วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๖

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าประบาท

ในสับดาห์นี้ ได้รับลายพระหัดถ์ซ้อนไปถึงสองฉะบับ ลงวันที่ ๑๔ ฉะบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑๙ ฉะบับหนึ่ง ขอประทานกราบทูลสนองในทางเล่นเสียก่อน

คำ “ศรีสันวัณณะ” จะอธิบายถวายว่ามาแต่อะไรก็ได้แต่อย่างเดียวกับ “พิมาย” มาแต่ที่มา ศรี คือ สี สัน คือ สรรพ์ วัณณะ ตรง วรรณ หมายความว่าสีทุกชนิด สีต่าง ๆ ทุกอย่าง เช่นขาวเขียวเหลืองดำแดงอันเรียกว่าเบญจรงค์ เขียวนั้นโปรดเข้าพระทัยว่าสีคราม เขียวคราม คำ “สีสวรรค์” เปนอีกนัยหนึ่ง ตั้งชื่อขึ้นด้วยความตื่นตา เพราะว่าเมื่อย้อมผ้าเข้าแล้วมีสีมันสดงาม ผิดกว่าที่เคยย้อมด้วย แกแล ฝาง และคราม เปนอันมาก ดุจเปนสีมาแต่สวรรค์ แต่มันก็สิ้นสีตกไปโดยเร็วเหมือนกัน จนมีคนประชดว่าชื่อสมแล้ว มันมาแต่สวรรค์มันก็กลับไปสวรรค์โดยพลัน คิดว่าเปนดังนี้ สีสวรรค์กับสีสรรพ์มิได้เกี่ยวเนื่องถึงกัน

คำที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ว่า “หน่อคำลำแก้ว” สังเกตเห็นว่าเปนสำนวนชาวเหนือ จะต้องเปนคำเก่า แต่คำว่า “หลุดแล้วจากลำต้น” สังเกตเห็นว่าเปนคำผูกต่อทีหลัง แต่จะต่อกันไว้ก่อน หรือจะเปนพระราชนิพนธ์ทรงผูกต่อก็หยั่งไม่ถึง แต่เชื่อว่าเปนพระราชนิพนธ์

เรื่องคำ “เถน” เห็นจะต้องขอประทานผัดไว้ก่อน ตามที่เคยได้ยินมาโดยมากก็เปนเรื่องนิทานตาเถนกับยายชี ซึ่งไม่เปนหลักฐานเลย ถัดขึ้นไปก็ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่มีว่า “จะกล่าวถึงเถนขวาดฉลาดเวท” และกลอนพระยาศรีสุนทรน้อย ว่า “จะกล่าวถึงเณรสังบางกะจะ” แต่ก็เนื่องอยู่ในเรื่องนิทานเหมือนกัน ที่เปนหลักฐานเข้าบทกฎหมาย ตามที่ตรัสอ้างนึกไม่ออก ขอประทานตรวจดูกฎหมายก่อน ดูว่าท่านจะวางฐานะไว้เพียงไร แล้วจะได้จับเอาหลักนั้นไปประชิตสมเด็จพระวันรัตนลองดู

ตรัสถึงสามเณรแก่เช่นสามเณรอ้น นึกขึ้นมาได้ถึงขรัวอินโข่ง (ช่างเขียน) เคยไต่สวนว่าทำไมจึงได้ฉายาว่าโข่ง เขาบอกว่าบวชเปนเณรอยู่เกินกาลจึ่งเรียกกันว่าอินโค่ง ทำให้เข้าใจไปว่าเรียกผิดหรือเขียนหนังสือผิดอ่านผิด แต่เดี๋ยวนี้มานึกขึ้นได้ว่าไม่ผิด หอยโข่งมีเปนอย่างอยู่ หมายความว่าหอยใหญ่ เณรโค่งก็เณรใหญ่ โข่งหรือโค่งเปนคำเดียวกัน หมายความว่าใหญ่เหมือนกัน

ดีใจ ได้ประทานอธิบายคำว่า “ตะเกี่ย” อยากทราบมานานแล้ว เมื่อก่อนหน้าไปอยู่หาดใหญ่นั้นเอง ขึ้นไปเที่ยวลพบุรีผ่านตะเกี่ย แม่โตซักเอานอนกลิ้งบอกแกไม่ได้มากไปกว่าว่าเปนที่ฝังศพ

ขอบพระเดชพระคุณที่ทรงอธิบายถึงพระเจ้า ๕ พระองค์ของแขกไม่ต้องเที่ยวสืบสวนเอาความรู้จากที่อื่น แต่ยังสงสัยอยู่ที่พวกแขกเจ้าเซนทำทองเปนห้าแฉก จารึกนามพระเจ้าห้าพระองค์นั้น บังเอิญไปเหมือนมือเข้า หรือตั้งใจจะทำเปนมือจริงๆ ถ้าตั้งใจจะทำเปนมือแล้วเหตุใดจึงทำเปนมือ ได้ทรงพบอัตถาธิบายด้วยหรือไม่

ข่าวกรุงเทพฯ มีแต่เรื่องเผาศพทหาร เขาเชิญเจ้านายฝ่ายในเชิญสมเด็จพระพันวัสสาและทูลกระหม่อมหญิง แต่เสด็จไม่ไปทั้งสองพระองค์ ประทานแต่ธูปเทียนไป ส่วนเกล้ากระหม่อมต้องไปเพราะออกจะเปนตัวนายโรงเอก เขาเกณฑ์ให้เปอฟอมในการมีเทศน์มฤตกวัตร เขาเรียกอย่างนี้จริงๆ ไม่ใช่แกล้งเรียก แล้วให้ทอดผ้าหลวงผ้ากงษีที่ปากหีบ และจุดเพลิงหลวง ใส่ธูปเทียนของสมเด็จพระบรมราชินีและของตัว ซ้ำเจ้ากรมในสมเด็จพระพันวัสสาแลทูลกระหม่อมหญิงก็เอาธูปเทียนมามอบให้ใส่ด้วย คุณตันก็ยังเอาธูปเทียนของกงษีมาให้ใส่อีกด้วย ทำกิจมากมายติดจะเหนื่อย แต่กิจเหล่านั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ต้องแต่งเครื่องทหาร เขาให้แต่งเครื่องหัดซึ่งต้องใส่เกือกบู๊ดสูง ขาหักท้าวเกใส่เกือกบู๊ดสูงไม่ได้ หลวงประเสริฐราชองครักษ์เขาช่วยจัดการว่าใช้ผ้าพันแข้งแทนก็ได้ เปนตกลงตามเขา หมดทั้งนั้นไม่สบายอย่างเอก หนักตึงอึดอัดขัดข้องคันหน้าแข้ง กว่าจะทำกิจพิธีเสร็จเกือบสิ้นใจ

ศพทหารนี้เขาไม่ได้เผาตารางอย่างตามเคย เขาคิดจัดเปนอย่างอื่น ซึ่งสมควรจะกราบทูลให้ทรงทราบ เขาเอาไม้อุโลกต่อเปนทีเสาหลักหินปักขึ้นตรงกลาง บนนั้นทำเปนพานทองรองสมุดรัฐธรรมนูญตั้ง รอบหลักนั้นเอาไม้อุโลกต่อเปนที่แท่นหินรองหีบศพ เรียงรอบหลักรัฐธรรมนูญเปนวงกลม หันหัวหีบเข้าชนหลักรัฐธรรมนูญ หันปลายหีบออกมาข้างนอก ที่แท่นทางด้านปลายหีบเขาเจาะช่องไว้อย่างกับว่าช่องทิ้งหนังสือตู้ไปรษณีย์ สำหรับเอาธูปเทียนใส่เข้าไป มองเห็นในช่องนั้นมีสะพานผ้าใบเลื่อนไปทางหัวหีบอยู่เสมอ เมื่อเอาธูปเทียนสอดเข้าไปก็เดินเลื่อนไปตามสะพานผ้าสูญหายไป ฟืนตองจะอยู่ที่ไหนไม่แลเห็น พอพวกผู้ใหญ่ใส่เทียนกันแล้ว พวกผู้น้อยก็หนุนเนื่องกันขึ้นไปทั้งสี่ทิศ ในที่สุดก็ไปอัดแน่นจนกระดิกตัวไม่ได้ พวกที่ขึ้นไปก่อนจะลงก็ไม่ได้ พวกที่จะขึ้นใหม่ก็ขึ้นไม่ได้ ทุกคั่นบันไดรอบเมรุเต็มไปด้วยคนดูดุจภูเขาคน มิช้าธูปเทียนและจันทนบุบผาเปนอันมาก ก็เผ่นทะยานผ่านขึ้นสู่เวหาราร่อนข้ามหัวคนเข้าไปตกที่ใกล้หีบ เห็นเหมือนหนึ่งฝูงนกนางนวลที่บินร่อนตามเรือกำปั่น แล้วและโผลงจิกปลากินเปนภักษาฉะนั้น แล้วจะเปนอย่างไรต่อไปอีกไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมกลับบ้านเสีย

ทีนี้จะกราบทูลสนองในกิจจริง ตามที่ต้องพระประสงค์ให้เกล้ากระหม่อมไปขอลูกสาวให้แก่ชายดิศศานุวัตินั้น ได้นึกหนักใจอยู่มาก รู้สึกตัวว่าเปนคนซวยในทางขอลูกสาว ไม่เคยสำเร็จสักที ตามที่ได้เคยทำมา รายที่ ๑ ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้ว แต่ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงปรารถนาให้มีเจ้าใหญ่นายโตไปตรัสขอเพื่อเปนเกียรติยศ ผู้ใหญ่ฝ่ายชายเขาก็มาเข็นเกล้ากระหม่อมให้ช่วยไปขอ เกล้ากระหม่อมเห็นว่าเปนแต่การพิธีเท่านั้นเพราะเขาตกลงกันแล้ว จึงไปขอเขาก็ให้ นึกว่าสำเร็จแล้ว แต่เปล่า ทีหลังผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเกิดผิดใจแตกกัน การสมรสเลยเลิกร้างไม่ได้แต่งกัน รายที่ ๒ เจ้าบ่าวมาวิงวอนให้ช่วยไปขอลูกสาว ว่าต่างรักใคร่กัน ขัดอยู่เพียงต้องขออนุมัติผู้ปกครองฝ่ายหญิงเท่านั้น เกล้ากระหม่อมก็ไปขอ แต่ผู้ปกครองเขาว่าเจ้าสาวของเขามิได้รักใคร่ พูดเปล่า ๆ เอาบุญเจ้าใหญ่นายโตมาข่มขี่ เขาให้ไม่ได้ เกล้ากระหม่อมต้องกลับหลังด้วยความขายหน้า รายที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสเหนือเกล้า ฯ ให้เกล้ากระหม่อมขอหญิงพวง ให้แก่อุปลีสาณ เกล้ากระหม่อมก็รับสนองพระเดชพระคุณแต่ได้กราบบังคมทูลถึงเรื่องที่เคยซวยหากไม่สำเร็จเขาจะโทษเอาได้ ดังนั้นก็ทรงพระวิตก ตรัสเหนือเกล้า ฯ ว่าพระองค์ก็เคยทรงจัดไม่สำเร็จเหมือนกัน ยกถวายให้สมเด็จพระพันวัสสาทรงจัดเถิดดีกว่า เรื่องก็พ้นไปตามที่กราบทูลนี้ จะได้มีใจรังเกียจก็หามิได้ เต็มใจจะสนองพระเดชพระคุณตามพระประสงค์ แต่จะได้ผลเปนประการใดนั้นก็ต้องแล้วแต่การ หวังว่าแม้พลาดพลั้งก็คงทรงพระกรุณาไม่ถือโทษ

เมื่อวานซืนนี้ชายดิศมาหา นำลายพระหัดถ์มาให้ หาฤกษมาด้วยจะให้ไปขอและมั่นในวันวานนี้ เกล้ากระหม่อมเห็นสุดสามารถที่จะทำได้ด้วยอีก ๘ วันเท่านั้นท่านก็จะทำงานพระศพลูกท่าน ขณะนี้ท่านคงกำลังจัดของอยู่วุ่นวาย จะขวางเข้าไปขอลูกสาวเปนอกาโลอย่างยิ่ง ท่านจะว่าแก่แล้วไม่มีความคิด จึงขอให้ระงับไว้ก่อนจนท่านทำงานแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. หม่อมเจ้าพวงรัตนประไพ เทวกุล

  2. ๒. หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ