วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ดร

บ้านซินนะมอน ฮอลล์, ปีนัง.

วันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

ด้วยหม่อมฉันได้รับลายพระหัดถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ตรัสถามมาถึงเรื่องประวัติเจ้าศักดิประเสริฐนั้น หม่อมฉันพอจะทูลเรื่องราวให้ทรงทราบได้ ด้วยกรณีย์เกิดขึ้นในสมัยเมื่อหม่อมฉันเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และได้เกี่ยวข้องมาด้วยตนเองด้วย แต่ส่วนพลความและวันคืนอาจจะพลาดพลั้งได้บ้าง เพราะเปนการนานมาแล้ว และไม่มีเครื่องมือสำหรับสอบสวนขณะที่หม่อมฉันเขียนจดหมายนี้

๑. เวลาเมื่อไทยต้องยกเขตต์แดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสใน ร.ศ. ๑๑๒ นั้น กรมหลวงพิชิตปรีชากรเปนข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสานอยู่ ณ เมืองอุบล ตามหนังสือสัญญาที่ทำครั้งนั้น เสียเขตต์เมืองนครจำปาศักดิ์ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปหมด แต่ตัวเมืองนครจำปาศักดิ์ยังอยู่ในพระราชอาณาเขตต์ เพราะตั้งอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เจ้ายุติธรรมธรเจ้านครจำปาศักดิ์รักษาชายพระราชอาณาเขตต์ที่เมืองจำปาศักดิ์ ฝรั่งเศสพยายามเกลี้ยกล่อมจะให้ไปครองเมืองจำปาศักดิ์ใหม่ซึ่งคิดจะตั้งขึ้นทางฝั่งซ้าย เจ้ายุติธรรมธรไม่ยอมไป แต่วางอัชฌาศัยเปนมิตรไมตรีดีกับฝรั่งเศส เปนเหตุให้กรมหลวงพิชิต ฯ ทรงสงสัยว่าเจ้ายุติธรรมธรเอาใจออกหาก คิดอ่านจะให้ฝรั่งเศสเอาเขตต์แดนเมืองจำปาศักดิ์ทางฝั่งขวาไปรวมกันด้วย ได้แสดงความสงสัยมายังหม่อมฉัน แต่หม่อมฉันวางใจเปนอุเบกขา ด้วยคิดเห็นว่าเจ้ายุติธรรมธรอยู่ล่อแหลม เปรียบเหมือนเปนหนังหน้าไฟอาจจะทำดีกับฝรั่งเศสเพื่อป้องภันภัย ก็มิได้แสดงอาการอย่างใดให้เจ้ายุติธรรมธรเข้าใจว่าหม่อมฉันไม่ไว้ใจ แต่การที่กรมหลวงพิชิตฯ ทรงสงสัยนั้นทราบไปถึงเจ้ายุติธรรมธร จากเมืองอุบล

๒. ถึง ร.ศ. ๑๑๖ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากยุโรปครั้งแรก มีการสมโภชเปนการใหญ่ เจ้าเมืองประเทศราชเข้ามากรุงเทพ ฯ ด้วยกันหมด รวมทั้งเจ้ายุติธรรมธรด้วย เข้ามาคราวนั้นเจ้ายุติธรรมธรพาลูกชายเข้ามามอบให้หม่อมฉัน ๓ คน คนใหญ่ชื่อไรเวลานี้นึกไม่ออก แต่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่เจ้าราชดนัยในคราวนั้น ลูกอีกสองคนพึ่งรุ่นหนุ่มชื่อเจ้าอุย (คือเจ้าศักดิประเสริฐนี้) คน ๑ ชื่อเจ้าเบน ภายหลังได้เปนที่เจ้าศักดิประสิทธิและได้เปนตำแหน่งปลัดเมืองแพร่ แต่เดี๋ยวนี้ตายเสียแล้วคน ๑ เมื่อพาลูกมาให้นั้นเจ้ายุติธรรมธรได้แสดงความโทมนัสที่ถูกสงสัยว่าเอาใจออกหากจากพระเจ้าอยู่หัวจึงพาลูกเข้ามาให้หม่อมฉันไว้ให้เห็นใจว่ายังมีความกตัญญู ด้วยคิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัวในพระราชวงศนี้อยู่ไม่ขาด หม่อมฉันจึงรับลูกชายไว้ฝึกหัดราชการ (ตรงนี้สงสัยว่าจะได้อยู่ในกรุงเทพฯ ทั้ง ๓ คน หรือจะได้ให้เจ้าราชดนัยกลับไปเมืองจำปาศักดิ์กับเจ้ายุติธรรมธรจำไม่ได้)

๓. เจ้ายุติธรรมธรกลับไปไม่กี่ปีก็ถึงพิราลัย พอได้ข่าวหม่อมฉันจึงให้ลูกกลับออกไปเมืองจำปาศักดิ์ทั้งหมด เพื่อไปจัดการศพบิดาและรับมรดกในเวลาเมื่อลูกเจ้านครจำปาศักดิ์ยังอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์นั้น ถึง ร.ศ. ๑๒๒ ไทยทำหนังสือสัญญาปักเขตต์แดนกับฝรั่งเศสอีกฉะบับ ๑ ตามเขตต์แดนในหนังสือสัญญานั้น ที่เมืองจำปาศักดิ์ทางฝั่งขวาตกไปเปนของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเกลี้ยกล่อมลูกเจ้ายุติธรรมธรทั้ง ๓ คนนั้น จะให้เจ้าราชดนัยครองเมืองจำปาศักดิ์ และจะส่งเจ้าอุยเจ้าเบนลงไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่เมืองไซ่ง่อน เจ้าราชดนัยมีหนังสือลับเข้ามาปรึกษาหม่อมฉัน หม่อมฉันตอบแนะไปให้รับตำแหน่งทำการให้ฝรั่งเศส เพราะมิฉะนั้นถ้าฝรั่งเศสเอาพวกอื่นมาตั้งวงศตระกูลเจ้ายุติธรรมธรจะได้ความเดือดร้อน เจ้าราชดนัยจึงได้ครองเมืองจำปาศักดิ์มาจนทุกวันนี้ ส่วนเจ้าศักดิ์ประเสริฐนั้น รับไปเรียนวิชชาที่เมืองไซ่ง่อนตามความประสงค์ของฝรั่งเศส แต่เมื่อจะไปมีหนังสือลับเข้ามาบอกหม่อมฉัน ว่าเมื่อได้วิชชาแล้วจะกลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ ขออย่าให้สงสัยว่าเอาใจออกหากเลย ในเวลานั้นหม่อมฉันก็ไม่เชื่อ นึกว่าไปฝากฝ่ายกับฝรั่งเศสก็ไม่ตอบหนังสือ แต่เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์นั้นไม่สมัคอยู่กับฝรั่งเศสก็ทิ้งเมืองจำปาศักดิ์กลับเข้ามากรุงเทพฯ

๔. หม่อมฉันได้รับทำนุบำรุงเจ้าศักดิ์ประสิทธิ์มาคนเดียวก่อนสัก ๓ ปี พอเจ้าศักดิ์ประเสริฐเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสสำเร็จแล้ว ก็ออกจากเมืองไซ่ง่อนตรงมากรุงเทพฯ ไม่กลับไปเมืองจำปาศักดิ์ เมื่อมาพร้อมกันทั้ง ๒ คนจึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนเจ้าศักดิ์ประเสริฐคน ๑ เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์คน ๑ มีตำแหน่งรับราชการในกระทรวงมหาดไทยต่อมา แต่เมื่อหม่อมฉันออกจากมหาดไทยแล้ว เจ้าทั้งสองนั้นจะได้รับตำแหน่งหน้าที่ใดๆ บ้างหม่อมฉันไม่ทราบ เมื่อขึ้นไปมณฑลพายัพ หม่อมฉันไปพบเจ้าศักดิ์ประสิทธิ์เปนปลัดอยู่เมืองแพร่ แต่เจ้าศักดิ์ประเสริฐนั้นรับราชการกระทรวงมหาดไทยอยู่ในกรุงเทพฯมักไปมาหาสู่หม่อมฉันเนืองๆ ในตอนหลังนี้ดูเหมือนจะขัดสนจนลงมาก เรื่องประวัติของลูกเจ้ายุติธรรมธรเปนดั่งทูลมา

๕. ที่ท่านทรงพระดำริจะประทานอนุเคราะห์เจ้าศักดิ์ประเสริฐนั้น หม่อมฉันเห็นเปนการสมควร เพราะพวกนี้มีความกตัญญูต่อพระเจ้าอยู่หัว หรือถ้าจะเรียกตามสมัยนี้ ก็ว่ามีความกตัญญูต่อประเทศสยามเปนแน่แท้มาถึงสองชั่วคน ดังอธิบายที่ทูลมา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ