ยถากรรม

จะกล่าวถึงกระทาชาย ประชาชาวชะอำชำ-
นิอาชีพทะเลทำ ถนัดลอบและเบ็ดแห
ชำนาญแนวพนารัญ กะสันสรรพ์สภาพแล
เตลิดป่าพนาแปร เพาะปลูกข้าวและแตงโม
มิโก่นเสาก็เผาถ่าน ประมวญงานสิอักโข
ประทุกเกวียนกระบือโค คำนวณค่ามิค่อยมี
ผิเพียรทำมิจำอด ผิจับจดก็เต็มที่
พลังแลกศรีร์พี พลังออมจะผอมจน
ชะอำแล้งพิรุณมาก เหมาะพักตากพะโยมหน
เกษตรกรรมมิจำนน ก็แร้นแค้นและแค่นหา
กำไรเร่งกำลังงาน ขนานยอดขะบวนยา
มิอาจยั่วประชาพา ชะอำให้ริขวายขวน
เพราะคนน้อยกระทำนิด บเกิดกิจพณิชย์ปรน
บมีมรรคบมีผล และต่างคนก็ต่างทำ
แสวงมื้อเสวยมื้อ กำเนิดถือยถากรรม
บบุกป่าก็ฝ่าน้ำ อเนกลูกระงมโรง
กะจ้อยร่อยฉลูรุม- กะตุ้มเลี้ยงระวังโขลง[๑]
เจริญวัยสมัยโยง นิยมหาวิชาลัย[๒]
จะทุกข์ยากก็มากท้อง ฤที่ต้องยำเยงภัย
เพราะกาสรสุกรไก่ ขะโมยได้ประดุจเคย
มิมีแพทย์มิมียา มิรักษาก็หายเงย
ผิไม่หายก็ตายเลย บรอเสกสุคาถา
ก็แลกายนครแก มิยอมแพ้พยาธิครา
ผจญกวาดพยาธิคร่าห์ ประหารให้ประลัยหาย
ผิเหลือรับขยับแพ้ มิพ้นแน่ก็ต้องตาย
ฉะนี้แก้วกระทาชาย ชะอำท้ายถากรรม

พฤศจิก. ๗๘


[๑] โขลง คนอยู่บนยกพื้น วัวอยู่กับแผ่นดิน ภายใต้หลังคาแห่งโรงนาเดียวกัน

[๒] วิชาลัย ที่อยู่แห่งวิชา คือโรงเรียน หรือวิทยาลัย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ