เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร)

มนุษย์เรานั้น บางครั้งความซื่อตรงจงรักภักดีโดยมิผิดทำนองคลองธรรม เป็นโทษเป็นภัยได้เหมือนกัน แต่เห็นจะมีส่วนน้อยเต็มทีอย่างเรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เพราะส่วนใหญ่นั้นการทำดีย่อมได้ดี ไม่ค่อยคลาดเคลื่อนจากหลักการทางพระพุทธศาสนานัก

เรื่องของเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากการชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกข์ อันปรากฏอยู่ในตำนานของคนไทยโดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา ความเดิมของเรื่องนี้มีว่า เมื่อจุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมะเส็งสัปตศก พระราชมุนี พระราชาคณะเจ้าอาวาสวัดตลาดใน คือวัดป่าโมกข์ ได้เข้ามาปรารภกับพระยาราชสงคราม (ปาน) ณ จวนของท่าน ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณพระบรมมหาราชวัง มีความสำคัญว่า พระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าโมกข์ ในฤดูน้ำเหนือหลากไหลลงมามาก ๆ แล้ว ได้กัดเซาะตลิ่งเข้าไปมากทุกที เป็นที่น่าวิตกว่าตลิ่งจะพัง และลุกลามมาถึงหน้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นอันตรายอยู่มากในข้อที่ว่าจะพังทลายลงไปกับสายน้ำอันเชี่ยวกราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูน้ำเหนือหลากซึ่งจะบังเกิดในปีต่อไป

พระยาราชสงคราม (ปาน) ได้สดับตรับฟังท่านเจ้าอาวาสวัดป่าโมกข์แล้ว มีความร้อนอกร้อนใจไปด้วย จึงนำความเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงมูลเหตุว่า พระพุทธไสยาสน์อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวพระนครศรีอยุธยาอาจจะพังลงในน้ำนั้นโดยทุกประการ

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้ทรงสดับเหตุการณ์ดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่มาปรึกษาหารือกัน ครั้งนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร (คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ทรงเป็นประธาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงมีพระราชกระทู้ถามว่า

“เราจะรื้อพระพุทธไสยาสน์ไปก่อใหม่ หรือว่าจะชะลอลากไปไว้ในที่อันสมควร ?”

พระราชกระทู้ดังกล่าวนี้ ปรากฏว่า จะหามีผู้ใดได้กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายความคิดเห็นแต่อย่างใดไม่ ต่างพากันนิ่งเสียแม้จะมีพระราชดำรัสถามซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็ไม่มีใครอาจหาญกราบบังคมทูลสำแดงความคิดเห็น และเมื่อเสียงของที่ประชุมเงียบกริบเช่นนั้น พระยาราชสงคราม (ปาน) ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง อดรนทนอยู่มิได้จึงกราบบังคมทูลว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า คิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า จะขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต กราบถวายบังคมลาออกไปตรวจดูลู่ทางก่อน เมื่อเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่าสมควรจะชะลอลากได้เป็นแม่นมั่นแล้ว จึงจะกลับมาเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระได้ทรงฟังดังนั้นแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระยาราชสงคราม (ปาน) ออกไปสำรวจการที่วัดป่าโมกข์

ข้างพระยาราชสงคราม (ปาน) ได้ออกไปตรวจดูชัยภูมิและด้วยความรู้ในทางวิชาช่างแล้วก็รู้ว่า สามารถจะชะลอพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ไปได้ไม่เป็นอันตราย จึงกลับเข้ามาเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า จะขอรับอาสาชะลอลากพระพุทธไสยาสน์ได้ จะขอทำการฉลองพระเดชพระคุณครั้งนี้ให้สำเร็จ โดยจะจัดการรื้อพระวิหารลงเสียก่อน เสร็จแล้วจึงจะชะลอลากพระพุทธไสยาสน์ไปประดิษฐานไว้ ณ ที่ที่จะทำพระวิหารใหม่ให้ได้ มิให้เป็นอันตรายเลยเป็นอันขาด”

ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาอุปราช “วังหน้า” เฝ้าอยู่หน้าพระที่นั่งด้วย ได้สดับถ้อยคำของพระยาราชสงคราม (ปาน) ดังนั้นแล้วก็ไม่ทรงเห็นด้วยตามความคิดนั้น จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสว่า

“พระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปใหญ่โตหนักหนา ก่อด้วยอิฐถือปูน หาใช่พระหล่อด้วยทองเหลืองทองแดงไม่ ซึ่งจะชะลอลากไปนั้นเกรงว่า จะแตกหักพังทำลายลงเป็นอันตรายประการใด ก็จะได้รับความอัปยศอดสู เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าจะรื้อพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ไปก่อใหม่ในที่อื่น เห็นจะเหมาะสมกว่าเป็นแน่”

พระยาราชสงคราม (ปาน) มีความเชื่อมั่นในตนเองตามลักษณะของคนจริง จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นเชิงคัดค้านว่า จะขอรับอาสาฉลองพระเดชพระคุณชะลอลากพระพุทธรูปดังกล่าวไปให้ถึงในที่อันเหมาะสม มิให้เป็นอันตรายหักพังร้าวรานได้ และแม้นว่าเป็นอันตรายแล้วก็ขอถวายชีวิตเป็นเดิมพัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และพระบรมอนุชาธิราชแม้จะได้ทรงสดับแล้วด้วยคำมั่นสัญญาอันหนักแน่นก็ตาม แต่ก็มิได้วางพระราชหฤทัยนักในการที่จะชะลอลากพระพุทธไสยาสน์องค์มหึมานั้นเลย เพื่อความรอบคอบและให้ได้รู้เห็นกันหลายฝ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพระยาพระเสด็จให้ไปอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชมาเป็นประธาน และพระราชาคณะเถรานุเถระเข้ามาประชุมในท้องพระโรง เมื่อพร้อมกันแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการพระราชบริหารว่า

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเจ้าข้า โยมจะรื้อพระพุทธไสยาสน์วัดตลาดใน ย้ายไปก่อสร้างใหม่ในที่อันสมควร จะควรหรือมิควรประการใด ในพระบาลีจะมีหรือไม่ ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายได้โปรดตรวจค้นพระพุทธคัมภีร์พระบาลีด้วยเถิด”

ฝ่ายสมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งหลายจึงถวายพระพรเป็นทำนองเดียวกันว่า

“อาตมภาพขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณมหาประเสริฐ พระสถูปเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระพุทธปฏิมากรพระองค์ใด แม้พระรูปพระโฉมยังปรกติดีอยู่ มิได้แตกปรักหักพัง วิปลาสวิปริตประการใด ๆ แล้ว จะรื้อย้ายไปก่อสร้างใหม่ในที่ใด ๆ หาสมควรด้วยพระพุทธบาลีไม่”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระอนุชาธิราช ได้ทรงสดับเถระวาจากล่าวถ้อยคำถวายพระพรวิสัชนาโดยโวหารเช่นนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ปาน) เป็นผู้ได้รับพระบรมราชานุญาต ให้เป็นผู้บังคับบัญชาการแม่กองช่างทั้งปวง กำกับนายงานนายด้านทั้งหลาย ให้จัดการชะลอพระพุทธรูปดังกล่าวตามความคิดและสติปัญญา พร้อมกันนั้นมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) ที่สมุหนายก ให้เป็นกงสีผู้จัดจ่ายสรรพสิ่งของทั้งปวงมีเงินทองเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการชะลอลากพระพุทธรูปนอนนี้

พระยาราชสงคราม (ปาน) กับเจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) ต่างตั้งทำเนียบทำงานตามพระราชโองการอยู่ในบริเวณลานพระอุโบสถของวัดนั้นด้วยกันทั้งสองคน

รุ่งขึ้นจุลศักราช ๑๐๘๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระและกรมพระราชวังบวร ทรงห่วงใยในเรื่องนี้มาก จึงมักเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่พลับพลาพักในบริเวณลานพระอารามวัดป่าโมกข์เพื่อจะได้ทรงทอดพระเนตรการลงมือรื้อพระวิหาร ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) ปลูกสร้างพระตำหนักพลับพลาไชย ตั้งค่ายหลวงลงที่ตรงใกล้กับวัดชีปะขาว ดงพิกุลเป็นที่ประทับแรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน และพระอนุชาธิราชด้วยกันเป็นสองแห่งแต่ในค่ายเดียวกัน ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาฯ ต่างเสด็จมาพักแรมผลัดเปลี่ยนกัน ๖ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เพื่อจะได้ทรงทอดพระเนตรการวัดนั้น ผลัดกันอยู่ผลัดกันไปพระนครอยู่เสมอ ด้วยต่างพระองค์ทรงพระราชศรัทธาเป็นกำลังทั้งสองพระองค์

ท่ามกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนี้ มีขุนนางผู้ใหญ่ที่ทรงโปรดปรานมากก็คือ เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) เจ้าพระยาจักรีผู้นี้มีบุคลิกลักษณะต่ำเตี้ยมาก คนบางคนเรียกว่า “จักรีนกกระจอก” แต่สติปัญญาความเฉลียวฉลาดสูงมากตรงข้ามกับรูปร่าง ความที่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษประกอบด้วยความสัตย์ซื่อต่อราชการแผ่นดินนี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงทรงโปรดปรานไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งนัก

อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้รักก็ย่อมมีผู้ซึ่งผู้จองล้างจองผลาญ ทั้งนี้ได้แก่วังหน้าทรงรังเกียจเจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) อย่างล้นพ้น การที่ทรงรังเกียจนั้นก็เป็นเหตุผลส่วนพระองค์ กล่าวคือ เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) ผู้นี้เป็นคนซื่อตรงมาก และมีสติปัญญายอดเยี่ยม ฝีมือรบทัพจับศึกก็ฉกาจฉกรรจ์ สมเด็จพระอนุชาธิราชหรือวังหน้า เกรงสติปัญญาและฝีมือท่านผู้นี้ไปว่า ในกาลอนาคตเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จสวรรคตก่อนแล้ว เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) อาจจะเป็นกำลังวังชาอุดหนุนสมเด็จพระราชโอรสทั้งสองพระองค์คือ เจ้าฟ้าปรเมศร์ และเจ้าฟ้าอภัยในพระบรม เชษฐาธิราชให้เป็นกษัตริย์สืบไป ด้วยครั้งนั้นได้มีเสียงเล่าลือกันทั่วไปว่า พระราชโอรสองค์ใดองค์หนึ่งดังกล่าว เมื่อทรงจำเริญวัยแล้ว สมเด็จพระราชบิดาจะมอบราชสมบัติให้ เพราะฉะนั้นวังหน้าผู้หวังในราชบัลลังก์สืบต่อพระบรมเชษฐา จึงทรงเกลียดชังพระราชนัดดารวมถึงเจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) ด้วย ทรงพยายามจ้องหาความผิด ความบกพร่องของเจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) อยู่ตลอดเวลา

ในที่สุดวาระอันเป็นความเคราะห์ร้ายของเจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) ก็มาถึงจนได้ กล่าวคือ เมื่อวังหน้าเสด็จไปทอดพระเนตรการชะลอลากพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่วัดป่าโมกข์นั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งจะด้วยความบังเอิญหรือความพลั้งเผลอเพราะถึงฆาตก็ตาม วังหน้าได้ช่องกราบบังคมทูลพระบรมเชษฐาหาว่า เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) นั่งห้อยเท้าอยู่บนทำเนียบในลานพระอุโบสถมองดูกระบวนแห่เรือเสด็จพระราชดำเนินของวังหน้า แล้วก็ไม่ลงมาต้อนรับเสด็จนอกทำเนียบ และอีกข้อหนึ่งก็ว่า เมื่อเรือพระที่นั่งมาประทับสะพานพระฉนวนน้ำหน้าวัดแล้ว เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) จึงเดิน ลงมารับเสด็จที่ลานหน้าพระอุโบสถ เป็นการหมิ่นพระเดชานุภาพของพระองค์ จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้หลวงรักษาเทพย์ เจ้ากรมพระตำรวจหน้า ให้จับตัวเจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) จิกผมลากตัวเอาหัวเข้าคา ผูกเท้าโยงผูกมือโยงเข้ากับหลัก แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังสองหวายร้อยที่ต่อหน้าพระที่นั่งกลางลานวัดนั้นเอง เฆี่ยนครบร้อยทีแล้ว ให้ปล่อยตัวไป ไม่จองจำทำอะไร

การที่กรมพระราชวังบวรมหาอุปราช หรือวังหน้าลงพระราชอาญาแก่ท่านอัครมหาเสนาบดีเช่นนี้หาสมควรแก่ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้ไม่ บรรดาอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงจึงพากันซุบซิบวิพากษ์วิจารณ์เอาว่า วังหน้าทรงถือแต่ความอาฆาตพยาบาทเป็นที่ตั้ง

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระกรรณ ก็มิได้มีพระราชดำรัสแต่ประการใด ทั้งนี้ด้วยเกรงพระราชหฤทัยในพระอนุชา คงจะมีพระราชดำริแต่ในพระราชหฤทัยว่า ข้านั้นหาง่าย แต่น้องนั้นหายาก

เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) เมื่อหลังจากรับพระราชอาญาร้อยทีแล้ว ก็กลับมาป่วยอยู่ที่จวนริมวัดโรงฆ้อง มิช้ามินานก็ถึงอสัญกรรมเพราะพิษหวาย แต่ศพนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระพระราชทานโกศไม้สิบสอง ตามเยี่ยงอย่างศพอัครมหาเสนาบดี เพราะเจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร) มิได้ถูกถอดถูกถอนเรื่องยศศักดิ์แต่ประการใด

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ