แม่กองพระเมรุ

แทบไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นความจริงปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก่อนจะไต่เต้าชีวิตขึ้นมาได้ก็ผจญกับความลำบากยากเข็ญและความอัปยศอดสูในบางครั้ง ขนาดถูกเฆี่ยนหลังด้วยหวายถึง ๕๐ ที

เรื่องนั้นมีอยู่ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเสร็จศึกเมืองเชียงใหม่แล้ว ต่อมาสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระประชวรพระยอดอัคคะเนสัน เสด็จทิวงคต ณ วัน อังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๓๖ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการสั่งให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่เวลานั้นยังเป็นเจ้าพระยาจักรีสมุหนายกเป็นแม่กองพระเมรุ ณ วัดบางยี่เรือใต้ จะถวายพระเพลิงพระราชชนนี

ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินดำรัสว่า ธรรมเนียมการพระเมรุ ต้องตั้งการมหรสพในฤดูแล้ง จึงจะสมควรแก่การใหญ่ แต่การพระเมรุครั้งนี้ จะรอไปทำต่อฤดูแล้งนั้นไม่ได้ เพราะว่าฤดูแล้งนั้นพม่าเคยมาทำศึกแก่เมืองไทยตามชายเขตแดนทุกปีมิได้ขาด การพระเมรุครั้งนี้จึงจำเป็นต้องทำในฤดูฝน เพราะว่างราชการทัพศึกกับพม่า แต่ถึงกระนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังมิได้ไว้วางพระทัยในราชการศึก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์กับเจ้าพระยาสวรรคโลก เป็นแม่ทัพขึ้นไปรักษาเขตแดนฝ่ายเหนือ ฝ่ายในกรุงธนบุรีนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่กองทำพระเมรุอย่างรีบด่วน เจ้าพระยาจักรีจึงปรึกษาแก่นายงานแลนายด้านทั้งปวงว่า เราจะทำดีบุกบางเคลือบทองน้ำตะโกทาข้าวเปียกปิดตัวไม้ ครั้นปิดเสร็จแล้วในเดือน ๙ เมื่อก่อนวันจะเชิญพระศพมาเข้าพระเมรุนั้น ฝนได้ตกลงมาห่าใหญ่ชะทองน้ำตะโกที่ปิดประดับพระเมรุนั้นร่วงหลุดลงมาจนหมด

ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ จุลศักราช ๑๑๓๗ เวลาเช้า ๔ โมง เจ้าพนักงานก็เชิญพระบรมโกศทองคำขึ้นตั้งบุษบกบนเรือพระที่นั่งกิ่ง แห่เป็นกระบวนพยุหยาตราไปสู่พระเมรุที่วัดบางยี่เรือใต้ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนพลับพลาหน้าพระเมรุ ทรงทอดพระเนตรเห็นกระดาษทองน้ำตะโกที่ปิดประดับเครื่องพระเมรุหลุดร่วงลงมาสิ้น จึงทรงพระพิโรธเจ้าพระยาจักรีผู้เป็นแม่กองทำพระเมรุ จึงมีพระราชดำรัสสังว่า เราไว้ใจให้เป็นแม่กองทำพระเมรุต่างหูต่างตาเรา เจ้าไม่เอาใจใส่ในราชการ ทำมักง่ายให้เมรุเป็นเช่นนี้ดีแล้วหรือ ทำให้เสียพระเกียรติยศไป ครั้นแล้วจึงดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานองครักษ์ให้ลงพระราชอาญาโบยหลังเจ้าพระยาจักรี ๕๐ ที แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งราชการตามเดิม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น เคยรับพระราชอาญาเฆี่ยนหลัง ๓๐ ที ครั้งเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ครั้งหนึ่ง ซึ่งมีพระชนม์ได้ ๓๔ พรรษา ครั้งหลังนี้พระชนม์ได้ ๓๙ พรรษา จุลศักราช ๑๑๓๗

อันพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมบรมราชจักรีนั้นมิใช่เป็นเรื่องของสมมติเทพ หากเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์ปุถุชน ซึ่งชีวิตย่อมประสบทั้งความร้อนหนาวของชีวิต มิใช่จะก้าวสู่บันไดทองได้ง่าย ๆ เพราะนอกจากจะประกอบด้วยธาตุแท้ของชายชาตรีแล้ว จะต้องมีน้ำใจอันสูงส่งมีความทรหดอดทนเป็นยอดชีวิตของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงเหมือนกับบรรดา “มหาบุรุษ” ของโลกทั่วไป ที่มิได้ดำเนินชีวิตบนทางที่โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบที่มีผู้มาโปรยปรายไว้ให้ กว่าจะลุถึงจุดหมายปลายทางก็ผ่านความชอกช้ำขมขื่นซ้ำ ๆ ซาก ๆ จึงหากปราศจากธาตุแท้ของ “มหาบุรุษ” แล้วก็ยากที่จะก้าวล่วงพ้นไปได้

----------------------------

 

  1. ๑. เป็นชื่อฝีอย่างหนึ่ง มันขึ้นที่ริมสันหลังหัวใหญ่รักษายากนัก ร้อยคนจะรอดสักคนหนึ่ง (อักขราภิธานศรับท์หมอปรัดเล, พิมพ์ครั้งที่ ๒, องค์การค้าของคุรุสภา, พระ นคร, ๒๕๑๔, น. ๗๙๗.)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ