ตั้วเฮียอั้งยี่

ในปีที่ ๒๙ แห่งการเสวยราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับจุลศักราช ๑๒๑๐ ปีวอก สัมฤทธิศก ครั้งนั้นได้เกิดเหตุร้าย แรงจากคนต่างด้าวผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

กล่าวคือมีพวกจีนเป็นจำนวนมาก มีหัวหน้าคนสำคัญชื่อไอ้จีนเซี่ยงทอง บังอาจรวบรวมอาวุธ และสมัครพรรคพวก ก่อตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับ แล้วเลือกคัดตั้วเฮีย ยี่เฮีย และซาเฮียขึ้นควบคุมกันตามลำดับ มีไอ้จีนเซี่ยงทองเป็นตั้วเฮีย ไอ้จีนบู๊ ไอ้จีนลก เป็นยี่เฮีย ซาเฮียตามอาวุโสและความสามารถ ประกอบด้วยชั้นรอง ๆ ลงมาอีกหลายคน ออกทำการก่อกวนวุ่นวายขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทรา ปล้นสะดมอย่างอุกอาจ ไม่เกรงต่อกฎหมาย มิหนำซ้ำยังทำการต้มยาฝิ่นกันอย่างเอิกเกริกเป็นการท้าทายอำนาจ ของบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง

ความร้ายแรงของพวกนักเลงหัวไม้นัยน์ตาชั้นเดียวดังกล่าวนี้ทราบถึงพระกรรณเจ้าชีวิต จึงทรงพระราชดำริว่า อั้งยี่ก๊กนี้ขืนละทิ้งไว้จะเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดิน และนับวันจะทำการกำเริบเสิบสานหนักข้อขึ้น ประชาชนผู้สุจริตจะได้รับความเดือดร้อนไม่เป็นอันทำมาหากิน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานพระกลาโหม มีท้องตราออกไปถึงเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) อัครมหาเสนาบดีว่าที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งขณะนั้นกำลังตั้งกองชำระโทษพวกอั้งยี่อยู่เหมือนกัน ณ เมืองราชบุรี มีข้อความว่า

บัดนี้ ไอ้จีนเซี่ยงทอง กับไอ้จีนบู๊ ไอ้จีนลัก บังอาจคบคิดกับพวกจีนเป็นจำนวนมากมายหลายพันคน ทำการลักลอบต้มยาฝิ่นแทบทั้งเมือง แลมีไอ้จีนเหล่าร้ายหลายคนตั้งตัวเป็นตั้วเฮียอยู่ที่เมืองฉะเชิงเทรา แลเมื่อวันเสาร์เตือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ พวกอั้งยี่ได้ประชุมตั้งสมาคมแลเลือกตัวหัวหน้า ครั้นวันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ตั้วเฮียอั้งยี่พวกนี้ได้ยกกำลังเข้าปล้นโรงหีบ ของหลงจู๊เล่าฮี้ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ ขุนกำจัดจีนทลาย นายอำเภอใหญ่แปดริ้ว และบังอาจฆ่าขุนกำจัดจีนทลายตาย

ฝ่ายพระยาวิเศษฤๅไทย ผู้ว่าราชการเมืองฉะเชิงเทรา จึงคุมกำลังออกจับพวกตั้วเฮียอั้งยี่เหล่านี้ แต่กลับถูกฆ่าตายในที่รบ พวกตั้วเฮียอั้งยี่ก็กำเริบเสิบสานยิ่งขึ้น บังอาจยกกำลังเข้าตีเอาเมืองฉะเชิงเทราได้ เมื่อวันจันทร์เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ได้จับเอาตัวท่านผู้หญิงหุ่นภรรยาพระยาศรีราชยากร (ขลิบ) แล้วเข้ารักษาเมืองไว้ ราษฎรต่างตกใจแตกตื่นหนีเข้าป่าเป็นอันมาก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพระคลังยกทัพเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อวางแผนการกำราบพวกวายร้ายนี้ แล้วให้รีบเดินทางไปเมืองฉะเชิงเทราโดยรีบด่วน

ข้างเจ้าพระยาพระคลังนั้น พิจารณาเห็นว่า เหตุการณ์ในเมืองนครชัยศรีและเมืองสาครบุรียังไม่เป็นที่เรียบร้อยน่าวางใจนัก จึงมีบัญชาให้จมื่นไวยวรนารถ (ช่วง) ให้แบ่งกำลังกรมพระตำรวจวังหน้าอยู่ระวังรักษา ณ ตำบลท่ากระบือ พรมแดนเมืองนครชัยศรีกับเมืองสาครบุรีต่อกัน ส่วนเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นั้น รีบยกกองทัพเข้ามาพระนครตามท้องตราให้หา

จนถึงวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ)จึงยกกองทัพโดยทางเรือออกจากพระนคร มุ่งตรงไปยังเมืองฉะเชิงเทราทางคลองสำโรงแล้วกะเกณฑ์ให้พระอินทรรักษาคุมพวกลาวเมืองพนัสนิคมยกไปทางบก เพื่อให้กระหนาบโอบหลังตั้งค่ายล้อมพวกอั้งยี่ไว้

ครั้งนั้นประจวบกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เดินทัพกลับมาจากเมืองเขมรและเมืองญวน โดยยกมาถึงเมืองฉะเชิงเทราเมื่อวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ได้หยุดพักทัพอยู่เหนือเมืองฉะเชิงเทรานั้น

เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกทัพเรือมาถึงเมืองฉะเชิงเทราแล้ว สั่งให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถยกกองทัพลำลองเข้าโจมตีพวกอั้งยี่ ซึ่งคุมพลอยู่นอกกำแพงเมืองและตามโรงหีบน้ำตาลหลายแห่ง และเมื่อกองทัพลาวเมืองพนัสนิคมรุดมาถึงเตรียมสมทบ จีนอั้งยี่รู้ข่าวก็ไม่คิดสู้ พาสมัครพรรคพวกหลบหนีเอาตัวรอด ครั้งนั้นพระอินทรรักษานายทัพออกคำสั่งให้ค้นหาวายร้ายทุกแห่ง และสั่งให้เผาโรงหีบไปหลายโรง พวกตั้วเฮียอั้งยี่ที่หลบซ่อนอยู่ในนั้น ทนความร้อนของพระเพลิงไม่ไหวก็ออกมาสู้รบอย่างสุนัขจนตรอก ถูกทหารฆ่าตายเสียเป็นอันมาก ที่หลบหนีไปได้ก็แยะ

ข้างไอ้จีนเซี่ยงทอง หัวหน้าใหญ่ เห็นจะสู้ไม่ได้แน่แล้ว จึงบังคับให้ท่านผู้หญิงหุ่น ภรรยาพระยาศรีราชอากร ซึ่งมันจับตัวไว้เมื่อคราวยึดเมืองฉะเชิงเทรา ให้ออกมากราบเรียนเจ้าพระยาพระคลังว่าตัวของไอ้จีนเซี่ยงทองนั้น แท้จริงมิได้เป็นอั้งยี่และไม่ได้เป็นตั้วเฮียแต่อย่างใด หากแต่ต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีนซึ่งเป็นตั้วเฮีย และมีสมุนมากมาย ไอ้จีนบู๊ได้สถาปนาตั้งให้ไอ้จีนเซี่ยงทองเป็นยี่เฮีย ถ้าไอ้จีนเซี่ยงทองไม่ยอมร่วมมือด้วยก็จะจับฆ่าเสีย ไอ้จีนเซี่ยงทองกลัวความตายจึงยอมรับตำแหน่งยี่เฮีย แต่บัดนี้ไอ้จีนเซี่ยงทองรู้สึกสำนึกความผิดอย่างมหันต์แล้ว จักขอรับอาสาเข้าจับตัวไอ้จีนบู๊เป็นตั้วเฮียมาส่งให้แก่แม่ทัพไทย แต่ขอชีวิตตัวมันเองไว้

เจ้าพระยาพระคลังรับข้อเสนอตกลงยินยอมตามคำขอร้องของไอ้จีนเซี่ยงทอง ไอ้จีนเซี่ยงทองจึงคุมพรรคพวกของตน ให้ทหารไทยกำกับไปด้วย แล้วก็เข้าทำการจับกุมได้ตัวไอ้จีนบู๊ได้ที่กำแพงเมืองฉะเชิงเทราโดยมิได้มีการต่อสู้กันแต่อย่างใด แล้วนำตัวมามอบให้เจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้เจ้าจมื่นไวยวรนารถคุมตัวบรรดาตั้วเฮียอั้งยี่ คือไอ้จีนบู๊ตั้วเฮีย จีนขุนพัฒลัก จีนหลงจู๊ซี จีนหลงจู๊ยี่ และจีนหลงจู๊ ตกรวม ๕ คนจำตะโหงกคอ แต่สำหรับไอ้จีนเซี่ยงทองมิได้จำตะโหงกคอเพราะจะกันไว้เป็นพยานส่งมาดำเนินคดีในกรุงเทพฯ ครั้งนั้นพวกจีนทั้งชั้นหัวหน้าและลูกน้องเห็นอันตราย ก็พากันทิ้งเมืองฉะเชิงเทราหลบไปเสียเป็นอันมาก กองทัพไทยได้ออกติดตามจับได้ตั้วเฮียอีกหนึ่งคนชื่อ จีนหัวเสี่ย และมีไอ้จีนเซียง ไอ้จีนโป ไอ้จีนตุเป็นยี่เฮีย จับตัวจีนเก๋าเฉา จีนถี้เจา จีนโผว จีนหลงจู๊ จีนกี่ เถ้าแก่สวนอ้อย และจีนลัก นายทุนใหญ่โรงหีบอ้อย กับผู้ที่บังอาจต่อสู้เจ้าหน้าที่แล้วก็ถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก ศพจีนชั่วลอยเกลื่อนแม่น้ำ จนราษฎรไม่สามารถอาบและดื่มน้ำได้ ตามท้องทุ่งนาก็เต็มไปด้วยซากศพ ซึ่งทำให้พวกอั้งยี่เข็ดขยาดไปอีกนานทีเดียว

การปราบกบฏอั้งยี่เสร็จสิ้นลงแล้ว เจ้าพระยาพระคลังและเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ก็ควบคุมตัวอั้งยี่ทั้งหลายเข้าพระนครเพื่อกราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบ

ครั้นเมื่อถึงวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระตำรวจ เบิกตัวผู้ก่อการร้ายจากที่คุมขังเพื่อพิจารณาไต่สวนตามโทษานุโทษของมัน และที่คดีมีมูลที่เป็นตัวหัวหน้าและมีความผิดร้ายแรงก็ให้ลงโทษประหารชีวิต พวกที่โทษสถานเบาลงมาก็ให้สักแก้มเป็นตัวอักษรไทยข้างหนึ่ง อักษรจีนข้างหนึ่งมีความว่า “ตั้วเฮีย” แล้วปล่อยตัวไป ส่วนไอ้จีนเซี่ยงทอง ศาลเห็นว่า ได้ทำความชอบแก้ตัวได้ จึงปล่อยตัวไปเหมือนกัน

มูลเหตุที่พวกจีนชุมนุมนี้ ก่อความวุ่นวายขึ้นนั้น เนื่องจากมีความโกรธแค้นรัฐบาลที่ห้ามไม่ให้มีการสูบฝิ่นในพระราชอาณาจักร เป็นการขัดผลประโยชน์ของตนและเกรงว่าพวกของตนจะต้อง “ลงแดง” ละกระมัง ?

----------------------------

  1. ๑. เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล (พระกนิษฐาภคินีในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๑ ในรัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้ว่าการทั้งกลาโหมและกรมท่า เรียกว่า เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คนทั่วไปนิยมเรียกว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ถึงพิราลัยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๘ อายุ ๖๘ ปี

  2. ๒. เครื่องจองจำอย่างหนึ่ง ใช้ไม้สองอันหนีบคออย่างคา (พจนานุกรมฉบับมติชน พิมพ์ครั้งแรก, พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์, กรุงเทพ, ๒๕๔๗, น. ๓๕๘.)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ