ฝรั่งอยู่เมืองไทย

อารยธรรมต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้น กล่าวได้ว่า ไม่มีรัชกาลใดสำคัญและมากเท่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทันสมัย และทรงเป็นผู้ “เปิดทวาร” ต้อนรับชาวต่างชาติด้วยกุศโลบายอันเฉียบแหลมทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ก็เมื่อมีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากขึ้น ทางราชการก็จำเป็นต้องชี้แจงให้ผู้คนพลเมืองได้ทราบในเรื่องความประพฤติปฏิบัติต่ออาคันตุกะเพื่อความเหมาะสม และความสัมพันธไมตรีต่อกัน ด้วยเหตุผลนี้เอง ทางราชการจึงได้มีประกาศว่าด้วยการประพฤติต่อชนชาติทั้งสาม อันมี อังกฤษ - ฝรั่งเศส - อเมริกัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๙ เนื้อหาของประกาศโดยละเอียดปรากฏดังต่อไปนี้

มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการ แลบรรดาราษฎรทั้งไทย จีน ญวน มอญ ลาว เขมร พม่า มลายู แลคนเชื้อฝรั่งโปรตุเกตเดิม แลคนเชื้อแขกเทศ แขกจาม ทุกชาติทุกภาษาทั้งปวงซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยาที่เรียกว่า บางกอก แลอยู่แขวงหัวเมืองชั้นในใกล้ ๆ คือเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ที่เรียกว่าปากลัด เมืองสมุทรปราการที่เรียกว่าปากน้ำ เมืองสาครบุรีที่เรียกว่าท่าจีน เมืองนครไชยศรี่ที่เรียกว่าละครไชยศรี เมืองนนทบุรีที่เรียกว่าตลาดขวัญ เมืองปทุมธานีที่เรียกว่าสามโคก แลกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาที่เรียกว่ากรุงเก่า ว่าเมืองอ่างทอง เมืองสิงห์บุรี เมืองพรหม บุรีที่เรียกว่าบ้านแป้ง บางพุทรา เมืองลพบุรีที่บุราณเรียกว่าละโว้ แลคนชาววัดบางพวกอุตริเรียกว่าเมืองนพบุรี แลเมืองสระบุรีที่เรียกว่าเมืองใหม่บ้าง บ้านทนบ้านม่วงบ้าง แลเมืองนครนายกที่เรียกว่าคอระยก เมืองปราจีนบุรีที่เรียกว่าบางคาง เมืองฉะเชิงเทราที่เรียกว่าแปดริ้ว เมืองพนัสนิคมที่เรียกว่าบ้านวัดโบสถ์ วัดหลวง เมืองชลบุรีที่เรียกว่าบางปลาสร้อยหรือบางปาส้อย เมืองบางละมุงแลเกาะในหมู่เกาะสีชัง แลเมืองเพชรบุรีที่เรียกว่าพริบพรี แลเมืองสมุทรสงครามที่เรียกว่าแม่กลอง แลเมืองราชบุรีที่เรียกว่าราชพรี ราษฎรอยู่ในแขวงเมืองเหล่านี้แลอื่น ๆ ให้ทราบจงทั่ว

ด้วยเมื่อปีเถาะ สัปตศก (พ.ศ. ๒๓๙๘) เป็นปีที่ ๕ ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ สมเด็จพระเจ้านโปเลยอนที่ ๓ เป็นพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแล สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเป็นเจ้าทวีปปริเตนใหญ่แลไอแลนด์แลเปรสิเดนต์ผู้ครองยูไนติดสเตตอเมริกา ได้บังคับให้ขุนนางเข้ามาขอทำสัญญาผูกพันทางพระราชไมตรี แลการที่ลูกค้าฝรั่งเศสอังกฤษอเมริกัน จะเข้ามาค้าขายให้สะดวกสบายดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ในข้อสัญญาข้อ ๑ เป็นที่ ๔ ในลำดับนั้นมีว่า จะขอให้คนฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน แลชาติอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ได้เข้ามาพึ่งพระบารมีพระเดชพระคุณ อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ทำมาหากินในแผ่นดิน ซึ่งเป็นพระราชอาณาจักรกรุงสยามให้สมควรแก่การที่บ้านเมืองเป็นไมตรีกัน จะยอมให้เสียภาษีอากรในที่เพาะปลูก แลค่าน้ำค่าตลาด แลภาษีสินค้าขาเข้าขาออกทั้งปวงทุกอย่างเสมอกันกับคนชาติอื่นภาษาอื่น ซึ่งเข้ามาอาศัยพึ่งพระบารมีทำมาหากินอยู่แต่ก่อน จึงได้ทรงพระราชดำริพร้อมกับความคิดท่านเสนาบดี ว่าคนชาติฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน แลคนซึ่งขึ้นกับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน บัดนี้ ก็เป็นข้าแผ่นดินเมืองที่เป็นพระราชไมตรีกันแล้วทั้งสามเมือง แลคนชาติฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ที่มีวิชาฉลาดในการงานต่าง ๆ เมื่อได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระราชอาณาเขต เห็นจะมาประกอบการช่างทำสิ่งของเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ประหลาด ๆ ดีกว่าสิ่งของที่เคยทำได้ในกรุงซึ่งมีมาแต่ก่อนบ้าง แล้วจะเอาออกจำหน่ายซื้อขายแก่ราษฎร ราคาของที่ทำเมืองนี้ก็จะถูกกว่าของที่ลูกค้านำมาขายแต่เมืองอื่น ช่างชาวพระนครนี้เมื่อเห็นเป็นดีที่จะเรียนเลียนทำตามอย่าง การช่างทั้งปวงก็จะจำเริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อน อนึ่งการเพาะการปลูกสิ่งของที่มีประโยชน์ในแผ่นดิน คนฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน มักเข้าใจวิธีเพาะปลูก มีตำหรับตำรา ถ้าเข้ามามีอุตสาหะมีเพียรพยายามทำไร่นาเรือกสวนได้มากในที่เป็นป่าแลท้องทุ่งที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ ก็จะให้จำเริญ สมพัดสรอากรภาษีมีมากขึ้นแก่แผ่นดินโดยลำดับเวลาไปภายหน้า เมื่อพวกฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน เอาเงินทองมาแต่นอกประเทศลงทุน ซื้อที่ เช่าที่ แลจ้างลูกจ้างใช้ เงินทองเมืองอื่นก็จะได้ตกอยู่ในแผ่นดิน จำเริญแก่ราษฎรพระนครนี้ ราษฎรที่ยากจนจะได้รับจ้างเลี้ยงชีวิตดีกว่าขายตัวเป็นทาสให้ท่านผู้อื่นใช้ ด้วยเป็นประโยชน์อย่างว่ามานี้แลอย่างอื่น ๆ ก็ควรจะยอมให้ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันเข้ามาอาศัยอยู่ในพระราชอาณาจักรตามสบาย แต่ยังเห็นเหตุอยู่อีกอย่างหนึ่งว่า คนชาติฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน รูปร่าง เพศ ภาษาแปลก ต่างจริตกิริยา อย่างธรรมเนียมที่ผิดกันกับชาวประเทศนี้นัก ครั้นจะยอมให้ไปอยู่ไกลห่างพระนครไปนัก กลัวคนที่ไกล ๆ ไม่เคยพบเห็นฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะสำคัญคิดว่าเป็นคนแปลกมาจะพากันข่มเหงต่าง ๆ เมื่อเดินทางไกลหรืออยู่ในที่เปลี่ยว คนร้ายใจพาลเมื่อเห็นเป็นคนต่างเมืองต่างภาษา ที่จะเข้าปล้นชิงตีรันฟันฆ่า เมื่อความเช่นนี้มีขึ้นก็จะไต่ถามหาพยานสืบอาการเป็นจริงที่จะยากไป เพราะพวกฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ไม่รู้จักใครในที่ไกลที่เปลี่ยวจะได้ความลำบากนัก อนึ่งจะให้พวกฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ซื้อที่ขาดเป็นของฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน อยู่ในภายในหรือใกล้พระเนตรแต่แรกมาใหม่ ๆ ยังไม่กว้างขวางรู้จักใครมาก เมื่อบ้านเรือนเบียดเสียดแทรกแซงกันจะมีความทะเลาะวิวาท ชาวพระนครนี้เห็นว่าไม่รู้จักใคร ก็จะกลุ้มรุมข่มเหงต่าง ๆ ด้วยยังไม่คุ้นเคย จึงได้ทรงพระราชดำริพร้อมกับความคิดท่านเสนาบดี จะยอมให้ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน แลคนยิ่งขึ้นกับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน เข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานครแต่ในทาง ๒๔ ชั่วโมงที่จะไปด้วยเรือเป็นปรกติของประเทศนี้ แต่ในที่รอบพระนครสองร้อยเส้นนั้น ห้ามมิให้ ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ที่มาใหม่อยู่ในประเทศนี้ยังไม่ถึง ๑๐ ปี ซื้อที่ขาดเป็นของตัว เป็นแต่จะเช่าอยู่นั้นได้ ที่ห่างกรุงเทพมหานครกว่าสองร้อยเส้นออกไป ภายใน ๒๔ ชั่วโมงเข้ามานั้นแห่งใดแห่งหนึ่ง ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันจะเช่าก็ได้ จะซื้อที่นาที่สวนที่บ้านที่เรือนขาดเป็นของตัวที่ได้ ท่านเสนาบดีจึงได้เชิญพระราชดำริไปพูดปรึกษากับทูตฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ซึ่งเข้ามาขอทำสัญญา ก็ได้ยอมพร้อมใจกันใส่ความอันนี้ไว้ในข้อสัญญาข้อเป็นที่ ๔ ด้วยลำดับว่าดังนี้ “คนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะมาค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลซึ่งขึ้นกับกรุงเทพมหานครที่ค้าขายได้โดยสะดวก แต่จะอาศัยอยู่ได้ที่เดียวก็แต่ในกรุงเทพมหานคร ตามในจังหวัดซึ่งกำหนดไว้ในหนังสือสัญญา ประการหนึ่งคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันจะมาเช่าที่ปลูกโรง ปลูกเรือน ปลูกตึก แลจะซื้อเรือน ซื้อโรง ซื้อตึก พ้นกำแพงออกไปกำหนด ๒๐๐ เส้น คือ ๔ ไมล์ เช่าได้ แต่จะซื้อที่ซื้อไม่ได้ ถ้าอยู่ถึง ๑๐ ปีแล้วจึงจะซื้อได้ ถ้าอยู่ยังไม่ถึง ๑๐ ปี ท่านเสนาบดีจะโปรดให้ซื้อก็ซื้อได้ ที่นอกกำหนด ๒๐๐ เส้นนั้น คนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะซื้อจะเช่าที่เรือนที่สวนที่ไร่นาตั้งแต่กำแพงเมืองออกไปเดินกำลังเรือแจวเรือพายทาง ๒๔ ชั่วโมง จะซื้อจะเช่าเมื่อไรก็ซื้อได้เช่าได้ แต่เมื่อคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะซื้อที่ซื้อเรือนจะต้องบอกกงสุลฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ตามที่ตามตำแหน่งผู้จะซื้อ กงสุลจะได้บอกเจ้าพนักงานฝ่ายไทย เจ้าพนักงานกับกงสุลเห็นว่าคนจะซื้อที่นั้นเป็นคนจะทำมาหากินโดยจริง เจ้าพนักงานกับกงสุลจะได้ช่วยว่ากล่าวให้ซื้อตามราคาสมควร แล้วจะได้ดูแลปักที่วัดที่ ทำหนังสือปิดตราเจ้าพนักงานให้ไว้เป็นสำคัญ แล้วจะได้ฝากฝังเจ้าเมืองกรมการให้ช่วยดูแลทำนุบำรุงด้วย แลให้ผู้ที่ไปอยู่นั้นฟังบังคับบัญชาเจ้าเมืองกรมการตามยุติธรรม ค่าธรรมเนียมที่ทำไร่ทำสวนราษฎรบ้านนั้นเมืองนั้นต้องเสียอย่างไร ก็ให้เสียตามชาวบ้านนั้นชาวเมืองนั้น ถ้าในกำหนด ๓ ปีแล้ว ผู้ซื้อที่ไม่มีทุนรอนหรือแชเชือนเสีย มิได้ตั้งการปลูกสร้าง เสนาบดีจะคืนเงินค่าที่ให้ จะตัดสินคนเอาที่นั้นเสีย” หนังสือสัญญาทั้งสามเมืองความเหมือนกันนี้ได้ทำแล้ว แลขุนนางฝรั่งเศส ขุนนางอเมริกันรับเอาไป ว่าจะเอาไปลงตรามาส่งเปลี่ยนต่อภายหลัง หนังสือสัญญาเมืองอังกฤษที่ทำเสร็จแล้วก่อนนั้น ทูตอังกฤษก็ได้นำไปถวายสมเด็จพระนางเจ้ากรุงลอนดอนเมืองอังกฤษ ที่ทรงเห็นชอบด้วย ลงตราสันนิษฐานมาเป็นอันเสร็จแล้ว ว่าให้สัญญาคงอยู่อย่างนั้นทุกประการ

แลขุนนางอังกฤษซึ่งเป็นทูตจำทูลพระราชสาส์น แลเครื่องมงคลราชบรรณาการมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แลวางหนังสือสัญญากันทั้งสองฝ่ายเป็นสำเร็จในครั้งนี้นั้น ได้ปรึกษากับเสนาบดีว่า คำในข้อสัญญาว่า คำที่ว่าห่างพระนครโดยรอบสองร้อยเส้นนี้ก็ดี คำว่าห่างไกลเพียงที่เรือไปมาได้ใน ๒๔ ชั่วโมงก็ดี ถึงจะประกาศไปใครไม่ได้วัดแลทดลองก็จะไม่รู้ว่าเพียงไหน จะเป็นเหตุให้สงสัยต้องเถียงกัน จึงได้ให้เจ้าพนักงานกรมเมืองไปกับขุนนางอังกฤษ วัดทางสองร้อยเส้นรอบพระนคร ปักเสาศิลาไว้ ๔ ทิศ เป็นที่หมายของวงเวียนรอบพระนคร แลในที่บรรทัดวงเวียนของพระนครจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ก็ได้มีเสาศิลาเป็นสำคัญทั้งสองฟากด้วย ตั้งแต่วงเวียนที่มีเสาศิลาเป็นสำคัญเข้ามาจนถึงพระนครนั้น ห้ามมิให้ผู้ใดขายที่บ้านที่สวนแก่คนนอกประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงยังไม่ถึง ๑๐ ปี เป็นแต่ให้เช่ามีกำหนดเป็นระยะนั้นได้ไม่ห้าม เมื่อจะให้เช่านั้นให้มาทำหนังสือสัญญาว่ากล่าวกันต่อหน้ารั้วแขวงอำเภอ แลเจ้าพนักงานให้รู้เห็นเป็นพยานไว้ อย่าให้ลอบขายด้วย โวหารว่าให้เช่า คือเอาเงินล่วงหน้ามากกว่ากำหนดเช่าตามเดือนตามปี สมควรแก่เยี่ยงอย่าง ควรจะยอมกัน ถ้าร้อนรนจะใคร่ได้เงินมาก จะขายที่กับคนนอกทีเดียว ด้วยอยากจะได้เงินเร็ว ๆ ก็ให้กราบเรียนท่านเสนาบดีก่อน เมื่อท่านเสนาบดียอมให้ขายจึงขายได้ หรือจะใคร่จำนำทำสัญญาว่าขายดอกเบี้ยเป็นหลุด ที่ให้มาบอกจำนำแก่คนมีทรัพย์ในฝ่ายไทยก่อน ถ้าไม่รับให้เงินแรงกว่าอังกฤษรับแล้ว ให้เอาความมาเรียนท่านเสนาบดีกรมพระนครบาล จะคิดอ่านให้ได้สมประสงค์

ก็แล้วในทาง ๒๔ ชั่วโมง แต่กำแพงกรุงเทพมหานครนอก ๒๐๐ เส้นโดยรอบนั้น ท่านเสนาบดีกับทูดอังกฤษปรึกษาว่ากำหนดลงเป็นตำบลแล้ว คือทิศเหนือกำหนดถึงปากน้ำบางพุทรา ที่ร่วมกับแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไปจนถึงกำแพงเมืองลพบุรี เลยไปถึงท่าพระงามเมืองสระบุรี ทิศตะวันออกแต่ท่าพระงามถึงบางกนาก ปลายคลองชุดที่ออกแม่น้ำบางปะกง ตรงต่อไปถึงปากน้ำบางปะกงไปจนเกาะศรีมหาราชา ทิศใต้ตั้งแต่เกาะศรีมหาราชาไปจนถึงกำแพงเมืองเพชรบุรี ทิศตะวันตกตั้งแต่ฝั่งอ่าว ทะเลเมืองเพชรบุรี ไปถึงปากน้ำเมืองสมุทรสงคราม เลยไปตามลำแม่น้ำ จนถึงกำแพงเมืองราชบุรี ต่อไปจนถึงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งแต่สุพรรณบุรีไปถึงปากน้ำบางพุทราประจวบที่เก่า ในภายในที่เท่านี้ ถ้าราษฎรที่เป็นเจ้าของที่อยู่แต่ก่อนจะให้คนอังกฤษ แลคนซึ่งขึ้นกับอังกฤษ หรือฝรั่งเศส อเมริกัน เป็นชาวเมือง หรือขึ้นแก่เมืองฝรั่งเศส อเมริกา ซึ่งมาทำสัญญาแล้วนั้น เช่าอยู่ก็ได้ ทำการเพาะปลูกก็ได้ จะขายให้ขาดทั้งที่บ้านที่เรือนที่สวนที่นาก็ได้ไม่ห้าม แต่เมื่อจะให้เข่าหรือจะขายให้นั้น ให้ทำหนังสือสัญญากำหนดที่กำหนดราคา มีวัน คืน เดือน ปี ให้แน่นอน ต่อหน้ารั้วแขวงอำเภอพนักงานให้รู้เป็นพยาน หรือเมื่อจะให้เงินรับเงินแลผัดผ่อนกันอย่างไร ก็ให้มีสักขีพยานแลใบรับใบให้เป็นสลักสำคัญ อย่าให้มีการวิวาททุ่มเถียงกันไปในภายหน้าได้

เมื่ออังกฤษแลชาวยุโรปอื่น แลชาวอเมริกันไปซื้อที่เช่าที่อยู่ในที่ใด ๆ ไทยแลจีนแลคนอื่น ๆ จะเข้าไปรับจ้างให้ทำการงานเอาสินจ้างเลี้ยงชีวิตก็ได้ไม่ห้าม อย่าให้คนที่มีความผิดต่อกฎหมายแผ่นดิน คือเป็นโจรแลผู้ร้ายแลความชั่วอื่น ๆ หลบหนีสุภาตระลาการรั้วแขวงอำเภอแลกองจับ หรือทาสแลลูกหนี้ที่คิดจะหนีเจ้าขุนมูลนายแลเจ้าหนี้ หลบลี้เข้าไปอยู่ในที่ของอังกฤษแลฝรั่งเศส อเมริกัน ก่อความให้สุภาตระลาการเจ้าหมู่มูลนายต้องมาฟ้องร้องวิวาทเป็นความกับคนต่างประเทศ คนที่เป็นต้นเหตุหลบหลึกเข้าไปอยู่ก่อเหตุให้เกิดความต้องว่ากับคนต่างประเทศนั้น คงจะต้องชำระเอาตัวคืนมาให้จงได้ เมื่อได้ตัวมาแล้ว จะต้องให้มีโทษเพิ่มให้มากกว่าความผิดของคนผู้ทำผิดโดยปรกตินั้น ถึงทาสแลลูกหนี้ที่หนีเข้าเบี้ยนายเงิน ทำให้เจ้าเบี้ยนายเงินต้องเป็นความกับคนต่างประเทศ ก็จะให้มีโทษอีกตามโทษานุโทษ เพราะท่านเสนาบดีได้ใส่หนังสือสัญญาไว้แล้วกับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ว่าดังนี้ “ข้อ ๓ ว่าคนซึ่งอยู่ในบังคับไทยจะไปเป็นลูกจ้างอยู่กับคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ก็ดี คนอยู่ในบังคับไทยที่มิได้เป็นลูกจ้างก็ดี ทำผิดกฎหมายเมืองไทย จะหนีไปอาศัยอยู่กับคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ถ้ามีพยานว่าทำผิดหนีไปอยู่กับคนในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน กงสุลทั้ง ๓ ตามที่จะจับตัวส่งให้กับเจ้าพนักงานฝ่ายไทย ถ้าคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนแลเข้ามาอาศัยค้าขายอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำผิดหนีไปอยู่กับคนในใต้บังคับไทย ถ้ามีพยานว่าทำผิดหนีไปอยู่กับคนในใต้บังคับไทยจริง กงสุลทั้ง ๓ ตามที่จะขอเอาตัว เจ้าพนักงานฝ่ายไทยจะจับตัวส่งให้ ถ้าพวกจีนคนใดจะว่าเป็นคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ไม่มีสำคัญสิ่งไรเป็นพยานว่าเป็นคนบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน กงสุลทั้ง ๓ เมืองก็ไม่เอาเป็นธุระ ข้อ ๕ ว่าคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ที่เข้ามาจะอาศัยอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร ต้องไปบอกกับกงสุลตามที่ให้จดชื่อไว้ ถ้าคนเหล่านี้จะออกไปทะเล หรือจะไปเที่ยวเกินกำหนดทาง ๒๔ ชั่วโมง ตามสัญญาไว้ที่จะให้คนในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันอยู่นั้น กงสุลตามที่จะไปขอหนังสือเบิกล่องเจ้าพนักงานฝ่ายไทยให้ไป ถ้าคนในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะกลับออกไปจากกรุงเทพมหานคร ถ้าขุนนางเจ้าพนักงานฝ่ายไทยบอกกับกงสุลตามที่ว่ามีเหตุควรจะห้ามมิให้ออกไป กงสุลตามที่ก็จะมิให้ออกไป ถ้าคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ไปเที่ยวในระหว่างทาง ๒๔ ชั่วโมง กงสุลตามที่จะเขียนเป็นหนังสือไทยให้ไปว่าคนนั้น ชื่ออย่างนั้น รูปร่างอย่างนั้น มีธุระอย่างนั้น แล้วจะต้องให้เจ้าพนักงานฝ่ายไทย ปิดตราหนังสือให้ไปเป็นสำคัญด้วย ชาวด่านทางฝ่ายไทย ดูหนังสือแล้วให้คืนหนังสือให้ปล่อยตัวไปโดยเร็ว ถ้าไม่มีหนังสือกงสุลตามที่ปิดตราเจ้าพนักงานฝ่ายไทยไปสำหรับตัว ต้องสงสัยว่าเป็นคนหนีก็ให้ยึดเอาตัวไว้ แล้วให้มาบอกความกับกงสุลตามที่ให้รู้ฯ ข้อ ๖ ว่าคนซึ่งอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันจะเข้ามาเที่ยว แลจะให้เข้ามาอาศัยอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร จะถือศาสนาคริสตัน ไทยก็ไม่ห้ามปราม เมื่อจะสร้างวัดขึ้น จะทำได้ก็แต่ในที่เสนาบดีโปรดให้ ถ้าคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ซึ่งจะเข้ามาอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร จะจ้างคนซึ่งอยู่ในใต้บังคับไทยมาเป็นลูกจ้าง เสนาบดีฝ่ายไทยจะไม่ห้ามปราบ ถ้าคนที่มีมูลนายจะมารับจ้างอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน มูลนายไม่รู้ มูลนายจะมาเอาตัวไป ก็เอาไปได้ ถ้าคนในบังคับอังกฤษไปจ้างคนในใต้บังคับไทยเป็นลูกจ้างไม่ได้ทำสัญญากับมูลนายให้รู้ก่อน ภายหลังถ้าเกี่ยวข้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด เสนาบดีฝ่ายไทยจะไม่ชำระให้”

อนึ่ง คนซึ่งอยู่บ้านใกล้เคียงแลข้างบ้านก็ดี ห้ามอย่าให้รุกที่รุกแดน แลลอบลักเข้าไปถอนต้นไม้สิ่งใดที่ปลูกเพาะของคนต่างประเทศ แลก่อเหตุวิวาทอย่างใดอย่างหนึ่ง อนึ่งอังกฤษแลชาวยุโรปอื่นแลอเมริกันเข้ามาเช่าที่ซื้อที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ใด ๆ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปล้อเลียนเย้ากวนก่อความวิวาทอย่างไรอย่างหนึ่งในบ้านของพวกอังกฤษ แลชาวยุโรปอื่นแลอเมริกันซึ่งจะเข้ามาอยู่นั้น ถ้าใครเข้าไปทำล่วงเกินก่อวิวาทในบ้านของคนต่างประเทศ ก็จะให้มีโทษแก่ผู้นั้นฝ่ายเดียว จะไม่ว่าความให้เ มื่อผู้ใดจะซื้อจะขายกับพวกอังกฤษแลชาวยุโรปอื่นแลอเมริกัน ซึ่งจะเข้ามาตั้งอยู่ก็ดี จะเที่ยวไปในทางน้ำทางบกค้าขายอยู่ก็ดี ก็ให้ซื้อให้ขายสิ่งของทุกอย่าง เว้นแต่สุราแลยาฝิ่นนอกภาษี แต่เมื่อจะให้รับสิ่งของแลเงินทอง ก็ให้มีหนังสือรับเป็นสำคัญแลพยานรู้เห็น ถึงจะผัดผ่อนให้ปันกัน ก็ให้มีหนังสือไว้เป็นสลักสำคัญแลพยานรู้เห็น อย่าทำให้เกี่ยวข้องรุงรังนัก มีความจะชำระยากไป เมื่อจะสมคบกับลูกค้าคนอังกฤษแลชาวยุโรปอื่นแลอเมริกัน ก็ให้พบปะพูดจากันที่หน้าบ้านหน้าโรงมีผู้รู้ผู้เห็น อย่าให้คนต่างประเทศรุกรานเข้าไปทวงถามทุ่มเถียง ยื้อแย่งจนเกิดวิวาทในบ้านเรือนของตัวได้ ให้ออกรับพูดจาเสียหน้าบ้านหน้าโรงมีผู้รู้ผู้เห็น

ในสุราแลยาฝิ่นสองสิ่งนั้น ถ้าคนอังกฤษแลชาวยุโรปอื่นแลคนอเมริกันมารับเอาน้ำสุราแต่นายอากรไปขาย น้ำสุรานั้นคนทั้งปวงซื้อกินซื้อใช้ก็ได้ไม่มีโทษ ต้มสุราขึ้นไม่ได้ ผูกไปแต่นายอากรก็ดี เอาสุราเมืองนอกมาขายก็ดี ห้ามมิให้ใครไปซื้อเอาออกมา แลไปซื้อกินในบ้านคนนอกประเทศนั้น คนที่ไปซื้อออกมาก็ดี คนที่ไปกินในบ้านนั้นเมาออกมาก็ดี ให้นายอากรจับปรับไหมเหมือนคนทำสุราตามโทษานุโทษ แต่ฝิ่นนั้น ถ้าคนนอกประเทศมารับไปจากเจ้าภาษี จะไปสูบด้วยกันเองก็ดี ไปขายแก่จีนก็ดี ไม่มีโทษ ถ้าคนที่พระราชบัญญัติห้ามมิให้สูบฝิ่น จะไปรับมาสูบมาขายก็ดี เข้าไปอาศัยสูบในบ้านนั้นก็ดี ก็จะมีโทษตามโทษสูบฝิ่น แต่ฝิ่นนอกประเทศที่คนนอกประเทศจะลอบเอามาซื้อขายนั้น ได้ห้ามไว้ในหนังสือสัญญาแล้ว เมื่อมีเหตุขึ้นที่ปรับปรุงกันตามหนังสือสัญญา

อนึ่ง อย่าให้สมคบกับคนอังกฤษ แลชาวยุโรปอื่นแลอเมริกันที่มีความผิด หนีกงสุล ตามที่เมืองนั้น ๆ แลกัปปิตันนายเรือแลคนหลบเจ้าหนี้ ให้หลบลี้อยู่ในบ้านในเรือน ถ้าหลบเข้าไปก็ให้จับตัวมาส่งกับรั้วแขวงนายอำเภอ จะได้พาตัวไปส่งกับกงสุลตามที่ ตามข้อสัญญาที่ว่าแล้วนั้น ถ้าคนอังกฤษแลชาวยุโรปอื่นแลอเมริกันมาทำข่มเหงแก่ผู้ใด ๆ นอกบ้านของผู้นั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องขัดขวางอย่างไรก็ดี ถ้าอยู่หัวเมืองก็ให้ทำเรื่องราวไปยื่นต่อผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการ พอที่ผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการจะว่ากล่าวให้แล้วไปได้โดยยุติธรรมเห็นชอบด้วยกันก็ให้ว่าให้เป็นแล้วต่อกัน ถ้าขัดขวางอยู่จะไปมิได้ ก็อย่าให้ผู้สำเร็จราชการเมือง แลกรมการเกาะคล้องกดขี่ข่มเหงจำเลยวุ่นวายไป ก็ให้บอกส่งเรื่องราวกับโจทก์ลงมายังกรุงเทพมหานคร ถ้าคนที่เป็นความกับคนต่างประเทศอยู่ในกรุงเทพมหานคร จะฟ้องคนต่างประเทศ ก็ให้ทำเรื่องราวไปยื่นต่อเจ้าพนักงานกรมท่ากลาง ที่ศาลาเวรกรมท่า จะได้พาตัวโจทก์กับเรื่องราวไปหากงสุลของคนต่างประเทศนั้น ให้หาตัวจำเลยมาชำระให้ หรือจะไปฟ้องกับกงสุลได้ทีเดียวก็ตาม เมื่อกงสุลบังคับอย่างไร ให้ฟังแลทำตาม ถ้ามิเห็นชอบด้วยก็อย่าทุ่มเถียงทะเลาะวิวาท ให้เอาความมาเรียนเจ้าพนักงานกรมท่ากลางให้ฟัง ช่วยไต่ถามต่อว่าให้โดย สมควร

ประกาศมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนเจ็ด แรมค่ำ ๑ ปีมะโรง นักษัตรอัฐศก

----------------------------

  1. ๑. คือคนเป็นผู้ชำระความอันซื่อสัจนั้น (อักขราภิธานศรับท์หมอบรัดเล, พิมพ์ครั้งที่ ๒, องค์การค้าของคุรุสภา, พระนคร, ๒๕๑๔, น. ๗๓๔.)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ