ท้าวศรีสุดาจันทร์

ท้าวศรีสุดาจันทร์ ดูเหมือนจะเป็นหญิงคนเดียวในพงศาวดารแห่งกรุงศรีอยุธยายุคมืด ที่ถูกกล่าวขวัญมากที่สุด และคงจะเป็นธิดาสาวสวยของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ปรากฏนาม เรื่องราวความอื้อฉาวของนางนั้น อย่าว่าแต่นักศึกษาทั่วไปเลย แม้องค์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสนพระทัยในบทบาทของท้าวศรีสุดาจันทร์เหมือนกัน

เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๒ - ๒๐๗๖ ได้เสด็จสวรรคตลงด้วยไข้ทรพิษ พระองค์มิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นมหาอุปราช ด้วยถึงเวลาที่แผ่นดินจะวิบัติและนองเลือด ข้าราชการจึงเชิญพระรัษฎาธิราชกุมาร ซึ่งมีพระชนมายุได้เพียง ๕ พรรษา ขึ้นเสวยราชสมบัติ นับเป็นยุวกษัตริย์องค์ที่ ๑๒ ของกรุงศรีอยุธยา ลองวาดภาพดูก็รู้ว่าความยุ่งเหยิงจำต้องเกิดขึ้น เพราะการปกครองแผ่นดินด้วยยุวกษัตริย์ ผู้จะต้องทูนมงกุฎไว้ด้วยความหนักและแบกพระราชภาระมากหลาย ย่อมไปไม่รอด จะมีแต่พระองค์เดียวก็คือ สมเด็จพระปิยมหาราชแห่งราชวงศ์จักรี อันประเสริฐสุดของชาวไทยเท่านั้น ดังนั้นพอเสวยราชย์มาได้เพียง ๕ เดือนเศษ พระชัยราชาซึ่งมีเชื้อสายของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง สมเด็จพระรามาธิบดีที่สองผู้นี้มีชื่อเสียงและผู้คนนิยมมากอยู่ในราชสมบัติถึง ๔๐ ปี ชื่อเสียงเกียรติคุณของกษัตริย์พระองค์นี้ มีส่วนสร้างความเชื่อถือจากประชาชนให้บังเกิดขึ้นแก่พระชัยราชาไม่น้อย และด้วยเหตุนี้เองยุวกษัตริย์ก็ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์โดยบุคคลคณะหนึ่งซึ่งมีพระชัยราชาเป็นหัวหน้า

เมื่อสำเร็จโทษสมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมารแล้ว แผ่นดินก็เป็นสิทธิของพระชัยราชา ซึ่งได้ถูกถวายพระนามว่าสมเด็จพระชัยราชาธิราช พอขึ้นนั่งบัลลังก์ไม่กี่วันก็เกิดมหาเพลิงขึ้นในกรุงเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน เพลิงได้โหมบ้านเรือนวัดวาอารามเป็นจำนวนกว่าแสนหลัง ยังความเทวศอาดูรแก่ไพร่ฟ้าประชากรเป็นประวัติการณ์ทีเดียว

สมเด็จพระชัยราชาธิราชไม่มีพระราชโอรสธิดากับพระมเหสี นอกจากมีกับท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอกรูปงาม พระนามว่าสมเด็จพระยอดฟ้า หรือบางแห่งเรียกว่า พระแก้วฟ้า สมเด็จพระชัยราชาธิราชอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๒ ปี ก็เสด็จสวรรคตกลางทาง ขณะเสด็จกลับจากตีเมืองเชียงใหม่ได้รับชัยชนะ ด้วยพระอาการกะทันหัน พระองค์จึงเสด็จกลับพระนคร โดยพระวรกายอันปราศจากวิญญาณ มิได้ทรงทันสั่งเสียแต่ประการใด

แล้วประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยเข้าให้อีก เป็นกงเกวียนกำเกวียน บรรดาขุนนางเสนาบดีได้อัญเชิญสมเด็จพระยอดฟ้า ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๔ เมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าได้ราชสมบัติ ท้าวศรีสุดาจันทร์ซึ่งเป็นพระราชชนนีก็ว่าราชการภายในราชสำนัก ส่วนกิจการบ้านเมืองให้พระเฑียรราชาพระเจ้าอาของสมเด็จพระยอดฟ้าว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ แต่พระเฑียรราชาก็มิได้ดำรงตำแหน่งนี้นาน ได้ออกไปบวชเสียด้วยเหตุผลบางประการ

ต่อมามิช้ามินาน ความบัดสีบัดเถลิงก็บังเกิดขึ้น ท้าวศรีสุดาจันทร์ลอบลักสมัครสังวาสกับพันบุตรศรีเทพซึ่งเป็นขุนชินราช มีหน้าที่รักษาหอพระภายในพระบรมมหาราชวัง และเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนชินราช ขึ้นเป็นขุนวรวงศาธิราช มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยว่าราชการแผ่นดิน ข้าราชการคนใดที่ไม่อ่อนน้อมยอมเป็นพวก ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็คิดกำจัดเสียโดยทางตรงก็คือฆ่า และโดยทางอ้อมก็ไล่ออกไปจากตำแหน่งหน้าที่ ยังผลให้ขุนวรวงศาธิราช หนุ่มผู้มีโชคดีเรื่องผู้หญิง มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการยิ่งขึ้น

ความลับไม่มีในโลก ภายหลังท้าวศรีสุดาจันทร์เกิดมีครรภ์กับขุนวรวงศาธิราช และไม่สามารถจะปกปิดช้างตายทั้งตัวด้วยใบบัวได้แล้ว จึงหาเหตุกล่าวแก่ข้าราชการว่า สมเด็จพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์มากนัก จะทรงว่าราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองไม่ได้ และมีความประสงค์จะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการหรือเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนไปพลางก่อน จนกว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระเจริญวัย ขุนนางทั้งปวงก็ไม่อาจคัดค้านสถานใดเพราะเกรงพระราชอาญาและอิทธิพลของท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราช ต้องยินยอมพร้อมใจกันเห็นดีด้วย

เมื่อได้รับความยินยอมโดยสภาวการณ์อันแสนจะเวทนาเช่นนั้นแล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงเชิญขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินแทนดุจองค์พระมหากษัตริย์ใคร ๆ ต้องเกรงกลัว เอกสารบางแห่งกล่าวเลยเถิดไปถึงว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ยกให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพระเจ้าแผ่นดินคือขุนวรวงศาธิราชผู้นี้ ได้ตั้งนายจันน้องชายขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ลอบคิดอ่านกับท้าวศรีสุดาจันทร์สำเร็จโทษสมเด็จพระยอดฟ้าเสียเมื่อมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา ส่วนพระศรีศิลป์พระราชกุมารพระองค์น้อยยังให้ชุบเลี้ยงอยู่ เพราะยังไม่มีเขี้ยวเล็บอะไร

ช่วงระยะเวลานั้นมีข้าราชการผู้ซื่อสัตย์และรักความเป็นธรรมอยู่ ๔ คนคือ ขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หลวงศรียศ และหมื่นราชเสน่หา ได้ปรึกษากันจะคิดกำจัดขุนวรวงศาธิราช กับท้าวศรีสุดาจันทร์เสีย และจะถวายราชสมบัติแก่พระเฑียรราชา ซึ่งอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ณ วัดราชประดิษฐาน ด้วยว่าทรงเป็นพระอนุชาต่างมารดากับสมเด็จพระชัยราชาธิราชพระสวามีของท้าวศรีสุดาจันทร์

ครั้นเมื่อปรึกษากันเสร็จสรรพแน่นอนแล้ว จึงพากันไปเฝ้าพระภิกษุพระเฑียรราชา ทูลตามความที่คิดไว้ให้ทรงทราบทุกประการ ครั้นแล้วตระเตรียมการไว้โดยพร้อมมูล อยู่มาวันหนึ่งขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์จะไปดูช้างที่เพนียดโดยเรือพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระศรีศิลป์พระอนุชาของสมเด็จพระยอดฟ้า กับบุตรอีกคนหนึ่งไม่ทราบว่าหญิงหรือชายอันเกิดจากชู้รักขุนวรวงศาธิราช พอเรือไปถึงคลองสระบัว ขุนพิเรนทรเทพกับพวกก็พากันออกสกัดจับและฆ่าเสียทั้ง ๓ คน เว้นไว้แต่พระศรีศิลป์เท่านั้น

เรื่องราวของท้าวศรีสุดาจันทร์ดังได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า ไม่ใช่มีผู้สนใจเฉพาะแต่ราษฎรสามัญและนักศึกษาพงศาวดารเท่านั้น แม้สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสนพระทัยมาก ดังจะได้ทราบจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดรแห่งประวัติศาสตร์ไทย ผู้ซึ่งเป็นประดุจศิลาจารึกอันหนึ่ง เป็นที่พึ่งของนักศึกษาในปัจจุบันและอนาคต ทรงนิพนธ์ไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยตรัสแก่ฉันครั้งหนึ่งว่า เรื่องรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้าที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ดูราวกับเรื่องละคร ให้ฉันพิจารณาดูสักทีว่าเรื่องที่จริงจะเป็นอย่างไร ฉันพิจารณาดูตามรับสั่ง ที่แลเห็นเค้าเงื่อนที่จะเป็นความจริง ได้เขียนบันทึกทูลเกล้าฯ ถวายตามความคิดของฉัน ถึงมิใช่ท้องเรื่องของนิทานนี้ บางทีผู้อ่านจะชอบตรวจวินิจฉัยเรื่องนั้น จึงขอเรียนความฝากไว้ในนิทานเรื่องนี้ด้วย

“เมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าเสวยราชย์ พระชันษาได้เพียง ๑๒ ปี (บางแห่งว่า ๑๕ ปี) ยังว่าราชการบ้านเมืองไม่ได้ ข้าราชการทั้งปวงจึงขอให้พระเฑียรราชา ผู้เป็นพระเจ้าอาว์ว่าราชการบ้านเมืองแทนพระองค์ ส่วนท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เป็นพระชนนีพันปีหลวง ก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดฝ่ายข้างใน แต่นางเป็นคนมักมากด้วยราคะจริต อยากได้พระเฑียรราชาเป็นสามีใหม่ ฝ่ายพระเฑียรราชาไม่ปรารถนาจะทิ้งพระ (สุริโยทัย) ชายาเดิม แต่จะปฏิเสธไมตรีของท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เกรงภัย และบางทีพระชายาเดิมจะขึ้งเครียดด้วยเกรงพระเฑียรราชาจะไปคบกับท้าวศรีสุดาจันทร์ พระเฑียรราชาได้ความรำคาญมิรู้ที่จะทำอย่างไร จึงใช้อุบายออกทรงผนวชเป็นภิกษุเสีย ท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่ได้พระเฑียรราชาเป็นสามีโดยเปิดเผย จึงลอบเป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพ ชายหนุ่มซึ่งเป็นญาติกันเดิม ก็หมายเพียงจะคบเป็นอย่างชายชู้ แต่เผอิญนางมีครรภ์ขึ้นเห็นจะเกิดภัยอันตราย จึงคิดป้องกันตัวด้วยตั้งพันบุตรศรีเทพเป็นขุนวรวงศาธิราช ตำแหน่งราชนิกูล ให้มีหน้าที่เป็นผู้รับสั่งของนาง (เช่นเป็นเลขานุการ) ตั้งแต่ยังมีครรภ์อ่อน แล้วค่อยเพิ่มอำนาจให้ขุนวรวงศาฯ บังคับบัญชาการงาน มีผู้คนเป็นกำลังมากขึ้นโดยลำดับ กิติศัพท์ที่ท้าวศรีสุดาจันทร์มีชู้รู้ไปถึงเจ้าพระยามหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งทำนองจะได้เป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินแทนพระเฑียรราชา ปรารภปรึกษาเพื่อนข้าราชการผู้ใหญ่ว่าควรทำอย่างไร ความนั้นรู้ไปถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ให้ลอบแทงเจ้าพระยามหาเสนาฯ ตาย แต่นั้นนางก็ยิ่งมีอำนาจด้วยไม่มีผู้ใดกล้าขัดขวาง ผู้คนก็ยิ่งครั่นคร้ามขุนวรวงศาฯ จึงเป็นผู้มีอำนาจขึ้นในแผ่นดิน

“ฝ่ายสมเด็จพระยอดฟ้า แม้พระชันษาเพียง ๑๒ ปี เมื่อทรงทราบว่านางชนนีมีชู้ก็เดือดร้อนรำคาญพระหฤทัย แต่มิรู้ที่จะทำประการใดด้วยยังทรงพระเยาว์ คงปรับทุกข์กับขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจซึ่งเป็นพระญาติและเป็นราชองครักษ์ เคยอยู่ใกล้ชิดมาตั้งแต่สมเด็จพระชัยราชาธิราชทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาแต่ก่อน ขุนพิเรนทรเทพทูลรับจะคิดอ่านกำจัดขุนวรวงศาฯ ความคิดเดิมคงจะอยู่เพียงว่ากำจัดขุนวรวงศาฯ เท่านั้นหาได้คิดกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์ด้วยไม่ แต่รู้ไปถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าขุนพิเรนทรเทพเข้าเฝ้าสมเด็จพระยอดฟ้าบ่อย ๆ สงสัยว่าขุนพิเรนทรเทพจะยุยงให้คิดการร้าย จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งในราชการ ขุนพิเรนทรเทพจึงต้องไปเที่ยวหาคนร่วมคิดในเหล่าข้าราชการชั้นต่ำที่ถูกถอดแล้วบ้าง ยังอยู่ในตำแหน่งบ้าง เช่นหลวงศรียศ บ้านลานตากฟ้า และหมื่นราชเสน่หา เป็นต้น คงมีคนอื่นอีก แต่หากไม่ปรากฏชื่อ ความประสงค์ของขุนพิเรนทรฯ เมื่อชั้นแรกเป็นแต่จะช่วยสมเด็จพระยอดฟ้า ยังมิได้คิดจะถวายราชสมบัติแก่พระเฑียรราชา ครั้นท้าวศรีสุดาจันทร์คลอดลูก ข่าวนั้นระบือแพร่หลาย ขุนวรวงศาฯ เห็นว่าจะปกปิดความชั่วไว้ไม่ได้ต่อไปก็คิดเอาแผ่นดินไปตามเลย มิฉะนั้นก็จะเป็นอันตราย จึงลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระยอดฟ้าโดยท้าวศรีสุดาจันทร์มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย สมเด็จพระยอดฟ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่เพียง ๒ ปี ก็ถูกปลงพระชนม์ ท้าวศรีสุดาจันทร์รู้ต่อเมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าสวรรคตเสียแล้ว จำต้องยกขุนวรวงศาฯ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายพวกขุนพิเรนทรเทพก็ต้องคิดหาพระเจ้าแผ่นดินใหม่ จึงพร้อมใจกันเชิญพระเฑียรราชาครองราชสมบัติและเสี่ยงเทียนกัน ในตอนนี้ไม่มีกำลังพอจะเข้าไปจับขุนวรวงศาฯ ถึงในวัง จึงไปซุ่มดักทาง จับขุนวรวงศาฯ กับท้าวศรีสุดาจันทร์และลูกที่เกิดด้วยกันฆ่าเสียเมื่อลงเรือไปดูจับช้าง แล้วพวกข้าราชการทั้งปวงก็พร้อมใจกันเชิญพระเฑียรราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เรื่องที่จริงน่าจะเป็นดังว่ามา”

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ