- ๑. แม่จ๋า
- ๒. อดีตมหาราชสดุดี
- ๓. วารสดุดี
- ๔. คลื่นแห่งสังสารวัฏฏ
- ๕. ภาพและสภาพ
- ๖. จริงกับแต่ง
- ๗. สังสารวัฏฏ
- ๘. รส
- ๙. ธรรมชาติกับมนุษย์
- ๑๐. แม้เมฆดำยังแรขอบน้ำเงิน
- ๑๑. ราตรี
- ๑๒. เตรียมชรา
- ๑๓. น้ำมันระกำ
- ๑๔. หัวไม้เก่าใหม่
- ๑๕. กิเลส
- ๑๖. นักกีฬา
- ๑๗. กีฬาไม่ถือชาติ
- ๑๘. น้ำใจนักกีฬา
- ๑๙. บทเพลงกราวกีฬา
- ๒๐. คำวิพากย์
- ๒๑. มิตรามิตร
- ๒๒. ภาพ ๔
- ๒๓. รามรันทด
- ๒๔. สามสอน
- ๒๕. มฤตยู
- ๒๖. ออปติมิสัมกับเป็สสิมิสัม
- ๒๗. สองนักสิทธ์
- ๒๘. ฉันเป็นหญิงหรือชาย
- ๒๙. ฉันเป็นชายหรือหญิง
- ๓๐. ชิงสุกก่อนห่าม
- ๓๑. ฉันขยันจริงๆ
- ๓๒. เขาเป็นคนขลาด
- ๓๓. เป็นตัวเราดีกว่า
- ๓๔. หัวหน้ากับลูกน้อง
- ๓๕. ไม้เรียว
- ๓๖. กถาศึกษาของเก่า
- ๓๗. นรี-นรุปฐาก
- ๓๘. พร
- ๓๙. โหราศาสตร์
- ๔๐. ดาราทองแห่งการแข่งขันยานยนตร์
- ๔๑. นักกีฬา
- ๔๒. การฝึกซ้อม Training
- ๔๓. แม่สำอาง
- ๔๔. จันทรชิต
- ๔๕. ดอกไม้
- ๔๖. หมอคงกับอาจารย์คำ
- ๔๗. ยถากรรม
- ๔๘. กระดูกสันหลัง
- ๔๙. เศรษฐเสนา สู้เศรษฐสงคราม
- ๕๐. เศรษฐกิจตกต่ำ
- ๕๑. โลกกับเครื่องจักร
- ๕๒. ภัยโลก
- ๕๓. พระของเรา
- ๕๔. ทำไม ?
- ๕๕. โจกโลก
- ๕๖. วัฏฏโก โลโก
- ๕๗. ชัยก่อกับชัยทำลาย
- ๕๘. กรรมงาม
- ๕๙. ยิหวาวิทยุ
- ๖๐. งานหกสิบ
- ๖๑. พฤษภ. ๒๔๗๙
- ๖๒. พรสี่
- ๖๓. ศานติสมัย
- ๖๔. อุดมคติกับสัมฤทธิคติ
- ๖๕. ใครและอะไรเอ่ย
- ๖๖. ดิม็อคระซีกับดิกเตเตอร์ชิป
- ๖๗. ไข้สันนิบาต
- ๖๘. คติพบใหม่
- ๖๙. สงครามจำแลง
- ๗๐. ชำร่วยโลก
- ๗๑. เงาะถอดรูป
- ๗๒. มัชฌิมาปฏิปทา
- ๗๓. ระบอบไหนแน่ ?
- ๗๔. ผีบุญ (๑)
- ๗๕. ผีบุญ (๒)
- ๗๖. ฝัน ?
- ๗๗. กฤษณา ?
ไม้เรียว
หนูเปียนี้มารดาหาว่าดื้อ | ที่แท้คือความเห็นเป็นคนละอย่าง[๑] |
ความได้ใจทำให้หนูเปียกระด้าง[๒] | มารดาขวางทีไรได้เฆี่ยนตี[๓] |
แม่ลูกต่างก็ไม่เข้าใจกัน | เลยต่างคนต่างดันกันเต็มที่ |
การตีชักจะหนักขึ้นทุกที | เพราะเกิดมีด้านไม้ขึ้นในตน |
โรคด้านไม้ลามไปถึงใจจิตต์ | ด้านความคิด, ด้านหน้า, และด้านก้น |
ขนาดเฆี่ยนต้องเปลี่ยนไปตามคน | ที่ความด้านเข้าผจญประจำตัว |
ยิ่งตั้งต้นแต่เล็กยิ่งแรงแล่น | กว่าจะโตก็แก่นมิใช่ชั่ว[๔] |
แม้กุญแจมือใส่ยังไม่กลัว | เดิรตากหน้าได้ทั่วทั้งภารา |
หนูเปียที่มีกำลังใจดังเพ็ชร | ต้องระเห็จระเหหนด้นเข้าป่า |
เป็นเสือสางแม่นางโกงยกโขลงพา | เพาะพยาธิหนอนบ่อนบ้านเมือง[๕] |
กำลังใจดังว่านี้หายาก | อบรมดีดีมากหากฟุ้งเฟื่อง |
เป็นบุรุษรัตนคุณประเทือง | ไม่ใช่เรื่องหักหาญผลาญคุณธรรม[๖] |
วิสัยเด็กเปรียบได้กับไม้อ่อน | ที่ดัดร้อนลนไฟนั้นไม้คร่ำ |
ดัดเย็นได้ไฉนจักไม่ทำ? | ดัดด้วยน้ำรัก-กระด้างอ่อนดังใจ[๗] |
ถืออำนาจเหตุผลกุศลกรรม | ยุติธรรมปลุกเสกเด็กผู้ใหญ่[๘] |
ของใครดีให้ประนอมยอมกันไป[๙] | แต่มิให้ตามใจขอไปที[๑๐] |
ให้เหตุผลครอบงำย่อมทำได้ | เด็ก ผู้ใหญ่ ครูศิษย์ ไม่ผิดที่[๑๑] |
อบรมด้วยเหตุผลได้คนดี | น้ำรักมีเมตตาเป็นยาพอ |
เก็บไม้เรียวห่อไว้ในตู้เหล็ก[๑๒] | สำหรับเด็กเกกมะเหรกและเหลือขอ |
ทารกอ่อนเชาน์ไวใช้ลูกยอ | แล้วหุ้มห่อด้วยรักจักมีชัย[๑๓] |
ครูเป็นผู้เพ่งจิตตวิทยา | ใช้วิชาด้วยวิธีที่แจ่มใส |
เพื่อศิษย์ล้วนร่าเริงบันเทิงใจ | ได้เจริญเชาวน์ไวในชีวิต |
การเฆี่ยนตีเป็นวิธีทำลายขวัญ | โทษมหันต์ คุณมีกะจี้หริด[๑๔] |
ห้ามก้าวหน้าพาหู่อยู่เป็นนิตย์ | เป็นยาพิษมิให้ใช้บำรุง |
ผู้เฆี่ยนตีโดยมากไม่อยากคิด | โทสจริตครอบงำทำให้ยุ่ง |
มีอำนาจก็จะใช้ไม่ปรับปรุง | ตั้งศาลเตี้ยตามมุ่งแต่ใจตน[๑๕] |
เหตุฉะนั้นการตีมีแต่ห้าม | ไม่ต้องตามยุยงส่งเสริมผล |
ก็สงครามใครตามไปปรือปรน | มีแต่คนคอยห้ามสงครามไว้ |
โบราณว่าเสียดายไม้เป็นภัยแก่ | ยุวชนนั้นแน่หรือไฉน? |
เดี๋ยวนี้โลกเจริญมากหากเปลี่ยนไป | เป็นขอให้เสียดายพร้อมออมไม้เรียว |
อารยชนไม่ชอบหวาย, ฉันใด | ลูกของเขาไม่ชอบไม้หวดเควี้ยวๆ |
อันนี้ก็เช่นกันฉันนั้นเทียว | พึงเฉลียวเลือกใช้ให้ชอบ เทอญ |
กรกฎ ๗๗.
[๑] ......อย่าง คือความเห็นของมารดากับบุตรไม่ตรงกัน จึงเกิดขัดกันขึ้น
[๒] ......กระด้าง ถ้ามารดาให้บุตรชะนะทุกทีไป บุตรก็ได้ใจ ต่อไปก็จะเอาชะนะร่ำไป
[๓] ......ตี มารดาที่เลี้ยงบุตรให้ดื้อ โดยยอมให้เอาชะนะ เมื่อโกรธและไม่ยอมทีไรก็ต้องตีกัน
[๔] ......ชั่ว ถ้าใช้วิธีตีตั้งแต่เล็ก ไม่ทันไรก็หนักไม้ ต้องตีหนักขึ้นทุกที จนเป็นอย่างที่เรียกว่า “แก่นแก้ว”
[๕] ......เมือง อ้ายเสือคนหนึ่งต้องมีลูกสมุนหลายคน พวกเหล่านี้เพาะเด็กให้เสีย กลายเป็นคนรกโลกไปหมด
[๖] ......คุณธรรม กำลังใจแข็งแรงของเด็กนั้นเป็นคุณธรรม ถ้าอบรมดีก็ดีไป ถ้าอบรมผิดก็เป็นการทำลายคุณธรรมนั้นแล
[๗] ......ใจ มีเด็กที่ดื้อแก่คนอื่นหมดทั้งบ้าน จะยอมทำตามคำมารดาคนเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะมารดารู้จักอบรมบุตรด้วยใช้อำนาจความรัก อันเป็นน้ำเย็น จนเอาชะนะใจที่แข็งนั้นได้
[๘] ......ผู้ใหญ่ คือทั้งฝ่ายเด็กและผู้ใหญ่ยอมอยู่ในอำนาจแห่งเหตุ ถือที่ถูกเป็นใหญ่
[๙] ......ไป ผู้ใหญ่ถูก เด็กก็ยอม แม้เด็กถูก ผู้ใหญ่ก็ยอม
[๑๐] ......ที การตามใจในที่ผิดก็ดี ปล่อยตามใจพอให้แล้วกันไปก็ดี ล้วนเป็นเหตุให้เด็กได้ใจ และไม่ยอมอยู่ในอำนาจเหตุผลต่อไป
[๑๑] ......ที่ การอยู่ในอำนาจเหตุผล และยอมตามฝ่ายถูกนี้ ไม่เป็นการลดเกียรติ แม้ผู้ใหญ่ก็ยอมเด็กได้ ทำให้ดี กลับเป็นตัวอย่างที่สอนอย่างงดงามเสียอีก
[๑๒] ......เหล็ก มีเรื่องเล่ากันว่า ครูใหญ่คนหนึ่ง มีไม้เรียวอาญาสิทธิ์ไว้สำหรับโรงเรียนอันหนึ่ง เขาเอาแผนที่เก่าม้วนไม้เรียวนั้นเข้าไว้ แล้วก็เก็บใส่ตู้ลั่นกุญแจ เมื่อจะใช้ต้องไปไขกุญแจหยิบม้วนนั้นออกมา คลี่แผนที่เอาไม้เรียวออก กว่าจะเสร็จธุระเหล่านี้ ถ้าเขามีโทสะอยู่บ้าง โทสะนั้นก็จะคลาย เขากลับได้สติดี
[๑๓] ......ชัย ข้าพเจ้าเคยพบมารดาที่รักบุตรใช้คำว่าอย่างนี้ “ทำอย่างนั้นสิลูก แม่ถึงจะรัก ทำอย่างนี้ แม่ไม่รักละ ลูกรักของแม่ต้องไม่ทำอย่างนั้น ลูกรักแม่ ต้องไม่ขัดใจแม่” ฝ่ายลูกก็รักแม่ ไม่อยากขัดใจแม่ กลัวแม่โกรธ เมื่อแม่โกรธแล้ว แม่ก็จะไม่รักและไม่ตามใจ ลูกที่แม่รักและอบรมดี ย่อมรู้สึกอย่างนี้
[๑๔] กะจี้หริด กะจ้อยร่อย, เล็ก, น้อย
[๑๕] ......ตน การตัดสินเอาตามชอบใจโดยไม่ใช้ดุลยพินิจ คือไม่ฟังเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าตั้งศาลเตี้ย ณ ศาลเตี้ยนี้ Might is Right.