จับหญิงถวายในหลวง

ฐานะของเด็กและหญิงสาวชาวไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยามาจวนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะเข้าสู่ยุคทองคือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อมเสมอตัวด้วยสินค้าอันจะฝากโชคชะตากรรมไว้กับกฎหมาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นยุคระหว่างมนุษยธรรมและทาส พระองค์ยึดถือหนักไปทางไหน เรื่องต่อ ไปนี้จะเป็นผู้บอกท่าน

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ได้มีประกาศเรื่องพระยาพิพิธฤทธิเดชผู้สำเร็จราชการเมืองตราด ส่งหญิงเข้ามาถวาย ๓ คน ซึ่งได้กลายเป็นคดีครึกโครมคดีหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้มีประกาศเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรุง แลผู้สำเร็จราชการเมือง กรมการ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือให้ทราบทั่วกัน ด้วย ณ วันจันทร์ เดือน แรม ๕ ค่ำ ปีมะเส็ง นพศก เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคออกไปทรงประพาสทางทะเล ตั้งแต่เมืองชลบุรีออกไปจนถึงเมืองจันทบุรี เมืองตราด พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละออง ฯ เป็นอันมาก ทรงประทับแรมอยู่หลายราตรี เมื่อเสด็จประทับอยู่เกาะช้างนั้น พระองค์เจ้าทักษิณชากับเจ้าจอมมารดากราบถวายบังคมลาขึ้นไปเยี่ยมเยียนพระยาพิพิธฤทธิเดชแลพระผลภูมิไพศาลกับญาติอื่น ๆ ณ เมืองตราดเพลาหนึ่ง แล้วก็กลับลงเรือพระที่นั่ง จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ามา ณ กรุงเทพ ฯ เจ้าจอมมารดาในพระองค์เจ้าทักษิณชากราบทูลพระกรุณาว่า พระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาท ผู้สำเร็จราชการเมืองตราด สั่งความมาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระยาพิพิธฤทธิเดชจัดได้หญิงเป็นหลานในวงศ์สามคนจะพามาถวายตัวในเวลาเสด็จทรงประทับแรมอยู่นั้นไม่ทัน เสด็จพระราชดำเนินกลับเสียก่อน อนึ่งในเวลานั้นพระยาพิพิธฤทธิเดชก็มีใบบอกเข้ามายังเจ้าพนักงานกรมท่าว่า อ้ายจีนสลัดมาเที่ยวที่เรือลูกค้าที่แขวงเมืองตราดอยู่เนือง ๆ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้นายขันมหาดเล็กหุ้มแพรคุมเรือพระที่นั่งโผนเผ่นทะเลออกไปลาดตระเวนฟังราชการ จับอ้ายจีนสลัด แลให้เจ้าจอมเถ้าแก่สองคนที่จะใครไปเที่ยวทะเลไปด้วยนายขัน ครั้นนายขันมหาดเล็กเจ้าจอมเถ้าแก่จะกลับมา พระยาพิพิธฤทธิเดชมอบหญิงเป็นหลานสามคนให้นำเข้ามาถวายตัวทำราชการสนองพระเดชพระคุณ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานเงินตราคนละ ๑๐ ตำลึง ผ้านุ่งคนละ ๓ สำรับ ผ้าห่มคนละ ๓ สำรับ ให้ไปหัดเป็นละคอนมโหรี แลอยู่ด้วยเจ้าจอมมารดาแลญาติที่ทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังเป็นปรกติ ครั้น ณ เดือน ๙ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก มารดาของหญิงคนหนึ่งเข้ามาทำเรื่องราวถวายฎีกากล่าวโทษพระยาพิพิธฤทธิเดชกรมการว่า บิดามารดาหญิงไม่มีความผิด พระยาพิพิธฤทธิเดชให้ไปจับมาจำ เร่งรัดเอาบุตรหญิงได้แล้วส่งตัวเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย บิดามารดาไม่ยอมยินดีจะขอบุตรกลับไป จึงทรงพระราชดำริว่าบุตรเป็นที่รักแห่งบิดามารดา ถ้าพระยาพิพิธฤทธิเดชกรมการไปเกาะบิดามารดามาจองจำลงเอาพัสดุเงินทอง หรือไปฉุดลากบุตรสาวกรมการราษฎรมาเป็นภรรยาตัวเอง หรือนำไปถวายให้เจ้าอื่นนายอื่นโดยพลการข่มเหง พระยาพิพิธฤทธิเดชกรมการจะมีความผิด ในครั้งนี้พระยาพิพิธฤทธิเดชจัดเอาหญิงคนนั้นมา ไม่ได้หน่วงเหนี่ยวไว้ให้เนิ่นช้า ส่งเข้ามาถวายนั้นก็มิใช่ผู้อื่น ชำระได้ความเป็นแน่ว่าปู่ทวดของหญิงนั้นเป็นลุงคือพี่ชายของพระยาพิพิธสมบัติ (สุข) ซึ่งเป็นบิดาของพระยาพิพิธฤทธิเดชเอง เหมือนขนทรายเข้าวัด จะว่าพระยาพิพิธฤทธิเดชผิดนั้นยังไม่ควร จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ถามตัวหญิงนั้นว่า จะสมัครทำราชการอยู่ ณ กรุงเทพฯ หรือจะตามบิดามารดาไป หญิงนั้นให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า จะขอกราบถวายบังคมลาไปอยู่ด้วยบิดามารดา จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ส่งตัวหญิงให้มารดารับไป แลเงินตรา ๑๐ ตำลึง ผ้านุ่ง ๓ สำรับ ผ้าห่ม ๓ สำรับ ที่พระราชทานให้หญิงเมื่อแรกมาถึงนั้น ก็ยกพระราชทานให้เป็นรางวัลทำขวัญให้บิดามารดาของหญิงที่เกาะครองเร่งรัดนั้น แทนเบี้ยปรับพระยาพิพิธฤทธิเดชไปครั้งหนึ่งแล้ว ๆ ได้ทรงพระกรุณาดำรัสถามหญิงอีก ๒ คน ว่าจะออกไปอยู่ด้วยบิดามารดาดังนั้นหรือ จะส่งตัวให้ไปตามสมัคร หญิงทั้งสองคนกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า จะขอทำราชการอยู่ ณ กรุงเทพ ฯ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานเบี้ยหวัดในปีมะเมีย สัมฤทธิศกนี้ คนละ ๑๐ ตำลึง ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก มารดาของหญิงอีกคนหนึ่งเข้ามาทำเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายกล่าวโทษพระยาพิพิธฤทธิเดชกรมการ ว่าด้วยบุตรเหมือนอย่างครั้งก่อน ก็ได้ทรงตัดสินให้หญิงไปอยู่พร้อมด้วยบิดามารดาเป็นมาแต่หลัง เงิน ๑๐ ตำลึงกับผ้าสามสำรับนั้น ก็ยกพระราชทานให้เป็นเบี้ยทำขวัญเหมือนกัน ครั้นทรงพิเคราะห์ดูในเรื่องราวนายทองจีนผัว อำแดงเหียงเมีย บิดามารดาตะเภา นายกรดผัว อำแดงชุ่มเมีย บิดามารดาผาด ทั้งสองรายกล่าวโทษพระยา พิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาทกับนายขันว่า เกาะครองกดขี่ข่มเหงให้ถวายบุตรเข้ามานั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่สู้ผิดมากดอก ด้วยสืบตามความจริงก็เป็นการในเครือญาติกันมิใช่ผู้อื่น นายทองจีนก็เป็นหลานของลุงพระยาพิพิธฤทธิเดช คือเป็นบุตรของบุตรพี่ชายพระยาพิพิธสมบัติ (สุข) ซึ่งเป็นบิดาพระยาพิพิธฤทธิเดชแลเป็นตาของนายขัน ฝ่ายนายกรดเล่าก็เป็นบุตรของพี่สาวบิดามารดาเดียวกันกับท่านอิ่มซึ่งเป็นมารดานายขัน แลเป็นพี่สาวร่วมบิดากับพระยาพิพิธฤทธิเดช เพราะฉะนั้น ตะเภา ผาด สองคนนั้นก็เป็นหลานญาติ บุตรพี่หลานน้องกันกับพระยาพิพิธฤทธิเดช แลนายขันเองก็มิใช่ผู้อื่น พระยาพิพิธฤทธิเดชเป็นพี่ชายร่วมบิดาของเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าทักษิณชา ๑ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร ๑ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ ๑ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ๑ พระยาพิพิธฤทธิเดชเป็นลุงของพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าทั้ง ๔ พระองค์นั้น เจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้า ๔ พระองค์นั้น ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเป็นเจ้าจอมพระสนมเอก มีพานทองคำ เครื่องใช้สอยทองคำ หีบลงยาราชาวดีเป็นเครื่องยศ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑๐ ชั่ง เพราะเป็นเจ้าจอมข้าหลวงเดิมมา แลพระยาพิพิธฤทธิเดชพี่ชายของเจ้าจอมมารดานั้น ก็ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตราด แทนที่พระยาพิพิธสมบัติผู้บิดา ถ้าว่าแผ่นดินปัจจุบันนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (คือพระองค์ที่เรียกว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ บ้าง ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่บ้าง แต่ก่อนนั้น) แล้ว เจ้าจอมมารดากับพระยาพิพิธฤทธิเดช ก็ควรคนทั้งปวงจะรู้ว่าเป็นประธาน เป็นผู้ใหญ่ในพวกพ้องวงศ์ญาติของพระยาพิพิธสมบัติสืบ ๆ มา ทั้งหญิงทั้งชายทั้งสิ้นควรจะเป็นที่พึ่งที่นับถือของพวกญาติทุกคน แลซึ่งพระยาพิพิธฤทธิเดชจัดแจงเก็บหญิงเด็ก ๆ เป็นบุตรหลานนับเนื่องในเครือญาติส่งเข้าถวายตัวให้ทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังทั้งนี้ ก็จะทำด้วยคิดว่าตัวเป็นผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติ จะจัดแจงให้บุตรหลานเข้ามาทำราชการอยู่ให้อุ่นหนาฝาข้างกับเจ้าจอมมารดาผู้น้อง แลพระองค์เจ้าผู้หลาน ให้สมควรเป็นเกียรติยศ แลจะให้บิดาของหญิงเด็ก ๆ พวกนั้นได้มีหน้าแลบรรดาศักดิ์ว่า มีบุตรทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ความคิดของบิดามารดาหญิงเด็กเหล่านั้นเป็นคนนอกกรุง ไม่รู้ว่าอะไรจะงามไม่งามเป็นคุณเป็นโทษ ความคิดเหมือนคนเสียจริต จะเอาเป็นประมาณไม่ได้ พระยาพิพิธฤทธิเดชจะคิดดังนี้ จึงกดขี่ข่มเหงเอาตามใจตัว ด้วยคิดว่าตัวเป็นผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติ รู้จักดีชั่ว งามไม่งาม มิใช่ว่าจะไปข่มเหงฉุดลากผู้อื่น ซึ่งไม่ได้เป็นญาติเป็นข้าเจ้าบ่าวนายอื่นมา จะเห็นว่าเป็นผิดไม่ได้

อนึ่ง การที่พระยาพิพิธฤทธิเดช เกาะครองกดขี่เร่งรัดเอาตัวหญิงเด็ก ๆ ในเครือญาติถวายเข้ามาในหลวงดังนี้ ถ้าท่านทั้งหลายทั้งปวงรู้ว่าพระยาพิพิธฤทธิเดชถือน้ำพิพัฒน์สัตยาอยู่ในพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (คือ เจ้าฟ้ามงกุฎนั้นแล้ว) การก็ควรจะเห็นว่าเป็นอันเหมือนขนทรายเข้าวัด มิใช่เกาะครองเร่งรัดลงเอาเบี้ยหอยเงินทองอะไร หรือจะเอาไปถวายเจ้าอื่นนายอื่นประจบประแจงผู้ใดก็หาไม่ ไม่ควรจะเอาโทษ ไม่ควรจะให้มีเบี้ยปรับให้แก่ผู้กล่าวโทษนั้นเลย อนึ่ง การในพระบรมมหาราชวังแต่ก่อน หญิงคนใดบิดามารดาหรือญาติพี่น้องนำมาถวายตัวให้ทำราชการ ได้เป็นเจ้าจอมหรือพนักงานใด ๆ หรือเป็นละคอนเป็นมโหรี โดยอย่างต่ำเป็นจ่าแลทนายเรือนพวกโขลน รับราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้วก็เป็นออกไม่ได้ ถ้าจะคิดออกนอกราชการต้องทำมารยาเป็นอุบายว่าป่วยเป็นโรคเรื้อน มะเร็ง แลเป็นโรคต่าง ๆ หรือเสียจริตเป็นผู้ร้าย เป็นการเท็จ ๆ ไม่จริงดังนี้ก็มีบ้าง ลางทีคิดเดินเสียนายหน้า ให้เจ้าจอมคุณข้างในกราบบังคมทูลพระกรุณาขอบ้าง จึงออกนอกราชการได้ แลในแผ่นดินปัจจุบันนี้ทรงรักษายุติธรรม แล้วก็ได้หมายประกาศไว้ว่า ผู้ใดนำบุตรหญิงมาถวายตัวให้ทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อหญิงนั้นจะออกนอกราชการ ถ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาตามเหตุที่เป็นจริง ๆ ตรง ๆ ไม่มีมายาแล้ว ก็ไม่ได้ทรงรังเกียจ โปรดให้ออกตามใจง่าย ๆ ไม่ให้ต้องเสียเงินเสียทองสิ่งใด ถึงเงินทองซึ่งพระราชทานให้มากน้อยเท่าใดก็ไม่ชำระเอาคืน แต่ได้พระราชทานให้หญิงออกนอกราชการไปอยู่ตามใจ มีมากหลายรายมาแล้ว แลมารดาหญิงจะขอเอาบุตรไป ก็ชอบแต่จะบอกกล่าวให้เจ้าจอมหรือท้าวนางข้างในช่วยกราบบังคมทูลพระกรุณาขอ หรือมารดาหญิงแลตัวหญิงควรจะร้องถวายฎีกาแต่ในพระบรมมหาราชวัง มารดาหญิงก็ไม่ทำดังนั้น ไปเดินเหินหานายหน้าให้ต้องเสียพัสดุทองเงิน แลเก็บเอาความข้างในใส่ในเรื่องราวไปร้องถวายฎีกาหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศไปดังนี้ มารดาหญิงแลผู้แนะนำทำเรื่องราวมีความผิดอยู่ อนึ่ง หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ ทุกวันนี้พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการขึ้นลงไปมาอยู่ไม่ขาด ครั้นจะไม่ประกาศชี้แจงการให้ทราบไว้ กลัวเกลือกข้าราชการแลผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการจะไปทำข่มเหงฉุดเอาบุตรหลานสาวราษฎรมาเป็นภรรยา หรือเกาะบิดามารดามาจำเร่งเอาบุตรหลานนำไปถวายเจ้านาย ผู้มีวาสนาที่แข็งแรงแห่งอื่นนอกจากในหลวง ทำให้ราษฎรได้ความเดือดร้อนต่าง ๆ ดังนั้น ก็จะให้มีโทษตามโทษานุโทษ ถ้านำเข้ามาถวายในหลวงโดยแท้แห่งเดียวเป็นอันหาโทษมิได้ อนึ่ง ผู้หญิงบ้านนอกขอกนาเป็นลูกเลกไพร่หลวงไพร่สมทาสขุนนางในหลวงไม่เอาเป็นเมียดอก เกลือกจะมีลูกออกมาจะเสียเกียรติยศ แต่เมื่อผู้นำเอาหญิงงาม ๆ มาให้ก็ดีใจอยู่ ด้วยจะให้มีกิตติศัพท์เล่าลือว่า ยังไม่ชราภาพนัก จึงมีผู้หาเมียให้เท่านั้นดอกจึงรับไว้ แล้วให้หัดเป็นละคอนบ้าง มโหรีบ้าง เล่นการต่าง ๆ ไปโดยสมควร จะได้ทำหม่นหมองในคนต่ำ ๆ เลว ๆ นั้นหามิได้ ถ้าบิดามารดาร้องจะขอตัวคืนไป หรือตัวร้องจะออกเองก็ไปง่าย ๆ ดี ๆ ผู้หญิงนั้นก็บริสุทธิ์อยู่ไม่เศร้าหมอง ถ้าบิดามารดาว่ามีผู้เร่งรัดเกาะครองจึงต้องยอมให้บุตรมา ถ้ามีความร้องทุกข์ดังนี้ ในหลวงก็จะทำขวัญให้ได้ แต่ถ้าแม้นผู้หญิงไปตกอยู่ที่อื่น บิดามารดามาร้องแก่ในหลวง ลางรายก็จะเร่งให้คืนให้ได้ ลางรายก็จะเร่งเอาตัวให้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้จะปรับให้ผู้ชักนำเสียค่าคนตามเกษียณอายุห้าต่อบ้างหกบ้าง เป็นเงิน ๓ ชั่งบ้าง ๓ ชั่ง ๑๒ ตำลึงบ้าง ถ้าบิดามารดาร้องว่าต้องเกาะครองจองจำ ก็จะชำระปรับผู้เกาะครองจองจำโดยสถานละเมิดข่มเหงคนอันหาผิดมิได้ตามฐานานุศักดิ์ ว่าทั้งนี้ว่าด้วยทำการให้ข้าวให้เกลือ ให้เรือให้พาย สอพลอแก่ผู้อื่นนอกจากในหลวง ถ้าทำเพื่อในหลวงแท้ไม่ใช่ที่อื่น เหมือนพระยาพิพิธฤทธิเดชแล้ว เป็นอันทำด้วยจะให้คนอื่นขนทรายเข้าวัด ถึงทำเขาผิดในหลวงจะรับทำขวัญให้ ไม่ให้เสียอะไร เว้นไว้แต่เกินนักคือเฆี่ยนถึง ๑๐๐ ถึง ๕๐ หรือทำให้เขาล้มตายก็ดี จึงจะต้องมีโทษบ้างเพื่อไม่เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

เรื่องนี้น่าจะเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ได้อย่างหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปหรือพัฒนาการปัญหาประเพณีทุกแง่ทุกมุม ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม และมนุษยธรรมด้วยแล้ว พระองค์ไม่ปล่อยให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนลามปามออกไปอีกเลย

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ