ออกแขก

ธรรมเนียมประโคมออกแขกภายในราชสำนักในยุคก่อน เป็นเรื่องที่ยากหนักหนา ที่ใคร ๆ จะได้เห็นเป็นขวัญตาหรือได้ฟัง โดยว่ามีประโยชน์ในด้านให้ความรู้แสดงถึงภาวะของสังคมชั้นสูงในอดีต จึงขอคัดพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ มาเล่าสู่กันฟัง มีความโดยละเอียดว่า

ธรรมเนียมประโคมออกแขกเมือง อย่างเก่านั้นอย่างนี้เป็นแน่ในจดหมายไว้ทุกหมู่ทุกกรม บรรดาที่จะต้องประโคม อย่าให้ผิดได้เลย ที่อมรินทรวินิจฉัยนั้น มโหรทึกกับปี่อย่างประโคมยาน ยกแต่แตรงอนมาตั้งอยู่มุมท้องพระโรงข้างนอกที่ปี่พาทย์ประโคม พระสงฆ์ฉันเวร แต่สังข์แตรกลองชนะยืนสองแถวอยู่นอกกำแพงแก้ว ครั้นเสร็จออกพระที่นั่งบุษบกขึ้นที่แล้ว ทรงพยักหน้าให้มหาดเล็กรัวกรับ ให้ขุนนางคุกเข่าประนมมือเตรียมกราบพร้อมกัน แล้วชาวที่จึงชักพระวิสูตรสองไขออกแต่ในประจาน พระวิสูตรที่เฉลียงสองข้างนั้นไม่ได้ชัก ครั้นพระวิสูตรชักแล้ว มหาดเล็กลงกรับจังหวะให้ขุนนางถวายบังคม ๓ ครั้ง ๖ จังหวะกรับเสด็จแล้ว มโหรทึกกับปี่ก็ประโคมขึ้น สังข์แตรกลองชนะข้างนอกรับต่อไป แต่ดอกไม้ ทองพุ่มข้าวบิณฑ์กันดาลนั้น เห็นปักอยู่บนฐานตั้งบนม้ารองบายศรี หรือม้าเช่นรองต้นไม้ทองเงิน บางทีก็เห็นไม่มีม้ามีแต่ฐานวางบนพื้น ต่อที่ตั้งดอกไม้ทองลงไปนั้น หลวงราชมนูนายหนึ่ง จ่าหรือหุ้มแพรมหาดเล็กรายงานนายหนึ่ง หมอบเคียงกันประจำอยู่ข้างที่ตั้งดอกไม้ทองด้านตะวันตกมานั้น เจ้ากรมหรือปลัดกรมอาลักษณ์หมอบอยู่นายหนึ่ง แต่เมื่อเวลาเสด็จออกไม่เห็นยกขึ้นชู มโหรทึกแลกลองชนะประโคมอยู่ไม่ได้หยุด สังข์แตรกระทั่งเป็นคราว ๆ เหมือนเมื่อเดินแห่ แต่พวกแตรแลพวกกลองชนะยืนเป็นสองแถว ไม่ได้นั่งตีนั่งเป่า ครั้นมีพระราชโองการตรัสสั่งให้หาแขกเมืองแล้ว กรมวังออกไปหาแขกเมือง เจ้าพนักงานกำกับเข้ามาถึงในท้องพระโรง กราบถวายบังคมแล้ว มโหรทึกก็หยุดก่อน สังข์แตรกระทั่งกรับหยุดมโหรทึกกลองชนะก็หยุดทีเดียวไม่มีเพลงส่งเสด็จ ครั้นประโคมหยุดแล้ว อาลักษณ์เข้ามาประนมมือกราบทูลสรวมชีพเบิกแขกเมืองแล้ว ทรงพระราชปฏิสันถาร อาลักษณ์รับพระราชโองการ แล้วบอกเจ้าพนักงานกรมพระกลาโหม หรือกรมท่าตามทางแขกเมืองมานั้นให้บอกความล่ามแปลให้แขกเมืองฟัง แขกเมืองตอบว่ากระไรล่ามแปลให้เจ้าพนักงานบอก อาลักษ์ให้กราบทูลฉลอง รับสั่งพระราชปฏิสันถารดังนี้ ๓ นัด พระราชทานพระราชโองการดำรัสสั่งเป็นคำเลิก แล้วเสด็จขึ้น ขาวที่ชัก พระวิสูตรกำบังคืน มหาดเล็กลงกรับ จังหวะถวายบังคมลง ๓ ขึ้น ๓ เสรี่จแล้ว ขุนนางลงนั่งที่ แต่ไม่ได้หมอบเมื่อนั้น บางครั้งหลวงราชมนู บางครั้งมหาดเล็กรับดอกไม้ทองกันดาล ประนมมือคุกเข่าหันหน้าเข้ามาต่อพระที่นั่ง เมื่อสุดกรับมโหรทึกกับปีกประโคมขึ้น สังข์แตรกลองชนะประโคมรับต่อไปไม่หยุด แขกเมืองก็ยังหมอบอยู่ ขุนนางที่มีเครื่องยศกินหมากพลูบ้าง บ้วนกระโถนบ้าง ยกคนโทขึ้นดื่มบ้างตามสบาย แต่เจียดนั้นไม่เห็นใครเปิดขึ้น ครั้นอยู่ครู่หนึ่งเจ้าพนักงานนำแขกเมืองกราบถวายบังคมอีก ๓ ครั้ง แล้วจึงคลานถอยกลับออกไป เมื่อแขกเมืองออกนอกประตูยอดหน้าท้องพระโรง ซึ่งบัดนี้เป็นประตูเทวาภิบาลนั้นแล้ว มโหรทึกกับปี่จึงหยุด สังข์แตรกระทั่งกลองชนะประโคมเพลงส่งเสด็จแล้วหยุดยืนอยู่ ต่อแขกเมืองออกไปนอกประตูพิมานชัยศรีแล้ว จึงเลิกทั้งกลาบาด แลกลองชนะ แลขุนนางทั้งปวง ขวักไขว่วุ่นวายกันได้ ฯ

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำได้ว่ามีออกแขกเมืองใหญ่ ๓ ครั้ง ครั้งหนึ่งปีใดจำมิได้ ในต้นแผ่นดินพระยาไทรหรือพระยากลันตันจำไม่ได้ถนัด เข้ามาเฝ้าได้แต่งการรับใหญ่ครั้งหนึ่งเป็นแน่ แต่อะไรอย่างไรจำไม่ได้ถนัดนัก เห็นแต่การคล้าย ๆ กันกับครั้งหลังมา ครั้นปีเถาะเอกศก ศักราช ๑๑๘๑ พระยาไทรให้พระศรีตะวันกรมการ เมืองแประคุมดอกไม้ทองดอกไม้เงิน เข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายเป็นการใหญ่ รับใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นขุนสารประเสริฐเยี่ยม เป็นผู้กราบทูลสรวมชีพ หลวงราชมนูชื่อนายฉิมที่เป็นพระยาวิเศษศักดา แล้วเป็นพระยาอมรศักดาวุธ อยู่ปากน้ำนั้นนายหนึ่ง นายเนียมมหาดเล็กรายงาน ซึ่งภายหลังมาเป็นพระยานรราชมนตรีนั้นนายหนึ่ง กำกับดอกไม้ทองกันดาล เมื่อเวลาเสด็จขึ้น นายเนียมเป็นผู้ถือดอกไม้ทองชูขึ้นจำได้แน่แล้ว ครั้นมาอีกครั้งหนึ่งมิสเตอร์กรอฟัด ที่เจ้าพนักงานกรมท่าขวา เวลานั้นเรียกว่า การะปัก คอเวอเนอร์ เยเนราลอังกฤษ ซึ่งพวกกรมท่าชวาเวลานั้น เรียกว่าเจ้าเมืองบั้งก้าหล่าใช้เข้ามาเจรจาความเมืองดูทางค้าขาย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้รับเป็นการใหญ่ ในปีมะเส็งตรีศก หรือปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช ๑๑๘๓ หรือ ๑๑๘๔ นั้นอีกครั้งหนึ่ง ฯ

ในครั้งนี้การทั้งปวงก็เหมือนแต่ก่อน แต่อาลักษณ์กราบทูลสรวมชีพนั้น มีพระราชโองการให้ยกเสีย เพราะมีพระราชประสงค์จะทรงซักไซ้ไต่ถามไปยืดยาว ครั้นจะให้กราบทูลสรวมชีพอย่างแต่ก่อน ทรงเห็นว่าการจะเริ่มช้าไปเสียเวลา โปรดให้พระยาจุฬาราชมนตรี ชื่อเถื่อนนั้นกราบทูลเบิกแขกเมือง แลรับสั่งโต้ตอบตามธรรมเนียม ครั้งนี้ขุนสารประเสริฐ เอี่ยม ก็มาหมอบเตรียมอยู่ตามที่ แต่ไม่ได้กราบทูลสรวมชีพ หลวงราชมนูฉิมนายหนึ่ง มหาดเล็กนายหนึ่ง นึกได้แว่ว ๆ ว่า นายจ่าโอที่เป็นนายกวดอยู่จนแก่นั้นนายหนึ่ง หรือจะเป็นนายอื่นไม่แน่เลย ประจำดอกไม้ทองกันดาล เมื่อเวลาเสด็จขึ้น หลวงราชมนูฉิมชูดอกไม้ทอง มหาดเล็กไม่ได้ชู แต่การประโคมก็เหมือนกัน ออกแขกเมือง ๓ ครั้งในแผ่นดินนั้น ขุนนางนุ่งสมปักลานสรวมแต่เสื้อครุย ไม่มีเสื้ออย่างน้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาเขียนทองแลทรงรัดพระองค์เพชร แลฉลองพระองค์ครุยไม่มีพระกรน้อยทุกครั้ง ในสามครั้งนั้นเจ้านายว่าไม่มีตำแหน่งเฝ้า เป็นแต่แอบดูอยู่ที่ประตูแลเข้าไปช่วยจัดแจงอยู่ เมื่อแขกเมืองยังไม่เข้ามา เจ้านายเล็ก ๆ ที่เป็นแต่วิ่งซุกซนแอบ ๆ มอง ๆ ดูเล่นอยู่ไม่ให้แขกเมืองเห็น ใจความเท่านี้

ครั้นมาเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ยินว่าออกแขกเมืองใหญ่หลายครั้งคือ ครั้งมิสเตอร์เหนรีเบรนี ที่กรมท่าขวาเรียกว่า บาร์หนี่ แลริสแซน แลยื่นอะไรบ้างจำไม่ได้ การจัดรับแลประโคมอย่างไรไม่ได้เห็น เป็นแต่ได้ทราบว่าโปรดให้เจ้านายเฝ้าด้วย แลให้สรวมเสื้ออย่างน้อยในเสื้อครุยด้วย จึงได้ทำความต่อมา ซึ่งพรรณนามาทั้งปวงนี้ คือจะบอกกระบวนประโคมมโหรทึกแลกลองชนะ ซึ่งใช้ในเวลาโน้นอย่างนั้น เห็นว่าชอบด้วยราชการอยู่แล้ว ได้รำพึงสังเกตกำหนดไว้ เป็นแต่ขอให้ผู้สั่งการกำชับการให้ได้ให้ถูกต้องดังว่ามานี้ทุกคราวไปอย่าให้เหลวให้ไหลไป ฯ

----------------------------

  1. ๑. ภาชนะที่เป็นเครื่องยศขุนนางโบราณ มี ๒ ชนิด ชนิดมียอดเรียกว่า เจียดทรงมัน ชนิดไม่มียอดเรียกว่า เจียดมอง (พจนานุกรมฉบับมติชน, พิมพ์ครั้งแรก, พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์, กรุงเทพ, ๒๕๔๗, น. ๒๔๑.)

  2. ๒. กลาบาต คือ พวกนั่งยามตามไฟ หรือการตามไฟรักษาการณ์ (เล่มเดียวกัน น. ๕๖.)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ