- คำนำ
- พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- ปรารภเรื่อง
- ฉันท์วรรณพฤติ
- ๑. ชื่อตะนุมัชฌาฉันท์
- ๒. ชื่อกุมาระลฬิตาฉันท์
- ๓. ชื่อจิตรปทาฉันท์
- ๔. ชื่อวิชชุมมาลาฉันท์
- ๕. ชื่อมาณะวะกะฉันท์
- ๖. ชื่อหละมุขีฉันท์
- ๗. ชื่อรุมะวดีฉันท์
- ๘. ชื่ออุปัฐฐิตาฉันท์
- ๙. ชื่ออินทวิเชียรฉันท์
- ๑๐. ชื่ออุเปนทวิเชียรฉันท์
- ๑๑. ชื่ออุปชาติฉันท์
- ๑๒. ชื่อสุมุขีฉันท์
- ๑๓. ชื่อโทธะกะฉันท์
- ๑๔. ชื่อสาลินีฉันท์
- ๑๕. ชื่อธาตุมมิสสาฉันท์
- ๑๖. ชื่อสุรสะสิรีฉันท์
- ๑๗. ชื่อรโธทธตาฉันท์
- ๑๘. ชื่อสวาคตาฉันท์
- ๑๙. ชื่อภัททิกาฉันท์
- ๒๐. ชื่อวังสัฐะฉันท์
- ๒๑. ชื่ออินทวงษฉันท์
- ๒๒. ชื่อโตฏกฉันท์
- ๒๓. ชื่อทุตะวิลัมพิตะมาลาฉันท์
- ๒๔. ชื่อปุฏะฉันท์
- ๒๕. ชื่อกุสุมะวิจิตรฉันท์
- ๒๖. ชื่อภุชงคปยาตฉันท์
- ๒๗. ชื่อปิยังวทาฉันท์
- ๒๘. ชื่อลลิตาฉันท์
- ๒๙. ชื่อปมิตักขราฉันท์
- ๓๐. ชื่ออุชลาฉันท์
- ๓๑. ชื่อเวศเทวีฉันท์
- ๓๒. ชื่อมรสังฉันท์
- ๓๓. ชื่อกมลฉันท์
- ๓๔. ชื่อปหาสินีฉันท์
- ๓๕. ชื่อรุจิราฉันท์
- ๓๖. ชื่อปราชิตฉันท์
- ๓๗. ชื่อปหรณะกุลิกาฉันท์
- ๓๘. ชื่อวสันตดิลกฉันท์
- ๓๙. ชื่อมาลีนีฉันท์
- ๔๐. ชื่อปภัททกะฉันท์
- ๔๑. ชื่อวาณินีฉันท์
- ๔๒. ชื่อศิขิริณีฉันท์
- ๔๓. ชื่อหรณีฉันท์
- ๔๔. ชื่อมันทักกันตาฉันท์
- ๔๕. ชื่อกุสุมิตะลดาเวลิตาฉันท์
- ๔๖. ชื่อเมฆวิบผุชะตาฉันท์
- ๔๗. ชื่อสัททัละวิกกีฬิตะฉันท์
- ๔๘. ชื่ออีทิสังฉันท์
- ๔๙. ชื่อสัทธราฉันท์
- ๕๐. ชื่อภัทกะฉันท์
- ฉันท์มาตราพฤติ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
๑. ประเภทโคลง
๑.๑ โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ มีกล่าวไว้ในโคลงบทสุดท้ายว่า ทรงพระนิพนธ์เสร็จเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๒๐๗ (พ.ศ. ๒๓๘๘)
ลักษณะคำประพันธ์ ประกอบด้วยคำประพันธ์ประเภทต่างๆ ได้แก่
- ร่ายดั้น ๓ บท คือ ตอนต้น ตอนกลาง และตอนท้าย
- โคลงดั้นบาทกุญชร ๒๓๓ บท
- โคลงดั้นวิวิธมาลี เป็นกลบท ๑๐ ชนิดได้แก่
๑. กลอักษรสลับ ๙ บท
๒. กลกินนรเก็บบัว ๑๓ บท
๓. กลวัวพันหลัก ๑๒ บท
๔. กลช้างประสานงา ๑๓ บท
๕. กลนาคบริพันธ์ ๑๓ บท
๖. กลครอบจักวาล ๑๔ บท
๗. กลก้านต่อดอก ๑๓ บท
๘. กลโตเล่นหาง ๓๒ บท
๙. กลสารถีขับรถ ๗ บท
๑๐. กลบุษบารักร้อย ๑๒ บท
- โคลงสี่สุภาพ ๒ บท เป็นโคลงท้ายเรื่องบอกพระนามผู้นิพนอ และวัน เดือน ปี ที่ทรงพระนิพนธ์แล้วเสร็จ
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ทั้งเพื่อบันทึกเรื่องราวและรายละเอียดเกี่ยวกับงานปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
๑.๒ โคลงภาพฤๅษีดัดตน
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๓๗๙
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นโคลงสี่สุภาพ ทรงพระนิพนธ์ร่วมกับกวีหลายท่าน เฉพาะงานพระนิพนธ์ที่บรรยายภาพฤๅษีดัดตน มี ๗ บท ได้แก่ บทที่ ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๒๐, ๗๘ และ ๘๒ นอกจากนี้มีโคลงนำเรื่องอีก ๕ บท ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เขียนไว้เป็นตำราหลวง ซึ่งแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๘๑ ในตำราหลวงนี้ทรงพระนิพนธ์ร่ายและโคลงบานแผนกเพิ่มเติมขึ้น รวม ๔ บท
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ บรรยายท่าดัดตนเพื่อสุขภาพตามลักษณะรูปหล่อฤๅษีซึ่งตั้งไว้ตามศาลาราย โคลงภาพฤๅษีดัดตนนี้ติดไว้ที่ผนังศาลารายที่วัดพระเชตุพน
๑.๓ โคลงกลบท
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ อาจประมาณไว้ว่า ทรงพระนิพนธ์ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๘-๒๓๘๗ จากความที่ปรากฏในโคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นโคลงกลบท ๑ บท ที่เป็นพระนิพนธ์ ชื่อ “กลโคลงดาวล้อมเดือน” และมีกวีท่านอื่นๆ นิพนธ์โคลงกลบทแบบต่างๆ ไว้ รวม ๔๐ บท
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อเป็นตำราโคลงกลบทต่างๆ จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนตามพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตำราโคลงกลบทนี้ติดไว้ที่เสาแพนกประตูเข้าพระระเบียงชั้นนอก ทั้ง ๔ ทิศ คู่กับตำราฉันท์มาตราพฤติ
๑.๔ โคลงจารึกศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ ๒ หลัง
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ประมาณได้ว่า ทรงพระนิพนธ์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๗๘-๒๓๘๗ ตามที่กล่าวไว้ในโคลงดันปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นโคลงสี่สุภาพ ๘ บท
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อบอกนามผู้สร้างศาลา ช่างวาด ผู้กำกับการวาดและบรรยายภาพ จารึกติดไว้ที่ศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ ๒ หลัง ในวัดพระเชตุพน
๑.๕ โคลงจารึกศาลาราย ๑๖ หลัง
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ประมาณได้ว่า ทรงพระนิพนธ์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๗๘-๒๓๘๗ ตามที่กล่าวไว้ในโคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นโคลงสี่สุภาพ ๓๑ บท ที่ศาลารายหลังที่ ๑, ๒, ๙, ๑๐, ๑๓, ๑๔, ๑๕ หลังละ ๓ บท และศาลารายหลังที่ ๑๖ อีก ๗ บท
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อบอกนามผู้สร้างศาลา ผู้กำกับการซ่อมและช่างวาด ทั้งฝ่ายวัดและฝ่ายบ้าน จารึกติดไว้ที่ศาลาราย ๑๖ หลัง ในวัดพระเชตุพน ปัจจุบันเหลือจารึกเพียง ๔ หลัง ที่เป็นงานพระนิพนธ์คงเหลือเพียงศาลารายหลังที่ ๑๐ เท่านั้น
๑.๖ โคลงภาพคนต่างภาษา
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ประมาณได้ว่า ทรงพระนิพนธ์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๗๘-๒๓๘๗ ตามที่กล่าวไว้ในโคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นโคลงดั้นบาทกุญชร มีทั้งสิ้น ๖๕ บท แต่ทรงพระนิพนธ์ไว้เพียง ๔ บท พรรณนาเกี่ยวกับชน ๒ ชาติ คือ ชาวสิงหฬและชาวไทย
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อบรรยายลักษณะของชนชาติ และการแต่งกายของชาตินั้นๆ จารึกไว้บนผนังเฉลียงสกัดศาลารายรอบวัดพระเชตุพน
๒. ประเภทร่าย
๒.๑ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔)
ลักษณะคำประพันธ์ ทรงนำเรื่องด้วยคาถาภาษาบาลี และดำเนินเรื่อง ด้วยร่ายยาว
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อใช้ในการเทศน์มหาชาติ
สำหรับจำนวนกัณฑ์ที่ทรงพระนิพนธ์นี้ เดิมเข้าใจกันว่าร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งสิ้นเพียง ๑๑ กัณฑ์ คือ ไม่มีกัณฑ์มหาพน และกัณฑ์มัทรี ทั้งนี้เพราะใน หนังสือมหาชาติฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๑ มีคำอธิบายซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
“หนังสือมหาชาติ พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ชิโนรส ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ พบต้นฉบับอยู่ในหอพระมณเฑียรธรรม ดูเหมือนจะมีครบชุด แต่ฉบับนี้เท่านั้น แต่ขาดอยู่ ๒ กัณฑ์ คือ กัณฑ์มหาพน ที่เล่ากันว่า ไม่สู้พระเทพโมฬี (กลิ่น) กัณฑ์ ๑ กับกัณฑ์มัทรี แต่ไม่ได้ทรงนิพนธ์ ฤๅต้นฉบับจะขาดไปอย่างไรไม่ทราบแน่ชัด อีกกัณฑ์ ๑ คงได้แต่มหาชาติพระนิพนธ์กรมพระปรมานุชิตชิโนรส แต่ ๑๑ กัณฑ์”
ต่อมา คณะผู้รวบรวมและเรียบเรียงสังเขปงานพระนิพนธ์ของพระองค์ ได้รับมอบหมายให้รวบรวมและคัดสรรงานพระนิพนธ์บางตอนมาตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกครบ ๒๐๐ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ศึกษาค้นคว้า ได้พบต้นฉบับร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ต้นฉบับดังกล่าวเป็นสมุดไทยดำ เขียนด้วยเส้นดินสอ ตัวอักษรไทย ส่วนคาถาใช้อักษรขอม และมีเพียงครึ่งกัณฑ์หลังเท่านั้น คือดำเนินความตั้งแต่ตอนพระเวสสันดรแสร้งบริภาษพระนางมัทรี เพื่อให้คลายทุกข์โทมนัสที่สองกุมารต้องพลัดพรากไป อนึ่งที่หน้าปกของหนังสือสมุดไทยดำนี้ ได้มีพระนามผู้ทรงพระนิพนธ์ปรากฏอยู่ว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส และประวัติการได้มาระบุว่า ได้มาจากกรมเลขานุการคณะรัฐมนตรี แต่ไม่แจ้งปี พ.ศ. ที่ได้มา
จากหลักฐานชั้นต้นที่ได้พบต้นฉบับ กัณฑ์มัทรี ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นบทพระนิพนธ์ที่แท้จริงของพระองค์ท่านหรือไม่ จำเป็นที่จะต้องศึกษาค้นคว้าและสอบทานเพื่อการวินิจฉัยต่อไป
๒.๒ ร่ายทำขวัญนาคหลวง
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อใด
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นร่ายยาว ประกอบด้วย ๓ ลา คือ ลา ๑ เป็นคำไหว้ครู ลา ๒ เป็นคำกล่าวทำขวัญ และลา ๓ เป็นคำอวยพรนาคหลวง
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อใช้แหล่ในการทำขวัญนาคหลวง
๓. ประเภทลิลิต
๓.๑ ลิลิตตะเลงพ่าย
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นนุชิตชิโนรส และทรงใช้เวลาในการนิพนธ์อยู่หลายปี จนสำเร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ทรงมีผู้ช่วยเหลือในการนิพนธ์ คือ พระองค์เจ้ากปิตถา (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์) พระโอรสในรัชกาลที่ ๒
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นลิลิตสุภาพ ประกอบด้วยคำประพันธ์ประเภทร่ายสุภาพและโคลงสุภาพ
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อสดุดีสมเด็จพระนเรศวร วีรกษัตริย์ เมื่อทรงมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชาในศึกยุทธหัตถี อันจักเป็นผลานิสงส์ปัจจัยให้กวีผู้นิพนธ์ได้อุบัติเป็นอัครสาวกเบื้องขวาแห่งพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ดังที่ทรงตั้งพระปณิธาน
๓.๒ ลิลิตกระบวนแห่กระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๕-๒๓๘๗ ทรงกล่าวถึงไว้ในโคลงพระนิพนธ์ว่า ทรงใช้เวลาหนึ่งปีครึ่งและงานพระนิพนธ์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๘๗
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นลิลิตสุภาพ ประกอบด้วยคำประพันธ์ ประเภทร่าย และโคลงสุภาพ
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และบรรยายกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและชลมารคโดยพิสดาร
๔. ประเภทฉันท์
๔.๑ ตำราฉันท์วรรณพฤติ
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ทรงกล่าวไว้ตอนต้นเรื่องว่า วันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล จุลศักราช ๑๒๐๔ (พ.ศ. ๒๓๘๕) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้กรมหมื่นไกรสรวิชิต ทูลอาราธนากรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ตำราฉันท์ขึ้นเพื่อส่งเสริมการกวี
ลักษณะคำประพันธ์ ทรงพระนิพนธ์ความนำเรื่องเป็นโคลงสี่สุภาพ ๑ บท และกาพย์ฉบัง ๑๖
ส่วนที่เป็นตำราฉันท์ แสดงลักษณะข้อบังคับของฉันท์ ชื่อฉันท์ โดยนำอรรถธรรมซึ่งเป็นคำสอนสำหรับคฤหัสถ์มานิพนธ์เป็นตัวอย่างของฉันท์แต่ละชนิด แบบฉันท์ที่แสดงไว้ในตำราฉันท์วรรณพฤติ มีทั้งหมด ๕๐ ชนิด ดังนี้
ฉันท์ ๖
๑. ตะนุมัชฌาฉันท์ กล่าวถึงภิริยาชั่ว ๓ จำพวก
ฉันท์ ๗
๒. กุมาระลฬิตาฉันท์ กล่าวถึงภิริยาดี ๔ จำพวก
ฉันท์ ๘
๓. จิตรปทาฉันท์ กล่าวถึงอบายมุขเหตุฉิบหาย ๖ ประการ
๔. วิชชุมมาลาฉันท์ กล่าวถึงโทษเสพย์สุรา ๖ ประการ
๕. มาณะวะกะฉันท์ กล่าวถึงโทษเที่ยวกลางคืน ๖ ประการ
ฉันท์ ๙
๖. หละมุขีฉันท์ กล่าวถึงโทษดูการมหรสพ ๖ ประการ
ฉันท์ ๑๐
๗. รุมมะวดีฉันท์ กล่าวถึงโทษเป็นนักเลง ๖ ประการ
ฉันท์ ๑๑
๘. อุปัฏฐิตาฉันท์ กล่าวถึงบาปมิตร ๖ จำพวก
๙. อินทวิเชียรฉันท์ กล่าวถึงโทษเกียจคร้าน ๖ ประการ
๑๐. อุเปนทวิเชียรฉันท์ กล่าวถึงลักษณะโทษแห่งอัญญะ ทัตถุงหรมิตร ๔ ประการ
๑๑. อุปชาติฉันท์ กล่าวถึงลักษณะโทษแห่งวจีปรมมิตร ๔ ประการ
๑๒. สุมุขีฉันท์ กล่าวถึงลักษณะโทษแห่งอนุปิยภาณีมิตร ๔ ประการ
๑๓. โทธะกะฉันท์ กล่าวถึงลักษณะโทษแห่งอบายสหาย ๔ ประการ
๑๔. สาลินีฉันท์ กล่าวถึงคุณลักษณะแห่งอุปการมิตร ๔ ประการ
๑๕. ธาตุมมิสสาฉันท์ กล่าวถึงคุณลักษณะแห่งสมานสุขทุกขมิตร ๔ ประการ
๑๖. สุรสะสรีฉันท์ กล่าวถึงคุณลักษณะแห่งอรรถอขายีมิตร ๔ ประการ
๑๗. รโถทธตาฉันท์ กล่าวถึงคุณลักษณะแห่งอนุกัมปกะมิตร ๔ ประการ
๑๘. สวาคตาฉันท์ กล่าวถึงอคติ ๔ ประการ
๑๙. ภัททิกาฉันท์ กล่าวถึงเบญจวิธภัยเวร ๕ ประการ
ฉันท์ ๑๒
๒๐. วังสัฏฐะฉันท์ กล่าวถึงทศกุศลกรรมบถ เว้นปาณาติบาต มีองค์ ๕
๒๑. อินทวงษฉันท์ กล่าวถึงทศกุศลกรรมบถ เว้นอทินนาทาน มีองค์ ๕
๒๒. โตฎกฉันท์ กล่าวถึงทศกุศลกรรมบถ เว้นกาเมสุมิจฉาจาร มีองค์ ๔
๒๓. ทุตะวิลัมพิตะมาลาฉันท์ กล่าวถึงสตรี ๒๐ จำพวก
๒๔. ปุฏะฉันท์ กล่าวถึงทศกุศลกรรมบถ เว้นมุสาวาท มีองค์ ๔
๒๕. กุสุมะวิจิตรฉันท์ กล่าวถึงทศกุศลกรรมบถ เว้นปิสุณาวาท มีองค์ ๔
๒๖. ภุชงคปยาตฉันท์ กล่าวถึงทศกุศลกรรมบถ เว้นผรุสวาท มีองค์ ๓
๒๗. ปิยังวทาฉันท์ กล่าวถึงทศกุศลกรรมบถ เว้นสัมผัปลาวาท มีองค์ ๒
๒๘. ลลิตาฉันท์ กล่าวถึงมโนกรรม อภิชฌา
๒๙. ปมิตักขราฉันท์ กล่าวถึงพยาบาท
๓๐. อุชลาฉันท์ กล่าวถึงทศกุศลกรรมบถ เว้นมิจฉาทิฏฐิ มีองค์ ๒
๓๑. เวศเทวีฉันท์ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ปฐมคาถามงคล ๓ ประการ
๓๒. มรสังฉันท์๑ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ ทุติยคาถามงคล ๓ ประการ
๓๓. กมลฉันท์ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ ตติยคาถามงคล ๔ ประการ
ฉันท์ ๑๓
๓๔. ปหาสินีฉันท์ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ จตุตถคาถามงคล ๔ ประการ
๓๕. รุจิราฉันท์ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ ปัญจมคาถามงคล ๔ ประการ
ฉันท์ ๑๔
๓๖. ปราชิตฉันท์ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ ฉัฏฐมคาถามงคล ๓ ประการ
๓๗. ปหรณะกุลิกาฉันท์ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ สัตตมคาถามงคล ๕ ประการ
๓๘. วสันตดิลกฉันท์ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ อัฏฐมคาถามงคล ๔ ประการ
ฉันท์ ๑๕
๓๔. มาลินีฉันท์ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ นวมคาถามงคล ๔ ประการ
๔๐. ปภัททกะฉันท์ กล่าวถึงมงคลสูตร อธิบายแก้ ทศมคาถามงคล ๔ ประการ
ฉันท์ ๑๖
๔๑. วาณินีฉันท์ กล่าวถึงราชวสดิวัตร (ราชวสดีธรรม)
ฉันท์ ๑๗
๔๒. ศิขริณีฉันท์ กล่าวถึงราชวสดิวัตรว่าด้วย สำรวมกาย ๖ ประการ
๔๓. หรณีฉันท์ กล่าวถึงราชวสดิวัตร
๔๔. มันทักกันตาฉันท์ กล่าวถึงราชวสดิวัตร
ฉันท์ ๑๘
๔๕. กุสุมตะลดาเวลิตาฉันท์ กล่าวถึงราชวสดิวัตร
ฉันท์ ๑๙
๔๖. เมฆวิปผุชตาฉันท์ กล่าวถึงราชวสดิวัตร
ฉันท์ ๒๐
๔๗. สัททุลละวิกกีฬิตะฉันท์ กล่าวถึงราชวสดิวัตร
๔๘. อีทิสัง กล่าวถึงราชวสดิวัตร
ฉันท์ ๒๑
๔๙. สัทธราฉันท์ กล่าวถึงราชวสดิวัตร
ฉันท์ ๒๒
๕๐. ภัททกะฉันท์ กล่าวถึงราชวสดิวัตร
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ทูลอาราธนาให้ทรงพระนิพนธ์เพื่อเฉลิมพระอิสริยยศในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมผู้สนใจศึกษาการกวีนิพนธ์
ตำราฉันท์วรรณพฤตินี้ จารึกบนแผ่นศิลาติดไว้ที่เสาพระระเบียง พระอุโบสถชั้นใน
๔.๒ ตำราฉันท์มาตราพฤติ
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ทรงพระนิพนธ์ในคราวเดียวกับตำราฉันท์วรรณพฤติในปี พ.ศ. ๒๓๘๕
ลักษณะคำประพันธ์ ประกอบด้วย โคลงสี่สุภาพนำเรื่อง ๑ บท ส่วนที่เป็นตำราฉันท์แสดงลักษณะข้อบังคับของฉันท์ ชื่อฉันท์ และตัวอย่างฉันท์แบบนั้นๆ โดยนำราชธรรมซึ่งเป็นธรรมะสำหรับพระมหากษัตริย์มานิพนธ์
แบบฉันท์ที่แสดงไว้ในตำราฉันท์มาตราพฤติ มี ๘ ชนิด ได้แก่
๑. อริยชาติฉันท์ ว่าด้วยราชนิธิสาตร ๑๐ บท
๒. อริยจปะลาฉันท์ ว่าด้วยราชนิธิสาตร ๑๑ บท
๓. คีติชาติฉันท์ ว่าด้วยราชนิธิสาตร ๑๐ บท
๔. อุปคีติฉันท์ ว่าด้วยราชนิธิสาตร ๑๐ บท
๕. เวตาฬียชาติฉันท์ ว่าด้วยราชาธิราช ๑๔ บท
๖. โอปัจฉันทะสกะฉันท์ ว่าด้วยราชาธิราช ๑๑ บท
๗. มัตตาสมกะชาติฉันท์ ว่าด้วยราชาธิราช ๑๐ บท
๘. วิสิโลกฉันท์ ว่าด้วยสรุปความแบบฉันท์วรรณพฤติ และมาตราพฤติ ๑๐ บท
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อสนองพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าฯ ให้ทรงพระนิพนธ์ไว้เป็นตำราและเพื่อส่งเสริมการกวี
ตำราฉันท์มาตราพฤตินี้จารึกบนแผ่นศิลาติดไว้ที่เสาพเนกประตูเข้าพระระเบียงพระอุโบสถชั้นนอกทั้ง ๔ ทิศ วัดพระเชตุพน
๔.๓ ฉันท์กล่อมช้างพัง และกาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๓๘๓ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลักษณะคำประพันธ์ ฉันท์กล่อมช้างพัง ประกอบด้วยคำประพันธ์ ๓. ประเภท ได้แก่
๑. กาพย์ฉบัง ๑๖
๒. วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
๓. อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
ส่วนกาพย์ขับไม้ประกอบด้วยคำประพันธ์ ๒ ประเภท ได้แก่
๑. โคลงสี่สุภาพ
๒. กาพย์สุรางคนางค์ ๓๖
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและเพื่อใช้ในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างพังหงษาสวรรค์ ซึ่งเป็นช้างเผือกคล้องได้ที่ป่าแขวงเมืองศรีสำโรง เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นำขึ้นถวาย และสมโภชขึ้นระวางในปีชวด จ.ศ. ๑๒๐๒ (พ.ศ. ๒๓๘๓)
๔.๔ ฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรี
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงพระนิพนธ์ในปีใด
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ ทรงพระนิพนธ์ ลา ๒ ตอนขอพรจากเทพยดาต่างๆ ส่วนลา ๑ และลา ๓ พระยาบำเรอบริรักษ์เป็นผู้แต่ง
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีสังเวยกลอง วินิจฉัยเภรี
๔.๕ สรรพสิทธิ์คำฉันท์
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นตามที่พระองค์เจ้ากปิตถา (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์) ซึ่งเป็นศิษย์ทูลอาราธนา เมื่อทรงพระนิพนธ์เสร็จได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีที่เริ่มโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน พ.ศ. ๒๓๗๔
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นพระนิพนธ์ประเภทคำฉันท์เรื่องแรก ประกอบด้วยกาพย์และฉันท์ ชนิดต่างๆ ได้แก่
๑. สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙
๒. กาพย์ฉบัง ๑๖
๓. อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
๔. วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
๕. สัทธราฉันท์ ๒๑
๖. กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
๗. โตฎกฉันท์ ๑๒
๘. มาลินีฉันท์ ๑๕
ท้ายเรื่องเป็นโคลงกระทู้ ๑ บท
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้เป็นฉันท์แบบฉบับแก่ชนรุ่นหลังและเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน
๔.๖ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๗๘
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นพระนิพนธ์คำฉันท์ ประกอบด้วยกาพย์และฉันท์ชนิดต่างๆ ได้แก่
๑. สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙
๒. กาพย์ฉบัง ๑๖
๓. วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
๔. กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
๕. สัทธราฉันท์ ๒๑
๖. อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
๗. มาลินีฉันท์ ๑๕
๘. โตฎกฉันท์ ๑๒
ท้ายเรื่องเป็นโคลงกระทู้ ๑ บท
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อสนองพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าฯ ให้ทรงพระนิพนธ์ตามฉบับของเก่าให้ดีขึ้นกว่าเดิม และเพื่อจารึกในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ทั้งเพื่อแสดงโอวาทแก่สตรีถึงหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อสามี
๔.๗ สมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนปลาย
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ทรงเริ่มพระนิพนธ์เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลายตามคำทูลอาราธนาของ กรมหมื่นไกรสรวิชิต และพระสมบัติบาล ครั้นกรมหมื่นไกรสรวิชิตสิ้นพระชนม์และพระสมบัติบาลถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ก็ทรงสังเวชในชีวิตและเบื่อหน่าย ย่อท้อในการนิพนธ์สมุทรโฆษคำฉันท์ พระนิพนธ์เรื่องนี้จึงค้างมาประมาณ ๒ ปี ต่อมากรมหลวงวงศาธิราชสนิททูลอาราธนาอีกครั้งหนึ่ง จึงทรงพระนิพนธ์ต่อจนจบบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๒
ลักษณะคำประพันธ์ สมุทรโฆษคำฉันท์เป็นวรรณคดีที่มีกวีสำคัญนิพนธ์ต่อกันตามลำดับ ดังนี้
๑. พระมหาราชครู ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นิพนธ์ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงตอนที่ว่า
๏ พระเสด็จด้วยน้องลีลาศ | ลุอาศรมอาส- |
นเทพบุตรอันบน |
๒. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ต่อจากพระมหาราชครู จนถึงตอนที่ว่า
๏ ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู | |
โอ้แก้วกับตนกู | ฤเห็น |
๓. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ต่อจากพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เริ่มตั้งแต่ตอนที่ว่า
๏ พิทยาธรทุกข์ลำเค็ญ | ครวญคร่ำร่ำเข็ญ |
บรู้กี่ส่ำแสนศัลย์ |
จนกระทั่งจบเรื่อง งานนิพนธ์สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลายซึ่งเป็นพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส นี้ ประกอบด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ และฉันท์ชนิดต่างๆ ได้แก่
๑. อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
๒. วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
๓. สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙
๔. กาพย์ฉบัง ๑๖
๕. สัทธราฉันท์ ๒๑
๖. โตฎกฉันท์ ๑๒
๗. มาลินีฉันท์ ๑๕
๘. กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
ท้ายเรื่องจบด้วยโคลงกระทู้ ๑ บท
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ ทรงพระนิพนธ์สนองคำทูลอาราธนาของกรมหมื่นไกรสรวิชิต พระสมบัติบาล และกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ด้วยความมุ่งมั่นพระหฤทัยที่จะทรงพระนิพนธ์ วรรณคดีเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ต่อให้จบสมบูรณ์ให้จงได้ เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่ากวีมิได้สูญสิ้นไปจากดินแดนสยาม นอกจากนี้ยังทรงปรารถนาผลานิสงส์จากพระวิริยะในการนี้ ให้พระองค์ได้อุบัติเป็นอัครสาวกฝ่ายขวาของพระพุทธเจ้า กับให้ทรงพระปรีชาญาณเลิศล้ำยิ่งกวีอื่น
๕. ประเภทกลอน
กลอนเพลงยาวเจ้าพระ
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สันนิษฐานว่าทรงพระนิพนธ์ประมาณระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๒-๒๓๘๕ หรือไม่เกิน พ.ศ. ๒๓๙๐ เพราะความในบทกลอนตอนหนึ่งกล่าวถึง “ตำหนักสังฆราช วัดหน้าพระธาตุ” ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชองค์นี้สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ และมีบทกลอนอีกตอนหนึ่ง ออกพระนาม “กรมไกร” หมายถึงกรมหมื่นไกรสรวิชิต ซึ่งทรงกำกับกรมสังฆการี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๒ - ๒๓๙๐
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นกลอนเพลงยาว รวมทั้งสิ้น ๑๔ บท เฉพาะงานพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส คือ บทที่ ๑ บทที่ ๑๑ ซึ่งท้ายบททั้ง ๒ นี้มีโคลงกระทู้อย่างละ ๑ บท และที่บทที่ ๑๔
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อประทานพระนัดดาพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงผนวชอยู่จึงเรียกกันว่า กลอนเพลงยาวเจ้าพระ เพราะเป็นงานนิพนธ์เรื่องราวซึ่งเจ้านายทรงผนวชทรงมีโต้ตอบถึงกัน กลอนบทที่ ๑ ทรงแนะนำหลักการใช้อักขรวิธีอักษรไทย กลอนบทที่ ๒ ทรงอบรมสั่งสอนพระนัดดาให้ทรงตั้งพระทัยศึกษาเล่าเรียน มิให้ด่วนลาผนวชเพราะสตรีเป็นเหตุ และกลบทที่ ๑๔ ทรงบริภาษและภาคทัณฑ์พระนัดดาที่ทรงประพฤติตนไม่เหมาะสม และมิได้ปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอน
๖. งานพระนิพนธ์ร้อยแก้ว
๖.๑ พระปฐมสมโพธิกถา
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ทรงเริ่มพระนิพนธ์ตั้งแต่เดือน พ.ศ. ๒๓๘๗ สำเร็จบริบูรณ์ในเดือน ๗ พ.ศ. ๒๓๘๘ รวมเวลาประมาณ ๑ ปี กับ ๕ เดือน
ลักษณะการนิพนธ์ ทรงพระนิพนธ์เป็นร้อยแก้ว ทรงแปลและเรียบเรียงขยายความให้พิสดารจากพระคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถาภาษาบาลี บางแห่งแทรกคาถาภาษาบาลีสั้นๆ ไว้ แล้วทรงอธิบายหรือแปลพระคาถาตอน นั้น ๆ ไว้อย่างละเอียด งานพระนิพนธ์เรื่องพระปฐมสมโพธิกถานี้แสดงเรื่องพระพุทธประวัติโดยพิสดารด้วยพรรณนาโวหารอันไพเราะ มีเนื้อความแบ่งเป็นตอน เรียกว่าปริจเฉท รวมทั้งสิ้น ๒๙ ปริจเฉท ได้แก่
ปริจเฉทที่ ๑ | ว่าด้วยวิวาหมงคลปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒ | ว่าด้วยตุสิตปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๓ | ว่าด้วยคัพภานิกขมนปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๔ | ว่าด้วยลักขณปริคคาหกปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๕ | ว่าด้วยราชาภิเษกปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๖ | ว่าด้วยมหาภินิกขมนปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๗ | ว่าด้วยทุกรกิริยาปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๘ | ว่าด้วยพุทธบูชาปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๙ | ว่าด้วยมารวิชัยปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๐ | ว่าด้วยอภิสัมโพธิปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๑ | ว่าด้วยโพธิสัมพัญญปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๒ | ว่าด้วยพรหมมัชเฌสนปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๓ | ว่าด้วยธัมมจักกปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๔ | ว่าด้วยยศบรรพชาปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๕ | ว่าด้วยอุรุเวลคมนปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๖ | ว่าด้วยอัครสาวกบรรพชาปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๗ | ว่าด้วยกบิลวัตถุคมนปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๘ | ว่าด้วยพิมพาพิลาปปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๑๙ | ว่าด้วยสักยบรรพชาปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๐ | ว่าด้วยเมตไตยพยากรณปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๑ | ว่าด้วยพุทธปิตุนิพพานปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๒ | ว่าด้วยยมกปาฏิหาริยปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๓ | ว่าด้วยเทศนาปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๔ | ว่าด้วยเทโวโรหนปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๕ | ว่าด้วยอัครสาวกนิพพานปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๖ | ว่าด้วยมหานิพพานสูตรปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๗ | ว่าด้วยธาตุวิภัชนปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๘ | ว่าด้วยมารพันธปริวรรต |
ปริจเฉทที่ ๒๙ | ว่าด้วยอันตรธานปริวรรต |
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระราชประสงค์ในอันที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป ผู้ทูลอาราธนาให้ทรงพระนิพนธ์คือ กรมหมื่นไกรสรวิชิต
๖.๒ คำประกาศบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๔
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ อันเป็นปีเถลิงถวัลยราชสมบัติแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นพระนิพนธ์ร้อยแก้ว เริ่มด้วยคาถาบาลี และมีคำแปลภาษาไทยคำประกาศนี้ ทรงพระนิพนธ์เป็นบทร่าง และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางตอน จัดลำดับใหม่ก่อนประกาศใช้
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นร่างคำประกาศ สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔
เรื่องประกาศบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๔ นี้ มีปรากฏอยู่ในหนังสือ ประกาศพระราชพิธีเล่ม ๒ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ในหัวข้อเรื่อง “ประกาศเทวดาบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๔”
๖.๓ พระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ เป็นพระนิพนธ์ชิ้นสุดท้าย ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ลักษณะการนิพนธ์ เป็นร้อยแก้ว เริ่มต้นพระคาถาทศพิธราชธรรม ต่อด้วยพระธรรมเทศนาเป็นภาษาไทย กล่าวถึงทศพิธราชธรรม และข้อธรรมอันเป็นราชวัตรแห่งพระมหากษัตริย์ จากนั้นเป็นเรื่องพระราชพงศาวดารโดยสังเขป เริ่มตั้งแต่การสร้างกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) จนถึงต้นรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แม้จะเป็นงานพระนิพนธ์ร้อยแก้ว แต่ทรงใช้ถ้อยคำหลายแห่งมีสัมผัสคล้องจองทำนองร่ายยาว ตอนท้ายของพระธรรมเทศนาทรงกล่าวถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ อันเป็นปีที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ
๖.๔ พระราชพงศาวดารสังเขปและพระราชพงศาวดารย่อ
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลักษณะเนื้อหา พระราชพงศาวดารสังเขป เริ่มจากเรื่องพระเจ้าเชียงราย สร้างเมืองไตรตรึงส์ และตำนานเรื่องท้าวแสนปม จากนั้นจึงลำดับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง จนถึงรัชกาลพระเจ้าสุริยามรินทร์ ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในแต่ละรัชกาลโดยสังเขป
ส่วนพระราชพงศาวดารย่อ ทรงลำดับพระนามพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งระบุปีที่เสวยราชย์ และสวรรคต นอกจากในบางรัชกาล ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สำคัญมากไว้อย่างย่อ ๆ
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่ทรงมีพระบรมราชโองการให้อาราธนาให้ทรงเรียบเรียงพงศาวดาร
๖.๕ คำฤษฎี
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ไม่ปรากฏศักราชที่ทรงนิพนธ์ ทราบเพียงว่า ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ พระดิษฐานการภักดีเป็นผู้พบต้นฉบับ และนำมาให้โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จัดพิมพ์ เรื่องคำฤษฎีนี้ ทรงพระนิพนธ์ร่วมกับสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร และกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
ลักษณะงานพระนิพนธ์ เป็นอภิธานศัพท์ทางวรรณคดีไทย มีทั้งศัพท์ ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร ลาว และโบราณิกศัพท์
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อให้ความรู้แก่บุคคลผู้สนใจศึกษาการแต่งคำประพันธ์จะได้เข้าใจความหมายของศัพท์ที่นำมาประพันธ์ได้อย่างถูกต้อง
๗. ร้อยแก้วปนกาพย์
จักรทีปนีตำราโหราศาสตร์
ระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
ลักษณะการนิพนธ์ พระอุดมรามเถรได้จรนาไว้เป็นโศลกคาถา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงแปลเป็นภาษาไทย บางตอนเป็นเนื้อความอธิบายและบางตอนทรงพระนิพนธ์เป็นคำกาพย์
จุดมุ่งหมายของงานพระนิพนธ์ เพื่อประทานแก่พระนัดดา คือ พระองค์เจ้ากปิตถา (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์)
-
๑. ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๒ ว่า หิตามรสะฉันท์. ↩