วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัดถ์ฉะบับลงวันที่ ๗ มิถุนายน มีความยินดีที่จะได้ สืบ “สารพิลัย” สืบไปดังแต่ก่อน

รายการเสด็จประพาสที่เล่าประทานมาในลายพระหัดถ์ฉะบับนี้ เวลาหม่อมฉันอ่านส่งญาณตามเสด็จไปทุกแห่ง ด้วยเป็นที่เคยไปโดยมาก ชื่อตำบลหนึ่งตอนหลังสวนซึ่งทรงสงสัยนั้น คือ สวี เรื่องชื่อตำบลต่างๆทางหัวเมืองปักษ์ใต้นี้เป็นปัญหาอันหนึ่ง ซึ่งยังรอการคิดค้นว่าจะมาแต่ภาษาใด ตั้งต้นแต่ ชะอำ กุย สังกะทาย ปะทิว ลงไปตลอดจนแขวงนครศรีธรรมราช คำว่า สวี ก็อยู่ในพวกนั้น

เมื่อได้รับลายพระหัดถ์ฉะบับตรัสเล่าถึงเสด็จไปที่ถ้ำพระนอนที่เมืองยะลา มีความที่ใคร่จะทูลสนอง ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ คือ พระนอนของเก่านั้นหม่อมฉันได้เคยสังเกตที่เป็นชั้นโบราณจริงพระกรขวาทำทอดศอกออกไปข้างหน้าตามแบบอินเดีย สังเกตเห็นพระนอนที่ถ้ำเมืองยะลานี้องค์ ๑ และพระนอนจักรศรีองค์ ๑ เห็นจะมีองค์อื่นอีกแต่เวลานี้นึกไม่ออก พระนอนชั้นหลังมาทำศอกตรงลงมาจากพระเศียร เช่นพระนอนวัดป่าโมกข์และวัดพระเชตุพน เห็นจะเป็นด้วยพระนอนชั้นเดิมทำนอนกลางแจ้ง มาชั้นหลังทำวิหารพร้อมกับองค์พระ ทอดศอกออกไปข้างหน้ากีดเสา ที่ทรงสืบได้ความว่าพระนอนในถ้ำเมืองยะลาก่อด้วยอิฐดินดิบนั้น หม่อมฉันยังไม่รู้ แต่มีเครื่องสังเกตอยู่อย่างหนึ่งที่มีหัวนาคราชอยู่ในถ้ำพระนอนนั้นเหมือนกับที่มีอยู่ที่พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช หน้าจะเป็นของสร้างในสมัยศรีวิชัยด้วยกัน

ข้อ ๒ คงจะมีใครถวายพระพิมพ์ดินดิบของโบราณที่เมืองยะลา พระพิมพ์ดินดิบนี้หม่อมฉันได้เคยสืบได้ความว่าพบแต่ตามถ้ำตั้งแต่เขตต์เมืองนครศรีธรรมราชลงไปจนถึงเมืองยะลาเป็นใต้ที่สุด หม่อมฉันได้เคยไปเห็นที่เขาเก็บพระพิมพ์นั้นแห่ง ๑ ที่ถ้ำเขาออกทะลุเมืองพัทลุง ในเวลานั้นพึ่งไปพบเข้าใหม่ยังไม่ทันมีใครไปขุดขนเอาไปเสียเท่าใดนัก เห็นวางตะแคงเรียงซ้อนกันหลายชั้นเหมือนอย่างจัดบรรจุหีบ ไม่ได้ใส่กรุฝังดินซ่อนเร้นเหมือนอย่างพระพิมพ์ดินเผาทางข้างเหนือ ลักษณะพระพิมพ์พวกดินดิบนี้เห็นได้ชัดว่าผู้ทำถือลัทธิมหายาน และปลาดอีกอย่างหนึ่ง ที่ตัวอักษรเป็น เทวันนาครี ไม่ใช่อักษรครึน เหมือนอย่างจารึกทางข้างเหนือ หม่อมฉันได้สืบต่อไปถึงประเทศอื่น ได้ความว่าในประเทศพะม่าและอินเดียก็มี ดูเหมือนจะได้ตัวอย่างมาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน แต่เหตุใดจึงทำด้วยดินดิบ ข้อนี้หม่อมฉันพึ่งทราบเมื่อจัดพิพิธภัณฑสถานแล้ว มีนายพันเอกทหารอังกฤษคน ๑ ซึ่งเคยอยู่ในประเทศธิเบตมากรุงเทพฯ ทูตอังกฤษชักนำมา หม่อมฉันพาไปดูพิพิธภัณฑสถาน ถึงตู้พระพิมพ์ดินดิบ ถามแกว่าพระพิมพ์อย่างนี้ที่ในธิเบตมีหรือไม่ แกบอกว่าเขายังทำกันอยู่จนทุกวันนี้ ถ้าพระผู้ใหญ่มรณภาพเผาศพแล้ว เขาเอาอัฏฐิธาตุโขลกผสมดินทำเป็นพระพิมพ์เช่นนี้ เมื่อได้เค้าเช่นว่าหม่อมฉันจะใคร่ทดลองให้ถึงที่ ได้เอาพระพิมพ์ที่ชำรุดองค์ ๑ ส่งไปให้กองแยกธาตุตรวจ ก็ได้ความว่ามีธาตุอัฏฐิอยู่ในนั้น เป็นอันได้ความแจ่มแจ้งว่าเหตุใดจึงทำด้วยดินดิบ เพราะได้เผาสริระครั้งหนึ่งแล้วคงเห็นไม่ควรเผาอีกครั้งหนึ่ง จึงได้ทำด้วยดินดิบด้วยประการฉะนี้

หมู่นี้หม่อมฉันได้ลองเขียนพงศาวดารรัชชกาลที่ ๕ เขียนขึ้นใหม่อีกตอน ๑ ว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ของพระมหาอุปราชจะเอาเข้าต่อตอนอุปราชาภิเศกกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ได้ส่งมาถวายพร้อมกับจดหมายฉะบับนี้ ขอได้โปรดช่วยทรงตรวจตราทักท้วงด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. สารพิลัย เป็นชื่อเรียกลายพระหัตถ์ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีโต้ตอบกับหม่อมเจ้าหญิงพิลัยเลขา ดิศกุล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ