๕. ทาส

“ทาส” อันเป็นเครื่องพันธนาการใหญ่หลวงแห่งประชาชาติไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มิได้ถูกทำลายหรือสลัดออกเพราะน้ำมือของเทพเจ้าองค์ใด แต่หากด้วยฝีพระหัตถ์ของพระปิยมหาราชผู้เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา และทรงท้าทายกับเหตุการณ์อย่างสง่าผ่าเผย

เรื่องของทาสนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการเลิกตั้งแต่พระองค์ขึ้นเสวยราชย์แล้วในระยะแรก ๆ แต่ยังขัดข้องด้วยประเพณีกฎหมายในครั้งนั้นยังคงคุ้มครองการซื้อขายและระบุราคาค่าตัวของทาสให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ และทั้งเป็นประเพณีนิยม ซึ่งบิดามารดาที่ยากจน พอใจนำบุตรไปขายให้ใช้เป็นทาส เพื่อทดแทนบุญคุณที่เลี้ยงดูมาแต่อ้อนแต่ออก พระองค์จึงทรงยับยั้งพระราชดำริเรื่อยมา

ต่อมาภายหลัง ที่ทรงตั้งพระทัยจะจัดการเลิกทาสให้จริงจังในประเทศสยามและภายในรัชสมัยของพระองค์แล้ว จึงได้ทรงเรียกประชุมเคาซิลเลอร์ คือคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ๑๒ ท่าน ได้เข้าร่วมประชุมกัน ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เมื่อวันพุธที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗ ผู้ที่เข้าประชุม คือ

๑. พระยาราชสุภาวดี (เพ็ง เพ็ญกุล) ต่อมาเป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง

๒. พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์

๓. พระยาราชวรานุกูล (บุญรอด กัลยาณมิตร) ต่อมาเป็นเจ้าพระยารัตนบดินทร์

๔. พระยากสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล)

๕. พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์

๖. พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร)

๗. พระยาอภัยรณฤทธิ์

๘. พระยาฦๅไชย (จำเริญ บุรณศิริ)

๙. พระยาเจริญราชไมตรี

๑๐. พระยาพิพิธโภไคย

๑๑. พระยาราชโยธา (เนียม สิงหเสนี)

๑๒. พระยากลาโหมราชเสนา (กรับ บุณยรัตพันธ์) ไม่ได้มาประชุมตามหมายกำหนดการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับร่วมประชุมอยู่ด้วยตลอดเวลา ต่อไปนี้เป็นผลแห่งการประชุม

พระราชปรารภ

ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ว่าด้วยทาสและเกษียรอายุ

วันพุธ เดือนแปด อุตราสาท ขึ้นเก้าค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๗) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประชุมในพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปรึกษาด้วยการจะลดเกษียรอายุค่าตัวลูกทาส และจะให้บิดามารดาขายได้ตามเกษียรอายุซึ่งจะตั้งขึ้นใหม่ ห้ามมิให้ขายเด็กราคาแพง ๆ เกินกำหนด ได้พระราชทานสำเนาความซึ่งทรงพระราชดำรินั้น ให้ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินปรึกษาดูตามสมควร เนื้อความว่า

ข้าพเจ้ามีความปรารถนาว่า การสิ่งไรซึ่งเป็นการเจริญ มีคุณแก่ราษฎรควรจะให้เป็นไปทีละเล็กทีละน้อยตามกาลตามเวลา การสิ่งไรซึ่งเป็นธรรมเนียมบ้านเมืองมาแต่โบราณ แต่ไม่สู้เป็นยุติธรรมก็อยากจะเลิกถอนเสีย แต่จะจู่โจมโหมหักเอาทีเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยตัดรอนไปทีละเล็กละน้อยพอให้เบาบางเข้าทุกที เมื่อเป็นอยู่ดังนี้การก็คงจะเป็นไปทีละน้อย ๆ เรียบร้อยไปตามเวลาตามกาล บัดนี้ได้คิดเห็นว่าลูกทาสซึ่งเกิดในเรือนเบี้ยนายเงินนั้น ในพิกัดกฎหมายเดิมต้องเป็นลูกทาสคิตตั้งแต่อายุ ๒๖ ปี ถึง ๔๐ ปีเต็ม ค่า ๑๔ ตำลึง ถ้าหญิงอายุตั้งแต่ ๒๑ ปี ถึง ๓๐ ปีเต็ม เต็มค่า ๑๒ ตำลึง ถ้าชายเกินอายุ ๔๐ ปี ถ้าหญิงเกินอายุ ๓๐ ปี จึงให้ลดน้อยถอยค่าลงทุกปี จนอายุถึง ๑๐๐ ปี ยังมีค่าตัวตำลึงหนึ่ง หญิง ๓ บาทยังหาขาดค่าตัวไม่ ของเดิมมีอยู่ดังนี้

ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ลูกทาสซึ่งเกิดในเรือนเบี้ย ตั้งแต่ออกจากท้องพอลืมตาก็ต้องนับว่าเป็นทาส มีค่าตัวไปจนถึงอายุ ๑๐๐ ปีก็ยังไม่หมดดังนี้ ดูเป็นการหามีความกรุณาแก่ลูกทาสไม่ ด้วยตัวเด็กนี้เกิดมาไม่ได้รู้เห็นสิ่งใดเลย บิดามารดาทำชั่วไปขายตัวท่านแล้ว ยังพาบุตรไปเป็นทาสจนสิ้นชีวิตอีกเล่า เพราะรับโทษทุกข์ของบิดามารดาเท่านั้นเอง หาควรที่จะเอาเป็นทาสจนตลอดชีวิตไม่ แต่ครั้งนี้จะให้เลิกถอนหลุดค่าตัวเสียทีเดียว ถ้านายเงินไม่มีเมตตากรุณาแก่เด็ก ก็จะไม่เอาเป็นธุระให้มารดาเลี้ยงรักษา เพราะเด็กเกิดมาใหม่เป็นคุณประโยชน์แก่ตน ก็จะเอามารดาไปใช้การงานของตนมิให้เลี้ยงเด็ก เด็กนั้นก็จะเป็นอันตรายไป เพราะนายเงินไม่มีเมตตากรุณา จึงคิดเห็นว่าถ้าไม่ได้ประโยชน์แก่นายเงิน บ้างนายเงินก็จะไม่มีเมตตากรุณาแก่เด็ก ถ้าจะตัดลงให้พอมีเวลาหลุดเป็นไทได้บ้าง เห็นว่าจะเป็นการดี ลางทีก็จะรอดจากทาสไปได้ เด็กลูกทาสอายุตั้งแต่ ๘ ปีไป นายได้อาศัยขอน้ำขอไฟ ควรจะคิดเอาอายุ ๘ ปีเป็นเต็มค่า ตั้งแต่พ้น ๘ ปีไป ให้นายมีความกรุณาลดเกษียรอายุให้ลูกทาสจนถึง ๒๑ ปี เป็นสิ้นค่าเกษียรอายุ พอจะได้ไปทันอุปสมบทและคิดทำมาหากินต่อไป ถ้าเป็นหญิงจะให้มีลูกมีผัวไปตามการ ถ้าจะคิดแบ่งเกษียรอายุอย่างเช่นทำมาแล้วคือลูกทาสตั้งแต่เกิดมา คิดตามกรมศักดิ์เดิมจนถึงอายุ ๘ ปีเต็ม ค่าเป็นเงิน ๘ ตำลึง ตั้งแต่นั้นต่อไป ให้คิดลดเกษียรอายุ ตั้งแต่ ๙ ขวบ ๑๐ ขวบ ๑๑ ขวบ ๗ ตำลึง, ๑๒ ขวบ ๑๔ ขวบ ๕ ตำลึง ๒ บาท, ๑๕ ขวบ ๑๖ ขวบ ๑๗ ขวบ ๓ ตำลึง ๒ บาท, ๑๘ ขวบ ๑๙ ขวบ ๒๐ ขวบ ตำลึงหนึ่ง, เกษียรอายุในกรมศักดิ์เดิมตั้งแต่ ๙ ขวบ ๑๐ ขวบ ๑๑ ขวบ ๖ ตำลึง, ๑๒ ขวบ ๑๓ ขวบ ๑๔ ขวบ ๔ ตำลึง ๓ บาท, ๒๑ ขวบขาดค่าสิ้นตัว เพราะอายุตั้งแต่ ๙ ปี นายได้ใช้สอยมาจนอายุถึง ๒๐ ปี ก็เห็นว่าพอแก่กำไรอยู่แล้ว เพราะลูกทาสนี้คิดเอาเป็นกำไรเปล่า ๆ ไม่มีสารกรมธรรม์ ไม่มีเสียเงินทองสิ่งใดไปเลย เมื่อใช้ไปจนครบ ๒๐ ปีก็ให้ปล่อยเสีย อย่าให้กดที่ลูกทาสไว้ใช้สอยต่อไป เห็นว่าถ้าเพื่อลูกทาสมันจะดีบ้างก็พอจะถอนตัวได้ ถึงนายเล่าก็ไม่เป็นความเดือดร้อนสิ่งไรมากนัก เพราะเป็นการได้เปล่าเสียเปล่า ถึงบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์ทุกวันนี้ ก็ไม่ค่อยจะได้คิดเกษียรอายุลูกทาสมากนัก เป็นแต่คนตามธรรมเนียมมาก

อนึ่งลูกทาสซึ่งได้พ้นค่าตัวในอายุ ๒๑ ปี ดังนี้แล้ว คงได้สักเป็นลูกทาส เสียค่าราชการอยู่ปีละหกสลึง ถ้าหลุดพ้นค่าตัวดังนี้แล้วตามกฎหมายเดิม ต้องสักเป็นสมก็คงไม่สมัคร เพราะจะต้องเสียค่าราชการ รงปีละหกบาท ก็คงจะกลับทอดตัวลงเป็นทาสเสียอย่างเดิม เสียแต่หกสลึงสบายกว่า การซึ่งเป็นดังนี้ก็เพราะเงินค่าราชการซึ่งเก็บจากตัวเลขนั้นยังสูง ๆ ต่ำ ๆ หาเสมอกันไม่ อนึ่งนายเงินเมื่อเวลาทาสหลุดพ้นค่าตัวแล้ว ก็จะต้องรีบส่งตัวไปยังกรมพระสุรัสวดีให้สักแปลงเพราะกลัวจะต้องเสียค่าราชการไป กรมพระสุรัสวดีรับเอาตัวไปไว้ที่จะเอาไว้ตีนเปล่าไม่ได้ ต้องไว้จนมีเจ้าหมู่มูลนายมารับรองไป การซึ่งจะผ่อนให้เย็นก็จะกลับเป็นร้อนแก่ตัวทาสนั้น ว่าพอพ้นค่าตัวเป็นไทก็ติดตรวน ก็เหมือนหนึ่งต้อนคนให้กลับเป็นทาสเช้าอีกเหมือนกันอยู่ไปไม่มีคุณสิ่งไร เห็นว่าจะให้ลดค่าตัวลงดังนี้แล้ว ก็จะต้องทำไปให้ตลอด คือลูกทาสซึ่งหลุดพ้น ได้สักข้อมือแล้วนั้น ให้คงเรียกลูกทาสอยู่ตามเดิม เสียค่าราชการแต่ปีละหกสลึง จะอยู่กับเจ้าหมูนายเดิมหรือจะหักโอนไปอยู่กับเจ้าหมู่มูลนายใหม่ ก็คงไปเป็นลูกทาสอยู่ตามเดิม ถ้าลูกทาสซึ่งหลุดค่าตัวแล้วนั้น จะไปทำชั่วขายตัวลงไปเป็นทาสอีก ก็จะต้องมีสารกรมธรรม์ ก็ถ้าทาสที่มีสารกรมธรรม์ส่งค่าตัวหลุดให้สักแปลงเป็นสมตามพระราชกำหนดกฎหมายเดิม ยึดเอาสารกรมธรรม์เป็นสำคัญ ถ้าทาสก็ดีหรือลูกทาสก็ดีมีสารกรมธรรม์หลุดจากค่าตัวต้องสักเป็นสม ถ้าลูกทาสที่ยังสักข้อมือขวาอายุเต็มค่า หลุดจากเป็นทาสเองหรือส่งเงินให้นายตามเกษียรอายุ แต่ยังไม่ครบค่าตัวหลุดไปเป็นไทก็ดี ถ้าไปเป็นขุนหมื่นขุนพัน หรือไปเป็นอะไรที่สิ้นไปแล้ว ถ้าไม่ได้เป็นอะไรที่ต้องสักเป็นสม เพราะมันเป็นโทษที่หนีสักไป เห็นว่าซึ่งลูกทาสกลับไปเป็นทาสอีกก็จะเบาบางไป บางทีก็ตั้งตัวได้บ้าง อีกประการหนึ่งเป็นว่าลูกพลเรือน บิดามารดาเกียจคร้านไม่ทำมาหากินก็หันเข้าเป็นนักเลง ครั้นเล่นเบี้ยเสียโปลงแล้ว ก็เอาบุตรไปขายรับใช้การงานของนายเงิน ครั้นบุตรเติบใหญ่บิดามารดาก็ขึ้นค่าตัวมากขึ้นทุก ๆ ทีมีอยู่อย่างนี้โดยมาก ถึงบุตรนั้นจะโตใหญ่ขึ้น จะคิดหาเงินทองมาใช้ให้พ้นจากความเป็นทาสนั้นก็ไม่ใคร่จะได้ เพราะบิดามารดาขายไว้แพง ๆ เหลือกำลังที่ลูกจะไถ่ถอนตัวได้ กฎหมายลักษณะทาสมีว่า ถ้าผัวเมียพ่อแม่นายเงิน เอาชื่อลูกเมียค่าคนลงในสารกรมธรรม์ ท่านว่าเป็นสิทธิ์ แม้เจ้าเงินบอกก็ดี ท่านว่าเป็นสิทธิ์ตามกระบิลเมือง เหตุว่าผัว พ่อ แม่ นายเงินเป็นอิสระ ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ยกกฎหมายบทนี้เสีย จึงตั้งพระราชบัญญัติว่า ถ้าพ่อแม่เอาชื่อลูกมาชายอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี และอยู่กับพ่อแม่ ถึงไม่มีแกงไดและคำยอม ก็เป็นอันขายได้ ถ้าลูกแยกย้ายไปจากพ่อแม่ หรือพ่อแม่โกรธหย่าร้างกัน ลูกตกไปอยู่ข้างอื่น จะลอบลักเอาชื่อมาขายไม่ได้ ถ้าลูกชายลูกหญิงอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปแล้ว พ่อแม่จะเอามาขายตัวเรือนเบี้ยลงแกงไดยินยอมจึงเป็นอันขายได้ ถ้าลูกไม่มีพ่อแม่เอามาเลี้ยงเหมือนลูก อายุต่ำกว่า ๗ ขวบลงมา ก็ขายได้เหมือนกับลูกของตัวเพราะจะได้รับมรดกด้วย จะขายได้อายุต่ำกว่า ๑๕ ลงมา ถ้าอายุพ้น ๑๕ ขึ้นไปแล้ว ตัวเรือนเบี้ยยินยอมด้วยจึงขายได้ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลดหย่อนลงไว้ก็มากชั้นหนึ่งแล้ว ครั้งนี้เห็นว่าบุตรชายหญิงซึ่งยังไม่ได้เป็นทาสอายุ ๑๕ ปี ลงมา ถึงตัวเด็กจะรู้ก็ดี มิรู้ก็ดี ก็ให้ขายได้ตามพระราชบัญญัติเดิม เพราะจะได้รับทุกข์บิดามารดา ครั้นจะห้ามไม่ให้ขายเล่า ก็จะเป็นที่โทมนัสเสียใจแก่บิดามารดาว่า เสียแรงเลี้ยงมา เวลาทุกข์ร้อนขัดสนจะขายก็ไม่ได้ การซึ่งยังขัดขวางอยู่ดังนี้ เพราะเหตุซึ่งธรรมเนียมที่ขายตัวเป็นทาสนั้น จะเลิกถอนตัดรอนไปโดยเร็วไม่ได้ ครั้นตัวบิดามารดาจะไปกู้ยืมเงินผู้ใดก็ไม่มีใครเชื่อถือ เพราะฉะนั้นจึงยอมให้ขายได้ไปก่อน แต่จะต้องจัดเข้าอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าบิดามารดาจะขายบุตรอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีลงมา ต้องให้ขายได้ตามเกษียรอายุซึ่งตั้งขึ้นใหม่นี้ แต่ถ้าพ้นอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปนั้น ต้องบอกตัวเรือนเบี้ยให้รู้ตามพระราชบัญญัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวเรือนเบี้ยยอมให้ขายจึงขายได้ ถึงจะเกินกว่าเกษียรอายุก็ได้ ก็การทั้งสองอย่างนี้อยากจะให้ได้ตั้งขึ้น นับแต่ปีแรกได้รับราชสมบัติ คือปีมะโรงสัมฤทธิศกนั้น นับไปจนถึง ๘ ปีต่อไป ปีที่ ๙ ให้ลดค่าตัวลงตามเกษียรอายุซึ่งตั้งขึ้นใหม่นี้ แต่ลูกทาสซึ่งเกิดเหนือปีมะโรงขึ้นไปนั้นครั้นจะตัดลงก็จะลำบาก ให้เป็นไปตามกรมศักดิ์เดิมก็ได้ แต่ลูกเด็กซึ่งขายกันนั้นจะคิดแต่ปีมะโรงสัมฤทธิศกก็จะเป็นการลำบาก ด้วยว่าได้ขายกันไว้แพง ๆ แล้ว ให้คิดแต่ปีจอฉอศก ภายหลังพระราชบัญญัติออกไป คนได้ขายไว้ก่อนพระราชบัญญัติแล้วนั้นให้คงอยู่ตามเดิม

แต่การซึ่งคิดมานี้ ข้าพเจ้าที่เป็นผู้คิด ก็แลเห็นอยู่ว่าจะไปไม่ตลอดทีเดียว เพราะการอื่น ๆ ยังกดอยู่มาก เหมือนหนึ่งไม่อยากให้ตนเป็นทาส ตนก็คงจะยังอยากเป็นทาสอยู่ เพราะเหตุที่เป็นการไพร่ต้องเสีย ข้าราชการมากนัก แล้วไม่ต้องทำมาหากินสิ่งไร อาศัยกินข้าวของนายไปมื้อ ๆ หนึ่ง เมื่อมีการมากทำ ก็เมื่อไม่มีการก็นอนอยู่เปล่า ๆ ถ้ามีทุนรอนบ้างเล็กน้อยก็คิดเล่นโปเล่นหวย ลองเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายถูกทีหนึ่ง เมื่อมันเสียไปแล้ว อยู่ไปคงไม่มีข้าวกิน ก็การที่จะให้ทาสหมดไปนั้น ถ้าต้นเหตุยังไม่สิ้น ปลายเหตุก็ยังคงมี แต่คิดเห็นว่าการสิ่งใดเป็นช่องเป็นคราวควรจะไปไต้ ก็ให้เป็นไปทีละเล็กละน้อย ต่อเมื่อไรได้แก้ต้นรากต้นเง่า คืออย่าให้ไพร่เสียเงินสูง ๆ ต่ำ ๆ มาก ๆ น้อย ๆ เฉลี่ยที่สูงมาหาที่ต่ำ เฉลี่ยที่ต่ำไปหาที่สูงให้เสมอหน้ากัน ถึงจะเป็นทาสเป็นไทอย่างไร ก็คงต้องเฉลี่ยให้เสมอกัน อนึ่งจะต้องหาเงินแผ่นดินให้พอกับการที่จะเลิกถอนสิ่งสำคัญ ซึ่งทำให้ราษฎรเสียเวลาทำมาหากิน พอให้มีทางหากินได้คล่อง ๆ การนี้ก็คงสำเร็จได้ ก็แต่บัดนี้การที่ว่ามาแล้วนั้น จะทำไปก็ยังไม่สำเร็จ จะเลิกถอนเงินแผ่นดินเสียก็ยังไม่ได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นการซึ่งคิดนี้ก็ยังไม่เป็นอันเลิกถอนได้แท้ แต่คิดเห็นว่า ถ้าเป็นช่องพอจะทำได้ก็ต้องจัดไปพอให้เป็นทางของการใหม่ ๆ เหล่านั้น เมื่อจะเป็นได้เมื่อไรก็จะเป็นไปตามกาล ท่านผู้ใดได้เห็นคำปรึกษาที่ว่ามานี้ ยังจะมีการขัดข้องอยู่กับพระราชกำหนดกฎหมายใหม่และธรรมเนียมบ้านเมืองประการใด หรือเป็นการเดือดร้อนกับเจ้าเงินและตัวทาส ซึ่งจะมีอย่างไรในปัจจุบันและต่อไปข้างหน้า ก็ให้ช่วยคิดดูให้ตลอดด้วย เพราะการเรื่องทาสนี้ เกี่ยวข้องอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายและทั่วไปในการทั้งปวงมาก ซึ่งตัวคนเดียวจะคิดไปให้แลเห็นตลอดนั้นไม่ได้ ถ้าท่านทั้งปวงเห็นสิ่งไรซึ่งยังขัดข้องจะเป็นเหตุในปัจจุบันหรือภายหน้า ก็ขอให้เรียบเรียงเนื้อความข้อนั้นมา จะได้ปรึกษาแก้ไขกันต่อไปกว่าการนี้จะไปติดอยู่เพียงไรก็จะต้องทำไปไม่ได้ ถ้าการควรจะให้ตลอดไป ก็จะได้จัดการให้ตลอดไปตามการที่ควร อนึ่งการซึ่งคิดมานี้ ถ้าสำเร็จไปได้ ข้าพเจ้าก็คิดเห็นอยู่ว่ามีการอีกอย่างหนึ่ง ที่ควรจะจัดพอให้เป็นการช่วยทาสให้พ้นจากเป็นทาสได้จริง ๆ บ้าง เพราะลูกทาสนี้แต่เล็กมาก็ได้ให้นายใช้อยู่จนโตไม่ให้ร่ำเรียนวิชาการสิ่งใด ฝึกหัดชำนาญอยู่แต่การที่จะเป็นทาสปฏิบัตินาย ไม่ได้รู้ในการทำมาหากินสิ่งไร ถ้าเวลาว่างก็หัดเล่นเบี้ยมาแต่เล็กจนโต นิสัยของทาสก็อบรมตัวแน่นหนา เห็นเป็นมีความสุขสบายดีกว่าไปหากินอย่างอื่น ถ้าจะออกจากทาสจริง ๆ เล่า ก็ไม่มีวิชาการสิ่งไรที่จะพาตัวให้ดี ก็คงวกกลับลงไปเป็นทาสร่ำไป เห็นว่าการโรงเรียนหนังสือในเมืองเรานี้ ควรจะให้มีขึ้นจริง ๆ สักแห่งหนึ่ง เหมือนหนึ่งโรงทาน พระเจ้าแผ่นดินซึ่งโปรดให้สอนหนังสือมาแต่ก่อนนั้น เด็ก ๆ ก็ได้รู้หนังสือไปมาก คนที่เป็นเสมียนหนังสือก็เป็นคนออกจากโรงทานโดยมาก แต่ไม่ใคร่จะมากออกได้ ไม่ใคร่จะรู้จริง ๆ เพราะอาจารย์ไม่ใคร่จะเอาใจใส่ในการที่สอนเด็ก แล้วเด็กนั้นจะมาก็ได้ ไม่มาก็ได้ตามชอบใจ การจึงไม่เรียบร้อยไม่เป็นจริงเข้าได้ อนึ่งก็ให้ตั้งโรงเรียนที่วัดสอนนักเรียนลูกขุนนาง ก็เรียนพอรู้บ้าง ดีกว่าที่โรงทาน แต่ก็ยังมาบ้างไม่มาบ้างช้าปีช้าวันจึงรู้ ทุกวันนี้ผู้ซึ่งจะทำการต่าง ๆ จะหาเสมียนไม่ใคร่จะพอใช้กับการ ก็คนรู้หนังสือแล้ว ขุนน้ำขุนนางก็อยากจะหาใช้มาก ถึงจะหากินการจ้างก็ได้ คนที่รู้หนังสือจะเป็นทาสตรากตรำอยู่ก็น้อยตัว จึงเห็นว่าการหนังสือนี้จะช่วยให้ทาสให้เป็นไทได้จริง ๆ ถ้าลูกทาสจะหลุดค่าตัวได้ดังนี้แล้ว คิดตั้งโรงเรียนได้จริง ๆ ก็จะเป็นการช่วยสงเคราะห์อย่างหนึ่ง คือลูกทาสอายุ ๑๑ ปี ๑๒ ปี ค่าตัวเพียง ๗ ตำลึง ๕ ตำลึง ๒ บาท ถ้าลงทุนคิดซื้อเด็กเหล่านี้มาเข้าโรงเรียน จัดโรงเรียนเสียให้เรียบร้อย ให้ได้สั่งสอนกันจริง ๆ อย่าปล่อยเที่ยวซุกซน เลี้ยงให้กินอยู่ในนั้นให้เสร็จ อย่าให้เล่นการพนันสิ่งไรเลย เพราะเด็ก ๆ ในอายุ ๑๒ ปี ๑๓ ปี ๑๔ ปีนี้ กำลังฝึกหัดในการเล่นเบี้ย ที่คิดเอามากักขังเสียอย่าให้รู้จักเลยทีเดียว ส่วนหนังสือพอให้รู้แล้วให้เรียนวิชาต่าง ๆ ถึงจะแปลมาจากวิชาชาวยุโรปบ้างก็ได้ พอจะรู้การแล้ว อายุได้ ๑๗ ปี ๑๘ ปี ก็ปล่อยให้ไปรับราชการต่าง ๆ ก็คนที่รู้วิชาอย่างนี้แล้ว ก็คงจะมีผู้ต้องการเอาไปใช้สอย เป็นขุนหมื่นขุนพัน เป็นเสมียนทนายหรือจะคิดรับจ้างทำการงานต่าง ๆ ก็ได้ เห็นว่าคนซึ่งจะชั่วกลับลงเป็นทาสอีกนั้นน่าจะน้อยลง ต่อที่ชั่วจริง ๆ จึงจะวกกลับไปได้ดังนั้น แต่การที่ใช้สอยในโรงเรียนนั้นจะต้องใช้เงินทองมากขึ้นไปทุกคราว ถ้าคิดหาเงินอะไรได้สักอย่างหนึ่งพอทำเล็กน้อยไปก่อน แล้วจึงค่อยใหญ่ ๆ ขึ้นทุกที เห็นว่าจะเป็นการเจริญแต่ราง ๆ นี้ในบ้านเมืองอย่างหนึ่ง และเป็นการชักถอนให้ทาสเบาบางลง ถึงกาลต่อไปข้างหน้าจะเลิกถอนตัดรอนอย่างไรก็ค่อยง่ายขึ้น การทำมาหากินจะบริบูรณ์ขึ้นได้ทีละน้อย ๆ การที่ว่ามานี้เป็นของต้องคิดใหม่ จะควรสำเร็จเวลาไรได้ ก็อยากให้สำเร็จได้โดยเร็ว ให้ท่านทั้งปวงตริตรองดูที่ควรเทอญ

เวลายามหนึ่ง เลิกการประชุม

ต่อมาให้ออกพระราชบัญญัติพิกัดเกษียรอายุลูกทาสลูกไท วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ และค่อย ๆ จำกัดความเป็นทาสของคนไทยทีละน้อย ๆ ด้วยการออกพระราชบัญญัติทาส รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ในที่สุดประกาศให้ลูกทาสเป็นไททั้งหมดต่อมา ด้วยการออกพระราชบัญญัติลักษณะทาส รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐ ในวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๔ นับว่าทาสเป็นอันหมดสิ้นจากราชอาณาจักรไทย

----------------------------

  1. ๑. หนังสือกรมธรรม์สัญญาที่เรียกกันในครั้งก่อน (ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), พจนานุกรมกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ ๒, โรงพิมพ์เดือนตุลา, กรุงเทพฯ ๒๕๔๙, น. ๓๗๑.)

  2. ๒. แกงได - รอยขีดที่บุคคลทำเป็นหมายไว้ ในทางกฎหมายถ้าทำลงในเอกสาร โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง ๒ คน หรือทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือเสมอว่าลงลายมือชื่อ (พจนานุกรมฉบับมติชน, พิมพ์ครั้งแรก, พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ, ๒๕๔๗, น. ๑๐๕.)

    - รอยขีดเขียนซึ่งบุคคลไม่รู้หนังสือเขียนลงไว้ในจดหมาย (ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), พจนานุกรมกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ ๒, โรงพิมพ์เดือนตุลา, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๕ น. ๒๕.)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ