เล่าเรื่องไปสุมาตรา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖

เหตุที่จะไปเกาะสุมาตราคราวนี้ จะไปส่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยุโรปและอเมริกา พระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงเรือวลัยออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม กำหนดวันที่ ๑๘ จะถึงเมืองเมดัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลสุมาตราฝ่ายตะวันออก เรือมีโอเนียที่จะรับเสด็จไปยุโรปจะออกจากปินังวันที่ ๑๙ ไปรับเสด็จที่เมืองปะลาวันเดลีอันเป็นท่าเรือของเมืองเมดันกำหนดวันที่ ๒๐ ผู้เล่าเรื่องนี้อยู่ที่ปินัง จึงโดยสารเรือเกดะไปจากปินังด้วยกันกับลูกหญิง ๓ คน คือ หญิงพูน หญิงพิลัย หญิงเหลือ กับนายชิตคนรับใช้อีกคน ๑ รวมทั้งพวกเป็น ๔ คนด้วยกัน

วันศุกร์ที่ ๑๙ เวลา ๑๘ นาฬิกา เรือเกดะออกจากท่าหน้าเมืองปินัง เวลาค่ำ ทันเรือมีโอเนียซึ่งออกไปก่อนสักชั่วโมง ๑ เรือต้องแล่นรอตลอดคืนเพื่อจะเข้าปากน้ำปะลาวันเวลาน้ำขึ้นต่อรุ่งสว่าง เดิมเมืองหลวงของประเทศราชเดลี (ที่ไทยเคยไปซื้อม้า) ตั้งอยู่ที่ท่าปะลาวัน เมื่อรัฐบาลฮอลันดาจะตั้งที่ว่าการมณฑล เห็นว่าเมืองปะลาวันเป็นที่เลนลุ่ม จึงย้ายไปสร้างเมืองเมดันขึ้นบนที่ดอน ห่างท่าปะลาวันเข้าไป ๑๘ กิโลเมตร แต่เมืองปะลาวันก็ยังเป็นท่าเรืออยู่อย่างเดิม

วันเสาร์ที่ ๒๐ เรือเกดะเข้าปากน้ำปะลาวันด้วยกันกับเรืออื่นเข้าไปหลายลำ มีเรือเมล์ฮอลันดามาแต่ยุโรปนำหน้าเข้าไปก่อนลำ ๑ และเรือมีโอเนียกับเรืออื่นตามเรือเกดะเข้าไปข้างหน้าอีก ๓ ลำ เรือเกดะแล่นเข้าในแม่น้ำ ๓ เลี้ยวถึงท่าเทียบเรือเวลา ๘ นาฬิกา ผู้แทนห้างอิสตเอเซียติก ซึ่งรับเป็นเอเย่นของพวกเรามารับ รัฐบาลฮอลันดาก็รู้ว่าเราจะไป จึงไม่มีใครรบกวนตรวจหนังสือเดินทางหรือหีบผ้า แต่คนอื่นๆถ้าไปชั้นที่ ๑ เขาเรียกหนังสือเดินทางเรียงตัว ถ้าเป็นชั้นที่ ๓ ถึงตรวจค้นตัว ด้วยเกรงจะพกซ่อนสิ่งของต้องห้ามเข้าไป พวกเราขึ้นรถยนต์ที่ท่าแล่นไปสักครึ่งชั่วโมงถึงเมืองเมดันเวลา ๙ นาฬิกา ตามเวลาที่ฮอลันดาใช้ในสุมาตรา ช้ากว่าเวลาที่อังกฤษใช้ทางแหลมมลายู ๔๐ นาที ไปถึงโฮเตลเดอบัวพบทูลกระหม่อมชาย สมเด็จหญิงน้อย กรมหลวงทิพยรัตนฯ พระองค์หญิงเหม กับพระองค์หญิงพระองค์ชายลูกทูลกระหม่อมกับทั้งหญิงประสงค์ อยู่โฮเตลเดียวกัน แต่ไหนมาไม่เคยมีไทยไปพร้อมกันอยู่ที่เมืองเมดันมากเหมือนวันนี้ ถ้าเรียงพวกตามเวลาที่ไปก่อนและหลัง คือ

(๑) พวกทูลกระหม่อมชายมาเรือจากชะวา ถึงแต่วันที่ ๙ จำนวน ๒๐ คน

(๒) พวกสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ไปจากปินังถึงวันที่ ๑๗ จำนวน ๕ คน

(๓) กระบวนเสด็จมาจากกรุงเทพฯ ถึงวันที่ ๑๘ จำนวน ๑๘ คน

(๔) กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ เสด็จมาจากเมืองสิงคโปร์แต่พระองค์ ถึงวันที่ ๑๘ คน ๑

(๕) พวกสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไปจากปินังวันที่ ๒๐ จำนวน ๕ คน

กรมหลวงสิงห์ฯ เดิมก็เตรียมจะเสด็จไปจากปินัง แต่ประชวรเมื่อวันก่อนลงเรือ จึงไม่ได้ไป รวมจำนวนไทยที่ไปรวมกัน ณ เมืองเมดัน ๕๐ คน

เฉพาะเจ้านาย

พระเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระบรมราชินี
เจ้าฟ้า ชาย ๑ หญิง ๑
พระบรมวงศ์ ชาย ๒ หญิง ๑
พี่ยา ๑ พี่นาง ๑
พระเจ้าวรวงศ์ หญิง
พระวรวงศ์ ชาย ๓ หญิง ๑
หม่อมเจ้า ชาย ๕ หญิง ๕ ๑๐

รวมเจ้านาย ชาย ๑๓ หญิง ๑๖ เป็น ๒๙ พระองค์ด้วยกัน.

เวลาเช้า ๑๐ นาฬิกา ไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่จวนเจ้าเมืองซึ่งเขาจัดถวายเป็นที่ประทับแรม เจ้าเมืองและบุตรภรรยาต้อนรับ ทราบว่าเมื่อวันที่ ๒๙ พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประพาสตำบลปราสตากี แต่ไม่ได้ประทับแรมที่นั่น เมื่อขึ้นเฝ้าแล้วกลับลงมาคอยส่งเสด็จด้วยกันกับพวกอื่น

เวลา ๑๑ นาฬิกา เสด็จทรงรถยนต์ออกจากจวนเจ้าเมืองไปสถานีรถไฟ ขึ้นรถไฟทั้งกระบวนหลวงและผู้ส่งเสด็จทั้งไทย และฝรั่งแขกเจ้าของเมือง รถไฟลงมาถึงท่าปะลาวันที่เรือมีโอเนียจอดเทียบ เสด็จลงเรือพระราชทานบำเหน็จพวกเจ้าของเมืองที่รับเสด็จ แล้วเขาทูลลากลับก่อน แต่พวกไทยยังอยู่จนเวลาเรือมีโอเนียจะออกเมื่อ ๑๓ นาฬิกา จึงกราบถวายบังคมลา และรออยู่โบกมือถวายชัย จนเรือพระที่นั่งลับตาแล้วพากันขึ้นรถไฟ กลับไปเมืองเมดันทันเวลากินกลางวัน แล้วจำวัดตามธรรมเนียมฮอลันดาซึ่งเขานอนกันหมด ในระหว่าง ๑๔ ถึง ๑๖ นาฬิกา

เวลา ๑๗ นาฬิกา ทูลกระหม่อมชวนขึ้นรถยนต์เที่ยวดูเมือง พระองค์หญิง ลูกทูลกระหม่อม พาเจ้าหญิงไปเที่ยวซื้อของ เวลาค่ำอยู่รวมกันทั้ง ๒ พวก ทราบโปรแกรมการเดินทางของทูลกระหม่อมชายท่านเสด็จมาเรือจากเมืองบาเตเวีย แวะสิงคโปร์แล้วเลยมาปะลาวันมาถึงก่อนกระบวนหลวงหลายวัน ได้เสด็จไปเที่ยวที่ปราสตากีแต่เมื่อคอยรับเสด็จ เมื่อส่งเสด็จแล้ว ขากลับไปชะวา ท่านจะเสด็จไปเที่ยวทางรถยนต์แรมทาง ๔ คืน ข้ามเกาะสุมาตราไปลงเรือที่เมืองปาดัง ทางด้านตะวันตกของเกาะสุมาตรากลับไปเมืองบาเตเวีย ฝ่ายพวกเราก็ได้คิดกันอยู่ว่าไหน ๆ ได้ไปถึงสุมาตรา ส่งเสด็จแล้วจะเลยเที่ยวสักสี่ห้าวัน จึงปรึกษากับทูลกระหม่อม ตกลงจะไปด้วยกันจนถึงตำบลปาระบัตที่พักแรมคืนแรกแล้วจึงแยกกัน พวกท่านเลยไปทางข้างใต้ พวกเรากลับมาทางข้างเหนือ แวะที่ปราสตากีแล้ว จึงกลับเมืองเมดัน มาลงเรือกลับปินัง จะได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน ๒ วัน ส่วนพวกอื่นที่ไปส่งเสด็จคราวนี้พวกสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ กลับปินังด้วยเรือเกดะในวันที่ ๒๑ กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ กลับด้วยเรือฮอลันดาไปสิงคโปร์ เจ้าหญิงประสงค์ (เดินทางบกไม่ไหว) กลับเรือลำเดียวกับกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ เลยไปชะวาในวันที่ ๒๑ เหมือนกัน

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เวลา ๘ นาฬิกา ขึ้นรถยนต์ตามกันเป็นกระบวน รัฐบาลลอบแต่งให้รถโปลิศลับตามไประวังภัยด้วยอีกหลัง ๑ รถยนต์ที่ใช้วันนี้เช่าจากบริษัท (จีน) เหลียง ซึ่งตั้งโรงรถยนต์สำหรับให้นักท่องเที่ยวเช่า คิดค่าเช่าเหมาตามระยะทางที่เราใช้รถ รถขนาดนั่ง ๗ คน กิโลเมตรละ ๒๐ เซ็นต์ รถขนาดนั่ง ๕ คน กิโลเมตรละ ๑๕ เซ็นต์ เวลาหยุดหรือคอยไม่คิดค่าเช่า ลองคิดอัตราเทียบกับเอารถของเราไปเอง ดูก็จะไม่สิ้นเปลืองกว่ากันเท่าใดนัก ข้อสำคัญอยู่ที่คนขับของเขาชำนาญทางขึ้นภูเขา คนเราไม่เคยไม่น่าไว้ใจ แต่ถนนหลวงของเขาทำดีมากทั้งตัดทางให้ไปได้สะดวกและลาดยางตลอดหมด มีปลาดอย่างหนึ่งที่ประเพณีขับรถในยุโรปและอเมริกาหลีกกันข้างขวาทุกประเทศ มีแต่ประเทศอังกฤษกับประเทศสวิเดนที่หลีกข้างซ้าย แต่ในเมืองขึ้นของฮอลันดาทางตะวันออกนี้ หลีกกันข้างซ้ายอย่างอังกฤษ จะเป็นด้วยเหตุใดถามก็ไม่มีใครบอกได้ มีของควรชมอีกอย่างหนึ่ง คือโทรศัพท์ของเขาใช้ได้สะดวกดีจริง ๆ จะไปทางไหนโทรศัพท์สั่งโฮเตลและพาหนะได้ทันที ออกจากเมืองเมดันไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านไปใกล้ชายทะเลตอนหนึ่ง แล้วเลี้ยววกขึ้นที่ดอนไปทางตะวันตก แล่นรถเกือบ ๓ ชั่วโมงถึงเมืองเซียนตา ซึ่งอยู่ตรงทางแยกที่จะไปปาระบัตหรือปราสตากี หยุดกินของว่าง ทูลกระหม่อมชายเลี้ยงที่โฮเตล แล้วแล่นรถต่อไป ตอนนี้ปีนภูเขาหลายลูกทางลดเลี้ยวข้ามเขาเขื่อนลงขอบทะเลสาบโตบา ถึงตำบลปาระบัตเวลา ๑๓ นาฬิกา เดินทางแต่เมืองเมดันราว ๕ ชั่วโมง พักอยู่โฮเตลปาระบัตด้วยกัน

สังเกตในทางที่มาวันนี้ พื้นที่เกาะสุมาตราตอนใกล้ทะเลเป็นที่ราบเหมือนกลางแหลมมลายู มีบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาคล้ายๆกัน ต่อเข้าไปพื้นที่สูงขึ้นโดยลำดับ เป็นลูกเนินเขาติดต่อกันไปจนสูงกว่าพื้นทะเลใหญ่ถึง ๒,๐๐๐ ฟุต ที่ตอนนี้ทำสวนยาสูบสวนยาง สวนปามน้ำมันและสวนชาเป็นของฝรั่งทำโดยมาก ต่อนั้นเขาไปถึงภูเขาสูงถึง ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ฟุต แต่มิได้เป็นเทือกเขาอย่างทางแหลมมลายู บนเขาเป็น (ปลาโต) ที่ราบเป็นลูกเนินติดต่อกันไปดูแปลกตา ที่เป็นรอยถางเตียนไปหมด มีต้นไม้แต่ในซอกหรือบนยอดเขา พิจารณาจึงเข้าใจได้ว่าเป็นที่ไร่ปลูกข้าวของราษฎรที่อยู่บนปลาโตนี้ ปลูกขึ้นไปจนใกล้ยอดเขา ดูเหมือนทำไร่ในที่แห่งหนึ่งแล้วละทิ้งที่แห่งนั้นย้ายไปทำที่อื่น พักให้ที่เกิดโอชะตั้งสองปีสามปีจึงกลับไปทำอีก จึงดูเป็นที่ว่างอยู่มาก พลเมืองในเกาะสุมาตราไม่หนาแน่นเหมือนเกาะชะวา และมีพวกชะวามลายูและจีนอยู่มากแต่ตอนที่ราบใกล้ทะเล ข้างในเข้าไปพลเมืองเป็นพวกบาตัก ซึ่งเป็นชาวเกาะสุมาตรามาแต่เดิม เขาว่าแต่ก่อนชอบกินเนื้อมนุษย์ แต่พวกมิชชันนารีชาวฮอแลนด์กับเยอรมันพยายามเกลี้ยกล่อม เอาเข้ารีตเป็นคฤศตังได้โดยมาก พึ่งเลิกกินคนมาได้สัก ๓๐ ปี เสมียนและคนใช้ในโฮเตลที่ปาระบัต ใช้พวกบาตักทั้งนั้น ตำบลปาระบัตเป็นคอแหลมยื่นลงไปในทะเลสาบ ทำบ้านเรือนและโฮเตลบนแหลมนั้น โฮเตลที่ทำอยู่เป็นเรือนหลังน้อยๆอยู่หลังละ ๒ ครัวขึ้นไป มีหอประชุมและกินอาหารรวมกันหมดหลัง ๑ พื้นที่ปาระบัตสูงกว่าระดับทะเลใหญ่ ๓,๐๐๐ ฟุต สรรเสริญกันว่าเป็นที่ภูมิลำเนางามน่าดูและอากาศดีปรอทกลางวัน ๗๐ เศษ กลางคืน ๖๐ เศษ แต่เวลานี้ตอนบ่ายและกลางคืนฝนมักตก ด้วยยังไม่สิ้นฤดูมรสุม

วันจันทร์ที่ ๒๒ เวลาเช้า ทูลกระหม่อม เช่าเรือยนต์ของพวกมิชชันนารีพากันไปเที่ยวในทะเลสาบ ทะเลสาบโตบานี้ใหญ่โตมากน้ำก็ลึก มีเกาะอยู่กลางขนาดเกือบเท่าเกาะปินัง มีพลเมืองอยู่ที่เกาะกว่า ๘๐,๐๐๐ เรือยนต์แล่นจากแหลมปาระบัตไปกว่าครึ่งชั่วโมงจึงถึงเกาะ ขึ้นที่ท่าวัดมิชชันนารี แต่อยู่ข้าง “สนุกน้อย” เพราะตะพานทางขึ้นก็กร่อนถึงพระองค์ชายตกน้ำ บ้านช่องวัดวาก็เป็นเรือนมุงสังกะสีทั้งนั้น แต่วิวทะเลสาบงามน่าดูนัก ผิดกับทะเลสาบเมืองเขมรหรือแม้ในสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยขอบทะเลเป็นภูเขาชัน แต่ยอดเสมอกันเป็นพื้นโต๊ะ ตัวเกาะก็เป็นเช่นนั้น เขาว่าบนเขาเป็นที่ราบ กลับมากินกลางวันที่โฮเตล แล้วพวกทูลกระหม่อมขึ้นรถแยกไปทางข้างใต้ วันนี้จะไปแรมที่ตำบลบาลิเค พวกเราเหลืออยู่ที่โฮเตล รู้สึกเปลี่ยวเปล่าอยู่บ้าง เวลาบ่ายเศรษฐีเยอรมันชื่อฟอนดูเอราด เป็นคนมีเรือกสวนใหญ่โตอยู่ที่เมืองเซียนตา และมามีบ้านพักอยู่ที่ปาระบัตได้คุ้นเคยกับทูลกระหม่อม ๆ ทรงนำให้รู้จักเชิญไปกินน้ำชาที่บ้าน พูดกันถึงเรื่องแรงงานทำการกสิกรรม แกบอกว่าพวกบาตักชาวสุมาตราเกียจคร้านทำงาน ได้ค่าจ้างพอกินแล้ว แล้วก็หยุดเสีย ต้องไปจ้างชะวามาเป็นแรงงาน แต่พวกชะวาไม่ชอบอยู่สุมาตรา พอสิ้นสัญญาก็กลับ ต้องมีกิจเที่ยวหาว่าจ้างคนแรงงานอยู่เสมอ แต่ในเวลานี้พวกทำกสิกรรม เช่นตัวแกอยู่ข้างเดือดร้อนมากด้วยสินค้าราคาตกต่ำยังไม่ฟื้น

วันอังคารที่ ๒๓ เช่ารถขึ้นไปเที่ยวทางข้างใต้ จนถึงยอดเขาขอบทะเสสาบเป็นที่ดูวิวอีกแห่งหนึ่ง ทั้งได้ดูภูมิลำเนาในทางที่ไปด้วย กลับกินกลางวันที่โฮเตล บ่ายฝนตก

วันพุธที่ ๒๔ เวลาเช้า ๗.๓๐ นาฬิกา ขึ้นรถออกจากโฮเตลกลับทางเดิมจนถึงเมืองเซียนตา หยุดกินอาหารเช้าที่โฮเตลแล้วมาทางแยก เป็นพื้นปลาโตขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอด มาพบตลาดนัดใหญ่โตแห่งหนึ่งผู้คนมากมีประตูทางเข้า ใครมีสินค้าเข้าไปขายต้องเสียค่าเช่าตลาด แต่คนซื้อเข้าได้เปล่า แวะดูแล้วเดินทางต่อมาสังเกตตามทางที่มา เกาะสุมาตราอากาศชุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก แต่เรือกสวนและโรงงานที่ใหญ่โตเป็นของชาวต่างประเทศทั้งนั้น ราษฎรทำแต่พอกินไม่อดอยากแต่ไม่ร่ำรวย ไม่เห็นบ้านชาวเมืองที่มั่งคั่ง ไม่พบเจ๊กเท่าใดนัก.

เวลา ๑๑ นาฬิกา ถึงโฮเตลปราสตากี สูงกว่าระดับทะเลใหญ่ ๔,๘๐๐ ฟิต เป็นที่สำคัญสำหรับเที่ยวในสุมาตราเลื่องลือว่าอากาศดี มีเรือนอาศัยสถานปลูกรายไปทุกลูกเนิน ที่โฮเตลก็จัดอย่างประณีตกว่าแห่งไหนๆในสุมาตราที่ได้เห็นมาแล้ว บกพร่องแต่เครื่องอบอุ่นไม่มีท่อน้ำร้อนหรือเครื่องผิงไฟเหมือนโฮเตลในยุโรป ด้วยฝรั่งเขาเห็นว่าไม่จำเป็น แต่ได้สังเกตดูปรอทในห้องนอนกลางวันเพียง ๖๐ เศษ กลางคืนลงมาถึง ๕๐ เศษ แม้เขาทำโปงห่มนอนให้อย่างยุโรป ก็ยังไม่พอสำหรับพวกเรา ต้องร้องขอผ้าห่มเพิ่มกับทั้งขวดน้ำร้อนวางในที่นอน แต่เขาก็ทำให้ตามใจทุกอย่าง โฮเตลและเรือนชานที่สร้างในตำบลปราสตากีทำด้วยไม้ทั้งนั้น ไม่เห็นก่อเป็นตึกและทำชั้นเดียวเป็นพื้น เห็นจะเป็นด้วยอยู่ใกล้ภูเขาไฟ แลเห็นควันกรุ่นอยู่ไม่ห่างโฮเตลนัก เห็นจะกลัวแผ่นดินไหวด้วยฤทธิ์ภูเขาไฟ จึงไม่สร้างตึก ในลานโฮเตลมีเครื่องเล่นล่อคนท่องเที่ยวแทบทุกอย่าง ทั้งกอลฟใหญ่ กอลฟเล็ก สระว่ายน้ำ สนามเตนนิส บิลเลียดและเล่นไพ่ ทั้งมีม้ามีรถสำหรับให้เช่าเที่ยวเตร่ แต่ที่เที่ยวมีไม่สู้มากนัก และมักจะอยู่ไกล ๆ วันนี้ตอนบ่ายฝนตกไม่ได้ไปเที่ยว

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ เช้า ๙ นาฬิกาขึ้นรถยนต์ไปดูหมู่บ้านพวกบาตัก ระยะทางสัก ๑๐ กิโลเมตร เป็นบ้านเก่ามีเรือนอย่างโบราณตามแบบของคนพวกนั้น ดูพิลึก แต่จะพรรณนายากเป็นเรือนไม้จริงหลังคาจากใต้ถุนโปร่งอย่างเรือนไทย แต่ฝาเตี้ยหลังคาสูงซ้อนกันสองชั้น อกไก่อ่อนกลาง บนอกไก่ทำเหมือนมณฑปปักเรียงกันสามหลัง สำหรับเลี้ยงนกหรือเป็นเรือนผีรู้ไม่ได้ ใต้ถุนกั้นรั้วเห็นจะสำหรับเลี้ยงวัว แต่บ้านพวกบาตักสกปรกเหลือประมาณ ปล่อยหมูเดินเกลื่อน บางตัวหัวเปื้อนคูถก็ไม่เห็นรังเกียจ ขากลับแวะดูอาศัยสถานที่ตำบลตะบันด์ยาเหว่า อากาศดีสำหรับคนรื้อไข้ไปอยู่ มีโรงโอสถศาลาตั้งอยู่ด้วย กลับจากตะบันด์ยาเหแวะดูพิพิธภัณฑสถานของบาตัก ไม่ใคร่มีอะไรน่าสังเกตนัก ของโบราณของคนพวกนี้ก็คล้าย ๆ กับพวกชาวเกาะเหล่านี้ และมีของได้มาแต่ชะวาบ้าง เวลาบ่ายฝนตกไปไหนไม่ได้อีก เดิมคิดหาเรือกลับปินังก่อนวันอาทิตย์ที่ ๒๙ ไม่มีเรือ จึงคิดจะอยู่ที่ปราสตากีจนวันอาทิตย์ก็กลับเลยลงเรือทีเดียว แต่ถูกฝนตกต้องนั่งขังตัวทนหนาวอยู่ในห้อง ๒ วัน ออกเบื่อจึงสั่งเปลี่ยนกระบวนว่าจะกลับวันเสาร์ จะลงมาพักแรมที่เมืองเมดัน วันอาทิตย์ลงเรือ

วันศุกร์ที่ ๒๖ เวลาเช้าออกเดินเที่ยวเล่น ไปที่โรงเรียนกสิกร (แต่ไม่ได้เข้าไป) ดูสนามกอลฟแล้วไปดูตลาด ขากลับจะต้องเดินขึ้นสูง พวกโปลิศลับมาอาสาเอารถของเขาส่ง เดิมเข้าใจว่ารัฐบาลเขาให้มีโปลิศลับตามแต่ทูลกระหม่อมชาย ต่อเมื่อแยกกันมาจึงรู้ว่าเขาให้ตามเราด้วยอีกรถ ๑ ตกลงเลยรู้จักกัน เย็นมิศเตอรบรุนน์ผู้จัดการบริษัทเรือยนต์ในกรุงเทพฯ ไปถึงปราสตากี ว่าขึ้นเครื่องบินมาจากดอนเมืองในเช้าวันนั้นเอง เพื่อจะไปรับภรรยาซึ่งกลับจากยุโรปบินจากดอนเมือง ๖.๓๐ นาฬิกา ถึงเมืองไทร ๑๑ นาฬิกา ถึงเมืองเมดัน ๑๓ นาฬิกา กินกลางวันที่เมดันแล้วเช่ารถขึ้นไปปราสตากี จึงไปรู้ว่าพวกเราอยู่ที่นั่น ตอนค่ำได้มิศเตอรบรุนน์เป็นเพื่อนพูดเพลินดี ค่ำวันนี้หนาวส่งลำยิ่งกว่า ๒ คืนที่ล่วงแล้ว ถึงต้องเอาเสื้อโอเวอรโค๊ตห่มนอน

วันเสาร์ที่ ๒๗ เวลา ๙ นาฬิกา ขึ้นรถยนต์ออกจากปราสตากี ในหนังสือนำทาง เขาว่าทางลงภูเขาตอนนี้วิวงามนัก แต่มีความเสียใจที่ลงมาวันนี้กำลังเมฆคลุมยอดเขา ต้อง “เข้าหมอกออกเมฆ” ผ่านลงมาเมฆบังไม่แลเห็นวิว จนถึงภูเขาชั้นกลางซึ่งสูงเพียงราว ๓,๐๐๐ ฟิต จึงแลเห็นแดด แต่ทางที่ลงตัดเลียบเขาวกวนมากมีที่ “พับผ้า” นับไม่ถ้วน

เวลา ๑๑ นาฬิกา ถึงเมืองเมดัน พักที่โฮเตลเดอบัวตามเดิม กินกลางวันและจำวัดแล้วขึ้นรถเที่ยวชมเมือง เมืองเมดันเป็นเมืองสร้างใหม่ดังกล่าวมาแล้วดูไม่มีอะไรที่เก่าแก่เกิน ๓๐ ปี แผนผังวางตามแบบเมืองขึ้นของฮอลันดาทางนี้ คือ ทำเลค้าขายเอาไว้ทางหนึ่งมีตึกแถวร้านจีนและแขกขายของทำนองเดียวกันกับที่สิงคโปร์ปินังหลายสายถนน มีตลาดของสดของเทศบาลทำใหม่เป็นโครงเหล็กหลังคามุงกระเบื้อง ๔ หลัง ดูใหญ่โตกว่าที่ไหน ๆ หมดที่เคยได้เห็น ที่สร้างสถานต่าง ๆ ของรัฐบาลและโฮเตลกับทั้งเรือนร้านบ้านช่องและวัดฝรั่งอยู่ตอนกลาง ที่วังสุลต่านเดลี และบ้านเรือนพวกแขกชาวเมืองอยู่ต่อไปอีกตอนหนึ่ง ถนนหนทางและการรักษาท้องที่สะอาดดี ได้แวะที่ร้าน “คัฟเฟ” ซึ่งขายขนมและไอสกรีมต่าง ๆ ทำอร่อยดีมีคนไปนั่งกินเต็มร้านมิใคร่ขาด ร้านอย่างนี้ไม่มีที่ปินังและสิงคโปร์เพราะอังกฤษไม่นิยมกินของหวานเหมือนชาวคอนติเนนต์

มาคราวนี้ได้อยู่โฮเตลของฮอลันดา ๓ แห่ง สังเกตดูลักษณะคล้าย ๆ กันทั้งนั้น คือในห้องนอนทำกรงลวดตั้งเตียงนอนในนั้น ๒ เตียงเหมือนกันทุกแห่ง แต่ห้องอื่นนอกจากห้องนอนต่างกันเป็นชั้น ๆ เรียกราคาต่างกัน ชั้นยอดมีทั้งห้องนอนห้องนั่งและห้องน้ำเป็นเอกเทศไม่ปะปนกับใคร ชั้นกลางห้องนอน ๒ ห้อง ใช้ห้องนั่งและห้องน้ำร่วมกัน ชั้นต่ำมีแต่ห้องนอน ต้องเดินไปหาห้องน้ำใช้ร่วมกันมาก นอกจากนั้นมีไฟฟ้าและเครื่องใช้ครบครันเหมือนกันหมด การกินนั้นเมื่อตื่นเช้ามีน้ำชากับขนมปังมาให้กินรองท้องที่ห้องนอน ต่อมาตั้งแต่เวลา ๗ นาฬิกาถึง ๙ นาฬิกา เลี้ยงอาหารเช้า (เบรกฟัสต์) มีน้ำชาหรือกาแฟ ขนมปังจืดขนมปังหวาน เนยอ่อนแข็ง แยม หมูแฮม ไข่ไก่ ต้องไปกินที่ห้องเลี้ยงอาหาร ถ้าตื่นสายหรือยังไม่อยากแต่งตัวจะสั่งให้เขายกเอามาให้กินในห้องที่อยู่ก็ได้ แต่ต้องเสียค่ายกมาเล็กน้อย ตั้งแต่เวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกาถึง ๑๔ นาฬิกา กินกลางวันที่ห้องเลี้ยงอาหาร มีทั้งอาหารอย่างฝรั่งและกินข้าวอย่างชะวาสลับวันกัน ระหว่างเวลา ๑๔ นาฬิกา ล่วงแล้วจน ๑๖ นาฬิกาจำวัดกันหมด เวลา ๑๖ นาฬิกา เอา “ที” มีขนมหวานน้ำชาหรือชอกแลต แล้วแต่จะสั่งมาให้กินที่ห้อง เวลาค่ำแต่ ๑๙.๓๐ นาฬิกาถึง ๒๑ นาฬิกา กินอาหารเย็นที่ห้องเลี้ยง ตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำเลิกประเพณีแต่งเสื้อเย็น เดี๋ยวนี้ประเพณีของฝรั่งทางนี้เปลี่ยนแปลกมาอย่างหนึ่ง คือ แทนที่จะไปนั่งโต๊ะตามเวลากินอาหารเย็น มักมานั่งกินค๊อกเตลกันข้างหน้าโฮเตลเป็นกลุ่ม ๆ จนจวน ๒๑ นาฬิกา จึงเข้านั่งโต๊ะกินอาหาร เสร็จแล้วเต้นรำ หรือถ้ามิใช่วันกำหนดก็กลับบ้าน มีประเพณีอีกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นด้วยรัฐบาลฮอลันดา ระวังคนจรอย่างแข็งแรง พอใครไปอยู่โฮเตล เจ้าของโฮเตลก็ขอให้ลงทะเบียนทันที ช่องทะเบียนนั้น (๑) ชาติ (๒) วันถึง (๓) ชื่อ (๔) มาจากไหน (๕) ลายมือลงชื่อ (๖) อาชีพ (๗) วันไป (๘) ไปไหน

ว่าถึงความลำบากของชาวเราที่ไปเกาะสุมาตรามีอยู่บางอย่าง คือ ๑ เรื่อง อัตราเงิน แต่ก่อนราคากิลเดอไม่ถึงบาท เดี๋ยวนี้ถึงบาทกับ ๔๐ เซ็นต์ เพราะฮอลันดายังใช้มาตราทองคำเพิ่มความสิ้นเปลืองขึ้นไม่น้อย แต่พวกฮอลันดาเองก็บ่น ว่าราคากิลเดอแพง ขายของไม่ออกเหมือนแต่ก่อน พวกเมืองขึ้นอยากให้ออกจากมาตราทอง แต่รัฐบาลในฮอแลนด์ยังดื้อดึงอยู่ ความลำบากอย่างที่ ๒ เรื่องภาษา เพราะพวกชาวเมืองพูดแต่ภาษามลายูเป็นภาษากลาง พวกเราพูดกับฝรั่งฮอลันดาได้ไม่ลำบากเพราะเขามักพูดอังกฤษได้ แต่จะพูดกับพลเมือง เช่น บ๋อยและคนขับรถเข้าใจกันยาก เมื่อเข้าที่คับขันก็ต้องพูดพุ่งภาษามลายูไปตามแต่จะนึกได้ ความลำบากอย่างที่ ๓ เรื่องคนรับใช้ที่เอาไปด้วย ได้ยินว่าเรือฮอลันดากวดขันมากในเรื่องชาวต่างประเทศโดยสารชั้นที่ ๓ เพราะเกรงพวกคอมมิวนิสต์ต่างประเทศ แต่เราไปเรืออังกฤษ เขาไม่กวดขันเช่นนั้น แต่เมื่อขึ้นบกแล้ว คนรับใช้จะไปอยู่ด้วยที่โฮเตลเขาก็ไม่ห้ามปราม แต่ไม่มีที่ให้คนรับใช้อยู่กิน ต้องนอนที่ไหนๆในห้องเราตามแต่จะเสือกตัวลงได้ และต้องไปเที่ยวซื้อหากินเองตามตลาด เมื่ออยู่ปราสตากีตลาดอยู่ไกล เราขอให้โฮเตลเลี้ยงคนรับใช้คิดเอาถึงวันละ ๖ กิลเดอทนไม่ไหว ความลำบากอย่างที่ ๔ เรื่องคนขายของที่หน้าโฮเตลมันหน้าด้าน คอยรบกวนให้ซื้อ (อย่างเดียวกับที่ปอดเสด) จนทนไม่ไหว ไม่ขายโดยสุภาพเหมือนกับที่ปินังและสิงคโปร์

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ เวลาเช้าออกเดินเที่ยวเล่นในเมืองเมดัน ดูร้านรวงเปิดขายของโดยมาก ที่ปิดก็มีแต่น้อยกว่าที่เปิด เห็นของแปลกในเมืองนี้อย่างหนึ่ง คือ รถยนต์ ๓ ล้อ (มิใช่อย่างรถกระจาด) ทำถังเหมือนรถใหญ่ใช้เป็นรถจ้าง นายห้าง “เหลียง” ที่ให้เช่ารถยนต์บอกอธิบายให้เข้าใจว่า รัฐบาลอยากจะเลิกรถ (เจ๊ก) อย่างคนลาก ด้วยเห็นว่าเป็นการทารุณกรรมแก่มนุษย์ จึงคิดอ่านให้มีบริษัทสั่งทำรถ ๓ ล้ออย่างนี้มารับจ้าง เพราะนั่งก็สบายกว่ารถเจ๊กและแล่นเร็วกว่า และอาจเรียกค่าโดยสารได้เท่ากับรถเจ๊ก เพราะโสหุ้ยน้อย นัยว่าใช้ ๒๔ ชั่วโมงเปลืองน้ำมันเบนซินเพียง ๒ แกลอนเท่านั้น คนชอบใช้มาก แต่ไปเกิดลำบากกับพวกรถ “ซาโด๊ะ” เทียมม้าอย่างที่รับจ้างมาแต่โบราณ เพราะเมืองเดลีเป็นที่ประสมม้ามาก ยังไม่ยอมแพ้รถยนต์เหมือนเช่นปินังและสิงคโปร์ ว่าเมื่อเร็ว ๆ มีการ “สะไตร๊ค” แสดงความไม่พอใจที่มีรถยนต์ ๓ ล้อ ยังกำลังแข่งกันอยู่ในเวลานี้

เมื่อกินกลางวันและจำวัดแล้ว ถึงเวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา ขึ้นรถไปเยี่ยมตอบมิศเตอร์เฮนเดอสันกงสุลอังกฤษกับภรรยา แล้วเลยออกจากเมืองเมดันมาลงเรือเกดะที่ท่าปะลาวัน เวลาบ่าย ๑๗ นาฬิกา (ตามเวลาที่ใช้ในเมืองขึ้นของฮอลันดา) ออกเรือแล่นตลอดคืน ถึงปินัง วันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม เวลา ๗ นาฬิกา

สิ้นเรื่องเพียงเท่านี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ