นักโทษถวายฎีกา

ความจริงน้ำพระทัยของล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “นักประชาธิปไตย” ในขณะที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยย่อมมีขอบเขต การเปิดโอกาสหลายอย่างหลายทางของพระองค์ ได้เกิดเป็นช่องทางให้คนบางกลุ่มฉวยโอกาส อย่างพวกนักโทษถวายฎีกาข้ามหน้าข้ามตาเจ้าหน้าที่ พระองค์จึงต้องบอกกล่าวให้ทราบทั่วกัน

ประกาศฉบับนี้ลงวันพุธ เดือน ๗ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิ์ ศก พ.ศ. ๒๔๑๑ ในหัวข้อเรื่อง “ห้ามไม่ให้นักโทษร้องถวายฎีกาในเวลาเสด็จพระราชดำเนิน” ความว่า

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ประกาศ ทุกหมู่ ทุกกรมบรรดาที่มีคนโทษจำไว้คุมไว้ในที่นั้น ๆ ว่า วิสัยคนโทษต้องจำด้วยเหตุอันควรก็ดี ด้วยเหตุอันไม่ควรก็ดี ก็คงคิดอ่านดิ้นแต่ที่จะออกจะหนี ผู้ที่จะสมัครติดโทษอยู่นั้นไม่มี โดยเป็นอ้ายผู้ร้ายปล้นแลย่องเบาวิ่งราวแล้ว มันก็ยังอยากจะออกไปคุมพวกปล้นหรือย่องเบาวิ่งราวอีก ตามการถนัดของมัน จะว่าไปไยเล่าในคนโทษที่เบา ๆ กว่านั้น ที่สุดลงมาถึงคนไม่มีความผิด เป็นแต่ต้องเกาะครองเป็นจำนำแทนญาติหรือใครผู้ผิด ก็คนไพร่เหล่านี้ มีลัทธิสักดำอยู่ในหัวใจลบไม่หาย ว่าเจ้าชีวิตหูอยู่นาตาอยู่ไร่อะไร ๆ ก็ไม่รู้ แต่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์สั่งการว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างว่านั้น เมืองไทยตั้งเจ้าชีวิตเป็นโม่งไว้สำหรับตบมือให้ไล่ ล่อให้ไปข้างนั้นล่อให้ไปข้างนี้ เพราะฉะนั้นอ้ายไพร่ที่มีคดีถ้อยความต่าง ๆ ตามประสงค์อยากแต่จะร้องแก่ในหลวงแห่งเดียว คิดจะหลอกในหลวงแต่ให้หลงสั่งการตามใจมัน เพราะสำคัญว่าสั่งแล้วไม่มีใครขัดได้ ถ้าจะตามใจอ้ายไพร่ให้ร้องแก่ในหลวงแล้ว จะตั้งขุนนางชั้นใหญ่ขึ้นรองชั้นสองชั้นสามไว้ทำไม ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็ได้โปรดให้มีอาญาสิทธิ์สั่งงานสั่งการสำเร็จสิทธิ์ขาดได้ในกรมนั้นไม่ใช่หรือ อนึ่งคนโทษที่ต้องกักต้องขังสกปรกรุงรังมากนัก ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางจะไปเป็นผู้คุมเองได้หรือ ก็คงจะต้องตั้งอ้ายไพร่ที่ใจแข็งกล้าร้ายกาจ มีเมตตากรุณาน้อยเป็นผู้คุมใหญ่ผู้คุมรอง เมื่อเป็นดังนี้ ผู้คุมมันก็คงข่มเหงคนโทษผิด ๆ ถูก ๆ เป็นธรรมดา ถ้าเป็นขุนนางเป็นใหญ่ขึ้นมาเอาใจใส่น้อยก็คงเป็นหนักเข้า ถ้าเอาใจใส่มากก็คงจะค่อยเบาลง ถึงกระนั้นจะให้สมประสงค์อ้ายคนโทษก็คงไม่ได้ตามใจของมัน คอยหาช่องแต่ที่จะมาร้องแก่ในหลวงทุกอย่างทุกสิ่งทั้งจริงทั้งเท็จ ก็ถ้าในหลวงจะเข้ารับแบกหามเอาธุระคำร้องของอ้ายคนโทษทุกทิศทุกทาง ทุกคุกทุกตะรางแลทิมแล้ว ในหลวงมีที่เสด็จไปทางไหนคนโทษในทิมในตะรางนั้น ๆ ก็จะร้องแซ่เสียงไปทุกทิมทุกตะรางไม่ว่างไม่เว้น เมื่อเป็นอย่างนี้ งามแก่พระบารมีในหลวงแลบ้านเมืองอยู่แล้วหรือ แต่ก่อนเล่าลือว่าในหลวงย่อมอยู่ในกำแพงขัง ไม่ให้ไพร่เข้ามาตาปีตาชาติ มีเวลาจะได้ออกประพาสปีละครั้งแต่หน้าฤดูกฐิน ทางเสด็จทางเรือก็เป็นทางไกล ถึงร้องฎีกาอยู่ริมฝั่งก็ได้ยิน จะมีที่ร้องแต่บนบก ถึงกระนั้นทางเสด็จไปในพระนคร ก็มีจุกช่องล้อมวงเสียเข้ามาใกล้ไม่ได้ มีทางจะดอตเข้ามาร้องได้แต่ที่ข้างโรงเรือนหน้าประตูเทวาภิรมย์ เดี๋ยวนี้ในหลวงก็ออกอยู่ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เนือง ๆ มีวันกำหนดนัดให้ราษฎรมาร้องฎีกาเดือนละ ๔ ครั้ง ขึ้น ๗ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แลแรม ๗ ค่ำ แลแรม ๑๕ ค่ำ หรือ แรม ๑๓ ค่ำ ใกล้วันพระทุกเมื่อ ถึงในวันเหล่านั้นไม่ได้เสด็จออกก็โปรดให้พระเจ้าลูกเธอออกไปรับเข้ามาถวาย วันอื่น ๆ เมื่อเสด็จออกที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ให้ราษฎรใคร ๆ จะมาชูฎีกาถวายก็ได้ ก็โปรดให้รับ อนึ่งญาติพี่น้องพวกพ้องของใครมีเมื่อผู้คดีติดกักขังจองจำอยู่มาไม่ได้ เขียนฎีกามาให้รองแทนก็ทรงรับ อนึ่งเจ้าขุนมูลนายญาติพี่น้องของผู้ต้องคดีมีตัวเป็นข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน จะรับมาถวายเมื่อเวลาหนึ่งเวลาใดก็ได้ ไม่ชอบพระราชหฤทัยอยู่แต่ที่ร้องสกัดขวางทางเสด็จนั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่า ไม่ควรไม่ชอบพระราชหฤทัย เพราะ เป็นอันถือตำราเก่าไป ว่าผู้จะได้พบเสด็จเพ็ดทูลยาก จะได้ช่วยร้องฎีกา แต่เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปไหน ๆ หรือผู้ร้องพอใจจะเอายศว่าสกัดเสด็จให้หยุดอยู่ได้ จึงพอใจร้องเมื่อเวลาเสด็จ ก็ผู้ที่ร้องเมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินนั้น คดีก็ไม่โปรดให้ชำระสักเรื่องหนึ่ง ก็ยังขืนร้องร่ำไปไม่ฟังคำประกาศ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปมีผู้ร้องทรงนิ่งเสียขบวนเสด็จล่วงไป ที่ทุกวันเรียกว่าเลย ๆ นั้น ผู้ร้องก็ลุกขึ้นวิ่งตามขบวนเสด็จ ร้องเสียงดังตามมาข้างหลังว่า โปรดสัตว์ผู้ยากเจ้าข้า โปรดสัตว์ผู้ยากเจ้าข้า จนสุด ๆ เสียง เหมือนหนึ่งร้องว่า เจ้าชีวิตโวยหยุดก่อนโวยเหมือนกัน งามบ้านงามเมืองอยู่แล้วหรือ คนเกิดมาเป็นคนก็ควรจะต้องมีญาติพี่น้องพวกพ้องเผ่าพันธุ์ บุตรภรรยาเจ้าขุนมูลนาย ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งรู้จักมักคุ้น ควรจะเป็นที่พึ่งได้อย่างใดอย่างหนึ่ง การซึ่งมาร้องฎีกาแทนกัน ถ้าส่งตัวเจ้าของฎีกาได้แล้ว การที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผู้เอาฎีกามา เว้นแต่ผู้เจ้าของที่ว่าให้เอาฎีกามานั้นไม่รับว่าให้ร้อง แลผู้ถวายฎีกานั้นเกี่ยวข้องในความเรื่องนั้นด้วย ผู้ถวายฎีกาจึงต้องเป็นโทษด้วย ก็อ้ายคนโทษซึ่งติดขังอยู่จนหาผู้ประกันตัวมาให้ร้องฎีกาก็ดี มาร้องฎีกาแทนก็ดีไม่ได้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นที่รู้ว่าผู้นั้นมีคดีอันทรุดโทรมลึกซึ้ง ไม่มีใครเขาเห็นด้วย เขา จึงไม่ช่วยเอาเป็นธุระ ก็จะปล่อยให้มันร้องเองเมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปใกล้คุกใกล้ทิม ก็จะเป็นอย่างให้คนโทษแตกตื่นเอิกเกริกอื้ออึงไป ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า จะมีทางเสด็จพระราชดำเนินไปมาทิศใดทางใด ในทางนั้นถ้ามีทิมมีตะรางมีคุกที่ขังคนโทษอยู่ทิศใดถิ่นใด ก็ให้กรมวังมีบัตรหมายไปให้เจ้าของมาระวังคนโทษในที่ขังของตัว ๆ อย่าให้ร้องแรกวุ่นวายไป แลอย่าให้ออกวิ่งไล่ขบวนเสด็จ คนโทษทั้งปวงเมื่อผู้คุมข่มเหงเกินหรือทำอย่างไรผิด ๆ นัก ก็ให้ร้องต่อเจ้าขุนมูลนายในหมู่นั้นกรมนั้นจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในกรมนั้นเป็นที่สุด อย่าให้คอยรัองสกัดทางเสด็จเลย ถ้าจะร้องในหลวงก็ให้หาผู้นายหน้ามาร้องถวายเรื่องราวแทนในเวลาที่โปรดให้ร้อง อย่าให้กำเริบในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนิน ถ้ากำเริบร้องในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินในทิมใดตะรางใด การที่ร้องก็จะไม่เอาเป็นคดี เจ้าของทิมเจ้าของตะรางผู้คุมใหญ่ผู้คุมรองจะต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยน ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ทุกหมวดทุกกรมเอาใจใส่ความทุกข์ของคนโทษ อย่าให้ผู้คุมทำเหลือเกินอย่างธรรมเนียมไป เมื่อคนโทษมาร้องอย่างไร ก็ให้ไต่ถามตัดสินให้ อย่าปล่อยให้คนโทษข้ามเป็นเจ้าขุนมูลนายเจ้าของทิมเจ้าของกระทรวง มาร้องเอิกเกริกแก่ในหลวง เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินได้

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ