ระเบียบการพระบรมวงศานุวงศ์กราบถวายบังคมลา

ข้อ ๑. พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป จะเสด็จจากพระนครถึงแรมคืน ต้องกราบถวายบังคมลา และรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เว้นแต่ในกรณีย์ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า.

ข้อ ๒. เจ้านายชั้นหม่อมเจ้า จะทูลลาต่อผู้ทรงกำกับการพระราชวงศ์แทนกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงโดยตรงก็ได้ และเมื่อผู้ทรงกำกับการพระราชวงศ์ทรงอนุญาตแล้วก็ไปได้ นับเป็นเสมือนว่าได้กราบถวายบังคมลาและได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว.

ข้อ ๓. พระอนุวงศ์ ไปในความปกปักรักษาของพระบรมวงศผู้ใหญ่ไม่ต้องกราบถวายบังคมลา ให้อยู่ในความรับผิดชอบของพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่.

ข้อ ๔. การไปมาภายในเขตรมณฑลกรุงเทพฯ ไม่ต้องกราบถวายบังคมลา.

ข้อ ๕. การไปมาในหน้าที่ราชการ ไม่ต้องกราบถวายบังคมลาเป็นส่วนตัว ให้เป็นไปตามระเบียบราชการ.

ข้อ ๖. ผู้ใดจะตั้งนิวาสสถานอยู่หัวเมืองด้วยความประสงค์จะอยู่เป็นนิตย์ไปต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จะไปมาในระหว่างตำบลนั้นกับกรุงเทพฯ ในการต่อไปก็ดี ไปภายในเขตรจังหวัดที่ตำบลนั้นตั้งอยู่ก็ดี ไม่ต้องกราบถวายบังคมลาอีกทุกครั้งไป ต่อเมื่อจะไปค้างแรมที่อื่นนอกเขตรจังหวัดที่ตั้งนิวาสสถานนั้นตั้งแต่สัปดาหหนึ่งขึ้นไปจึงต้องกราบถวายบังคมลา.

ข้อ ๗. ถ้าไปนอกพระราชอาณาเขตร จำต้องกราบถวายบังคมลาถึงพระองค์เสมอไป ถ้ามีพระอนุวงศ์ไปในความปกปักรักษาด้วยกี่องค์ ก็ต้องระบุนามให้แจ้งชัดทุกองค์.

ข้อ ๘. การกราบถวายบังคมลา ต้องมีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายส่งทางกรมราชเลขาธิการ หรือมีหนังสือถึงราชเลขานุการ เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ส่งล่วงหน้าก่อนไม่น้อยกว่า ๒ วัน แจ้งกำหนดวันไปและกลับ และต้องรอรับพระบรมราชานุญาตก่อนแล้วจึงไปได้ การทูลลาต่อผู้ทรงกำกับการพระราชวงศ์ก็ให้ปฏิบัติอนุโลมตามระเบียบนี้ และจะเฝ้าทูลด้วยวาจาก็ใช้ได้ ถ้าจะอยู่ต่อไปอีกต้องทูลลาต่อ.

พระบรมราชโองการดำรัสสั่งวันที่ ๑๒ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ