คดีพระนางเรือล่ม

เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๓ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และปวงพสกนิกรต่างได้รับความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวง ในการสิ้นพระชนม์โดยอุปัทวเหตุของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เอกอัครมเหสี ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนพระราชอิริยาบถพักผ่อน ณ พระราชวังบางปะอิน

และในการเสด็จครั้งนั้นได้เกิดอุปัทวเหตุร้ายแรงคือ เรือพระที่นั่งล่มลงในระยะทางที่กำลังเสด็จ คือในลำน้ำเจ้าพระยาตอนเหนือปากเกร็ด ซึ่งเรียกกันว่าตำบลบางพูด สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ กับพระเจ้าลูกเธอกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ได้สิ้นพระชนม์ภายในเรือพระที่นั่งโดยปราศจากการช่วยเหลือใด ๆ เพราะถูกกำแพงแห่งกฎมนเทียรบาลกางกั้นเอาไว้ ความโศกเศร้าในครั้งนั้นเป็นความเศร้าสลดอันใหญ่หลวงของพสกนิกรชาวไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งพระองค์ทรงสูญเสียพระอัครมเหสีและพระเจ้าลูกเธออันเป็นที่รักประหนึ่งดวงพระราชหฤทัยของพระองค์ พระเคราะห์กรรมอันนี้แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไปแล้วเกือบ ๘๔ ปีแล้วก็ตาม แต่พระเกียรติคุณและเรื่องราวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งมีผู้โจษขานกันติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า “พระนางเรือล่ม” ก็ยังคงเป็นที่เล่าสู่กันฟังมาตราบเท่าทุกวันนี้มิมีวันลืมเลือน

ความทุกข์ระทมของสมเด็จพระปิยมหาราชแม้จะมีมากสักเพียงใด แต่เมื่อเหตุการณ์ได้ล่วงเลยและเป็นไปแล้วถึงเพียงนั้น วันเวลาได้เงียบหายไปโดยพระองค์มิได้ทรงทราบความจริงอันอยู่เบื้องหลังการสิ้นพระชนม์ชีพของพระมเหสีและพระเจ้าลูกเธอ ก็ย่อมต้องมีพระอารมณ์ขุ่นมัวเป็นธรรมดา แม้จะทรงระงับด้วยวิธีใดก็หามีทางไม่ แต่ความเกรงพระทัยต่อพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งทุกพระองค์กำลังมีงานเต็มมือเกี่ยวด้วยการจัดพระราชพิธีพระศพของพระมเหสีและพระราชธิดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมิได้ทรงรับสั่งให้ชำระคดีที่เกิดขึ้น ครั้นเมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นมาถึงวันที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเวลาได้เนิ่นนานพอสมควรที่จะหามูลเหตุที่เกิดขึ้นได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ไปทูลสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ และสมเด็จกรมหลวงวรศักดา สมเด็จพระองค์น้อย ขอให้ทั้ง ๓ พระองค์ได้ชำระความตามที่เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยากทราบโดยด่วน ในตอนนี้ได้ทรงรับสั่งไปด้วยว่า

“กาลข้างหน้ายังมีที่ไปอีกมาก หาผู้ที่จะฝากชีวิตกับผู้ใดได้ไม่ จะขอฝากกับท่านทั้งสาม แล้วแต่ท่านจะเมตตา”

จากพระราชกระแสครั้งนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แสดงออกมาซึ่งความทุกข์ระทม ประกอบกับทรงน้อยเนื้อต่ำพระทัยจึงแสดงพระอาการออกมาถึงเพียงนั้น

จึงในวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๓ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. สมเด็จกรมหลวงวรศักดา สมเด็จพระองค์น้อย กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กรมหมื่นภูธเรศได้เสด็จไปพร้อมกันที่วังสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เพื่อที่จะทรงชำระความตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาบำราบฯ ได้ทรงเรียกหาผู้ที่ตามเสด็จและบุคคลที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ คือในบริเวณเรือพระประเทียบลุ่มและคว่ำลงให้มาเฝ้า และเตรียมที่จะตั้งกระทู้รับสั่งนับตั้งแต่กรมหมื่นอดิสร พระยามหามนตรี และไพร่ฟ้าข้าหลวงทุก ๆ คนมิได้ยกเว้นผู้หนึ่งผู้ใด ความที่ทรงชำระนั้น ปรากฏในการให้การของบรรดาผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุดังนี้

“ขณะเมื่อเรือราชสีห์จูงเรือพระประเทียบของพระองค์เจ้าสุขุมาลย์ แล่นไปข้างหน้าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรือยอร์ชซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร แล่นขนานไปกับเรือราชสีห์ทางฝั่งตะวันตก เรือโสรขจร ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีแล่นตามหลังเรือราชสีห์ในแนวเดียวกัน ขณะนั้นเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือจูงพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ยังอยู่ข้างหลัง พอแล่นไปถึงตำบลบางพูดเหนือบ้านพระยาเกียรติเล็กน้อย เรือปานมารุตก็แล่นไปทันเรือขนานข้างหน้า นายอินคนถือท้ายเรือจึงแล่นเรือเข้าไปในระหว่างกลาง เรือราชสีห์กับเรือยอร์ชเพื่อจะขึ้นหน้าไปก่อน ขณะนั้นเรือโสรชจรซึ่งตามหลังเรือราชสีห์แล่นขึ้นไปเกยตื้น จึงหักหัวเรือเบนหนีตื้นออกมาโดยเร็ว ปะทะกับข้างเรือปานมารุตซึ่งกำลังแล่นอย่างรวดเร็วเต็มฝีจักร์ นายอินคนถือท้ายพยายามหักหัวเรือหนีจนเต็มความสามารถก็ไม่พ้น ทำให้น้ำเป็นละลอกกดศีรษะเรือพระประเทียบสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จมคว่ำลงในทันทีทันใด ในขณะที่เรือคว่ำนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงประทับอยู่ในเก๋งกับแก้วพี่เลี้ยงออกไม่ได้ จึงได้ช่วยกันหงายเรือขึ้น แต่กว่าจะหงายได้ก็ล่าช้าอยู่มากกว่าครึ่งชั่วโมง ส่วนพวกข้าหลวงทั้งปวงที่ตามเสด็จพระนางเจ้านั่งเฝ้าอยู่นอกเก๋ง ขณะเมื่อเรือล่มต่างก็พากันตกใจโดดน้ำว่ายหนีไปเกาะที่เรือพระประเทียบลำอื่น บางคนก็ว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ไม่เป็นอันตราย เพราะปรากฏว่าตอนที่เรือล่มนั้นน้ำไม่สู้ลึกนัก ส่วนผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็นก็จมหายไป แต่ในขณะนั้นเป็นเวลากลางวัน ชาวบ้านทั้งปวงที่กำลังดำทรายกันอยู่กลางแม่น้ำ จึงได้พากันมาช่วยงมข้าหลวงจมน้ำคืนมาได้ครบทุกคนที่สลบก็แก้ไขฟื้นได้หมด”

นอกจากเหตุการณ์ทั่วไป ซึ่งประจักษ์พยานทุกคนได้ยืนยันเช่นนั้นแล้ว คณะกรรมการชำระความได้ไต่สวนหามูลเหตุต่อไปถึงกรณีที่ว่า เพราะเหตุใด สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จึงไม่ได้ทรงรับการช่วยเหลือทันทีดังเช่นบุคคลอื่น ก็ปรากฏความจริงว่า พระยามหามนตรี สมุหราชองครักษ์ ทำการไม่สมเหตุที่ควรจะปฏิบัติหลายอย่างหลายประการ กล่าวคือขณะที่รู้แน่ชัดว่าเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าล่มแล้ว ไม่สั่งราชการให้คนโดดลงไปช่วยเหลือให้ทันท่วงที หรือมิฉะนั้น ถ้าหากพระยามหามนตรีเกรงต่อกฎมนเทียรบาลดังที่แก้ตัวให้พ้นผิดแล้วไซร้ ก็มิได้สั่งการให้คน ทั้งหลายทั้งปวง ที่มีความประสงค์จะช่วยเหลือหงายเรือพระประเทียบขึ้นมาให้ทันท่วงที ซึ่งในปัจจุบันทันด่วนเช่นนั้นย่อมที่จะสั่งการหรือลงมือทำการได้ หากมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว พระยามหามนตรีย่อมที่จะกระทำการนั้นได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ได้สั่งการหรือลงมือช่วยเหลือด้วยตนเองประการใด ปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านพ้นไปจนกระทั่งเรียกได้ว่า สายต่อพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสียแล้ว และครั้นว่า พวกชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นตลอดจนพวกงมทรายที่จะเข้ามาทำการช่วยเหลือ พระยามหามนตรีก็ห้ามไว้เสีย โดยอ้างว่าจะไม่ยินยอมให้ใครคนหนึ่งคนใดเข้าไปใกล้เรือพระประเทียบด้วยว่าเป็นการผิดกฎมนเทียรบาล กว่าตัวพระยามหามนตรีจะลงมือทำการและอนุญาตให้ช่วยกันหงายเรือพระประเทียบขึ้นมาได้ ก็ปรากฏว่าเป็นเวลาล่วงเลยไปตั้งครึ่งชั่วโมงกว่า ส่วนความดีความชอบของพระยามหามนตรีที่อ้างเอาว่า ตนได้ลงไปควานงมพระศพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่หายไปนั้น ก็ปรากฏว่าไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีผู้ใดได้เห็นพระยามหามนตรีดำหาพระศพเลย ผู้ที่ดำหาพระศพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้ ก็คือ “อ้ายเถอะ” ซึ่งเป็นข้าของพระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์

คณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ได้สอบสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงตั้งใจจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่มีโอกาสอันเหมาะ จนกระทั่งถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. ในคืนวันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกยังหอธรรมสังเวช หลังจากที่พระธรรมวโรดมถวายเทศน์กัณฑ์ของหลวง และพระอริยมุนีถวายเทศน์กัณฑ์เจ้าภาพแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชกระแสรับสั่งถามสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สมเด็จกรมหลวงวรศักดา ถึงเรื่องที่ได้ทรงชำระความกันเมื่อตอนกลางวันว่าได้เรื่องราวประการใด สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ได้กราบบังคมทูลให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงความจริงที่ได้ทรงสอบสวนมา ซึ่งความผิดทั้งหมดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประจักษ์แน่ชัดว่า เป็นความผิดของพระยามหามนตรีคนเดียว จึงทรงพระพิโรธอย่างยิ่ง และยิ่งกว่านั้นยังทรงเห็นว่า พระยามหามนตรีนั้นไม่ทำการช่วยเหลือพระมเหสีและพระราชธิดาของพระองค์ ให้รอดพ้นอันตรายด้วยน้ำใสใจจริง มีเจตนาร้ายแรงในการพูดปด เพื่อจะให้พ้นผิดและหาความดีใส่ตัวด้วยอุบายฉลาดนานาประการ เมื่อได้ทรงทบทวนเหตุการณ์ตลอดจนฟังคำกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งทรงพระพิโรธหนักขึ้น ทรงผินพระพักตร์ไปทางพระศพของพระปิยมเหสีและพระราชธิดาครั้งใด ความเศร้าหมองและความทุกข์ระทมพระราชหฤทัยก็ยิ่งมีมากทวีคูณขึ้นไปเป็นลำดับ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาเทพฯ ไปตามตัวพระยามหามนตรีมาในขณะนั้น แต่มิได้ทรงรับสั่งถามด้วยพระองค์เอง เพราะเกรงว่าจะทรงพิโรธยิ่งขึ้น หากแต่รับสั่งให้ถอดพระยามหามนตรีออก จากยศถาบรรดาศักดิ์เป็นไพร่ในทันทีทันใดนั้นเอง ตลอดจนรับสั่งถอนทหารที่พระยามหามนตรีควบคุมอยู่ในขณะนั้น ให้พระยานรรัตน์ควบคุมแทน และมอบหมายการงานส่งเสียบัญชีทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในความรับผิดชอบของพระยามหามนตรี ให้เป็นที่เรียบร้อยภายในคืนนั้น แล้วรับสั่งให้คุมตัวพระยามหามนตรีไว้ เพื่อที่จะได้มีพระราชกระทู้ถามสอบสวนความจริงอีกครั้งหนึ่ง พระราชกระทู้นั้นได้บันทึกส่งให้พระยามหามนตรีตอบให้เสร็จสิ้นภายในคืนเดียวกัน ให้พระยามหามนตรีมาเฝ้าได้ที่เก๋งอรสาภิรมย์

ปรากฏว่าการโต้ตอบพระราชกระทู้ของพระยามหามนตรีได้เสร็จสิ้นภายในเวลา ๒ ยามเศษ พระยามหามนตรีรับสารภาพตามความจริง ในกรณีเรือพระประเทียบล่ม และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระราชบุตรได้เสียพระชนม์ เพราะความประมาทและความโง่เขลาเบาปัญญาของตนเอง แต่มิได้ขาดเสียซึ่งความจงรักภักดี ขอสารภาพให้ทรงมีพระเมตตา แล้วแต่จะทรงโปรดเกล้าฯ พระมหาเทพฯ ได้นำคำแก้พระราชกระทู้ของพระยามหามนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ทรงบรรทม หากแต่ยังทรงรออยู่ที่จะทรงทราบข้อเท็จจริง และคำแก้ตัวของพระยามหามนตรีว่าประการใด เมื่อได้ทรงรับกระทู้แก้ของพระยามหามนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงรับสั่งเรื่องเกี่ยวกับเรือพระประเทียบของพระมเหสีล่มแต่ประการใดต่อไปอีก เพียงแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้คุมตัวพระยามหามนตรีไว้ก่อน และต่อมาในตอนดึกคืนเดียวกันนั้นเอง ก็โปรดเกล้าฯ ให้ส่งตัวพระยามหามนตรีไปจำไว้ที่โรงช้าง ตลอดคืนวันนั้นเข้าใจกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้บรรทมเลย ทรงคิดและทบทวนถึงเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์เองก็มีพระราชประสงค์จะทรงสอบถามด้วยพระองค์เองกับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ให้ได้เนื้อความละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แต่สำหรับพระยามหามนตรีนั้นเป็นอันว่าไม่มีพระราชประสงค์จะต้องการรู้เรื่องอะไรต่อไปอีก

เวลา ๓ โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกหอธรรมสังเวช เลี้ยงพระ ๕ โมงเช้าเสร็จแล้วจึงเสด็จขึ้นในตอนกลางวันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งถามหลวงราโชซึ่งตามเสด็จไปในขณะที่เรือพระประเทียบล่ม และเป็นผู้หนึ่งที่ได้เห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสอบถามความจริงอันเกี่ยวกับพระยามหามนตรีที่ได้ถวายกระทู้ตอบไปแล้ว ขณะที่หลวงราโชกำลังกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น หลวงนายสิทธิ์ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ตามเสด็จในขบวนเรือพระนางเรือล่มด้วย และในขณะนั่งกำลังอยู่งานถวายพัดให้ สอดกราบถวายบังคมทูลขึ้นมาทันควัน เป็นการสอดเรื่องแก้แทนพระยามหามนตรี โดยอ้างว่าพระยามหามนตรีนั้นไม่ใช่ผู้ผิดในเรื่องที่เกิดขึ้น หากแต่เกิดขึ้นด้วยความประมาทของนายท้ายเรือมากกว่า ด้วยว่าเหตุการณ์นั้นนายท้ายอินซึ่งเป็นคนถือท้ายเรือราชสีห์เมาสุราจึงปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด และด้วยความคะนองประสาคนเมาสุราจึงทำให้เรือพระที่นั่งล้มลงไป หาใช่ความผิดของพระยามหามนตรีแต่ประการใดไม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อได้ฟังหลวงนายสิทธิ์ทูลสอดขึ้นมาโดยมิได้มีรับสั่งให้ทูล ก็ทรงพระพิโรธขึ้นมาทันที หาว่าหลวงนายสิทธิ์สอดขึ้นมาในเวลาที่ไม่ได้รับสั่งถามเป็นการไม่สมควรประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งหลวงนายสิทธิ์ก็มีเจตนาจะเข้าด้วยพระยามหามนตรีซึ่งเป็นคนผิด เพราะพระยามหามนตรีได้สารภาพความผิดต่อพระองค์ตามพระราชกระทู้ที่ได้ทรงถามไปแล้วเมื่อคืนนี้ และเนื่องด้วยหลวงนายสิทธิ์ผู้นี้เคยมีเหตุในพระราชสำนักมาแล้ว แต่ความผิดนั้นยังจับไม่ได้ ถนัด ความผิดที่กล่าวคือเหตุลักขโมยของของสมเด็จพระนางเจ้าฯ เมื่อยังไม่สำนึกในความผิดและพระมหากรุณาธิคุณที่เคยมีมา ซ้ำยังมาทูลสอดในเวลาที่ไม่ต้องพระราชอัธยาศัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไล่หลวงนายสิทธิ์ออกไปจากพระที่เดี๋ยวนั้นทันที และทรงโปรดเกล้าฯ ตามหลัง ถอดยศบรรดาศักดิ์หลวงนายสิทธิ์ออกเสียด้วย และได้ทรงสัญญาบัตรตั้งนายจ่ายงเป็นหลวงนายสิทธิ์แทน และตั้งนายเล่ห์อาวุธเป็นจ่ายง เมื่อทรงหายกริ้วแล้วได้ทรงรับสั่งถามเรื่องราวจากหลวงราโชต่อไปอีกตามสมควร

ครั้นแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เบิกตัวอ้ายเถอะเข้ามาเฝ้า อ้ายเถอะคนนี้เองซึ่งเป็นข้าช่วงใช้ของพระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ เป็นประดาน้ำที่มีความจงรักภักดีและแสดงความสามารถเป็นพิเศษ เพราะเป็นผู้ที่ดำลงไปควานหาพระศพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงขึ้นมาได้ เพราะขณะเมื่อเรือพระประเทียบคว่ำลงนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงได้หลุดจากพระกรของสมเด็จพระนางเจ้าจมน้ำหายไป พระยามหามนตรีเป็นผู้กราบบังคมทูลที่จะเอาความดีความชอบ ในกรณีอ้างตนเป็นผู้งมพระศพของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงได้ แต่ประจักษ์พยานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น อ้ายเถอะเป็นผู้งม และอัญเชิญพระศพของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงผู้เคราะห์ร้ายขึ้นมาจากใต้ท้องน้ำเจ้าพระยา อ้ายเถอะได้กราบบังคมทูลตามความจริงและพรรณนาเหตุการณ์ซึ่งมันได้ดำลงไปพบพระศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความโสมนัส มีกระแสรับสั่งชมเชยความสามารถของอ้ายเถอะเป็นอันมาก ตลอดจนความจงรักภักดีและความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจในกรณีที่ควรและไม่ควร ดีกว่าพระยามหามนตรีซึ่งมีตำแหน่งราชการสูงถึงขนาดสมุหราชองครักษ์ จึงทรงมีพระราชทานรางวัลเงินแก่อ้ายเถอะเป็นความชอบเป็นเงิน ๑๐ ชั่ง ส่วนความชอบทางราชการไม่ปรากฏ เพราะอ้ายเถอะนั้นเป็นข้าส่วนพระองค์ของพระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ หาได้เป็นข้าราชการ หรือเป็นข้าราชสำนักอย่างคนอื่น ๆ ไม่ ส่วนหลวงราโชกับข้าหลวงทั้งหลายที่ได้ตามเสด็จ แลได้ร่วมรับเคราะห์กรรมกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระเจ้าลูกเธอ แต่เคราะห์ดีมีผู้งมขึ้นมาแก้ไขได้ทันท่วงทีไม่ถึงแก่ชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลเงินให้ได้รับโดยทั่วถึงกัน และนับแต่นั้นมาก็มิได้ปรากฏว่าได้ทรงเอาผิดกับผู้หนึ่งผู้ใดเกี่ยวกับพระนางเรือล่มนี้ นับตั้งแต่ได้ชำระเอาตัวผู้ควรแก่ความผิดเป็นโทษไปแล้ว

เมื่อพระเมรุมาศได้สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกำหนดเวลาที่จะพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้าและสมเด็จพระราชธิดา โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ซึ่งตรงกับวันพุธ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง และเจ้าพนักงานเชิญพระศพออกถวายการชำระพระศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นทอดผ้าไตรบนปากพระโกศ พระสงฆ์สดับปกรณ์ แล้วจึงอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน เวลา ๕ โมงเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิง และต่อจากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คณะทูตานุทูตจนกระทั่งอันดับสุดท้ายคือประชาชน อันซึ่งได้มาชุมนุมกันถวายพระเพลิงเป็นจำนวนมืดฟ้ามัวดิน

ภาพในค่ำวันถวายพระเพลิง เป็นภาพสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงเห็นภาพของพระปิยมเหสีและพระราชธิดาเป็นครั้งสุดท้าย ทรงประทับจนกระทั่งพระเพลิงได้มอดไหม้พระศพ ประชาชนทั้งหลายเมื่อได้มีโอกาสมาถวายพระเพลิงนอกจากจะแสดงความจงรักภักดีอย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าที่เคยมีมาแล้ว ประชาชนส่วนมากได้พากันเศร้าสลดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยิ่งได้ปรากฏตัวอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ก็ทำให้บังเกิดความสลดหดหู่อนาถใจยิ่งขึ้น บางคนถึงกับร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยความเสียดาย และเมื่อมีเสียงร้องไห้เกรียวกราวขึ้นขณะที่พระเพลิงกำลังจะมอดไหม้พระศพดังอื้ออึงไปถึงพระกรรณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยิ่งทำให้พระองค์ทรงเกิดความรู้สึกเศร้าสลดทับถมล้นพ้นเข้ามาอีก ถึงกับทรงเบือนพระพักตร์หนี

ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันที่ได้บันทึกไว้ในวันนั้น ได้บันทึกไว้ว่า... “เสียงร่ำไห้ของประชาชนกึกก้องระงมไปทั้งนั้น จนกระทั่งพระเพลิงมอดไหม้เหลือแต่ควัน ประชาชนจึงคลายความเศร้าโศกและทยอยกันกลับ”

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ