พระยาละแวก

พอเอ่ยถึงนามพระยาละแวก ต้นตระกูลเขมร คนไทยรู้จักกันดีว่ามีความกลับกลอกทรยศเพียงใด เลือดของพระยาละแวกที่ถูกเอามาชำระพระบาทสมเด็จพระมหาวีรกษัตริย์ไทยยังมีตัวอย่างให้เห็นอยู่จนกระทั่งในปัจจุบันนี้

ประวัติความชั่วร้ายของต้นตระกูลเขมร ควรจะบันทึกไว้ให้ลูกไทยหลานไทยศึกษาจดจำกันต่อไปอีก เป็นการต่ออายุความทรงจำที่เคียดแค้นและขมขื่นอย่างที่จะสิ้นสุดลงไปได้ยาก

ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เมื่อจุลศักราช ๙๑๙ พระยาละแวกพระเจ้าแผ่นดินเขมร ยกกองทัพเข้ามาทางเมืองนครนายก ซึ่งในเวลานั้นอาณาเขตและพลเมืองของไทยกำลังอยู่ในสภาพยับเยินระส่ำระสาย เนื่องด้วยกองทัพเมืองหงสาวดี มาตีกรุงศรีอยุธยาได้ตั้งแต่ในจุลศักราช ๙๑๘ ยังมิทันจะจัดการรักษาบ้านเมืองให้เป็นที่เรียบร้อย และไม่มีผู้ใดจะต้านทานกองทัพเขมร ซึ่งสามารถบังอาจยกล่วงเข้ามาประชิดถึงชานพระนคร สมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการป้องกันพระนครไว้เป็นสามารถกองทัพเขมรผู้ถนัดลอบกัดพยายามยกเข้าปล้นเป็นหลายครั้งก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเลิกทัพกลับไป พร้อมกับการกวาดต้อนครอบครัวไทยในระหว่างทางกลับไปเขมรเป็นอันมาก

ต่อมาในจุลศักราช ๙๒๐ การป้องกันพระนครก็เป็นที่เรียบร้อยขึ้น สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ มีพระชนม์เพียง ๑๖ พรรษา ให้เสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก แต่สำหรับพระเอกาทศรถพระองค์น้อยนั้น โปรดเกล้าฯ ให้อยู่รับราชการในพระนครศรีอยุธยา และรุ่งขึ้นอีกปีหนึ่งปรากฏว่า พระยาละแวกได้ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยาอีก ล่วงล้ำเข้ามาจนถึงเมืองธนบุรี เที่ยวกวาดต้อนราษฎรไทยไปเป็นเชลยพร้อมกับทรัพย์สินเป็นอันมาก ทัพไทยออกไปต่อสู้รบ แต่ก็กลับพ่ายแพ้เพราะกำลังไพร่พลยังอิดโรยอยู่ กองทัพเขมรยกเข้ามาติดพระนครเหมือนครั้งก่อน และยกเข้าปล้นหลายครั้ง ฝ่ายไทยก็ตอบโต้อย่างหนัก พระยาละแวกเห็นการคิดไว้ไม่เป็นผลก็เลิกทัพกลับไป

ครั้นขึ้นปีใหม่ พระยาละแวกยกกองทัพมาก่อกวนทางเมืองเพชรบุรี แต่เจ้าเมืองกรมการจัดการต่อสู้ป้องกันอย่างห้าวหาญ ทัพเขมรไม่สามารถหักเอาเมืองได้ ต้องเลิกทัพกลับไปอีก ต่อมาไม่ช้าก็ยกมาตีใหม่ คราวนีตีเอาเมืองเพชรบุรีได้ และกวาดต้อนผู้คนพลเมืองทำความทารุณร้ายกาจไว้เป็นอย่างมาก

ความบ้าบิ่น และชอบซ้ำเติมของพระยาละแวกได้ชะงักงันไปได้ระยะหนึ่ง ก็เมื่อยกกองทัพเข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก เวลานั้น สมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาจากเมืองพิษณุโลกประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ครั้นทราบข่าวศึกเขมรยกมาก็กราบทูลสมเด็จพระราชบิดา รับอาสาคุมพลออกไปสู้ คราวนี้ปรากฏว่ากองทัพเขมรตายเป็นเบือ ที่เหลือแตกกลับไปสิ้น ความขยาดของเขมรจึงทำให้เหตุการณ์วุ่นวายระงับไปได้ชั่วคราว

เมื่อกรุงศรีอยุธยาประกาศอิสรภาพมิเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของพม่า โดยสมเด็จพระนเรศวรแล้ว และระหว่างที่พระองค์เสด็จออกไปเมืองหงสาวดีนั้น ทางกรุงศรีอยุธยาก็เกิดเกลือเป็นหนอนขึ้น พระยาพิชัยกับพระยาสวรรคโลกทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรเป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้าหงสาวดี ก็คิดกบฏคุมกองทัพยกไปตีเมืองพิษณุโลกแต่หาสำเร็จไม่ พระนเรศวรเสด็จกลับพระนครทรงทราบความจึงรีบเสด็จไปปราบปรามพวกกบฏเมืองสวรรคโลกโดยราบคาบ และจับตัวพระยาพิชัยและพระยาสวรรคโลก ประหารชีวิตเสียทั้งสองคน

พอรู้ว่าไทยกลับเข้มแข็งขึ้นอีก พระยาละแวกมนุษย์ลิ้นหลายแฉก ก็มีพระราชสาส์นเข้ามาถวายสมเด็จพระมหาธรรมราชา ยอมอ่อนน้อมขอเป็นพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายไทยไม่สู้จะถือสาหาความก็ยอมรับเป็นพระราชไมตรี พร้อมกับมีพระราชสาส์นตอบออกไปตามธรรมเนียม โดยไม่คิดว่า พระยาละแวกจะแว้งกัดเอาอีก

จุลศักราช ๙๓๐ พระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นบังคับให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพลงมาตีกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนี้ให้ข้าหลวงกรุงหงสาวดีไปกำกับกองทัพเชียงใหม่ด้วย

ศึกครั้งนี้ พระยาละแวกทราบดีว่าไทยมีกำลังเข้มแข็งกว่า จึงถือโอกาสแต่งให้พระศรีสุพรรณมาธิราช ผู้เป็นอนุชา คุมกองทัพเขมรมาช่วย คล้ายจะสำแดงความเป็นมิตรที่แท้จริง

แต่ว่าความกำแหงยโสมีอยู่ในตัวของผู้สืบเชื้อสายของพระยาละแวก การณ์จึงได้ปรากฏให้เห็นเมื่อตอนที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ พระศรีสุพรรณมาธิราชคุมกองทัพเขมรเข้ากระบวนไปช่วยราชการสงครามด้วย ครั้นตีทัพเชียงใหม่แตกพ่ายไปแล้ว สมเด็จพระนเรศวรในฐานะจอมพล จึงเสด็จประทับเรือพระที่นั่งล่องลงมาผ่านกับเรือพระศรีสุพรรณมาธิราช ทอดพระเนตรเห็นพระศรีสุพรรณมาธิราช แสดงลวดลายความไม่จงรักภักดี โดยไม่ถวายบังคมพระองค์ตามธรรมเนียม กลับนั่งดูเสด็จอย่างเฉยเมย สมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธมาก จึงทรงหาวิธีตัดไม้ข่มนามเสียแต่ต้นมือ โดยดำรัสให้ตัดศีรษะลาวเชลยผู้หนึ่งไปเสียบประจานไว้ที่ข้างเรือของเจ้าเขมร เจ้าเขมรก็โกรธ เมื่อกลับไปถึงกัมพูชาแล้ว จึงแจ้งความตามที่สมเด็จพระนเรศวรดูหมิ่นแก่พระยาละแวก พระยาละแวกเป็นคนหูเบาและมีความคดในข้องอในกระดูกเป็นสันดานอยู่แล้ว ก็ประกาศตัดไมตรีกับไทยอีกครั้งหนึ่ง

ในเดือนสิบสอง จุลศักราช ๙๓๐ พระเจ้ากรุงหงสาวดีจัดกองทัพเพิ่มเติมลงมาอีกเป็นอันมาก และเสด็จเป็นจอมพลมาตีเมืองไทยเอง บรรจบกับกองทัพมหาอุปราชา และกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาตั้งประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ คุมกองทัพออกรบพุ่งติดพันกันอยู่ถึง ๖ เดือน กองทัพพม่าไม่สามารถจะหักเอาพระนครได้ เพราะเข้าเทศกาลฤดูฝน จึงต้องยกทัพกลับหงสาวดี

ขณะกองทัพพม่าและเชียงใหม่มาติดพระนครศรีอยุธยานั้น ความทราบไปถึงพระยาละแวก ก็แต่งให้กองทัพลอบเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายตะวันออก เหมือนที่เคยกระทำ ฝ่ายไทยได้ยกขึ้นไปปราบปราม สามารถฆ่าเขมรและจับเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมากมาย และถึงจุลศักราช ๙๓๒ พระเจ้าหงสาวดียกทัพมาอีก แต่ก็พ่ายอีกนั้น เขมรก็ลอบเข้ามารบอีก แต่ก็ต้องถูกขยี้แหลกลาญกลับไป

เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคตลงเมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๗๖ ปี ในจุลศักราช ๙๔๐ สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จเถลิงถวัลยราชย์แทนสมเด็จพระราชบิดา อันเป็นปีที่พระองค์มีพระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา ได้ทรงตั้งสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาเป็นมหาอุปราช “วังหน้า” และพระราชทานเกียรติยศเสมอเท่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง กล่าวได้ว่าตำแหน่งนี้สูงกว่าพระมหาอุปราชที่เคยมีมาแล้วแต่กาลก่อน ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลว่าสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระราชอนุชาร่วมพระครรภ์ ร่วมพระราชหฤทัย เคยฝ่าคมหอกคมดาบด้วยพระองค์มาในราชการสงครามมาทุกครั้งทุกคราว

ครั้นเมื่อจัดการถวายพระเพลิงพระศพของสมเด็จพระราชบิดาเสร็จแล้ว สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงแค้นเคืองพระยาละแวก พระเจ้าแผ่นดินเขมรเป็นหนักหนาว่าไม่อยู่ในสัจธรรม ถ้ากรุงศรีอยุธยามีอำนาจเวลาใด ก็ยอมอ่อนน้อมเป็นทางพระราชไมตรีด้วย พอมีศัตรูกล้าแข็งมาติดพระนครขึ้น เห็นว่าไทยจะเพลี่ยงพล้ำ พระยาละแวกมนุษย์ผู้ฉวยโอกาสนี้ ก็จะซ้ำเติมรบพุ่งแทบทุกครั้ง จึงมีพระราชดำรัสให้เตรียมกองทัพจะเสด็จยกไปตีเมืองเขมรให้รู้เข็ดรู้จำต่อไป แต่ด้วยเหตุการณ์ศึกทางพม่ามีข่าวเข้ามา พระองค์จึงต้องทรงระงับไว้พลางก่อน

จวบจนกระทั่งในฤดูแล้งของจุลศักราช ๙๔๕ สมเด็จพระนเรศวรพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกพยุหโยธาออกไปตีเมืองเขมร อีกครั้งหนึ่ง เพื่อมิให้เกิดเสี้ยนหนามต่อไป ครั้งนี้เขมรแพ้อย่างราบคาบ จับตัวพระยาละแวกกับพระศรีสุพรรณมาธิราช และครอบครัวเขมรมาได้เป็นอันมาก พระยาละแวกและพระอนุชาร้องขอวิงวอนให้ไว้ชีวิตตัว ที่ได้กระทำความชั่วช้าแก่คนไทยมาแต่หนหลัง แต่สมเด็จพระนเรศวรทรง ทราบได้ดีว่า เขมรย่อมไม่ซื่อสัตย์แก่ใครเลย

จึงมีพระบรมราชโองการ สั่งให้ตั้งพระราชพิธีประถมกรรม ตัดศีรษะพระยาละแวกเอาโลหิตสด ๆ มาชำระพระบาทเสียให้หายแค้น แล้วโปรดให้นายทัพนายกองคุมพระศรีสุพรรณมาธิราช กับครอบครัวเขมรเข้ามาก่อน พระองค์ประทับอยู่ในกัมพูชา ๗ วันก็เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และโปรดเกล้าให้ครอบครัวเขมรเหล่านั้นเป็นอิสระ ด้วยว่ามิได้มีสันดานอย่างพระยาละแวกดังกล่าวแล้ว

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ