วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ดร

บ้านซินนะมอน ปีนัง

วันที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ ๙ นี้ หม่อมฉันได้รับลายพระหัดถ์ตรัสถามความ ๒ ข้อ ขอทูลสนองดังต่อไปนี้

๑. กรมหลวงสรรพศิลปปรีชานั้น หม่อมฉันตรวจพบในหนังสือราชสกุลวงศ ว่าได้ทรงกำกับกรมหมอนวด เห็นว่าจะเปนความจริง ด้วยเมื่อรัชชกาลที่ ๔ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทได้ทรงกำกับกรมหมอยาดูแลรักษาพระเจ้าลูกเธอที่ประชวรมาจนปลายรัชชกาล เห็นเมื่อจะประชวรเปนอัมพาธแล้ว กรมขุนวรจักร์จึงได้กำกับกรมหมอ กรมหลวงสรรพศิลปนั้นสิ้นพระชนม์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ สันนิษฐานว่าเมื่อกรมหลวงสรรพศิลปสิ้นพระชนม์แล้ว กรมหลวงวงศาจึงได้ทรงกำกับทั้งกรมหมอนวดหมอยาต่อมา

๒. มารดาเจ้าเชียงใหม่แก้วนวรัฐนั้นไม่ได้เปนเจ้า และยังมีข้อปลาดต่อไปที่เก็บเงียบไม่ปรากฏว่าใครที่ขึ้นไปเชียงใหม่ได้เคยพบแม้ตัวหม่อมฉันก็ได้ไปหลายครั้งก็ไม่ได้พบ ที่รู้ว่ามารดาของเจ้าเชียงใหม่ยังอยู่ก็ด้วยได้ยินผู้อื่นบอก ชื่อไรก็ไม่รู้ ขอทูลอธิบายเปนฝอยอีกต่อไป ราชประเพณีในมณฑลพายัพนั้น ถ้าพ่อเปนเจ้า แม่เปนเจ้า ลูกเปนเจ้าสืบลงไปทุกชั้น ถ้าพ่อเปนเจ้า แม่เปนไพร่ เรียกลูกว่า “นาย” เว้นเสียแต่ลูกเจ้าครองเมืองถึงแม่ไม่ได้เปนเจ้าก็เรียกลูกว่าเจ้า พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เดิมชื่อเจ้าน้อยอินทนนท์ สืบสายลงมาแต่เจ้าเชียงใหม่พุทธวงศ เดิมมีลูกกับภรรยาไพร่อยู่แล้วหลายคน แต่ที่หม่อมฉันได้รู้จักตัว ๓ คน เจ้าราชวงศ (ชื่อตัวจะอย่างไรจำไม่ได้เสียแล้ว) คน ๑ เจ้าอินทรวโรรสสุริวงศคน ๑ และเจ้าแก้วนวรัฐคน ๑ ทั้ง ๓ นี้เมื่อแรกเกิดเปนนายทั้งนั้น ถึงรัชชกาลที่ ๕ พระเจ้ากาวิโลรสสุริวงศได้ครองเมืองเชียงใหม่มีแต่ลูกหญิง ๒ คน ชื่อเจ้าทิพยเกษรคน ๑ เจ้าอุบลวรรณาคน ๑ เมื่อจะแต่งงานเจ้าทิพเกษร ๆ ขอเลือกผัวเองตามชอบใจ พระเจ้าเชียงใหม่ยอมตามใจ เจ้าทิพเกษรชอบเจ้าน้อยอินทนนท์ พระเจ้าเชียงใหม่จึงเอามาแต่งงานกับเจ้าทิพเกษรทั้งในเวลาเมื่อมีลูกเมียแล้ว และทูลขอให้เจ้าน้อยอินทนนท์เลื่อนเปนเจ้าราชวงศ และเปนเจ้าอุปราช ต่อมาจึงได้เปนเจ้าเชียงใหม่ต่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริวงศ มีลูกด้วยกันกับเจ้าทิพเกษรเปนผู้หญิงทั้ง ๒ คน เมื่อเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์เปนข้าหลวงขึ้นไปอยู่เชียงใหม่ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์กับเจ้าทิพเกษรนับถือขอให้ขนานนามธิดา เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์จึงตั้งนามว่า จันทร์โสภาคน ๑ ดารารัศมีคน ๑ เจ้าจันทร์โสภาถึงแก่กรรมเสียเมื่อรุ่นสาว เจ้าดารารัศมีนั้นให้ไว้จุกเหมือนเด็กในกรุงเทพฯ เมื่อมารดาถึงแก่กรรมแล้วบิดาให้พาลงมาเฝ้าในกรุงเทพฯ ครั้ง ๑ ครั้นกลับขึ้นไปโกนจุกแล้ว พอเปนสาวส่งลงมาถวายตัวทำราชการฝ่ายใน ส่วนลูกผู้ชาย ๓ คนก็ได้เปนเจ้าขึ้นเมื่อบิดาเปนเจ้าเชียงใหม่ แล้วได้มียศศักดิ์ขึ้นเปนลำดับ

คราวนี้จะทูลต่อไปถึงประวัติเจ้าอุบลวรรณาน้องของเจ้าทิพเกษร สมัครจะเลือกผัวเองตามชอบใจเหมือนกับพี่ แต่ไม่รอให้พ่อแม่แต่งงาน เลือกและเปลี่ยนเอาเองตามชอบใจ มีลูกหลายคนนัยว่าไม่ร่วมบิดากันเลย ลูกหญิงคน ๑ ชื่อเจ้าคำไต้ เปนลูกของพระยาประจิม (ทิม สนธิรัตน์) บิดาหม่อมเจิมของหม่อมฉัน เมื่อหม่อมเจิมขึ้นไปเชียงใหม่ได้พบปะนับเป็นพี่น้องยังส่งเสียกันอยู่จนทุกวันนี้ หญิงกุมารีเรียกว่าเจ้าป้า แต่ตัวเจ้าอุบลวรรณาเองตายเสียนานแล้ว

หม่อมฉันสันนิษฐานถึงเหตุที่ตรัสถามถึงมารดาเจ้าแก้วนวรัฐ เข้าใจว่าจะเนื่องด้วยเรื่องพระราชทานเกียรติยศเมื่อปลงศพ ถ้าว่าตามความเห็นของหม่อมฉัน เห็นว่าพระราชทานหีบหลวง เช่นศพมารดาเจ้าพระยามุขมนตรีก็เห็นจะพองาม เข้าใจว่าเขาคงเผาต่อพระศพพระราชชายา คงจะไม่เปนงานเงียบทีเดียวนัก ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

อนึ่งหม่อมฉันได้รับจดหมายลูกบอกมาว่าเมื่องานพระศพพระองค์อรุณมีเจ้านายรัชชกาลที่ ๔ ไปด้วยกันมากก็ออกยินดี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ