วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ น

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันเขียนจดหมายฉะบับนี้มารับเสด็จกลับต่างตัว หวังว่าการที่เสด็จไปประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกครั้งนี้ จะสำเร็จประโยชน์สมพระประสงค์ทุกสถาน และหวังใจโดยฉะเพาะว่าขากลับ คุณโตกับทวีจะไม่เมาคลื่นเหมือนเมื่อขาไป เพราะสังเกตดูเวลานี้เปนลมมรสุมตะวันตกแล้ว ทางฟากตะวันตกไม่มีคลื่น ถ้าจะไปถูกคลื่นก็ตอนเมื่อข้ามไปเข้าปากน้ำเจ้าพระยาไม่ช้านานเท่าใดนัก

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ต่อมาอีก ๒ ฉะบับ ฉะบับที่ส่งมาจากมณฑลปัตตานีมาถึงก่อน ฉะบับที่ส่งมาจากพัทลุงมาถึงทีหลัง ได้เคยนึกว่าจะเขียนจดหมายถวายอีก แต่ไม่รู้ว่าจะส่งไปที่ไหน ด้วยเปนเวลากำลังเสด็จท่องเที่ยวจึงเปนอันจนใจ ระวางนี้มีเรื่องที่จะเล่าถวายได้ ๒ เรื่อง คือ

พระองค์หญิงอรประพันธรำไพสิ้นพระชนน์ที่ตำหนักบ่อแขม วันที่ ๒๖ พฤษภาคม เวลา ๑๙ นาฬิกา รุ่งขึ้นเสด็จไปพระราชทานน้ำสรงพระศพ แล้วเชิญลงพระโกษฐ์กลับไปกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟพิเศษ เอาพระศพไปไว้ที่เรือนคุณจอมมารดาอ่อน ณ ส่วนนอกพระราชวังดุสิต ด้วยเจ้าภาพกราบบังคมทูลขอให้เปนเช่นนั้น เหตุที่พระองค์หญิงอรประพันธฯ สิ้นพระชนม์ตรงกบภาษิตว่า “ถึงที่ตาย” ด้วยเมื่อต้นเดือนเริ่มประชวร หม่อมฉันทราบก็รีบไปเยี่ยม เวลานั้นพระวรสุนทโรสถมาพักอยู่ที่มฤคทายวัน หม่อมฉันได้รับเอาไปดูด้วย หมอว่าเปนไข้รูมะติค เวลาจับปรอทขึ้นถึงร้อยสามร้อยสี่และบวมตามข้อ ทั้งหมอและพวกเจ้าภาพโดยมากให้หม่อมฉันทูลแนะนำให้รีบกลับไปรักษาพระองค์ในกรุงเทพฯ ด้วยเปนโรคหายช้า อยู่ที่นี่หามดหมอยาก ถึงได้หมอ-ยาก็ไม่มี แต่พระองค์ของเธอเองไม่ยอมกลับ อ้างเหตุว่าจะต้องหามไปอายเขาเท่านั้น ใครทูลจะให้กลับก็กริ้ว เปนเช่นนั้นตลอดมาจนพระอาการเพียบหนักลง ถึงเจ้าภาพทูลขอให้พระเจ้าอยู่หัวตรัสบังคับ ก็เปนอันตกลงว่าจะกลับ เมื่อจะกลับพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปส่ง พอหมอช้อนพระองค์ขึ้นก็มีอาการพระเนตรตั้งและหอบ เปนอันกลับไม่ได้ ต่อมาอีกวันหนึ่งก็สิ้นพระชนม์

อีกเรื่องหนึ่งนั้นเรื่องฐานะของราชบัณฑิตยสภา มันเกิดชอบกล เดิมหม่อมฉันได้เห็นประกาศกระทรวงทะบวงการ ในประกาศนั้นว่า ราชบัณฑิตยสภาขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งทราบว่าคงให้เงินในงบประมาณเท่าปีก่อน ก็เข้าใจว่าจะคงเปนไปอย่างแต่ก่อน แต่เมื่อมาเห็นประกาศโครงการกระทรวงธรรมการ ในนั้นมีกรมศิลปากรจำแนกเปนกองศิลปากร กองหอสมุด กองพิพิธภัณฑสถานกับโบราณคดี เห็นเข้าก็แปลกใจ ถ้าเปนดังประกาศ ๒ ฉะบับนั้น ราชบัณฑิตยสภายังคงมีอยู่ แต่ไม่มีอะไรทำ เพราะการต่างๆที่ราชบัณฑิตยสภาเคยทำเอาไปตั้งเปนกรม ซึ่งอาจจะมีเจ้ากรมอีกคนหนึ่งต่างหากอยู่ในกระทรวงธรรมการ ดูมันไขว้เขวกันไปจะเปนด้วยเหตุใดคิดไม่เห็น มีคนออกมาจากกรุงเทพฯ หม่อมฉันถามเรื่องนี้ เขาบอกว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิฯ ก็ไม่อยากได้การของราชบัณฑิตยสภาไป พอประกาศออกเจ้าพระยาธรรมศักดิฯ มาหากรมพิทย์ ขอให้ช่วยดูแลการไปอย่างเดิม เดี๋ยวนี้ยังเปนอยู่อย่างนั้น

อีกเรื่องหนึ่งในการที่ย้ายท่านสกลไปเปนหัวหน้าพนักงานโฆษณานั้น เดิมเข้าไปตั้งที่ทำการอยู่ที่ศาลาลูกขุนใน เดี๋ยวนี้ย้ายออกมาตั้งที่ทำการอยู่ที่ตึกศิลปากร ได้ยินว่าไล่เอาห้องหับของพนักงานเดิมเสียหลายห้อง เปนอยู่อย่างนี้ หม่อมฉันอยากจะเดาว่าเพราะเหตุท่านสกลไปตั้งที่ทำการที่ศาลาลูกขุนในจะไปจุ้นจ้านอะไรต่าง ๆ จนนายประยูร ภมรมนตรี เขารำคาญจึงถูกเก๊กออกมา แต่ก็มาขี่คอราชบัณฑิตยสภาเข้าอีกทางหนึ่ง มันเปนดังนี้เมื่อท่านเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ คงจะทรงทราบการได้ดีกว่าหม่อมฉัน

คิดถึงนัก มาคิดดูว่าเมื่อไรจะได้เฝ้าก็เห็นจะเปนราวเข้าวัสสาในต้นเดือนกรกฎาคม หม่อมฉันจะเข้าไปจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มตามเคย แต่ทำบุญวันเกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายนปีนี้คิดจะทำที่หัวหิน ในเดือนมิถุนายนเห็นจะไม่เข้าไปกรุงเทพฯ เพราะเรื่องไปมาบ่อย ๆ พวกลูกเต้าร้องว่าเดือดร้อนด้วยเศรษฐกิจ การมันเปนดังนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ (๗ กรกฎาคม ๒๔๒๘-๒๖ พฤษภาคม ๒๔๗๖)

  2. ๒. พระวรสุนทโรสถ (เพี้ยน สิงหชัย)

  3. ๓. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

  4. ๔. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (๑๐ มกราคม ๒๔๑๙-๒๓ กรกฎาคม ๒๔๘๘)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ