- คำนำ
- พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- ปรารภเรื่อง
- ฉันท์วรรณพฤติ
- ๑. ชื่อตะนุมัชฌาฉันท์
- ๒. ชื่อกุมาระลฬิตาฉันท์
- ๓. ชื่อจิตรปทาฉันท์
- ๔. ชื่อวิชชุมมาลาฉันท์
- ๕. ชื่อมาณะวะกะฉันท์
- ๖. ชื่อหละมุขีฉันท์
- ๗. ชื่อรุมะวดีฉันท์
- ๘. ชื่ออุปัฐฐิตาฉันท์
- ๙. ชื่ออินทวิเชียรฉันท์
- ๑๐. ชื่ออุเปนทวิเชียรฉันท์
- ๑๑. ชื่ออุปชาติฉันท์
- ๑๒. ชื่อสุมุขีฉันท์
- ๑๓. ชื่อโทธะกะฉันท์
- ๑๔. ชื่อสาลินีฉันท์
- ๑๕. ชื่อธาตุมมิสสาฉันท์
- ๑๖. ชื่อสุรสะสิรีฉันท์
- ๑๗. ชื่อรโธทธตาฉันท์
- ๑๘. ชื่อสวาคตาฉันท์
- ๑๙. ชื่อภัททิกาฉันท์
- ๒๐. ชื่อวังสัฐะฉันท์
- ๒๑. ชื่ออินทวงษฉันท์
- ๒๒. ชื่อโตฏกฉันท์
- ๒๓. ชื่อทุตะวิลัมพิตะมาลาฉันท์
- ๒๔. ชื่อปุฏะฉันท์
- ๒๕. ชื่อกุสุมะวิจิตรฉันท์
- ๒๖. ชื่อภุชงคปยาตฉันท์
- ๒๗. ชื่อปิยังวทาฉันท์
- ๒๘. ชื่อลลิตาฉันท์
- ๒๙. ชื่อปมิตักขราฉันท์
- ๓๐. ชื่ออุชลาฉันท์
- ๓๑. ชื่อเวศเทวีฉันท์
- ๓๒. ชื่อมรสังฉันท์
- ๓๓. ชื่อกมลฉันท์
- ๓๔. ชื่อปหาสินีฉันท์
- ๓๕. ชื่อรุจิราฉันท์
- ๓๖. ชื่อปราชิตฉันท์
- ๓๗. ชื่อปหรณะกุลิกาฉันท์
- ๓๘. ชื่อวสันตดิลกฉันท์
- ๓๙. ชื่อมาลีนีฉันท์
- ๔๐. ชื่อปภัททกะฉันท์
- ๔๑. ชื่อวาณินีฉันท์
- ๔๒. ชื่อศิขิริณีฉันท์
- ๔๓. ชื่อหรณีฉันท์
- ๔๔. ชื่อมันทักกันตาฉันท์
- ๔๕. ชื่อกุสุมิตะลดาเวลิตาฉันท์
- ๔๖. ชื่อเมฆวิบผุชะตาฉันท์
- ๔๗. ชื่อสัททัละวิกกีฬิตะฉันท์
- ๔๘. ชื่ออีทิสังฉันท์
- ๔๙. ชื่อสัทธราฉันท์
- ๕๐. ชื่อภัทกะฉันท์
- ฉันท์มาตราพฤติ
พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
พระประวัติ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๗
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม องค์ที่ ๒
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระบรมวงศ์ ในจักรีบรมราชวงศ์พระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก อันเป็นตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์สูงสุดแห่งพุทธจักร ทั้งยังดำรงพระองค์เป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกๆ รัชกาล ตลอดทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ดังจะเห็นได้ว่าในการพระราชกุศลเข้าพรรษาก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายเสด็จแทนพระองค์ถวายพุ่มเทียนพรรษา ณ ตำหนักวาสุกรี และในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพน ทรงทอดผ้าไตร ๑๐ ไตร สดับปกรณ์ถวายทุกปี
ในฐานะที่พระองค์ได้ทรงสร้างสรรค์วรรณกรรม อันทรงคุณค่าทางการศึกษาและอักษรศาสตร์ของไทย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงเป็นที่รู้จักกันดีในวงการศึกษาและวรรณกรรมของไทยมาเป็นเวลาช้านาน บทพระนิพนธ์ของพระองค์เป็นประดุจรัตนมณีชิ้นเอกที่ช่วยตกแต่งวงการวรรณกรรมไทยให้บรรเจิดงดงาม เป็นตัวอย่างแห่งการแสดงออกซึ่งความละเมียดลึกซึ้งทางภาษาและวรรณคดี ที่โลกถือกันว่าเป็นศักดิ์ศรีอย่างหนึ่งของหมู่ชนผู้มีวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้รับการเฉลิมพระนามจากปวงผู้รู้ชาวไทยว่า ทรงเป็น “รัตนกวี” พระองค์หนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระเกียรติคุณดั่งนี้ก็ได้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่อง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นบุคคลที่มีความดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก นับเป็นบุคคลสำคัญระดับโลกพระองค์ที่ ๗ ของไทย และทรงเป็นพระสงฆ์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับการประกาศยกย่องในเกียรติคุณอันนี้
พระประวัติ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี ประสูติเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีจอ จ.ศ. ๑๑๕๒ ตรงกับวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๓๑ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ องค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียวในเจ้าจอมมารดาจุ้ย
เจ้าจอมมารดาจุ้ยเป็นบุตรีของพระยาราชเศรษฐี ซึ่งมีตำแหน่งบังคับบัญชาชาวจีนในเมืองไทย และเป็นตำแหน่งนายอากรอันมั่งคั่ง เจ้าจอมมารดาจุ้ยเป็นพระสนมโท ต่อมาเป็นท้าวทรงกันดาลในสมัยรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ ตำแหน่งนี้เป็นหัวหน้าผู้รักษาพระคลังในซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาจัยถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีใด ไม่ปรากฏ เข้าใจว่าคงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงผนวชเป็นสามเณร
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา พร้อมกับพระองค์เจ้าฉัตร (ต้นสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา) ทรงเป็นหางนาคในคราวสมเด็จกรมพระราชวังหลังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์หรือพระองค์เจ้าฉัตรนั้นประสูติปีเดียวกับพระองค์เจ้าวาสุกรี ส่วนกรมพระราชวังหลัง ที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุนั้น ก็คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั่นเอง เมื่อทรงผนวชแล้ว สมเด็จกรมพระราชวังหลังกับพระองค์เจ้าฉัตรได้เสด็จประทับ ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ส่วนพระองค์เจ้าวาสุกรีเสด็จประทับ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม๒ ทรงผนวชเป็นสามเณรตลอดจนสิ้นรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสวรรคต พ.ศ. ๒๓๕๒
การศึกษา
พระองค์เจ้าวาสุกรีทรงศึกษาอักขรสมัยในสำนักสมเด็จพระพนรัตน อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน สมเด็จพระพนรัตนองค์นี้ มีประวัติปรากฏในพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรีว่า ขณะเป็นพระพิมลธรรมเป็นผู้หนึ่งที่ไม่ยอมถวายบังคมสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตอนทรงเสียพระสติกับสำคัญพระองค์ว่าได้บรรลุพระโสดาปัตติผล พระพิมลธรรมจึงถูกถอดจากสมณศักดิ์และถูกเฆี่ยนพร้อมกับสมเด็จพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่ (ปัจจุบัน คือ วัดระฆังโฆสิตาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร) และพระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (ปัจจุบัน คือ วัดอมรินทราราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร) ซึ่งไม่ยอมถวายบังคมเช่นกัน ครั้นปีขาล พ.ศ. ๒๓๓๗ หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกแล้ว ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้วโปรดให้เลื่อนพระพิมลธรรมขึ้นเป็นสมเด็จพระพนรัตน ตำแหน่งสังฆราชฝ่ายซ้าย เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระพนรัตนเป็นผู้ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง และยึดถือในพระพุทธวจนะอย่างมั่นคง
สมเด็จพระพนรัตน พระอาจารย์ของพระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉานทางด้านภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี ได้แต่งหนังสือเป็นภาษาบาลีไว้หลายเรื่อง เช่น
๑. เรื่องสังคีติยวงศ์ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยตำนานสังคายนาพระไตรปิฎก ความยาว ๗ ผูก กล่าวถึงการทำสังคายนาพระไตรปิฎกตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมาจนถึงการสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หนังสือเรื่องนี้ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ) แปลเป็นภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖
๒. เรื่องจุลยุทธกาลวงศ์ ว่าด้วยพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่องตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทองมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราช มีเพียงผูก ๒ พระญาณวิจิตร (สิทธิ์ โลจนานนท์) เป็นผู้แปลเป็นภาษาไทย ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓
๓. เรื่องมหายุทธกาลวงศ์ ว่าด้วยพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช เรื่องนี้ปรากฏว่าพระองค์เจ้าวาสุกรีทรงเป็นผู้อาราธนาให้สมเด็จพระพนรัตนแต่ง ต้นฉบับมีไม่ครบ สูญหายไปบางส่วน ยังหาไม่พบ
๔. ปฐมสมโพธิ ฉบับรัตนโกสินทร์ สำนวนที่ ๑๓
นอกจากนี้ ในรัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๑ สมเด็จพระพนรัตนเมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม เป็นผู้อ่านประกาศเทวดาในการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎก และรับหน้าที่เป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎกด้วย และยังมีชื่อว่าเทศน์มหาชาติ กัณฑ์ “นครกัณฑ์” ได้อย่างยอดเยี่ยม บรรดาลูกศิษย์ของท่านได้จำทำนองเทศน์กัณฑ์นี้สืบต่อกันมาเป็นทอดๆ หลายรัชกาล ถือเป็นกัณฑ์ประจำวัดพระเชตุพน
พระองค์เจ้าวาสุกรี ได้ทรงศึกษาอักษรสมัยทั้ง ไทย ขอม และมคธ พระคัมภีร์ต่างๆ วิธีทำเลขยันต์ โบราณคดี และตำราพิชัยสงคราม มาแต่สมเด็จพระพนรัตน ด้วยพระอุตสาหะ ทรงมีพระสติปัญญาสามารถยิ่ง และยังได้ทรงศึกษาจากนักปราชญ์ทั้งปวงในยุคนั้นอีกด้วย ฉะนั้น พระองค์เจ้าวาสุกรีจึงทรงมีความรู้แตกฉานทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อราวปีมะแม พ.ศ. ๒๓๕๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “สุวณฺณรํสี” และเสด็จประทับ ณ วัดพระเชตุพน ต่อมาเมื่อทรงผนวชได้ ๓ พรรษา สมเด็จพระพนรัตน อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนถึงมรณภาพในระหว่างพรรษา (พรรษาที่ ๔) ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพน จึงได้ทรงแต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระราชาคณะและอธิบดีสงฆ์ครองวัดพระเชตุพน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ ปีจอ
ทรงกรมเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
พระองค์เจ้าวาสุกรีได้ทรงกรมครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอนว่า โปรดเกล้าฯ สถาปนาเมื่อไร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า พระองค์เจ้าวาสุกรีคงได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ เมื่อปีชวด จ.ศ. ๑๑๗๘ (พ.ศ. ๒๓๕๙) เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นนั้น ทรงเป็นพระอาจารย์ของเจ้านายในราชวงศ์หลายพระองค์ เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์อยู่นั้นได้ทรงศึกษาอักขรวิธีและพระพุทธวจนะ ตลอดจนวิชาการคดีโลกอื่นๆ ในสำนักกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
ทรงเป็นเจ้าคณะกลาง
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ ทรงเป็นเจ้าคณะกลาง ปกครองวัดทั้งปวงในกรุงเทพฯ และธนบุรี จำนวน ๖๑ วัด ดังปรากฏในพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า
เห็นจะเมื่อคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รวมวัดในกรุงเทพฯ จัดขึ้นเป็นคณะกลางอีกคณะ ๑ ให้ขึ้นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงบังคับบัญชาเสมอพระราชาคณะ
ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงสถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ และทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกอันเป็นตำแหน่งสูงสุดในศาสนจักร เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน จ.ศ. ๑๒๑๓ (พ.ศ. ๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกย่องกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสไว้อย่างสูงว่า
พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงผนวชได้ ๔ พรรษา แล้วได้เลื่อนเป็นเจ้าต่างกรม มีพระนามว่า กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงค์ พระองค์นั้นเป็นอัจฉริยมนุษย์บุรุษรัตนอันวิเศษทรงพระปรีชาฉลาดในพระพุทธศาสน์ แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ และได้เป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์เจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ในพระบรมราชวงศ์นี้มากหลายพระองค์ ภายหลังเมื่อในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ได้เลื่อนเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ มหาปาโมกข ประธานวโรดมบรมนาถบพิตร เสด็จสถิตย์ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง พระองค์ ๑
ผลงานพระนิพนธ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมากทั้งบทร้อยกรองและร้อยแก้ว สมพระเกียรติที่เป็น “รัตนกวี” ของชาติ วรรณกรรมของพระองค์ นับว่าเป็นสมบัติที่ประมาณค่ามิได้ พระนิพนธ์ต่างๆ มีดังนี้
โคลง (๑) โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ (๒) ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค (๓) ลิลิตตะเลงพ่าย (๔) โคลงภาพฤๅษีดัดตน (๕) โคลงภาพคนต่างภาษา (๖) โคลงกลบท (๗) โคลงบาทกุญชรและวิวิธมาลี (๘) โคลงจารึกศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ (๙) โคลงจารึกศาลาราย ๑๖ หลัง (๑๐) ร่ายและโคลงบานแพนก
ฉันท์ (๑) กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ (๒) สมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนปลาย (๓) ตำราฉันท์วรรณพฤติและมาตราพฤติ (๔) สรรพสิทธิ์คำฉันท์ (๕) ฉันท์สังเวยกล่อมวินิจฉัยเภรี (5) จักรทีปนีตำราโหราศาสตร์ (๗) ฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างพัง
ร่ายยาว (๑) มหาเวสสันดรชาดก (เว้นกัณฑ์ชูชกและมหาพน) (๒) ปฐมสมโพธิกถา (๓) ทำขวัญนาคหลวง (๔) ประกาศบรมราชาภิเศก รัชกาลที่ ๔
กลอน (๑) เพลงยาวเจ้าพระ
ความเรียง (๑) พระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป (๒) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เล่ม ๑-๒
ภาษาบาลี (๑) ปฐมสมโพธิ ฉบับภาษาบาลี มีต้นฉบับอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เป็นคัมภีร์ใบลานจำนวน ๓๐ ผูก ทรงตรวจชำระและแต่งเพิ่มเติม
สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงดำรงพระชนม์อยู่ในรัชกาลที่ ๔ เพียง ๒ ปี พระองค์ก็ทรงพระประชวรด้วยพระโรคชรา และสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จ.ศ. ๑๒๑๕ เวลาบ่าย ๓ โมง ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา
เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงแล้ว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ที่ตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพน และโปรดให้มีตำแหน่งพระครูฐานานุกรมประจำสำหรับรักษาพระอัฐิ ถึงเวลาเข้าพรรษาพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพุ่มเทียนสักการะพระอัฐิทุกปี และถึงวันเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพน ก็โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานที่ในพระอุโบสถ ทรงสักการบูชา แล้วทอดผ้าไตร ๑๐ ไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ เป็นพระราชประเพณีตลอดมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดให้สถาปนา กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส” เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ นับได้ว่าทรงเป็นเจ้านายที่ทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุดพระองค์หนึ่ง
ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานฉัตร ๕ ชั้น และฉัตรเครื่องประดับเป็นพระเกียรติยศ ณ ที่ประดิษฐานพระอัฐิ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐินประจำพรรษา เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
รัตนกวีของไทย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส นอกจากจะทรงพระปรีชาญาณเป็น นักปราชญ์ในทางพุทธศาสน์ ราชศาสตร์ แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ ตลอดจนรอบรู้ในทางไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และภาษามคธ ขอม ไทย เป็นอย่างดีแล้วยังทรงรอบรู้ในทางโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน อย่างลึกซึ้งอีกด้วย ทรงเป็นกวีที่เยี่ยมยอดในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงพระปรีชาสามารถมากในการใช้ภาษาได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง และทรงเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบในการนิพนธ์หนังสือ พระองค์ได้ทรงสร้างสมวรรณกรรมไว้เป็นสมบัติของชาติมากมาย ทรงดำรงพระชนมชีพส่วนใหญ่ในทางนิพนธ์หนังสือ ทั้งในทางพระพุทธศาสนาและวรรณคดีทั่วไป และทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงเริ่มงานพระนิพนธ์มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ ตลอดมาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ อาจกล่าวได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นระยะเวลาที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์หนังสือต่างๆ ไว้มากที่สุด นับได้ว่าทรงเป็นรัตนกวีของไทย
ทรงเป็นกวีเอกของโลก
พ.ศ. ๒๕๓๓ ในโอกาสครบ ๒๐๐ ปีประสูติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศพระเกียรติคุณ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมของโลก
ตำหนักวาสุกรี
ตำหนักวาสุกรีเป็นสถานที่ประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาสติดกำแพงทิศเหนือ พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์ตำหนักใหม่ จัดสร้างบุษบกมาลาขึ้นสำหรับเป็นที่รองรับพระโกศทรงฝรั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดพระราชทานสำหรับประดิษฐานพระอัฐิ พระอัฐินั้นบรรจุในพระเจดีย์ศิลา ภายในตำหนักมีสิ่งของและเรื่องราวที่น่าศึกษาน่าชมยิ่งนัก
บริเวณตำหนักทางทิศตะวันตก ใกล้ห้องทรงพระอักษร มีพระปรางค์บรรจุอัฐิสมเด็จพระวันรัตน เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ และเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ด้านตะวันออกมีหอไตร ผนังหอไตรมีภาพเขียนตำราคชลักษณ์ อัศวลักษณ์ และดวงดาวต่างๆ หน้าตำหนักมีหอประชุม ซึ่งปัจจุบันเป็นหอปฏิสันถารของเจ้าอาวาส หอสวดมนต์ และหอระฆัง มีโคลงจารึกประจำไว้ทุกแห่งนอกจากตำหนัก สมกับเป็นที่อยู่ของรัตนกวี ดังนี้
ตำหนักวาสุกรี (ไม่มีจารึก)
๏ กุฎีดิลกเจ้า | จอมถวัลย์ ราชฤๅ |
รจเรรงงสฤษดิสรรพ์ | ทั่วทั้ง |
ราชูทิศอวยอรรค์ | ทานท่าน ถวายนา |
กรมนุชิตสถิตครั้ง | ผนวชสร้างสืบกุศล ฯ |
๏ เป็นปิ่นชินบุตรถ้วน |
ทวยบรรพชิตฤๅ |
เพ็ญพรตพรหมจรรย์ | ราคร้าง |
เฉลิมแห่งเชตุวันสวรรค์ | สนุกเทียบ ถึงเอย |
อาวาสใดไป่อ้าง | เอี่ยมหล้าแลเสมอ ฯ |
เก๋งจีนหน้าตำหนัก
๏ พญาเพ็ชรพิไชเยศผู้ | แผนเขียน |
พญาอร่วมรัตนมณเฑียร | เทียบแก้ |
เปลี่ยนแปลงแหล่งสถานเสถียร | สถิตย์ทั่ว สงฆ์นา |
แสนสนุกนิทกถิ่นแท้ | ธิราชต้องตามประสงค์ ฯ |
ประตูเก๋ง
๏ เก๋งทวารอุฬารสิ่งสิ้น | สมบูรณ |
จ่าชื่อจิตรนุกูล | ก่อสร้าง |
บันโดยบดีศูริย์ | สารส่งง |
เถลองลักษณ์อักษรอ้าง | อ่านแจ้งแถลงนาม ฯ |
หอประชุม
๏ ชุมนุมสงฆ์สบถ้วน | ถานา นุกรมเอย |
อีกอรรถเชษฐ์ราชา | คณะพร้อม |
สโมสรสื่อสารา | ธิกรณ์กิจ กันแฮ |
หนวิหารนี้ห้อม | แห่งชั้นหลั่นเฉลียง ฯ |
หอสวดมนต์
๏ หอชีชุมสวดซร้อง | สรรพพุทธ มนต์ฤๅ |
สยาเมศร์อมรสมมุติ | ท่านสร้าง |
แสนสงฆ์ซึ่งทรงอุต | ดมเพศ ผนวชเอย |
อวยสวัสดิ์จัตุพรอ้าง | ขวบร้อยเสวยสวรรค์ ฯ |
หอระฆัง
๏ รฆังดังคู่ฆ้อง | แข่งขาน เสียงฤๅ |
สงฆ์สดับคับทสู่สถาน | สวดซร้อง |
งานราชพระสำราญ | รจเรข หอเฮย |
เสนอชื่อฤๅเกียรติก้อง | เกรอกหล้าอย่าสลาย ฯ |
หอไตรมีจารึก ๓ ด้าน
ด้านใต้
๏ หอห้องไตรพิธเบื้อง | ปริยัติ ธรรม์นา |
สบสูตรวิไนยบรมรรถ | มั่วตู้ |
นฤเบศร์เกษกรุงกระษัตร | รงงสฤษดิ ไว้ฤๅ |
หวั่งพระญาตหยั่งรู้ | ถ่องถ้วนธรรมขันธ์ ฯ |
ด้านตะวันตก
๏ ตำหรับฉบัพแบบอ้าง | อาชา ชาติเอย |
อีกอุศุภสิงฆตำรา | รูปไว้ |
ดารกรอบคัคนา | ดลเพียบ ผนังแฮ |
วิฬาลักษณ์ประจักเหตุให้ | โทษทังงแถลงคุณ ฯ |
ด้านเหนือ
๏ จัตตุรพงษ์พิษณุเทยท้งง | พรหมมาน |
อัคนิษศวรสวรรค์สาร | เศกล้าง |
ชูโคตรคชพิศฎาร | แสดงลักษณะ แลฤๅ |
ดีชั่วทั่วชาติช้าง | ชื่อชี้เฉลยกล ฯ |
พระปรางค์บรรจุอัฐิสมเด็จพระวันรัตน
๏ ถูโปยมุตฺตโม เสฏฺโ | นราธเป็น าปิโต |
วรรตนเถรสฺส | วามสส สํฆราชิโน |
ธาตุโย นิธหิตฺวาน | เชตวเน วิหารเก |
น กมฺปตุ ภเยเหว | ยาว ติฏฺติ สาสนํ |
อิมินา ปฺุเตเชน | สทา ปาเลนฺตุ เทวตา ฯ |
๏ สถูปเสถียรธาตุไท้ | ธิบดี สงฆ์แฮ |
วันรัตน์เจ้าจอมชี | ชื่ออ้าง |
ปรากฏเกียรติมุนี | เสนอโลกย ไว้เอย |
องค์อดิศวรสร้าง | สืบหล้าแหล่งเฉลิม ฯ |
๏ จวบจุลศักราชถ้วน | พันพรรษ ษาเฮย |
ฉันพฤติสตาธฤกสัต | เสศไส้ |
กรรติกมาศอัศสังวัจฉร | กาฬปักษ ปางพ่อ |
พุฒสี่ดฤษถีได้ | ธาตุตั้งสถูปสถาน ฯ |
วันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
คณะวัดพระเชตุพน อันมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม เจ้าอาวาส และชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล เป็นประธาน เริ่มแรกได้พิจารณาเห็นว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นกวีเอกของชาติ สมควรจัดงานเฉลิมพระเกียรติคุณเป็นประจำทุกปี จึงได้กำหนดถือเอาวันที่ ๑๑ ธันวาคม อันเป็นวาระคล้ายวันประสูติของพระองค์ท่านเป็นวันที่ระลึก และเรียกชื่อว่า “วันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส” ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเป็นประจำทุกปี นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา ในบางปีที่มีพระราชกิจมาก ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์ หรือองคมนตรีมาเป็นผู้แทนพระองค์
งานพระนิพนธ์ของพระองค์ล้วนแต่แสดงพระอัจฉริยภาพแห่งปัญญาปฏิภาณโดยประการทั้งปวง ทั้งยังทรงความเป็น “อมตะ” สมพระปณิธาน
กรมหมื่นนุชิต เชื้อ | กวีวร |
ชิโนรส มิ่งมหิศร | เศกให้ |
ศรีสุคต พจนสุนทร | เถลิงลักษณ์ นี้นา |
ขัติยวงศ์ ผจงโอษฐ์ไว้ | สืบหล้าอย่าสูญ |
(ลิลิตตะเลงพ่าย)
-
๑. ประสูติภายหลังสุนทรภู่ ๔ ปี สุนทรภู่เกิดวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙ ↩
-
๒. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาวัดโพธารามขึ้นใหม่ แล้วทรงเปลี่ยนนามเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” (ดูประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, หน้า ๖) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ↩
-
๓. พระมหาสุรพล สิงคิรัตน์ (ปัจจุบันเป็น พระราชเวที (สุรพล ชิตาโณ ป.ธ.๙, อ.ม.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร), ปฐมสมโพธิ ปริจเฉท ที่ ๑-๓๗ : การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์, (กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๒), สันนิษฐานว่าเฉพาะวิวาหมงคล ปริจเฉทที่ ๑ เป็นสำนวนของสมเด็จพระพนรัตนองค์นี้ ↩