- ๑. แม่จ๋า
- ๒. อดีตมหาราชสดุดี
- ๓. วารสดุดี
- ๔. คลื่นแห่งสังสารวัฏฏ
- ๕. ภาพและสภาพ
- ๖. จริงกับแต่ง
- ๗. สังสารวัฏฏ
- ๘. รส
- ๙. ธรรมชาติกับมนุษย์
- ๑๐. แม้เมฆดำยังแรขอบน้ำเงิน
- ๑๑. ราตรี
- ๑๒. เตรียมชรา
- ๑๓. น้ำมันระกำ
- ๑๔. หัวไม้เก่าใหม่
- ๑๕. กิเลส
- ๑๖. นักกีฬา
- ๑๗. กีฬาไม่ถือชาติ
- ๑๘. น้ำใจนักกีฬา
- ๑๙. บทเพลงกราวกีฬา
- ๒๐. คำวิพากย์
- ๒๑. มิตรามิตร
- ๒๒. ภาพ ๔
- ๒๓. รามรันทด
- ๒๔. สามสอน
- ๒๕. มฤตยู
- ๒๖. ออปติมิสัมกับเป็สสิมิสัม
- ๒๗. สองนักสิทธ์
- ๒๘. ฉันเป็นหญิงหรือชาย
- ๒๙. ฉันเป็นชายหรือหญิง
- ๓๐. ชิงสุกก่อนห่าม
- ๓๑. ฉันขยันจริงๆ
- ๓๒. เขาเป็นคนขลาด
- ๓๓. เป็นตัวเราดีกว่า
- ๓๔. หัวหน้ากับลูกน้อง
- ๓๕. ไม้เรียว
- ๓๖. กถาศึกษาของเก่า
- ๓๗. นรี-นรุปฐาก
- ๓๘. พร
- ๓๙. โหราศาสตร์
- ๔๐. ดาราทองแห่งการแข่งขันยานยนตร์
- ๔๑. นักกีฬา
- ๔๒. การฝึกซ้อม Training
- ๔๓. แม่สำอาง
- ๔๔. จันทรชิต
- ๔๕. ดอกไม้
- ๔๖. หมอคงกับอาจารย์คำ
- ๔๗. ยถากรรม
- ๔๘. กระดูกสันหลัง
- ๔๙. เศรษฐเสนา สู้เศรษฐสงคราม
- ๕๐. เศรษฐกิจตกต่ำ
- ๕๑. โลกกับเครื่องจักร
- ๕๒. ภัยโลก
- ๕๓. พระของเรา
- ๕๔. ทำไม ?
- ๕๕. โจกโลก
- ๕๖. วัฏฏโก โลโก
- ๕๗. ชัยก่อกับชัยทำลาย
- ๕๘. กรรมงาม
- ๕๙. ยิหวาวิทยุ
- ๖๐. งานหกสิบ
- ๖๑. พฤษภ. ๒๔๗๙
- ๖๒. พรสี่
- ๖๓. ศานติสมัย
- ๖๔. อุดมคติกับสัมฤทธิคติ
- ๖๕. ใครและอะไรเอ่ย
- ๖๖. ดิม็อคระซีกับดิกเตเตอร์ชิป
- ๖๗. ไข้สันนิบาต
- ๖๘. คติพบใหม่
- ๖๙. สงครามจำแลง
- ๗๐. ชำร่วยโลก
- ๗๑. เงาะถอดรูป
- ๗๒. มัชฌิมาปฏิปทา
- ๗๓. ระบอบไหนแน่ ?
- ๗๔. ผีบุญ (๑)
- ๗๕. ผีบุญ (๒)
- ๗๖. ฝัน ?
- ๗๗. กฤษณา ?
ภาพ ๔
ฟ้อน, ขับ, เขียน, กับทั้ง | แถลงพจน์ |
รวมสี่ภาพกำหนด | แน่ไว้ |
อาจแสดงสิ่งใดหมด | เหมือนอย่าง จริงนอ |
ครูสี่สำแดงได้ | ดั่งนี้เชิญฟัง |
๑. ภาพฟ้อน
ครูละครฟ้อนงามนามภรต[๑] | สำแดงบทแบบระบำทำทีท่า |
ทั้งพระนางยักษ์ลิงท้าวพระยา | รุ่นชราเด็กผู้ใหญ่ได้ทั้งนั้น |
จะทีรัก, ทีโกรธ, หรือทีเกลียด, | หรือขึ้งเครียด, เซาซบ, หรือขบขัน |
แม้เหตุการณ์ร้ายดีทุกวี่วัน | สารพรรณผูกฟ้อนสอนในคน |
ประจงฉากบากชุดสุดจะเหมาะ | ให้จำเพาะหมายแสดงทุกแห่งหน |
ชวนโศกศัลย์หรรษาเวลายล | เห็นจริงจนผูกจิตต์ติดใจ เอยฯ |
๒. ภาพขับ
ฝ่ายนารถ[๒] นักสิทธ์ ผู้ต้นคิดสร้างพิณ ขึ้นสายกินเสียงผะสาน ก้องกังวานหวานขับ คลอเสียงรับพอเหมาะ เพราะยิ่งเพราะอีกไสร้ ชวนโสตให้เงี่ยสดับ บังคับหูให้เอียง ผึ่งรับเสียงสู่ประสาท ด้วยอำนาจบรรเลง เพลงเพราะชวนให้เพลิน เพลงเดิรชวนให้ก้าว เพลงโลมร้าวทรวงกระสัน เพลงโศกพลันจิตต์สลด ชวนกำสรดโศกเศร้า เพลงฉิ่งเร้าเชิงรำ เพลงกราวทำให้เต้น เพลงตลกเล่นหัวเราะ เพลงกล่อมเหมาะม่อยหลับ เชิงสดับย่อมประดิษฐ์ได้ ดุจภรตอวดไว้ บ่เว้นสักน้อย เลยนาฯ
๓. ภาพเขียน
อัปสร[๓] อร[๔] ก่องกาญจนา | นามจิตรเลขา[๕] |
เลขขจิตร[๖] จิตรกรรม | |
ตระการก่องอาภรณ์อำ- | ไพโอ่เอี่ยมสำ- |
อางสมอัปสรโกศล[๗] | |
ก่องศิลป์หัตถศาสตร์โสภน | เสาวภาพกำนน |
กำเนิดแต่หัตถ์พรหมา | |
พรหมมอบศิลปสิทธิ์วิทยา | เวทยยอดหา |
ให้ยิ่งกว่ายอดฤามี | |
ฤกษ์เหมาะเหาะมาพอดี | พอได้สดับปรีดิ์ |
เปรมแสดงและแสร้งข่าวขาน | |
ข้าเขียนเวียนวาดวิจารณ์ | วิจิตรจิตรการ[๘] |
ตระกองเทพถ้วนลักขณา | |
ลักขณกษัตริย์นานา | เนกนองพารา |
ภูรีบุรุษเลอบุญ | |
บันลือนรศารทุล[๙] | สารทิศอวยคุณ |
คืออนิรุทธเลอวรรณ | |
และเวนอุษาสาวสวรรค์ | เสร็จสบสำคัญ |
สมข้าอุษาอุ้มสม | |
สมอ้างทางเลขะนิยม | นิยายหมายชม |
เหมาะชี้ว่าภาพพึงแสดง ฯ |
๔. ภาพพจน์ (มาณวกฉันท์)
วาลมิกิ[๑๐] ผู้ | ครูรจนา |
ว่องวิทยา | จินตกะวี |
ฟังพจมาลย์ | ขานวุฒิดี |
ต่างวิธิมี | จิตตรำคาญ |
ชวนจะมิฟัง | ดังจะมิเชื่อ |
เผยพจเพื่อ | มอบมติ[๑๑] ขาน |
สุนทรเป็น | ฉันทชำนาญ |
ภูมิปฏิภาณ | อาทิกวี |
(อีทิสังฉันท์)
เออแนะ! ท่านกระนั้นสิย่อมจะมี | |
วิวิธวรรณนาวิธี | แถลงอวด |
ใครก็ย่อมจะยกดนู[๑๒]และยวด | |
จะแข่งจะขันประชันประกวด | ก็ตามที |
เราประสงค์จะแสร้งกระนั้นละซี! | |
จะชอบมิชอบ จะดีมิดี | อภัยอาตม์ |
ครั้นจะไม่สำแดงก็ดูจะขาด | |
เพราะภาพประพันธ์ และฉันทศาสตร์ | จะหม้ายหมัน |
อันจะแจ้งประจักษะรูปและสรร- | |
พนามะธรรมและอนันต์ | นะไม่ยาก |
เพียงจะเผยสุภาพพจีวิภาค | |
วลีและคุณประกอบก็หาก | จะให้ชัด |
หรือจะพลิกจะแพลงจะแผลงจะดัด | |
จะยืดจะย่อจะต่อจะตัด | ก็ทำได้ |
ถ้าประสงค์จะทาบสุพรรณประไพ | |
มณีอร่ามวะวามวิไล | ก็จงประพันธ์ |
กลอนฤโคลงลิลิตและกาพยะฉันท์ | |
เชลงฉลาดก็เลอสวรร- | คะฟ่องฟ้า |
นี่แหละเอกอุดมวิทยา | |
ประสมสำรับสำหรับวิชา | ประชันภาพ |
เมื่อประมวญก็สี่วิธีก็ทราบ | |
ประดุจแสร้งแสดง ณ คาบ[๑๓] | กระนี้เทียวฯ |
ข้อคติ (โคลงวิวิธมาลี)
เพรง[๑๔]บา[๑๕]คร่าเวทย์ไว้ | ศิลปศาสตร์ |
เราจึ่งรับมฤดก | สืบไสร้ |
รังรักษ์จักอนุชาต | บุตร[๑๖]ดุจ |
อภิชาตด้วยได้ | ยิ่งดี |
มวลหมู่ชนสืบเมื้อ[๑๗] | อนาคต |
เราเก่งจักเขาที | เก่งด้วย |
เราทรามจักกำหนด | เขายาก |
สืบจุ่งสืบแม้ม้วย | ชื่อดี |
ใครมีกระพัด[๑๘]เมื้อ | ทางใด |
ควรเร่งใฝ่ใจมี | จิตต์น้อม |
เอาภารธุระใน | ศิลปศาสตร์ นั้นนอ |
มากฝึกมากมือซ้อม | จักเจน |
ปลูกวิชามากช่างไว้ | ชูเมือง |
ทวยราษฎร์อมาตย์เสน[๑๙] | ทั่วหน้า |
มากศรีกวีเรือง | เลอศักดิ์ |
เฉลิมพระเกียรติ์เจ้าหล้า | แห่งเรา |
พฤศจิก. ๕๖
[๑] ภรต เป็นชื่อพระมุนีตนหนึ่ง ซึ่งนิยมกันว่าเป็นพระปถมาจารย์ ครูเฒ่าแห่งนาฏยศาสตร์ คือวิชารำ
[๒] นารถ นามเทพฤษีตนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้นำข่าวไปมาระหว่างเทวดากับมนุษย์ และมักไปไหนพร้อม ๆ กับพระบรรพตเทพฤษี อนึ่ง นิยมกันว่าท่านผู้นี้เป็นผู้เริ่มริทำพิณขึ้นก่อน จึ่งยกย่องเป็นครูพิณพาทย์ และในตำแหน่งนี้มีฉายาว่า “เทพคนธรรพ์” “คนธรรพราช” หรือ “ปรคนธรรพ” ซึ่งไทยเรียกเพี้ยนมาเป็น พระโคนธรรพ
[๓] อัปสร นางฟ้า
[๔] อร งาม นางงาม
[๕] จิตรเลขา นางอัปสรผู้ชำนาญในการเขียนภาพ นับว่าเป็นครูในทางจิตรกรรม
[๖] เลขขจิตร เขียนงาม
[๗] โกศล ฉลาด
[๘] จิตรการ หรือ จิตรกรรม คือ วิชาช่างเขียน
[๙] ศารทุล แปลว่า เสือ ‘นรศารทุล’ แปลว่า เสือในหมู่คน สันสกฤตใช้เป็นคำสำหรับชมชายกล้า
[๑๐] วาลมิกิ พระพรหมฤษี ผู้แต่งกาพย์เก่าที่สุดในภาษาสันสกฤต คือเรื่อง “รามายณ” ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเพี้ยนไปเป็น พระวัชมฤคี
[๑๑] มติ ความเห็น
[๑๒] ดนู ตน
[๑๓] คาบ ครั้ง หน
[๑๔] เพรง แต่ก่อน อดีต
[๑๕] บา ครู
[๑๖] อนุชาตบุตร บุตรดีเหมือนบิดา ถ้าดียิ่งกว่าบิดา เรียก ‘อภิชาตบุตร’ ต่ำทรามกว่าบิดา เรียก ‘อวชาตบุตร’
[๑๗] เมื้อ เมื่อ ต่อไป
[๑๘] กระพัด กระหวัด ผูกพัน
[๑๙] เสน เสนา ทหาร