในการว่าโทษ
ถ้าเป็นคดีพิจารณาได้ชัดเจนอยู่เสมอนั้น ต้องเป็นไปตามข้อความที่กล่าวไว้ต่อไปนี้
ข้อ ๑ คือว่าการทำลายชีวิตมนุษย์ อันกระทำด้วยความคิดจงใจ ก็มีโทษเสมอกับความร้ายที่ฆ่าคนให้ตาย
ข้อ ๒ บรรดาความร้ายที่ฆ่าคนตายอันกระทำด้วยตั้งใจก่อนแล้ว หรือด้วยจงใจแล้วก็มีโทษเสมอกับการลอบทำร้ายให้เป็นอันตรายแก่ชีวิตมนุษย์
ข้อ ๓ ความคิตตั้งใจไว้ก่อนนั้น คือความคิดหมายอันได้คิดไว้แล้ว ก่อนลงมือทำการที่พยานจะให้เป็นอันตรายแก่ตัวของบุคคลผู้หนึ่งซึ่งหมายไว้ หรือแม้ว่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้ซึ่งได้พบปะความคิดหมายนั้น ย่อมอาศัยแต่ธรรมดาการอย่างนั้นเป็นความรู้ความเข้าใจ
ข้อ ๔ สมรู้เป็นใจในความผิดความร้ายนั้น จะต้องลงโทษเสมอผู้ต้นคิดผู้ลงมือกระทำความผิดร้าย เว้นไว้แต่ที่กฎหมายไว้ให้ลงโทษเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๕ บรรดาผู้ซึ่งประกอบไปด้วยความคิดร้ายด้วยสัญญานัดหมายก็ดี ด้วยข่มขู่รู้ก็ดี ด้วยใช้อำนาจในที่ผิดหรือเกินอำนาจก็ดี ด้วยเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ให้ถึงที่ผิดหรือถึงที่มีโทษก็ดี แล้วและได้ก่อให้เกิดความผิดนั้น จะต้องลงโทษเหมือนผู้สมรู้เป็นใจ ที่มีโทษเสมอกับความผิดนั้น ๆ
บรรดาผู้ซึ่งได้เสาะหามาเป็นเครื่องศาสตราวุธก็ดี เป็นเครื่องมือต่าง ๆ หรือของอย่างอื่นก็ดี สำหรับในการนั้น โดยความรู้แล้วว่าจะได้ใช้ในการนั้น และบรรดาผู้ซึ่งรู้เห็นแล้วได้ช่วยเกื้อกูลหรืออุดหนุนผู้ต้นเหตุ หรือผู้ลงมือในการนั้น โดยที่ได้ตระเตรียมหรือทำให้เป็นที่สะดวกหรือทำให้สำเร็จในการนั้น จะต้องลงโทษเหมือนผู้สมรู้เป็นใจด้วย
ข้อ ๖ บรรดาผู้ซึ่งรู้แล้วเต็มใจ และได้รับไว้ทั้งหมด หรือแต่ส่วนหนึ่งก็ดีอันเป็นสิ่งของโจรผู้ร้ายที่ลักซ่อนมา หรือได้มาเพื่อประโยชน์ที่จะช่วยความผิดความร้ายอันหนึ่งนั้น จะต้องลงโทษเสมอกับผู้สมรู้เป็นใจในความผิดความร้ายนั้น
ข้อ ๗ แม้โทษประหารชีวิตย่อมจะลงโทษแก่ผู้ต้นคิด ผู้ลงมือกระทำความผิดร้ายบางข้อแล้วก็ดี แต่ส่วนผู้รับของโจรผู้ร้ายย่อมเปลี่ยนเป็นลงโทษเพียงจำคุกทำการหนักเป็นนิจ
ข้อ ๘ บรรดาผู้ซึ่งมีความผิดร้าย ลอบทำอันตรายแก่ชีวิตมนุษย์ก็ดี ฆ่าท่านคนในครรภ์นอกครรภ์ก็ดี วางยาพิษก็ดี จะต้องลงโทษประหารชีวิต
ข้อ ๙ การที่ฆ่าคนตายนั้น เมื่อเวลาที่ได้กระทำได้มีความผิดอื่น กระทำด้วยก่อนก็ดีหลังก็ดี หรือพร้อมกันก็ดี จะนำไปให้ถึงโทษประหารชีวิตได้
ข้อ ๑๐ ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งถือเอาสิ่งของที่ไม่ใช่ของตนไปโดยอุบาย ฉ้อโกงแล้วก็มีความผิดเสมอโจร
ข้อ ๑๑ ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งจงใจทิ้งไฟเผาตึกโรงเรือนก็ดี เรือใหญ่น้อยก็ดี โรงร้านร่มบังก็ดี เมื่อเป็นที่คนใดอยู่อาศัย และว่าทั่วไปบรรดาที่อยู่อาศัยของคนจะเป็นของตนก็ดี ของผู้อื่นก็ดี จะต้องมีโทษถึงประหารชีวิต เหตุการณ์อันควรลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลง
ข้อ ๑๒ อันโทษทั้งหลาย ที่ว่าไว้จะได้แก่ผู้กระทำผิดเหล่านั้นตามที่พิจารณาได้ความจริงแล้วนั้น เมื่อศาลเห็นว่า มีเหตุการณ์อันควรลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลงแก่ผู้ต้องหาโทษนั้นแล้ว จะต้องแก้ไขตามความที่ว่าต่อไปนี้คือ
ถ้าโทษว่าไว้ถึงประหารชีวิตแล้ว ศาลจะต้องว่าโทษจำคุกทำการหนักไม่กำหนดพ้นโทษ หรือว่าโทษจำคุกทำการหนักมีกำหนดเวลาพ้นโทษก็ได้ ถ้าเป็นการว่าโทษจำคุกมีกำหนดพ้นโทษแล้วจะต้องว่าโทษจำ ๕ ปีเป็นอย่างต่ำ และ ๒๐ ปีเป็นอย่างสูง ตามกำหนดเวลาในระยะนั้น สุดแต่ศาลจะเห็นสมควร
รายงานชำระพระยอดเมืองขวาง
ในศาลผสมนั่ง ณ ที่ศาลาว่าการ รัฐทูตและกงสุลเยเนอราลฝรั่งเศส
วันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๓ เวลา ๘.๐๐ น. ครั้นศาลประชุมพร้อมกันแล้ว มองสิเออร์มองคอต ผู้เป็นอธิบดีในศาล จึงเรียกพระยอดเมืองขวางมาถาม ชื่อ อายุ และตำแหน่งราชการเสร็จแล้ว จึงได้ชี้แจงข้อหาให้พระยอดเมืองขวางฟังว่า ศาลผสมกันนี้จะนั่งชำระโดยสัตย์สุจริตตามความเที่ยงตรงยุติธรรมทุกประการ แล้วมองสิเออร์ มองคอต อธิบดีศาลจึงถามพระยอดฯ จะให้การรับสารภาพรับเป็นสัตย์ตามคำฟ้อง หรือจะให้การปฏิเสธต่อสู้คำฟ้อง พระยอดฯ ตอบว่า ข้าพเจ้าขอให้ปฏิเสธต่อสู้คำฟ้อง
มองสิเออร์มองคอต อธิบดีศาลจึงสั่งให้ยกกระบัตรศาล อ่านคำฟ้องในภาษาฝรั่งเศสแล้ว ล่ามศาลอ่านคำแปลเป็นภาษาไทยดังต่อไปนี้
คำฟ้องหาพระยอดเมืองขวาง
ข้าพเจ้าผู้เป็นทนายของริปับลิค รับราชการเป็นทนายแผ่นดินในศาลผสมที่กรุงเทพฯ ได้ตรวจดูหนังสือในถ้อยคำสำนวนความ ที่ได้ชำระพระยอดเมืองขวางแต่ก่อนแล้ว และได้พิจารณาตามข้อความ ๓ ข้อ ในหนังสือสัญญาคอนเวนชั่นระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ นั้นแล้ว ขอประทานทำคำฟ้องยื่นตามข้อความดังมีต่อไปนี้
ว่าประมาณสักปีหนึ่งมาแล้ว เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ มองสิเออร์กรอสกุรัง สารวัตรกองทหารเกณฑ์หัด ได้รับคำสั่งให้รักษาตัวพระยอดเมืองขวางขุนนางไทยไปแต่เมืองคำม่วนยังเมืองท่าอุเทนแล้ว ก็สูญหายไปที่แก่งเจ๊กพร้อมกับทหารญวนเกณฑ์หัดหลายคน ซึ่งเป็นพลทหารกองน้อยอยู่ในบังคับของมองสิเออร์กรอสกุรัง เหตุการณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นการตระเตรียมแล้ว และได้มีขึ้นก่อนเหตุอันเป็นทุกข์ร้อนนี้ก็ดี และเหตุการณ์ทั้งหลายที่ได้เป็นอยู่ด้วยกันแล้ว และเป็นที่ติดต่อตามเหตุก็ดี รวมความกล่าวลงได้ดังนี้
ตั้งแต่หลายปีมาแล้ว หัวเมืองลาวในปลายแม่น้ำโขงที่ตั้งอยู่ฝ่ายซ้ายฟากตะวันออกแม่น้ำนั้น ก็เป็นมาแต่ช้านานจะกำหนดนับไม่ได้แล้วว่าเป็นส่วนอาณาเขตของกรุงอานัม ซึ่งอยู่ในความป้องกันของฝรั่งเศส หัวเมืองเหล่านี้ผู้รับราชการของคอเวอนเมนต์กรุงสยามได้บุกรุกเข้าไปถือเอาแล้วภายหลังเป็นการสมควรที่จะจัดการในเขตแดนเหล่านี้ที่สำคัญ ๆ คือ เมืองคำเกิดซึ่งเป็นแขวงสองตำบล คือเมืองคำเกิดและเมืองคำม่วน ที่ได้ขุนนางญวนรักษาการบ้านเมืองอยู่ทั้งสองแห่ง จนถึงปีคริสต์ศักราช ๑๘๘๓ ตรงกับวันที่รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ หรือปีมะแมเบญจศก ๑๒๔๕ จนเวลาที่กล่าวนี้ กรุงสยามเห็นประโยชน์ที่เกิดเหตุยากลำบากอยู่ที่เมืองเว้ และเชื่อว่าจะกระทำการที่เป็นอำนาจได้แล้ว จึงได้ลงมือและทำการเข้าไปในดินแดนนั้น แต่อย่างไรก็ดี ในปีคริสต์ศักราช ๑๘๘๖ ตรงกับปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๕ หรือปีจออัฐศก ๑๒๕๘ นั้น ขุนนางฝ่ายสยามคือพระยอดเมืองขวางได้เข้าไปตั้งอยู่ที่เมืองคำม่วน โดยทางราชการมีตำแหน่งเป็น “ข้าหลวง”
การที่เป็นไปไม่ถูกแบบอย่างนี้ ก็ไม่ล่วงเลยไปจากที่จะชักนำทำให้คอเวอนเมนต์ริปับลิคฝรั่งเศสเพิกเฉยอยู่ได้ ซึ่งเป็นการที่ไม่ช้านัก ฝ่ายฝรั่งเศสก็ได้รู้สึกและจัดการสิ่งทั้งหลายที่จำเป็นจะต้องรักษาผลประโยชน์ของเมืองซึ่งได้อยู่ในป้องกันนั้นให้พ้นอันตราย เหตุฉะนั้นในเดือนพฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ มองสิเออร์ลุส เรสิดังต์เมืองวิน จึงได้รับคำสั่งจากคอเวอร์เนอร์เยเนอราล เมืองอังโดชินให้ไปยังเมืองคำม่วน เพื่อจะให้เข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้นและให้จัดการตามอำนาจของบ้านเมือง ซึ่งนับถือกันน้อยนักมาจนเวลานั้น ให้คืนคงเต็มที่ ครั้น ณ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ผู้แทนของฝรั่งเศสก็ได้ไปถึงหน้าค่าย ซึ่งพระยอดเมืองขวาง ข้าหลวงได้ตั้งอยู่นั้น เพื่อที่จะได้เข้าไปกลับคืนเอาหัวเมืองนั้นว่าเป็นของคอเวอนเมนต์ฝรั่งเศส และเมื่อได้พูดจาว่ากล่าวกันไม่มีผลอันใด มีแต่การกลับกลายไปต่าง ๆ และนิ่งเพิกเฉยเสียแล้ว ครั้น ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม มองสิเออร์ลุสจึงได้ตกลงว่า จะเข้าไปตั้งอยู่ในค่ายเล็กนั้นเอง โดยทางราชการจึงได้บอกให้ขุนนางฝ่ายสยามทราบในขณะนั้นแล้ว และได้เก็บเครื่องศาสตราวุธจากคนของขุนนางไทยนั้นเสีย เพื่อจะไม่ให้เกิดการวิวาทกันขึ้น แล้วบอกว่าจะพาพระยอดเมืองขวางไปจนถึงเมืองท่าอุเทน เพื่อจะป้องกันให้พ้นอันตราย อันจะมีแต่พวกลาวชาวเมือง ซึ่งพระยอดฯ รักษามา เป็นที่มีคนพลเมืองชอบตัวพระยอดฯ น้อยนัก การที่คนพลเมืองไม่ชอบพระยอดฯ นี้ แม้จะเป็นที่พระยอดฯ ได้บอกกล่าวโต้แย้งไว้แข็งแรงแล้วก็ดี ก็ย่อมมีความจริงแน่นอนและโดยพิสดารอยู่ต่างหากอีก เมื่อกระนั้นแล้วก็ควรมีน้ำใจไมตรีเป็นอย่างยิ่งแก่กองทหารอันน้อยซึ่งอยู่ในบังคับนายสารวัตรกรอสกุรัง เป็นจำนวนพลทหารเกณฑ์หัด ๒๐ คน กับเขมรล่ามชื่อ “บุนจัน” นอกจากการที่จะให้กลับไปนี้ พระยอดฯ ได้ยอมแล้ว อีกในเวลาที่ได้กำหนดให้พระยอดฯ ออกจากที่นั้น พระยอดฯ ได้เขียนหนังสือฉบับหนึ่งถึงเรสิดังค์ลุส ซึ่งเป็นหนังสือว่าจะรักษาเกียรติยศไว้จริงอย่างไรไม่ได้ แต่เป็นหนังสือที่มีความหมายว่าเป็นสัญญาอันหนึ่ง ซึ่งผู้ลงชื่อในหนังสือนั้นจะทำลายความเสียโดยไม่มีโทษฉกรรจ์นั้นก็ไม่ได้ แท้จริงพระยอดฯ ได้มอบหมายโดยถ้อยคำมีในหนังสือสัญญานั้น ให้ผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศสรักษาเมืองคำม่วนแลเขตแดนที่ติดเคียงกัน กับทั้งพนักงานต่าง ๆ และชาวเมืองนั้น และได้บอกกล่าวหวงแหนไว้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามตามที่พระยอดฯ รับราชการไปทำเท่านั้น
อีกประการหนึ่งพระยอดฯ ได้บอกให้เรสิดังต์ช่วยส่งหนังสือนั้นไปยังคอเวอนเมนต์ฝรั่งเศสและสยาม เพื่อจะได้พิจารณาความที่เกี่ยงกันนั้นโดยละเอียดแล้ว และมีคำสั่งให้พระยอดฯ ทราบเป็นการสำเร็จเด็ดขาดกันได้ เนื้อความในหนังสือนั้นมีอยู่แทบตรงกับคำต่อคำดังว่ามาแล้ว เป็นหนังสือยอมหย่าทัพ ซึ่งพระยอดฯ ไม่รับทำการที่ตนจะรับผิดชอบเอง แล้วก็เป็นอันปฏิญาณว่าพระยอดฯ จะไม่ทำการเอง ด้วยเหตุนี้ได้มีข้อสัญญาและเชื่อกันโดยสุจริตตามหนังสือสัญญานี้แล้ว กองทหารฝรั่งเศสกับทหารไทยต่างกองต่างรักษาซึ่งกันแลกัน จึงได้ออกจากเมืองคำม่วนมาในเวลากลางวัน วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ครั้นเมื่อเดินทางมาได้ ๕ วัน ในระหว่างเวลานั้นความไมตรีระหว่างตัวนายและพลทหารทั้งสองฝ่าย ก็ไม่ได้ปรากฏว่าขาดน้อยด้อยลง ได้เดินทางด้วยกันมาจนถึงตำบลท่าแก่งเจ๊ก ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าน้ำหินปูนราวสัก ๖๐ กิโลเมตรหรือ ๑๕๐๑ เส้น ห่างจากเมืองท่าอุเทนอันเป็นที่สุดของทางที่เดินไปนั้น การจำเป็นต้องหยุดพัก ณ แก่งเจ๊กนี้ เพื่อจะให้ชาวเมืองรวบรวมเรือที่จำเป็นจะต้องขนของไปตามลำแม่น้ำ มองสิเออร์กรอสกุรังนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรีบเร่งเดินทางในวันหลังสุดแล้ว ก็ได้มีความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเป็นอันมากแล้ว นอกจากความอ่อนใจก็ยังจับไข้ต้องอยู่กับที่นอนตั้งแต่วันที่ได้ไปถึงแก่งเจ๊กนั้นด้วย
ตั้งแต่วันนี้ไป อาการและความคิดของพระยอดฯ ก็ปรากฏเปลี่ยนแปลงไปแล้วด้วย พระยอดฯ เองคิดแต่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ที่จะไปอยู่เสียให้ห่างไกลที่สุดที่จะไปได้จากกองทหารที่รักษาตัว ดูเหมือนว่ากองทหารทำให้พระยอดฯ รำคาญ พระยอดฯ หาได้ไปอยู่กับคนของพระยอดฯ ที่โรงซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับค่ายฝรั่งเศส อันเป็นที่ซึ่งมองสิเออร์กรอสกุรังได้ไปชี้ให้เป็นที่อยู่ของพระยอดฯ นั่นไม่ พระยอดฯ กลับตรงไปที่เรือนร้างของบ้านลาวแห่งหนึ่งใกล้กับแก่งเจ๊กนั้น แล้วอาศัยอยู่ในที่นั้น นายทหารฝรั่งเศสก็ไม่ปรากฏในขั้นแรกว่าเห็นเป็นการสำคัญอย่างใดในการอันนี้ แต่ครั้นได้ทราบความจากล่ามในวันรุ่งขึ้นนั้นว่า นายทหารในกองนั้นอีกนายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาการมา ชื่อหลวงอนุรักษ์นั้นเที่ยวบอกความเล่าลืออันน่าตกใจ และเที่ยวพูดว่าจะให้คนพลเมืองที่อยู่ใกล้แถบนั้น เอาใจออกห่างจากฝรั่งเศสด้วยถ้อยคำว่า จะมีทัพไทยมาต่อตีอีก มองสิเออร์กรอสกุรังจึงได้ตกลงใจว่าจะรีบระงับการที่เป็นเช่นนั้นเสีย โดยที่จะได้ยึดเอาตัวผู้กล่าวคำอ้างอวดไม่จริงนั้นไว้เป็นประกัน เพราะฉะนั้นจึงได้มีผู้นำไปเพื่อประโยชน์อันนี้ยังที่อยู่ของพระยอดฯ และมีผู้ชี้ตัวคนผู้ซึ่งมองสิเออร์กรอสกุรังได้หาตัวอยู่นั้นได้เห็นแล้ว จึงได้มีคำสั่งทหารเกณฑ์หัด ที่ได้ไปกับมองสิเออร์กรอสกุรังนั่งคุมเอาตัวมาด้วยกัน ข้อซึ่งพยานกล่าวว่าการที่กระทำโดยอุตสาหะอันนี้ มีอาการเป็นลักษณะก่อเหตุศึกหรือบุกรุกนั้นไม่ถูกต้องเลย มองสิเออร์กรอสกุรังมีความมุ่งหมายอย่างเดียว แต่ที่จะป้องกันไม่ให้มีเหตุวิวาทกันขึ้นได้และจะให้หยุดเลิกการวิวาท โดยจับกุมผู้ก่อการเล่าถือความอันจะทำให้เป็นการแตกร้าวความสามัคคีซึ่งมีอยู่ในระหว่างกองทหารทั้งสองฝ่ายจนเวลานั้นแล้ว อีกประการหนึ่งไม่ได้ทำการเรี่ยวแรงอย่างหนึ่งอย่างใดเลยแก่ผู้ที่ต้องจับตัวไปคุมขังไว้นั้น ไม่ได้ทำให้เดือดร้อนแก่ตัวผู้นั้นเลย และคำที่กล่าวว่า ตัวผู้นั้นร้องว่าเดือดร้อนนี้ก็ไม่ควรฟังยิ่งขึ้นไปกว่าที่ผู้นั้นต่อสู้ไม่ยอมไปนั้นชอบแล้ว ด้วยมองสิเออร์กรอสกุรังได้ทำแต่ความจริง ที่เอาตัวผู้นั้นไว้ในเรือนที่อยู่อันเดียวกันและจะได้เอาไว้ให้เป็นตัวประกันอยู่เสมอ ยกไว้แต่ที่จะได้ส่งตัวให้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายสยามได้ไปถึงเมืองท่าอุเทน การที่ต้องจับกุมตามเหตุทั้งหลายที่เป็นมาแล้วนี้ ก็ต้องเป็นช่องที่พระยอดฯ แกล้งถือเอาว่า เป็นเหตุที่จะไปให้ไกลจากที่ตั้งใกล้เคียงกองทหารฝรั่งเศสอีกต่อไป ในเวลาอันเดียวกันนั้น พระยอดฯ ได้ไปขอให้มองสิเออร์กรอสกุรังปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์จากที่คุมตัวไว้แล้ว เมื่อได้ทีที่ไม่ยอมตามพระยอดฯ พระยอดฯ จึงได้พาทหารถอยไปจากที่นั้น จนถึงที่ภูเขาชื่อว่าเวียงกระแสน อันเป็นที่คับขันมั่นคง ตามภูมิประเทศนั้นเอง และเป็นหนทางไกลจากแก่งเจ๊กประมาณสัก ๕ ชั่วโมง คนที่นั้นและที่พระยอดฯ กล้าให้การว่าได้พบ โดยไม่ได้นัดหมายกองทหารไทยที่ได้มาจากเมืองท่าอุเทน พระยอดฯ จึงไม่ได้ช้าเลย นำทหารนั้นยกมายังแก่งเจ๊ก คำชี้แจงการที่แกล้งว่าได้พบกองทหารโดยไม่ได้นัดหมายนี้มีหนังสือสำคัญที่ได้นั้นมาเสนอต่อศาลเวลาชำระความครั้งนี้ครั้งแรกแล้ว และให้ถือเอาหนังสือนั้นเป็นข้อสำคัญในความสำคัญในเรื่องนี้ทั้งสิ้น เมื่อออกจากเมืองคำม่วน มายังไม่ทันเต็มสองวัน เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคมนั้น พระยอดฯ ผู้ต้องหานี้แท้จริงได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานฝ่ายสยามที่ท่าอุเทน เป็นความเร่งร้องเรียกด้วยถ้อยคำ ซึ่งทำให้เห็นความคิดที่พระยอดฯ มีอยู่เต็มใจ ในเวลาที่มากับกองทหารฝรั่งเศสอันน้อยที่รักษาตัวมาด้วยกันนั้น พระยอดฯ ไม่ได้กล่าวอ้างถึงหนังสือสัญญาหย่าทัพที่พระยอดฯ พึ่งได้ลงชื่อแล้วนั้นเลย พระยอดฯ ขอไปในหนังสือนั้นให้รีบส่งกองทหารหนุนไปโดยเร่งรีบเดิน แล้วพระยอดฯ จะได้ทำการต่อตีและขับไล่ทหารฝรั่งเศส ไปเสียให้พ้น การที่กระทำอยู่ทั้งนี้เป็นการคิดอุบายคดโกงแท้ และเพียงแต่ความอันนี้ข้อเดียว ก็พอที่จะลงโทษแก่ผู้ประพฤติอย่างนี้ได้แล้ว อีกประการหนึ่งเมื่อหลวงวิชิตสารศาสตร์ ขุนนางที่เมืองท่าอุเทนได้ทราบหนังสือนี้แล้ว จึงได้ส่งกองทหารไปยังแก่งเจ๊กสองกองซึ่งไปรวมกันเข้ากับพวกทหารของพระยอดฯ ที่เวียงกระแสน คำสั่งที่เขียนไป แม้แต่จะไม่ได้ลงชื่อด้วยแล้วก็อ่านเห็นกันที่หลังหนังสือนี้ คำให้การของนายทุ้ยนายทหารผู้ที่กล่าวถึงหนังสือนี้ว่า นายทุ้ยได้รับหนังสือนั้นก่อนเวลาที่ออกจากเมืองท่าอุเทน ฉะนี้ก็ให้เห็นว่าไม่เป็นที่สงสัยในความที่ว่านี้เลย
เมื่อดังนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงการพยายามกระทำความร้ายในอันเดียวกันนั้นด้วย
ในเวลาเช้าวันที่ ๕ มิถุนายน พลทหารอันน้อยของพระยอดฯ เมื่อได้มีกองหนุนมาเพิ่มเติมมาอีก ๒ กองในบังคับบัญชาของนายทุ้ย นายแปลกแล้ว ก็กลับยกไปทางแก่งเจ๊ก กองทัพนี้ก็ประมาณได้ตามคำให้การหลายคำ แม้แต่คำของนายทหารฝ่ายสยาม ก็มีว่าเป็นจำนวนคนค่อนด้วยเครื่องสาตราวุธครบมือกันกว่าร้อยคน เป็นกองทัพอันน้อยนี้ทหารของพระยอดฯ ๒ คน ที่ต้องเก็บริบอาวุธเสียแล้วที่เมืองคำม่วนนั้น ก็เป็นคนถือปืนลำกล้องเป็นเกลียวด้วยกันทั้งสองคน ครั้นกาลล่วงมาได้ ๓ ชั่วโมง กองทัพนี้ก็ได้ไปถึงแก่งเจ๊กพอจวนกับเวลา ขณะซึ่งไปถึงที่นั้นก็ได้ลงมือยิงกันขึ้น เกิดตั้งต้นเผาไฟทั่วไป เรือนที่มองสิเออร์กรอสกุรังอยู่นั้น ก็ทนไฟอยู่ไม่ได้นาน และนายทหารผู้เคราะห์ร้าย และได้ถูกอาวุธมีบาดแผลถึงตาย แต่แรกในเวลาที่ต่อตีกันนั้นก็สูญหายไปในกองเพลิง นอกจากนี้พวกทหารเกณฑ์หัดที่ไปด้วยกับมองสิเออร์กรอสกุรังนั้น ก็ถูกเป็นอย่างเช่นนี้ เกือบหมดด้วยกัน และมีแต่บางคนในพลทหารนั้น สามารถที่จะรอดพ้นไปได้โดยอัศจรรย์เท่านั้น ในคนจำนวนนี้มี ๒ คนคือ บุนจันเขมรผู้ที่ถึงแก่กรรมเสียแล้วด้วยบาดแผลที่ต้องมา กับโงเย็นวันถันผู้ต้องอาวุธเหมือนกันเท่าที่ได้มีตัวอยู่ เมื่อภายหลังการรบกันฆ่าฟันและจุดเพลิงแล้ว พวกที่บุกรุกที่จัดการปล้นสะดม และสิ่งของทั้งปวงที่ยังไม่ได้เป็นอันตรายไปในเพลิง เครื่องสาตราวุธทรัพย์สิ่งของ ๆ พวกฝรั่งเศสนั้น ก็ขนลงเรือพวกไทยไปทันที แล้วกลับเป็นสมบัติของผู้ต้นเหตุที่ทำการมีชัยชนะได้โดยง่ายดายเกินนัก ฝ่ายคำให้การของพยานทั้งสองที่รอดถูกฆ่าฟันนั้น ก็เป็นการหนักแน่แท้ในการข้อนี้ เหตุฉะนั้นต้องระลึกดูในเวลานี้ถึงการเลี้ยงดูอย่างน่าเกลียด เป็นเคราะห์กรรมของคนทั้งสองนี้ ต้องได้รับความเดือดร้อนในเวลาเมื่อเดินทางอันไกล กับการยากแค้นแต่แก่งเจ๊กมาถึงกรุงเทพฯ คือโดยวาจาอันหยาบช้า ต้องได้รับความไม่สบายความข่มเหงกดขี่ และถูกขู่จะล้างผลาญชีวิต เหล่านี้ก็มิละเว้นที่จะไม่กระทำแก่คนทั้งสองนี้เลย ข้อความจริงที่พึงได้ยกขึ้นกล่าวแล้วโดยย่อนี้ก็ว่าตามคำฝ่ายไทยบ้าง และนอกนั้นก็ตามคำพวกญวน ตามที่ได้แสดงออกมาในเวลาที่ไต่สวนกัน และในเวลาการพิจารณาคดีอันนี้ครั้งแรก แต่เมื่อมีข้อความเกี่ยงแย้งกันอยู่ในคำเหล่านั้นเอง และบกพร่องโดยมิได้มีการสืบสวนพยานในฐานถิ่นที่นั้น ก็ต้องถือเอาโดยความพิจารณาอันสุขุม และเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคำพยานอันเป็นลายลักษณ์ที่ให้กล่าวไว้ข้างต้น เป็นหลักฐานที่แน่นอนและกระจ่างชัดยิ่งกว่าคำให้การอันระคนปนกันยุ่งอยู่มากนักตามธรรมดาเช่นนั้น แล้วก็ดูเป็นที่บังคับว่า มองสิเออร์กรอสกุรังกับพวกทหารเกณฑ์หัดของเขา ถูกกลอุบาย ซึ่งได้คิดตั้งใจจะทำไว้ก่อนแต่นานแล้วโดยตั้งใจคดโกงเตรียมไว้พร้อมแล้ว และกับข้างฝ่ายพวกกรอสกุรัง ได้ยิงพวกทหารไทยแล้วก็ไม่ได้กระทำอย่างนั้นด้วยเหตุอื่น นอกจากจะเป็นการต่อสู้ป้องกันชีวิตโดยชอบ ผู้เป็นต้นคิดในการฆ่าฟันกันตายลงครั้งนี้ก็ไม่ใช่ผู้ใดเลย นอกจากตัวพระยอดฯ ผู้ต้องหาอยู่หน้าศาลนี้เอง การที่พระยอดฯ ได้กระทำมาแต่ก่อนที่เป็นผู้อยู่ในสถานที่ ในเวลาเข้ามารบพุ่ง ที่กระทำการบังคับพลทหารซึ่งอยู่ใต้บังคับของพระยอดฯ และที่พระยอดฯ นำไปแก่งเจ๊กฉะนี้ และในที่สุดที่พระยอดฯ ได้สั่งให้พลทหารยิงนั้น ก็เป็นความจริงอันชัดเจน
ซึ่งในคำให้การของพระยอดฯ เองก็ย่อมปรากฏแล้ว และถ้าคำฟ้องหาไม่เป็นที่สามารถจะพยานให้เห็นจริงได้ ก็เพราะเหตุที่ไม่ได้มีการไต่สวนในทันทีนั้น การที่พระยอดฯ มีความรู้เห็นเป็นใจลงโดยเฉพาะการลอบทำร้ายฆ่ากรอสกุรังนี้ ก็ยอมยกขึ้นฟ้องหาว่าความจริงที่พระยอดฯ เป็นผู้สมรู้เป็นใจ อันจะปฏิเสธไม่ได้เลยในการที่สมรู้เป็นใจโดยช่วยอุดหนุน และช่วยที่สมรู้เป็นใจโดยที่ให้คำสั่งและตามความจริงนี้ พระยอดฯ ก็ย่อมตกอยู่ในการรับผิดชอบยิ่งกว่าผู้ต้นคิด ผู้ลงมือกระทำการผิดการร้ายนี้อีก
ถึงกระนั้นก็ดี จึงไม่เป็นประโยชน์อันใดที่พระยอดฯ จะคิดหามาเพื่อจะแก้คดีให้หลุดพ้นโทษไปว่า มีหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งหลวงวิชิตสารศาสตร์ ได้มีไปถึงพระยอดฯ แต่เมืองหนองคาย วันที่ ๒๐ พฤษภาคม นั้น ด้วยหนังสือฉบับนี้มีคำสั่งอยู่ในนั้น แท้จริงที่เป็นอันก่อเหตุการณ์ที่เมืองคำม่วนไม่มีการเกี่ยวข้องในคดีชั้นนี้
อีกประการหนึ่งก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่พระยอดฯ จะแกล้งกล่าวแก้ความว่า ความตั้งใจเดิมของพระยอดฯ นั้น เมื่อเวลาไปถึงแก่งเจ๊กนั้น ก็พร้อมเพรียงไปด้วยอาการกิริยาและน้ำใจไมตรีแท้และไม่ได้ไปที่ตำบลนั้นโดยอย่างอื่น นอกจากเป็นเสมอนำธงระงับศึกไปโดยสัตย์ เพื่อจะได้ขอให้ปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์เท่านั้น ด้วยย่อมทราบกันอยู่ว่า ผลอันใดเล่าบังเกิดขึ้นในการแสร้งทำเป็นไปว่ากันโดยไมตรีคราวนี้ อันเป็นการที่กระทำกันที่ตรงหน้ากองทัพย่อม ๆ จริงในวันนั้น
เพราะเหตุฉะนี้ผู้มีชื่อพระยอดเมืองขวาง อายุ ๔๐ ปี เป็นขุนนางไทยเดิมของข้าหลวงเมืองคำม่วนและคำเกิดที่เมืองนครสวรรค์ในกรุงสยาม ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ กรุงเทพฯ นี้ ต้องหาว่า
๑. เป็นผู้ที่ได้กระทำโดยพลการเอง ได้เป็นผู้สมรู้เป็นใจคบคิดทำร้ายแก่ชีวิตในตัวกรอสกุรัง สารวัตรทหารเกณฑ์หัด เป็นนายทหารฝรั่งเศส มีตำแหน่งอยู่ในแขวงแดนญวน และเป็นผู้ยุยงส่อเสียดทำกลอุบายในการเป็นอันตรายแก่ชีวิต และเป็นผู้ให้คำสั่งแก่ผู้ลงมือกระทำการนี้ และเป็นผู้พาเครื่องสาตราวุธและช่องทางที่จะกระทำนั้น โดยย่อมรู้ว่าจะเป็นสิ่งพึงใช้ในการนี้ และเป็นผู้รู้แล้วอุดหนุนและช่วยลงมือทำการนี้ ความจริงที่ได้ตระเตรียมให้สะดวกส่งเสริมขึ้นให้กระทำสำเร็จได้ ที่ตำบลแก่งเจ๊ก แขวงเมืองท่าอุเทน เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ในเหตุการณ์ทำอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งได้กล่าวมานั้นก็เป็นอันได้คิดตั้งใจกระทำแล้ว
๒. เป็นผู้ที่ได้กระทำโดยพลการเอง ให้เป็นใจคบคิดตามเหตุการณ์ในกาละและเทศะอันเดียวกัน และตามทางอย่างเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้ว กระทำการผิดการร้ายที่จงใจทำอันตรายแก่ชีวิตในตัวพวกทหารญวนเกณฑ์หัดหลายคนและในตัวล่ามเขมรบุนจัน ในเหตุการณ์ที่ทำอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งได้กล่าวมานั้น ก็เป็นอันได้คิดตั้งใจกระทำไว้ก่อนแล้ว
๓. เป็นผู้ที่ได้กระทำโดยพลการตนเอง ให้เป็นผู้สนใจคบคิดตามเหตุการณ์ในกาละเทศะอันเดียวกัน ลอบลักฉ้อโกงสิ่งของใช้ที่ยกได้ กับเสื้อผ้าเครื่องสาตราวุธ และกระสุนดินดำหลายสิ่ง ทำให้ของนั้นเองเสียไปและเสียแก่ญวนโงเย็นวันถันด้วย และเป็นผู้รู้และริบไว้ทั้งหมดก็ดี หรือส่วนใด ๆ ก็ดี ในสิ่งของที่ลักปล้นไปนั้น
ในเหตุการณ์วันเกิดลอบลักและฉ้อโกงเมื่อภายหลังต่อติดเนื่องกับการกระทำความผิดความร้ายทั้งสองข้อซึ่งได้จารนัยไว้ข้างบนนั้นแล้ว
๔. เป็นผู้ที่ได้กระทำโดยพลการตนเอง ได้เป็นผู้สมรู้เป็นใจคบคิดตามเหตุการณ์ในกาละเทศะอันเดียวกัน แกล้งเผาเรือน โรงลาวซึ่งเป็นที่ใช้อาศัยอยู่หลายหลัง เป็นผู้ให้มีคำสั่งให้กระทำการนี้ และโดยรู้แล้ว อุดหนุน และช่วยผู้ลงมือ ตามความจริงที่เป็นการได้ตระเตรียมให้สะดวก และส่งเสริมให้เป็นขึ้นได้
ความจริงทั้งสิ้นเหล่านี้ ย่อมเป็นการผิดการร้ายและเป็นการสมรู้เป็นใจตามที่ได้วางบทไว้และลงโทษตามข้อความซึ่งมีอยู่ในกฎหมายอาชญาหลวงตามมาตราแจ้งในข้อบังคับ สำหรับกระบวนพิจารณาเป็นการพิเศษในคดีรายนี้นั้นทุกประการแล้ว
เขียนที่กรุงเทพฯ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๓
(เซ็น) ยอช ดูรเวล
ทนายแผ่นดิน
ครั้นยกกระบัตรศาลอ่านคำฟ้องจบแล้ว อธิบดีศาลจึงถามทนายของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า ท่านจะอ้างหนังสือต่าง ๆ มาเป็นพยานกี่ฉบับ และจะอ้างพยานกี่คนด้วยกัน ทนายของรัฐบาลฝรั่งเศสตอบว่า ข้าพเจ้าขอเรียกพยานบางคนมาสืบ กับข้ออ้างหนังสือ ๓ ฉบับ คือหนังสือของพระยอดเมืองขวางถึงกัปตันสุลฉบับ ๑ หนังสือของพระยอดเมืองขวางถึงหลวงวิชิตสารศาสตร์ฉบับ ๑ กับหนังสือของมองสิเออร์เดอแรงเยอร์ฉบับ ๑
อธิบดีศาลจึงชี้แจงแก่พระยอดเมืองขวางว่า บัดนี้พระยอดเมืองขวางต้องตกมาอยู่ในอำนาจของศาลของคนต่างชาติต่างศาสนากับตัวพระยอดเมืองขวาง แต่ให้พระยอดเมืองขวางรู้สึกในใจเถิดว่า ศาลนี้จะพิจารณาโดยทางยุติธรรมทุกประการ
อธิบดีศาล : ตัวท่านได้เป็นข้าหลวงรักษาเมืองคำเกิดคำม่วน ริมปลายแดนญวนมาหลายปีแล้วไม่ใช่หรือ
พระยอดฯ : ใช่
อธิบดีศาล : ตัวท่านได้ปกครองเมืองคำม่วนโดยเต็มสติปัญญาของท่าน เรื่องรักษาผลประโยชน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามดังนั้นหรือ
พระยอดฯ : ดังนั้น
อธิบดี : ตามรายงานของกัปตันรีเวียนั้น ก็ได้ความว่าราษฎรทั้งหลายพากันเกลียดชังท่านมาก ในปี ร.ศ. ๑๑๒ นั้น ท่านได้อยู่ในเมืองคำม่วนเมื่อกัปตันลุสได้รับคำสั่งให้ไปยึดเอาเขตแดนซึ่งเป็นอาณาเขตของญวนไม่ใช่หรือ
พระยอดฯ : ใช่
อธิบดี : ขณะนั้นท่านยังถือว่า เขตแดนเหล่านั้นเป็นของกงสุลสยามอยู่โดยอำนาจอันชอบธรรม และท่านขอให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายวินิจฉัยกันต่อภายหลังดังนั้นหรือ
พระยอดฯ : ดังนั้น
อธิบดีศาล : ตัวท่านก็ละเขตแดนไปคราวหนึ่ง จึงมอบเขตแดนให้ไว้แก่กัปตันลุสโดยทางราชการ กล่าวคือมอบให้แก่กรุงฝรั่งเศสคราวหนึ่งดังนั้นหรือ
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบในการทั้งปวงที่ข้าพเจ้าได้ทำเอง
อธิบดีศาล : ครั้นท่านเขียนหนังสือมอบเมืองให้แก่กัปตันลุสแล้ว ท่านก็ไปเมืองท่าอุเทนหรือ
พระยอดฯ : ดังนั้น
อธิบดีศาล : ท่านมีทหารญวนเกณฑ์หัดรักษาท่านไปด้วย ๒๐ คน ซึ่งมองสิเออร์กรอสกุรังคุมไปไม่ใช่หรือ
พระยอดฯ : ใช่
อธิบดีศาล : ทนายของรัฐบาลฝรั่งเศสหาว่า ท่านมีเจตนาคิดประทุษร้ายต่อทหารญวนเกณฑ์หัด ครั้นล่วงมา ๕ วัน ท่านก็ได้ทหารเพิ่มเติมยกหนุนมาช่วย ท่านเขียนหนังสือถึงหลวงวิชิตสารศาสตร์ ขอทหารกับเครื่องสาตราวุธ ฯลฯ (ศาลอ่านหนังสือของพระยอดเมืองขวาง ถึงหลวงวิชิตสารศาสตร์) เมื่อท่านมอบเมืองให้แก่ฝรั่งเศสนั้นท่านหาได้บอกไว้ว่า ท่านถืออำนาจชอบธรรมในการคิดกลับคืนเอาเมืองอีกภายหลัง เป็นแต่ยอมมอบให้ไว้ กว่ารัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศส จะได้วินิจฉัยตกลงให้เด็ดขาดว่า เขตแดนเหล่านี้ควรเป็นของฝ่ายใด แม้กระนั้นก็ดี เมื่อท่านได้สัญญาตกลงเช่นว่ามานี้แล้ว ท่านกลับเขียนหนังสือถึงหลวงวิชิตสารศาตร์โดยทันที ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านคิดการประทุษเสียคำสัญญา
ทนายจำเลย : พระยอดเมืองขวางไม่สามารถที่จะฟังคำถามของศาลตลอดไปได้ทุกข้อ กับอนึ่งคำว่า มอบอายัดนี้ เห็นว่าศาลเข้าใจผิดไป ตามธรรมเนียมในกรุงสยามนี้ ลักษณะทำสัญญานั้นอย่างหนึ่ง หาตรงกับหนังสือของพระยอดเมืองขวาง ซึ่งทำให้กัปตันลุสไว้ไม่ ข้าพเจ้ากับพระยอดเมืองขวางมอบอายัดเมืองนี้ พระยอดเมืองขวางก็อายัดไว้ตามกฎหมายไทย
พระยอดฯ : ใช่
อธิบดีศาล : ท่านมาทางน้ำหินปูน แล้วหยุดที่บ้านแก่งเจ๊กแล้ว มองสิเออร์กรอสกุรังจับตัวหลวงอนุรักษ์ และได้ชี้แจงเหตุจับตัวหลวงอนุรักษ์ให้ท่านทราบว่า หลวงอนุรักษ์เที่ยวพูดให้ราษฎรตกใจว่าทัพไทยจะยกกลับมาอีก มองสิเออร์กรอสกุรังมีทหารอยู่ด้วยน้อยคน ทั้งมาอยู่ในตำบลซึ่งเขาไม่รู้จักมาแต่ก่อน เหตุฉะนี้จึงเป็นการสมควรที่เขาจะจับเอาตัวหลวงอนุรักษ์นี้ไว้ก่อน ครั้นจับตัวหลวงอนุรักษ์ไว้ได้วันหนึ่งแล้ว ตัวท่านก็ออกจากบ้านแก่งเจ๊กไปเวียงกระแสน ท่านก็พบกองทัพไทยที่นั่น ซึ่งท่านได้ขอให้มาช่วยท่าน ในหนังสือของท่านลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ ทำไมท่านจึงกลับยังบ้านแก่งเจ๊กอีกเล่า ท่านว่าท่านขอให้ปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์ ท่านได้ทำอะไรที่นั่น มองสิเออร์กรอสกุรังไม่ยอมปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์แล้วพยานทั้งปวงก็ให้การร่วมกันว่า มีทหารไทยยกไปอีกประมาณ ๑๐๐ เศษ ล้อมเรือนมองสิเออร์กรอสกุรังอยู่
พระยอดฯ : มีคนไปด้วยกันประมาณ ๕๐ หรือ ๖๐ คนเท่านั้น พวกพยานทั้งหลายคงเข้าใจผิดไป
อธิบดีศาล : ในสมัยนั้นกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ได้ทำศึกสงครามกันแล้วหรือ
พระยอดฯ : ไม่ทราบ
อธิบดีศาล : มองสิเออร์กรอสกุรังก็ป่วยเป็นไข้มาก ดูก็ไม่น่าเชื่อว่า มองสิเออร์กรอสกุรังจะยิงพวกไทยก่อนเลย ท่านจะว่ากระไร ท่านเองก็ได้ให้การไว้ว่า มองสิเออร์กรอสกุรังยิงก่อน
พระยอดฯ : พวกมองสิเออร์กรอสกุรังยิงมาก่อน ถูกขุนวังซึ่งเป็นผู้ไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ตาย
อธิบดีศาล : หากว่าพวกมองสิเออร์ยิงก่อนถูกคนของท่านตายก็ดี แต่ท่านฆ่าพวกมองสิเออร์กรอสกุรังตายถึง ๑๕ คน ท่านให้การว่าเมื่อมาจากเมืองคำม่วนนั้นท่านมีคนมา ๕๐ คน นายทุ้ยนายแปลกมีทหารมาอีก ๕๐ คน ประสมกันเป็น ๑๐๐ คน ดังได้กล่าวมาแล้ว คนของท่านคงต้องมีอาวุธทุกคน
พระยอดฯ : คนของข้าพเจ้า ๑๕ คนเท่านั้น
อธิบดีศาล : ท่านจะเถียงว่ากระไรในข้อที่บุนจันล่ามเขมรกับโงเย็นวันถันทหารญวนผู้ซึ่งให้การแยกกันคนละคราวให้การร่วมกันว่า มองสิเออร์กรอสกุรังป่วยอยู่ในที่นอน แล้วพวกทหารญวนก็ไม่ได้มุ่งหมายเลยว่า พวกไทยจะมาต่อรบด้วย พยานทั้งสองคนนี้ให้การว่าตัวท่านคุมทหารมาเป็นอันมาก แล้วได้ยิงเอาพวกฝรั่งเศสก่อน ที่คะเนเอาว่า พยานทั้งสองจะให้การสมกันนั้นคงไม่ได้ เพราะคนหนึ่งให้การในกรุงเทพฯ คนหนึ่งให้การที่เมืองอื่น บางทีศาลจะคิดว่าคำของบุนจันและโงเย็นวันถันดูจะมีน้ำหนักแห่งความจริงมาก
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ในการที่พยานทั้งสองให้การเช่นนั้น
อธิบดีศาล : บุนจันจะเห็นแก่ผลประโยชน์อันใดในการที่เขาให้การไว้ ตัวท่านเป็นขุนนางมีตำแหน่งอันสูง และคนสุภาพเช่นบุนจันคงไม่มุ่งหมายแก่ผลประโยชน์อันใด ในการกล่าวโทษท่าน
พระยอดฯ : (ไม่ตอบ)
อธิบดีศาล : พระยอดเมืองขวางได้ก่อเหตุในการเอาทหารมาต่อรบฆ่าฟันกันที่ตำบลบ้านแก่งเจ๊ก พระยอดเมืองขวางต้องรับผิดชอบในการอันนี้เอง
ทนายจำเลย : เมื่อท่านออกจากเมืองคำม่วนนั้น กัปตันลุสได้บอกแก่ท่านหรือไม่ว่า ให้ทหารมาป้องกันรักษาท่านตามทาง
พระยอดฯ : ไม่ได้บอก
ทนายจำเลย : ทหารซึ่งนายทุ้ยนายแปลกคุมมานั้น เป็นไทยทั้งหมด หรือคนชาติอื่นบ้าง
พระยอดฯ : มีพวกลาวมากกว่าไทย
ทนายจำเลย : แล้วท่านให้ขุนวังไปขอตัวหลวงอนุรักษ์หรือ
พระยอดฯ : ข้าพเจ้าให้ขุนวังไปขอตัวหลวงอนุรักษ์ เมื่อขุนวังบอกแก่มองสิเออร์กรอสกุรังว่า ถ้าไม่ปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์แล้ว ก็ขาดทางพระราชไมตรีกัน ทันใดนั้นหลวงอนุรักษ์ก็กระโดดลงจากเรือน พวกทหารญวนก็ยิงปืนตามมาถูกขาทหารโคราชคนหนึ่งตาย แล้วพวกทหารญวนก็ยิงมาอีก ถูกทหารไทยตายอีก ๒ คน พวกทหารจึงยิงตอบไปบ้าง ขุนวังก็ถูกปืนตายในที่นั้น
อธิบดีศาล : ท่านปรึกษากับนายทุ้ย นายแปลกว่ากระไร
พระยอดฯ : เมื่อข้าพเจ้าเห็นคำสั่งแล้ว ข้าพเจ้าก็บอกแก่นายทุ้ย นายแปลกให้ทำตามคำสั่งเถิด
อธิบดีศาลได้อ่านหนังสือของมองสิเออร์เดอแรงเยอร์ ซึ่งเป็นรายงานเรื่องรบกันที่บ้านแก่งเจ๊ก มองสิเออร์เดอแรงเยอร์ได้ไปเที่ยวสืบถามราษฎรตำบลแก่งเจ๊ก ได้ความแล้วเขียนหนังสือฉบับนี้ แล้วมองสิเออร์ดูวาลจึงคัดค้านหนังสือฉบับนี้เสียว่า ไม่ควรรับเอาไว้เป็นพยานด้วยเหตุว่า มองสิเออร์เดอแรงเยอร์ไม่ได้รู้เห็น หรือได้ยินเอง เป็นแต่คำบอกเล่า อธิบดีศาลจึงวินิจฉัยว่า ศาลก็ไม่รับเอาหนังสือฉบับนี้เป็นพยานต่อไป
ศาลหยุดชำระคดีไปจนวันอังคารที่ ๕ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๓
วันพุธที่ ๑๓ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๓ ก็เป็นวันชี้ขาดชะตากรรมของพระยอดเมืองขวาง โดยศาลซึ่งปราศจากความยุติธรรมของชนต่างชาติ ที่มีอิทธิพลทางการทหารและการเมือง อันเป็นเรื่องที่คนไทยจะลืมด้วยความยากเย็น
คำพิพากษา
ศาลผสมนี้ ซึ่งได้ตั้งขึ้นตามความในข้อ ๓ แห่งหนังสือปฏิญาณ (คอนเวนชั่น) ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งได้ทำไว้ในระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ตรวจดูสรรพหนังสือต่าง ๆ ซึ่งได้อ้างตัวเป็นพยานแล้ว และได้พิจารณาคดีมาในวันที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ในเดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๑๓ เสร็จสิ้นสำนวนแล้ว และตามมูลคติซึ่งได้พิจารณาได้ความจริงแล้วนั้น ได้ความดังจะว่าต่อไปนี้คือ
พระยอดเมืองขวางขุนนางไทยได้เป็นข้าหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม ไปรักษาเขตซึ่งติดต่อกับเขตแดนญวน อยู่มาในกลางเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ กัปตันลุส ข้าหลวงฝรั่งเศส ถือคำสั่งไปบังคับให้พระยอดเมืองขวางถอยกลับไปเสียจากเมืองคำม่วน ซึ่งเป็นเขตแดนของกรุงอานัม (ญวน) มาแต่กาลก่อนช้านานแล้ว พระยอดเมืองขวางได้ขัดขืนไม่ยอมตามคำบังคับของข้าหลวงฝรั่งเศสมาหลายวัน ครั้นถึงวันที่ ๒๓ เดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ พระยอดเมืองขวางก็ยอมโดยดี จึงได้เขียนหนังสือฉบับหนึ่งมอบเมืองคำม่วนคำเกิดให้ไว้แก่กัปตันลุสข้าหลวงฝรั่งเศสไปจนกว่ารัฐบาลไทยและฝรั่งเศสจะตัดสินตกลงกันว่า เมืองทั้งสองนี้ควรจะเป็นของไทยหรือของฝรั่งเศส แม้ว่าการที่พระยอดเมืองขวางยอมมอบเมืองให้ฝรั่งเศสนี้ยังไม่เป็นสิทธิ์ได้ แต่สุดแล้วแต่รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสจะได้เจรจาว่าขานกันต่อภายหลังก็ดี พระยอดเมืองขวางก็ตกลงยอมให้ฝรั่งเศสรักษาเมืองไว้กว่าตนจะได้รับคำสั่งมาใหม่ เหตุฉะนี้พระยอดเมืองขวางจึงยอมไม่คิดการต่อรบกับข้าหลวงฝรั่งเศสต่อไป
ฝ่ายมองสิเออร์กรอสกุรังนายทหารเกณฑ์หัด และผู้แทนตัวกัปตันลุสข้าหลวงฝรั่งเศส มีความไว้วางใจในคำสัญญาของพระยอดเมืองขวางว่าสุจริตจริง ซึ่งเป็นตัวประกันว่าภัยอันตรายจะไม่เกิดขึ้นแก่ตนได้ จึงได้รับอาสาเอาทหารเพียง ๒๐ คนมาส่งจนถึงปลายเขตแดนราวป่า ซึ่งตนมิได้เคยเดินมาแต่ก่อน เมื่อออกเดินทางมาตำบลบ้านแก่งเจ๊กได้สองสามวัน พระยอดเมืองขวางก็มีหนังสือลับฉบับหนึ่ง มาถึงนายร้อยโทอ่ำที่เมืองท่าอุเทน ขอให้นายร้อยโทเห็นแก่ราชการบ้านเมืองให้รีบส่งทหารเครื่องสาตราวุธมาโดยเร็วเพื่อจะได้ต่อรบด้วยฝรั่งเศส
ตามความในหนังสือฉบับนี้ ซึ่งลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ นั้น พระยอดเมืองขวางทำไม่รู้คำสัญญาของตน ซึ่งตนได้เขียนไว้ให้กัปตันลุสได้ ๕ วันล่วงมาแล้วนั้นเสีย ในสมัยนั้นพระยอดเมืองขวางกลับทำลายสัญญาซึ่งตนได้ทำให้ไว้กับฝรั่งเศสโดยชื่นตา หาได้บอกกล่าวให้ฝรั่งเศสรู้ตัวมาก่อนไม่ ตัวพระยอดเมืองขวางเองก็ไม่อาจสามารถจะกล่าวได้ว่า ตนได้รับคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งในเวลาที่คนเขียนหนังสือลับฉบับนั้น ซึ่งเป็นเหตุอันสมควรที่ตนจะกลับทำลายสัญญาเสียได้ ใช่แต่พระยอดเมืองขวางมิได้รักษาความสุจริตซื่อตรงต่อคำสัญญา ซึ่งตนทำไว้ให้แก่ฝรั่งเศสอย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ ที่พระยอดเมืองขวางกลับมีความเต็มใจทำการผิดร้ายต่อกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดผลร้ายต่อไป
ครั้นเดินทางมาใกล้แดนสยามแล้ว พวกไทยและพวกฝรั่งเศสที่มาถึงตำบลบ้านแก่งเจ๊ก จึงได้พากันหยุดยั้งอยู่ที่นั่น ไม่ช้านักมองสิเออร์กรอสกุรังมาถึงบ้านแก่งเจ๊ก หลวงอนุรักษ์ซึ่งเป็นที่ ๒ ของพระยอดเมืองขวาง ก็พยายามกล่าวคำเล่าลือคิดร้ายต่อฝรั่งเศสขึ้น ฝ่ายมองสิเออร์กรอสกุรัง ผู้ซึ่งตกมาอยู่ในท่ามกลางพวกราษฎรซึ่งโง่เขลา อาจจะถือคำเล่าลือนั้นได้ และในตำบลซึ่งประกอบด้วยธรรมเนียมคนป่าดุร้าย ทั้งมีทหารป้องกันตัวอยู่เพียง ๒๐ คนเท่านั้น จึงควรมีอำนาจอันชอบธรรมในการคิดจัดแจงป้องกันรักษาตัวให้พ้นอันตรายได้ และอำนาจอันชอบธรรมนี้จึงตกเป็นหน้าที่ของพวกทหารญวนผู้ซึ่งอยู่ในบังคับของตน เมื่อมีเหตุอันนี้เกิดขึ้นแล้ว มองสิเออร์กรอสกุรังจึงได้รีบจับตัวหลวงอนุรักษ์มาคุมไว้ เพื่อจะมิให้หลวงอนุรักษ์คิดกระทำการชั่วร้ายต่อไป ในการจับตัวหลวงอนุรักษ์ไว้นี้ ก็ต้องเห็นว่ามองสิเออร์กรอสกุรังได้ทำโดยปานกลาง เมื่อชนทั้งหลายลงเนื้อเห็นเชื่อคำบุนจันและโงเย็นวันถันพยาน
ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พระยอดเมืองขวางผู้ได้คิดหลีกหนีไปพักอยู่ให้ไกลจากเรือนที่มองสิเออร์กรอสกุรังพักอยู่ เพื่อจะให้พ้นจากความระวังรักษาชองมองสิเออร์กรอสกุรังนั้น จึงได้หนีไปยังตำบลเวียงกระแสน ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลบ้านแก่งเจ๊กทางเรือ ๕ ชั่วโมง ซึ่งเป็นทางไปยังเมืองท่าอุเทน แล้วรุ่งอีก ๒ วันพระยอดเมืองขวางก็กลับมายังบ้านแก่งเจ๊กอีก คุมทหารมาด้วย ซึ่งเป็นกองทหารที่ได้มาประชุมอยู่ที่ตำบลเวียงกระแสน ตามหนังสือของพระยอดเมืองขวางลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ กองทหารเหล่านี้ว่าตามคำพยานทั้งปวง และเป็นกองทหารซึ่งได้ตั้งล้อมเรือนมองสิเออร์กรอสกุรัง เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ นั้น เป็นกองทหารซึ่งได้ฆ่าฟันมองสิเออร์กรอสกุรังผู้แทนกรุงฝรั่งเศสกับพวกทหารญวนตายเสียโดยมาก
อนึ่ง ข้อที่ทุ่มเถียงว่า ในเวลามีการศึกสงครามอยู่ในระหว่างกรุงสยามและกรุงฝรั่งเศสนั้นไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเวลานั้นกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศสตั้งอยู่ในทางพระราชไมตรีกัน ดังเช่นรัฐบาลทั้งสองได้ยอมรับกันในหนังสือปฏิญาณลงวันที่ ๓ เดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ นั้นแล้ว และในหนังสือปฏิญาณฉบับนี้ที่ข้อสัญญาตกลงกันแล้วว่า มูลคดีซึ่งศาลผสมกันตรวจตัดสินอยู่บัดนี้ ย่อมเป็นการร้ายผิดกฎหมาย เหตุฉะนี้การทำลายเรือนและการฆ่าฟันซึ่งเกิดขึ้นนั้น จะทุ่มเถียงว่าไม่เป็นการผิดร้ายกฎหมายนั้นไม่ได้ แม้มาตรว่าชนทั้งหลายจะยอมรับว่า คำของพระยอดเมืองขวาง และพวกพยานของพระยอดเมืองขวาง ซึ่งให้การไว้ในเวลาพิจารณาเป็นคำจริงก็ดี แท้จริงว่าตามคำของคนเหล่านี้แล้ว ก็ได้ความว่าหลวงอนุรักษ์กระโดดลงจากเรือนเพื่อจะหนีไป ในขณะนั้นทหารญวนคนหนึ่งยิงหลวงอนุรักษ์ แต่ไปถูกทหารชาวโคราชตายคนหนึ่ง และเหตุฉะนี้จึงทำให้พวกไทยคิดโกรธแค้นตอบแทนทันที
ย่อมมีคำกลางถามขึ้นว่า ถ้ากฎหมายยอมรับว่าการซึ่งเราทั้งหลายคิดป้องกันความตาย ในสมัยที่ความตายอันนั้นจะมาถึงตัวเราเข้าแล้ว ก็พึงเห็นได้ว่ากฎหมายจะยอมให้เราทำเฉพาะแต่เมื่อมีเหตุอันจำเป็นแท้เกิดขึ้น ในการป้องกันรักษาตัวเรา ซึ่งตกเป็นหน้าที่ของเราจะต้องทำการอันนั้นได้
แต่กฎหมายมิได้ยอมให้คิดการต่อสู้ เว้นไว้แต่ฝ่ายหนึ่งจะทำการข่มเหงก่อน และเมื่อมองสิเออร์กรอสกุรังป่วย นอนอยู่ในห้องนอนตามคำของพยานทั้งหลายผู้อยู่ด้วยมองสิเออร์กรอสกุรัง และมีทหารญวนป้องกันรักษาตัวอยู่น้อยคน คงจะไม่คิดการข่มเหงต่อรบด้วยกองทหารซึ่งมากกว่า ซึ่งมาตั้งล้อมอยู่ในเวลานั้นเลย
เมื่อพิเคราะห์ดูกองทหารไทยและญวนฝ่ายหนึ่ง และมองสิเออร์กรอสกุรังกับพวกทหารอันน้อยตัวฝ่ายหนึ่งแล้ว ก็อาจแลเห็นความจริงได้โดยง่าย และยกพลซึ่งแตกแยกในคำของบุนจันและโงเย็นวันถันเสีย ซึ่งได้ถามคนละครั้งและคนละแห่ง (ซึ่งเป็นการที่ให้แลเห็นชัดได้ว่า ไม่ต้องมีความสงสัยว่าพยานทั้งสองนี้จะได้ซักซ้อมสมยอมกันไป) ศาลก็อาจลงเนื้อชี้ขาดได้โดยดี
การจับตัวหลวงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นการยุติธรรมชอบด้วยกฎหมายดังได้ชี้แจงมาเบื้องต้นแล้วนั้น กลับเป็นเหตุยกขึ้นอ้างอิง ในการต่อรบด้วยมองสิเออร์กรอสกุรังผู้แทนกรุงฝรั่งเศส การมาขอตัวหลวงอนุรักษ์นี้ก็เป็นกลอุบายที่กองทหารผู้ถืออาวุธครบมือ ด้วยกิริยาอันองอาจขู่ข่มเข้ามาล้อมเรือนมองสิเออร์กรอสกุรัง อนึ่งที่ซึ่งกล่าวว่าได้ยิงปืนออกมาก่อน จะอยู่ข้างฝ่ายใดก็ดี ก็แลเห็นได้ชัดว่าพวกกองทหารเหล่านั้นได้เตรียมการสู้รบมาพร้อมมือแล้ว ภายหลังจึงได้ยิงเรือนเข้าไป มองสิเออร์กรอสกุรังไม่มีโอกาสคิดป้องกันตัวของตัวได้ ต้องทรมานความตายซึ่งคิดเจตนาไว้ช้านานแล้วโดยวิธีกลอุบายอันชั่วช้าขี้ขลาด การที่พระยอดเมืองขวางสมรู้เป็นใจในการทำร้ายผิดกฎหมายนี้ ก็พิจารณาได้สมจริง ตามคำพยานอันเดียวนี้ทุกประการ
พระยอดเมืองขวาง เป็นผู้นำเอากองทหารเหล่านี้มา พระยอดเมืองขวางเองเป็นผู้ไปคอยท่ากองทหารเหล่านี้ที่ตำบลเวียงกระแสน พระยอดเมืองขวางเองเป็นผู้นำเอากองทหารเหล่านี้มายังตำบลบ้านแก่งเจ๊ก พระยอดเมืองขวางเองได้สั่งและได้ช่วยกองทหารเหล่านี้ ๆ จึงได้ลงมือกระทำการฆ่าฟันทำลายล้างชีวิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลนี้จะต้องพิพากษาตามผิดและชอบ
แต่ข้อที่พระยอดเมืองขวาง ต้องหาว่าปล้นและเอาไฟเผาเรือนนี้ พิจารณาไม่ได้ความจริงแท้จริง คงเป็นได้ความว่า การปล้นและเผาเรือนนี้พรรคพวกของพระยอดเมืองขวางคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นมนุษย์มีสันดานอันต่ำช้าดังคนป่าดุร้าย ดุจดังที่ศาลได้แลเห็นแล้วในเวลาพิจารณา ได้ทำลงภายหลังการฆ่าฟันทำลายล้างชีวิตเช่นกล่าวมาแล้ว โดยพระยอดเมืองขวางมิได้รู้เห็นด้วย
เมื่อพิเคราะห์ดู แม้ว่าความผิดร้าย ซึ่งพระยอดเมืองขวางได้กระทำล่วงละเมิดลงแล้วนั้น ย่อมเป็นการล่วงละเมิดผิดกฎหมายบ้านเมืองก็ดี แต่เจตนาและความประสงค์ของพระยอดเมืองขวางก็ย่อมผิดกันกับความเจตนา และความประสงค์ของผู้ร้ายฆ่าคนตามธรรมดามาก ด้วยผู้ร้ายฆ่าคนตายธรรมดานั้น ย่อมมีเจตนาและความประสงค์ฆ่าคนด้วยความพยาบาทโกรธแค้น และการรับผิดชอบเช่นนี้ควรได้รับความยุติธรรม และในการยกเหตุอันควรลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาขึ้น ผู้พิพากษาทั้งหลาย ควรวินิจฉัยข้อปัญหาดังจะกล่าวต่อไปนี้โดยยุติธรรม
อธิบดีศาลจึงอ่านข้อปัญหาขัดข้อง ซึ่งผู้พิพากษาลงเนื้อเห็นชี้ขาดแล้วดังต่อไปนี้
๑. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อที่หาว่า พระยอดเมืองขวางได้ฆ่ามองสิเออร์กรอสกุรัง นายทหารเกณฑ์หัดฝรั่งเศสตาย เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ถึงเนื้อเห็นว่า พิจารณาได้ความจริงในข้อนี้
๒. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อหาว่า พระยอดเมืองขวางได้กระทำการฆ่าฟันทำลายชีวิต ด้วยมีเจตนาคิดไว้ก่อนแล้ว
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่า พิจารณาได้ความจริงในข้อนี้
๓. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อที่หาว่า พระยอดเมืองขวางสมรู้เป็นใจในการฆ่าฟันกันตายดังได้กล่าวมาแล้ว โดยการก่อเหตุขึ้นก่อนโดยกลอุบาย โดยมีคำสั่งให้คนร้ายทั้งหลายทำการฆ่าฟันกันตาย โดยหาเครื่องสาตราวุธให้คนร้ายเหล่านั้นด้วยตนเอง ว่าเครื่องสาตราวุธเหล่านี้จะต้องเอามาใช้ในการฆ่าฟันกันตายดังนี้และโดยช่วยอุดหนุนคนร้ายทั้งหลายด้วยตนเองรู้อยู่เต็มใจแล้วว่า คนร้ายเหล่านั้นได้เตรียมการและได้ทำการฆ่าฟันกันตายลง
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่า พิจารณาได้ความจริงในข้อนี้
๔. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อที่หาว่า มีการฆ่าฟันทหารญวน ๑๕ คน ซึ่งมิได้กล่าวชื่อไว้ภายในสมัยและในที่อันเดียวกัน
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่า พิจารณาได้ความจริงในข้อนี้
๕. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อที่หาว่า การฆ่าฟันกันตายนี้ทำลงด้วยเจตนาจงใจไว้ก่อน
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่า พิจารณาได้ความจริงในข้อนี้
๖. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อที่ว่า พระยอดเมืองขวางได้สมรู้เป็นใจในการฆ่าฟันกันตาย ดังได้กล่าวมานี้
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่า พิจารณาได้ความจริง
๗. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อที่หาว่า พระยอดเมืองขวางได้เก็บเอาเครื่องสาตราวุธปืนและสิ่งของต่าง ๆ ของบุนจัน และโงเย็นวันถันไปโดยความตู่ ฉ้อเอาเสียในสมัยและที่อันเดียวกัน
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นเป็นความจริง
๘. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อที่หาว่า การลักขโมยเครื่องสาตราวุธปืนเหล่านี้ เกิดขึ้นตามการฆ่าฟันกันตาย
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่าเป็นความจริง
๙. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริง ในข้อที่หาว่าพระยอดเมืองขวางได้มีคำสั่งให้ลักขโมยปล้นเอาเครื่องสาตราวุธปืนและสิ่งของอื่น ๆ ด้วยรู้ว่าเอาสิ่งของขโมยเหล่านั้นไปซุ่มซ่อนไว้
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่า พิจารณาได้ความจริง
๑๐. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริง ในข้อที่หาว่าได้มีผู้เอาไฟจุดเผาเรือนของคนลาวขึ้นในสมัยและที่อันเดียวกัน
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่า พิจารณาได้ความจริง
๑๑. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อที่หาว่า พระยอดเมืองขวางได้สมรู้เป็นใจในการเอาไฟจุดเผาเรียนดังว่ามานี้ โดยมีคำสั่งในพรรคพวกทำลง
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่า พิจารณาไม่ได้ความจริงในข้อนี้
๑๒. พิจารณาได้ความจริงหรือไม่ได้ความจริงในข้อที่กล่าวว่า มีเหตุที่ควรจะลดหย่อนผ่อนโทษพระยอดเมืองขวางให้เบาบางลง
ผู้พิพากษาพวกมากกว่า (ฝรั่งเศส) ลงเนื้อเห็นว่า พิจารณาได้ความจริงในข้อนี้
ครั้นอ่านคำชี้ขาด ๑๒ ข้อจบแล้ว อธิบดีศาลจึงพิพากษาตัดสินให้ลงโทษจำคุกพระยอดเมืองขวางไว้ ๒๐ ปี แล้วให้พระยอดเมืองขวางเสียเงินค่าใช้สอยต่าง ๆ ในการตั้งศาลผสมกันชำระหนี้ด้วยจนเต็ม และให้ราชทูตและกงสุลเยเนอราลฝรั่งเศสกำกับดูการลงโทษพระยอดเมืองขวางในเวลานี้ด้วย
ครั้นอธิบดีศาลอ่านคำตัดสินนี้จบแล้ว หลวงจำนงดิษฐการก็แปลออกเป็นภาษาไทยให้พระยอดเมืองขวางฟังจนสิ้นข้อความ แล้วพลตระเวน (ตำรวจ) ก็คุมตัวพระยอดเมืองขวางมาขึ้นรถขังนักโทษเอาตัวมาจำไว้ที่มหันตโทษ
----------------------------