วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

ลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๒ เมษายน เรื่องงานถวายบังคมปฐมบรมราชานุสสรณ์นั้น ผู้อื่นหลายคนที่ออกมาจากกรุงเทพฯ ก็ออกมาเล่าโดยความรู้สึกเช่นเดียวกับที่ทรงปรารภมา ว่ามีคนพากันไปมากเกินคาดหมาย และบรรดาผู้ที่ไปนั้นกิริยาอาการแสดงความเคารพนับถือโดยจริงใจทั้งนั้น หม่อมฉันเคยคิดคาดว่าคนจะน้อยกว่าวันจักรีปีก่อน ๆ มา คงจะมีคนไปบูชาที่ปราสาทพระเทพบิดรแล้วเลยไปถึงสพานพระพุทธยอดฟ้าบ้าง แต่ไม่มากมายเท่าใดนัก เมื่อมาได้ยินว่ามีคนไปตลอดวัน แม้ไม่มีเครื่องสนุกต่าง ๆ จำนวนคนก็ไม่น้อยกว่าวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ดังนี้หม่อมฉันก็ยินดีปลื้มใจเหมือนกัน เหตุที่คนไปถวายบังคมปฐมบรมราชานุสสรณ์คราวปีนี้ ถ้าคิดเทียบกับพฤติการณ์บ้านเมืองถ้าเปนก่อนเดือนเมษายนก็น่าจะมีคนน้อย ด้วยพวกที่มีความกลัวพอความหลงครอบงำคงไม่กล้าไป ไม่ต้องพักกล่าวไปถึงพวกอกตัญญู แต่มาประจวบการจับพวกคอมมิวนิสม์เปนมูลเหตุให้คนทั้งหลายเกิดความยินดี และเลื่อมใสในพระเดชพระคุณเต็มตื้นขึ้นในใจ จึงได้พากันไปมากมายถึงเพียงนั้น อันนี้เห็นว่าเปนเหตุที่แท้จริง และจะเพิ่มพูนความศักดิ์สิทธิ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นอีกด้วย

เรื่องที่จะช่วยบุรณปฐมบรมราชานุสสรณ์นั้น ก็ยังอยู่ในเจตนาของหม่อมฉัน แต่หมายว่าจะทำเมื่ออายุเท่าพระชันสาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกใน พ.ศ. ๒๔๗๘ หม่อมฉันเชื่อว่าสมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็คงทรงเห็นชอบด้วย และยังมีเหตุอีกอย่างหนึ่งเมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ พระชันสาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะครบ ๒๐๐ ปี ถ้าบ้านเมืองเปนปกติคงจะต้องมีงานเฉลิมพระเกียรติ ถ้ารัฐบาลรู้ว่าปฐมบรมราชานุสสรณ์ยังไม่สมบูรณ์ อาจจะออกเงินแผ่นดินบุรณให้สมบูรณ์ในอภิลักขิตสมัยนี้ คือว่าเริ่มลงมือแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ แต่ความคิดที่ทูลมาเกี่ยวแก่เศรษฐกิจ แม้ถึงตัวหม่อมฉันเองก็เห็นจะไม่สามารถที่จะลงทุนได้มากเหมือนแต่ก่อน แต่ที่ทรงพระดำริจะกะรายการให้รู้จำนวนเงินว่าจะช่วยได้ส่วนละมากน้อยเท่าใดตามกำลังผู้เลื่อมใสนั้นดีนัก ขอให้ทรงให้ตลอด เพราะบัญชีประมาณนั้นเองถ้าปรากฏ อาจจะจูงใจให้ผู้อื่นบริจาคทรัพย์ช่วยบุรณแพร่หลายออกไปได้อีก

ปัญหาเรื่องสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงบรรจุพระอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกไว้ที่วัดมหาธาตุฯ ซึ่งตรัสถามมาในลายพระหัตถ์นั้น หม่อมฉันเองเปนผู้ก่อให้เกิดปัญหานี้ เนื่องมาแต่เมื่อพระยาโบราณฯ ถางวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์เสร็จแล้ว หม่อมฉันได้ไปเที่ยวเดินดู เห็นมีพระวิหาร (หรือพระมณฑป) จตุรมุขสร้างไว้ต่อชั้นทักษิณ แถวพระมหาสถูปไปทางด้านตะวันตกหลัง ๑ ในพระวิหารนั้นมีพระเจดีย์องค์ ๑ เปนประธาน ขนาดเดียวกันและรูปทรงอย่างเดียวกันกับพระมหาธาตุที่วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ นี้ รอยขะโมยขุดทำให้เห็นได้ว่าที่ในพระเจดีย์องค์นั้น ทำเปนห้องสำหรับบรรจุพระอัษฐิมีทุกด้าน จึงสันนิษฐานในขณะนั้นว่าพระมณฑปและพระเจดีย์ที่กล่าวมา เปนของสร้างขึ้นสำหรับบรรจุพระบรมอัษฐิพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระอัษฐิเจ้านายที่ทรงศักดิ์ชั้นสูงสุด เมื่อสมัยชั้นหลังราวรัชชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ ด้วยซุ้มหน้าต่างก่ออิฐตะแคงเปนโค้งปรากฏอยู่เปนสำคัญ ทั้งเลือกที่สร้างตรงแนวและติดต่อกับพระมหาสถูปซึ่งบรรจุพระบรมอัษฐิพระเจ้าแผ่นดิน เพราะหมดที่จะสร้างพระสถูปใหญ่ได้อีก จึงสร้างพระเจดีย์น้อยไว้ในวิหารให้บรรจุพระอัษฐิได้หลายพระองค์ด้วยกัน

ตั้งแต่ไปเห็นพระเจดีย์ที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ดังทูลมา ก็เกิดนึกเนือง ๆ ในเวลาเมื่อไปหอพระสมุดฯ ว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ารัชชกาลที่ ๑ ทรงสร้างพระมณฑปที่วัดมหาธาตุฯ คงทำตามอย่างพระวิหาร (หรือพระมณฑป) ที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เปนแต่ไม่ทำเปนจตุรมุข นึกต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่าประเพณีการสร้างพระเจดีย์อันเปนหลักวัด โดยปกติย่อมสร้างเปนพระปรางค์หรือพระสถูปขนาดใหญ่ เหตุใดสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ จึงไม่ทรงสร้างเช่นนั้น และมาสร้างเปนพระเจดีย์น้อยอยู่ในพระมณฑป เหมือนอย่างพระเจดีย์ที่บรรจุพระอัษฐิในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ก็นึกขึ้นว่าหรือจะทรงสร้างสำหรับบรรจุพระอัษฐิเช่นเดียวกันกับที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระอัษฐิใครเล่าซึ่งสมควรพระบวรราชเจ้าฯ จะทรงสร้างพระมณฑปและพระเจดีย์เปนที่บรรจุเช่นนั้น ก็มีแต่พระอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกพระองค์เดียว

คิดถึงตำนานการบรรจุอัษฐิและตำนานพระอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกต่อไป ประเพณีโบราณแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาสืบมาจนในสมัยกรุงธนบุรี อัษฐิย่อมเอาไปบรรจุไว้ที่วัดทั้งนั้นแม้จนพระบรมอัษฐิของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะเก็บเอาไว้บ้านหามีประเพณีไม่ พึ่งมามีขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร เหตุด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปรารภถึงเวลาบ้านแตกเมืองเสีย ต้องกระจัดพลัดพรายกัน แม้จนพระอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกก็เกือบจะสูญ หากคุณจอมมารดามากับเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา อุตส่าห์เก็บหามาถวาย ทรงพระราชดำริว่าในเวลานั้นกรุงรัตนโกสินทรยังตั้งไม่ได้มั่นคง จึงทรงรักษาพระบรมอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกไว้ในพระราชวัง ยังไม่สร้างพระเจดีย์บรรจุตามประเพณีเดิม เล่ากันมาว่าตรัสว่าถ้าบ้านแตกเมืองเสียจะได้พาเอาไปได้ด้วย ดังนี้ เปนมูลเดิม แต่เมื่อประดิษฐานพระอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกให้เปนวัตถุที่สักการบูชาแทนพระเทพบิดรในพิธีถือน้ำ จึงได้ประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวังเรื่อยมา

พระอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ส่วนซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแบ่งพระราชทานพระบวรราชเจ้าฯไปนั้น ไม่ปรากฏทีเดียวว่าอยู่ที่ไหนและเอาไปทำอย่างไร จึงเปนปัญหาว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ จะทรงอนุมัติตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือรักษาพระอัษฐิไว้ในพระราชวังบวร เตรียมเผื่อบ้านแตกเมืองเสีย หรือจะทรงสร้างเจดียสถานบรรจุไว้ตามราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา หม่อมฉันคิดเห็นว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ คงไม่อนุมัติตามกระแสพระราชดำริ จึงถ่ายแบบพระวิหาร (หรือพระมณฑป) ที่บรรจุพระอัษฐิ ณ วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ มาสร้างบรรจุพระอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกที่วัดสลัก ซึ่งทรงสร้างแปลงใหม่ให้ใหญ่โต เพราะเหตุนั้นแลจึงถวายยอดปราสาทให้สร้างเปนหลังคาพระมณฑป ครั้นต่อมาไฟไหม้เปลี่ยนหลังคาโรง จึงสร้างพระมณฑปอย่างเปนเมรุทองไว้ข้างใน

อีกประการหนึ่งชื่อวัด ซึ่งเปลี่ยนมาหลายครั้งหลายคราว ก็ส่อให้เห็นเนื่องกัน เดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ทรงขนานนามว่า วัดนิพพานาราม ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีวัดอื่นที่ไหน ๆ จะร่วมชื่อเช่นเดียวกัน อันนี้ก็น่าจะเกิดแต่ทรงปรารภเหตุที่บรรจุพระอัษฐิเปนมูล ต่อมาเมื่อจะทำสังคายนา ทำนองพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะทรงปรารภถึงนามวัดว่าไม่เปนมงคล จึงทรงปรึกษากับสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ตกลงวันเปลี่ยนนามเปน วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ทั้งเปนวัดอยู่นอกพระราชวัง ก็น่าจะเอาพระมณฑปและพระเจดีย์ที่สร้างบรรจุพระอัษฐิ อย่างวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนมูล ครั้นเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯ ให้เปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งว่า วัดมหาธาตุฯ ทั้งไม่มีพระสถูปหรือพระปรางค์ใหญ่เปนหลักวัด ก็น่าจะเนื่องด้วยเปนที่บรรจุพระอัฐิธาตุเปนมูล

นอกจากนี้ยังมีประเพณีน่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือเวลาเสด็จไปวัดมหาธาตุฯ มีเครื่องทองน้อยทรงสักการบูชาเปนพิเศษที่พระเจดีย์ในพระมณฑป เหมือนอย่างทรงสักการบูชาพระอัษฐิสืบมาจนทุกวันนี้ ผิดกับทรงสักการบูชาพุทธเจดีย์ ซึ่งเปนแต่ถวายดอกไม้ธูปเทียนที่ใส่พานมหาดเล็กเชิญตามเสด็จ ด้วยอาศัยหลักฐานต่าง ๆ ดังทูลมา หม่อมฉันจึงเชื่อว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท คงจะบรรจุพระอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ไว้ในพระเจดีย์ทองที่พระมณฑปวัดมหาธาตุฯ แต่ประเพณีที่ตั้งเครื่องทองน้อยอาจจะเกิดขึ้นต่อในรัชชกาลที่ ๔ เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบความเดิมก็เปนได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ