พันท้ายนรสิงห์

เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของพระราชกำหนดบทอัยการที่ตั้งขึ้นไว้สำหรับลงโทษพันท้ายคือผู้ถือท้ายเรือพระที่นั่ง ซึ่งกระทำความผิดบกพร่องในหน้าที่ และเรื่องราวความสัตย์ซื่อของพันท้ายนรสิงห์นี้กล่าวได้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยลบล้างความชั่ว หรือลืมเรื่องเลวร้ายของสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือไปได้บ้างไม่มากก็น้อย ในฐานะที่เป็นเรื่องของพันท้ายเป็นตัวอย่างเป็นความสนใจของประชาชนในกาลต่อมาให้พุ่งมาสู่วีรกรรม บางคนเลยถือว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือเป็นเทพบุตรไปเลยทีเดียว

อันว่า พันท้ายนรสิงห์นั้น เป็นข้าหลวงเดิม เป็นนายท้ายเรือในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๘ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงปรากฏว่ารักพระราชประเพณีมากกว่ารักชีวิตของตน

สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๘ หรือสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในทางชั่วร้ายลามกนานาประการ ครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. ๒๒๔๐ ถึง ๒๒๔๙ คนโดยมากเรียกกันว่า พระพุทธเจ้าเสือ

เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยไปประพาสทรงเบ็ด ณ เมืองสาครบุรี พันท้ายนรสิงห์เป็นผู้ถือท้ายเรือ ครั้นถึงตำบลโคกขาม ซึ่งกลายเป็นคลองในประวัติศาสตร์แห่งความซื่อสัตย์ในกาลต่อมา ปรากฏว่าคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์คัดท้ายไม่ทัน เพราะเหลือความสามารถอย่างแท้จริง หัวเรือพระที่นั่งไปกระทบกิ่งไม้ใหญ่เข้า เลยหักตกลงไปในน้ำ เมื่อพันท้ายนรสิงห์ได้ทำหน้าที่ให้บกพร่องไปดังนั้น ก็รู้สึกความผิดและมีความตกใจเป็นอันมาก รีบกระโดดขึ้นไปบนฝั่งแล้วกราบทูลว่า

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ขอจงทรงโปรดทำศาลขึ้น ณ ที่นี้ สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าแล้วนำศีรษะกับหัวเรือที่หักไปนั้น ขึ้นบวงสรวงไว้ด้วยกัน ณ ที่นี้ตามพระราชกำหนดบทอัยการนั้นเถิด”

สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือมีพระราชโองการตรัสว่า

“โทษของเจ้าถึงที่ตายนั้นควรอยู่ แต่ข้าจะยกโทษให้ เจ้าจงกลับมาลงเรือตามเดิมเถิด หัวเรือที่หักข้าจะสั่งให้เขาซ่อมขึ้นใหม่”

พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมทูลขอบพระเดชพระคุณในพระมหากรุณาธิคุณแต่หาได้ปฏิบัติตามพระราชโองการไม่ อ้างว่าไม่ควรจะทรงพระอาลัยในตัวเขามากกว่าทรงพระอาลัยในพระราชประเพณี จะเป็นช่องทางให้คนทั้งหลายติเตียนและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในภายหน้า เพราะมีกำหนดมาแต่โบราณว่า ถ้าพันท้ายคนใดมันถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งนั้นหัก ท่านว่ามันพันท้ายผู้นั้นควรถึงมรณโทษ

สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือยังทรงพระอาลัยในพันท้ายนรสิงห์มาก จึงโปรดให้ฝีพายเอามูลดินมาปั้นเป็นรูปคน ให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นแทนตัวพันท้ายนรสิงห์ แล้วมีพระราชดำรัสว่า ได้ทรงโปรดให้ประหารแล้ว ให้พันท้ายนรสิงห์มาลงเรือโดยเสด็จกลับไป

ยิ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาก พันท้ายใจเพชรก็ยิ่งมีความละอายใจมากเป็นทวีคูณ ด้วยเกรงจะเสียพระราชกำหนดตามขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณกาล จึงกราบบังคมทูลวิงวอนให้ทรงโปรดให้ตัดศีรษะตัวเขาให้จงได้

การเจรจากันระหว่างเจ้าชีวิตและพันท้ายผู้นี้ ตามรูปการณ์คงจะใช้เวลาอันยาวนานพอใช้ทีเดียวเพราะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จนในที่สุดสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือทรงเห็นว่าพันท้ายของพระองค์ไม่ยอมมีชีวิตอยู่จริง ๆ แล้ว จึงมีพระดำรัสทั้งน้ำพระเนตรคลอเบ้าให้นายเพชฌฆาตลงดาบประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ตามความประสงค์

สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือทรงพระรำพึงว่า ไม่มีใครอีกแล้วในแผ่นดินของพระองค์ที่เป็นบุรุษใจเพชรมีความซื่อสัตย์มั่นคงดังเสาศิลา ผู้ยอมเสียชีวิตอันหนุ่มแน่นโดยไม่อยากให้เสียพระราชประเพณี จึงทรงเศร้าพระทัยมากยิ่งกว่าการสูญเสียครั้งใด ๆ ของพระองค์ โปรดให้นำศพพันท้ายนรสิงห์ มาแต่งการฌาปนกิจพระราชทานเพลิงอย่างสมเกียรติ และพระราชทานบำเหน็จแก่บุตรภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังเป็นอันมาก อนึ่งโคกขามที่คดเคี้ยวนั้นนอกจากจะทรงให้สร้าง “ศาลเพียงตา” แล้ว ยังทรงโปรดให้สมุหนายกเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองมาขุดให้ลัดตัดตรง เพื่อเป็นอนุสรณ์ของพันท้าย นรสิงห์และทั้งเพื่อสะดวกแก่การเดินเรืออีกโสดหนึ่งด้วย

เรื่องพันท้ายนรสิงห์ดังกล่าวมาแล้วนี้ แม้จะเป็นเรื่องเก่าแก่แต่ก็นับถือกันว่า เป็นผู้สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นแบบอย่างที่ดีของข้าราชการในกาลต่อมา

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ