วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๕ เมษายน ๒๔๗๖

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับใหญ่ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๗๖ ทรงพระเมตตา โปรดประทานพร เพื่อสัมฤทธิสุขในปีใหม่ พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ เกล้ากระหม่อมพร้อมทั้งบุตรภรรยา ขอถวายบังคมรับพระพรไว้เหนือเกล้า กับลายพระหัตถ์ฉะบับเล็ก ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ก็ได้รับประทานแล้วเหมือนกัน แต่กลับได้ทีหลัง

โคลงสร้างวัดพระเชตุพน เมื่อพระพินิจถอดเป็นคำเรียงแล้ว ได้เอามาให้เกล้ากระหม่อมตรวจ แต่เวลาจวนแจก็เป็นแต่แก้ไปให้เล็กน้อย ทำดีไม่ได้ เวลาไม่พอพิมพ์

ความซุดโซมเห็นจะไม่โซมถึงหลุดลุ่ย จะเปนเพียงมัวหมองในที่ภายนอกเท่านั้น แต่ที่แท้จริงเห็นจะเป็นพาลรือด้วยพระราชประสงค์จะทรงสร้างให้ดีกว่าเก่าเป็นทูล ไม่ใช่ชำรุดเป็นมูล

ชื่อเขาสิพนิมิตร คงเป็นชื่อที่ทูลกระหม่อมทรงตั้ง เดิมเห็นจะชื่อเขาสิพลึงค์ จึงกลายเป็นสัพลึงค์ไปได้ด้วยง่าย ก่อนนี้เราใช้หนังสือขอมเป็นพื้น ไม่มี ศ ใช้ก็ต้องใช้ ส อยู่เอง คำศิวแปลงเป็นศิพใช้กันมานานแล้ว เช่นในอนิรุทธคำฉันท์ก็มี “ศิพชวนไชเข้าด้วยพลัน” ทูลกระหม่อมทรงทราบ ว่าสัพเคลื่อนมาจากสิพ ลึงค์คงจะทรงรู้สึกว่าติดจะหยาบ จึงทรงเปลี่ยนเป็นนิมิตร เขาสิพนิมิตรก็เป็นความอันเดียวกับสิพลึงค์นั้นเอง อาจเป็นได้ที่ศิวลึงค์ในวัดพระเชตุพนจะยกมาแต่เขานั้น

ทีนี้จะกราบทูลเรื่องพระเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ได้ไปดูของที่ขุดได้มาอันจัดไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน ไม่ค่อยมีของอะไรที่ทำให้ตื่นใจมากนัก ไพล่ไปตื่นใจที่รูปตัดแห่งพระเจดีย์เพื่อแสดงตำแหน่งกรุที่ขุด ซึ่งนายฟอรโนไปตรวจวัดเอามาเขียนขึ้นให้เห็น พระยาโบราณเคยบอกแต่ก่อนนี้ ว่าในพระเจดีย์ใหญ่มีพระเจดีย์หรือพระปรางค์องค์น้อยของเดิมอยู่ในนั้น พระเจดีย์ใหญ่ก่อสรวมขึ้น คิดตามไม่เห็น พระเจดีย์ใหญ่นั้นพื้นในคูหามีบันไดขึ้นสูงมาก ถ้าก่อสรวมแล้วพระเจดีย์หรือพระปรางค์น้อยของเดิมจะตั้งอยู่บนพื้นในคูหาพระเจดีย์ใหญ่ที่ก่อสรวมขึ้นนั้นไม่ได้ จะต้องจมลงไปลึก นึกจะขึ้นไปดูก็เหลว ไม่ได้ไป จนได้มาเห็นแบบของนายฟอรโนก็สว่างใจ ไม่ใช่พระเจดีย์หรือพระปรางค์น้อย อะไรมิได้ เขาทำเป็นซุ้มดุจซุ้มพระปรางค์ไว้สูญกลางพระเจดีย์ใหญ่ทีเดียว เป็นที่ตั้งพระพุทธรูป แต่ใครเอาพระพุทธรูปไปกินเสียแล้ว กรุที่ขุดพบอยู่ใต้ซุ้มที่ตั้งพระนี้ ตรงสูญกลางพระเจดีย์ใหญ่ทีเดียวเป็นของทำขึ้นพร้อมด้วยพระเจดีย์ใหญ่ ไม่ใช่ของมีอยู่ก่อน

ได้ขอให้หลวงบริบาลคัดหนังสือในลานทอง ซึ่งเก็บได้ในพระเจดีย์องค์กลางที่ผู้ร้ายทำตกไว้ไปพิจารณาดู ได้ทำคำพยากรณ์ให้แก่หลวงบริบาลดั่งได้คัดสำเนาถวายมานี้ จะผิดหรือถูกก็ตามวิสัยคำพยากรณ์ มีความเห็นแตกกันอยู่ที่ชื่อแม่นางในบรรทัดกับที่หัวลาน เกล้ากระหม่อมคิดว่าเป็นชื่อสองคน แต่พระยาโบราณกับหลวงบริบาลคิดว่า เป็นชื่อคนเดียว ในบรรทัดเป็นชื่อตั้ง ที่หัวลานเป็นชื่อตัว ซึ่งเกล้ากระหม่อมไม่เห็นด้วยเลย

ต่อไปนี้จะกราบทูลเรื่องพัดพระองค์เจ้าจุธารัตน เมื่อได้ยินฝ่าพระบาทตรัส ว่าทำด้วยเงินกาไหล่ทองลงยา ราคา ๓๐๐ บาท ก็ให้อยากเห็นเป็นกำลัง คิดจะตามดูแต่ไม่ทันขยับตัวเณรงั่วก็แบกเอามาอวดจนถึงบ้าน จับขึ้นดูเห็นหนักมาก จึงเอาขึ้นชั่งได้ ๔ ปอนด์ ได้กับ ๑๒๗ บาท ๕๐ สตางค์ พัดนี้เห็นท่านโป๊ะเขียน ท่านโป๊ะจะเป็นผู้ทำบ้าเช่นนี้หรืออย่างไร พบเจ้าพระยาวรพงศถึงถามดู บอกว่าท่านสมัยทำ เดิมท่านหญิงวรรณกราบบังคมทูลขอเงินมรดกไปทำศพ ๗,๐๐๐ บาท ไม่พระราชทาน ตรัสสั่งเจ้าพระยาวรพงศว่ามากมายนัก ผู้รับมรดกเขาจะว่าได้ ช่วยจัดทำให้ทีเถอะ เอาแต่พอสมควร เจ้าพระยาวรพงศจึงมาจัดทำสังเคตขึ้น หญิงวรรณวิ่งมาบอกว่าพัดทำไว้แล้ว เจ้าพระยาวรพงศว่าทำแล้วก็ดีละ ส่งมาเถิด ๕ เล่ม จึงได้ส่งมายื่นบัญชีราคาเล่มละ ๒๗๔ บาท จำต้องจ่ายให้ เกล้ากระหม่อมยังไม่สิ้นสงสัย พบท่านโป๊ะจึงถามว่าแกกำหนดให้ทำด้วยเงินกาไหล่ทองลงยาอย่างนั้นหรือ เธอบอกว่าเปล่าเลย ตาสมัยไปทำบ้า ๆ เอง เดิมทีเธอคิคจะทำให้คิดจะเขียนลายสีน้ำมันทั้งเล่ม ได้ไปพูดกับพระสารลักษณ์ไว้แล้ว แล้วมาคิดเห็นว่า จะต้องไปเกี่ยวข้องกับหญิงวรรณเรื่องเงินๆทองๆไม่เข้าทีจะพลอยเสียชื่อไปด้วย เลยตีกินไม่ทำ ส่งแต่แบบให้ไป ตาสมัยรับไปทำอีกต่อหนึ่ง

จะกราบทูลรายงานว่า หลังคาตึกไม่พังมากมิได้ จับเหตุได้ว่าเพราะทำหน้าต่างบานเกล็ดไว้ที่หน้าจั่ว เพื่อให้ไอร้อนออก ลมพายุก็พัดลอดเข้าไปตามช่องเกล็ด ดันข้างในเอากระเบื้องเปิดตกลงมาห้าหกแผ่นซ่อมแซมดีแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมาร (๑๗ ธันวาคม ๒๔๑๕-๓๑ พฤษภาคม ๒๔๗๓)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ