วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ดร

บ้านซินนะมอน ฮอลล์, ปีนัง.

วันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑ รู้สึกยินดีมาก แต่ความยินดีนั้นผิดกันกับอย่างที่พระองค์ท่านทรงรู้สึกดังตรัสมาในลายพระหัตถ์อยู่บ้าง ด้วยตั้งแต่หม่อมฉันออกมาอยู่ปีนังได้ตั้งใจจะไม่เอาเปนภาระฟังเรื่องกิจการบ้านเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด ประสงค์จะระงับใจให้เปนผาสุกด้วยอุเบกขา แต่มันก็อดคิดถึงครอบครัวและมิตรสหายที่อยู่ทางกรุงเทพฯไม่ได้ ด้วยไม่ทราบว่าจะเปนทุกข์สุขอย่างใดบ้าง การที่ได้รับจดหมายจากกรุงเทพฯไม่ว่าใครจะเขียนมา ทำให้เกิดความชื่นบานมิมากก็น้อย แต่สังเกตดูช่างไม่มีใครเขียนมาเสียเลย แม้จนลูกเต้านาน ๆ จึงจะเขียนมา ถ้าจดหมายหายไปหลายวันก็ออกจะรู้สึกว้าเหว่ แต่เมื่อมาคิดดูก็เห็นว่า เห็นจะไม่เปนเพราะเขาพากันลืมเสียแล้ว บางทีเขาจะมีความขัดข้องด้วยเกรงภัยนั่นเอง ด้วยเหตุดังทูลมานี้ เมื่อได้รับลายพระหัตถ์ของท่านจึงบังเกิดชื่นบานอ่านถึง ๒ หน ข่าวที่ประทานมาในลายพระหัตถ์นั้นมีข้อที่จะทูลสนอง คือ รู้สึกเสียดายพระศุภรัตนอยู่ แต่เมื่อคิดไปก็เสียดายเปนคนคุ้นเคยชอบกัน แต่กิจธุระที่ไหว้วานเขาในภายหน้าก็ไม่มีเหมือนแต่ก่อนแล้ว คำตอบของสมเด็จพระวันรัตนั้นดีหนักหนาทีเดียว หม่อมฉันเห็นว่าท่านตอบด้วยมีทั้งสติและปัญญา ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ออกไปอยู่เมืองชลนั้น หม่อมฉันคิดเห็นว่าการฉลองกุฏิของท่านเห็นจะเป็นแต่สาขาคดี ที่จริงเห็นจะหมายออกไปอยู่เมืองชลนาน ๆ อย่างเราไปอยู่หัวหินนั่นเอง

มีเรื่องปลาดเรื่องหนึ่งที่ควรจะทูลบันเล็งได้ คือเมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ หม่อมฉันได้รับจดหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฉบับ ๑ ส่งสำเนาหนังสือกงสุลสยามที่เมืองกาลกัตตา บอกมาว่าสมาคมอาเซียติคประจำเบงกอลจะมีงานฉลองอายุสมาคมครบ ๑๕๐ ปีในวันที่ ๑๕ มกราคม ศกนี้ และในงานนั้นเขาจะเลือกหม่อมฉันเปนสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมด้วยคน ๑ เลขานุการของสมาคมถามกงสุลว่าเคยได้ทราบว่าหม่อมฉันเปนปกติดีอยู่ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๑ (พ.ศ.๒๔๗๔) แต่เดี๋ยวนี้ยังมีตัวอยู่หรืออย่างไร ขอให้บอกไปให้เขาทราบ กงสุลก็ไม่รู้ จึงถามมายังกระทรวงการต่างประเทศ การที่ถูกถามว่า “ตายแล้วหรือยัง” เป็นของแปลก หม่อมฉันไม่เคยรับจึงเห็นปลาดอยู่ พิเคราะห์วันที่ได้รับจดหมายกระชั้นกับกำหนดงานของเขา จะส่งคำตอบไปทางกระทรวงการต่างประเทศไม่ทันได้ หม่อมฉันไม่มีผู้อื่นจึงสั่งหญิงพิลัยให้เปนเลขานุการเขียนหนังสือตอบกงสุล ส่งไปจากเมืองปีนังบอกว่ายังมีชีวิตอยู่

มีเรื่องแปลกอีกเรื่อง ๑ ซึ่งพอจะทูลได้ ใน ๓ ปีมานี้ เผอิญหม่อมฉันได้มาปีนังหลายครั้ง จนคุ้นเคยชอบพอกับหลวงภาษาพิรัช กงสุลสยาม เพราะมาทีใดก็มาเอื้อเฟื้อทุกที แต่มาคราวนี้หม่อมฉันมารถยนต์จากหาดใหญ่ไม่ได้บอกแก ต่อมาอยู่ได้ ๓ วัน แกจึงรู้ก็มาเอื้อเฟื้อตามเคย เมื่อแกมีใบบอกเข้าไปยังกระทรวงการต่างประเทศตามหน้าที่ว่าหม่อมฉันมาปีนัง แกอุตริว่าไปในใบบอกว่าได้มาเอื้อแก่หม่อมฉันตามเคย เปนเหตุให้ได้รับท้องตราสั่งมาว่าไม่ให้มาเกี่ยวข้องกับหม่อมฉันทางราชการ เพราะหม่อมฉันมาคราวนี้ไม่ได้บอกให้รัฐบาลทราบ แกรายงานเข้าไปถึงเรื่องสมเด็จกรมพระสวัสดิ์กับกรมหลวงสิงห์เสด็จออกมา ก็ได้ยินว่าได้รับคำสั่งอย่างเดียวกัน หม่อมฉันปลาดใจในข้อที่ว่าไม่บอกให้รัฐบาลทราบนั้นจะหมายความอย่างไร ตามประเพณีถ้าข้าราชการที่มีตำแหน่งประจำการ จะไปไหนจำต้องขออนุญาตต่อผู้เปนใหญ่เหนือตัวก็เพราะจะต้องละการงานในหน้าที่ไปเปนคราว ๆ ตัวหม่อมฉันมาคราวก่อน ๆ ก็เช่นดังคราวนี้ ตำแหน่งประจำราชการงานเมืองอื่นใดก็ไม่มี เปนคนลอยตัว ไม่ต้องละทิ้งหน้าที่อันใด ถ้าว่าตามอีกอย่างหนึ่งซึ่งเจ้านายหรือขุนนางจะออกนอกพระราชอาณาเขตต์ ต้องกราบถวายบังคมลาพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน หม่อมฉันจะมาคราวนี้ก็ได้กราบถวายบังคมลาและได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงได้มา ถ้าจะว่าหม่อมฉันจะต้องขอหนังสือเดินทางที่กระทรวงการต่างประเทศจึงเปนการบอกให้รัฐบาลทราบ หม่อมฉันก็มีหนังสือเดินทางที่กระทรวงการต่างประเทศได้ทำให้เมื่อเดือนกรกฎาคม ยังมีอายุใช้ได้อยู่จึงสันนิษฐานว่า กระทรวงการต่างประเทศเห็นจะหลงว่าหม่อมฉันมาคราวนี้ไม่มีหนังสือเดินทาง จึงอ้างว่าไม่บอกรัฐบาล เรื่องเพียงที่ทูลมานี้ก็ไม่มีกิจที่จะต้องทำอะไร นอกจากไม่ไปเกี่ยวข้องกับกงสุลก็เปนแล้วกันไป แต่มันจะมีสาขาคดีเกิดขึ้นด้วยเรื่องจะไปส่งเสด็จที่เกาะสุมาตรา ส่วนตัวหม่อมฉันกับหญิงพูนและนายชิดคนใช้มีหนังสือเดินทางยังใช้ได้อยู่ แต่หญิงพิลัยกับหญิงเหลือนั้น หนังสือเดินทางที่มีอยู่สิ้นอายุเสียแล้ว เธอได้ลองไปถามที่กงสุลสยามว่าจะออกหนังสือเดินทางให้ใหม่ได้หรือไม่ กงสุลว่าไม่กล้าออกให้ด้วยเกรงจะผิดคำสั่งที่ทูลมาข้างต้น เมื่อเป็นเช่นนั้น หม่อมฉันจึงให้ลองไปขอความสงเคราะห์ของกงสุลฮอลันดา ด้วยว่าลูกที่จะไปด้วย ๒ คน ไม่มีหนังสือเดินทาง แกก็รับมาว่าจะจัดการให้สำเร็จตามประสงค์ อย่าได้วิตกเลย ดูมันขันดีดังนี้ ถึงรัฐบาลอังกฤษที่ปีนังนี้ก็ดีเหรือเกินเมื่อหม่อมฉันออกมาถึงปีนัง คนที่มาด้วยนอกจากหญิงพูนกับนายชิดไม่มีหนังสือเดินทางทั้งนั้น ตามธรรมเนียมเขายอมให้คนมาจากสงขลาอยู่ปีนังโดยไม่มีหนังสือเดินทางกำหนดเพียง ๔๘ ชั่วโมง หม่อมฉันให้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง ถามเขาว่าคนของหม่อมฉันไม่มีหนังสือเดินทางหลายคนจะควรทำอย่างไร เขาตอบว่าไม่เปนไรดอกให้จดบัญชีรายชื่อส่งไปให้เขาเท่านั้น ก็เปนแล้วกัน คนพวกนั้นก็เลยอยู่กับหม่อมฉันมาจนบัดนี้ ใช่แต่เท่านั้น ตัวเจ้าเมืองปีนังเองชื่อ มิสเตอรกูดแมน (Mr. Goodman) พอได้ทราบจากกงสุลอังกฤษที่สงขลาบอกมาว่าหม่อมฉันออกมาพักอยู่เกาะหมาก ก็ให้โทรศัพท์เรียกพระยารัตนเศรษฐีไปหา บอกว่าถ้าหม่อมฉันจะต้องการให้ช่วยเหลืออย่างใดในเวลาพักอยู่เกาะหมาก ขอให้บอกไปให้ทราบ แล้วยังสั่งให้คนอื่นให้มาบอกหม่อมฉันว่าที่ตัวเขาไม่มาหาหม่อมฉันเองนั้น เพราะเข้าใจว่าหม่อมฉันมีความประสงค์จะอยู่อย่างเงียบ ๆ แต่ถ้าหม่อมฉันปรารถนาจะพบเขาก็ให้เรียกจะมาหา ก็ไม่มีกิจที่ต้องพึ่งกงสุลของเราเอง แต่ก็น่าอนาถใจอยู่บ้าง หม่อมฉันคิดอยู่ว่าถ้ารวบรวมเงินได้พอแก่การ บางทีจะไปเที่ยวเมืองพะม่า หรือเมืองชะวาต่อไป แต่ยังไม่ตกลงใจแน่

หวังใจว่าบรรดาผู้อยู่ในตำหนักปลายเนิน จะมีความสุขสบายดีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น พวกหม่อมฉันก็สบายดีอยู่ตามเคยแต่ยังคิดถึงท่านอยู่ไม่หายเมื่อเดินผ่านเรือนหลังในที่บ้านซินนะมอน ยังนึกอยู่เสมอว่าขาดไปครัว ๑ ถ้าได้มาอยู่พร้อมกันเหมือนอย่างที่หาดใหญ่ก็จะดี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หลวงภาษาพิรัช (กิมโป๊ แต้สุจิ)

  2. ๒. พระยารัตนเศรษฐี (คอยู่โตก ณ ระนอง)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ