พานทองคำรองพระชุด

เมื่อต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือหลังจากเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้ ๕ ปี และในเดือนสิบเอ็ด แรมแปดค่ำ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับจากพระราชทานพระกฐินสู่พระบรมมหาราชวัง ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเป็นท้องพระโรง แล้วจึงเสด็จขึ้นข้างในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ครั้งนั้นปรากฏว่า มีมือดีสามารถลอบลักพานทองคำรองพระชุด ที่สำหรับทรงจุดพระโอสถ (บุหรี่) ไปได้ ความทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในวันต่อมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งพระยาธิเบศร์บดีจางวางกรมมหาดเล็ก ให้เป็นตุลาการศาลรับสั่งพิเศษ ตั้งกองชำระความเรื่องพานทองพระชุดหาย โปรดให้ไต่สวนพวกมหาดเล็กห้องเครื่อง ให้สืบดูว่ามันผู้ใดหนอบังอาจเป็นผู้ร้ายลักพระราชทรัพย์ไป การไต่สวนสืบจับผู้ร้ายได้เป็นไปอย่างกว้างขวางแต่ก็ยังไม่พบแม้ร่องรอย เป็นแต่มีความสงสัยว่า ในวันที่พานพระชุดได้หายเข้ากลีบเมฆไปนั้น เป็นเวลากลางคืนวันแปดค่ำ เดือนสิบมีผู้รู้เห็นว่า นายมีมหาดเล็กซึ่งเป็นคนมีรูปพรรณผิวเนื้อขาวสะอาดสะอ้าน รูปร่างสูงโปร่ง ทรวดทรงคล้ายฝรั่งชาวอังกฤษ คนทั้งหลายจึงมักพอใจเรียกบุรุษผู้นี้ว่า “นายบุญมีอังกฤษ”

ตำแหน่งของนายบุญมี คือเป็นสมุห์บัญชีกรมมหาดเล็กเวรศักดิ์ เมื่อวันของหาย มีคนหลายคนพากันเห็นว่า นายบุญมีอังกฤษเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในท้องพระโรง แล้วมีผู้ยืนยันว่านายบุญมีได้ออกจากที่เฝ้าไปทีหลังสุดของคนทั้งหลาย เพราะเรื่องโจษจันกันเช่นนี้ ว่านายบุญมีอาจจะเป็นผู้ร้ายใจกล้าลักพานพระชุดดังกล่าว ตุลาการศาลรับสั่ง จึงเรียกนายบุญมีมาที่ศาลไต่ถามความรับสั่งโดยสงสัย ข้างนายบุญมีให้การปฏิเสธไม่ยอมรับ แล้วกลับให้การยืนยันอย่างมั่นคงว่า เมื่อตอนที่ตนออกจากที่เฝ้านั้นมีสักขีพยานอยู่ ทั้งให้การต่อสู้อย่างแข็งแรง

พระยาธิเบศร์บดีต้นรับสั่ง เกิดมีความขัดใจว่า นายบุญมีขึ้นเสียงปากแข็งคารมกร้าวนัก จึงสั่งให้ผู้คุมลงเหล็กจำตรวนนายบุญมีผู้ต้องสงสัยถึงสองชั้น แล้วไต่ถามเนื้อความต่อไป นายบุญมีก็ให้การยืนยันอย่างเดิม พระยาธิเบศร์บดีมีคำสั่งให้ผู้คุมนำตัวนายบุญมีไปผูกเฆี่ยนติดไม้ตามจารีตนครบาล นายบุญมีทนอาชญาจารีตนครบาลไม่ไหว จึงจำใจให้การเป็นความเท็จว่า

“ข้าพเจ้าขอรับสารภาพผิดว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ร้ายลักพานพระชุดไปจริง”

ฝ่ายตุลาการศาลรับสั่ง เฆี่ยน ๕ ทีถามได้ความว่า นายบุญมีชะรอยคงเป็นผู้ร้ายลักพานพระชุดไปจริง นายบุญมีทนความเจ็บปวดรวดร้าวจากหวายไม่ไหวก็ให้การส่งเดชไปว่า พานพระชุดนั้นตนนำไปซ่อนไว้ใต้กรงเรือนของตน พอให้ทุเลาเพลาการเฆี่ยนเท่านั้น

พระยาธิเบศร์บดีมีคำสั่งแก่ผู้คุม ให้แก้ผูกพันธนาการออกจากนายบุญมีพาตัวมาที่ศาล แล้วให้คุมตัวค้นหาของกลางที่กองเสาใต้ถุนเรือนดังว่า ปรากฏว่าไม่ได้ของกลาง เสมียนผู้คุมพนักงานจึงพาตัวนายบุญมีมาส่งยังตุลาการ ตุลาการพูดว่า “ผู้ร้ายใจแข็งให้การไม่จริง” จึงสั่งให้ผูกเฆี่ยนในคาอีกยกหนึ่ง จึงให้ติดไม้ตบต่อยด้วยรองเท้าและกะลามะพร้าวห้าว แล้วลงหวายเฆี่ยนหลังทวีสิบทีถามต่อไป นายบุญมีอดทนต่ออาชญาจารีตนครบาลของตุลาการไม่ไหว จึงจำใจให้การเปะปะต่อไปว่า

“พานทองคำพระชุดนั้น เกล้ากระผมลักไปฝากไว้ที่อำแดงยิ้มภรรยา” เป็นคำให้การพอให้ผู้คุมหยุดเฆี่ยนตี

ตุลาการก็พาซื่อ สั่งผู้คุมไปเกาะกุมตัวอำแดงยิ้ม ภรรยาของนายบุญมีมาถามปากคำตามระเบียบ อำแดงยิ้มก็ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ให้การไปด้วยอารามตื่นกลัวเป็นที่ตั้งว่า

“นายบุญมีได้เอาพานทองคำมาส่งให้ดิฉัน ดิฉันได้เอาไปขายไว้ให้กับผู้มีชื่อบ้านโรงครก”

ครั้นผู้คุมพาตัวอำแดงยิ้มไปถึงหลังโรงครก อำแดงยิ้มก็ไม่มีที่ชี้ว่าผู้ใดรับซื้อ จึงพาผู้ต้องหามาพบตุลาการ ตุลาการจึงสั่งให้ผู้คุมผูกอำแดงยิ้มเฆี่ยนถาม อำแดงยิ้มอย่างว่าทนความเจ็บปวดไม่ได้ก็ให้การต่อไปอีกว่า พานทองนั้นเอาไปขายไว้ที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ซัดทอดไปหลายแห่ง ครั้นผู้คุมนำไปก็ไม่ได้ความสักแห่งเดียว

คดีเรื่องนี้ ตุลาการชำระกันอยู่เป็นเวลาหลายวัน ก็หาได้ความจริงและของกลางมาไม่ จนนักโทษที่ต้องชำระทั้งสองผัวเมียนั้นมีอาการป่วยหนักลงต้องผ่อนทุเลาให้รักษาตัวกว่าจะหายดีก่อน จึงจะให้ชำระต่อไปอีกเมื่อภายหลังหายป่วยนั้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าป่วยอยู่ ทั้งคู่ก็ยังต้องขังทิมได้รับความทรมานยิ่ง

ในระหว่างที่กล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ทองเหลืองแก่บรรดาข้าราชการทั้งฝ่ายพระราชวังหลวงและวังหน้า ตามบัญชีเบี้ยหวัดมากและน้อย

วันหนึ่งนายมามหาดเล็กเวรฤทธิ์ ก็ถูกเกณฑ์ทองเหลืองหล่อปืนตามเบี้ยหวัดสิบตำลึงเช่นเดียวกับข้าราชการทั้งหลาย นายมาต้องส่งทองเหลืองหนัก ๑๐ ชั่ง จึงนำเอากระโถนทองเหลืองที่ทุบบู้บี้เสียแล้ว นำมาส่งแทนทองเหลืองที่ถูกเกณฑ์สิบชั่งต่อเจ้าพนักงาน

ขณะนั้นหลวงพิพิธภูษา เจ้าพนักงานกรมภูษามาลา เกิดไปเห็นว่าเนื้อทองเหลืองกระโถนปากแตรที่นายมานำมาส่งนั้น จำได้ว่าเนื้อทองเหลืองกระโถนปากแตรเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นกระโถนของราษฎรใช้ เป็นกระโถนของหลวงในท้องพระโรง และยังจำได้ต่อไปว่ากระโถนใบนี้ได้หายสาบสูญไปเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว หลวงพิพิธภูษาจึงเป็นโจทก์ทันที จับนายมามหาดเล็ก หาว่าเป็นผู้ร้ายที่บังอาจลักกระโถนปากแตรของหลวงในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานซึ่งหายไปครั้งนั้น ยังจับตัวผู้ร้ายไม่ได้ แล้วมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำผู้ต้องหาไปส่งยังเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เสนาบดีกรมวัง เจ้าพระยาธรรมมาธิกรณ์มีบัญชาสั่งจมื่นจงภักดีองค์ให้เป็นตุลาการถามปากคำนายมามหาดเล็กที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้ายนั้น นายมาให้การปฏิเสธต่อสู้ว่า เนื้อทองเหลืองรูปกระโถนปากแตรที่นำมาส่งนี้ มีหลักฐานที่ได้ซื้อมาจากผู้มีชื่อที่ตัวอยู่สามารถอาจที่จะนำไปชี้ผู้ขายให้ได้เป็นประจักษ์พยาน ครั้นเมื่อ ตุลาการบังคับให้นายมาชี้พยาน นายมาก็ชี้โว้ชี้เว้ เปะปะไปตามความเท็จ นำผู้คุมไปชี้เหลว ๆ ไหล ๆ อย่างนั้นเอง ทำอยู่เช่นนี้เป็นเวลาหลายวันก็ยังไม่ได้เรื่อง จมื่นจงภักดีองค์จึงนำความนั้นขึ้นเสนอต่อเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์มีบัญชาสั่งให้ชำระอย่างจารีตนครบาล เพราะกรมวังเป็นศาลรับสั่ง มีอำนาจผูกไม้ได้ดังศาลนครบาล

ครั้นตุลาการเตรียมการจะผูกไม้นายมา นายมากลัวอาชญาก็เลยให้การรับสารภาพเป็นสัตย์ว่า ตนเป็นคนลักกระโถนปากแตรทองเหลืองในท้องพระโรงไปจริงสองกระโถน ทุบให้เสียโฉม ๑ กระโถน นำมาส่งยังเจ้าพนักงานหล่อปืนใหญ่ ยังเหลืออยู่อีกกระโถนหนึ่ง ซ่อนซุกไว้ภายในยุ้งข้าวในบ้านของตน ตุลาการสั่งให้ผู้คุมพานายมาไปนำหาของกลางก็ได้ความอย่างที่นายมารับสารภาพ ตุลาการได้นำข้อความขึ้นกราบเรียนต่อเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เสนาบดีกระทรวงวัง เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์นำข้อความดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสว่า

“อ้ายมาลูกอ้ายเพชร เป็นคนมือไวใจเร็ว ขี้ลักขี้ขโมย เลี้ยงเป็นมหาดเล็กเด็กชาเสียข้าวสุก พานพระชุดของข้าหายไปหลายเดือนแล้ว บางทีเห็นจะเป็นอ้ายมาขโมยไปบ้างดอกกระมัง ?”

มีพระราชดำรัสเท่านี้แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งเจ้าพระยาธรรมมาธิกรณ์ให้ชำระนายมาต่อเรื่องพานทองคำรองพระชุดลองดูจะเป็นประการใดบ้าง ครั้งนั้นตุลาการศาลรับสั่ง จึงซักถามนายมาโดยดี ทั้งปลอบทั้งโยนทั้งหลอกทั้งล่อจนนายมาตายใจ ก็เปิดอกสารภาพว่า พานทองคำรองพระชุดนั้นตนลักไปเอง และทุบเสียบู้บี้แอบซุกไว้ในห่อผ้าสองปัก ให้บ่าวถือออกไปจากพระบรมมหาราชวัง เมื่อถึงบ้านเรือนของตนแล้ว จึงตัดออกเป็นสองท่อนเล็ก ๆ นำเนื้อทองคำพานพระชุดดังกล่าวไปขายเสียครึ่งหนึ่งแล้ว เดี๋ยวยังมีเนื้อทองคำเป็นรูปพรรณพานพระชุดอยู่อีกครึ่งหนึ่ง ตุลาการจึงสั่งให้ตำรวจวังพาตัวนายมาไปชี้ที่ซ่อนพานพระชุดไว้ ค้นได้ของกลางมาส่งกับเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์จึงนำเรื่องราวขึ้นกราบทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาล ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนหลังอ้ายมา ๖๐ ที แล้วส่งเข้าคุกไป

ครั้นเมื่อชำระได้ตัวขโมยแท้จริงแล้วว่า เป็นอ้ายมาบุตรพระยาเพชรราชา (เอี่ยม) ครั้งนั้นทรงพระราชดำริแล้ว มีพระราชดำรัสว่า

“ตุลาการชำระความเรื่องอ้ายบุญมีอังกฤษ สงสัยว่ามันเป็นผู้ขโมยพานทองคำรองพระชุด การที่ชำระครั้งนั้น หาเป็นการยุติธรรมไม่ เพราะใช้อำนาจจารีตนครบาล เฆี่ยนตีตบติดไม้อ้ายบุญมีอังกฤษกับอียิ้มภรรยามันด้วย ทั้งสองคนผัวเมียยับเยินเกือบเจียนตาย เพราะไม้หวาย ขื่อคา โซ่ตรวน เฆี่ยนตบตีเอามิใช่เล็กน้อย อ้ายอีทั้งสองคนผัวเมียทนอาชญาไม่ได้ ก็ต้องรับเปล่า ๆ ของกลางก็ไม่ได้มา ปรากฏว่าไม่ได้ขโมยจริง ๆ คิดไปก็น่าสังเวชมันทั้งสองคน”

เมื่อมีพระราชดำรัสดังกล่าวแล้ว จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ชุบเลี้ยงให้นายบุญมีเป็นที่นายไชขรรค์มหาดเล็กหุ้มแพร พระราชทานเงินตรา ๕ ชั่ง กับพระราชทานแก่อำแดงยิ้ม ๒ ชั่ง รวมเป็น ๗ ชั่ง เป็นส่วนพระราชทานในการทำขวัญแก่บุคคลทั้งสองผู้ได้รับเคราะห์ร้าย เข้าตำราที่ว่า ของหายสะพายบาป กับพระราชทานที่บ้านเรือนอ้ายทองสุก ผู้บังอาจกระทำเงินแดงปลอม ต้องริบราชบาตรบ้านเรือนเป็นของหลวงนั้น ให้เป็นของนายบุญมีอังกฤษเป็นกรรมสิทธิ์ บ้านเรือนและที่ดินดังกล่าวคือที่ตรงโบสถ์วัดมหรรณพาราม แต่ก่อนนี้เรียกกันว่า “บ้านทะวาย” ฝนพลอย และบ้าน ตะนาวนี้ ทอผ้าขายริมถนน

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ