- คำนำผู้เขียน
- ๑. เจ้าจอมปราง
- ๒. คนทำเงินแดงปลอม
- ๓. ตั้วเฮียอั้งยี่
- ๔. ฝรั่งอยู่เมืองไทย
- ๕. ทาส
- ๖. กฎมณเฑียรบาล
- ๗. ไทยไว้ผมเปีย
- ๘. ภิกษุสามเณรอนาจาร
- ๙. แจกเงิน
- ๑๐. มหาดาผู้วิเศษ
- ๑๑. เสรีภาพสาวชาววัง
- ๑๒. พานทองคำรองพระชุด
- ๑๓. เทวดารักษาในหลวง
- ๑๔. ศาลพลเรือน
- ๑๕. เถรจั่นวัดทองเพลง
- ๑๖. พระอัยการลักษณะผัวเมีย
- ๑๗. รางวัลนำจับพระ
- ๑๘. อ้ายยักษ์ อียักษ์
- ๑๙. สังฆราชเลอบอง
- ๒๐. ศพค้างคืน
- ๒๑. นักโทษถวายฎีกา
- ๒๒. ศัพท์แสง
- ๒๓. ฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์
- ๒๔. ยอดนักการเมืองบูรพาทิศ
- ๒๕. เจ้าจอมกลีบ
- ๒๖. คดีเรือสงครามครรชิต
- ๒๗. เจ้าจอมเฒ่าแก่ นางบำเรอ
- ๒๘. กำนันหญิง
- ๒๙. โทษการทักว่า “อ้วนผอม”
- ๓๐. หม่อมฉิม หม่อมอุบล
- ๓๑. เจ้าพระยาสุรสีห์
- ๓๒. มรดกและสินสมรส
- ๓๓. คดีพระนางเรือล่ม
- ๓๔. ดาวหาง
- ๓๕. เจ้าจอมภู่
- ๓๖. กฎหมายชาวเรือ
- ๓๗. จับหญิงถวายในหลวง
- ๓๘. เหตุเกิดที่พระพุทธบาท
- ๓๙. ตัดศีรษะบูชาพระ
- ๔๐. หญิงหม้าย ชายบวชนาน
- ๔๑. สมาคม “ตั้วเฮีย”
- ๔๒. บ่อนพนันใน “วังหน้า”
- ๔๓. พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง)
- ๔๔. เสรีภาพหนังสือพิมพ์
- ๔๕. “พันปากพล่อย”
- ๔๖. พระยาละแวก
- ๔๗. คนกองนอก
- ๔๘. พระสงฆ์หลายแบบ
- ๔๙. ออกแขก
- ๕๐. เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร)
- ๕๑. แซงเรือพระที่นั่ง
- ๕๒. ท้าวศรีสุดาจันทร์
- ๕๓. เจ้านักเลง
- ๕๔. ขุนนางขโมยเสื่อ
- ๕๕. แม่กองพระเมรุ
- ๕๖. ผัวขายเมีย
- ๕๗. พันท้ายนรสิงห์
- ๕๘. คดีอัฐปลอม
- ๕๙. ประหารพระเจ้ากรุงธนฯ
- ๖๐. ธรรมเนียมหมอบเฝ้าฯ
- ๖๑. หม่อมลำดวน
- ๖๒. ประกาศแช่งน้ำ
- ๖๓. เสพสุราวันสงกรานต์
- ๖๔. ขึ้นขาหยั่งประจาน
- ๖๕. สองกรมหมื่นนักเลงสุรา
- ๖๖. นายสังข์มหาดเล็ก
- ๖๗. ระบอบเลือกตั้งเสรี
- ๖๘. พุทธทำนายเมืองเขมร
- ๖๙. สักหน้าผากจีนเสง
- ๗๐. เรื่องของ “สมี”
- ๗๑. เจ้าจอมทับทิม
- ๗๒. คดีพระยอดเมืองขวาง
- ๗๓. ความหัวเมือง
- ๗๔. นายกล่อมฝรั่ง
- ๗๕. ภาษีพลู
นายกล่อมฝรั่ง
เสียงปืนไม่ว่าในยุคโบราณหรือในกาลปัจจุบันก็ตามที่ไม่ใช่เรื่องเป็นมงคลหูนัก ยิ่งเป็นเสียงปืนที่ยิงด้วยฝีมือคนเมาคนไม่รู้กฎหมายด้วยแล้วย่อมเป็นอันตราย และเดือดร้อนแก่ผู้คนทั่วไปอย่างไม่มีปัญหา อย่างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะได้เคยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบัญญัติห้ามว่า คนในและนอกประเทศมิให้ยิงปืนใหญ่น้อยที่บ้านที่เรือนที่แพและที่เรือ ถ้าจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะขอยิง ก็ให้ผู้นั้นแจ้งความจำนงต่อเจ้าพนักงานให้ทราบเสียก่อนจึงจะยิงได้ ถ้ายิงโดยพลการแล้วผู้นั้นจะต้องเสียค่าปรับไหมเป็นเงินถึง ๑๒ ชั่ง
แม้จะมีพระราชกำหนดกฎหมายอยู่แล้วดังกล่าวนี้ก็ตาม ยังคงมีผู้ฝ่าฝืนอยู่ พระองค์จึงมีประกาศยิงปืนสำทับอีกครั้ง ตามประกาศฉบับลงวันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๐๑ มีความตอนสำคัญว่า
...แลบัดนี้คงยังประมาทอยู่ หาเอาใจใส่ทำตามไม่ เพราะมีเหตุขึ้น คือนายกล่อมบุตรหลวงฤทธิสำแดง เจ้ากรมฝรั่งปืนใหญ่ ไม่มาบอกต่อเจ้าพนักงานเองอย่างเคยแต่ก่อน เป็นแต่สั่งให้หมื่นนิพนธอักษรช่างดอกไม้มาบอกศาลา ว่าจะขอทำการ ปี ณ วันเสาร์ เดือนสิบ แรมสิบ ค่ำ จะมีดอกไม้เพลิงพลุสามตับ แลดอกไม้เพลิงอื่น ๆ ไม่บอกว่าจะยิงปืนเลย หมื่นนิพนธอักษรมิใช่เจ้างานการบุญข้างฝรั่ง มาทำจดหมายอ้างชื่อนายกล่อมนั้น มายื่นต่อเจ้าพนักงานกรมมหาดไทย กลาโหม กรมวัง สามฉบับ แล้วนายกล่อมยิงปืนใหญ่ที่วัดฝรั่ง ปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างใต้ ในวันนั้นเสียงปืนดังหลายนัด จึงทรงพระราชดำรัสถามเจ้าพนักงาน ๆ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ไม่มีผู้ใดบอกด้วยการยิงปืน มีแต่จดหมายหมื่นนิพนธอักษรมายื่นต่อกรมหาดไทย ว่านายกล่อมฝรั่งจะขอจุดดอกไม้เพลิง จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพระยาอนุรักษราชมณเฑียร ให้เอาตัวนายกล่อมกับหมื่นนิพนธอักษรช่าง ดอกไม้มาชำระไล่เลียงไต่ถาม การยังค้างอยู่ ในวันอาทิตย์ เดือนสิบ แรมสิบเอ็ดค่ำแล้วนั้น ได้มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งกรมพระนครบาล ให้นายอำเภอประกาศห้ามอย่าให้ผู้ใดยิงปืนใหญ่น้อยโดยลำพังไม่ได้บอกศาลาก่อนเลยเป็นอันขาดจงทุกอำเภอ แต่ในวันอาทิตย์ เดือนสิบ แรมสิบเอ็ดค่ำนั้น เวลาย่ำค่ำแล้ว ทรงได้ยินเสียงปืนใหญ่อีกครั้งหนึ่ง มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กรมพระนครบาลไปสืบถามพระอินทราธิบดีสหราชรองเมือง ได้ตัวอ้ายไซ อ้ายเท้ง สองคนมาถาม ได้ความว่า อ้ายไซ อ้ายเท้ง อ้ายแหยม อ้ายเกต ๔ คน คบคิดกันเอาดินตับพลุใส่ในกระบอกไม้ไผ่ จุดไฟยิงเล่นแทนปืนที่ลานหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม ทรงพระราชดำริว่า บัดนี้ชะรอยคนพวกนี้จะเมา ได้ยินเสียงปืนฝรั่งยิงก็ชะรอยจะคิดว่าฝรั่งเมาสุรายิงปืนเล่นได้ก็พลอยยิงเล่นบ้าง เข้าใจว่าไม่มีใครว่าได้แล้ว ทั้งนี้เป็นเหตุจะให้ผู้อื่นดูอย่างต่อ ๆ ไป การก็จะไม่สงบลง จึงทรงดำรัสสั่งให้กรมพระดำรวจเอาตัวนายกล่อม หมื่นนิพนธอักษร อ้ายไซ อ้ายเท้ง อ้ายแหยม อ้ายเกด ๖ คน ไปลงพระราชอาญาเฆี่ยนคนละ ๕๐ ที ในที่ยิงปืนนั้นแล้วให้ตระเวนบกสามวัน ตระเวนเรือสามวัน เพื่อจะมิให้มีผู้เยี่ยงอย่าง แล้ว ๕ คนนั้นให้จำไว้ เพราะมีโทษมาก แต่นายกล่อมฝรั่งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้ปล่อยไปให้พ้นโทษ เพราะการยิงปืนที่วัดฝรั่งนั้นเป็นการเคยทำมาแต่ก่อนไม่สู้ผิดนัก แต่บัดนี้ให้ประกาศมาให้มั่นคงแข็งแรง ว่าตั้งแต่นี้ไป ถ้าผู้จะยิงปืนใหญ่มีเสียงดังมาก เป็นสงสัยว่าปืนในพระราชวังยิงบอกสัญญาเพลิงไหม้ ไม่ใช่ยิงนก แลคาบศิลาที่ยิงหัดยิงเป้าในวังเจ้า บ้านขุนนางแล้ว ให้ผู้นั้นจดหมายยื่นต่อกรมพระนครบาลด้วยฉบับหนึ่ง เพื่อจะได้ประกาศให้ทราบให้ทั่วพระนคร ก่อนวันนั้นวันหนึ่งสองวัน แลให้บอกศาลามหาดไทย ศาลากลาโหม กรมวังตามเคยจึงจะยิงได้ ถ้าจะยิงปืนคาบศิลา แลปืนชนวนทองแดงที่ใกล้พระราชวัง ก็ให้ผู้นั้นจดหมายบอกต่อกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมวังตามเคยอย่างแต่ก่อน ถ้าผู้ใดยิงปืนใหญ่ปืนน้อย ด้วยไม่มีจดหมายมายื่นต่อกรมพระนครบาล กรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมวังก่อน ทำการล่วงพระราชบัญญัติเช่นนี้อีก จะให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้นั้นเฆี่ยน ๕๐ แล้วจำไว้ ณ คุก ถ้าคนต่างประเทศจะให้กงสุลปรับไหม ให้เสียเงิน ๒ ชั่งตามกฎหมายท้องน้ำ
ในหลวงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของเราพระองค์นี้ ต้องนับว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงลำบากยุ่งยากพระทัยมากหลาย เพราะนอกจากปัญหาทางการเมืองต่างประเทศอันเป็นอันตรายแล้ว พระองค์ยังต้องทรงมายุ่งกับเรื่องหยุมหยิมเช่นนี้อีกด้วย
----------------------------