วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ดร

เทพนม

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันคิดกะดูจดหมายฉะบับนี้จะได้ทรงรับก่อนเสด็จประพาสมณฑลนครศรีธรรมราชสักวันหนึ่งหรือสองวัน จึงได้เขียนตามเคย แล้วจะเว้นไปจนเสด็จกลับกรุงเทพฯ

หม่อมฉันเห็นหนังสือพิมพ์ว่ากรมพระกำแพงเพ็ชรฯ แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวในพิธีแรกนาออกตกใจ เกรงท่านจะประชวร ต่อพบกับกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ เมื่อกลับมา ถามถึงพระองค์ท่าน เธอตรัสบอกว่าเปนแต่ไม่ทรงสบายเล็กน้อย จะไปนั่งพิธีนานเกรงจะประชวร จึงได้ขอพระองค์ ครั้นรุ่งขึ้นถึงวันประสูติก็เสด็จออกรับแขกได้ หม่อมฉันได้ทราบก็ค่อยคลายวิตก งานวันประสูตินั้นหม่อมฉันได้เห็นในหนังสือพิมพ์นึกขันในใจอยู่แล้ว ด้วยเดิมหนังสือพิมพ์ประกาศว่าจะทรงรับแขกในวันที่ ๒๘ เวลาบ่าย ๑๗ น. ครั้นต่อมาหนังสือพิมพ์ลงแก้ว่าไม่มีการรับแขก แต่ถ้าใครไปก็จะทรงยินดี ดูโฉมหน้ามันบอกว่าจะมีคนไปมากกว่า คุณโตเตรียมของไว้เลี้ยงจึงนึกขัน ครั้นต่อมาได้ข่าวที่พระองค์หญิง อาทรตรัสบอกมายังพระองค์หญิงขาวก็ออกจะสมจริงดังคาด ว่ามีคนไปแสดงความยินดีมากทั้งเจ้านายขุนนาง รัฐมนตรีและชาวต่างประเทศ แต่คิดก็น่ายินดีที่เขามีความเคารพนับถือ หม่อมฉันเข้าใจว่าคงจะเปนการงานเรียบร้อยดี หญิงเหลือแถมยินดีว่าเมื่อเสร็จงานแล้วไม่ถูกจับ

การเสด็จไปประพาสมณฑลนครศรีธรรมราช ที่เพิ่มวันออกไปอีก ๗ วันนั้น สมควรยิ่งนัก ด้วยนาน ๆ จะได้เสด็จไปครั้งหนึ่ง ควรจะได้ทอดพระเนตรให้กว้างขวาง ถ้ามีเวลาน้อยจะต้องรีบๆ ผ่านๆ ทั้งจะเหนื่อยเกินไปด้วย หม่อมฉันสังเกตดูเวลานี้ดูเหมือนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะลงแล้ว ทางเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุงมีเทือกเขาใหญ่กันฝน ระดูฝนตะวันตกฝนตกทางซีกเมืองตรังมากกว่าทางซีกเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุง ฝนมรสุมตกหนักเปนคราว ๆ ราวคราวละ ๗ วัน หม่อมฉันเคยไปถูกฝนมรสุมที่เมืองตรัง ต้องอยู่กับที่ไปไหนไม่ได้ตั้ง ๕ วัน ๖ วัน เพราะฉะนั้นเมื่อจะเสด็จข้ามเขาไปเมืองตรัง ควรสืบให้ได้เวลาว่างฝน หาไม่อาจจะไปถูกฝนอยู่ที่เมืองตรังได้หลายๆวัน แต่ถ้าไปถูกฝนเช่นนั้นก็มีทางแก้คือเสด็จกลับจากเมืองตรังโดยทางรถไฟไปทุ่งสง จับรถไฟจากนั่นไปถึงสงขลา ถ้าเวลามรสุมลงแล้วเช่นนี้ อากาศเย็นสบายทั้งสองฟาก

ในระวางสัปดาหะนี้มีผู้ใดผู้หนึ่งในอินเดีย ส่งหนังสือพิมพ์ชื่อว่า The Buddhist World มาให้หม่อมฉัน เปนหนังสือพิมพ์ออกที่เมืองบังกลาในประเทศไมซอ อยู่ในอินเดียฝ่ายใต้ ผู้เปนบรรณาธิการเข้าใจว่าเปนพระพะม่าชื่อ สิริชินวงศ สวามี ตำแหน่งเลขานุการของมหาสังฆราชสภา เปนสภาซึ่งตั้งขึ้นเพื่อจะรวมพระพุทธสาสนาทุกประเทศข้างฝ่ายหินยานเข้าเปนสมาคมอันเดียวกัน อยู่ในความบำรุงของพระสังฆราชประเทศพะม่า ขนานนามในหนังสือนั้นว่า (สมเด็จพระ) วิสุทธศีลสรสิริปวรธรรมเสนาบดี ราชาธิราชครูมหาสังฆราช ดังนี้ เปนความรู้แปลกด้วยไม่เคยทราบว่าเรียกพระมหาสังฆปรินายกประเทศพะม่าว่า สังฆราชเหมือนประเทศสยาม และมีแปลกอีกองค์ ๑ ที่เปนตำแหน่งเหรัญญิกเปนผู้หญิงชื่อ สุชดาลิตาเสน ว่าเปนภิกขุณีชาวอินเดีย (เปนเครื่องอุดหนนความคิดของนายนรินทรกลึง) ในหนังสือพิมพ์นั้นตอนหนึ่งมีมงคลสูตรทั้งอรรถและแปล มีคาถาขัดตำนานมงคลสูตรอย่างพะม่าไม่เหมือนที่ใช้กันทั่วไป หม่อมฉันก็ไม่รู้ภาษามคธพอที่จะทราบได้ ขอให้ทรงสอบสวนดู และโปรดให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ทราบด้วย

วันที่ ๓ นี้เปนวันพุธ กำหนดลายพระหัตถ์จะมาถึง แต่พนักงานไปรษณีย์เขามักส่งตอนบ่าย ถ้าจะรออ่านลายพระหัตถ์ก่อนจึงเขียนตอบจะช้าไปอีกวันหนึ่ง อาจจะไม่ถึงทันวันที่ ๖ ที่จะเสด็จไปสงขลา จึงเขียนจดหมายฉะบับนี้เพราะมีคนจะกลับเข้าไป จะฝากเขาไปทันถวายในวันที่ ๔ ได้

เดิมหม่อมฉันคิดว่าจะไปทำบุญวิสาขะบูชาที่วัดหัวหิน ครั้นเมื่อสองวันมานี้ เดินเที่ยวเตร่ไปถึงลานวัดเห็นกำลังเขาปลูกร้านโรงกัน สืบถามได้ความว่าจะมียี่เกและการมโหรศพฉลองรอยพระพุทธบาท พร้อมกับวิสาขะบูชา ดูเปนการอื้อฉาวไม่เปนสมาธิ หม่อมฉันจึงเปลี่ยนความคิดเปนจะกลับเข้าไปทำวิสาขะบูชาในกรุงเทพฯ ไปวันที่ ๗ กลับวันที่ ๑๐ นึกเสียดายที่จะคลาดไปวันหนึ่ง ไม่ได้เฝ้าท่านก่อนเสด็จสงขลา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๕ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา (๒๑ เมษายน ๒๔๓๒-๒๓ มีนาคม ๒๕๐๑)

  2. ๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๕ พระองค์เจ้าอัพภันตรีประชา (๓๑ ตุลาคม ๒๔๓๒-๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๗)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ