วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๗๖

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

พระนิพนธ์อธิบายตำแหน่งหน้าที่ของมหาอุปราช ซึ่งโปรดประทานไปนั้น ได้พิจารณาถี่ถ้วนแล้ว

ขอประทานกราบทูลในทางข้อความก่อน

เกล้ากระหม่อมได้ตรวจกฎมณเฑียรบาล คำกล่าวที่ตรงกำหนดศักดิพระราชกุมารก็ต้องกับที่ทรงเรียงไว้ แต่เห็นว่าถ้อยคำอย่างในกฎมณเฑียรบาลนั้น ไม่ทำให้คนเข้าใจถูกได้ ดั่งจะทักถวายต่อไปนี้

ชั้นที่ ๑ พระราชกุมารเกิดด้วยพระมเหษี ทรงศักดิเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า ทำให้คนเข้าใจว่าแม้พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระมเหษีจะมีถึง ๓ องค์ ก็เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ องค์ แต่ในพงศาวดารฉะบับใด ๆ ไม่เคยปรากฎว่าในคราวหนึ่งมีสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้ากว่าองค์หนึ่งขึ้นไปเลย จะเปนว่า ชั้นที่ ๑ ตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า มีพระองค์เดียว จะแต่งตั้งขึ้นได้แต่ฉะเพาะราชกุมารอันเกิดด้วยพระมเหษี

ชั้นที่ ๒ พระราชกุมารอันเกิดด้วยแม่อยั่วเมืองเป็นมหาอุปราช นี่ก็ทำให้เข้าใจไปว่ามหาอุปราชมีได้หลายองค์เหมือนกัน แต่ที่แท้ก็มีได้แต่คราวละองค์เดียวเหมือนสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า เห็นจะจำกัดว่าตำแหน่งมหาอุปราชจะตั้งได้แต่พระราชกุมารอันเกิดด้วยแม่อยั่วเมือง คือว่าแม้พระมเหษีไม่มีพระราชกุมาร จะตั้งพระราชกุมารอันเกิดด้วยแม่อยั่วเมือง ขึ้นเปนสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าไม่ได้ แต่ถ้าพระราชกุมารอันเกิดด้วยแม่อยั่วเมืองไม่มี จะตั้งพระราชกุมารอันเกิดด้วยพระมเหษีที่มีเหลืออีกเป็นมหาอุปราชได้หรือไม่ ข้อนี้ไม่กระจ่าง

ชั้นที่ ๓ พระราชกุมารอันเกิดด้วยลูกหลวงกินเมืองเอก ชั้นนี้มีได้หลายองค์ แต่ก็ไม่ใช่จะได้กินทุกองค์ไป เพราะเมืองเอกมีจำนวนจำกัดปรากฏในกฎมณเฑียรบาล (หน้า ๙๓) ว่า ๕ เมือง คือเมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองลพบุรี เมืองสิงคบุรี เพราะฉะนั้นศักดิชั้นที่ ๓ นี้จะต้องมีกำหนดมีได้แต่เพียง ๕ องค์

ชั้นที่ ๔ พระราชกุมารอันเกิดด้วยหลานหลวงกินเมืองโท ชั้นนี้ก็มีได้หลายองค์ ถ้าถือตามกฎมณเฑียรบาล (หน้า ๙๓) จะมีจำนวนจำกัดมีได้แต่ ๒ องค์ กินเมืองอินทรบุรีและเมืองพรหมบุรี ปัญหาที่มืดมัวก็ยังมี ว่าพระราชกุมารเกิดด้วยพระมเหษีและแม่อยั่วเมืองอันเหลือเศษ จะตั้งเป็นลูกเธอกินเมืองเอกเมืองโทได้หรือไม่

ชั้นที่ ๕ พระราชกุมารเกิดด้วยพระสนมเป็นพระเยาวราช แปลว่าเจ้านายเล็กๆ ชั้นนี้แหละเป็นการแน่ที่เป็นได้ทั่วกัน

คำว่ามหาอุปราช อาจเติมมหาลงเพื่อให้ไพเราะ ไม่จำเปนว่าต้องมีตำแหน่งอุปราชอยู่เฝือแล้วก็ได้ ในกฎมณเฑียรบาลก็เรียกไม่อยู่ที่ เรียกมหาอุปราชก็มี เรียกพระอุปราชก็มี แต่อย่างไรก็ดี ตามที่ทรงเรียงไว้ก็เป็นแต่การทรงสันนิษฐาน อันเป็นทางที่จะมีผิดได้ถูกได้อยู่ในตัว ไม่มีอันตรายอย่างใด

รัชชทายาทนั้น ในเมืองไทยดูเป็นเข้าใจกันน้อยเต็มที แม้ในกฎมณเฑียรบาลก็มิได้มีกล่าวแย้มพรายไว้ที่ไหนเลย คงมีหลักนิยมอยู่แน่นอนแต่เพียงว่า ผู้รับราชสมบัติควรต้องเป็นเจ้าเท่านั้น จึงเกิดการชิงราชสมบัติกันขึ้นเนือง ๆ ใครมีอำนาจวาสนาอยู่เวลานั้นก็ได้ราชสมบัติ ตกเป็นว่าใครดีได้กัน การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งมหาอุปราชนั้น เพื่อทรงอุดหนุนให้มีกำลังได้สืบราชสมบัติก็มี ตั้งโดยเหตุอื่นบังคับก็มี เพราะฉะนั้นจะถือว่า มหาอุปราชเป็นรัชชทายาทนั้นไม่ถนัด

ในทางข้อความเห็นจะหมดเท่านี้

ทีนี้จะกราบทูลในทางวินิจฉัยศัพท์ต่อไป เมื่อศัพท์ใดกระทบตากระทบใจเข้าก็ทำให้เกิดความคิด เมื่อคิดเห็นและสอบสวนได้อย่างไรแล้วจะนิ่งเสียก็เสียดาย ความรู้สึกจะละลายไปเสียเปล่า จึงคิดว่ากราบทูลไว้เสียด้วยจะเป็นการดี ผิดถูกก็ตามที อย่างต่ำก็ได้หัวเราะกันเล่น

แม่อยั่วเมือง เห็นว่าจะเป็น แม่อยู่เมือง ู กลายเป็น ว มีตัวอย่างเช่น ตู เป็น ตัว และ ผู้ เป็น ผัว (เช่น ตัวผู้ตัวเมีย คู่ผัวตัวเมีย) ใช้คำอยู่หัว เป็นคำสูง อยู่เมือง เป็นคำรอง

โองการ สํสกฤตเขียน โอํการ ผสมมาแต่คำ โอมฺ ซึ่งหมายความว่านอบน้อม คือนอบน้อมพระผู้เป็นเจ้า จะกล่าวมนต์ใดๆ จึงขึ้นต้นว่า โอมฺ นอบน้อมพระเปนเจ้าเสียก่อนมนต์จะได้ขลัง โอมฺ ผสมกับ การ หมายความว่ากระทำความนอบน้อมต่อพระเป็นเจ้า คือกล่าวคำนอบน้อม ภายหลังความเข้าใจของท่านพวกพราหมณ์เดิมนั้นเอง เลื่อนไปเปนว่า โอํการ นั้นหมายถึงองค์พระเปนเจ้า คติอันนี้ที่เรามาใช้ว่า พระราชโองการ หมายความว่าพระราชาผู้ทรงศักดิเสมอพระเปนเจ้า พระราชลัญจกรมหาอุณาโลม (อันมาแต่ตาที่สามของพระอิศวร) ก็เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าตรามหาโองการ หมายถึงองค์พระอิศวร กับทั้งคำแช่งต่าง ๆ เช่นแช่งดำน้ำลุยเพลิงเราก็เรียกกันว่าอ่านโองการ คือขออานุภาพเทวดาบันดาลให้เห็นผลเท็จจริง ตรงความหมายเดิมอยู่ดีแล้ว แต่น่าประหลาดทำไมมาเข้าใจคำโองการกลายเป็นคำสั่งไปเสียได้

บัณฑูร คำนี้ไม่มีในภาษามคธและสํสกฤต ภาษามคธมีแต่ ปณฺฑุ แปลว่าเหลืองอ่อน ภาษาสํสกฤตมีแต่ ปัณฺฑฺร แปลว่าขันที ไม่เข้าเรื่อง แท้จริงคำนี้เป็นคำเขมร เขาเขียน บันทูล ฝรั่งเศษแปลว่าคำสั่งพระราชา เป็นแปลตามความหมาย ถ้าจะแปลตามศัพท์แล้วก็อ้อมค้อมไป บัน แปลว่า ทำให้ ทูล แปลว่า วางไว้เหนือหัว ทำให้วางไว้เหนือหัว ทำให้รับไว้ด้วยหัว ก็ได้แก่คำสั่งนั้นเอง

พระบรมราชโองการมานพระบันทูล ถ้าอย่างนี้แล้วแปลได้ดีทีเดียวว่าสมมติเทวราช มีพระดำรัสสั่ง ที่ในกฎมณเฑียรบาลแบ่งโทษไว้ว่า ขัดพระราชโองการโทษประหารชีวิต ขัดพระบัณฑูรโทษปรับไหมจตุรคูณนั้น คงเป็นด้วยหลงว่าพระราชโองการเป็นคำสั่ง ยกพระราชโองการถวายพระเจ้าแผ่นดินจึงมีโทษแรง ยกพระบัณฑูรถวายพระมหาอุปราชจึงมีโทษเบาลง ลดลำดับตามพระราชศักดิ แต่พระโองการติดกับพระบัณฑูรนั้น มีใช้อยู่มากมายทีเดียว

ส่วนที่แก้หนังสือเพราะพิมพ์ผิดและถ้อยคำบกพร่องนั้น ได้จดลงในต้นฉะบับซึ่งถวายกลับคืนมานี้แล้ว ขอประทานชี้แจงถวายคำหนึ่ง ซึ่งแก้ พึ่ง เป็น เพิ่ง นั้น เพราะเห็นว่าคำนั้นพูดกันหลายอย่าง เพ่อ ก็มี เพิก ก็มี เพิ่ง ก็มี พึ่ง ก็มี พึ่ง ไปสับสนกับคำที่ใช้อย่างอื่น เช่น พึ่งพัก จึงเลื่อนไปเอาเพิ่ง เห็นว่าไม่ผิดอะไร คำที่เสียงเคลื่อนจากกันเช่นนั้นมีอยู่ เช่น ตื่น เป็น เติ่น ถึง เป็น เถิง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ