เหตุเกิดที่พระพุทธบาท

&#8203รอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี จัดเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของชาติและพระพุทธศาสนา เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัย ซึ่งเมื่อถึงเทศกาลเดือนสาม เดือนสี่ ประชาชนจากแหล่งต่าง ๆ จะพากันเดินทางไปนมัสการเป็นประเพณีประจำทุกปีมา รวมทั้งพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ย่อมทรงถือเป็นราชประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งด้วย

ครั้นถึงเดือนสาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่า เนื่องด้วยตามราชประเพณีของมหากษัตริย์ในอดีต จะต้องเสด็จพระราชดำเนินเป็นขบวนพยุหยาตราไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลในวันเพ็ญมาฆมาส สมควรจะได้รักษาราชประเพณีนั้นไว้ จึงมีพระราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้พันโทเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ (ม.ร.ว. เล็ก ศิริวงศ์ ณ อยุธยา) กับนายจ่ายวด (สุข ชูโต) ผู้ช่วยผู้บังคับการกรมทหารม้า คุมกำลังทหารรักษาพระองค์หนึ่งกองพันพร้อมด้วยกองทหารม้าสำหรับนำขบวนเสด็จ ล่วงหน้าขึ้นไปดำเนินการตระเตรียมพลับพลาค่ายที่ประทับในบริเวณใกล้พระ&#8203พุทธบาทนั้น

เมื่อถึงวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนเดียวกัน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนครโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรี แล่นขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาและทรงแวะประทับแรมที่พระราชวังบางปะอิน อยู่จนถึงวันเสาร์ จึงเสด็จออกจากพระราชวังบางปะอิน โดยเรือพระที่นั่งลำใหม่ที่ใช้เรือกลไฟลากจูง มีเรือแห่นำและตามเสด็จเป็นขบวนรอนแรมเป็นขบวนใหญ่ จนถึงตำบลท่าเจ้าสนุก สระบุรี ทรงประทับแรมในเรือคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงเสด็จทางสถลมารคจากท่าเจ้าสนุกเป็นขบวนพยุหยาตรา มีขบวนแห่นำด้วยทหารม้ากองเกียรติยศและขบวนตามเสด็จเป็นการเอิกเกริก

เมื่อขบวนเสด็จเคลื่อนไปถึงบริเวณศาลเจ้าพ่อเขาตก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงประทับบนคอพระคชาธาร ซึ่งเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์เตรียมไว้ แล้วทรงพระแสงของ้าวเหนือพระคชาธารเป็นอย่างในพิธีพระราชสงคราม เป็นการแสดงความเคารพตามประเพณีของพระมหากษัตริย์ในกาลก่อน การรำพระแสงของ้าวเคารพเจ้าพ่อเขาตกพระพุทธบาทนี้ พระมหากษัตริย์สมัยโบราณทรงปฏิบัติมาจนเป็นพระราชประเพณีอย่างหนึ่ง และเนื่องจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์ในการใช้อาวุธ และตำราพิชัยสงครามโบราณมาแต่สมัยยังทรงพระเยาว์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์สุดท้าย ที่ใช้อาวุธโบราณได้ทุกชนิด เพราะพระมหากษัตริย์องค์ต่อมา ยังมิได้เคยปรากฏว่า ทรงแสดงการเคารพโดยการพระแสงของ้าว อาศัยที่ความวิวัฒนาการของบ้านเมือง เปลี่ยนแปลงไป ส่วนมากจึงได้ทรงรับการศึกษาตามแบบอย่างชาวยุโรปเกือบทั้งสิ้น ครั้นเสร็จพิธีก็เสด็จพระราชดำเนินต่อไปจนถึงบริเวณพระ&#8203พุทธบาท และทรงประทับแรม ณ พลับพลาที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้

วันรุ่งขึ้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสลำธารทองแดงซึ่งอยู่ห่างจากองค์พระพุทธบาทประมาณ ๒ กิโลเมตร มีพระตำหนักชื่อธารเกษม ซึ่งนัยว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างไว้ในคราวเสด็จนมัสการพระพุทธบาท แล้วจึงเสด็จประพาสทอดพระเนตรหินดาดจนบ่ายจึงเสด็จกลับที่ประทับ โดยทรงกำหนดจะเสด็จขึ้นไปบำเพ็ญพระราชกุศลบนมณฑปพระพุทธบาท

ครั้นใกล้เวลา ๒๑.๐๐ น. เศษ ขณะที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกำลังเตรียมทรงฉลองพระองค์ เพื่อเสด็จขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท ก็มีเสียงปืนสองนัดก้องไปทั่วบริเวณ และทันใดนั้น ก็มีกระสุนตกลงมาในบริเวณค่ายหลวงใกล้ที่ประทับ บรรดาข้าราชบริพารที่เฝ้าอยู่ต่างแตกตื่น เพราะเกรงจะมีเหตุร้าย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับทรงมีพระอาการปรกติ จึงมีรับสั่งให้นายทหารออกไปดูเหตุการณ์หน้าค่ายที่ประทับ

ปรากฏว่าเหตุนั้น เกิดขึ้นโดยมีผู้ร้ายสามคน ได้แอบเล็ดลอดขึ้นไปบนยอดเขาโพธิ์ลังกาเนินพระพุทธบาท แล้วเอาก้อนหินขว้างปาลงมายังค่ายหลวง ก้อนหินนั้นตกลงที่หน้ากองทหารรักษาการณ์ กองทหารซึ่งรักษาการณ์อยู่ยามหน้าค่ายจึงขึ้นไปไล่ตามจับคนร้าย ฝ่ายคนร้ายทั้งสามกลับขัดขืน เข้าทำการต่อสู้และวิ่งหนีพลางอาศัยที่บนเนินเขาโพธิ์ลังกานั้นมีเจดีย์สลับซับซ้อน คนร้ายจึงหนีไปได้ ทหารจึงกลับลงมา

แต่แล้วอ้ายคนร้ายก็มาปรากฏขึ้นอีก และขว้างก้อนหินขนาดใหญ่ลงมาอย่างเดิม ทหารผู้รักษาหน้าที่เห็นใกล้จะถึงเวลาเสด็จขึ้นพระบาท และจะเกิดอันตราย จึงได้ขออนุญาตต่อผู้บังคับกองว่าจะขอยิงอ้ายคนร้ายที่บังอาจมาขว้างปาค่ายหลวง เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้บังคับกองเห็นเป็นเวลากลางคืนอาจก่อให้เกิดความตกอกตกใจกันขึ้น จึงได้นำความไปแจ้งแก่เจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ผู้บังคับการ เจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ เห็นเป็นเวลากะทันหันที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จขึ้น สมควรจะกำจัดเหตุแต่โดยเร็ว จึงอนุญาต ทหารจึงแอบขึ้นบนเขาโพธิ์ลังกา จนเห็นว่า&#8203จะยิงคนร้ายได้ จึงใช้อาวุธยิงอ้ายคนร้ายถูกที่สำคัญถึงสาหัส และตายในเวลาต่อมาคนหนึ่ง อีกสองคนเห็นดังนั้นมีความเกรงกลัวถูกยิงตาย จึงยอมให้จับ แต่กระสุนนัดหนึ่งผิดจากตัวคนร้ายไปกระทบหน้าผาเข้า จึงกระท้อนกลับด้วยความแรงมาตกลงในค่ายหลวง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคราวนี้ ได้มีคนเข้าใจกันไปต่าง ๆ นานา เพราะอ้ายคนร้ายที่จับตัวมาได้สองคนนั้นก็ทำตนเป็นคนวิกลจริต ให้การไม่เป็นเรื่องเป็นราว แต่การที่กระสุนตกลงมาในค่ายนั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากอยู่ เพราะเป็นการล่วงละเมิดพระราชอาญาเป็นความผิดขั้นอุกฤษฎ์โทษ และก่อนหน้าที่จะเสด็จประพาสพระพุทธบาทคราวนี้ได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่ง คือ

นายทหารฝรั่งชาติอิตาลีคนหนึ่ง ชื่อนาย ยี.อี. เยรินี ซึ่งเข้ามารับราชการเป็นครูฝึกหัดนักเรียนนายร้อยทหารตามแบบอย่างการทหารในทวีปยุโรป จนมีความดีความชอบทรงพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นว่าที่นายร้อยเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ ได้ออกไปส่งเพื่อนฝรั่งรักษาตัวที่เมืองสิงคโปร์กลับมา นำเอาดินไดนาไมต์ซึ่งเป็นดินระเบิดมีอำนาจร้ายแรง หนัก ๕๐ ปอนด์ติดตัวเข้ามาด้วย เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจพบดินระเบิดนั้นจึงยึดเอาไว้

การที่นาย ยี.อี. เยรินี นำเอาดินไดนาไมต์เข้ามาคราวนั้น ได้ก่อให้เกิดเสียงเล่าลือกันขึ้นในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการประชาชนว่า จะมีผู้คิดการเป็นขบถต่อแผ่นดิน เพราะดินไดนาไมต์เป็นวัตถุที่มีอานุภาพร้ายกาจ ซึ่งเพิ่งรู้จักและตื่นเต้นกันอยู่ในขณะนั้น ถึงกับว่าผู้คิดร้ายจะนำดินไดนาไมต์นี้ไปซ่อนไว้ในพระราชวังเวลาออกขุนนาง เพื่อปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ในเวลาประชุม ซึ่งไม่มีหนทางจะป้องกันได้เลย แต่ในการสอบสวน นาย ยี.อี. เยรินีให้การว่าการที่ตนนำเอาดินไดนาไมต์เข้ามานั้น มีความประสงค์จะใช้เป็นเครื่องฝึกสอนทหารให้รู้จัก และศึกษาค้นคว้าคิดทำขึ้นใช้ในราชการ และได้เคยหารือข้อความนี้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนแล้ว หากการที่นำมาคราวนั้นมิได้ทันขออนุญาต&#8203ตามระเบียบก่อน เป็นการกระทำไปโดยพลการ ซึ่งมิได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น นาย ยี.อี. เยรินีจึงขอลาออกจากราชการเพราะรู้ว่าตนทำผิดระเบียบ แต่ถึงแม้การสอบสวนจะได้ความชัดว่าฝรั่งชาติอิตาลีคนนี้ไม่ได้คิดร้ายและร่วมมือกับผู้ใดก็ตาม ประชาชนและพระบรมวงศานุวงศ์ส่วนมากก็ยังเชื่อว่าจะมีผู้คิดร้ายอยู่เสมอ

ฉะนั้น เมื่อมาประสบเหตุร้ายที่พระพุทธบาท ถึงแก่มีกระสุนปืนตกลงมาในค่ายหลวง จึงทำให้เกิดโกลาหลวิพากษ์วิจารณ์กันไปว่า จะมีการใช้คนมาคิดร้ายต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า หากมิได้กระทำการสอบสวนให้เป็นการแน่ชัดแล้ว ความเข้าใจเช่นว่ามาแล้ว ก็จะมีอยู่และลุกลามต่อไปได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตุลาการพิจารณาถึงเหตุที่ทหาร ซึ่งรักษาหน้าที่ยิงคนตาย และเหตุที่กระสุนตกลงในค่าย และมีพระบรมราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นแม่กองชำระคดีในเรื่องนี้

ในการสอบสวนคดีนี้ พวกทหารรักษาหน้าที่ ๓ คน คือ พลฯ แสง พลฯ เหลือ และ พลฯ เชื้อ ให้การว่า เมื่อตนห้ามคนร้ายไม่หยุด ขว้างปาแล้วกลับต่อสู้ จึงได้ใช้อาวุธปืนยิง นายร้อยโทหรุ่นและนายร้อยโทเพื่อน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้ยิง ส่วนนายร้อยเอกน่วม ชูชาติ (ต่อมาเป็นพระยาผดุงพิพิธภัณฑ์) ผู้บังคับกองสอบสวนไม่ได้ว่าเป็นผู้สั่ง และยังกล่าวคัดค้าน พันโทเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ ผู้บังคับการซึ่งอนุญาตให้ยิงคนร้ายด้วย จึงปล่อยตัวไป ส่วนนายจ่ายวด ผู้ช่วยผู้บังคับการ สอบสวนได้ความว่านอนหลับอยู่จึงมิได้ทราบเรื่อง ส่วนการซักฟอกถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นก็ไม่ปรากฏ จึงได้พิจารณาวางบทพระอัยการว่า ทหารที่กล่าวเป็นผู้กระทำล่วงละเมิดพระราชอาญามีความผิดเป็นมหันตโทษ ให้รับโทษพระราชอาญาถอดร้อยโทหรุ่น ร้อยโทเพื่อน ออกเสียจากยศทหาร กับให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนอีกคนละสองยก และเอาตัวไปจำไว้ ณ กองมหันตโทษ ส่วนเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับการควบคุมทหารขึ้นมานั้น มีความประมาทต่อราชการ มิได้ระวังตรวจตรารักษาหน้าที่ราชการโดยกวดขัน จน&#8203เป็นเหตุให้นายทหารและพลทหารกระทำความผิดล่วงละเมิดพระราชอาญา จึงให้ถอดออกเสียจากตำแหน่งละยศบรรดาศักดิ์ กับส่งตัวจำไว้

การที่ทรงให้ตระลาการพิจารณาโทษทหารครั้งนี้ ทำให้มีบางคนเข้าใจไปว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำการอันรุนแรง ซึ่งทั้งนี้จะได้ขอนำพระราชหัตถเลขาบางตอนที่ทรงมาถึงเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อครั้งเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ชี้ให้เห็นการที่ต้องกระทำโทษทหารทั้งปวงนั้น ก็ด้วยทรงใช้พระวิจารณญาณอย่างรอบคอบแล้ว

“เรื่องความครั้งนี้ก็เหมือนกัน ต้องเห็นว่าการที่ทหารทำนั้น เป็นการหมายอย่างเดียวที่จะรักษาเหตุการณ์ จริงอยู่ผู้ร้ายต่อสู้เอาหินปาจริงอยู่ถ้าการที่เป็นสมกับการที่ทำก็ไม่มีความผิดเลย แต่ต้องพิจารณาความกับการที่ทำให้เห็นอีกชั้นหนึ่งว่า เพราะมีอะไรเสียอยู่จึงมีความผิดไป ที่ทำถูกหมดจะกลับว่าให้เป็นความผิดไปเพราะคนอิจฉา หรือเพราะความเคลือบแคลงสงสัยนั้นจะทำไปอย่างไรได้

“การสิ่งใดที่ผิด การสิ่งนั้นเพราะเป็นความเสียอยู่จึงว่าผิด คือการที่จะจับศัตรูก็ดี โดยจะมีอาวุธสู้ก็ดี ถ้าจับเป็นได้ดีกว่าจับตาย เพราะจะได้รู้เหตุการณ์ที่คิดร้ายนั้นว่า เป็นเพราะเหตุอันใด ต่อเมื่อเห็นว่าจะจับโดยดีไม่ได้เพราะต่อสู้กำลังก้ำกึ่งกัน ถ้าไม่ใช้อาวุธ ข้างหนึ่งมันใช้อาวุธ มันจะทำร้ายต่อไปได้มากจึงเป็นเวลาที่ควรจะใช้อาวุธ นี่ผู้ร้ายก็คนเดียว ไม่มีอาวุธใช้ ทั้งผู้ร้ายนั้นก็ไม่ปรากฏว่าได้ทำอันตรายอันใดเหลือกำลัง ยิงให้ตายเสียเป็นช่องที่คนทั้งปวงจะเห็นว่าเป็นทหารเที่ยวแกล้งฆ่าคน ทหารรักษาพระเจ้าแผ่นดินยิงคนไม่มีผิดตาย เพราะการรักษาพระเจ้าแผ่นดินเป็นการปรากฏไป เป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศปรากฏไปต่างประเทศ ก็ทำให้เสียความเชื่อถือของประเทศทั้งปวง เห็นเป็นบาร์บเรียนเป็นเซเว็ชดุร้ายเกินไป ทำให้เสียราชการที่จะให้เขาไม่เชื่อ ไม่ยอมให้มีอำนาจ เพราะมีอำนาจแล้วเหมือนบำรุงให้ทำการร้ายกาจไป เขาจะไม่เชื่อดังนี้ การจะยากทุกอย่าง จึงนับว่าเป็นการเสียตลอดจนราชการ จึงต้องตัดสิน&#8203ว่าการที่ทำเป็นผิด เพราะทำการเกินเหตุจะเห็นไปแก่การทหาร ธรรมเนียมทหารอย่างเดียวไม่ได้”

กับอีกตอนหนึ่งทรงกล่าวว่า

“เป็นเหตุว่า ถ้ายกว่าไม่ผิดเสียครั้งหนึ่ง ถ้ามีผู้อื่นที่จะคิดเอาเหตุอย่างนี้ทำอุบายไม่มีที่กลัว เพราะไม่มีผิดในการเรื่องนี้ก็จำเป็นต้องรักษาสำหรับต่อไปข้างหน้า ถ้าทหารล้อมวังรักษาเห็นสัตว์ร้ายคือสุนัขวิ่งเข้ามาจะยิงโดยไม่แจ้ง ถูกตัวเราเข้าจะว่าไม่ผิดดังนี้ ก็เป็นการยากที่จะรักษาชีวิต เพราะฉะนั้นจึงต้องว่าถึงจะไม่แกล้งยิงแต่ทำให้กระสุนตกในค่ายหลวงเป็นความผิด เป็นการรักษากฎหมายเก่า และเป็นการรักษาชีวิตเราด้วย เมื่อพิจารณาโดยความเที่ยงธรรมก็จะเห็นได้ว่ามีผิดระคนอยู่ ในการที่ตั้งใจรักษาเป็นความผิดต่อไป”

และ ...การที่จะทำโทษทหารคราวนี้ ก็ได้ตริหน้าตรองหลังรอบคอบแล้วจึงได้ทำ คือจะกันไม่ให้คนว่าทหารหลวงฆ่าคนตายไม่มีโทษ และยิงปืนกระสุนตกในค่ายหลวง เพราะการรักษาได้ไม่มีโทษ ซึ่งจะเป็นช่องเสียดังว่ามาแล้ว และระวังที่จะไม่ให้แรงเกินไป เพราะจะเป็นที่กลัวของทหารที่จะรักษาเกินไปด้วย ได้ชี้แจงตัดสินโดยละเอียด ถ้าเอาปัญญาเป็นกลางตริตรองจะเป็นการสมควรที่ทุกประการ...”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ