วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัดถ์เมื่อวันพุธตามกำหนด แต่ได้ทราบความว่ามีมหาดเล็กของท่านออกมาตรวจตำหนัก เตรียมการที่จะเสด็จออกมาหัวหิน จึงนึกสงสัยว่าจดหมายฉะบับนี้จะแคล้วกับพระองค์ท่านก็จะเป็นได้ ถึงกระนั้นก็เห็นไม่เป็นไรด้วยเขาคงส่งกลับมาถวายที่นี่

ตั้งแต่หม่อมฉันได้รับลายพระหัดถ์ตรัสปรึกษาถึงแบบที่จะทำพระบรมรูปอนุสสรณ์สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โรงเรียนวชิราวุธ ก็ได้ตริตรองสนองพระประสงค์มา มีความเห็นดังจะทูลต่อไปนี้

๑. การที่ทรงรับประกอบการฉันใดให้แก่ผู้ใด ตามพระเกียรติคุณที่เคยปรากฎมาแต่ก่อน หม่อมฉันเห็นว่าในเวลานี้ควรจะถือหลักว่าต่างกันเป็น ๒ สถาน คือ เป็นการของรัฐบาลสถาน ๑ เป็นการของบุคคลสถาน ๑ มีอุทาหรณ์ เช่นนายประยูร ภมรมนตรี มาทูลขอให้ทรงคิดแบบตู้ใส่รัฐธรรมนุญอันเป็นการของรัฐบาล ที่กรรมการสร้างอนุสาวรีย์มาทูลขอให้ทรงคิดแบบอนุสาวรีย์ครั้งนี้เป็นการของบุคคล ทั้ง ๒ สถานผิดกันดังนี้ คือถ้ารับทำการของรัฐบาลย่อมจะติดพระองค์ “เป็นธรรมเนียม” และขึ้นชื่อว่ายังทำราชการ ฝ่ายการส่วนบุคคลนั้นถึงจะทำให้ใครก็แล้วแต่พระหฤทัย ไม่ผูกพันธ์และไม่จำต้องพยายามคิดอ่านจนกระทั่งเขาชอบใจ เปรียบว่าพระบรมรูปอนุสสรณ์ที่กล่าวนี้ทรงคิดเป็นอย่างใด ถ้ากรรมการไม่ชอบจะทูลขอให้ทรงคิดใหม่หรือให้ทรงแก้ไขไปตามความนิยมของเขาจะบอกปัดเสียก็ได้ ผิดกันดังนี้

๒. เรื่องแบบเครื่องแต่งพระองค์นั้น หม่อมฉันนึกว่าความประสงค์ของกรรมการ หรือความนิยมของผู้อื่นในสมัยนี้เห็นจะไม่ต้องการหลักฐานอันใดที่เกี่ยวกับแบบแผนและประเพณีโบราณ เป็นแต่จะให้แปลก เพราะฉะนั้นจะทำทรงเครื่องที่สมเด็จพระมงกุฎทรงประดิษฐขึ้นเองอย่างเช่นฉายพระรูปไว้ก็คงไม่ขัดข้องกับความนิยมของบุคคลในสมัยนี้ ถ้าหากจะมีผู้คัดค้านก็คงน้อยตัว แต่ถ้าว่าตามใจหม่อมฉัน เห็นว่าเครื่องทรงซึ่งสมควรกับอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฎนั้น ควรจะทำทรงฉลองพระองค์ครุยปริญญาด้วยเป็นของพระองค์ทรงประดิษฐขึ้นและยังใช้อยู่เป็นแบบแผน หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่ง ทำเป็นนักเรียนสมพระเกียรติกว่าเป็นนักรบ

๓. เรื่องฐานที่จะตั้งพระบรมรูปนั้น ถ้าจะหนีฐานอย่างฝรั่งก็จะต้องมีเครื่องประกอบ เช่นซุ้มจรนำหรือสิ่งอื่นอันต้องสิ้นเปลืองยิ่งขึ้นกว่าฐานอย่างสามัญ ไม่น่าวิตกอยู่ด้วยทุนจะไม่พอทำ

๔. รูปภาพที่จะประกอบฐาน ๓ ด้านนั้น ทางที่ทรงพระดำริมาหม่อมฉันก็เห็นชอบด้วย คือเป็นรูปลูกเสือด้าน ๑ รูปนักเรียน (จะเป็นนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธหรือนักเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้) ด้าน ๑ อีกด้าน ๑ ทำรูปทหารอาสาไปสงครามในยุโรป (อย่าทำรูปการพิธีที่ท้องสนามหลวงจะดีกว่า) หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้

เรื่องฐานศิลาแลงที่ฟอรโนไปพบที่ท่าเรือนั้น คือตำหนักท่าเจ้าสนุกที่พระเจ้าแผ่นดินประทับแรมเวลาเสด็จขึ้นพระพุทธบาท หม่อมฉันได้เคยไปดูแล้ว เป็นแต่ฐานไม่มีผนัง หม่อมฉันสันนิษฐานว่าจะรื้อเอาศิลาแลงกำแพงเมืองขิตขินที่ขอมสร้างไว้แต่โบราณที่บ้านหม้อมาทำฐานแล้วปลูกตำหนักไม้บนฐานนั้น นึกจำได้ตะงิด ๆ ว่าฐานตำหนักที่พระนครหลวงก็ก่อด้วยแลง เห็นจะเป็นของสร้างครั้งพระเจ้าปราสาททอง แต่เป็นที่ประทับเพียงแห่งละวันจึงไม่ก่อเป็นตึกเหมือนตำหนักที่ธารเกษม

เมื่อหนังสือพิมพ์ยุโรปมาคราวเมล์ที่ล่วงมานี้ หม่อมฉันได้พบอะไรแปลกอย่าง ๑ คือพวกตรวจค้นโบราณวัตถุที่เมืองเบบีลอนในประเทศอิรัก ได้ขุดพบเรือนหลัง ๑ ก่อครอบประตูเป็นโค้งด้วยอิฐตะแคง ฝรั่งถึงตื่นกันว่าการก่อโค้งอิฐตะแคงมิใช่เป็นความคิดชั้นหลังดังเข้าใจกันมาแต่ก่อน ที่จริงเขารู้จักทำกันมากว่าสี่พันปีแล้ว.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ