วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๗๖

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าประบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ใครับประทานแล้วในวันที่ ๒๘ เมษายน ทันวันทำบุญอายุ สมตามจำนงพระทัย

กราบถวายบังคมฝ่าประบาท ทรงพระเมตตาโปรดประทานพรไปขอรับไว้เหนือเกล้าด้วยความชื่นใจ กับสมุดรูปพระนครวัดซึ่งโปรดประทานเป็นของขวัญก็ได้รับประทานแล้ว เป็นสิ่งที่พอใจอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นสิ่งที่ชักพาต่อสติปัญญาออกไปได้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ ขอบใจหลานๆผู้มีส่วนในสมุดนั้นด้วย จะต้องแถมชมฝรั่งเศสว่าเขาเอาใจใส่ในสถานนั้นจริงๆ ตั้งใจจะเก็บรูปไว้ให้ทั่วหมดทุกแห่งทุกซอก เป็นการที่สมควรยิ่งแล้ว เพราะว่าสถานพระนครวัดนั้น เป็นงามที่สุดในแบบก่อสร้างของเขมร ไม่มีแห่งไหนจะเทียมถึงเลย เกล้ากระหม่อมคะเนว่าจะเป็นสถานที่สร้างทีหลังที่สุดเมื่อเขมรมีอำนาจเต็มที่ เพราะสังเกตเห็นปราสาทในเมืองเขมรเป็นแบบอินเดียภาคใต้แท้ๆ ก็มี ที่เป็นแบบอินเดียปนกับแบบเขมรก็มี ที่เป็นแบบเขมรล้วนแต่ว่ายังทำหนาหนักอย่างแบบอินเดียอยู่ก็มี แต่ที่พระนครวัดนั้นโปร่งงามอย่างชะแล่มแช่มช้อยไม่มีที่ไหนเปรียบได้ คิดว่าคงได้ค่อย ๆ แก้แต่แบบอินเดียมาเข้ารูปเป็นแบบเขมร สถานที่งามที่สุดก็ต้องเป็นสถานที่ทำทีหลังที่สุด อีกประการหนึ่งสถานอื่นมักมีอะไรก่อเติมประติดประต่อ แต่ที่พระนครวัดนั้นไม่พบตรงไหนที่ได้คิดทำต่อใหม่เลย เป็นได้ทำตามแปลนอันได้คิดขึ้นพร้อมเสร็จ เห็นได้ว่ายังเป็นของใหม่อยู่ทีเดียว ชื่อพระนครวัดยิ่งใหม่ลงมาอีกมาก เห็นความเป็นอยู่มีคูมีกำแพงดุจพระนครธม แต่ภายในมีล้วนแล้วไปด้วยพระปรางค์พระระเบียงและศาลา อันเป็นเครื่องอุปกรณ์สำหรับวัดทั้งนั้น จึงตั้งชื่อให้ว่าพระนครวัด เดิมทีคงมีชื่ออย่างอื่น

แท่นในตึกพระเจ้าเหา เกล้ากระหม่อมยังเข้าใจอยู่จนทุกวันนี้ ว่าเป็นที่ประทับเสด็จออกประชุมปรึกษาราชการ ด้วยความหยาบคายไม่ได้สังเกตว่ากว้างยาวพอจะประทับได้หรือไม่ เพิ่งทราบเมื่อตรัสถึงครั้งนี้ ว่าเป็นของเล็กประทับไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องเข้าใจได้ว่าเป็นของย่นย่อลงมาเสียแล้ว เป็นแบบฝรั่งเศสอย่างทรงพระดำริแน่ บนนั้นจะตั้งอะไร ถ้าได้ความอธิบายในแบบทางฝรั่งเศสมาก็พอจะเดาได้ว่าเราจะตั้งอะไร ชื่อตึกพระเจ้าเหานั้นก็แปลกหนักหนา คิดกันมาหนักแล้วก็ไม่ได้เรื่อง คำใช้ที่เราพูดกันก็มีแต่ว่าครั้งพระเจ้าเหา ได้ความหมายแต่เพียงว่าเก่าเท่านั้น ลางทีก็จะออกจากชื่อตึกอันไม่เข้าใจหลังนี้เอง เหา คำไทยก็มีแต่ชื่อสัตว์ที่กินหัวคนอื่นไม่เป็นมงคลและเข้ากับคำว่าพระเจ้าไม่ได้ แต่คำเขมรมีใช้ เหา แปลว่าเรียก หรือจะเป็นคำเขมร แปลว่าตึกที่พระเจ้าแผ่นดินเรียกมาประชุมปรึกษาราชการ

ในครั้งนี้ได้ถวายแบบหนังสือจารึกฐานพระพุทธรูปเชียงแสนมาให้ทรงตรวจด้วย จะเป็นอันพอพระทัย หรือจะโปรดให้แก้ไขประการใดก็แก้ได้ เพราะเป็นเวลาที่ช่างเขากำลังแกะหุ่นขี้ผึ้ง ได้คิดทำให้เป็นทีลวดลาย ด้วยวิธีรางรอบตัวหนังสือ เสร็จแล้วจะเห็นเป็นตัวหนังสือโปนอยู่ในร่อง แต่ที่แท้ก็ไม่สูงกว่าพื้นหน้ากระดานฐานพระ ศักราชที่จดประทานไปเปน ๒๔๗๐ ราชบัณฑิตยสภาเขาว่าผิด ให้แก้เป็น ๒๔๖๙ ก็ได้แก้ตามเขาสั่ง เขาส่งสมุดระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรที่ตีพิมพ์มาให้ดูเป็นพยาน

ไปเที่ยวคราวนี้ คิดว่าจะไปแวะดูเรือขุดแร่ที่ร่อนพิบูล แต่หนังสือพิมพ์เขาลงบอกข่าวว่าล่มจมเสียแล้ว ที่นั่นมีลำเดียวหรือมีลำอื่นอีกไม่ทราบ ขอประทานถวายบังคมลาวันที่ ๖ หนังสือถวายเป็นอันต้องหยุดจนกว่าจะกลับถึงกรุงเทพฯ จึงจะมีมาถวายตามเคย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ