สังฆราชเลอบอง

เรื่องราวต่อไปนี้เก็บจากจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาสอนคริสต์ศาสนาในเมืองไทย เมื่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ กับครั้งกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนเล่าเหตุการณ์ไว้แล้วส่งไปให้ญาติมิตรของตนที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบางส่วนเท่านั้น นำมาเล่าไว้ในเรื่องอันเกี่ยวกับการลงโทษในอดีต

ต่อไปนี้เป็นจดหมายของสังฆราชเลอบอง เขียนถึงพี่และน้องสาว ลงวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๙ อันเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ความตอนหนึ่งว่า

“พวกมิชชั่นนารี ซึ่งอยู่ในเมืองไทยได้สอนพวกเข้ารีตถึงความบริสุทธิ์ของศาสนาคริสเตียน ซึ่งจะเอาการอย่างอื่นเช่นการกราบไหว้ตุ๊กตาเข้ามาปนไม่ได้เป็นอันขาด และได้ชี้แจงโดยเฉพาะถึงการที่ตนจะต้องการทำสาบานที่จะมีความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้น ว่าพวกเข้ารีตจะเข้าไปทำพิธีซึ่งเป็นประเพณีของไทยเช่นในวัด และดื่มน้ำซึ่งพราหมณ์และพระสงฆ์ได้ทำพิธีแช่งไว้ และซึ่งเอาอาวุธของพระเจ้าแผ่นดินจุ่มลงตามแบบไทยไม่ได้”

เขาหมายเหตุไว้ว่า

“ธรรมเนียมนี้เป็นธรรมเนียมอันเก่าแก่ในเมืองไทย ซึ่งถือกันว่าเท่ากับเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง คือการถือน้ำพิพัฒน์สัตยา การที่จะสาบานตัวว่าจะมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้น ไม่เป็นการผิดต่อศาสนาของเราอย่างใด แต่วิธีที่สาบานกันนั้นขัดอยู่บ้าง พิธีถือน้ำของไทยนั้นทำดังนี้ เมื่อถึงวันกำหนดถือน้ำ พวกขุนนางข้าราชการทั้งปวง ต้องไปพร้อมกันยังวัดซึ่งเต็มไปด้วยพระพุทธรูป แล้วมีพระสงฆ์ไปที่วัดนั้นสวดมนต์ทำพิธีให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์แล้ว เจ้าพนักงานจึงเชิญพระแสงดาบและราชศัสตราวุธของพระเจ้าแผ่นดินจุ่มลงในน้ำนั้น ครั้นเอาพระแสงจุ่มแล้ว บรรดาขุนนางข้าราชการก็เรียกพระพุทธรูปและเทวดาต่าง ๆ ให้มาเป็นพยาน แล้วจึงดื่มน้ำที่ทำพิธีไว้แล้วนั้น เพราะศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระสงฆ์ได้สวดมนต์ และใครคิดกบฏทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อดื่มน้ำอันศักดิ์สิทธิ์แล้วจะต้องตาย บางทีมีบางคนไม่ได้ดื่มน้ำนี้ก็มี แต่ถือกันว่าดื่มแล้ว เจ้าพนักงานก็เชื่อว่าผู้นั้นได้ดื่มน้ำ ก็เป็นอันหมดเรื่องกัน

“ครั้นถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเวลาที่จะต้องถือน้ำพิพัฒน์สัตยา คนเข้ารีตสามคนซึ่งเป็นข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดิน หาได้ไปยังวัดสำหรับถือน้ำ หรือไปเข้าพิธีของพราหมณ์และของสงฆ์ และหาได้ไปดื่มน้ำที่เข้าพิธีไม่ แต่ข้าราชการเข้ารีตทั้งสามนี้ได้ไปยังวัดเข้ารีตในตอนเช้า ไปยืนอยู่หน้าที่บูชาพระ และได้สาบานตัวว่าจะมีความซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน การสาบานตัวคราวนี้ ข้าราชการทั้งสามคนได้สาบานตัวเป็นภาษาไทย แต่ทำอย่างแบบของคนเข้ารีต และได้มีพวกเข้ารีตยืนดูอยู่เป็นอันมาก และท่านสังฆราชก็กำกับอยู่ด้วย ครั้นความเรื่องนี้ทรงทราบถึงพระเจ้ากรุงสยาม ก็ได้มีรับสั่งให้จับข้าราชการทั้งสามนี้และให้จำคุก เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน เมื่อข้าราชการทั้งสามต้องจำคุกแล้วได้สัก ๒ วัน ท่านสังฆราชกับมิชชั่นนารี ๒ คนคือ มองซิเออร์ยาโนต์กับมองชิเออร์คูเด ก็ได้เข้าไปเยี่ยมในคุก เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ท่านสังฆราชได้นั่งสนทนาอยู่กับข้าราชการที่เป็นนักโทษ จึงได้พูดขึ้นว่าสังเกตดูเหตุผลต่าง ๆ ไม่ช้าสังฆราชก็คงจะต้องมาติดคุกอยู่กับนักโทษทั้งสองนี้เป็นแน่ การที่สังฆราชทำนายไว้เช่นนี้ ไม่ช้าก็ได้เป็นจริงดังทำนาย

“รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ เดือนกันยายน เจ้าพนักงานได้มาจับสังฆราชกับบาทหลวง ๒ คน และได้คุมตัวไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ข้าราชการเข้ารีต ๓ คนที่เป็นนักโทษนั้น ก็ได้ถูกคุมไปเฝ้าอยู่ในที่นั้นเหมือนกัน พระเจ้าแผ่นดินทรงพระพิโรธมาก ได้รับสั่งด้วยพระสุรเสียงอย่างดังสัก ๒ - ๓ ครั้ง แล้วก็รับสั่งให้ลงพระราชอาญาแก่พวกเรา ในทันใดนั้นมีเจ้าพนักงาน ๒ คนถือเชือกและมัดหวาย ได้มาจับพวกเราทั้ง ๖ คน แล้วถอดเสื้อยาว เสื้อชั้นใน และเสื้อเชิตออกจากร่างกายเหลือแต่ตัวล่อนจ้อน จึงได้เอาเราไปมัดมือมัดเท้าไว้ในระหว่างหลัก ๒ หลัก เจ้าพนักงานได้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนข้าราชการเข้ารีตด้วยหวายคนละ ๕๐ ที วิธีที่เฆี่ยนนั้น เจ้าพนักงานยืนข้างผู้ที่จะถูกเฆี่ยนข้างละคน แล้วต่างคนต่างผลัดกันเฆี่ยนข้างละที ส่วนสังฆราชกับบาทหลวง ๒ คนนั้นรอดไปได้ในวันนั้น เพียงแต่ได้รับความตกใจและต้องเข้าผูกมัดในหลักคาเท่านั้น

“วิธีที่เจ้าพนักงานได้เอาเราผูกกับหลักคานั้น ก็คือ ผูกพวกเราทั้ง ๖ คนเรียงเป็นแถวเดียว หันหลังตรงกับที่ประทับ หลักที่ผูกมัดเรานั้น ก็เป็นคาในตัว เพราะต้องเอาศีรษะรอดเข้าไปในหลักนั้นจนหันตัวไปข้างไหนก็ไม่ได้ คือผู้ที่ต้องเข้าหลักเข้าคานั้นจะหันหรือเหลียวไปดูเพื่อนที่ถูกเฆี่ยนด้วยกันก็ไม่ได้ แต่การที่เราถูกมัดเข้าหลักเข้าคานั้น ก็หาได้มีใครบอกไม่ว่า เราจะถูกเพียงต้องเปลื้องเสื้อออกและต้องเข้าหลักคาจะไม่ต้องถูกเฆี่ยน แต่จะเฆี่ยนเฉพาะขุนนางเข้ารีต ๓ คนเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อ ข้าพเจ้าได้ยินเสียงหวาย และได้ยินเสียงร้องของผู้ถูกเฆี่ยน ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าพวกเราทั้ง ๖ คนคงถูกเฆี่ยนพร้อมกัน แต่ข้าพเจ้าก็มิได้รู้สึกหวายลงหลังสักทีเดียว จึงต้องสารภาพให้ท่านฟังว่า ในชั้นแรกข้าพเจ้าไปมุ่งหมายว่าพระเป็นเจ้าได้ทำเหตุอัศจรรย์ให้เห็น โดยทำไม่ให้ข้าพเจ้ารู้สึกความเจ็บปวดอย่างใด แล้วภายหลังข้าพเจ้านึกว่า หรือพระเจ้าแผ่นดินจะรับสั่งให้งดลงพระราชอาญาเฉพาะข้าพเจ้าเป็นพิเศษ โดยจะทรงเห็นแก่ตำแหน่งและอายุมากของข้าพเจ้ากระมัง ส่วนอีก ๕ คนก็คงจะถูกลงพระราชอาญาพร้อมกันเป็นแน่ จนในที่สุดเมื่อเจ้าพนักงานได้แก้เราออกจากหลักคาและได้พาไปยังคุกนั้น ข้าพเจ้าก็ร้องไห้บ่นเสียใจ ที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงยกเว้นไม่ลงพระราชอาญาแก่ข้าพเจ้าเป็นพิเศษ และพูดดัง ๆ ว่า “ถ้าในเรื่องนี้มีความผิดแล้ว เราก็มีความผิดเท่า ๆ กัน ตัวข้าพเจ้าเองก็เป็นหัวหน้าของคนผิด เพราะฉะนั้นจะไปเฆี่ยนคนอื่นและยกเว้นข้าพเจ้าเพราะเหตุใด” ครั้นเข้าไปถึงคุกแล้วข้าพเจ้าจึงได้ทราบความจริงว่า บาทหลวงสองคนก็ไม่ได้ถูกลงพระราชอาญาเหมือนกับข้าพเจ้า ต่อนั้นไปในวันแรกก็ดี วันรุ่งขึ้นก็ดี ซึ่งเจ้าพนักงานได้จับเราไปมัดกับหลักคาเป็นครั้งที่ ๒ และคราวนี้ได้เฆี่ยนข้าพเจ้าจริง ๆ พอข้าพเจ้ารู้สึกว่าเจ้าพนักงานมาเอาตัวไปเฆี่ยน ข้าพเจ้าก็หมดสติทีเดียว

“เมื่อคืนวันที่ ๒๕ ต่อกับวันที่ ๒๖ กันยายน เจ้าพนักงานได้คุมเราทั้ง ๖ คนไปยังศาล เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป และการพิจารณากันนี้กินเวลาเกือบตลอดรุ่งทีเดียว พวกขุนนางที่มานั่งพิจารณาความนั้น ได้ขอให้พวกเรายอมทำตามที่เขาจะสั่งต่อไป เพื่อให้เรื่องนี้ได้เป็นอันแล้วกันสักที ขุนนางเหล่านั้นจึงสั่งให้ขุนนางเข้ารีต ๓ คนไปดื่มน้ำที่เข้าพิธี และสั่งให้สังฆราชกับบาทหลวงสองคนรับสารภาพว่าผิด และให้ขอโทษต่อพระเจ้าแผ่นดินเสีย แต่พวกเราทั้ง ๖ คนได้นัดกันไว้แล้วว่า ทำอย่างไร ๆ ก็ไม่ยอม ผู้พิพากษาจึงออกไปนอกห้องและขัดเคืองพวกเรามาก เพราะหาว่าเราหัวดื้อ การที่ผู้พิพากษาไปรายงานในเรื่องก็ทำให้ไทยมีความโกรธเรามากขึ้น เพราะฉะนั้นพอสว่างวันที่ ๒๖ กันยายน พระเจ้ากรุงสยามก็รับสั่งให้พาเราไปหน้าพระที่นั่งอีก ในวันนี้ทรงกริ้วมากกว่าวันก่อนมาก จึงรับสั่งให้ถอดเสื้อสังฆราช และบาทหลวงสองคน และให้เอาตัวสังฆราชกับบาทหลวงเข้าหลักเข้าคา พระเจ้าแผ่นดินจึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งยืนข้างเราข้างละคน เฆี่ยนเราด้วยหวายคนละ ๑๐๐ ที ต่อหน้าพระที่นั่ง”

ในเรื่องที่สังฆราชกับบาทหลวงต้องถูกลงพระราชอาญาในครั้งนี้ มองซิเออร์คูเดเขียนเล่าว่าดังนี้

“เจ้าพนักงานให้เอาหวายเฆี่ยนหลังเรา เนื้อเปล่า ๆ คนละ ๑๐๐ ที เวลาที่เฆี่ยนนั้นเจ้าพนักงานได้นับดัง ๆ ทุกทีไป พระเจ้าแผ่นดินก็ประทับทอดพระเนตรอยู่ในที่นั้นด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกว่า พอหวายลงทีแรกเลือดก็ไหลทันที ข้าพเจ้าคอยอยู่ว่าจะขาดใจเมื่อไร เผอิญเคราะห์ดีไม้กางเขนที่อยู่ตรงหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงเอาไม้กางเขนนั้นเป็นหลักสำหรับตั้งสติ ทั้ง ๓ คนนิ่งกันหมดเวลาที่ถูกเฆี่ยนมิได้ครางหรือร้องจนคำเดียว พระเยซูให้กำลังแก่เรา สำหรับให้คนทั้งหลายเห็นว่า เราไม่มีความผิดอะไร การที่เราไม่ได้ร้องนั้น ทำให้พระเจ้าแผ่นดินประหลาดพระทัยเป็นอันมาก เพราะเจ้าพนักงานก็เฆี่ยนเต็มแรงด้วยกลัวพระเจ้าแผ่นดินจะกริ้วว่า เจ้าพนักงานเฆี่ยนไม่แรง เราก็ทนอยู่จนตลอดเวลา และเราก็ออกจากที่นั้นโดยเนื้อหลังขาดเป็นรอยริ้วและเลือตโซมตัว

“เมื่อได้ถูกเฆี่ยนครบจำนวนแล้ว เนื้อหลังก็ขาด เลือดก็โซมตัว เจ้าพนักงานได้คุมพวกเราไปไว้ยังคุกสามัญ และได้จำเราครบ ๕ ประการ คือมีเครื่องจองจำ ๕ อย่าง ๑. ตรวนใส่เท้า ๓. เท้าติดขื่อ ๓. โซ่ล่ามคอ 4. คาไม้ใส่คอทับโซ่ ๕ มือสองมือถอดเข้าไปในคาและไปติดกับขื่อมือทำด้วยไม้ คาที่เราถูกจองจำเช่นนี้ไม่เหมาะสำหรับรักษาแผลที่หลังและที่สีข้างให้หายเลย เพราะฉะนั้นเมื่อได้ล่วงเวลามาได้ ๒ เดือนแล้ว แผลที่หลังก็ยังไม่หายเลย

“ใน ๔ หรือ ๕ วันแรกที่จำคุกอยู่นั้น เจ้าพนักงานได้ให้เรารวมกันทั้ง ๖ คน ซึ่งทำให้เราสบายใจบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อวันที่ ๒๙ หรือ ๓๐ เดือนกันยายน เจ้าพนักงานได้แยกเราออกเป็น ๒ พวกคือ พวกขุนนางเข้ารีต ๒ คนไปอยู่ในคุกหนึ่งต่างหาก สังฆราชกับบาทหลวงอยู่อีกคุกหนึ่ง

“เมื่อเราติดคุกอยู่เช่นนี้ได้ถึง ๒ เดือน เจ้าพนักงานได้ถอดเครื่องจองจำออกจากขุนนางเข้ารีต ๓ คน และเราได้ทราบเป็นการน่าเสียใจว่า ขุนนางเข้ารีต ๓ คน ได้ออกจากคุกแล้วก็ตรงไปยังวัดเพื่อดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา แล้วพระเจ้ากรุงสยามจึงมีรับสั่งให้บรรดาทหารที่เข้ารีตทุกคนไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดเสียด้วย ทหารเข้ารีตเหล่านี้มีจำนวนอยู่ ๗๙ คน เราได้ทราบว่ามีทหารเข้ารีตที่ไม่ได้ถือน้ำแต่คนเดียวเท่านั้น และก็ไม่เห็นใครจะรู้สึกว่ากระไร นอกจากนั้นได้ไปถือน้ำทุกคน เพราะกลัวว่า ถ้าไม่ได้ถือน้ำตามคำสั่งแล้ว จะต้องได้รับโทษถึงตาย

“เมื่อวันที่ ๒๖ เดือนกันยายน เมื่อเราได้ถูกเฆี่ยนแล้ว ได้มีเข้ารีตทั้งผู้หญิงผู้ชายหลายคน ได้รัองไห้พากันไปเยี่ยมเราในคุก เจ้าพนักงานก็อนุญาตให้พวกเข้ารีตเข้าไปเยี่ยมเราได้ พวกเข้ารีตต่างช่วยกันเช็ดล้างแผลให้เรา และได้ช่วยเหลือเราทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ยังมีหญิงแม่หม้ายคนหนึ่ง ได้เอาผ้ามาเช็ดเลือดที่แผลเรา แล้วได้เก็บผ้าเปื้อนเลือดนั้นหอบไปบ้านด้วย ฝ่ายพวกเข้ารีตอื่น ๆ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งมิได้เข้าไปเยี่ยมเราในคุกนั้น ได้พากันไปบ้านหญิงหม้ายขอดูผ้าที่เปื้อนเลือด ครั้นหญิงหม้ายได้เอาผ้ามาให้ดูแล้ว พวกเข้ารีตก็ได้เอาผ้านั้นมาจูบ และกราบไหว้ กระทำการเคารพต่อผ้าที่เปื้อนเลือดนั้นด้วย”

นอกจากจดหมายส่วนหนึ่งที่นำมากล่าวนี้ ยังมีจดหมายของมองเซนเยอร์บรีโกต์ เขียนถึงผู้อำนวยการต่างประเทศของเขา ณ ฝรั่งเศส แต่เป็นยุคสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งใกล้จะเสียกรุงแก่พม่าเต็มที ความว่า

“เมื่อสองสามวันมานี้ พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้ตัดนิ้วคนเข้ารีตคนหนึ่งทั้งสิบนิ้ว คนเข้ารีตคนนี้เป็นลูกศิษย์ของบาทหลวงเยซวิต ได้ดื่มสุราเมาแล้วได้ไปทุบต่อยพระพุทธรูปแล้วได้พาพระพุทธรูปไปเสียด้วย เวลานี้คนเข้ารีตยังติดคุกอยู่ ถึงญาติพี่น้องจะเสียเงินเสียทองสักเท่าไรก็ไม่ไหวจะแก้ไขเอาคนเข้ารีตคนนี้ออกจากคุกไม่ได้”

จดหมายเหตุของฝรั่งมังค่านั้น บางอย่างก็เชื่อถือไม่ได้ เขียนหรือเล่าไปหาความดีใส่ตนเองเป็นประมาณ และเพื่อศาสนาของตนที่เข้ามาเผยแผ่ จึงควรจะรับฟังไว้ประดับความรู้เท่านั้นเอง

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ