วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๗๖

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๘ ได้รับประทานแล้ว ขอบพระเดชพระคุณที่โปรดแปล กวี ประทานได้เป็น สวี สิ้นความสงสัย ฝรั่งเรียกชื่ออะไรเพี้ยนพาหลงหมด สระพลี เรียก สับพลี บ่อคาเรียกปูคา ตะโกเรียกตากู สวีเรียกกวี ชื่อหลังนี้หมดปัญญา จะว่ากุยก็ต่ำเกินที่ ต่อมาทูลถวายโปรดแปลประทานจึงได้จริง เจ๊กยิ่งหนักมือขึ้นไปอีก เช่นพัทลุง เรียกว่าคุดเถ่าล้ง แต่ต้องให้อภัย เพราะหนังสือของแกเขียนภาษาอื่นไม่ได้ ต้องปรุงคำที่มีอยู่แต่เพียงให้ใกล้ ชื่อตำบลในหัวเมืองปักษ์ใต้สงสัยว่าจะมีคำเขมรอยู่มาก โดยที่จับได้เช่น ควนเนียงก็คือควนนาง สทิงพระก็คือคลองพระ จะลองคลำหาชื่ออื่น ๆ ต่อไป อะไรจะเข้าภาษาเขมรได้อีกบ้าง

ทีนี้จะทูลถวายรายงานการไปเที่ยวหัวเมืองปักษ์ใต้ต่อไป

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม เวลาบ่ายโมงครึ่ง ขึ้นรถยนต์ไปหาดใหญ่สิ้นเวลา ๔๐ นาทีก็ถึง รถไฟสงขลาไปหาดใหญ่ไม่มีใครใช้ เพราะค่าโดยสานแพงกว่ารถยนต์ แล้วก็เดิรแต่วันละเที่ยว ออกแต่เวลาย่ำรุ่ง คนจะไปต่อรถสายอื่นต้องไปคอยอยู่เกินควร ตามที่เกล้ากระหม่อมไปนครศรีธรรมราชวันนี้ เลือกเอาวันที่มีรถปีนังเข้า เพื่อจะได้ไปสบายรวดเร็วและไม่ต้องตื่นแต่มืด เวลาบ่าย ๒ โมง ๔๕ นาทีรถก็มาถึง ขึ้นโดยสานไปลงที่สถานีเขาชุมทอง พระยาบุรีสราธิการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชมาคอยรับอยู่ที่นั้น พากันขึ้นรถไฟต่อไปนครศรีธรรมราช เดิรโอ้เอ้จนทุ่มหนึ่งจึงถึง เขาพาไปให้พักอยู่ ณ ที่พักซึ่งเรียกว่าพลับพลา อันตั้งอยู่หลังศาลาโกหก

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม เวลาเช้าไปนมัสการพระบรมธาตุ แล้วหลงชมฝีมือช่างโบราณในขอบเขตต์พระบรมธาตุนั้นจนหิวเข้ายังไม่ทั่ว จึงกลับที่พักเสียทีหนึ่ง เวลาเย็นจึงออกเตร่อีกครั้งหนึ่ง เที่ยวไปตามถนนในเมือง ที่สุดแวะที่พระบรมธาตุชมสถานที่ยังดูค้างอยู่ต่อไป กลับจากที่นั้นไปดูร้านเครื่องถมของขุนวิโรจน์รัตนากร ตำแหน่งอะไรไม่ทราบ เมื่อไปร้านเขาเข้าใจว่าเป็นคนสามัญ ต่อเมื่อเขาส่งบิลมาทวงเงินค่าของ เห็นเซนชื่อจึงทราบว่ามีบรรดาศักดิ์

อยู่ข้างจะเสียใจ ในการที่ไปนครศรีธรรมราชนั้น ตั้งใจว่าจะไปเที่ยวค้นดูฝีมือช่างโบราณจดจำมาเป็นความรู้ ด้วยสำนึกอยู่เมื่อไปเที่ยวที่นั้นครั้งก่อน ๆ เคยเห็นวัดเก่า ๆ ดาษไปทั้งนั้น แต่ไม่มีเวลาจะได้เที่ยวค้นดูอะไร ๆ ไปคราวนี้จึงกะเวลาอยู่ที่นั้นนานเพื่อเที่ยวค้น แต่นครศรีธรรมราชเปลี่ยนรูปไปเสียหมดแล้ว วัดเก่าที่ร้างกลายเป็นบ้านเรือนสมัยใหม่ ที่ไม่ร้างกลายเป็นวัดใหม่อย่างฝรั่งเจ๊ก ไม่มีอะไรเหลืออยู่ที่จะพึงดูนอกจากพระบรมธาตุ เขารักษาไว้ดีเป็นที่พอใจ อะไรที่เคยเห็นมาก่อนก็ได้เห็นอีก ซ้ำยังได้เห็นแปลกขึ้นที่วิหารเขียนและเพิงรอบฐานพระมหาโพธิ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ของก็มีมาก ของที่น่าดูก็มี แต่จัดไม่ดี จัดไม่เป็น ดูไม่ดี ของคละปะปนกันเห็นยาก เป็นคลังมากกว่าเป็นพิพิธภัณฑสถาน ของที่นั่นจับใจอย่างหนึ่ง คือช้างสามเศียรไม้ฉลัก อันติดที่หน้าบรรพพระวิหารหลวง เขาปลดลงมาไว้ มีเครื่องแต่งตัวมากมาย เป็นต้นว่าควงเชิงก็ทำใส่ซ้อนถึงสามชั้น แม้แต่ที่เนื้อแท้ ๆ เช่นงวงและปากก็ยังฉลักเป็นลายตลอดไป สันนิษฐานความคิดเขาได้ว่าเขาทำจะให้เป็นลายเพื่อให้เข้ากับลายหน้าบรรพ ไม่ใช่ตั้งใจจะทำตัวช้างจริง ๆ เมื่อติดอยู่บนหน้าบรรพแต่ก่อนก็ดูไม่เห็นเพราะสูงหนัก ได้หาช่างเขามาถ่ายรูป ได้ส่งมาถวายแผ่นหนึ่งบัดนี้แล้ว ร้านตลาดในนครศรีธรรมราชจำเริญมากเหมือนกรุงเทพฯ มีอะไรทุกอย่างแต่เป็นขนาดน้อย ร้านเครื่องถมทำของได้ดีเหมือนกรุงเทพฯ แต่ราคาถูกกว่ากรุงเทพฯ มากทีเดียว เขาอวดว่าจะสั่งให้ทำอะไรก็ทำได้ จะทำให้สมใจด้วยรวดเร็ว จึงลองสั่งให้เขาทำเหรียญมีตรานอเทียนสิน เขาก็ทำมาให้ได้ในวันรุ่งขึ้น ๓ อัน ได้ถวายมาเป็นของฝากอันหนึ่งบัดนี้แล้ว

วันที่ ๑๗ พฤษภาคม เวลาเช้าขึ้นรถยนต์ไปร่อนพิบุลย กินเวลาชั่วโมงหนึ่งถึงที่ว่าการอำเภอ นายอำเภอพาไปดูการทำเหมืองที่หนองเป็ด ฝรั่งผู้จัดการบริษัทนำดู ทำโดยวิธีที่เรียกว่าเหมืองฉีด คือกั้นน้ำกักไว้บนยอดเขา แล้วต่อท่อเหล็กลงมา เปิดน้ำฉีดดินอย่างสูบดับไฟนั้นแล แต่น้ำแรงมาก ฉีดเอาดินทะลายลง แล้วน้ำนั้นเองฉีดเอาดินซึ่งปนแร่ขึ้นไปบนถังสูงล้างไหลไปตามราง แร่ก็ตกลงก้นราง ส่วนดินไหลไปลงถมเหมืองที่ทำแล้ว วิธีนี้ก็ต้องตามวิธีเก่าที่เรียกว่าเหมืองคลานั้นเอง แต่คิดทำวิจิตรพิสดารขึ้น น้ำมีแรงมาก ตัดแรงคนให้ต้องใช้น้อยลง ว่าใช้คน ๓๓ คนเท่านั้น แต่ทุนที่ลงทำการเห็นจะเสียมาก กลับจากเหมืองหนองเป็ด นายอำเภอพาไปดูเหมืองบริษัทร่อนพิบุลยที่เรือจม แต่ไปได้ครึ่งทางก็ฝนตกต้องกลับมาพักที่บ้านนายอำเภอเลยกินเข้ากลางวันที่นั้น

กินเข้าแล้วฝนหาย นายอำเภอพาไปดูเรือจมที่เหมืองของบริษัทร่อนพิบูลย์อีกครั้งหนึ่ง การงานหยุดเงียบไม่ได้ทำอะไรกัน เห็นเรืออันควรจะเรียกว่าถังเหล็ก รูปสี่เหลี่ยมรีโตใหญ่ คว่ำอยู่ในเหมือง ข้างท้ายเผยออยู่เหนือน้ำ เห็นต่อปากเรือลงไปเป็นฝาสังกะสี รู้ได้ว่าเมื่อยังดีคงเป็นโรงงานลอยน้ำ เห็นแล้วใจหายเสียดายแทน และไม่เห็นว่าจะกู้กลับคืนได้อย่างไร ออกจากนั้นก็เลยกลับที่พักนครศรีธรรมราช

เวลาจวนค่ำหมอและแหม่มแมคดาเนียล ผู้จัดการโรงพยาบาลมีสชันและโรงพยาบาลโรคเรื้อนมาหา พูดจาเป็นน้ำท่วมทุ่งอธิบายถึงโรงพยาบาลจะลากเอาตัวไปดู เห็นว่าแกก็ประสงค์จะเอาเงินเท่านั้น จึงให้ไป ๕๐ บาท ขอตัวว่าไม่มีเวลาไปก็เป็นตกลง

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม เวลาเช้าไปดูโบสถพราหมณ์ จะเล่าถวายแต่พอควร เพราะว่าคงจะทรงจำได้อยู่มากแล้ว สถานพระอิศวรมีสองหลัง เก่าหลังหนึ่งใหม่หลังหนึ่ง ในหลังเก่าพบศิวลึงค์ ๕ องค์ พบนางกระดาน ๓ แผ่น ฉลักเป็นรูปพระคงคาเก่ามาก ผุแล้วแผ่นหนึ่ง ฉลักขึ้นแทนใหม่แผ่นหนึ่ง กับอีกแผ่นหนึ่งข้างบนฉลักเป็นรูปเทวดาอยู่บนต้นไม้ มีช้างอยู่ที่โคนไม้ข้างละตัว ข้างล่างฉลักเป็นเขาไม้ แปลไม่ออกว่าอะไร นึกเทียบกับที่กรุงเทพฯ มีพระอาทิตย์พระจันทร์แผ่นหนึ่ง นางพระธรณีแผ่นหนึ่ง นางพระคงคาแผ่นหนึ่ง รูปเขาอาจหมายถึงพระธรณีได้ แต่เทวดาบนยอดไม้จะหมายถึงพระอาทิตย์พระจันทร์เห็นไปไม่ได้ นอกนั้นยังมีกระดานโล้ชิงช้าอีกแผ่นหนึ่ง ในหลังใหม่มีเทวรูปหล่อ ๔ องค์ หงส์หล่อตัวหนึ่ง มีกลองรูปกลองชนะ แต่ไม่ได้ทาสีสองคู่ ถามพราหมณ์ผู้รักษาว่าใช้อะไร บอกว่าใช้ตีแห่ไปสถานพระสยมในพิธีตรียัมพวาย ถามว่าอยู่ที่ไหน ว่าอยู่ใต้นี้ลงไปหน่อย ถามว่าทำทุกปีหรือ บอกว่าทุกปี เว้นแต่เมื่อปีกลายนี้ ถามว่าถีบชิงช้าด้วยหรือ ตอบว่าหาไม่ เป็นแต่เอากระดานขึ้นแขวน เด็กที่ไปด้วยได้ถ่ายรูปสถานนี้ ขอถวายมาทอดพระเนตรเล่นด้วย

ออกจากสถานพระอิศวรข้ามฟากถนนไปดูสถานพระนารายณ์ ทำไว้ใหม่เอี่ยม ในนั้นมีรูปพระนารายณ์ปั้นด้วยปูนอยู่สามส่วน ส่วนล่างหักหายกับมีรูปศิลาหักอีกรูปหนึ่ง ดูทีเป็นครุฑ เห็นจะเป็นของมาแต่ชะวา

ออกจากสถานพระนารายณ์ ให้พราหมณ์พาไปสถานพระสยม ตั้งอยู่ในตรอกแยกจากถนนพระเสื้อเมืองหลังวัดพระบรมธาตุเป็นสถานก่ออิฐ แต่ว่าพังร้างแล้ว ลักษณะเป็นศาลา ชิดด้านหุ้มกลองหลังมีห้องสี่เหลี่ยม ด้านหน้ามีประตูย่อออกเป็นมุข ที่ห้องนี้ลางทีเดิมจะมีหลังคาเป็นยอดก็ได้ ในห้องมีศิวลึงค์ศิลาองค์หนึ่ง หน้าศิวลึงค์มีหินตั้ง รูปคล้ายลูกมะหวด ข้างบนเปนแอ่ง เข้าใจว่าจะเป็นตะเกียง ที่นอกห้องกลางศาลาก็มีฐานศิลาอันมีรางซึ่งเคยรองศิวลึงค์ตั้งอยู่ แต่ไม่มีองค์ศิวลึงค์ เป็นการประหลาดอยู่ที่มีสถานพระอิศวรถึงสองแห่ง เห็นจะมีพราหมณ์มาตั้งอยู่แต่ก่อนหลายพวก

ถามพราหมณ์ว่าหลักเมืองอยู่ที่ไหน บอกว่าอยู่ถัดไปนี้อีกหน่อยหนึ่งจึงให้นำไปถึงอีกตรอกหนึ่ง แกไปชี้ศิลาอันปักอยู่ที่มุมปากตรอกกับถนนต่อกันว่านี่ เป็นหินแท่งสี่เหลี่ยมรีแต่งหยาบ ๆ ดุจหินคั่นกระได หน้าขนาดประมาณ ๔๐×๓๐ ซ.ม. เกล้ากระหม่อมไม่เชื่อ เห็นว่าหลักเมืองแล้วจะต้องมีศาล จะมาปักอยู่ข้างถนนดุจหินหลักบอกระยะทางเช่นนี้ไม่ได้ ในเวลาเอะอะกันอยู่นั้น มียายกับตาคู่หนึ่งมารับรองว่าหลักเมืองจริง ๆ ได้อยู่ที่ตรงนี้ทราบแน่มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เกล้ากระหม่อมก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง

ให้เขานำย้อนหลังไปดูศาลพระเสื้อเมือง เป็นโรงใหญ่กำมะลอฝาขัดแตะ กลางโรงมีกุฎก่ออย่างเจ๊กดุจกุฎนกขุนทอง หน้ากุฎมีโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนตั้ง ในกุฎมีพระพุทธรูปทรงเครื่องรุ่นกรุงเก่า หลังกุฎมีรูปปูนปั้นเป็นเทวดานั่งทำวิศวกรรมแต่มีนมดูจะเป็นนาง หลังโรงมีโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนตั้งอีกแห่งหนึ่ง หลังโต๊ะแขวนรูปกวนอู เป็นที่สังเกตได้ว่าศาลนี้เคยมีจีนมาปกครอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ผู้ว่าราชการให้ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ใกล้มาดูแล

ออกจากศาลนี้ก็ไปหอพระสิหิงค์ ใหม่เอี่ยมไม่มีอะไรพึงชม วังเจ้านครทั้งหมดราบเป็นหน้ากลอง มีตึกที่ว่าราชการใหม่ขึ้นแทน ออกจากหอพระสิหิงค์ก็กลับที่พัก

เวลาบ่ายไปดูจรเข้ที่ปากภูล เที่ยวตอนนี้อยู่ข้างเหลวใหล สาเหตุนั้นนึกถึงเมื่อไปเที่ยวกับฝ่าพระบาทคราวโกปีโหป ผ่านปากพญาเข้าไป เห็นจรเข้ตัวโต ๆ ขึ้นนอนออกก่ายกันไปตามชายเลน นึกอยากให้ลูกหลานได้เห็นบ้าง จึงไต่ถามเขาว่ายังมีอยู่เช่นนั้นหรือหาไม่ เขาว่าก็ยังมีอยู่บ้าง ถ้าจะดูต้องไปเช้ามืด เกล้ากระหม่อมก็ลา เพราะว่าจะต้องไปแต่เช้า แล้วก็ไม่แน่ว่าจะได้เห็นจรเข้หรือไม่ เพราะเสียงที่บอกอ่อนเพียงว่ายังมีอยู่บ้าง และถ้าไปถูกฝนกลางทางเข้าก็จะเจ็บเสียเปล่า ๆ แต่เขาก็ไปอึกอักกันจัดเพื่อให้สมประสงค์เป็นไปบ่าย ไปปากภูลแทนปากพญา เพราะว่าเดี๋ยวนี้เขาใช้แม่น้ำปากภูลเป็นทางเดิรออกทะเล มีเรือยนต์เมล์เดิรไปปากพะนังเสมอ จัดได้สดวก ส่วนจรเข้นั้นเขาคิดเอาเบ็ดราวลากเกี่ยวขึ้นมาให้ดู เขาไปจัดกันเสียเสร็จแล้วจึงมาบอกให้ทราบ ก็ต้องไปตามเจตนาอันเอื้อเฟื้อของเขา ขึ้นรถยนต์จากที่พักไปตามทางหลวง สิ้นเวลา ๑๕ นาทีถึงท่าแพ ลงเรือยนต์ออกไปตามแม่น้ำซึ่งคด ๆ เคี้ยว ๆ จนถึงปากน้ำ พบแต่จรเข้ตายหงายท้องลอยน้ำอยู่ตัวหนึ่ง กับเขาเอาเบ็ดราวลากจับมัดมาให้ดูอีก ๒ ตัว ยาวสักศอกคืบตัวหนึ่ง สักสามศอกตัวหนึ่ง น่าสงสารให้ปล่อยมันไป แล้วก็กลับตามทางเดิม ถึงที่พักเวลาทุ่ม ๑

คราวหน้าจะทูลถวายรายงานไปเที่ยวเมืองตรังต่อไป

ได้รับพระนิพนธ์อธิบายตำแหน่งหน้าที่ของพระมหาอุปราช ซึ่งโปรดประทานไปกับลายพระหัดถ์ ได้อ่านแล้ว แต่เป็นเรื่องยากมิใช่น้อย ภาษาในกฎมนเทียรบาลนั้นพูดสั้น และเป็นภาษาที่ผิดสมัย เข้าใจยากยิ่งนัก เกล้ากระหม่อมจะตรวจกฎมนเทียรบาล พิจารณาให้ดีเสียอีกทีหนึ่งก่อน เผื่อจะมีความเห็นแตกต่างไปจากที่ทรงพระดำริเห็นอยู่บ้าง

เป็นการแน่ที่ชั้นแรกการรักษาอาณาเขตต์ของเรา ใช้วิธีส่งลูกหลวงหลานหลวงออกครองหัวเมืองป้องกันอาณาเขตต์อยู่โดยรอบ ตั้งให้มีตำแหน่งเป็นราชา คำราชานั้นเป็นคำรวม ถ้าแยกเป็นชั้นก็จะต้องเป็น ราชาธิราช มหาราชา ราชา มหาอุปราชา อุปราชา ต่อมาภายหลังพระราชาเมืองหลวงอ่อนอำนาจลง พวกราชาหัวเมืองเกิดเปนปฏิปักษ์ทำให้ได้ยาก จึงเปลี่ยนแปลงร่นเล็กเข้ามา เอาพระนครเป็นราชอาณาเขตร เอาวังหลวงเป็นพระนคร เอาวังเจ้าตั้งล้อมวังหลวงเป็นหัวเมือง เจ้าองค์ใดที่เข้มแขงที่ไว้ใจจัดให้อยู่ด้านหน้า คือหน้าศึก จึงได้ชื่อว่าวังหน้า คำว่า วังหน้า วังหลวง และวังหลังนั้น มาแต่จอมทัพหน้า จอมทัพหลวง จอมทัพหลัง เป็นแน่นอน

เกล้ากระหม่อมเคยมีความเห็นเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสใช้ให้ทำพระราชลัญจกรพระครุฑพาห์ขึ้นแทนตราอามแผ่นดิน กับทำพระราชลัญจกรมหาอุณาโลมขึ้นใหม่ กับทั้งพระราชลัญจกรหงสพิมานขึ้นใหม่ให้ได้ชุดกับพระราชลัญจกรไอราพตองค์โมราที่ใช้อยู่ จึงมานึกว่าทำไมพระราชลัญจกรจึงมีหลายดวงนัก ก็เกิดความเห็นขึ้นว่า เดิมเห็นจะเป็นตราประจำตำแหน่งราชาที่ครองหัวเมือง เช่นตราไอราพต จะเป็นสำหรับตำแหน่งพระอินทราชาเมื่อเลิกตำแหน่งราชาเหล่านั้นแล้ว ตราจึงมารวมอยู่เป็นของหลวงหมดด้วยกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระยาบุรีสราธิการ (โจ้ กนิษฏิวัต)

  2. ๒. ขุนวิโรจน์รัตนากร (ลำหิ้น วิโรจน์ศิริ)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ