- คำนำผู้เขียน
- ๑. เจ้าจอมปราง
- ๒. คนทำเงินแดงปลอม
- ๓. ตั้วเฮียอั้งยี่
- ๔. ฝรั่งอยู่เมืองไทย
- ๕. ทาส
- ๖. กฎมณเฑียรบาล
- ๗. ไทยไว้ผมเปีย
- ๘. ภิกษุสามเณรอนาจาร
- ๙. แจกเงิน
- ๑๐. มหาดาผู้วิเศษ
- ๑๑. เสรีภาพสาวชาววัง
- ๑๒. พานทองคำรองพระชุด
- ๑๓. เทวดารักษาในหลวง
- ๑๔. ศาลพลเรือน
- ๑๕. เถรจั่นวัดทองเพลง
- ๑๖. พระอัยการลักษณะผัวเมีย
- ๑๗. รางวัลนำจับพระ
- ๑๘. อ้ายยักษ์ อียักษ์
- ๑๙. สังฆราชเลอบอง
- ๒๐. ศพค้างคืน
- ๒๑. นักโทษถวายฎีกา
- ๒๒. ศัพท์แสง
- ๒๓. ฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์
- ๒๔. ยอดนักการเมืองบูรพาทิศ
- ๒๕. เจ้าจอมกลีบ
- ๒๖. คดีเรือสงครามครรชิต
- ๒๗. เจ้าจอมเฒ่าแก่ นางบำเรอ
- ๒๘. กำนันหญิง
- ๒๙. โทษการทักว่า “อ้วนผอม”
- ๓๐. หม่อมฉิม หม่อมอุบล
- ๓๑. เจ้าพระยาสุรสีห์
- ๓๒. มรดกและสินสมรส
- ๓๓. คดีพระนางเรือล่ม
- ๓๔. ดาวหาง
- ๓๕. เจ้าจอมภู่
- ๓๖. กฎหมายชาวเรือ
- ๓๗. จับหญิงถวายในหลวง
- ๓๘. เหตุเกิดที่พระพุทธบาท
- ๓๙. ตัดศีรษะบูชาพระ
- ๔๐. หญิงหม้าย ชายบวชนาน
- ๔๑. สมาคม “ตั้วเฮีย”
- ๔๒. บ่อนพนันใน “วังหน้า”
- ๔๓. พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง)
- ๔๔. เสรีภาพหนังสือพิมพ์
- ๔๕. “พันปากพล่อย”
- ๔๖. พระยาละแวก
- ๔๗. คนกองนอก
- ๔๘. พระสงฆ์หลายแบบ
- ๔๙. ออกแขก
- ๕๐. เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร)
- ๕๑. แซงเรือพระที่นั่ง
- ๕๒. ท้าวศรีสุดาจันทร์
- ๕๓. เจ้านักเลง
- ๕๔. ขุนนางขโมยเสื่อ
- ๕๕. แม่กองพระเมรุ
- ๕๖. ผัวขายเมีย
- ๕๗. พันท้ายนรสิงห์
- ๕๘. คดีอัฐปลอม
- ๕๙. ประหารพระเจ้ากรุงธนฯ
- ๖๐. ธรรมเนียมหมอบเฝ้าฯ
- ๖๑. หม่อมลำดวน
- ๖๒. ประกาศแช่งน้ำ
- ๖๓. เสพสุราวันสงกรานต์
- ๖๔. ขึ้นขาหยั่งประจาน
- ๖๕. สองกรมหมื่นนักเลงสุรา
- ๖๖. นายสังข์มหาดเล็ก
- ๖๗. ระบอบเลือกตั้งเสรี
- ๖๘. พุทธทำนายเมืองเขมร
- ๖๙. สักหน้าผากจีนเสง
- ๗๐. เรื่องของ “สมี”
- ๗๑. เจ้าจอมทับทิม
- ๗๒. คดีพระยอดเมืองขวาง
- ๗๓. ความหัวเมือง
- ๗๔. นายกล่อมฝรั่ง
- ๗๕. ภาษีพลู
หม่อมฉิม หม่อมอุบล
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของชาวไทย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่นอกจากทรงทำนุบำรุงทแกล้วทหารและบ้านเมืองตามแบบอย่างพระมหากษัตริย์ที่ดีแล้ว การภายในราชสำนักของพระองค์ ก็มิได้ผิดแผกแตกต่างกับบรรดาอดีตเจ้าชีวิตที่ล่วงมาแล้วทั้งหลาย
นั่นคือชุบเลี้ยงพระสนม และเจ้าจอมหม่อมห้ามไว้มาก เรื่องเจ้าจอมหม่อมห้ามนี่เอง ได้มีส่วนทำให้พระองค์เสียพระทัยอย่างที่ลูกผู้ชายทุกคนควรจะเสียใจ ในเมื่อรู้ว่าเมียแสนรักของตนมีชู้ ยังผลให้กระทบกระเทือนไปถึงการแผ่นดิน โดยพระโมหะโทสจริตด้วย
บรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามซึ่งเป็นที่ลือชื่อในความสวยด้วยรูปโฉมและอยู่ในฐานะเสมอกันของสมเด็จพระเจ้าตากสินก็คือ หม่อมบุษบา หรือ บุบผา หม่อมปทุม หม่อมอุบล และหม่อมฉิม แต่ที่พระองค์ทรงโปรดพิเศษก็คือ หม่อมฉิมกับหม่อมอุบล ซึ่งในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวว่า ทรงโปรดหม่อมฉิมหม่อมอุบลถึงกับให้บรรทมอยู่คนละข้างของพระองค์
แต่ชะตากรรมของเจ้าจอมที่รักของพระองค์ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต อันเนื่องมาจากเกิดเหตุอาเพศ หนูเจ้ากรรมหลงเข้าไปในพระที่กัดพระวิสูตรขาดกระจุยกระจาย สมเด็จพระเจ้าตากสินรับสั่งให้ชิดภูบาล กับชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ที่รับราชการภายในใกล้ชิดให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย และในที่บรรทมด้วย (เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “เรื่องเกิดหนูกัดพระวิสูตรนี้ออกจะถือเป็นอุบาทว์ ข้อที่ว่าฝรั่งเป็นชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ชื่อนายเวรมหาดเล็กวังหน้าก็ชอบกล ฝรั่งนี้เข้าใจว่าโปรตุเกสอย่างพวกกุฎีจีน”)
ครั้งนั้นหม่อมปทุมกราบทูลพระกรุณาฟ้องร้องว่า ฝรั่งทั้งคู่เป็นชู้กับหม่อมฉิมหม่อมอุบล รวมทั้งคนรำอีก ๔ คน รวมเป็น ๖ คน ด้วยกัน
ตอนนี้ก็เหมือนกัน สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์ไว้อย่างน่าคิดว่า การฟ้องร้องด้วยเรื่องร้ายแรงเช่นนี้ทำนองเป็นความสงสัยก็ได้ ว่าหม่อมปทุมหึงหวงหม่อมอุบล แต่ที่แท้อาจจะเป็นความจริงได้ เพราะหม่อมอุบลคนนี้เคยตกไปเป็นเมียนายแก่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งแล้ว แล้วหม่อมฉิมก็เช่นกันคงซัดเซพเนจรมาแล้วเหมือนกัน อาจจะทำความผิดได้
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงชำระความเรื่องนี้โดยรีบด่วน รับสั่งถามหม่อมอุบล แต่หม่อมอุบลให้การปฏิเสธ ส่วนหม่อมฉิมนั้นเป็นคนมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวและโวหารกล้า รับสารภาพเป็นความสัตย์จริงด้วยคารมที่ว่ากับหม่อมอุบลว่า “ยังมีหน้าจะอยู่เป็นมเหษีขี้ซ้อนอยู่หรือ มาตายตามเจ้าพ่อเถิด”
เมื่อหม่อมฉิมให้การสารภาพ สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยิ่งคั่งแค้นพระราชหฤทัยเป็นอันมากขึ้น แล้วโปรดให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรด ทำประจานด้วย อาการแสนสาหัส แล้วประหารชีวิต ผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้าเสีย
ภายหลังสำเร็จโทษสองเจ้าจอมผู้เคยสนิทเสน่หาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินก็กลัดกลุ้มพระทัย ทรงรำลึกถึงหม่อมอุบล เพราะมีครรภ์อยู่สองเดือนแล้ว การที่ทรงอาลัยหม่อมอุบลขึ้นมานั้น จะมิใช่แต่เพราะมีครรภ์ ชะรอยจะทรงคิดเห็นไปว่า หม่อมอุบลซึ่งให้การปฏิเสธนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์พลอยรับเคราะห์กรรมไปตามคำของหม่อมฉิม หรือบางทีทรงทึกทักเอาว่าพอหม่อมฉิมรับสารภาพก็ทรงเห็นว่ารับแล้วทั้งสองคน เรื่องนี้จึงได้ทรงพระอาลัยสงสารในเหตุการณ์ที่พระองค์ไม่สามารถจะแก้ไขอย่างใดได้อีก
อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าตากสิน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ใครจะตายกับกูบ้าง ? ตอนนี้ข้อความจากจดหมายเหตุความทรงจำของ กรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวว่า
“เสม เมียกรมหมื่นเทพพิพิธว่าจะตามเสด็จหม่อมทองจันทน์ หม่อมเกษ หม่อมลา สังบุษบาจะตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ ๑ ให้บังสกุลตัว ทองคนละ ๑ ให้ทำพระแล้ว ให้นั่งในแพหยวก นิมนต์พระเข้ามาบังสกุล แล้วจะประหารชีวิตรคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่ด้วยกันเจ้าข้า พระสตินั้นฟั่นเฟือน”
และอีกตอนหนึ่งว่า
“เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาล กับเตี่ยหม่อมทองจันทน์นิมนต์พระเข้ามามาก ชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรขออย่าให้ทำหาควรไม่ ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้แล้ว ถวายพระพรขอชีวิตรไว้ ได้พระสติคืนสมประดี ประทานเงินเติมให้แก่ผู้รับตามเสด็จนั้น”
ในบั้นปลายพระชนม์ชีพอันน่าสลดใจของพระองค์ ที่พงศาวดารบันทึกไว้มีความสำคัญว่า
เมื่อลุปีจุลศักราช ๑๑๕๓ ทางราชการในพระมหานครผันแปรปั่นป่วนไปต่าง ๆ นานา เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสียพระจริตกำเริบแก่กล้าขึ้นทุกที สำคัญว่าพระองค์ได้บรรลุโสดาปัตติผลและพุทธภูมิบารมีเป็นอาทิ ในเวลาวันหนึ่งพระองค์ได้มีพระราชโองการให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์พร้อมกัน แล้วดำรัสถามพระสงฆ์ราชาคณะเหล่านั้นว่า พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้เคารพคฤหัสถ์อันเป็นโสดาบันบุคคลจะได้หรือไม่ พระสงฆ์ที่สอพลอทั้งหลายถวายพระพรว่าไหว้ได้ แต่พระราชาคณะอีก ๓ รูป คือ :-
สมเด็จพระสังฆราชวัดบางว้าใหญ่ พระพุทธาจารย์วัดบางว้าน้อย พระพิมลธรรม วัดโพธาราม
ทั้งสามรูปนี้ถวายพระพรว่าไหว้ไม่ได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธแก่พระราชาคณะ จึงมีพระราชดำรัสในพระพุทธโฆษา พระโพธิวงษ์ (ผู้ที่ว่าไหว้ได้) เอาตัวพระราชาคณะทั้งสาม กับพระสงฆ์ฐานาเปรียญและอันดับในวัดบางว้าใหญ่ บางว้าน้อยกับวัดโพธารามทั้งสามวัด ไปลงทัณฑกรรมเสียที่วัดหงส์ทั้งสิ้น และพระราชาคณะทั้งสามนั้นให้ถอดเสียจากสมณฐานันดรศักดิ์แล้วเฆี่ยนหลังด้วยหวายองค์ละร้อยที พระที่เป็นฐานาเปรียญเฆี่ยนองค์ละ ๕๐ ที พระอันดับเฆี่ยนองค์ละ ๓๐ ที แล้วให้ชำระล้างฐานในวัดหงส์ทั้งสิ้น รวมพระสงฆ์ที่ต้องโทษทั้งสามอารามประมาณ ๕๐๐ รูปเศษ แล้วพระองค์ทรงตั้งพระโพธิวงษ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช และพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระวันรัต ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์พวกอลัชชีก็เข้าถวายบังคมหมอบราบเหมือนแบบอย่างฆราวาส พระองค์จึงพระราชดำรัสกับพระรัตนมุนี ให้ขนานพระนามของพระองค์ใหม่ พระรัตนมุนีจึงทูลถวายพระนามใหม่ว่า “สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจรบวรพุทธางกูร อดูลขัติยราชวงศ์ฯ” พระองค์ก็ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง สมดังที่ว่าพระองค์ทรงบรรลุโสดาดังทรงพระราชดำริ
เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระจริตฟั่นเฟือนนั้น เป็นโอกาสอันเหมาะให้เกิดการจลาจล ฝ่ายทางพระศาสนาก็เสื่อมเศร้าหมองลง เพราะเหตุว่าพระองค์ดำรัสให้ทัณฑกรรมแก่พระสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ รูปอันหาความผิดมิได้ ประชาชนทั้งหลายที่มีสัมมาทิฏฐิ นับถือพระพุทธศาสนาก็พากันเศร้าโศกแทบทั่วพระนคร เว้นแต่พวกประจบสอพลอและฉวยโอกาส มีพันสี พันลา สองคนเป็นอาทิได้เที่ยวกดขี่ข่มเหงผู้อื่นซึ่งตัวไม่ชอบหน้า และนำความเท็จที่ฉกาจฉกรรจ์เป็นมหันตโทษมาเป็นโจทก์ฟ้องร้องใส่ความแก่ขุนนางข้าราชการฝ่ายหน้าและฝ่ายใน จนกระทั่งราษฎรว่าขายสิ่งของต้องห้ามต่าง ๆ เอาเรือสำเภาส่งไปเมืองต่างประเทศ และฟ้องว่าผู้นั้นผู้นี้ฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาพระราชทรัพย์สิ่งของเงินทองทั้งปวงในท้องพระคลังไป ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ก็ตัดสินกลับเอาความเท็จเป็นจริง เอาจริงเป็นเท็จและให้เร่งชำระเร่งรัดเอาเงินทอง ถ้าไม่รับสารภาพก็เฆี่ยนตีอาชญา ถ้ารับก็ให้ปรับทวีคูณขึ้นไปเป็นลำดับ ที่ไม่ได้ก็จำจองเฆี่ยนตีตบต่อยด้วยไม้ย่างไฟ ผู้ไม่มีจะเสียก็ต้องยอมรับอาชญา อันรุนแรงอย่างยิ่งจนถึงตายก็มี จนกระทั่งบุตรภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตลอดทั้งครอบครัวของแม่ทัพนายกองที่ไปอาบเลือดต่างน้ำด้วยราชการทัพศึกเมืองเขมร ก็ยังถูกฟ้องกล่าวโทษไปด้วย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็เอามาจองจำไว้ ฯลฯ
----------------------------