เทวดารักษาในหลวง

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรัชสมัยที่พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงรู้สึกอึดอัดลำบากพระทัยอยู่มาก ประการหนึ่งเป็นเพราะในเวลานั้นเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ พระองค์แรกคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่สองคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

อีกประการหนึ่งอำนาจการแผ่นดินในเวลานั้นตกอยู่ในมือของเสนาบดีโดยมาก และเสนาบดีเหล่านั้นเป็นที่เกรงขามของประชาชนพลเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเจ้าชีวิตไทยองค์แรกที่ต้องลั่นพระวาจาถ่อมพระองค์ลงมาเป็นผู้รับความกรุณาของพสกนิกร “ครั้งนี้ท่านทั้งปวงมีเมตตากรุณาให้ข้าฯ เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ข้าฯ ก็ได้ฉลองพระเดชพระคุณท่านทั้งปวงมานานถึงสิบสามปีแล้ว” นี่เป็นพระกระแสรับสั่งในงานศพกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร เมื่อปีกุน พุทธศักราช ๒๔๐๖ แต่คนทั้งหลายจะมีความชื่นชมยินดีในพระวาจาอันนี้สักเพียงใดก็ทราบไม่ได้ ความในพระราชหัตถเลขามีที่น่าสลดหดหู่ใจอีกตอนหนึ่ง ที่ทรงมีถึงทูตที่ไปเจริญทางพระราชไมตรีในราชสำนักพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งจักรภพอังกฤษ ทรง/*76*/พรรณนาถึงเรื่องรถม้าพระที่นั่งล้มลง มีผู้ได้รับบาดเจ็บว่า

ตัวข้านี้คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อก็ดี ถึงจะไม่สู้มีใครรักก็คงมีคนรักบ้างเหมือนท่านผู้อื่นลาง บางทีว่าคนรักมากแล้วก็มีคนชังบ้าง เหมือนกันฉันใด เมื่อจะว่าในการที่เป็นวิสัยมนุษย์แล้ว ถึงผีสางเทวดาที่ชังข้าก็จะมี รักข้าก็จะมีกระมัง หรือใครมีบุญแล้ว ก็จะไม่มีแต่บุญไปทีเดียวจะมีบาปบ้าง ใครชะตาราศีดีแล้ว ก็จะมีที่ร้ายบ้าง ตัวข้าถึงจะมีบาปมาก ก็จะมีบุญบ้าง ชะตาไม่ดีแล้วที่จะมีที่ดีบ้างจึงได้เป็นเจ้าแผ่นดิน อยู่ให้คนนั่งแช่งนอนแช่งมาหลายปี จนคนที่แช่งตายไปก่อนก็จะมี หัวล้านไปก่อนก็จะมี จะว่ามีเหตุทั้งนี้ เพราะบุญท่านผู้อื่นทับ ผีสางเทวดาของท่านผู้อื่นมาติดบังเหียนม้าเสีย บุญของข้าก็ยังโต้อยู่ ผีสางเทวดาที่ยังรักข้าอยู่ที่ช่วยข้า ม้าจึงไม่วิ่งไป รถจึงไม่ได้ทับข้าและลูกข้าให้เป็นอันตรายหรือเจ็บมากจนเสียราชการ ข้าจึงขอบใจเทวดาที่ช่วยข้าหนักหนา ได้ตั้งการสังเวยและทำบุญบูชามีละครฉลอง เหตุทั้งนี้บังเกิดมีก็ไม่เป็นอันตรายอะไรแก่ข้านัก ข้าคิดว่าชะรอยเทวดาจะบันดาลพอให้เป็นเหตุ ให้ได้เห็นใจคนต่าง ๆ ใครจะซื่อตรงหรือลอกแลกคิดลึก ๆ ื้ ๆ อย่างไรก็ได้รู้จักครั้งนี้ ให้เห็นใจขาวใจดำใจขลาดใจกล้าต่าง ๆ ข้าขอบใจเทวดาอารักษ์หนักหนาทีเดียว

เบื้องหลังแห่งคำพรรณนาของพระองค์ดังกล่าวมานี้ สืบเนื่องมาจากทรงเคราะห์ร้ายโดยอุปัทวเหตุ ซึ่งจะทราบได้จากพระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ และเจ้าหมื่นสรรเพชภักดี ลงวันอังคาร ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๐๐ ความว่า

เมื่อ ณ วันอังคาร ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ เย็น มีเหตุบังเกิดขึ้นเป็นที่น่าตกใจมากในพระบรมมหาราชวังนี้ เวลาบ่ายวันนั้นข้าออกไปดูนาที่ท้องสนามหลวง ตัวข้าขี่ม้าออกไป แต่ลูกข้า ๔ คน ยิ่งเยาวลักษณ์ ทักษิณชา โสมาวดี ชายจุฬาลงกรณ์ ไปบนรถที่ข้าเคยขี่ ครั้นไปถึงที่ท้องสนามหลวง ลงดูนาสวนที่นั้นแล้ว เมื่อกลับมาตัวข้าไปขึ้นรถกับลูก /*78*/๔ คนด้วยกัน ขับรถกลับเข้ามาแล้วหาได้เข้าประตูวิเศษไชยศรีไม่ เลยลงไปดูการที่โรงทานนอก แลดูการที่ป้อมอินทรังสรรค์จะก่อแท่นเป็นที่ยิงปืน ไปหยุดอยู่ที่โน่นนานจนเย็นจวนค่ำ ข้าขับรถกลับมา ลูกข้า ๔ คนนั่งบนที่นั่งเต็มหมดจนไม่มีที่นั่ง ตัวข้าเอาข้างหลังยันเบาะเท้าทั้งสองยันพนักหน้ารถ นั่งลอยมา เพราะเข้าของเล็ก ๆ น้อย ๆ ลูก ๔ คนหาประทุกมาเต็มชานหน้ารถ ไม่มีที่นั่งที่ยืน แลทางที่ไปนั้นมีแต่จะชักรถเลี้ยวข้างขวาอย่างเดียว ไม่มีทางที่จะชักรถเลี้ยวข้างซ้าย เพราะฉะนั้นสายถือข้างซ้ายชำรุดอยู่ ด้วยด้ายที่เย็บหนังแถบสายถือที่คล้องเหนี่ยวประวินที่ปากบังเหียนม้าข้างซ้ายนั้นเปื่อยผุนัก แล้วหามีใครสังเกตไม่ ตัวข้าก็ไม่รู้เลย เมื่อรถตรงเข้ามาตามถนนประตูวิเศษไชยศรี ม้าก็เร็วเข้ามาตามตรง ข้าก็ถือสายถือรวบเข้าทั้งสองสาย มือเดียวหน่วงไว้เบา ๆ ครั้นกระบวรมาถึงที่ทางเลี้ยวจะไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พวกทหารแห่เลี้ยวเข้าไปข้างนั้นแล้วยืนอยู่ตามเคย ครั้นรถมาถึงมุมทิมสงฆ์ก็เป่าแตรตีกลองตามเคย ม้าก็กระโชกวิ่งหนักเข้า ข้าเห็นกระโชกนักกลัวลูกนั่งบนรถจะคะมำลง จึงรั้งสายถือพร้อมกันทั้งสองสายรวบอยู่ในมือเดียว นั้นแรงหนักเข้ามา ม้าก็เดินเลี่ยงเฉไปข้างซ้ายไม่รอช้าดังประสงค์ เพราะสายถือหนักไปข้างซ้ายข้างเดียวข้างขวาขาดเสียแล้ว ข้าหาเห็นไม่ ด้วย/*79*/หนังยังเกี่ยวอยู่ ช้าเห็นม้าเดินเชือนไปผิดทางข้างซ้าย จึงแก้บังเหียนข้างขวาชักหนักมาสายเดียวปลายสายแถบก็หลุดออกมาข้าเห็นแล้ว ก็ร้องให้คนช่วยก็ไม่มีใครช่วยทัน ข้างรถก็กระทบกับแท่นปากกลางต้นชัยพฤกษ์แลรั้วล้อม กงข้างซ้ายก็ปีนขึ้นไปบนแท่นก่อด้วยอิฐ หลังคาประทุนรถกระทบปลายรั้วล่มเทมาข้างซ้าย ข้าก็สิ้นที่พึ่ง เพราะสายถือขาดเสียแล้ว ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร ตัวข้าก็นั่งลอยนัก แก้ตัวไม่ทัน พลัดตกหกตะแคงลงมากับลูกทั้ง ๔ คน ตัวข้ากลัวรถจะทับตายเอามือขวาดันไว้ รถจึงทับได้ที่ตะคาก1ข้างขวา แต่แขนซ้ายนั้นตัวทับลงไปยกขึ้นไม่ได้ รถทับข้างขวากดลงไปกับอิฐเสือกไป แขนซ้ายแลตะคากก็ถลอกช้ำชอกเป็นแผลเจ็บหลายแห่ง แต่ตะคากข้างขวาช้ำบวมห่อโลหิต กับชายโครงขวานั้นโสมาวดีพลัดตกทับลงจึงเจ็บช้ำยอกเสียดไป แต่ลูก ๔ คนที่ตกลงมาด้วยกันนั้น ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่น้อยลางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ดห้อยยืนในเวลานั้นไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีบาดแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็มีแผลบ้างหลังบวมแห่งหนึ่ง แต่ทักษิณชาป่วยมากจะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยินโลหิตตกมากทีเดียว ขณะนั้นลูกก็ร้องไห้วุ่นทั้ง ๔ คน แต่เดชะบุญคุณเทวดาช่วย ม้าก็หยุดไม่วิ่งไป คนวิ่งตามช่วยยกรถที่ล่มขึ้นได้ ข้าก็ลุกขึ้นวิ่งมาได้ในขณะนั้น ลูก ๔ คนก็มีคนมาอุ้มขึ้นได้ แต่ทักษิณชานั้นอาการน่ากลัวมาก โลหิตไหลไม่หยุดสักชั่วทุ่มหนึ่งต้องแก้ไข แต่หมอว่ากระดูกไม่แตกเป็นแต่เนื้อแหลกเหลวไป ในกลางคืนวันนั้นให้ชักให้กระตุกตัวสั่นไป แต่แก้ไขมาก็ค่อยยังชั่วขึ้น แต่ยิ่งเยาวลักษณ์ครั้นเอาน้ำมันนวดก็หายแล้ว โสมาวดีอาเจียนออกมาในเวลากลางคืนเป็นแต่เสมหะไม่มีโลหิต ให้กินยาก็หายเป็นปรกติแล้ว ชายจุฬาลงกรณ์เป็นแต่หัวแตกสามแห่งแผลเล็ก ๆ แต่ตัวข้านั้นป่วยบ้างที่ตะคากขวาบวมช้ำห่อโลหิต/*80*/แห่งหนึ่ง ชายโครงขวายอกเสียดช้ำไปแห่งหนึ่ง แต่แขนซ้ายชายสบักซ้ายข้างลงตีนเป็นแผลช้ำบ้างถลอกบ้างหลายแห่ง แต่มีแผลใหญ่สองแผลช้ำมาก เดี๋ยวนี้เป็นบุพโพขาวค่นไหล แต่ค่อยยังชั่วแล้วไม่เป็นอะไร ในเหตุอันนี้ข้ากลัวคนจะตื่นไปต่าง ๆ ก็ไม่ได้บอกป่วย ออกมาตามเวลาเสมอทุกวัน แต่ให้มีงานทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์หล่อพระพุทธรูปมีละคร ข้าก็ฟังสวดมนต์ไปเลี้ยงพระสงฆ์ แลดูละครตามปรกติ ไม่ได้บอกป่วย แผลหลายแผลก็ใส่เสื้อซ่อนเสีย หน้าตาแลหัวดีอยู่แล้ว แลเดินได้อยู่แล้ว ก็ไม่เป็นไรดอก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชื่อมั่นในอำนาจของเทวดาอารักษ์ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาอีกหลายตอนดังนี้

...ในหลวงเทวดารักษา เมื่อคนทรยศไม่ซื่อตรงถึงเป็นลูกหลาน เทวดาคงไม่เข้าด้วย ยิ่งลูกยิ่งหลานทุกวันนี้เลี้ยงดูเสียเงินเสียทองอุปถัมภ์บำรุงให้มาก มันไม่ซื่อสัตย์ มันถือใจอีผู้หญิงของมันมากกว่า มันทำให้ต้องวิตก เทวดาคงไม่เข้าด้วย คงไม่มีความเจริญเลย เพราะมันอกตัญญูแก่ในหลวงที่เป็นพ่อเป็นปู่เป็นเจ้าบุญนายคุณ ในหลวงคงรู้ปิดไม่มิด ความสัตย์ความจริงหนทางนั้นไม่สู้ชอบใจเลย ขัดอกขวางใจนัก... (พระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ปีชวด พ.. ๐๙)

อีกตอนหนึ่ง มีว่า

...คนที่ไม่ได้เป็นคุณแก่ในหลวง เป็นแต่ผู้รับบุญรับคุณของในหลวง มาเนรคุณทรยศอย่างนี้ เทวดาคงชังมาก... (พระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ปีชวด พ.. ๒๔๐๙)

และอีกตอนหนึ่งว่า

ถ้าเทวดามี เทวาคงเข้าด้วยในหลวง (พระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ปีชวด พ.. ๒๔๐๙)

/*81*/เราลองพิจารณาพิเคราะห์ดูอีกตอนหนึ่ง

แต่ยังอบใจพระสยามเทวาธิราช เทวดาใหญ่รักษาแผ่นดินไทย และพระเสื้อเมืองทรงเมืองพระกาฬไชยศรี บรรดาที่มีชื่ออยู่ในคำประกาศน้ำพิพัฒสัตยานั้น ดูเหมือนยังเข้าด้วยในหลวงอยู่ หาเข้าด้วยใครไม่ ในหลวงถึงมตระกูลบิดามารดาเป็นผู้สูงศักดิ์มาแต่ก่อนที่สิ้นวาสนาเหมือนจมดินจมทราย แต่บ่าวไพร่ของตัวก็ไม่ได้หมายว่าจะได้เป็นโตเป็นใหญ่ ก็ชะรอยเทวดาจะช่วยดลใจผู้หลักผู้ใหญ่ให้ไปขุดไปคุ้ยเอามาตั้งขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน แต่ที่ได้เป็นเจ้าแผ่นดินทั้งนี้ ครั้นจะว่าไปว่าได้เป็นด้วยอำนาจเทวดา ก็จะเป็นอันลบหลู่บุญคุณของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ท่านพร้อมใจกันอุปถัมภ์ค้ำชูขึ้นให้เป็นเจ้าแผ่นดินนั้นไป ด้วยว่าความที่ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน เพราะท่านผู้หลักผู้ใหญ่ค้ำอุดหนุนนั้น รู้อยู่แก่ตา เห็นอยู่แก่ตาของคนเป็นอันมากตรง ๆ ไม่อ้างว่าอำนาจเทวดาแล้ว ย่อมว่าตามว่าได้เป็นเจ้าแผ่นดินเพราะอุปถัมภ์ค้ำชูของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ว่าได้แต่ทางหนึ่ง ว่าแต่ก่อนผู้ที่จะคิกันขัดขวางทางที่เจ้าแผ่นดินปัจจุบันนี้ จะมาเป็นเจ้าแผ่นดินปัจจุบันนั้นมีตัวฤๅหาไม่ (พระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ปีชวด พ.. ๒๔๐๙)

การที่พระองค์ทรงอ้างเทวดานั้น ไม่ใช่ทรงอ้างลอย ๆ ยังได้มีพระราชวิจารณ์ที่ทำให้น่าเชื่อว่าเทวดามีได้จริง ๆ ดังต่อไปนี้

มนุษย์โลกนี้ตามที่ปรากฏ ผู้ใหญ่ครองผู้น้อย หรือคนเป็นอันมากครองคนผู้เดียว หรือคนฉลาดครองคนโง่ตามที่เห็น ๆ กันอยู่ แต่เมื่อพิเคราะห์ไปกลัวจะมีผู้ครองเบื้องบน ที่คนไม่ได้เห็นด้วยดา ไม่ได้ยินด้วยหู จะเป็นผู้บันดาลอีกชั้นหนึ่ง ให้น้ำใจคนคิดผิด ๆ ไป หรือให้โรคภัยบังเกิดมี เมื่อคนเป็นที่รังเกียจของคนเป็นอันมากอยู่อย่างไร ก็เป็นที่กีดขวางน้ำใจคนอยู่ด้วยประการนั้น (พระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา ปีเถาะ พ.. ๒๔๑๐)

---

1 กระดูกเชิงกรานบริเวณมุมใต้บั้นเอว เรียกกระดูกหัวตะคากหรือหัวตะคากก็ได้ (พจนานุกรมฉบับมติชน, พิมพ์ครั้งแรก, พิฆเนศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์, กรุงเทพฯ ๒๕๔๗, . ๓๕๓.)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ