เรื่องของ “สมี”

“สมี” เป็นคุณศัพท์ที่รู้กันทั่ว ๆ ไปว่า หมายถึงภิกษุ สามเณรประพฤติผิดล่วงในกามทั้ง ๆ ที่อยู่ในผ้าเหลือง บุคคลใดก็ตามถึงจะเป็นฆราวาส ถ้าพูดสัพยอกหยอกเย้าว่าเป็น “สมี” ก็ดูเหมือนว่าเป็นการเสียหายมิใช่น้อย สำหรับ “สมี” ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ จากประกาศห้ามมิให้ภิกษุสามเณรคบผู้หญิงมาพูดที่กุฎี โดยมีหลวงธรรมรักษาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ลงวันศุกร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๒๑๖ มีความโดยละเอียดดังต่อไปนี้

ด้วยหลวงธรรมรักษา รับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า เมื่อเดือน ๕ ปีขาลฉศกนี้ อีเพ็งเอาหนังสือเพลงยาวเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง นายประตูจับหนังสือเพลงยาวได้ที่อีเพ็ง นายประตูส่งตัวอีเพ็งกับเพลงยาวให้กรมวัง ๆ ได้นำข้อความผิดอีเพ็งผู้เอาหนังสือเพลงยาวเข้าวัง ขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ สั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพชำระ อีเพ็งให้การว่า หนังสือเพลงยาวนี้ของอ้ายหนูวัดพระเชตุพน ตุลาการซักความต่อไป อีเพ็งรับเป็นสัตย์ว่า เมื่ออ้ายหนูยังเป็นสมีอยู่วัดพระเชตุพนนั้น อ้ายหนูกับอีเพ็งทำชำเรากันที่กุฎีอ้ายหนู ๒ - ๓ ครั้ง แล้วอีเพ็งซัดถึงอ้ายพึ่งสมี ว่าได้ทำชำเรากับอีเพ็งที่ห้องกุฎีด้วย อีเพ็งซัดว่าอ้ายดวงสมีได้ชำเรากับอีเพ็งหลายทีที่กุฎีอ้ายดวงสมีด้วย อ้ายทิมสมีทำชำเรากับอีปรางที่ห้องกุฏิอ้ายทิมสมีด้วย อ้ายเสือสมีทำชำเรากับอีรอดที่ห้องกุฏิอ้ายเสือสมีด้วย ตุลาการเอาตัวสมีอีมีชื่อผู้ต้องซัดมาชำระ สมีอีมีชื่อผู้ต้องซัดมารับสัตย์สมกับคำอีเพ็งให้การถึง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพนำเอาถ้อยคำอีนักโทษพวกนี้ ขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระราชดำริเห็นว่า ภิกษุสามเณรทุกวันนี้ บวชอาศัยพระศาสนาอยู่เพื่อลาภสักการต่าง ๆ ไม่บวชด้วยความเลื่อม ใสในพระพุทธสิกขาบท ภิกษุสามเณรทุกวันนี้เป็นอลัชชี ประพฤติความชั่วนั้นต่าง ๆ จนถึงเป็นปาราชิก ภิกษุสามเณรทำเมถุนธรรมได้โดยง่ายนั้น เป็นเหตุให้ภิกษุสามเณรไปหาผู้หญิงชาวบ้านนั้นโดยง่ายอย่างหนึ่ง ผู้หญิงชาวบ้านไปหาภิกษุสามเณรที่วัดที่กุฎีอย่างหนึ่ง ทรงพระราชดำริเห็นเหตุอย่างนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่าให้หลวงธรรมรักษาหมายประกาศไปแก่พระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการในกรุงทั้งสิ้น ห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรคบผู้หญิงพูดจาบนกุฎี ฝ่ายผู้หญิงชาวบ้านเล่า ควรที่ให้มีหมายประกาศไป ห้ามไม่ให้เข้าวัด ถ้าขืนเข้าไปในวัดจะให้ตำรวจจับ ปรับเอาเงิน ๓ ตำลึง ก็ฝ่ายพระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการนั้น โปรดเกล้า ฯ สั่งให้หลวงธรรมรักษา มีหมายประกาศห้ามไปแล้ว แต่ผู้หญิงชาวบ้านนั้น ยังไม่โปรดเกล้า ฯ ให้มหาดไทย กลาโหมหมายประกาศห้ามเหตุนี้ มหาดไทย กลาโหมไม่ได้หมายประกาศห้ามนี้ พระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการ ชายหญิง ชาวบ้าน จึงคะนองถือใจว่าจะเป็นความหลอก ไม่จับจริง ฝ่ายพระราชาคณะก็เพิกเฉย ไม่เกรงพระราชอาณาจักร ไม่กำชับว่ากล่าวภิกษุ สามเณร ปล่อยให้ภิกษุสามเณรคบหาผู้หญิงชาวบ้านขึ้นพูดจาในที่หลับที่นอนจนถึงปาราชิก เหมือนอ้ายเปลี่ยนสมีวัดอรุณ เมื่อเดือน ๑๐ ปีขาล ฉศกนี้ คบอีตาบขึ้นพูดจาทำชำเรากันในห้องกุฎีที่ลับครั้งหนึ่ง ข้อความที่อีตาบทำชำเรากับอ้ายเปลี่ยนทั้งสมีนั้น ก็ไม่มีผู้ใดฟ้องกล่าวโทษอีตาบกับอ้ายเปลี่ยนสมี ได้รู้ความข้อนี้เพราะอีตาบเอาหนังสือเพลงยาวไปในพระราชวัง นายประตูจับตัวอีตาบได้ โปรด ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพชำระ อ้ายเปลี่ยนสมอีตาบให้การรับ เป็นสัตย์ ว่าได้ทำชำเรากันทั้งเป็นสมบนกุฎีวัดอรุณราชวรารามครั้งหนึ่ง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงธรรมรักษาเผดียงห้ามพระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการ ตามกระแสพระบรมราชโองการ ให้พระราชาคณะเอาใจใส่ภิกษุสามเณร อย่าให้คบผู้หญิงขึ้นพูดจาบนกุ เป็นอันขาด ถ้าขึ้นกระแสพระบรมราชโองการ จะพระราชทานลัญจกรเป็นสำคัญ ให้กรมทหารขวาซ้ายเป็นกองจับ ถ้าจับภิกษุสามเณรพูดจากับผู้หญิงได้ที่กุฎีใด ภิกษุสามเณรที่อยู่ใกล้เคียงกัน ก็จะปรับโทษเสมอกันกับที่พูดกับผู้หญิง เพราะภิกษุสามเณรอยู่ใกล้นั้นไม่ตักเตือนว่ากล่าวกัน อนึ่งถ้ากองจับเชิญพระราชลัญจกรเป็นสำคัญ ให้ภิกษุสามเณรแลผู้หญิงชาวบ้านดูรู้ว่าเป็นกองจับแล้วก็อย่าให้สู้รบเป็นอันขาด ถ้าไม่ได้เชิญตราหลวงให้ภิกษุสามเณรผู้หญิงชาวบ้านดู ผู้นั้นเป็นคนปลอมจับ ให้ภิกษุสามเณรจับคนนั้นส่งให้กับเจ้ากระทรวงให้จงได้

ให้พระครูทักษิณคณิสร พระครูอุตรคณารักษ์ พระครูอมรวิไชย หมายประกาศไปแก่พระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการให้รู้จงทั่วกัน ห้ามอย่าให้ผู้หญิงตั้งแต่มารตา พี่ น้อง ญาติ แลผู้อื่น อย่าให้ขึ้นกุฎีเป็นอันขาด ให้เจ้าคณะใหญ่เร่งหมายไป อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ