สมาคม “ตั้วเฮีย”

ความเป็นมาของจีน “ตั้วเหี่ย” หรือตั้วเฮียที่ถึงกับต้องตั้งศาลชำระความและปราบปรามกันขึ้นนี้ ความจริงมิได้เกิดมีขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ หากมีสืบเนื่องมาแต่รัชกาลก่อนแล้ว และคำว่า “ตั้วเฮีย” ในสมัยก่อนความหมายที่มาเรียกกันภายหลังก็คือพวก “อั้งยี่” นั่นเอง เป็นสมาคมลับที่ชาวจีนอันธพาลบางกลุ่มจัดตั้งขึ้น

เรื่องตำนานหรือความเป็นมาของสมาคมลับนี้มีปรากฏทางเมืองจีนกล่าวว่า เดิมเมื่อเมืองจีนต้องตกอยู่ใต้อำนาจของพวกเม่งจูตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๘๗ ต่อมาก็มีพวกจีนได้ตั้งเป็นสมาคมลับขึ้น มีวัตถุประสงค์กำจัดพวกเม่งจู แล้วเชื้อเชิญเชื้อสายพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ไต้เหม็ง อันเป็นกษัตริย์จีนขึ้นครองแผ่นดินดังเก่า การที่พวกจีนตั้งสมาคมลับนั้นเดิมมีแต่เมืองจีนด้วยเหตุผลดังกล่าว กาลนานมาพวกจีนนอกประเทศได้เอาแบบอย่างสมาคมไปตั้งขึ้นในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ ด้วยวัตถุประสงค์ผิดกับในเมืองจีน กล่าวคือหาได้เกี่ยวกับการคิดกำจัดพวกเม่งจูแต่อย่างใดเลย และเมืองไทยนั้น ชาวจีนรู้จักนิยมกันมานานแล้วว่าเป็นเมืองที่ทำมาหากินได้สะดวก รัฐบาลและราษฎรไทยไม่รังเกียจคนต่างชาติต่างศาสนาจะเข้ามาประกอบสัมมาชีวะ ดังนั้นพวกคนจีนชาวเมืองฝ่ายใต้ที่ยากจนขัดสน จึงมักเดินทางเข้ามาสู่เมืองไทย บางคนมาหากินพอสบายใจแล้วก็กลับออกไป และบางคนได้ความสุขสบายมากก็เลยทิ้งเมืองจีนมาตั้งรกรากอยู่เมืองไทยเลยทีเดียว ได้คนไทยเป็นภรรยาเกิดลูกหลานก็มี

มูลเหตุที่ชาวจีนบางกลุ่มจัดตั้งสมาคมลับ “อั้งยี่” ขึ้นในเมืองไทยนั้น ปรากฏในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเรื่องรัฐบาลจับฝิ่นเป็นการใหญ่ พวกจีนตั้วเหี่ยคือเดิมเป็นพวกเอาฝิ่นเข้ามาสูบ แล้วลุกลามให้ไทยแอบสูบฝิ่นขึ้นบ้าง และก็เรื่องฝิ่นนี้ในตอนปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในหลวงได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งไว้ ห้ามมิให้ใครสูบฝิ่นหรือเอาฝิ่นเข้ามาในพระราชอาณาเขต แม้เช่นนั้นก็ยังมีคนจีนลอบนำเข้ามาอยู่เสมอ และคนไทยก็ยังมิได้สูบกันมากนัก ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อทางเมืองจีนเกิดมีพวกฝรั่งกับจีนคบคิดกันค้าฝิ่นแพร่หลาย และพวกจีนที่เข้ามาในเมืองไทยส่วนมากเป็นคนติดฝิ่นมา จึงเป็นธรรมดาที่ความต้องการฝิ่นจึงต้องมีมากขึ้น มีการซื้อขายกัน เลยเป็นเหตุให้คนไทยที่มีบรรดาศักดิ์และไพร่ราบพากันสูบฝิ่น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลแห่งความนิยมก็ว่าฝิ่นสามารถรักษาหรือบรรเทาความทุกขเวทนาจากโรคได้

ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับพวกพ่อค้าฝิ่นเอาตัวมาลงพระราชอาญา และกวดขันตั้งแต่ปีกุน พ.ศ. ๒๓๘๒ แต่เรื่องของฝิ่นมีอิทธิพลร้ายกาจใครติดแล้วก็ยากจะถอนตัวได้ และผู้ใดค้าฝิ่นได้ตลอดรอดฝั่งแล้วก็มีหวังเป็นเศรษฐีทุกคน ดังนั้น เมื่อทางราชการกวดขันปราบปรามหนักข้อ อาทิตรวจตราสำเภาที่สงสัยว่าจะนำฝิ่นเข้ามา จนพ่อค้าเกิดความลำบาก จึงหาทางขยับขยายออกไปตั้งหากินอยู่ตามหัวเมืองทางปากอ่าว และหัวเมืองชายทะเลให้เป็นลูกช่วงรับฝิ่นขึ้นจากเรือสำเภาตามชายทะเล แล้วก็ลักลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ การที่ทำเช่นนั้นจำจะต้องลักลอบซ่อนเร้น และต้องมีสมัครพรรคพวกที่ไว้วางใจช่วยกันทุกระยะทาง จึงได้จัดเอาวิธีการตั้วเหี่ยมาตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับสำหรับการค้าฝิ่น ตัวหัวหน้ามักเป็นจีนเก่าเพราะคุ้นกับเมืองไทยมาก่อน ตัวลูกน้องคือจีนใหม่ ๆ มีกำลังคนมากบ้างน้อยบ้างตามความเหมาะสมของท้องที่

ครั้นพวกตั้วเหี่ยมีกำลังมากขึ้น และอิทธิพลการเงินดี บางท้องที่เลยประพฤติเป็นโจรสลัดปล้นสะดมเรือพ่อค้าวาณิช บางแห่งก็บังอาจต่อสู้เจ้าพนักงานซึ่งไปตรวจจับฝิ่นจนเป็นเรื่องใหญ่ถึงกับต้องรบกันที่เมืองนครชัยศรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๐ ครั้งหนึ่ง และต่อมาก็เกิดเรื่องที่เมืองฉะเชิงเทรา แต่การปราบปรามของทางราชการก็เป็นไปอย่างเข้มแข็งขนาดยกกองทัพไปปราบ ฆ่าจีนตั้วเหี่ยเสียเป็นอันมาก แต่นั้นมาเหตุการณ์ก็สงบลงพักหนึ่ง

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปรึกษาเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า ที่ห้ามฝิ่นกวดขันเมื่อรัชกาลที่ ๓ ยังไม่ค่อยเป็นผลดีนัก เพราะว่าฝิ่นก็คงเข้าเมืองอยู่เสมอ คนสูบฝิ่นก็ไม่ลดน้อยลง เป็นการลำบากเปล่า ๆ ให้เปลี่ยนวิธีจัดการเรื่องฝิ่นเป็นอากรผูกขาดของรัฐบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ คือทางรัฐบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มจำหน่ายให้จีนผู้นิยมซื้อไปสูบได้ตามใจชอบ แต่ห้ามไว้สำหรับคนไทย เมื่อเปลี่ยนวิธีการเป็นเช่นนี้ ก็กลับได้เงินผลประโยชน์แก่แผ่นดินมากขึ้น และการตรวจจับฝิ่นก็ไม่ต้องลำบากเหมือนก่อน แต่สมาคมตั้วเหี่ยก็ยังไม่สูญไป มาถึงชั้นนี้ความมุ่งหมายของสมาคมลับเปลี่ยนเป็นต่อสู้กับเจ้าภาษีนายอากรซึ่งเป็นชาวจีนด้วยกันเอง

ล่วงมาจนปลายรัชกาลที่ ๔ ได้เกิดความวุ่นวายจากตั้วเหี่ยขึ้นอีก คราวนี้เกิดทางหัวเมืองชายทะเลตะวันตก คือที่เมืองภูเก็ตเป็นต้น ด้วยตั้งแต่ดีบุกขึ้นราคาก็มีการขุดหาแร่ดีบุกกันในแหลมมลายูแพร่หลายทั้งในแดนของอังกฤษและไทย อาศัยเมืองสิงคโปร์และเกาะหมากเป็นตลาดขายดีบุกไปต่างประเทศ การขุดหาดีบุกในสมัยโน้นพวกจีนทำทั้งนั้น พวกจีนที่มีทุนรอนมากจ้างจีนชั้นเลวในเมืองจีนมาทำงานแต่ละแห่งมีจำนวนมาก นับเป็นร้อยเป็นพัน และเพื่อประโยชน์ในการเรียกหาว่าจ้างและปกครองจีนชั้นต่ำที่ทำเหมืองดีบุก พวกเจ้าของเหมืองในเขตอังกฤษคิดตั้งสมาคมขึ้นก่อนเรียกกันว่า “ยี่หิน” สมาคมหนึ่ง “ปูนเถ้าก๋ง” อีกสมาคมหนึ่ง ในขั้นแรกก็เป็นทำนองสมาคมอย่างเปิดเผย จีนทำงานของสมาคมไหนก็มีหัวหน้าสมาคมของตนเอง ความเคลื่อนไหวของสมาคมดังกล่าวนี้ได้แพร่หลายเข้ามาในเขตไทย เจ้าเมืองกรมการเห็นว่าดีก็อุดหนุน และพวกชั้นหัวหน้าของสมาคมเข้ามาหาเสนาบดีในกรุงเทพฯ ก็ได้รับความยกย่องคล้ายกับเป็นกรรมการจีน แต่ลักษณะที่จีนควบคุมกันเป็นต่างพวกเช่นนั้น มิช้ามินานพวกจีนที่มีกำลังมากกว่า ก็แย่งผลประโยชน์ของพวกที่มีกำลังน้อย และยิ่งกว่านั้นจีนอยู่ต่างพวกก็เกิดทะเลาะวิวาทกันเป็นส่วนตัว แล้วเลยยกพรรคพวกเข้าทำร้ายกัน เพราะเหตุดังกล่าวมาสมาคมทั้งสองจึงกลายเป็นตั้วเหี่ย และมักปะทะกันอยู่เนือง ๆ ทั้งในเขตอังกฤษและไทย โดยเฉพาะเขตไทยมีเรื่องใหญ่โต เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ จีนสองสมาคมเกิดวิวาทกัน ด้วยเรื่องแย่งน้ำที่จะไขมาทำเหมือง แล้วยกพวกเป็นพันคนเข้ารบกันในกลางเมืองภูเก็ต ผู้ว่าราชการเมืองห้ามปรามก็ไม่ฟังเสียง จะปราบปรามก็ไม่ไหว ด้วยไม่มีกำลังพอจะต่อสู้ได้ จึงได้บอกลงมายังกรุงเทพฯ ครั้งนั้นโปรดฯ ให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เมื่อยังเป็นที่พระยาเทพประชุน เป็นข้าหลวงออกไปเกณฑ์กำลังตามหัวเมืองใกล้เคียงยกไปปราบตั้วเหี่ยที่ภูเก็ต แต่ตัวหัวหน้าทั้งสองฝ่ายยอมอ่อนน้อมรับสารภาพผิดไม่ต่อสู้ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ จึงพาตัวพวกหัวหน้าฝ่ายละ ๔ คนเข้ามากรุงเทพฯ ทางราชการยอมภาคทัณฑ์ เป็นแต่บังคับให้ถือน้ำกระทำสัตย์สัญญาว่า จะไม่เป็นกบฏคิดร้ายต่อแผ่นดิน หรือก่อการกำเริบเสิบสานต่อไปแล้วก็ปล่อยตัวกลับไป

ส่วนในกรุงเทพฯ นี้มูลเหตุที่จะเกิดตั้วเหี่ยขึ้นอีกในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เนื่องจากได้มีภาษีอากรตั้งขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง โดยจำเป็นต้องหาเงินสำหรับใช้จ่ายในราชการแผ่นดินทดแทนจำนวนเงินที่ขาดไป เพราะทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศ ต้องเลิกการเปิดซื้อเปิดขายหลายอย่างอันเคยเป็นผลประโยชน์ของแผ่นดินมาแต่กาลก่อน การเก็บภาษีอากรที่ตั้งใหม่นั้น ก็ใช้วิธีให้ประมูลกันเป็นเจ้าภาษีนายอากร และชาวจีนก็ประมูลได้ทั้งนั้น แต่มาถึงสมัยที่พวกจีนซึ่งมีทุนรอนมากร่ำรวยแล้ว ก็มักรับทำแต่ภาษีอากรที่เป็นรายใหญ่ ๆ เช่นภาษีฝิ่นและสุราเป็นต้น ส่วนภาษีอากรที่ไม่สำคัญและเงินน้อย แต่มีมากอย่างกว่ารายใหญ่ จึงได้แก่จีนชั้นต่ำ และในสมัยนั้นจีนชั้นคหบดีได้ทำอุตสาหกรรมโรงสีข้าวและเลื่อยไม้ มีเรือลำเลียงสินค้าและการก่อสร้างต่าง ๆ อันต้องการแรงงานทวีขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงจ้างจีนใหม่เข้ามาเป็นคนงาน เรียกกันว่า “จับกัง” หรือ “กุลี” มีจำนวนมากขึ้นมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองบางแห่ง เรื่องก็เลยเกิดมีจีนหัวหน้าขึ้นอีกจำพวกหนึ่งเรียกกันว่า “เถ้าเก” ทำหน้าที่ปกครองพวกกุลีจีนพวกหากินทางประมูลภาษีอากรก็ดี เป็นเถ้าเกก็ดี ผลประโยชน์มักขัดกัน เช่นแย่งประมูลและแย่งงานกันเป็นต้น คิดเอารัดเอาเปรียบกันด้วยอุบายต่าง ๆ

การตั้งตั้วเหี่ยนั้นเป็นอุบายสำคัญอย่างหนึ่งของพวกจีนเหล่านั้น เป็นต้นว่าถ้าผู้เป็นหัวหน้าเข้าว่าประมูลภาษีอากร ผู้อื่นก็มิใคร่กล้าแย่งด้วยเกรง ตั้วเหี่ยซึ่งเป็นพรรคพวกอยู่ในท้องที่จะข่มเหง ถ้าผู้ซึ่งไม่ได้เป็นตั้วเหี่ยจะเข้าไปประมูลก็จำจะต้องไปว่ากล่าวขอร้อง หรือยอมแบ่งปันผลประโยชน์ให้ พวกตั้วเหี่ยอย่าให้เกะกะกีดขวาง ประโยชน์ของตั้วเหี่ยมีด้วยประการเช่นนี้ จึงเริ่มเกิดตั้วเหี่ยขึ้นอีกหลายพวกหลายเหล่าแต่ยังไม่ปรากฏเหตุการณ์ร้ายแรง แต่มีเค้าเงื่อนว่ารัฐบาลได้ปรารภอยู่แล้วแต่ในรัชกาลที่ ๔ ว่า การปกครองคนจีนในเมืองไทยนี้ อาจจะมีความลำบากเกิดขึ้นใหม่ จากจีน ๒ จำพวก คือจีนในบังคับฝรั่งต่างประเทศพวกหนึ่ง กับจีนตั้วเหี่ยพวกหนึ่ง เหตุด้วยจีนในบังคับต่างประเทศมีกงสุลคอยอุดหนุนให้ได้เปรียบจีนจำพวกอื่น และทางราชการจะบังคับบัญชาก็ไม่ได้เหมือนกับราษฎรทั้งปวง ส่วนพวกตั้วเหี่ยนั้นก็ย่อมอาศัยตั้งพวกประพฤติในทางพาลทุจริต ถ้ามีกำลังมากขึ้นอาจจะเป็นศัตรูภายในบ้านเมือง ก็จีนที่มายังเมืองไทยนี้โดยมาก เป็นแต่มุ่งหมายมาหากิน มิได้รู้สึกตัวว่าเป็นชาวเมืองไทย ได้เปรียบแก่ตนทางไหนก็ไปทางนั้น อาจจะเกิดความนิยมไปแอบอิงอาศัยอำนาจร่มธงของฝรั่ง หรือเข้าเป็นสมาชิกพวกตั้วเหี่ย เป็นความลำบากแก่รัฐบาลทั้งสอง อย่างเรื่องนี้ดูเหมือนว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะได้ลงเนื้อเห็นว่า ควรดำเนินตามทางพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือทำนุบำรุงพวกจีนทั้งปวงอันเป็นหมู่มากให้รู้สึกว่าได้รับความอุปถัมภ์จากรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจฝรั่งหรือเป็นตั้วเหี่ย เพราะฉะนั้น พอขึ้นรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ก่อนทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ประกาศตั้งศาลสำหรับชำระความจีน เมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะโรงฯ กล่าวความตามในงานแผนกเบื้องต้นว่า

“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งให้ปรึกษาพระบรมวงศานุวงศ์ และท่านเสนาบดี ว่าจีนบรรดาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้นฉันใดจะให้มีความสุขสบาย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงได้นำกระแสร์รับสั่ง ปรึกษาพระบรมวงศานุวงศ์ และท่านเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า จีนทั้งหลายที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำมาหากินในพระราชอาณาจักรแผ่นดินสยามมากกว่ามาก ไม่มีที่พึ่งเหมือนชาวต่างประเทศอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในร่มธงกงสุล พวกจีนเหล่านี้แต่กาลก่อน มีถ้อยความขึ้นก็ต้องไปฟ้องโรงศาลเหมือนอย่างไทย ตัวก็ไม่รู้จักอย่างธรรมเนียมกฎหมายบ้านเมืองไทย ว่ากะไรต้องเตร็จเตร่เร่ร่อนไปหาท่านผู้มีอำนาจบรรดาศักดิ์มาก ให้ช่วยธุระของตัว คิดดูน่าสงสารหนัก กาลนี้แผ่นดินใหม่ควรที่จะจัดแจงให้มีผู้รับธุระของพวกจีนทั้งหลายให้ได้ความสุขขึ้นทั้งใน กรุงเทพฯ และหัวเมืองให้มีผู้รับธุระเหมือนกัน ได้นำข้อนี้ขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ทรงเห็นด้วย จึงให้มีหมายประกาศแก่บรรดาพวกจีนซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำมาหากินในพระราชอาณาเขตให้รู้ทั่วกันว่า ถ้าจีนต่อจีนมีคดีเกี่ยวข้องต่อกัน ให้ไปร้องฟ้องที่พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย กับหลวงพิพิธภัณฑ์ ผู้ช่วยราชการกรมท่าซ้ายกับหลวงพิชัยวารี (รัฐบาล) จะให้พระยาโชฎึก ฯ มีอำนาจตั้งขึ้นเป็นตระลาการขึ้นอีกหลายนาย จะได้ชำระหนี้สินตามธรรมเนียมจีนให้แล้วแก่กัน” ดังนี้

แต่อำนาจศาลจีนที่ตั้งครั้งนั้น ให้รับคดีซึ่งคู่กรณีเป็นจีนทั้งสองฝ่าย และเป็นส่วนความแพ่งไว้พิจารณาแลเปรียบเทียบ หรือพิพากษาให้แล้วกันได้ตามประเพณีจีน และใช้ภาษาจีนได้ในศาลนั้น แต่ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งมิได้เป็นจีนก็ดี หรือเป็นความโจรผู้ร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดินก็ดี ศาลนั้นไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา อนึ่งนอกจากตั้งศาลที่กล่าวมา ที่กรุงเทพฯ ในท้องที่ที่มีจีนอยู่มาก เช่นในย่านสำเพ็งเป็นต้น ตั้งนายอำเภอจีน สำหรับดูแลกิจทุกข์สุขของพวกจีนเหมือนอย่างที่มีนายอำเภอไทยในที่อื่นด้วย อีกอย่างหนึ่ง ตามหัวเมืองซึ่งไม่มีกรมการจีน ก็ตั้งกรมการจีนขึ้นเป็นตำแหน่งที่เรียกว่า “กงสุลจีนในบังคับสยาม” ได้คัดความตอนต้นทรงตั้งมาลงไว้ในที่นี้ พอให้เป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลในครั้งกระนั้น

สารตราท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยบากรมพระสมุหกลาโหม ให้มาแก่ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี ด้วยมีพระราชโองการ โปรดเกล้า ฯ สั่งให้ท่านเสนาบดีปรึกษาพร้อมด้วยพระบรมวงศ์เธอว่า พวกจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำมาหากินอยู่ในกรุงสยามเป็นอันมาก สืบบุตรหลานมาถึง ๓ ชั่ว ๔ ชั่วแล้ว บางคนก็ไม่รู้ความเมื่อมีคดีขึ้นเล็กน้อย คนที่เป็นหมอความก็เข้ายุยงเสี้ยมสอนให้ข้างหนึ่งเป็นโจทก์ก็ฟ้องร้อง ที่เป็นจำเลยก็ไปแก้คดียังโรงศาล ป่วยการทำมาหากิน เสียค่าฤชาตระลาการ แล้วความนั้นก็เสียไปเพราะไม่รู้จักธรรมเนียมและกฎหมาย แต่ก่อนครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริแล้ว บางเมืองก็ทรงพระกรุณาโปรด ฯ ตั้งขึ้นเป็นปลัดจีน ให้มาว่ากล่าวระงับทุกข์ของพวกจีนในเมืองนั้น ๆ แต่เมืองเพชรบุรีนี้ยังไม่ได้ทรงตั้ง บัดนี้ ท่านเสนาบดีสืบความทราบว่า จีนเบ๊ เป็นคนใจที่ซื่อตรง พวกจีนที่อยู่ในแขวงเมืองเพชรบุรี หัวเมืองนี้นับถือโดยมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งจีนเบ๊ อยู่บ้าน (หน้า) วัดมหาธาตุ แขวงเมืองเพชรบุรี เป็นที่หลวงอร่ามจีนพิไสย กงสุลจีนอยู่ในบังคับสยาม สำหรับว่ากล่าวถ้อยความซึ่งอยู่แขวงเมืองเพชรบุรี

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงในเรื่องนี้ไว้ว่า

สังเกตความในตราตั้งกงสุลจีนตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่ได้พบสำเนา ดูเหมือนจะมีอำนาจต่างกันเป็นชั้น ๆ คือ ถ้ายกย่องให้มียศถึงเป็น “ปลัดฝ่ายจีน” ให้มีอำนาจชำระความ ถ้าเป็นเพียง “กงสุลจีน” ได้แต่เปรียบเทียบว่ากล่าวอย่างเป็นหัวหน้า

ที่จัดการปกครองจีนครั้งนั้นจะได้ผลดีอย่างไร ในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้ บุคคลซึ่งรอบรู้พอจะได้ถามให้ได้ความเป็นหลักฐานก็หมดตัวเสียแล้ว ได้แต่สันนิษฐานว่า เห็นจะพอมีที่ที่ทำให้พวกจีนพากันอุ่นใจ และมีเค้าเงื่อนปรากฏว่า การที่จัดครั้งนั้นเป็นปัจจัยให้จีนนับถือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยิ่งขึ้น มีพวกจีนที่เป็นหัวหน้าทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำพากันเข้าฝากตัวพึ่งพำนักอยู่ด้วยเป็นอันมาก คงเป็นเพราะเห็นว่าท่านมีอำนาจ และมีน้ำใจที่จะสงเคราะห์ ทั้งในการปกครองตลอดจนในการที่จะให้ได้ทำภาษีอากร ข้อหลังเป็นข้อสำคัญ ด้วยจีนในบังคับต่างประเทศเสียเปรียบอยู่อย่างหนึ่ง คือจะเข้ามารับทำภาษีอากรไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลไทย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงอาศัยใช้อำนาจ ๒ อย่างนั้น ปกครองพวกจีนไว้มิให้ไปนิยมฝรั่งได้โดยมาก การแย่งผลประโยชน์กันในกระบวนหากินยังมีอยู่ จีนต่างพวกยังคงคิดเอาเปรียบกันอยู่อย่างเดิม อุบายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงไม่คุ้มไปได้ถึงเรื่องตั้วเหี่ย ยังมีอยู่ไม่ขาด บางทีหัวหน้ากลับเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่พึ่งพำนักอยู่ในเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ด้วยสามารถจะร้องเรียนให้ท่านเชื่อถือว่า มิคิดกบฏคิดร้ายขอให้ช่วยป้องกัน ก็แต่ธรรมดาตั้วเหี่ยถึงหัวหน้าจะคิดอาศัยรัฐบาล พวกสมพลที่เป็นพาลก็ยังชอบใช้กำลังเที่ยวเบียดเบียนผู้อื่นตามอำเภอใจ เมื่อตอนปลายปีมะโรงสัมฤทธิศก จึงปรากฏเรื่องตั้วเหี่ยเที่ยวประพฤติโจรกรรมเบียดเบียนผู้อื่น มีขึ้นเนือง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมือง ทั้งปรากฏว่ามีจีนในบังคับต่างประเทศคิดจะตั้งตั้วเหี่ยด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงจำต้องเปลี่ยนอุบายในการปราบตั้วเหี่ย ปรากฏกระบวนการที่จัดแก้ไขมีอยู่ในหนังสือเก่า ค้นพบเมื่อแต่งหนังสือนี้ ดังจะกล่าวต่อไปคือ

๑. เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือบอกกล่าวไปยังกงสุลฝรั่งเศส ว่าจีนเฉียวโห จีนเลวหู ในบังคับฝรั่งเศส ซึ่งตั้งร้านขายสุรา ตั้งตั้วเหี่ย ขอให้กงสุลขับไล่ออกไปเสียจากประเทศสยาม หรือมิฉะนั้นให้เอาออกเสียจากป้องกันฝรั่งเศส รัฐบาลจะได้บังคับบัญชาตามกฎหมายบ้านเมือง หนังสือนี้กงสุลฝรั่งเศสจะมีตอบมาว่ากระไร หาพบสำเนาหนังสือไม่ แต่ความที่ปรากฏมาในเรื่องจีนตั้วเหี่ย ดูกงสุลต่างประเทศไม่เอาเป็นธุระอุดหนุนตั้งแต่เดิมตลอดมาทุกเมื่อ เมื่อคิดดูก็พอแลเห็นเหตุด้วยจีนในบังคับต่างประเทศมีจำนวนน้อย และมักหากินในการเฉพาะอย่าง เช่นตั้งโรงสีหรือตั้งห้างซื้อขายสินค้า หาผลประโยชน์โดยตรง กงสุลจะอุดหนุนก็ง่าย การตั้งตั้วเหี่ยย่อมเจือปนด้วยความทุจริต และต้องตอบด้วยคนพาลมิมากก็น้อย กงสุลจะอุดหนุนยาก จึงไม่เอาเป็นธุระอุดหนุน พวกจีนในบังคับให้เข้าตั้วเหี่ยด้วยเหตุนี้

๒. ปรากฏในจดหมายเหตุอาลักษณ์ฉบับหนึ่งว่า “ณ วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะเส็งยังเป็นสัมฤทธิศก เพลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอม รินทรวินิจฉัย พระยาพิพัฒน์โกษานำข้อความขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ว่า จีนในแขวงตำบลนครชัยศรีหลายตำบลคบคิดกันเป็นหมู่เหล่าเข้าปล้นสดมภ์ ให้อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน จับตัวจีนกันนาได้กับสมัครพรรคพวกชำระจีนกันนาเป็นสัตย์ มีพระบรมราชโองการปรึกษาท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาราชสุภาวดี พระยาเทพประชุน พระยาราชรองเมือง พระยาเพชฎา ปรึกษาพร้อมกันสั่งให้เอาตัวจีนกันนาลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ ที มีป้ายเขียนนำหน้าประจานว่า อย่าให้ราษฎรไทยจีนดูเยี่ยงอย่างเหมือนจีนกันนา แล้วเอาตัวไปประหารชีวิตที่ประตูวัดโคก”

๓. ในจดหมายเหตุท้องอาลักษณ์ฉบับนั้นปรากฏอีกแห่งหนึ่งว่า “เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน - แรมค่ำ ๑ ปีมะเส็ง ยังเป็นสัมฤทธิศก ฯ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการ ปรึกษาเสนาบดี เจ้าภาษีนายอากร พระ หลวง ขุนนางจีน ว่าแต่บรรดาเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือในกรุงนอกกรุง มีจีนคบคิดกันซ่องสุมผู้คนเป็นหมวดเป็นเหล่า คิดตั้งเป็นตั้วเหี่ย เที่ยวตีเรือขึ้นปล้นตามบ้านราษฎรตื่นแตกกันทั่วนิคมเขต บัดนี้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นว่าจีนดีบ้างชั่วบ้าง ถ้าจะออกไปจับ หรือจะรบกัน บรรดาจีนทั้งหลายก็จะพลอยตายเสียเป็นอันมาก มีพระประสาทสั่งให้พระยาเทพประชุน พระยาโชฎึกราชเศรษฐี พระยาราชรองเมืองกับขุนนางอื่นบ้าง พาจีนที่รู้จักตัวว่าเป็นผู้คิดซ่องสุมผู้คนเป็นตั้วเหี่ย ๑๔ คน ให้ไปสาบานตัวที่วัดกัลยาณมิตรในพระวิหารพระประธานองค์ใหญ่ ว่าแต่บรรดาจีน ๑๔ คนนี้ กับทั้งพวกพ้องไม่คิดประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เจ้าอยู่หัว สนมพลเรือนนำน้ำพระพิพัฒน์สัตยาให้จีน ๑๔ คน รับพระราชทาน” การที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผ่อนผันแก่พวกหัวหน้าตั้วเหี่ย เพียงให้กระทำสัตย์สาบานครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย แต่ไม่เป็นเวลาที่จะทรงขัดขวางได้ จึงเป็นแต่ทรงแสดงพระราชปรารภไว้ในพระราชหัตถเลขา ถึงข้าหลวงเดิมคนหนึ่ง พบต้นร่างเมื่อแต่งหนังสือนี้ว่า “ข้อหนึ่งตั้วเหี่ยเหล่านี้การก็กลับกลายไปเสียแล้ว คนเหล่านี้เป็นของเจ้าคุณ (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) ทั้งนั้น คนใช้อยู่กับบ้านเมื่อเกิดวุ่นวายขึ้นครั้งนี้จึงดับง่าย ด้วยเป็นการไว้อำนาจของท่าน ถึงเอามาสาบาน แลมันก็เที่ยวปล้นชิงเอาของอยู่ไม่เว้นแต่ละวันราษฎรได้รับความเดือดร้อนมากอยู่ มันก็ลงเอาว่าเพราะขุนหลวงเป็นเด็ก พวกจีนกำเริบขึ้น มีความด้วยเรื่องปล้นหัวเมืองบอกมาใคร่ขาดก็นิ่งเสีย ว่ายังไม่มีเหตุ หัวเมืองกรมการถ้าจับตัวผู้ร้ายที่เป็นตั้วเหี่ยไปเที่ยวปล้นเขาก็สั่งให้จำไว้ เขาบอกว่าจะส่งมาจำไว้ที่คุกก็ว่าช่างก่อนเถิด ข้าวิตกว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรหรือจึงเผอิญให้ผู้ใหญ่อยากจะไว้อำนาจด้วยเรื่องนี้ กาลต่อไปข้างหน้าเจ้าคุณไม่มีตัวแล้ว กำลังมันก็แก่ขึ้นทุกวัน ยิ่งนานไปก็เหมือนเพิ่มอำนาจให้มัน” มาคิดดูในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้ว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ท่านจะคิดเห็นอย่างไรในเวลานั้น จึงไม่เอาโทษพวกหัวหน้าตั้วเหี่ย สันนิษฐานว่า อย่างดีบางทีจะเกิดแต่ปรารภว่าพวกจีนตั้วเหี่ยที่เป็นหัวหน้าและพลมากมาย ไม่รู้ว่าจำนวนแน่จะมีสักเท่าใด ถ้าเอาหัวหน้าทำโทษ พวกสมพลเกิดเจ็บร้อนขึ้น ต้องปราบปรามลำบาก ทำนองท่านจะคิดเห็นว่า เอาพวกหัวหน้าไว้ให้ช่วยเหนี่ยวรั้งพวกสมพลจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าทำลายหัวหน้าเสีย

๔. ปรากฏอุบายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อีกอย่างหนึ่งมีในจดหมายเหตุอาลักษณ์อีกแห่งหนึ่งว่า “ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ปีมะเส็งยังเป็นสัมฤทธิศก เพลาบ่าย ๔ โมงเย็น พระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เจ้าอยู่หัวเสด็จออกบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ทรงทอดพระเนตรหัดทหารปืนใหญ่ยิงปืนตับ เพลาค่ำเสด็จขึ้น” การเสด็จออกทอดพระเนตรซ้อมทหารอย่างว่านี้ จัดให้มีในหมู่นั้นเนือง ๆ บางครั้งก็ให้ตั้งเป็นค่ายระเนียดแล้วเอาช้างศึกแล่นผ่านควันปืนเข้ารื้อค่าย เป็นการแสดงกำลังทหารให้พวกตั้วเหี่ยครั่นคร้าม ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง

แต่ชัยซึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปริวิตกดังปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขานั้นก็มีมูล เพราะในสมัยนั้นเกิดเหตุโจรผู้ร้ายชุกชุม ทั้งที่เป็นตั้วเหี่ยและมิใช่ตั้วเหี่ย บางรายเป็นเหตุแปลกประหลาด ดังเช่นมีผู้ร้ายขึ้นลักของบนกุฎีพระธรรมเจดีย์ (อุ่น) พระราชาคณะวัดพระเชตุพน และทำทรกรรมพระธรรมเจดีย์ซึ่งแก่ชราอายุกว่า ๘๐ ปี จนถึงสิ้นชีวิต ต่อมานั้นไม่ช้ากัปตันยอนสมิธนำร่องอังกฤษ ถูกเมียลอบให้ชู้ฆ่าตายลงอีกคนหนึ่ง ก็เลื่องลือโจทก์กันแพร่หลาย แต่ในเวลานั้นพระยาอินทราธิบดีสหราชรองเมือง (เทียบ) เจ้ากรมกองตระเวนเป็นคนแข็งแรง สืบจับตัวผู้ร้ายโดยรวดเร็วทั้ง ๒ ราย จับได้แล้วชำระเป็นความสัตย์ รับสั่งพิพากษาเสร็จในไม่กี่วันตั้งแต่เกิดเหตุ ก็ให้ประหารชีวิต ผู้ร้ายอุกฉกรรจ์ในกรุงก็สงบไปได้อีกคราวหนึ่ง

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ