วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๗๖

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เกล้ากระหม่อมได้รับลายพระหัดถ์ซ้อนกันไปถึง ๓ ฉะบับ วันอังคารที่ ๑๖ ได้รับ ๒ ฉะบับ เปนลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๘ กับที่ ๑๔ ครั้นถึงวันเสาร์ที่ ๒๐ ได้รับอีกฉะบับ ๑ เปนลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๑๙ ในวันเสาร์ที่ ๒๐ นั้น เปนกำหนดที่เกล้ากระหม่อมจะเขียนหนังสือส่งมาถวายแต่เห็นว่าเปนเวลาเสด็จไม่อยู่ ไปเฝ้าทูลละออง ฯ ส่งเสด็จที่เมดัน หนังสือจะมาทิ้งอยู่เปล่าจึงงดเสีย มาเขียนถวายเอาวันเสาร์ที่ ๒๗ นี้ส่งมาคอยรับเสด็จกลับวันที่ ๒๙

เมื่อได้อ่านลายพระหัดถ์ทั้ง ๓ ฉะบับทราบความแล้ว ให้บังเกิดความสลดใจ ในการที่เสด็จออกมาอยู่ปินัง หวังใจว่าจะทรงสำราญพระทัยปลอดโปร่ง แต่กลับได้รับความลำบาก อย่างคำที่เขาพูดกันว่า “ตกทุกข์ได้ยาก”

ต่อนี้ไปขอทูลสนองทางโบราณคดีที่ทรงตั้งปัญหาไป ได้ตริตรองเห็นดั่งจะกราบทูลต่อไปนี้

๑. สุพรรณบัตร คือลานทอง แต่ก่อนเขียนหนังสือกันด้วยใบลาน เพราะทำกระดาษยังไม่เปน เมื่อจะเขียนหนังสืออะไรที่อย่างดี เช่นพระนามพระเจ้าแผ่นดินและเจ้า จึงแผ่แผ่นทองรูปยาวเหมือนลานจารแทนใบลาน สมเด็จพระสังฆราชนับเสมอเจ้า จึงใช้ลานทอง ในหนังสือวงศ ๆ จักร ๆ พระราชสาสน์ก็จารึกด้วยลานทองเห็นจะทำกันจริงดั่งนั้น สุพรรณบัตรเก่าที่สุดซึ่งเกล้ากระหม่อมได้เห็นก็คือสุพรรณบัตรตั้งแม่นางมงคลเทวีศรีพระแก้ว อันได้มาแต่ตรุในพระเจดีย์วัดพระศรีสรเพชญ ศักราช ๑๔๑๖ จะเปนศักราชอะไรแล้วแต่จะทรงวินิจฉัย เจ้าพระยาก็คือตั้งพระยาเปนเจ้า จะได้สุพรรณบัตรดูก็ควรอยู่ แต่แล้วตั้งมากเข้าก็เลยต่ำลง เปนหิรัญบัตรจนถึงกระดาษ

หิรัญบัตร ผเอิญพบได้มาใหม่ๆ พอที่จะกราบทูลถวายได้ว่ามีมานานแล้ว เปนหิรัญบัตรตั้งพระครูธรรมเฐียร มีลักษณอย่างเดียวกันกับสุพรรณบัตรตั้งแม่นางมงคลเทวี ลงศักราช ๑๔๘๗ อ่อนกว่าสุพรรณบัตรแม่นางมงคลเทวี ๗๑ ปี ข้าหลวงตรวจการ (คือสมุหเทศาภิบาล) มณฑลพิษณุโลก ส่งมาให้พิพิธภัณฑสถาน ณ กรุงเทพฯ ว่า พระภิกษุอิ่มพบในพระเจดีย์วัดร้าง ซึ่งตั้งอยู่เหนือสถานีพิษณุโลกขึ้นไปเล็กน้อย ได้คัดสำเนาอักษรถวายมาทอดพระเนตรด้วยแล้ว

ตามรบัตร คือแผ่นทองแดงจารึกอักษร ขุดพบกันในประเทศอินเดียก็มี ลางทีจะมีมาแล้วในประเทศอินเดีย ทั้งสุพรรณบัตร หิรัญบัตร และตามรบัตร

๒. ประกาศต่างๆ ย่อมมีมานานแล้ว ค้นรากแก้วเห็นว่ามีอยู่สองทาง คือประกาศเทวดาอย่างหนึ่ง ประกาศมนุษย์อย่างหนึ่ง ประกาศเทวดานั้น แรกทีเดียวก็มีมนตร์ เปนคำสรรเสริญเทวดา เชิญมาให้ทำอะไรให้ตามปรารถนา มีมาในคัมภีร์เวทเปนประเดิม แล้วแจกลูกมาเปนอ่านโองการแช่งน้ำ อ่านโองการดำน้ำลุยเพลิง บูชานพเคราะห์ สดุดีสังเวย สัคเคเชิญเทวดามาฟังธรรม ประกาศบรมราชาภิเษกต่อจากสัคเค ประกาศพิธีตรุสและอื่นอีก เหล่านี้เปนแขนงของมนตร์ทั้งนั้น ส่วนประกาศมนุษยมีการตีกลองร้องป่าวหรือตีฆ้องร้องป่าวเปนประเดิม เช่นในเวสสันตรชาดกกัณฑ์นครกัณฑ์ ว่าให้เอาอานันทเภรีไปตีป่าวแก่มหาชนในหว่างเขาวงกฎว่าสมเด็จพระปิโยรสเสด็จคืนครองพิภพดั่งเก่า พระราชอาณาจักรเปนของพระลูกเจ้าตั้งแต่นี้ไป ประกาศตั้งกรม ตั้งพระสังฆราช และอะไรๆ เพื่อให้คนรู้ก็เปนแขนงแห่งประเทศมนุษย์ทั้งสิ้น ประกาศอะไรจะมีมาก่อน ประกาศอะไรจะมีมาหลัง ประกาศอะไรจะเอาอย่างอะไรนั้น ก็ต้องวินิจฉัยดู แต่คงไม่แตกจากสองสายนี้ไปเปนแน่

๓. คาถา “ยํ ยํ” ซึ่งทรงพระดำริคาดว่า สมเด็จพระพุทธฯฉิมจะถวายในท้ายเทศนา เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ นั้นเหมาะนัก เชื่อว่าถูกแน่

ราชบัณฑิตยสภานั้น เกล้ากระหม่อมได้ทูลรายงานมาก่อนนี้แล้วไม่ใช่เลิกล้ม เปนแต่จัดเปลี่ยนแปลง ถอนแผนกวรรณคดี โบราณคดี ศิลปากรไปไว้กระทรวงธรรมการ ทั้งสามแผนกเอารวมกันเปนกรม เรียกว่ากรมศิลปากร ให้หลวงวิจิตรวาทการเปนอธิบดีบัญชาการ ส่วนราชบัณฑิตยสภาก็ยังคงมีอยู่ เหลือแต่แผนกกองกลาง กรมหมื่นพิทยาลงกรณก็ยังคงตำแหน่งอยู่ตามเดิม มีหน้าที่เบิกเงินส่งไปป้อนกรมศิลปากร ในว่าภายหลังจะออกพระราชบัญญัติจัดราชบัณฑิตยสภาหรือกองกลางนั้นใหม่ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเปนประการใด ว่ากำลังร่างพระราชบัญญัติอยู่

เจ้าพระยาวรพงศตั้งกฏิกาขึ้น ว่าวันเสาร์ให้พระบรมวงศานุวงศและข้าราชการ เข้าไปประชุมกันในพระบรมมหาราชวังเซนชื่อถวายและฟังข่าวเสด็จพระราชดำเนิน จัดห้องใต้พระที่นั่งจักรีองค์ตะวันออกกับในสนามหญ้าหน้าห้องนั้นเปนที่รับแขก มีขาหยั่งตั้งแผ่นกระดานติดโทรเลขและรายงานไว้ให้ดู เกล้ากระหม่อมไปสู่ที่ประชุมเมื่อวันเสาร์ก่อน พบพระยาสุริยาถามถึงฝ่าพระบาท ว่าเมื่อไรจะเสด็จกลับ เกล้ากระหม่อมก็ตอบเขา ว่ารับสั่งว่าสิ้นมรสุมแล้วจะเสด็จกลับ

หวังว่าฝ่าพระบาทเสด็จไปประพาสเมดันคงสนุกสำราญ เสด็จกลับแล้วคงจะตรัสเล่าถึงสถานประเทศนั้นไปให้ทราบเกล้า ซึ่งคิดว่าจะเปนประเทศที่น่าเที่ยวน่าชม

เกล้ากระหม่อมกับทั้งบุตรภรรยาอยู่ด้วยกันเปนสุขสิ้น เดือดร้อนแต่หนาวกลับมาอีก เมื่อคืนนี้ปรอทลงถึง ๕๘ ฟ. อยู่ข้างหนักมือมากกว่าเมื่อเดือนญี่เปนไหน ๆ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระนริศรฯ ฉะบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคมนี้ น่าเข้าใจว่าจะเปนวันที่ ๒๗ มกราคม เพราะส่งมาคอยรับเสด็จกลับจากเมดัน (สุมาตรา) ข้อความก็ผูกพันธกับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๗ ที่ ๑๒ และที่ ๑๔ ซึ่งท่านทรงอ้างว่าได้รับลายพระหัตถ์ ๓ ฉะบับ ลงวันที่ ๘ ที่ ๑๔ และที่ ๑๙ นั้น ค้นร่างพบแต่ฉะบับวันที่ ๑๔ และในวันที่ ๑๙ มกราคมนั้นเปนวันเสด็จจากปีนังไปสุมาตรา เวลาย่ำค่ำเรือออกจากท่าปีนัง

  2. ๒. หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ