วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

วันที่ ๑ เปนวันขึ้นปีใหม่ หม่อมฉันตื่นนอนขึ้นเห็นหน้าหญิงเหลือก่อนเพื่อน ได้ให้พรให้มีความสุขในปีใหม่อย่าให้ต้องคุมขังเหมือนปีที่ล่วงแล้ว พอพูดขาดคำก็คิดถึงท่านและหญิงอามขึ้นมา เดิมหมายจะโทรเลขถวายพระพร ครั้นเขียนร่างดูก็กลับเห็นว่าพรที่จะถวายไม่สมแก่จะส่งทางโทรเลข จึงเขียนจดหมายฉะบับนี้ถวายพระพร กับทั้งขอเพิ่มอำนวยพรแก่คุณโตและพระวงศทั้งหลาย ให้มีความสุขในปีใหม่ด้วย

ทีนี้จะทูลเสนอถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ได้ทูลผัดไว้ในจดหมายฉะบับก่อน หม่อมฉันกลับออกมาหัวหินคราวนี้ ได้หยิบเอาหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ที่พิมพ์แจกในงานพระศพพระวิมาดาเธอฯ ออกมาด้วย ได้เปิดอ่านตอนโคลงดั้นของสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่งพรรณนาการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ เมื่อรัชชกาลที่ ๓ ได้ความเพิ่มขึ้นหลายอย่าง ดังจะทูลต่อไป คือ

๑. ท่านแต่งพรรณนาเลอียดลออจริง ๆ คิดว่าถ้าหากจะปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ให้กลับเหมือนเมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๓ (ไม่ได้หมายความว่าจะให้ฝีมือดีถึงรัชชกาลที่ ๓) อาจจะเอาโคลงของสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เปนตำราทำให้ถูกได้หมดทุกอย่าง

๒. กล่าวความแห่งหนึ่งว่าเมื่อปฏิสังขรณ์ในรัชชกาลที่ ๓ นั้น วัดพระเชตุพนฯ สร้างมาได้ ๓๑ ปีชำรุดทรุดโทรมมาก เมื่อมาคิดเทียบกับอายุวัดเบญจมบพิตรฯ ชวนให้เห็นว่าการที่สร้างวัดพระเชตุพนฯ เมื่อรัชชกาลที่ ๑ จะทำปราณีตแต่บางแห่ง ทำลวกๆ โดยมาก จึงชำรุดทรุดโทรมเร็วนัก

เขียนมาได้เพียงนี้มีคนมารดน้ำหลายราย ต้องหยุดมาเขียนต่อไปในวันที่ ๒

๓. เรื่องโคลงดั้นของสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ว่าด้วยการปฏิสังขรณวัดพระเชตุพนฯ เดิมหม่อมฉันหมายจะเก็บรายการที่เห็นเปนข้อสำคัญลงในจดหมายฉะบับนี้ แต่ถึงตอนบ่ายไปพลิกดูหนังสือนั้นเล่มความเรียง จึงไปพบและนึกได้ว่าหม่อมฉันได้ให้พระพินิจฯ ถอดความโคลงดั้นของสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เปนความเรียงพิมพ์ไว้ในนั้นแล้ว ถ้าท่านมีเวลาพอทรงโคลงดั้นหรือความเรียงจะทราบได้เลอียด ว่าพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงแก้ไขสิ่งใดให้ผิดกับของเดิมอย่างไรบ้าง จะทูลในที่นี้แต่ฉะเพาะศัพท์ซึ่งพบในโคลงดั้นของสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ศัพท์หนึ่ง เรียกชื่อเขา “สิพพนิมิตร” ซึ่งเปนที่ไปเอาหินมาใช้ในการทำวัดแห่งหนึ่ง เขานี้อยู่ในแขวงจังหวัดลพบุรี หม่อมฉันเคยได้ยินคำเล่าว่าเดิมราษฎรเรียกว่าเขา “สรรพลึงค์” ครั้นเมื่อทูลกระหม่อมทรงผนวช เสด็จไปธุดงค์ทางนั้น ทรงขนานนามใหม่ว่าเขา “สรรพนิมิตร” ครั้นมาเห็นศัพท์ที่ใช้ในโคลงดั้นของสมเด็จพระปรมานุชิตฯ จึงได้ความรู้ชัดว่าเดิมเขานี้คงเรียกว่าเขา “ศิวลึงค์” เพราะมีศิวลึงค์พวกถือสาสนาพราหมณ์ทำประดิษฐานไว้ที่เขานั้น ทีหลังเรียกกันกลายเปน “สรรพลึงค์” ถ้าทูลกระหม่อมได้ทรงขนานนามใหม่จริง คงอาศัยนามเดิมขนานว่า “ศิพนิมิตร” หรือ “ศิวนิมิตร” แต่ในโคลงดั้นของสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ใช้อักษร “ส” เปน “สิพนิมิตร” เรื่องนี้อยากจะเดาต่อไปว่า ศิวลึงค์ ที่ตั้งไว้บนเขาตรงหน้าวิหารด้านตะวันตก จะเอามาจากเขาสิพนิมิตรนี้ด้วย เพราะเปนอย่างมุขลึงค์มีหน้าคน (มิใช่ภาพขอม) จำหลักอยู่ที่โคน ฝีมือทำดีกว่าศิวลึงค์อื่นที่พบในประเทศนี้

๔. เมื่อวานนี้เวลาบ่าย ๕ โมง พระราชทานน้ำสังข์เจ้านายที่วังไกลกังวล มีจำนวนเจ้านายทั้งที่อยู่ที่นี่และที่มาจากกรุงเทพฯ เพื่อรับพระราชทานน้ำสังข์โดยฉะเพาะ รวมกว่า ๕๐ พระองค์ เปนการเรียบร้อยชื่นบานดี เมื่อพระราชทานน้ำสังข์แล้ว 卐 ทรงบัญชาให้เจ้าพนักงานตั้งเครื่องรดน้ำสงกรานต์ พระราชทานหม่อมฉันกับพระองค์เธอ ณ ที่นั้นด้วย หม่อมฉันต้องนึกคำถวายพระพรขึ้นในทันที ไปนึกได้ถึงอติเรก จึงได้ถวายพระพรตามเค้าความอติเรกซึ่งลง ชโย นิจจัง เปนที่สุด ผู้ที่ลงมารับพระราชทานน้ำสังข์โดยฉะเพาะนั้น น่าสรรเสริญยิ่งกว่าเพื่อนคน ๑ คือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อายุกว่า ๘๐ แล้วก็อุตส่าห์ลงมา

๕. ที่พายุใหญ่ถึงพัดกระเบื้องมุงตำหนักใหม่ปลิวนั้น หวังใจว่าจะไม่ทำให้หลังคาตำหนักชำรุดทรุดโทรมมากนัก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมเจ้าพัฒนายุ ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  2. ๒. ๑ เครื่องหมายสวัสติกะ หมายถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (๒๒ ธันวาคม ๒๔๐๘ - ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๘)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ