วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๗๖

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันที่ ๓๑ เดือนก่อน เกล้ากระหม่อมไปพิพิธภัณฑสถานเห็นตั้งร่างร้านเกะกะภายในขึ้นยันขื่อ ถามหลวงบริบาลว่าอะไรกัน แกบอกว่ากลัวขื่อจะตกลงมา เกล้ากระหม่อมเห็นว่าหากกลัวแต่ที่พระที่นั่งพุทไธยสวรรค์ก็ทำเนา เพราะเก่าแก่มากแล้ว นี่กลัวในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยตั้งร่างร้านค้ำขึ้นไว้ด้วยติดจะเกินเหตุ หลวงบริบาลว่าคลังตกลงจะให้เงินซ่อมปีละสามหมื่น ปีหน้าว่าจะลงมือซ่อมพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ก่อน พระที่นั่งอื่นก็ตั้งร่างร้านแรรอคอยซ่อมต่อไป เงินปีละสามหมื่นซึ่งคลังจะให้นั้นก็ว่ามิใช่เงินที่ไหน เป็นเงินของพิพิธภัณฑสถานที่ฝากคลังไว้นั้นเอง

ในการที่เกล้ากระหม่อมไปพิพิธภัณฑสถานนั้น ไปเพื่อดูพระพุทธรูป เหตุด้วยท่านั่งขัดสมาธิตามที่เคยเห็นมานั้นมี ๓ อย่าง คือแข้งไขว้ขัดกันอยู่บนตัก อันเรียกว่า ขัดสมาธิเพ็ชรนั้นอย่างหนึ่ง แข้งซ้อนแข้งอันเรียกกันว่าขัดสมาธิสองชั้นนั้นอย่างหนึ่ง กับแข้งไขว้กันอยู่ได้ตักอีกอย่างหนึ่ง จะเรียกกันว่าอะไรยังไม่เคยได้ยิน เกล้ากระหม่อมจึงตั้งชื่อเรียกเอาเองว่าขัดสมาธิชั้นเดียว ท่านั่งขัดสมาธิชั้นเดียวนั้น เคยเห็นทำแต่รูปพระสาวกและบริวารกษัตริย์ ส่วนตัวนายกมีพระพุทธเจ้าเปนต้นยังไม่เคยเห็นทำ แต่มาเห็นพระพุทธรูปในสมุดของหลวงบริบาลพิมพ์ มีพระพุทธรูปที่ดูเป็นที่นั่งขัดสมาธิชั้นเดียวอยู่ แต่เปนรูปเล็กดูไม่เห็นชัดเจนจึงตามไปดูตัวจริง ก็เปนขัดสมาธิชั้นเดียวจริง ๆ รูปนี้เปนสมัยลพบุรีแล้วยังได้เห็นสมัยทวารวดีก็มีพระพุทธรูปขัดสมาธิชั้นเดียวแก่กว่าขึ้นไปอีกอยู่ในพิพิธภัณฑสถานด้วย เปนอันได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้กว้างออกไปอย่างพอใจมาก

เมื่อผ่านท้องสนามหลวงไปพิพิธภัณฑสถาน เห็นท้องสนามแปลงเหนือถนนพระจันทร มีโรงงานปลูกไว้ มีไม้กอง และมีหมุดทาขาวปักระกะไป รู้ได้ด้วยญาณว่าเขาจะทำเมรุเผาศพทหารที่ตายในการปราบกบฏ โดยได้ทราบคำเล่าลือมาก่อน เมื่อกลับจากพิพิธภัณฑสถานจะผ่านไปไม่ได้ ต้องเดินเชือนเข้าไปดูหมุด เห็นเขาปักเปนรูปสี่เหลี่ยมสามหย่อมกลางสนามเรียงกันไปตามเหนือใต้ เข้าใจว่าจะเปนที่เผาศพนายทหาร สองข้างทางตะวันตกตะวันออกปักเปนรูประเบียงยาวขนานไปสองข้าง คิดว่าคงเปนที่เผาศพนายสิบพลทหารกับที่พัก

ต่อมาถึงวันที่ ๑๑ เดือนนี้ ได้รับหนังสือราชบัณฑิตยสภา แทงหลังซองด่วน เปิดออกดูในนั้นเปนจดหมายบันทึก มีความว่า นายกรัฐมนตรี สั่งให้โอนแผนกวรรณคดีและโบราณคดีไปกระทรวงธรรมการ แต่แผนกบัญชาการนั้นให้คงอยู่ไปพลางก่อน จนกว่าจะออกพระราชบัญญัติตั้งสมาคมขึ้นแล้ว จึงจะยุบราชบัณฑิตยสภา ได้มอบแผนกวรรณคดีกับโบราณคดี ให้พระสารสาสนประพันธ์ รัฐมนตรีช่วยราชการกระทรวงธรรมการไปแต่เมื่อเวลาบ่าย (วันที่ ๑๑) นี้แล้ว

เมื่อวานนี้ วันที่ ๑๒ เวลา ๑๒.๔๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ พระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี มาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทรงจุดเครื่องนมัสการแล้ว ทรงพระราชปฏิสันถารด้วยพระสงฆ์ พระบรมวงศ คณะทูต และข้าราชการ แล้วเสด็จลงเรือยนต์พระที่นั่งชื่อ “ศรวรุณ” ขึ้นไปกลับลำเหนือน้ำแล้วล่องลงไป ในว่าจะเสด็จไปขึ้นเรือ “วลัย” ที่เกาะสีชัง โปรดเกล้า ฯ ให้เกล้ากระหม่อมปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ เกล้ากระหม่อมก็ต้องสนองพระเดชพระคุณโดยกตัญญูภาพ

ตอนเย็น ตาดิศ หญิงมารยาตร หญิงโสฬศ หม่อมเจิม มาหาที่บ้านคลองเตย เห็นหน้าตาดิศทำให้ใจโตเปนหนักหนา ถามแกว่าออกได้อย่างไร แกว่าเขาไต่สวน เมื่อไม่ได้ความร้ายแรงอะไรเขาก็ปล่อย

หลวงอำนาจสรการถูกไล่ออกจากราชการแล้ว

กรมหมื่นเทววงศถามเกล้ากระหม่อมถึงฝ่าพระบาท ว่าจะเสด็จกลับเมื่อไร เกล้ากระหม่อมก็ตอบไปตามที่ได้รับสั่งไว้ ว่าสิ้นมรสุมแล้วจะเสด็จกลับ ตามที่ตรัสเล่าไปถึงการใช้จ่ายในที่ประทับเกาะหมากดูก็ไม่สู้จะต้องเสียมากเกินสมควร มาแปลกใจอยู่อย่างเดียวแต่ภาษีที่ดินควรที่เจ้าของที่ดินจะต้องเสีย แต่ทำไมมาตกอยู่แก่ผู้เช่า อาการหนักผิดกว่าในเมืองไทย

พระเสนหามนตรีมีหนังสือบอกเข้าไป ว่าจะทำบุญขึ้นเรือนใหม่ในวันที่ ๑๔ ที่ ๑๕ นี้ เกล้ากระหม่อมได้มีหนังสือไปให้พรเขา เมื่ออยู่ที่หาดใหญ่ฝ่าประบาทเสด็จมาปินังแล้วรู้สึกเหงาใจ วันหนึ่งพุ่งเข้าไปเที่ยวในเมืองสงขลา ครั้นถึงหัวประดู่ให้หยุดรถลงดูศาลาซึ่งก่อด้วยหินก้อน ศาลาหลังนี้สดุดตามานานแล้ว เขาทำรูปงาม หลังคามีคอสองแต่ไม่เห็นมีเสาใน เขาทำเครื่องบนภายในอย่างไรอยากเห็น แต่จะลงดูก็เปนเวลาไปธุระจะเสียการไป ไปวันนั้นเปนการไปเที่ยวไม่มีธุระจำกัดจึงแวะลงดู ผิดคาดหมาย พบศิลาจารึกในศาลานั้นถึง ๓ แผ่น แผ่นโตๆ มีตัวหนังสือขนาดเท่าเขียนในสมุดไทย ได้เพียรที่จะอ่านเอาความ แต่ไม่สำเร็จ แลไม่ค่อยเห็น คิดว่าฝ่าพระบาทคงทรงทราบดี ว่าใครจารึกไว้ครั้งใด มีความว่ากะไร ตั้งใจว่าจะทูลถาม แต่ครั้นเมื่อฝ่าประบาทเสด็จเข้าไป ก็มีความตื่นเต้นลนลานไปด้วยความดีใจ เลยลืมไม่ได้ทูลถามจนเสด็จกลับปินัง

ขอถวายบังคมมาแด่ฝ่าประบาท มืความระลึกถึงเปนอย่างยิ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. หม่อมเจ้าดิศศานุวัตร ดิศกุล

  2. ๒. หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล

  3. ๓. หม่อมเจ้าสุมณีนงเยาว์ ดิศกุล

  4. ๔. หม่อมเจิม ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  5. ๕. หลวงอำนาจสรการ (ประสิทธิ์ ดิษยบุตร)

  6. ๖. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย

  7. ๗. พระเสนหามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ