ภาษีพลู

รัฐบาลทุกรัฐบาลย่อมมีนโยบายเก็บภาษีที่รัดกุม และเดือดร้อนแก่ประชาชนให้น้อยที่สุด เพื่อนำภาษีอากรเหล่านั้นมาทะนุบำรุงบ้านเมืองให้พัฒนาการก้าวหน้าไป แต่ก็อีกนั่นแหละ บางครั้งบางคราว การเก็บภาษีก็เป็นเครื่องมือของบุคคลบางคนที่จะรีดเลือดกับปูอย่างไม่เป็นธรรม อย่างเช่นกรณีเรื่องภาษีพลูนี้เป็นต้น และเรื่องภาษีผักบุ้งที่มีกล่าวอยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกัน

สมัยก่อนการเก็บภาษีหลายอย่าง ทางราชการมักปล่อยให้เอกชนผูกขาดเหมาไปเลยทีเดียวว่า จะให้ทางราชการเท่าใดในปีหนึ่ง ๆ ถ้าทำได้มากกว่านั้นผู้ผูกขาดหรือที่เรียกว่าเจ้าภาษี ก็เก็บเข้าพกเข้าห่อตามระเบียบ และเมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้น มีบุคคลหัวแหลมจะรับเหมาทำภาษีพลูให้แก่ทางราชการ แต่ก็ต้องล้มเหลวไป และที่ล้มเหลวไปด้วยเหตุอันใดนั้น มีประกาศฉบับหนึ่งแสดงไว้แจ้งความว่า

มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า มีผู้มีชื่อต่าง ๆ ข้างหน้าบ้างข้างในบ้าง รับเอาเรื่องราวของจีนเป็นพวกพ้องมายื่น ให้กราบทูลพระกรุณารับอาสาว่า จะทำภาษีพลูสด พลูแห้ง พลูนาบ ว่าไปด้วยความคิดต่าง ๆ อย่าให้เล่าเลย ตัดความเข้าก็คือ เป็นเหตุจะให้ใบพลูแพงมีราคาขึ้นมากไปกว่าแต่ก่อนทั้งสิ้น ทรงพระดำริเห็นว่าพลูเป็นของต้องการกินอยู่ก็แต่คนที่เป็นข้าขอบขัณฑเสมาทั้งสิ้น คนนอกประเทศคือฝรั่ง อังกฤษ แขกเทศ แลจีน แม้นซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้ ก็ไม่มีใครกินแลใช้ พลูมิได้เป็นสินค้าออกไปนอกพระราชอาณาเขตเลย ไม่ควรที่จะก่อเหตุให้พลูแพงไปกว่าแต่ก่อน แล้วให้ลำบากแก่ชาวสวนพลูด้วยดังจีนหลายคนคิดนั้นเลย การที่เก็บสมพัตสรสวนพลูตามพิกัดอย่างเดิมนั้นก็ดีอยู่แล้ว เพราะทรงพระราชดำริเห็นดังนี้ จึงทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่หาได้สั่งให้ตั้งไปไม่ ก็ยังมีผู้กราบทูลถวายเรื่องราวขอทำภาษีพลูแล้ว ๆ เล่า ๆ นับมาก็กว่า ๗ ครั้ง หรือ ๖ ครั้งมาแล้ว เพราะฉะนั้น บัดนี้จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า อย่าให้จีนผู้หนึ่งผู้ใดคิดอ่านว่าจะทำภาษีพลู ว่ากล่าวก่อเหตุให้ชาวสวนพลูแลราษฎรซึ่งอดพลูไม่ได้ต้องซื้อพลูกินได้ความสะดุ้งสะเทือนไปเลย แล้วอย่าให้ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน นำเรื่องราวขอทำภาษีพลู ยิ่งกว่าสมพัตสรตามอย่างเก่าขึ้นกราบทูลซ้ำซากต่อไปเลย ไม่โปรด แล้วให้มีแต่สมพัตสรอยู่ตามเดิม เทอญ

ประกาศมา ณ วันอาทิตย์ เดือนหก แรมห้าค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ