อ้ายยักษ์ อียักษ์

จะว่าเมื่อแต่ก่อนนี้หรือแม้ในปัจจุบันก็ตาม ยังปรากฏว่า บิดามารดาผู้ปกครองนิสัยขี้โอ่ขี้เห่อไม่เฉพาะตัวเองที่ประดับทองหยองอวดชาวบ้าน หารู้ไม่ว่านั่นเป็นภัยแก่ตนเอง นอกจากนั้นยังประดับให้แก่เด็ก ๆ อีกด้วย ยังผลให้เด็กไร้เดียงสาได้รับเคราะห์ร้ายจากมนุษย์ใจโลภบางหมู่ ถึงกับต้องลงโทษกันอย่างรุนแรงและทารุณพิสดาร อย่างเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้

เมื่อวันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีขาล อัฐศก พ.ศ. ๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศกฎหมายว่าด้วยห้ามไม่ให้เอาเครื่องประดับทองเงิน แต่งกายให้เด็กที่ยังไม่รู้จักหลีกหลบโจรผู้ร้าย ฉบับหนึ่ง กับอีกฉบับหนึ่ง พ.ศ. เดียวกัน แต่ลงวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ เรื่องห้ามไม่ให้แต่งตัวเด็กด้วยเครื่องทองเงิน แล้วปล่อยไปเที่ยวโดยลำพัง

ฉบับแรก ดำเนินความว่า ด้วยพระอินทราธิบดีสหราชรองเมือง รับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า ให้หมายประกาศแก่ข้าราชการ ฝ่ายทหารพลเรือน ในพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวัง ข้าเจ้าต่างกรม ยังไม่ได้ตั้งกรม แลราษฎรให้จงรู้ทั่วกันว่า เมืองไทยมีธรรมเนียมไม่ดีมาแต่โบราณ อาภัพกว่าเมืองอื่น ๆ ทุกบ้านทุกเมืองอยู่อย่างหนึ่ง เมื่องอื่น ๆ เขาถึงจะมีเงินทองเขาก็เก็บไว้เอง แลประกอบการค้าขายไปตามธรรมเนียม หรือถึงจะตกแต่งเข้าในตัว เขาก็ตกแต่งเข้าในตัวผู้ใหญ่ คือผู้หญิงสอดกำไลสวมสายสร้อยแลแหวน ผู้ชายสอดดุมแลนาฬิกา แลเครื่องกลัดต่าง ๆ บรรดาของที่มีราคาที่ตกแต่งอยู่ในผู้ใหญ่ ที่เป็นคนมีสติปัญญามาก รู้จักคนดีคนร้าย ถึงจะมีอันตรายพอมีกำลังร้องแรกสู้รบได้ ฝ่ายเด็ก ๆ นั้นเขาไม่เอาอะไรไว้ เขาตกแต่งให้แต่เสื้อกางเกง จึงไม่มีเหตุที่จะมีผู้ร้ายจับเอาเด็กไปฆ่าเสีย ก็ฝ่ายชาวเมืองไทยนี้ เมื่อเงินทองมีขึ้นไม่ได้ พอใจอยากอวดเขาว่ามั่งมี อดอวดไม่ได้ ทำกำไลก้านบัวสอดสวมให้ลูกเล็ก ๆ ข้างละสิบบาทบ้าง สามตำลึงบ้าง และทำกำไลเท้าให้ข้างละสามตำลึงสี่ตำลึง แล้วปล่อยให้เด็กไปเที่ยววิ่งอยู่หน้าบ้านหน้าเรือนกลางถนน ลงอาบน้ำในแม่น้ำลำคลองกลางวันกลางคืน แลไว้ใจแก่ทาสที่เป็นคนมีทุกข์ยาก ซึ่งเป็นคนไม่ควรจะวางใจให้เลี้ยงดูแลพาไปข้างโน้นข้างนี้ เหมือนหนึ่งเอาปลาย่างไปมอบส่งให้แก่แมวไว้ หรือเอาน้ำอ้อยน้ำตาลไปล่อไว้ที่มด ย่อมเป็นที่มุ่งหมายปรารถนาของอ้ายเหล่านั้น ด้วยความประมาททั้งกลางคืนกลางวัน ก็เกิดเหตุคือทาสในเรือนที่เลี้ยงบุตรนั้นเอง พาบุตรนั้นไปบีบคอกดจมน้ำทำให้ตายเสีย แต่ทาสในเรือนเป็นศัตรูขึ้นเอง อย่าว่าแต่ผู้อื่นเลย มีเป็นหลายเรื่องเนือง ๆ แต่ที่คนบ้านใกล้เรือนเคียงชวนเอาไปแล้วฆ่าเสียบ้าง หรือทาสในเรือนที่คุ้นเคยกับเด็กส่งค่าตัวไปอยู่ที่อื่น ลอบลักพาเอาเด็กไปฆ่าเสียบ้าง ไม่รู้ว่าสักกี่สิบรายมาแล้วคนก็ไม่เข็ด ยิ่งมีเงินทองขึ้นก็ยิ่งเอาของแต่งเด็กล่อผู้ร้ายหนักเข้า ทุกวันนี้คนก็เล่นเบี้ยเสียโปมากผู้ร้ายชุกชุม จนมีความเรื่องที่มีผู้จับเอาเด็กไปกดน้ำบีบคอหักคอฆ่าเสีย ไม่ว่างเดือนเว้นปีเลย

ตั้งแต่นี้ไปขอเตือนสติมาแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวง ผู้มีบุตรหลานของคนหรือขอบุตรหลานท่านผู้อื่นมาเลี้ยงไว้ ขอให้เลิกการแต่งสวมสอดของเครื่องเงินทองไว้กับเด็ก ๆ นั้นเสียเป็นอันขาดทีเดียว เพราะเป็นเหยื่อล่อผู้ร้าย เป็นเหตุให้เด็กต้องตายเนือง ๆ ถ้าท่านผู้ใดที่มีเงินมีทองมาก ยังคิดอาลัยอยู่ อยากจะแต่งให้ได้ ก็จงแต่งไปตามเวลาคือคราวตรุษสงกรานต์หรือสารทเข้าพรรษา หน้าฤดูกฐินเทศนามหาชาติ เวลาโกนจุก แลงานบ่าวสาว แลวันทำบุญให้ทานอื่น ๆ เป็นคราวที่ควรตกแต่ง บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่แลคนที่ไว้วางใจได้ จนถึงว่าจะไม่มีภัยเป็นอันตรายแก่เด็กแลของที่แต่งนั้น กำกับไปด้วยคนหนึ่งสองคนแล้ว ถึงจะตกแต่งให้เป็นเกียรติยศเป็นคราวดังนี้ไม่ห้าม แต่การที่แต่งอยู่เป็นนิตย์ไป ไม่เป็นครั้งเป็นคราวดังว่าแล้วนั้น ย่อมมีภัยเป็นอันตรายถึงชีวิตแก่บุตรหลานของตนที่เลี้ยงไว้ ก็ถ้าใคร่อวดเขาว่ามั่งมีมากแล้ว เมื่อถึงปีใหม่เดือนใหม่ จะขนสิ่งของใด ๆ ออกกองตั้งไว้พักกลางบ้านกลางเรือน ทำขวัญเงินขวัญทองให้คนทั้งปวงเห็น หรือเวลาเช้า ๆ ขนเอาสิ่งของมากองมาวางแขวนไว้ริมถนนหนทาง ให้คนเดินไปเดินมาดูเล่นทุกวัน ๆ อย่างนี้ดีกว่า ด้วยไว้ใจคนเดินไปเดินมานั้นว่าจะไม่มีใครลักลอบเอาไป ถึงหากว่าจะมีผู้หยิบเอาไปก็เสียแต่ของไม่มีใครต้องตาย ก็ฝ่ายเด็ก ๆ ที่แต่งตัวด้วยทองเงินแล้ว ไม่อยู่บนเรือนในบ้านมีผู้ดูแลระวังรักษา ปล่อยให้เที่ยววิ่งไปมาตามถนนหนทางนอกบ้านนอกเรือน มีผู้ร้ายจับตัวไปได้ฆ่าเสียแล้ว ของก็ต้องเสียเด็กก็ต้องตาย เด็กต้องตายอย่างนี้ในแผ่นดินก่อนที่ล่วงมาก็มีมาก ไม่รู้ว่ากี่เรื่องกี่ราย ในกรุงบ้างหัวเมืองบ้าง แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้วมาก็มีเนือง ๆ ไม่ขาด ในกรุงบ้างหัวเมืองบ้าง

๑. เมื่อปีกุน ตรีศก อีดก เมืองขุขันบุรีหักคอเด็กตาย ถอดเอาสิ่งของแต่งตัวเด็ก เจ้าเมืองกรมการส่งตัวอีดกมา ณ กรุงเทพ ฯ ให้ประหารชีวิตเสีย

๒. เมื่อปีชวด จัตวาศก อีกลายทาสหมื่นอาจ บ้านบางตะนาวศรี แขวงเมืองนนทบุรี หักคอหนูเผือกอายุ ๘ ขวบตาย ถอดเอาเสมาทองคำ ๑ เอากำไลทองคำคู่ ๑ เอากำไลเท้าเงินคู่ ๑ ได้ตัวอีกลายมาแล้ว ให้ประหารชีวิตผ่าอกเสียที่ศาลเจ้าปากคลองบางขวาง

๓. เมื่อปีขาล ฉศก อีปั่นบ้านบางลมุด แขวงกรุงเทพ ฯ หักคอเด็กบุตรนายเรืองนางเงินตาย ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๒ ยก ๖๐ ที ขึ้นขาหย่างประจาน ๓ วัน สับเสี่ยงแล้วให้นายเงินรับเอาตัวไป

๔. เมื่อปีมะเมีย สัมฤทธิศก อีเมาะ อีนุ่น ทาสหลวงบานเบิกบุรีรัตน บ้านหน้าวัดบพิตรพิมุข หักคอหนูเล็กอายุ ๗ ปี บุตรนายเงินตาย ถอดเอากำไลมือทองคำคู่หนึ่ง ให้ประหารชีวิตเสียที่ทุ่งนามักกะสัน

๕. เมื่อปีมะแม เอกศก อีปลีบ้านเมืองชลบุรี หักคอเด็กตายแล้วถอดเอาเสมาทองคำอันหนึ่ง ได้ตัวอีปลี มาชำระเป็นสัตย์แล้ว สั่งให้ประหารชีวิตเสียที่เมืองชลบุรี

๖. เมื่อปีวอก โทศก อีเทศทาสอำแดงกลายเมืองอุทัยธานี หักคอหนูเขียวอายุ ๙ ขวบตาย ถอดเอาเสมาทองคำ ๑ กำไลเท้าคู่ ๑ ได้ตัวอีเทศมาชำระเป็นสัตย์แล้วส่งตัวไปให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๓ ยก ประหารชีวิตเสียที่เมืองอุทัยธานี

๗. เมื่อปีวอก โทศก อ้ายโหบ่าวพระพิไชยกองลวา อยู่บ้านถ้ำแขวงเมืองกาญจนบุรี เอาไม้ตีหนูฉาวอายุ ๑๔ ปีตาย ถอดเอาตุ้มหูทองคำ ๑ กำไลเท้าคู่ ๑ ให้ลงพระราชอาญาจำอยู่ ณ คุก

๘. เมื่อปีระกา ตรีศก อีอ่ำทาสอำแดงสุด บ้านริมพระราชวังหลวง กดคอหนูจูอายุ ๘ ปีตาย ถอดเอาปิ่นทองคำ ๑ อัน เสมาทองคำอัน ๑ กำไลมือทองคำคู่ ๑ ให้ลงพระราชอาญาจำไว้ ณ คุก

๙. เมื่อปีระกา ตรีศก อีเปียทาสหม่อมเจ้าอัมพร ริมวังกรมหมื่นเทวานุรักษ์ หักคอหนูเล็กบุตรอำแดงต่วน อายุ ๗ ปีตาย ถอดเอากำไลทองคำคู่ ๑ ให้ลงพระราชอาญาจำคุกไว้

อ้ายผู้ร้ายฆ่าเด็กตายเช่นนี้ เมื่อจับตัวได้ก็มาลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วให้ประหารชีวิตเสียเป็นอันมากแล้ว ที่ยังต้องรับพระราชอาญาจำไว้ ณ คุกก็มีอย่างว่ามานี้แล้ว อ้ายผู้ร้ายก็ยังไม่เข็ดหลาบเลิกการนั้นเสีย ยังมีอยู่ไม่ขาดจนทุกวันนี้ ก็ที่บิดามารดาแลญาติลุงป้าอาน้าแลใคร ๆ แต่งบุตรแต่งหลานด้วยเครื่องทองเครื่องเงินแล้ว มีความประมาทปล่อยให้เด็กเที่ยวอยู่ตามลำพัง ไม่มีผู้ระวังรักษานั้น จะว่าไม่มีความผิดนั้นไม่ได้ จะต้องปรับไหมแก่บิดามารดาแลพี่ป้าน้าลุง แลใคร ๆ ที่ตกแต่งให้เด็กนั้นตามพระราชบัญญัติ ซึ่งจะกล่าวไปนี้

(๑) ห้ามไม่ให้คนทั้งปวงเอาเครื่องทอง ตั้งแต่ทองหนักบาทเฟื้องหนึ่งขึ้นไป ผูกติดแลสวมไว้กับตัวเด็กที่เป็นบุตรหลานก็ดี เป็นบุตรเลี้ยงหลานเลี้ยงแลทาสก็ดีแล้วแลปล่อยให้เที่ยวอยู่เที่ยวไปในน้ำแลบก เปลี่ยวคนบ้าง มีเพื่อนบ้าง ห้ามทั้งนี้เพราะเห็นว่าของนั้นเป็นเหยื่อให้ผู้ร้ายฆ่าเด็กเสีย ก็เพราะบิดามารดาพี่ป้าน้าลุงเอาของที่เป็นเหยื่อผู้ร้ายมาผูกไว้สวมไว้กับตัวเด็ก เหตุจึงบังเกิดมี จะเกิดด้วยเด็กไปวิวาทกับผู้ร้ายก็หาไม่เลย เมื่อรู้อยู่ดังนี้แล้วขืนทำก็ควรเห็นว่าเป็นใจกับผู้ร้าย เอาเหยื่อผู้ร้ายมาติดไว้กับตัวเด็กจนเด็กต้องตายเนือง ๆ ผู้ประกอบเหยื่อผู้ร้ายไว้ในตัวเด็กจะว่าตัวไม่มีผิดว่าไม่ได้

(๒) ใคร ๆ เห็นเด็กมีเครื่องทองเงินผูกสวมติดตั้วเหี่ยวอยู่ผู้เดียวเปลี่ยวคน เมื่อเห็นดังนี้แล้วอย่าจับเด็กนั้นฆ่าเสียเลย จงจับตัวมาส่งนายอำเภอกรมพระนครบาลทั้งปวง หรือจะแก้เอาของมาไม่ทุบตีเด็กให้เจ็บป่วยลง จงเอามาส่งกรมพระนครบาลเถิด จะให้กรมพระนครบาลปรับผู้เป็นเจ้าของเครื่องทองเครื่องเงินที่ผูกสวมไว้ที่ตัวเด็กด้วยความประมาทนั้น ให้ใช้ค่าถ่ายแก่ผู้จับเท่าราคาของ ถึงจะขอร้องกันก็ไม่ควรลดให้ เพราะผู้ที่เอาเครื่องทองเครื่องเงินผูกสวมเด็กไว้นั้น ทำด้วยความประมาทเป็นเหตุจะให้เด็กต้องตาย ผู้ที่จับเด็กไม่ฆ่าเสียเป็นผู้เตือนสติให้รู้ มีความชอบควรจะให้รางวัล

(๓) ถ้ามีผู้ร้ายฆ่าเด็กตาย ผู้ร้ายต้องโทษถึงตายตกตามตัวเด็กทุกเรื่อง ค่าปลุกตัวเผาผีโดยจะเรียกได้ อย่าให้ได้แก่ผู้แต่งผู้สวมในเด็กนั้นเลย ค่าเผาผีเด็กผู้ตายนั้น ถ้ามีญาติให้ญาติอื่นไปทำ ค่าปลุกตัวซื้อทรายโปรยถนนเสีย เครื่องทองเครื่องเงินที่ผู้ร้ายลักไปได้มาแล้ว ก็อย่าคืนให้เจ้าของ เอาจำหน่ายซื้อทรายโปรยถนนเสีย และผู้ที่ผูกสวมเครื่องทองเครื่องเงินให้แก่เด็กนั้นมา ให้ปรับค่าปลุกตัว อีกต่อหนึ่ง มาซื้อทรายโปรยถนน ก็ถ้าเครื่องทองเครื่องเงินซึ่งผู้ร้ายลักไปนั้น ชำระไม่ได้ผู้ร้าย จะไม่ได้ตัวก็ดี ให้ใช้ค่าเครื่องทองเครื่องเงินนั้นจงครบ มาซื้อทรายโปรยถนน

(๔) ถ้าผู้มีบรรดาศักดิ์เอาเครื่องทองเครื่องเงินแต่งให้บุตรให้หลาน แล้วบังคับให้ทาสน้ำเงินก็ดี ทาสเกิดในเรือนเบี้ยก็ดี บ่าวตามสังกัดตัวเป็นเจ้าขุนมูลนายก็ดี ถูกจ้างก็ดี ให้กำกับควบคุมพิทักษ์รักษา แลบ่าวลูกจ้างจะจับตัวเด็กนั้นมาส่งกรมพระนครบาล ให้ปรับค่าใช้ถ่ายของดังว่านั้นไม่ได้ เพราะอยู่ในอำนาจเขา เขาใช้ต้องทำตามนายใช้ระวังไว้ให้ดี แต่ถ้าทาสละเลยประมาท ไปทำให้มีผู้จับเอาเด็กไปส่งกรมพระนครบาลไต้ ค่าถ่ายของทั้งปวงนายต้องเสีย ๆ แล้วจะคิดแก่ทาสจนเต็มราคาไม่ได้ คิดให้ทาสใช้ได้แต่ส่วนหนึ่งในสาม เพราะตัวเป็นนายขืนใจให้มันระวังเด็ก ๆ ก็ไม่อยู่ในอำนาจมันแท้ ๆ หรืออีกอย่างหนึ่ง ถ้ามีผู้มาฆ่าเด็กนั้นตาย แต่ผู้ที่นายบังคับให้ระวังเด็กเป็นแต่ประมาทไปไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยอ้ายผู้ร้าย ก็ต้องช่วยเสียค่าปลุกตัวแลค่าใช้ของ เป็นค่าทรายโปรยถนนตามบังคับในข้อ (๓) แต่ส่วนหนึ่งในสามเหมือนกัน เพราะมันทำด้วยนายใช้ แลเด็กนั้นก็ไม่อยู่ในอำนาจมันแท้ ก็ซึ่งว่าเด็กไม่อยู่ในอำนาจมันแท้นั้น คือเด็กอายุมากกว่า ๗ ปีขึ้นไป ถ้าอายุใต้กว่า ๒ ปีลงมา มีเหตุ ๒ อย่างดังว่าแล้วนั้น ทาสแลบ่าวแลลูกจ้างต้องเสียถึงค่ามากกว่าส่วนหนึ่งในสาม ข้อพระราชบัญญัติทั้งนี้ ให้กรมมหาดไทย กรมกลาโหม กรมพระสัสดีหมายบอกแก่ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนในพระบรมมหาราชวัง แลพระบวรราชวัง ข้าเจ้าต่างกรม เจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม ให้รู้จงทั่วกันทุกหมู่ทุกกรม อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

ฉบับต่อมามีความว่าในประกาศว่า ...ให้ประกาศแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย แลทวยราษฎรทั้งปวงในกรุงแลหัวเมืองให้ทราบทั่วกันว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านชาวเมืองพอใจอยากอวดว่ามั่งมี ทำเครื่องทองเงินแต่งตัวให้เด็ก ๆ แล้วปล่อยให้เที่ยวอยู่ตามลำพัง ในน้ำในบกตามถนนหนทางด้วยความเลินเล่อ ไม่มีใครระวังระไว จึงมีอ้ายผู้ร้ายมาลอบลักพาเด็กไปฆ่าเสีย แล้วเก็บเอาของแต่งตัวเด็กไปดังนี้เนือง ๆ ไม่ใคร่ขาดปีแลเดือน คนอยากอวดมั่งมีก็ไม่ฟังยังขืนแต่งเด็กด้วยเครื่องทองเครื่องเงิน เป็นเหยื่อล่ออ้ายยักษ์อียักษ์ให้กินเด็กเสียไม่ว่างวายปีเดือน เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้สืบไป ห้ามไม่ให้ผู้ใดคือบิดามารดาแลญาติพี่น้อง ทำของแต่งตัวเด็ก ๆ ซึ่งบุตรหลานเหลนแลบุตรเลี้ยงหลานเลี้ยงหรือเป็นทาส ด้วยเครื่องทองเครื่องเงินทำเป็นรูปพรรณอย่างหนึ่งอย่างใดผูกติดแลสวมไว้กับตัวเด็ก เป็นที่ล่อผู้ร้ายแล้วปล่อยให้เที่ยวไปตามลำพังไม่มีผู้ระวังรักษา

ข้อนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถ้าแผ่นดินไม่ระวังผู้ร้ายก็จะฆ่าเด็กตายเสียเนื่อง ๆ จึงให้มีประกาศไปว่า ถ้าใคร ๆ พบปะเด็กที่มีเครื่องทองเครื่องเงินติดตัวไม่มีผู้รักษาแล้ว ให้จับตัวเด็กนั้นมาส่งต่อนายอำเภอกรมพระนครบาล หรือจะแก้เอาแต่ของมาก็ตาม แต่อย่าทุบตีทำให้เด็กนั้นเจ็บป่วย เอามามอบส่งให้กรมพระนครบาล ให้กรมพระนครบาลปรับไหมผู้เจ้าของแต่งตัวเด็กให้ใช้ค่าถ่ายแก่ผู้จับเท่าราคาของนั้น ถ้าไม่มีใครจับกันดังประกาศมานี้ ในหลวงจะแต่งให้คนหลวงออกเที่ยวจับ ถ้าคนหลวงจับตัวเด็กเช่นดังว่านั้นได้มาแล้ว บิดามารดาหรือญาติพี่น้องผู้เจ้าของเด็กนั้น ติดตามมาทันในวันนั้นก็จะให้เสียค่าถ่ายของให้แก่ผู้จับเท่าราคาของ แล้วจะให้ปล่อยตัวเด็กมอบไป ถ้าไม่มีผู้ใดติดตามมาว่ากล่าวแล้ว จะให้ยึดเอาตัวไว้เป็นไพร่หลวง เด็กผู้ชายให้หัดโขน เด็กผู้หญิงให้เป็นละครหลวงอย่างเลว เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ดีกว่าให้อ้ายผู้ร้ายลักพาไปฆ่าเสีย ใคร ๆ เอาทองเงินของตัวมาวางไว้กลางถนนหนทางไม่เก็บระวังรักษา ด้วยจะใคร่ให้คนทั้งปวงรู้ว่ามั่งมี ครั้นผู้ร้ายลักไปจะมาร้องให้แผ่นดินชำระผู้ร้ายให้จะควรหรือ การที่เอาทองเอาเงินผูกแต่งเด็กปล่อยให้เที่ยวก็เหมือนกัน การที่อ้ายผู้ร้ายจับเด็กฆ่าเสียจึงมีเนือง ๆ ผู้ร้ายเช่นนี้แต่ในแผ่นดินปัจจุบันประหารชีวิตเสียหลายสิบคนแล้ว ก็ยังมีผู้ดูเยี่ยงอย่างทำอย่างนั้นร่ำไป ด้วยคิดว่าจะหลบเสียไม่ให้จับได้ ที่ไม่ได้ตัวมีเป็นตัวอย่างลางเรื่องได้แต่ศพเด็กตายอยู่ ลางเรื่องหายไปทั้งเด็กทั้งผู้ร้ายไม่รู้ว่าไปข้างไหน การที่เป็นดังนี้เฉพาะมีในบ้านนี้เมืองนี้ เพราะธรรมเนียมไม่ดีมักอวดมั่งมี ด้วยการแต่งเด็กด้วยทองด้วยเงิน เมืองอื่น ๆ เขาแต่งเด็กแต่ด้วยเสื้อแลกางเกง ไม่มีผู้ร้ายลักบุตรเขาไป ไม่มีผู้ร้ายฆ่าเด็กเสีย

ชาวบ้านชาวเมืองเราจะมาหลงผูกทองผูกเงินไว้แก่เด็กให้เที่ยววิ่งเล่นอยู่ล่อคนให้เป็นยักษ์กินเด็กไปทำไม

ถ้าเกิดผู้ร้ายถึงชำระได้ก็ไม่คืนให้ ของที่อ้ายผู้ร้ายลักไปยกให้เป็นรางวัลแก่ผู้จับผู้ร้าย เบี้ยปลุกตัวผู้ตายก็ไม่ให้ได้ จะยกให้ผู้จับเสีย แล้วจะปรับให้เสียค่าปลุกตัว แลค่าของอีกต่อหนึ่งเป็นรางวัลผู้จับ ให้สมหน้าสาใจผู้อวดมั่งมีจนทำให้เด็กตายบ่อย ๆ แล้วไม่รู้เข็ดรู้กลัวเลย

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ