คำนำผู้เขียน

วัฒนธรรมในทางกฎหมายและทางศาล เป็นมรดกสำคัญของชาติอย่างหนึ่งซึ่งได้วิวัฒนาการไปตามความเหมาะสมแก่ชีวิตและสังคมของยุคนั้น ๆ อย่างเช่นในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีกล่าวถึงเรื่องขบวนการยุติธรรมไว้ว่า

“ฯลฯ เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ล้มตายหายกว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อค้ามันช้างขอ ลูกเมีย เยีย ข้าว ไพร่ฟ้าข้าไทย ป่าหมากป่าพลู พ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น ไพร่ฟ้า ลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้ จึ่งแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน ฯลฯ”

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ในสมัยนั้นกฎหมายของบ้านเมือง ได้ให้เสรีภาพแก่ราษฎรในการประกอบสัมมาชีวะอย่างกว้างขวาง และโดยยุติธรรม

ในยุคโบราณกาลนั้น กฎหมายของชาติไทย ก็เช่นเดียวกับกฎหมายของบรรดาชนชาติทั้งหลาย คือได้แก่จารีตประเพณีอันเป็นข้อบังคับที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความเคยชินของชุมชนในทางปฏิบัติ แม้ในลำดับต่อมาชาติไทยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของบ้านเมือง พระมหากษัตริย์เหล่านั้นก็หาได้ทรงบัญญัติกฎหมายขึ้นอย่างแท้จริงเสมอไปไม่ พระราชภาระของพระองค์ก็คือ ทรงปกครองดูแลให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย ส่วนกฎหมายนั้นคงอยู่ในจารีตประเพณีและแบบแผนนั้น ๆ แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเช่นนี้ ก็ย่อมต้องมีอำนาจชี้ขาดตัดสินคดีพิพาททั้งหลายได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจต่อไปได้ เมื่อทรงมีอำนาจดังกล่าว ผลก็คือว่า ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย หรือพระบรมราชโองการเกี่ยวกับการชี้ขาดตัดสินคดีนั้น ๆ สืบเนื่องกันมา พระบรมราชวินิจฉัยหรือพระบรมราชโองการเหล่านี้ เมื่อมีลักษณะอันถูกต้องกับหลักความยุติธรรม ซึ่งคนชั้นนั้นหรือชั้นหลังต่อมายอมรับนับถือแล้ว ก็ค่อย ๆ กลายเป็นลักษณะกฎหมายขึ้นเป็นลำดับไป

บรรดาบทกฎหมายของไทยในชั้นเดิมนั้น ส่วนมากได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ (ธรรมสัตถัม) อันเป็นหลักการที่ไทยได้รับจากมัชฌิมประเทศ หลักธรรมทั้งนี้เมื่อประกอบเข้ากับจารีตประเพณีเดิมและพระบรมราชวินิจฉัย พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ด้วยแล้ว ก็เป็นหลักกฎหมายของชาติไทยสืบเนื่องเรื่อยมาแต่สมัยดั้งเดิม จนถึงตอนต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตอนนี้ลองหันมาพิจารณาดูลักษณะการปกครองของประเทศไทยในสมัยโบราณ ปรากฏว่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้แบ่งราชการออกเป็น ๔ กรมเรียกว่าเวียง วัง คลัง นา หรือเรียกรวมว่า “จตุสดมภ์” เสนาบดี ๔ ตำแหน่งเป็นหัวหน้ากรมเหล่านั้น เสนาบดีกรมวังว่าการใน พระราชสำนักและการยุติธรรมด้วย ประเพณีโบราณได้ถือเป็นคติว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ประทานความยุติธรรม ทรงวินิจฉัยอรรถคดีกรณีพิพาทของพลเมืองโดยพระองค์เอง แต่ในเมื่อจำเป็นต้องแบ่งเบาพระราชภาระในการนี้ จึงโปรดให้เสนาบดีกรมวังซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์ว่าการยุติธรรมต่างพระเนตรพระกรรณ พระองค์เป็นแต่ทรงรับอุทธรณ์ในเมื่อมีผู้เอาคดีไปกราบทูลว่า ขุนศาลตระลาการบังคับคดีไม่เป็นธรรม แต่คดีที่ขึ้นศาลกรมวังนี้ คงเป็นคดีบางส่วนและโดยมากเป็นคดีที่พลเมืองฟ้องร้องกันเอง ส่วนคดีอุกฉกรรจ์มหันตโทษ เช่นคดีโจรผู้ร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดิน ขึ้นศาลกรมเมืองหรือที่เรียกว่าศาลกรมพระนครบาล ซึ่งมีหน้าที่บังคับกองตระเวนและขุนแขวง อำเภอกำนันในเขตกรุง นอกจากนี้คดีที่เกิดขึ้นเนื่องในหน้าที่ราชการกรมใด ก็มีศาลกรมนั้นพิจารณา เช่นศาลกรมนา พิจารณาความบรรดาที่เกี่ยวข้องกับที่นาและโคกระบือ และศาลกรมคลังบังคับคดีพระราชทรัพย์ของหลวง และครั้นมาสมัยเมื่อมีการค้าขายกับชาวต่างประเทศ พนักงานเจ้าท่าในกรมคลังได้รับหน้าที่ติดต่อรับรองชาวต่างประเทศ ก็ได้มีศาลกรมท่าขึ้นอยู่ในกรมคลัง บังคับคดีเกี่ยวกับคนต่างชาติอีกแผนก หนึ่งเป็นต้น

ลักษณะการปกครองที่แบ่งเป็น ๔ กรมดังกล่าว ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่นอนว่ามีมาแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ส่วนในสมัยกรุงสุโขทัยก็น่าจะแบ่งการปกครองเป็นทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งมีเสนาบดีกรมวังเป็นผู้ชำระความแทนพระมหากษัตริย์ หรือมิฉะนั้นก็อาจทรงมอบพระราชภาระส่วนนี้แก่ปุโรหิตหรือมโนสารอำมาตย์ ดังเช่นปรากฏในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่า พระเจ้ามหาสมมุติราชทรงตั้งให้เป็นใหญ่ในหน้าที่บังคับบัญชากิจคดีทั้งปวง ในส่วนที่ปรากฏตามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า ที่ประตูพระราชวังมีกระดิ่งแขวนไว้สำหรับให้ผู้มีทุกข์ร้อนไปสั่นร้องทุกข์ และเสด็จออกประทับเหนือแผ่นหินพระแท่นมนังคศิลาภายใต้ไม้ตาล รับและวินิจฉัยฎีกานั้น ก็น่าจะเป็นไปโดยทรงมีพระราชประสงค์เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรีไว้ที่ทิมกรมวัง เพื่อให้ราษฎรตีร้องถวายฎีกากล่าวโทษตระลาการได้ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณ โดยฐานที่วางพระองค์เป็นอย่างบิดาของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

กาลต่อมาเมื่อรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงตั้งเสนาบที่เพิ่มขึ้นอีก ๒ ตำแหน่ง คือสมุหพระกลาโหม เป็นหัวหน้ากรมพระกลาโหม บังคับราชการฝ่ายทหารทั่วไปตำแหน่งหนึ่ง และสมุหนายก เป็น หัวหน้ากรมมหาดไทย บังคับราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไปอีกตำแหน่งหนึ่ง เสนาบดีทั้งสองตำแหน่งนี้มียศเป็นอัครมหาเสนาบดีสูงกว่าเสนาบดีจตุสดมภ์ทั้ง ๔ และมีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาการหัวเมืองด้วย ซึ่งมีทั้งการรบทัพจับศึก การรักษาทำนุบำรุงบ้านเมือง การเก็บส่วยเก็บบรรณาการ และระงับคดีกรมต่าง ๆ

เรื่อง “ศาลไทยในอดีต” นี้มิได้มุ่งหมายจะให้เป็นตำราว่าด้วยกฎหมาย หากแต่ได้พยายามรวบรวมเรื่องราวในอดีตที่เป็นคดีครึกโครมน่าศึกษาในเชิงของประวัติศาสตร์โบราณคดี และจารีตประเพณีเท่านั้น นอกจากนี้ก็ได้รวบรวมบรรดาพระบรมราชวินิจฉัยและพระบรมราชโองการทั้งที่เกี่ยวกับคดีโดยตรงและเกี่ยวพันอยู่บ้างมาบรรจุไว้ด้วย ในด้านที่จะให้ความรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของอดีต ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องแปลกในสมัยปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดนี้ดังได้กล่าวแล้วว่า กฎหมายหรือพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระประมุขของชาติย่อมยุติธรรมในสมัยนั้น ๆ แต่มิใช่หมายความว่าจะเหมาะสมไปตลอดกาลก็หาไม่ เพราะวิวัฒนาการความผันแปรย่อมติดตามมาและเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกไม่มียุติลงได้เลย การแก้ไขก็ย่อมติดตามเป็นเงาตามตัว เพื่อความเหมาะสมแก่สังคมและความยุติธรรม บางเรื่องบางคดีในอดีต คนในยุคนี้อาจเห็นว่าเป็นการโหดร้าย ป่าเถื่อน เปล่าเลย ! เพราะสมัยโน้นถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็ไม่ได้ ด้วยไม่มีอะไรเหมาะสมเท่า และไม่มีหลักประกันอย่างอื่นเท่ากับสมองและความเจริญของคนในยุคนั้นได้อำนวยให้

ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านผู้อ่าน อ่านอย่างเรื่องโบราณคดีและประวัติศาสตร์เท่านั้น มิได้มีความประสงค์จะนำมาเปรียบเทียบระหว่างยุคสมัยแต่ประการใดเลย เพราะเรื่องของกฎหมายและศาลในอดีต เป็นวัฒนธรรมและมรดกอันมีค่าของไทยเราทุกคน ถ้าปราศจากคุณค่าเสียแล้ว ชาติไทยเราคงมิได้ครองตัวเป็นเอกราชมาได้จนตราบเท่าทุกวันนี้

ประยุทธ สิทธิพันธ์

หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์รายวัน

ถนนเสือป่า พระนคร

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ